หลังคืนขนแร่โหด 15 พฤษภาคม 2557 ชาวบ้านนาหนองบงก็อยู่ด้วยอาการขวัญผวา ยิ่งเมื่อมีกระแสข่าวแกนนำถูกหมายหัวๆ ละ 3 แสนก็ยิ่งให้ทำเกิดอาการหวาดวิตกยิ่งขึ้น ซ้ำร้ายกองกำลังทหารกลับฉวยโอกาสเข้าอารักขาหมู่บ้านเพื่อเรียกคะแนน ส่วนนายทหารใหญ่ที่บัญชาการขนแร่เถื่อนเข้ามอบตัวแล้วประกันตัวออกไป สร้างความฉงนให้คนในนาหนองบงยิ่งนัก

แม้นวาด กุญชร ณ อยุธยา เรื่อง 

โต๊ะญี่ปุ่นตัวเล็กของฉันในห้องโถงถูกย้ายเข้าห้องทางหลังบ้านแม่ไหม่ วิทยุคลื่นสั้นกระจายไปให้กลุ่มพ่อบ้านฝ่ายรักษาความปลอดภัยได้ใช้สื่อสาร ห้องที่ฉันนั่งทำงานมีรหัสเรียกว่า “ศูนย์” พ่อไม้จะเข้ามาประจำที่ศูนย์เกือบทุกคืน คอยเช็คข่าวและความเป็นไปจากการตระเวนตรวจตราของกลุ่มพ่อบ้านในพื้นที่

หลังสงกรานต์พ่อไม้กำชับถ้าไม่จำเป็นฉันไม่ควรออกไปข้างนอก หลังวันที่ 15 เป็นต้นมา ฉันแทบไม่ได้โผล่หน้าไปไหนมาไหนนอกหมู่บ้านเลย 

หญิงกับปังคุงจะอยู่กับกลุ่มชาวบ้านคอยรายงานข่าวและความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน ฉันรู้สึกเบาใจที่มีน้องๆ อยู่ช่วยกันทำงาน ในเวลาที่นาหนองบงยังอ่อนไหวและเปราะบาง ไม่ว่าน้องทั้งคู่จะอยู่ที่ไหนก็สามารถเรียกรอยยิ้มและเสียงหัวเราะจากแม่ๆ ได้เสมอ 

ปลายเดือนพฤษภาคม พี่ภาส (ภาสกร จำลองราช) พาคณะนักข่าวมาลงพื้นที่ หญิงกับปังคุงชวนแม่ๆ จำลองเหตุการณ์ในคืนขนแร่สื่อสารกับนักข่าวผ่านการแสดงละคร

เมื่อคณะนักข่าวมาถึง นักแสดงจากคุ้มน้อยเปิดฉากการปะทะกับกองกำลังถือปืนบริเวณซากแท่งปูนเศษเหล็กที่ยังกองระเกะระกะอยู่บนสี่แยกกำแพงใจ ละครดำเนินไปบางฉากทุกคนก็หลุดหัวเราะ บางฉากอารมณ์หลุดก็ส่งเสียงกรีดร้อง ก่นด่า หรือไม่ก็ร้องไห้ ภาพอารมณ์ที่เห็นทำให้น้องๆ และนักข่าวที่ยืนดูอยู่น้ำตาคลอเบ้า เมื่อตระหนักว่าตัวละครทุกคนเพิ่งจะประสบกับเหตุการณ์จริงมากับตัวเอง

ละครจบแล้วฉันกับแม่ๆ เดินกลับบ้านที่คุ้มน้อย หัวใจฉันยังสั่น แข้งขาเบาหวิว พอถึงหน้าบ้านแม่ไหม่ก็ปล่อยโฮร้องไห้ออกมาอย่างสุดจะกลั้น แม่ไหม่ แม่รส และแม่ๆ เห็นแบบนั้นก็เดินเข้ามาโอบกอดฉันและทุกคนเข้าไว้ด้วยกัน 

แม่ไหม่บอกฉันว่า “ตั้งแต่ต๊ะมาอยู่ที่นี่แม่ไม่เคยเห็นต๊ะร้องไห้นะ”

แม่รส บอกว่า “พวกเราต้องเข้มแข็ง เราจะไม่ให้เกิดเรื่องแบบนี้อีก” 

คำพูดและอุ่นไอจากแม่ๆ ทำให้ฉันสงบสติอารมณ์ได้อย่างรวดเร็ว “หนูสัญญา” ฉันพูดออกไปกับแม่ๆ ในวันนั้น

หลังคณะนักข่าวกลับไป เสียงปืนในยามค่ำคืนเพิ่มความถี่และกระจายไปในจุดต่างๆ มากขึ้น 

วันหนึ่งมีคนเห็นคนแปลกหน้ามาดักซุ่มมองบริเวณป่าหน้าบ้านพ่อไม้  

พ่อสมัยรีบพาชาวบ้านไปดูพื้นที่และพวกเราได้เห็นร่องรอยหลายอย่างว่า มีคนซุ่มอยู่ในบริเวณนั้นจริง กระแสข่าวเรื่องแกนนำ 8 คน มีค่าหัวหัวละ 3 แสนบาท ย้อนกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง ทุกเย็นหลังจากวันนั้นแม่ๆ จะตั้งสำรับข้าว รีบกินข้าวให้เสร็จ แล้วปิดประตูหน้าต่างก่อนพระอาทิตย์จะตกดิน ตอนกลางคืนก็ไม่เปิดไฟ แกนนำทุกคนถูกกำหนดให้ย้ายบ้านนอนทุกคืน บ้านแต่ละหลังจะมีพ่อบ้านคอยเฝ้าระวังรักษาความปลอดภัยอยู่ตลอดทั้งคืน 

พี่โกรับหน้าที่ดูแลฉัน เราทั้งคู่ต้องย้ายบ้านนอนทุกคืนเหมือนกัน คืนหนึ่งพี่โกชวนฉันกลับไปนอนที่บ้านแม่ไหม่ พวกเราอยู่กันเงียบๆ ปิดไฟ ใช้แสงดาวและแสงสว่างจากบ้านข้างเคียง 

ประมาณสี่ทุ่มพี่โกกำลังเดินออกจากห้องไปอาบน้ำ แล้วเสียง เปรี้ยง! ก็ดังขึ้นสะท้านแก้วหู พี่โกหันมามองฉันที่นั่งอยู่ในห้อง เราสองคนมองตากันนิ่งจนได้สติว่าเป็นแค่เสียงฟ้าผ่า ถึงฉันจะคิดว่า การจ้างฆ่าแกนนำเป็นแค่ข่าวลือที่ประโคมขึ้นเพื่อข่มขู่เท่านั้น แต่เสี้ยววินาทีนั้นฉันรู้สึกว่า ความตายอาจเกิดได้แค่พริบตา ความรู้สึกนั้นคงเหมือนกับพ่อไม้ที่เคยบอกกับฉันว่า “ถ้าผมตาย ช่วยดูแลฝ้ายตุ่ยด้วยนะ”

นานนับอาทิตย์ที่พวกเราต้องย้ายบ้านนอนกันทุกคืน ส่วนการจับตัวผู้ร้ายในคืนวันที่ 15 ยังไม่มีความคืบหน้า ชาวบ้านยังไม่กล้าออกไปกรีดยางขาดรายได้รายวันมาเป็นเวลาครึ่งเดือน ชาวบ้านที่ได้รับบาดเจ็บและไปแจ้งความไว้ที่ สภ.วังสะพุง เริ่มวิตกกังวลในความปลอดภัย แกนนำที่กำลังกังวลเรื่องการจ้างวานฆ่าต้องตัดสินใจเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของชาวบ้านและครอบครัว กลุ่มให้ฉันร่างหนังสือส่งถึง คสช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกหนึ่งฉบับเพื่อขอความคุ้มครองชาวบ้าน พยาน และผู้เสียหายในคดีขนแร่ 

ถึงฉันกับพ่อไม้จะคิดเหมือนกันว่า ตำรวจ ทหาร กับเหมืองคือพวกเดียวกัน แต่สิ่งที่ทำอย่างน้อยก็เพื่อผ่อนคลายความเครียดของชาวบ้านลงได้บ้าง

บรรยากาศการไกล่เกลี่ยระหว่างผู้ประกอบการเหมืองทองกับชาวบ้านนาหนองบง ผู้ได้รับผลกระทบจากเหมืองทองคำ จ.เลย เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2557

วันที่ 3 มิถุนายน ชาวบ้านต้องไปขั้นศาลคดีอาญากำแพงใจ ทนายวสันต์ พานิช ติดต่อมาทางแกนนำว่า ศาลจะให้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยระหว่างคู่ความทั้งสองฝ่าย โดยมีคนกลาง คือ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดเลย และ หมอนิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ในฐานะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แกนนำและชาวบ้านจึงเตรียมพร้อมซักซ้อมการเจรจากันมาอย่างดี

ในห้องพิจารณาคดีเล็กๆ อัดแน่นไปด้วยชาวบ้านเกือบ 50 คน พร้อมด้วย หมอนิรันดร์ อาจารย์สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ อาจารย์วิเชียร อันประเสริฐ ทนายวสันต์ รวมถึงนักข่าวประมาณ 5-6 คน ส่วนชาวบ้านที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งต้องนั่งรออยู่หน้าห้อง 

เมื่อทุกคนนั่งพร้อมกันแล้ว คนกลางที่ทำหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ยในการเจรจาก็เดินเข้ามาในห้องพร้อมผู้แทนจากเหมือง พวกเขานั่งลงที่หัวโต๊ะแล้วผู้ไกล่เกลี่ยก็ส่งเสียงตะคอกออกมาในทันที

“มากันทำไมเยอะแยะ ท้าทายอำนาจ…หรือ ใครไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ออกไป” 

ผู้ไกล่เกลี่ยแสดงสีหน้าไม่พอใจอย่างมากที่เห็นชาวบ้านเข้ามานั่งจนเต็มห้อง พร้อมกับมีนักข่าวเข้ามาทำข่าวด้วย นักข่าวทั้งหมดจำต้องเดินออกจากห้องโดยทิ้งโทรศัพท์เอาไว้ข้างๆ ฉันเพื่ออัดเสียงไว้ 

ผู้ไกล่เกลี่ยยังพูดกับนักข่าวอีกว่า “ถ้าจะเสนอข่าวให้นำข่าวมาขออนุญาตก่อน” 

หลังจากนั้นเธอก็ซักไซ้ไล่เรียงชาวบ้านรายตัวว่าใครเป็นใคร ให้แสดงหลักฐานว่าเป็นคนที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งพูดจาดูถูกชาวบ้านว่าการศึกษาต่ำ ถูกยุยงจากคนนอกแล้วก็มาก่อความวุ่นวายเรียกร้องกับหน่วยงานราชการจนทุกหน่วยงานพากันเอือมระอา

การไกล่เกลี่ยที่ไม่เสียงผู้ได้รับผลกระทบทำให้ชาวบ้านนาหนองบงที่เข้าร่วมรับฟังถึงกับน้ำตาตก

ฉัน พี่โก ปังคุง นั่งนิ่งอยู่ในห้องไม่ได้ออกไปตามคำสั่ง พยายามสงบปากสงบคำนั่งฟังถ้อยคำที่ผู้ไกล่เกลี่ยพูดเหยียดหยามชาวบ้านด้วยความรู้สึกคับแค้น 

แม่ๆ เริ่มร้องไห้ … 

ฉันคิดว่าถ้านั่งอยู่คงไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้จึงเดินออกจากห้องมานั่งฟังอยู่หน้าประตูห้องพิจารณาคดี แต่ก็มาพบกับสายตาปวดร้าวของชาวบ้านที่นั่งฟังอยู่นอกห้อง 

อาจารย์สันติภาพเดินตามมานอกห้อง ถามฉันว่า “ทนไม่ไหวเลยใช่มั้ยต๊ะ?” 

“แย่มากค่ะอาจารย์” ฉันตอบ เราสองคนมองหน้ากันด้วยความเข้าใจ

ฉันเดินกลับเข้าห้องพิจารณาคดีอีกครั้งเมื่อการเจรจาไกล่เกลี่ยจริงๆ เริ่มต้น ตัวแทนเหมืองทองยื่นข้อเสนอกับชาวบ้านจะถอนฟ้องคดีทั้งหมด 6 คดี แลกกับการขนแร่ (แร่ที่แต่งแล้วในเหมือง 1,942 ตัน) ซึ่งแร่เหล่านี้เป็นแร่ที่ถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งจะขนอุปกรณ์และเครื่องจักรในโรงงานออกจากพื้นที่ด้วย 

ผู้ไกล่เกลี่ยหันมาถามฝั่งชาวบ้านว่า จะรับข้อเสนอของเหมืองหรือไม่ พ่อไม้เป็นตัวแทนกลุ่มแสดงความต้องการของชาวบ้านว่า “ถ้าเหมืองจะขนแร่หรือขนเครื่องจักรออก เหมืองต้องยกเลิกประทานบัตรทุกแปลงของบริษัท  แล้วให้ฟื้นฟูชีวิตและสิ่งแวดล้อมให้กลับคืนมาเหมือนเดิม และถอนฟ้องชาวบ้านทุกคดี รวม 7 คดี” 

ตัวแทนเหมืองตอบกลับว่า “การยกเลิกประทานบัตรจะต้องนำเข้าประชุมกับกรรมการบริษัทที่ส่วนกลาง ไม่สามารถตัดสินใจในขณะนี้ได้ แต่สามารถปิดเหมืองชั่วคราวได้  ส่วนการฟื้นฟูก็กำลังทำอยู่ เช่น การปลูกต้นไม้ แต่สำหรับผู้ป่วยที่อ้างว่าเกิดจากมลพิษจากเหมืองต้องดูว่าเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเหมืองจริงหรือไม่ ซึ่งต้องขอลงพื้นที่ตรวจสอบผลกระทบที่เกิดขึ้นด้วย แต่ก็พร้อมที่จะช่วยเหลือค่ารักษาในนามของมนุษยธรรม และพร้อมจะดูแลชาวบ้านที่อยู่ในเขตพื้นที่เหมือง” 

เมื่อตัวแทนเหมืองพูดจบชาวบ้านในห้องส่งเสียงอื้ออึงไม่พอใจ

ผู้ไกล่เกลี่ยหัวโต๊ะเห็นท่าทียอมหักไม่ยอมงอของชาวบ้าน เธอก็เริ่มหว่านล้อมและข่มขู่ให้ชาวบ้านยอมรับข้อเสนอของเหมือง โดยพูดในทำนองว่า แร่และโรงงานเป็นของบริษัทอย่างถูกต้องตามกฎหมายอยู่แล้วไม่มีความจำเป็นต้องมาขอกับชาวบ้านด้วยซ้ำ และในฐานะที่คุมคดีนี้อยู่ก็เห็นแนวโน้มว่าผลคดีจะออกมาอย่างไร แต่ถ้าชาวบ้านมั่นใจว่าไม่ผิดก็ตามใจ ส่วนการยกเลิกประทานบัตรไม่อยู่ในอำนาจที่จะไกล่เกลี่ยให้ได้ 

เมื่อพ่อไม้ถามถึงความรับผิดชอบของเหมืองที่ขนแร่ออกไปโดยนำกองกำลัง 300 คนติดอาวุธครบมือเข้ามาจับกุม ทำร้ายชาวบ้าน ผู้ไกล่เกลี่ยก็พยายามเปลี่ยนเรื่องเป็นการใส่ร้ายป้ายสีพ่อไม้ว่าเคยมีคดีทะเลาะวิวาทสมัยเป็นวัยรุ่นแล้วหนีคดีมาอยู่ในพื้นที่ ทั้งยังตีโต้พ่อไม้ด้วยว่า การไม่ยอมรับข้อเสนอของเหมืองเป็นแค่ความต้องการของพ่อไม้คนเดียว จากนั้นกราดมือชี้หน้าถามชาวบ้านว่า “ต้องการอะไรกันแน่ ลองพูดมาซิ”

ยายจีน (สี ลุนทะโสด) ยายนิก (เล่ง วงศ์คำโสม) ยายไล (ไล ภักดิ์มี) ยายมุก (แดง ศรีสุรักษ์) ค่อยๆ ทยอยยกมือแล้วลุกขึ้นพูดความต้องการของตนเองทีละคน

“ฉันต้องการให้ปิดเหมือง”

“ฉันต้องการให้ถอนประทานบัตร”

“ฉันต้องการให้ฟื้นฟูผลกระทบ”

“ฉันต้องการให้เหมืองออกไป”

จากนั้นชาวบ้านทุกคนในห้องพิจารณาคดีก็ทยอยยกมือ แล้วลุกขึ้นพูดความไม่ต้องการเหมืองของแต่ละคนออกมา โดยที่ผู้ไกล่เกลี่ยกับตัวแทนเหมืองได้แต่นั่งเงียบไม่สามารถพูดอะไรได้อีก

สุดท้ายการเจรจาล่ม กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบอกกับผู้ไกล่เกลี่ยว่า ไม่รับข้อเสนอของเหมืองทอง  แล้วทุกคนก็เดินออกจากห้อง

มื้อเที่ยงวันนั้นพวกเรานั่งอยู่หน้าศาลกินข้าวที่ห่อกันมาจากบ้าน พ่อๆ แม่ๆ ยังอยู่ในอารมณ์ขุ่นมัวและหมดหวัง บางคนพูดเสียงดังขึ้นว่า “แล้วจะหาความยุติธรรมให้กับชาวบ้านได้จากที่ไหน?!”  

สำหรับฉันเคยคิดหลายครั้งจะนำเทปบันทึกเสียงในห้องนั้นประจานไปให้ทั่ว

วันเดียวกันกับการเจรจาในชั้นศาล ช่วงบ่ายคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จัดประชุมไต่สวนข้อเท็จจริงในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความรุนแรงในคืนขนแร่วันที่ 15 พฤษภาคม ที่ศาลากลางจังหวัดเลย 

หมอนิรันดร์เริ่มด้วยการชี้แจงความเห็นของคณะกรรมการสิทธิฯ สามเรื่อง 

เรื่องแรก เหมืองทองสร้างผลกระทบในพื้นที่จริงตามคำร้องเรียนของชาวบ้าน 

เรื่องที่สอง หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ควรระงับการขนแร่เอาไว้ก่อน จนกว่าการตรวจสอบของคณะอนุกรรมการฯ จะเสร็จสิ้น เนื่องจากมีประเด็นที่ยังต้องตรวจสอบว่าแร่ที่ขนออกไปได้มาจากการทำเหมืองแร่ที่ถูกต้องหรือไม่ เนื่องจากใบอนุญาตประกอบโลหกรรม และใบอนุญาตใช้พื้นที่ป่าของเหมืองหมดอายุ และใบอนุญาตขนแร่ที่ออกโดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเลยเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ 

และเรื่องที่สาม คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเร่งการสืบสวนสอบสวนเพื่อหาตัวผู้กระทำผิดในคืนวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 มาลงโทษ

เมื่อเกริ่นนำแล้วหมอนิรันดร์ก็ให้ข้าราชการในพื้นที่ได้ชี้แจง

รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย รายงานว่า “ผู้ว่าราชการจังหวัดเลยมีคำสั่งให้ระงับการขนแร่ของบริษัทเอาไว้ก่อนเพื่อป้องกันการเผชิญหน้าระหว่างบริษัทและกลุ่มชาวบ้านอีกครั้ง”

เมื่อชาวบ้านได้ยินว่า การขนแร่อาจจะเกิดขึ้น “อีกครั้ง” เสียงแห่งความไม่พอใจก็ฮือฮา และการตั้งคำถามกับการตอบโต้เริ่มดุเดือดขึ้น 

พ่อไม้ถามว่า “แร่ที่ขนออกไปโดยใช้วิธีการรุนแรงและทำร้ายชาวบ้านผิดทั้งกฎหมายแพ่งและอาญา มีสิทธิอายัดหรือไม่ ในเมื่อขนถูกต้องตามกฎหมายแล้วทำไมใช้กองกำลังกว่า 300 นาย ติดอาวุธครบมือ ถือเป็นการขนแร่เถื่อนหรือไม่ เรื่องที่มีเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบเข้าไปมีส่วนร่วมด้วยกับการขนแร่ในครั้งนี้จะดำเนินการอย่างไร” 

ผู้แทนจากอุตสาหกรรมจังหวัดเลยตอบว่า “แร่ที่ขนออกจากเหมืองในคืนนั้นเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติแร่ แต่เหตุการณ์ที่เกิดการทำร้ายประชาชน ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้เกี่ยวข้องด้วย ก็ต้องมีผู้รับผิดชอบ มีการดำเนินคดี แต่พระราชบัญญัติแร่ถือว่าทำถูกแล้ว อายัดแร่ที่ขนออกไปไม่ได้ แต่ผู้ว่าก็แจ้งให้ชะลอการขนแร่ที่เหลือออกไปแล้ว เพราะอาจมีเหตุร้ายเกิดขึ้น ซึ่งตามข่าวที่ทราบมาถ้ามีการขนแร่อีก ไม่แน่ว่ารถขนแร่จะถูกเผาหรือเปล่า” 

ปังคุงถามว่า “ใบอนุญาตขนแร่ของเหมือง คือ วันที่ 16, 17 พฤษภาคม แต่การขนแร่ที่มีการทำร้ายชาวบ้านเกิดขึ้นตั้งแต่คืนวันที่ 15 ถือว่ามีความผิดหรือไม่”

ผู้อำนวยการสำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เขต 2 อุดรธานี ตอบว่า “การทำร้ายพี่น้องชาวบ้านถือเป็นคดีหนึ่ง ซึ่งทางผู้ใหญ่ดำเนินการอยู่ แต่การขนแร่ในเวลาตีหนึ่ง ถือว่าไม่ผิดกฎหมาย ผมไม่ได้เข้าข้างผู้ประกอบการนะ บริษัทก็ต้องพยายามคำนวณระยะเวลาการขนแร่ให้ไปถึงปลายทางก่อนเวลา ซึ่งการทำอย่างนี้เพราะใบอนุญาตขนแร่มีอายุไม่เกิน 2 วัน บริษัทก็ต้องรักษาสิทธิ รักษากฎหมายเหมือนกัน”

รองผู้ว่าฯ อธิบายต่อว่า  “ปัญหานี้ก็คงจะแยกเป็นสองประเด็น ประเด็นแรก เรื่องการบริหารจัดการที่เป็นปัญหาคาราคาซังของเหมืองแร่คงต้องใช้เวลาในการแก้ไขปัญหา แต่เรื่องของสารปนเปื้อน หรือสารหนู ที่พบในหลายแหล่งจากหลายหน่วยที่ตรวจสอบตรงกันนั้นยังไม่มีหน่วยงานใดยืนยันว่ามาจากการทำเหมืองแร่หรือไม่ เรื่องการยืนยันต้องใช้เวลาให้หน่วยงานที่มีความชำนาญและมีความเชี่ยวชาญมายืนยันอีกที ส่วนปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นแน่นอนในเวลานี้ ท่านผู้ว่าได้มอบหมายสาธารณสุขจังหวัด และหน่วยที่เกี่ยวข้องทำการฟื้นฟูเรื่องสุขภาวะแล้ว เพราะเรากังวลประเด็นนี้อยู่ 

“ประเด็นที่สอง เรื่องคดีที่เป็นเรื่องของการประทุษร้ายต่อกันในวันที่ 15 พฤษภาคม ก็คงเป็นเรื่องทางคดีอาญาที่มีเบาะแสหลายอย่าง เบื้องต้นทางตำรวจก็ออกหมายจับแล้ว ส่วนข้อมูลที่พี่น้องแจ้งในที่ประชุมวันนี้ก็คิดว่าทางตำรวจคงจะเก็บไปเป็นประเด็นเพื่อขยายผลในการออกหมายจับต่อไป ทางจังหวัดจะเร่งรัดติดตามทั้งสองเรื่องด้วยกันนะครับ”

ฉันนั่งจดคำชี้แจงของเจ้าหน้าที่รัฐที่พูดน้ำเสียงหงุดหงิด เวลาทั้งหมดที่ผ่านไปล้วนมีแต่คำแก้ตัวโดยไม่สามารถหาผู้รับผิดชอบจากใครได้เลย สรุปแล้วคือ เหมืองไม่มีความผิดที่มีการขนแร่ในยามวิกาลโดยมีกองกำลังติดอาวุธทำร้ายชาวบ้าน การที่กองกำลังติดอาวุธ 300 คนทำร้ายชาวบ้านเป็นการ ‘ประทุษร้ายต่อกัน’ และยังใส่ร้ายด้วยว่าชาวบ้านจะเผารถขนแร่ถ้ามีการขนแร่อีก

… แล้วฉันก็ได้ยินเสียงร้องไห้ของแม่ไม้ … แล้วเสียงร้องไห้ที่เริ่มดังจาก 1 ก็ลุกลามไปถึงแม่ๆ ทุกคน ความอัดอั้นตันใจถูกปลดปล่อยออกมาพร้อมน้ำตาอีกครั้ง

หมอนิรันดร์หันหน้าไปทางรองผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดเลย แล้วพูดด้วยน้ำเสียงมีอารมณ์ขึ้นเล็กน้อย “เรื่องความรุนแรงถือเป็นปัญหาเร่งด่วนที่หน่วยงานหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องรับผิดชอบ เมื่อเกิดความรุนแรงขึ้น ซึ่งเป็นความรุนแรงจริงๆ ที่เหนือกว่าที่ผมคิดไว้ด้วย ชาวบ้านไม่สามารถต่อสู้ และเขาไม่อยากต่อสู้อยู่แล้ว ถ้าเขาลุกขึ้นต่อสู้ก็จะกลายเป็นเรื่องลุกลามเหมือนที่กรุงเทพ ดังนั้นเรามีหน้าที่ต้องคุ้มครองและปกป้องเขา การยึดหลักสิทธิมนุษยชนในการแก้ปัญหาความรุนแรงไม่ใช่หน้าที่ชาวบ้าน แต่เป็นหน้าที่หน่วยงานของรัฐ” 

“ผู้กำกับครับ” หมอนิรันดร์หันไปเน้นคำพูดกับ ผกก.สภ.วังสะพุง “ท่านต้องทำความจริงให้ปรากฏ ความจริงที่จะนำไปสู่ความเป็นธรรม หาให้ได้ว่า ใครเป็นผู้ร้ายโดยไม่เห็นแก่หน้าใคร ต้องเอาคนผิดมาลงโทษ เรื่องนี้มีความสำคัญมากเพราะคนเหล่านี้กล้าใช้ความรุนแรงอย่างอุกอาจในการกระทำผิดกฎหมายบ้านเมือง ในขณะที่เรามีวิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองและเกิดความรุนแรง เราจะปล่อยให้มีการใช้อาวุธปืนและกำลังคนเข้าไปกระทำอุกอาจแบบนี้กับใครไม่ได้ เพราะถ้าเป็นแบบนี้ชีวิตของประชาชนคนรากหญ้าจะทำอย่างไรล่ะครับ เขาก็ต้องทนกับความทุกข์อย่างที่เขาต้องบอกกับเราด้วยน้ำตานี่แหละครับ เพราะฉะนั้น ฝากตำรวจ และท่านรองผู้การด้วย ในสถานการณ์อย่างนี้น่าจะเป็นโอกาสพิเศษที่ คสช. และหน่วยงานของทหาร จะเข้ามาช่วยดูแลเพื่อให้ชาวบ้านเขาอุ่นใจ และเกิดความมั่นใจว่า ถึงแม้จะมีการรัฐประหารในทางการเมือง แต่ด้วยกฎหมายพิเศษก็สามารถช่วยชีวิตเขาให้มีความสุขได้ ไม่ถูกใครทำร้ายอีก ดังนั้น ต้องเอาความจริงและเอาคนผิดมาลงโทษ แล้วค่อยมาพูดเรื่องการชดเชย เยียวยา และการฟื้นฟู ชาวบ้านไม่ได้ต้องการตังค์ เขาต้องการตัวคนที่จะมาฆ่าเขา มาทำร้ายเขา มาทำลายทรัพยากรเขา เท่าที่ผมจำได้ท่านประยุทธ์เคยบอกว่า ถึงแม้จะล้มรัฐธรรมนูญ แต่ยังถือหลักการสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นพันธสัญญาระหว่างประเทศอยู่” 

หมอนิรันดร์หันไปพูดต่อกับรองผู้ว่าฯ ว่า “ขณะนี้ชาวบ้านไม่ได้เรียกร้องอะไรจากการชดเชย เยียวยาและการฟื้นฟูเลยครับ ทั้งๆ ที่เขาต้องได้รับ ข้อเสนอที่เขาเสนอต่อผู้พิพากษาเมื่อเช้านี้ว่า ต้องการการฟื้นฟู  ทำให้สิ่งแวดล้อมเขากลับคืนมาเพื่อให้ลูกหลานเขาทำมาหากินได้ ถ้าสิ่งแวดล้อมไม่ฟื้นกลับมา เศรษฐกิจพอเพียงไม่สำเร็จหรอกครับท่านรองฯ  ถ้าในน้ำยังมีสารพิษ ทำเกษตรแล้วนาข้าวไม่ได้ผล ยางพาราน้ำยางไม่ออก แถมอยู่ก็ยังเป็นเปลี้ย เป็นง่อย ป่วยโดยไม่สามารถระบุได้ว่าสาเหตุมาจากอะไร มีวิธีเดียว หนีตายครับ จะอยู่ได้ยังไง” 

แม่ไหม่ยกมือขึ้นแล้วเริ่มพูดด้วยน้ำเสียงสั่นและต้องหยุดร้องไห้อยู่เป็นช่วงๆ “ก่อนอื่นก็ขอขอบพระคุณทุกท่านนะคะ แล้วก็ขอบคุณพ่อทหารของเราด้วย วันนี้ฟังที่ทุกคนพูดออกมาแล้วซึ้งใจมาก นั่งกลืนน้ำตาลงในท้องตั้งหลายคำจนอิ่มแล้ว เพราะเราซึ้งแล้วว่าใครเป็นยังไง  

บรรยากาศทหารเข้าเจรจากับชาวบ้านนาหนองบง

“ขอถามบ้างว่า ประชาชนมันไม่ใช่คนเหรอ คิดบ้างมั้ยว่า เค้าก็เจ็บปวดเหมือนกัน อยู่ดีๆ จะสั่งคนนู้นคนนี้มาฆ่าเรา แค่นี้เราก็เจ็บปวดพออยู่แล้ว แล้วลูกหลานของเราจะอยู่ต่อไปได้อย่างไร ในเมื่อท่านไม่คิดถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน จะพัฒนาต่อไปอย่างไรในเมื่อจังหวัดเลยกำลังจะกลายเป็นแผ่นดินที่ประชาชนจะสูญพันธุ์ หรือพวกท่านพอใจจะอยู่แต่ตัวเอง จะปกครองใครล่ะคะ หรือว่าจะปกครองแต่ตัวเอง เห็นแก่ประโยชน์ของตัวเอง คนอยู่ในหมู่บ้านไม่มีความหมายใช่มั้ยคะ เพราะพวกเราไม่มีความรู้ เป็นประชาชนคนธรรมดา 

“ในโลกนี้มีความจริงใจ มีความเป็นคนอยู่บ้างมั้ยคะ อัดอั้นตันใจมานานแล้ว หมดอาลัยตายอยากแล้ว ทุกวันนี้ไม่รู้จะไปทำมาหากินอะไร พึ่งใครก็ไม่ได้ ไม่รู้ว่าจะหันหน้าไปหาใครเพราะมีแต่โจรทั้งนั้น”

ทุกคำพูดจากใจของแม่ไหม่ที่สื่อออกมาทำให้ห้องประชุมเงียบสงัด แต่เหล่าข้าราชการที่นั่งอยู่ตรงนั้น พวกเขาทำหน้าไม่รู้สึกรู้สา ไม่ได้แสดงอาการของความเห็นใจแม้แต่น้อย … 

เสียงร้องไห้ดังขึ้นอีกแล้ว … ฉันรู้สึกครึ่งเดือนมานี้ได้เห็นน้ำตาเหมือนฤดูน้ำหลาก และวันนี้ฉันเห็นความสิ้นหวังของชาวบ้านที่เป็นนักสู้

พวกเรากลับจากตัวเมืองเข้าหมู่บ้านกันอย่างอ่อนล้า เย็นวันนั้นพวกเราได้ยินการประกาศอย่างเป็นทางการในหมู่บ้าน เหมืองทองหยุดกิจการชั่วคราว เป็นระยะเวลา 90 วัน นับแต่วันที่ 3 มิถุนายน 2557 โดยเหมืองอ้างเหตุผลในการหยุดกิจการว่า ‘ชาวบ้านปิดทางเข้าเหมือง’ 

สามวันหลังจากเหมืองประกาศหยุดกิจการชั่วคราว ฉันกับพ่อไม้ไม่ได้ประหลาดใจเลยเมื่อรู้ว่ารองผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 8 ติดต่อขอนัดคุยกับแกนนำกลุ่ม โดยนำข้อเสนอจากเหมืองมาขอเจรจา 

เมื่อถึงเวลานัดหมาย ชาวบ้านนั่งรออยู่บนเสื่อที่ปูอยู่บนถนน รองผบ. ยศพันเอกนั่งลงบนเสื่อร่วมกับชาวบ้าน ส่วนคณะทหารสี่ห้าคนยืนอยู่ข้างๆ วง 

รองผบ. เริ่มแนะนำตัวและเปิดการเจรจาแทนเหมือง “จะทำอย่างไรให้บริษัทกับชาวบ้านพูดคุยตกลงกันได้ ผมอยากให้ชาวบ้านยื่นข้อเสนอในเรื่องที่เป็นไปได้ เพราะบริษัททำเหมืองอย่างถูกต้อง ถ้าเหมืองอยากขนแร่และเครื่องจักรออก ผมจะให้บริษัทถอนคดีทั้งหมด 7 คดี ชาวบ้านต้องให้เขาขนแร่ทั้งหมด รวมทั้งให้ขนย้ายเครื่องจักรออกไป จากนั้นถึงจะปิดเหมือง แต่ทหารจะไม่ถอนประทานบัตร เพราะอยู่นอกอำนาจ แต่จะปล่อยทิ้งไว้จนหมดอายุประทานบัตร 25 ปี โดยจะมีการทำ MOU และจะมีหน่วยงานเข้ามาดูแลจนหมดอายุประทานบัตร” 

ข้อเสนอของเหมืองในมือทหารไม่ต่างจากการเจรจาไกล่เกลี่ยในศาลเมื่อสามวันก่อน แม่ป๊อป แม่ไม้ และชาวบ้านยืนยันกลับไปอย่างไม่ใยดีว่า “ความต้องการที่ต่อสู้คัดค้านเหมืองมา 7 ปี คือ ให้ปิดเหมือง ฟื้นฟู  ถอนประทานบัตรทั้งหมด และยกเลิกสัญญาระหว่างเหมืองกับ กพร. และ สัญญาน้ำคิว-ภูขุมทอง เหมืองต้องออกไปจากบ้านเรา พวกเราไม่รับข้อเสนอ”

แม่ไม้บอกมติของกลุ่มที่เกี่ยวกับบทบาทของทหารว่า “ที่ทหารจะเข้ามารักษาความปลอดภัยในหมู่บ้านก็เข้ามาได้ มาควบคุม ดูแลเอาผิดกับทหารที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหมืองทอง แต่การเจรจากับเหมืองเป็นการต่อสู้ของกลุ่มกับชาวบ้าน 6 หมู่บ้านมานาน 7 ปี มีคดีความในชั้นศาล การคัดค้านเหมืองไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ดังนั้น ทหารไม่ได้มีหน้าที่มาเป็นตัวกลางในการเจรจาระหว่างชาวบ้านกับเหมืองทองเพื่อเปิดโอกาสให้มีการขนแร่และเครื่องจักรของเหมือง หรือการเจรจาอื่นๆ”

อีกสามวันต่อมา กองทหาร 120 นาย เดินเรียงแถวเข้ามาในหมู่บ้านพร้อมกับขบวนรถที่เต็มไปด้วยวัสดุอุปกรณ์ลายพราง ทั้งหมดยกพลเข้ามาเพื่อประจำการในหมู่บ้านโดยตั้งค่ายทหารเป็นศูนย์บัญชาการที่วัดนาหนองบงคุ้มใหญ่ ฉันไม่สบายใจเลยที่ได้ยินชาวบ้านหลายคนดีใจเพราะคิดว่า “ทหารมาปิดเหมืองแล้ว” “ทหารจะมาคุ้มครองเราแล้ว”

เย็นวันนั้นทหารประกาศผ่านหอกระจายข่าวทุกหมู่บ้านว่า “เพื่อความปลอดภัยของทั้งชาวบ้านและเหมืองทอง และเพื่อสร้างความปรองดอง ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง นักเคลื่อนไหว เอ็นจีโอ นักศึกษา ให้ทั้งหมดออกไปจากพื้นที่ในทันที”

ในตอนนั้นแกนนำทุกคนรู้สึกหวาดระแวงเพราะยังไม่รู้ชัดว่า ทหารกลุ่มนี้จะมาดีหรือมาร้าย จะมาช่วยชาวบ้านหรือมาช่วยเหมืองขนแร่ แต่เย็นวันนั้นก็เป็นวันสุดท้ายที่แกนนำกลุ่มได้นั่งประชุมกันอย่างเปิดเผย พร้อมหน้าพร้อมตา และมีความเป็นส่วนตัว 

รุ่งเช้าวันที่ 10 มิถุนายน ทหารที่ยกพลเข้ามาได้กระจายกำลังเข้ายึดด่าน วอ1 วอ2 วอ3 และด่านบ้านฟากห้วย ปรับแคร่นอนในด่านเป็นค่ายพักขนาดเล็กของทหาร และมีการปิดด่านตรวจเช็คคนเข้า-ออกหมู่บ้าน ห้ามไม่ให้คนนอกเข้าหมู่บ้านโดยเด็ดขาด โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาดาวดินที่แสดงออกถึงการคัดค้านการรัฐประหารอย่างชัดเจนในจังหวัดขอนแก่น 

ทางกลุ่มยังได้รับข่าวว่า ทหารคนที่เป็นผู้บัญชาการกองกำลังขนแร่ได้เข้ามอบตัวที่ สภ.วังสะพุง และประกันตัวออกไปแล้ว ส่วน กพร. ได้ทำหนังสือชี้แจงถึงกรรมการสิทธิฯ ข้อความในนั้นเขียนว่า การขนแร่ได้รับอนุญาตขนแร่จากอุตสาหกรรมจังหวัดเลยอย่างถูกต้อง การปะทะกันของชาวบ้านกับกลุ่มชายฉกรรจ์เกิดจากชาวบ้านไม่ยอมให้มีการขนแร่ออกจากเหมืองแร่ ส่วนสารหนู แมงกานิส โลหะหนัก ที่แพร่กระจายอยู่ทั่วไปในประมาณสูงเกิดขึ้นตามธรรมชาติอยู่แล้ว

image_pdfimage_print