The Isaan Record พาคุณผู้อ่านไปทำความรู้จักประวัติศาสตร์อีสานในซีรีส์ชุด “ผีบุญในอีสาน” ซึ่งเป็นเรื่องราวของกลุ่มผู้มีความคิดต่างได้ลุกฮือต่อต้านผู้ปกครองเมื่อ 120 ปีที่แล้ว จนถึงปัจจุบันในผืนดินอีสานยังมีกลิ่นคุ้งให้คอยได้ศึกษา

หทัยรัตน์ พหลัพ เรื่อง 

หากย้อนประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ของ “ขบวนการผู้มีบุญ” หรือ รัฐสยามเรียกการปฏิบัติการณ์ของผู้ขัดขืนอำนาจรัฐเมื่อช่วงปี 2444-2445 ว่า “กบฎผีบุญ” 

การจะกล่าวหาอ้างสิ่งที่เป็นประวัติศาสตร์ โดยที่ผู้เขียนไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ เป็นสิ่งที่ยากยิ่ง ทว่าก็มีตำรับตำรา บันทึกไว้ให้คนรุ่นหลังได้เล่าเรียนอยู่เป็นอันมาก แต่อาจจะไม่ได้ถูกส่งเสริมให้เป็นตำราเล่าเรียนเหมือนประวัติศาสตร์บางหน้าฉาก 

สาเหตุที่ทีมงาน The Isaan Record นำเรื่องราวแต่หนหลังมาเล่าซ้ำนั้น ไม่ต้องการรื้อฟื้นฟาตะเข็บ ทว่าเรื่องราวเหล่านี้ยังไม่เคยถูกชำระ สะสาง ยังไม่มีการบอกเล่าอย่างถูกต้อง แม้เวลาจะผ่านมาเนิ่นนานกว่า 120 ปีแล้วก็ตาม 

การชำระประวัติศาสตร์ แม้จะเจ็บปวด อีกทั้งอาจไม่ได้เห็นภาพของความเป็นจริงเต็มร้อย แต่อย่างน้อยก็เป็นการเยียวยาบาดแผลในใจของคนรุ่นหลังที่ถูกกล่าวว่า “เป็นลูกหลานกบฏ” ซึ่งเป็นบาดแผลใหญ่ที่เป็นตราบาปมาจนถึงทุกวันนี้ 

พวกเขาทุกข์ทนจากการถูกกดขี่ข่มเหง รีดนาทาเร้น มารุ่นแล้วรุ่นเล่า แม้จะผ่านมากว่าร้อยปี กงล้อประวัติศาสตร์ก็ยังซ้ำเดิม 

จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าการเติบโตและการต่อสู้ของคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 มีคนบางกลุ่มที่สืบทอดแนวคิดของ “ขบวนการผู้มีบุญ” 

ส่วนหนึ่งจากบทความเรื่อง “กลอนลำ ตำราพยากรณ์ อดุมการณ์ความคิด : อาวุธสู้รบของกบฎผีบุญกับกรุงเทพมหานคร” ในซีรีส์ชุดนี้ เขียนโดย วีระวรรธ์ สมนึก ได้อ้างอิงบทสัมภาษณ์ ‘ดีเจต้อย’ พิเชษฐ์ ทาบุดดา หนึ่งในแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งต่อมาถูกตัดสินในชั้นฎีกาในคดีเผาศาลากลาง จังหวัดอุบลราชธานี ตลอดชีวิต

“บรรพบุรุษผมก็เคยถูกฆ่าแบบนี้ วาสนาเขาไม่ดีเท่าผม ปู่ผมถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏผีบุญ ถูกตัดคอเลยนะ ผมโชคดีกว่าเยอะ แค่ติดคุกตลอด

เปิดใจกับสำนักข่าวแห่งหนึ่ง 

เรื่องราวการถูกปราบปรามของขบวนการผู้มีบุญ เมื่อปี 2444 จึงไม่แตกต่างจากเรื่องราวของคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 จะผิดแผกกันก็แค่กาลเวลาและจำนวนตัวเลขของผู้ถูกปราบเท่านั้น 

ในบทความเดียวกันยังได้อ้างอิงบทสัมภาษณ์​ ธีระพล อันมัย อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่บอกว่า หากกลับไปในยุคที่เขาปราบกบฏผีบุญ เมื่อวันที่ 4 เดือน 4 ปี 2444 ที่ทำให้คนลาวอีสานถูกยิงตายถึง 300 คน ที่บ้านสะพือ อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี คนแบบไหนที่ถูกยิงตาย มันมีเรื่องอะไรที่ทำให้คนอีสานต้องลุกขึ้นมาประท้วง มารวมกันเพื่อเรียกร้อง 

เดือนเมษายนเมื่อปี 2444 เป็นช่วงการปราบปราม เข่นฆ่า ไล่ล่า ผู้เห็นต่าง ผู้คิดก่อกบฎในผืนแผ่นดินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ ดินแดนที่เคยเป็นลาว จนทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 300 คน บางส่วนถูกนำตัวไปรวมกันที่ทุ่งศรีเมือง เมืองอุบลราชธานี แล้วสังหารที่นั่น 

การเคลื่อนไหวของผู้เห็นต่างในยุคนี้กับเหตุการณ์กบฏผีบุญที่ผ่านมากว่า 120 ปีแล้ว แต่ก็ยังสามารถเทียบเคียงห้วงเวลาได้ว่า เดือนเมษายน พฤษภาคม เรื่อยจนถึงเดือนมิถุนายน ในอดีตเป็นช่วงของการการไล่ล่า ปราบปราม และทำให้กลัว  

ขณะที่ในยุคนี้ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า ช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา มีผู้ที่ถูกฟ้องร้องเกี่ยวกับการแสดงออกและการเคลื่อนไหวทางการเมืองมากถึง 635 คน ถูกแจ้งข้อหาตาม ม.112 จำนวน 94 คน ส่วน ม.116 ที่ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการยุยงปลุกปั่น จำนวน 103 คน ไปจนถึง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 99 คน และการกระทำความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 44 คน 

ใครเลยจะคิดว่า เวลาผ่านกว่าร้อยปี ประวัติศาสตร์จะยังย่ำอยู่รอดเดิม อีกทั้งยังคอยซ้ำรอยผู้คิดต่าง ผู้เพียงต้องการได้รับความเท่าเทียม ผู้เพียงเพรียกหาความยุติธรรมและการได้รับการแบ่งปันทรัพยากรอย่างเท่าเทียมว่า “เป็นกบฏ” 

กองบรรณาธิการ The Isaan Record ได้รวบรวมเรื่องเล่าจากหนังสือหลายเล่ม รวมถึงสัมภาษณ์ผู้ศึกษาและมีส่วนเกี่ยวข้อง อาจจะไม่ครบถ้วนอย่างที่ใจปรารถนา แต่ก็ถือได้ว่า เพียงพอสำหรับการเติมเรื่องราวที่กำลังถูกทำให้เลือนหายต่อผู้อ่านอีกรุ่น 

หวังว่า ผู้อ่านจะร่วมเรียนรู้ปัจจุบันและชำระประวัติศาสตร์ไปด้วยกัน

image_pdfimage_print