การเข้ามาของกองกำลังทหารในหมู่บ้านนาหนองบง แม้จะทำให้ชาวบ้านส่วนหนึ่งรู้สึกว่า ตัวเองปลอดภัยหลังค่ำคืนขนแร่เถื่อน แต่แกนนำกับรู้สึกตรงกันข้าม เพื่อถูกกดดันและถูกจับตาจากหน่วยงานความมั่นคงอย่างใกล้ชิด จนทำให้พวกเขารู้สึกอึดอัดเพราะถูกลดทอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น 

แม้นวาด กุญชร ณ อยุธยา เรื่องและภาพ

ครึ่งปีในหมู่บ้านทำให้ชีวิตฉันค่อยๆ เปลี่ยนไปอย่างไม่รู้ตัว 

ครึ่งปีที่ตกอยู่ในสถานการณ์ถูกกดดันรายวันร่วมกับชาวบ้าน 

ครึ่งปีที่ได้เห็นทุกอารมณ์ของชาวบ้านไม่ว่าจะหัวเราะหรือร้องไห้  

… ฉันกลายเป็นส่วนหนึ่งของที่นี่

ความเปลี่ยนแปลงของฉันค่อยๆ ส่งผลกระทบกับเพื่อนๆ ที่เคยทำงานร่วมกันมา โดยเฉพาะเมื่อสถานการณ์ในพื้นที่บังคับให้การตัดสินใจของแกนนำต้องรวดเร็วฉับไว หลายครั้งที่ฉันไม่ได้ปรึกษาหารือกับใครภายนอกเพื่ออธิบายความเป็นไปให้ละเอียดในการทำข่าว ส่งข่าว หรือการสื่อสารแต่ละครั้ง จนในที่สุดฉันตัดสินใจหยุดบทบาทของคนกลางที่จะต้องประสานงานด้านสื่อกับภายนอก เพราะงานในหมู่บ้านทำให้ฉันไม่สามารถรักษาบทบาทของความเป็นสื่อได้และกังวลว่าจะกระทบกับความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อนของพวกเราไปด้วย 

ช่วงนั้นพี่เลิศโทรมาคุยหลายครั้งยืนยันให้ฉันออกจากพื้นที่ “คุณจะรับแรงกระแทกที่จะเกิดขึ้นไม่ไหวหรอกนะ” เธอพูด

แต่คำเตือนของเธอไม่ได้ทำให้ฉันเปลี่ยนใจ แม้จะรู้สึกหดหู่และน้อยใจอยู่ไม่น้อยที่เธอไม่สนับสนุนให้ฉันได้ทำในสิ่งที่ต้องการ

แม่ๆ เปลี่ยนเรียกชื่อฉันต่อหน้าทหารว่า “อีหล่า” ฉันใส่เสื้อยืดนุ่งผ้าถุง เก็บตัวอยู่แต่ในบ้านไม่ได้แตกต่างจากลูกหลานทั่วไป ส่วนพี่โกที่ถูกประกบทุกฝีก้าวก็น่าจะยืนยันว่า ทหารได้สืบสภาพในพื้นที่มาอย่างดี 

หน้าที่ทุกๆ วันของพวกเขาที่อ้างว่า “ดูแลความปลอดภัย” คือ มานั่งเฝ้าอยู่หน้าบ้าน ใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายรูปและส่งรายงานนาย เรียกได้ว่าแกนนำทุกคน ทุกหลังคาเรือนในหมู่บ้านถูกจับตาและตรวจสอบความเคลื่อนไหวตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนทหารอีกกลุ่มหนึ่งทำงานมวลชนสัมพันธ์ เดินตระเวนรอบหมู่บ้าน นั่งกินข้าวกับชาวบ้าน เห็นชาวบ้านทำนาลงไปช่วยชาวบ้านทำนา 

ในช่วงเวลาอาทิตย์เดียวหลังจากยกกองร้อยเข้าหมู่บ้าน ทหารก็เริ่มสำแดงอำนาจโดยการนำรถไถเข้าเคลียร์พื้นที่ทำความสะอาดเศษซากกำแพงใจโดยที่กลุ่มชาวบ้านไม่ได้ยินยอม มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกห้ามไม่ให้แกนนำหรือชาวบ้านจัดประชุมหรือทำกิจกรรมทุกรูปแบบ หญิง เฟรม ปังคุง ที่เข้ามาเยี่ยมแม่ๆ ในหมู่บ้านถูกเรียกรายงานตัวที่ค่ายทหารในวัดและบังคับให้ออกจากพื้นที่ 

จากนั้น ผบ.กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดเลย ได้แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอันเนื่องมาจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำและคณะอนุกรรมการฯ ซึ่งประกอบไปด้วยทหาร ผู้ว่าฯ และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องในจังหวัด แต่ไม่ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม และไม่มีนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญที่น่าเชื่อถือ 

ตัวแทนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด นาหนองบง 6 หมู่บ้านถูกเชิญรายงานตัวที่ค่ายทหารแห่งหนึ่ง หลังนำกำลังเข้าดูแลความสงบในหมู่บ้าน

ทหารได้ให้อำนาจคณะกรรมการฯ และอนุกรรมการฯ ในการรวบรวมข้อเท็จจริง พิจารณาสาเหตุ ผลกระทบ ความต้องการชาวบ้านและเหมืองแร่ทองคำ รวมถึงการกำหนดแนวทางในการแก้ปัญหา การเจรจาและการดำเนินการอื่นๆ เพื่อแก้ปัญหาระหว่างเหมืองทองกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ

เมื่อเริ่มชัดเจนแล้วว่า ทหารไม่ได้เข้ามาเพื่อรักษาความปลอดภัยของชาวบ้านเท่านั้น แม่ไม้ แม่ป๊อป บ๋อย ก็ขึ้นไปที่ศูนย์บัญชาการขอดูหนังสือคำสั่งว่า ทหารมาปฏิบัติภารกิจอย่างไรบ้างในพื้นที่ แต่นายทหารจากกรมทหารราบที่ 8 ก็แสดงท่าทีเฉยเมยทุกครั้ง 

ภายใต้กฎอัยการศึกและถูกทหารประกบตัว แม้แกนนำจะรวมตัวกันประชุมกันไม่ได้ แต่เราก็ใช้วิธีสื่อสาร หรือนัดหมายกันแบบปากต่อปาก 

วันหนึ่งแกนนำวางแผนชักชวนผู้กองต๊อบและลูกน้องพลทหารที่ประจำอยู่ในหมู่บ้านให้มาช่วยหยอดข้าวนารวมของกลุ่ม หลังจากนั้นจะพาทหารไปทัวร์เหมืองทอง และผู้กองต๊อบรับปากกับแม่ป๊อปจะมาร่วมกิจกรรม 

วันงานหลังเสร็จจากนา แกนนำทุกคนก็ขึ้นรถทหารพาผู้กองต๊อบและลูกน้องตะเวนไปดูห้วยเหล็กสีสนิม นาที่เคยอุดมสมบูรณ์กลายเป็นนาร้าง ภูเขาที่กลายเป็นขุมเหมืองและบ่อเก็บกากแร่ 

พ่อไม้ แม่รส แม่ป๊อป พี่โก ช่วยกันบรรยายผลกระทบที่เกิดจากการทำเหมืองให้กับทหารเกือบยี่สิบคน ทุกคนดูตั้งใจฟังและได้เห็นกับตาว่า ชาวบ้านต่อสู้อยู่กับอะไร

ระหว่างทาง แม่ป๊อปกระซิบกับฉันว่า “ทหารชั้นผู้น้อยพวกนี้ไม่เข้าใจอะไรนอกจากรับคำสั่ง วันนี้ได้มาเห็นด้วยตัวเองก็หวังว่าจะเกิดสำนึกขึ้นมาบ้าง”

ฉันไม่ได้คิดถึงเรื่องที่แม่ป๊อปพูดมากนัก แต่ก็เห็นข้อดีของกิจกรรมที่จัดขึ้นกับทหาร เพราะมันทำให้พวกเรามีเวลาได้หารือทำความเข้าใจกันในเรื่องสำคัญที่ทหารทำตัวเป็นนายหน้าให้เหมือง โดยตั้งคณะกรรมการฯ ขึ้นมาเพื่อจะสร้างความชอบธรรมให้เหมืองทองได้ขนแร่ หรืออาจทำให้เหมืองกลับมาเปิดทำการได้อีกครั้ง

พวกเราถือโอกาสนัดหมายจะประชุมเพื่อคุยกันเรื่องนี้ในวันที่ 19 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันที่องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ หรือ PI เข้ามาในพื้นที่ ทหารอาจจะพยายามรักษาภาพ ไม่ตามประกบแกนนำมากนัก 

ทหารตั้งด่านรักษาความปลอดภัยหลังจากนำกำลังเข้าควบคุมหมู่บ้านนาหนองบง อ.วังสะพุง จ.เลย 

แต่พวกเราก็คิดผิด เพราะเย็นวันนั้นหลังจาก PI เดินทางกลับ แกนนำและชาวบ้านมารวมตัวกันที่บ้านแม่ไหม่ พร้อมกับ บอม ไผ่ โต้ง สามเหลี่ยม (สุวิชชา พิทังกร) ที่ติดรถ PI เข้ามา พวกเราเริ่มพูดคุยกันไปได้เล็กน้อย ผู้กองต๊อบก็เดินเข้ามานั่งหน้าบ้านกับลูกน้องอีกสามสี่คน  

พี่โกหันไปเห็นก็พูดว่า “ขอเวลาส่วนตัวได้มั้ย”

ชาวบ้านทุกคนนิ่งเงียบในขณะที่ผู้กองต๊อบเดินออกไปโทรศัพท์ ไม่ถึงนาทีต่อมาก็เดินกลับมาที่หน้าบ้านแล้วส่งเสียงดังว่า “ขอประกาศใช้กฎอัยการศึก” 

จากนั้นทหารทั้งหมดบุกเข้ามาในบ้าน ไล่ชาวบ้านให้กลับไป และค้นรื้อข้าวของกระจัดกระจายไปทั่ว แม่ๆ ลุกขึ้นกรีดร้องด้วยความตกใจ โต้งกับสามเหลี่ยมกำลังยกมือถือขึ้นถ่ายรูป ทหารสองคนก็เข้ามากระชากโทรศัพท์ออกจากมือ น้องๆ ที่กำลังโกรธพยายามขัดขืนก็ถูกทหารล็อคคอเอาไว้ หลังจากนั้นอีกไม่นานชาวบ้านที่มาประชุมทั้งหมดก็ทยอยแยกย้ายกลับ

ฉันเดินเข้าห้องด้วยอารมณ์โกรธจนตัวสั่น นั่งฟังเสียงรองเท้าบู๊ทเดินกระแทกพื้นที่ค่อยๆ เงียบลง ไผ่เดินตามเข้ามานั่งในห้องพึมพำด้วยความปวดร้าว “รู้กันหรือยังว่าการเมืองกับเหมืองทองมันเรื่องเดียวกัน” 

ไม่นานโต้งเดินเข้ามาสมทบ เรานั่งอยู่กันแบบนั้นนานนับชั่วโมง อัดอั้นในอก ไม่มีคำพูดคำจา แล้วบอมกับสามเหลี่ยมก็เข้ามาบอกไผ่กับโต้งว่า ทหารต้องการบัตรประชาชน และรุ่งเช้าน้องๆ จำเป็นต้องออกไปจากหมู่บ้าน 

สำหรับฉันที่ได้เห็นต่อหน้าต่อตา เมื่อนาหนองบงกลายพื้นที่ต้องห้ามของ “ดาวดิน” โดยที่ทำอะไรให้น้องๆ ไม่ได้เลย ฉันรู้สึกอ่อนแอและร้าวราน

วันรุ่งขึ้น แม่ๆ เป็นตัวแทนกลุ่มไปยื่นหนังสือที่ค่ายทหารยืนยันเจตจำนงค์ของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ถ้าเหมืองทองจะขนแร่ออกไปหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องถอนประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำของบริษัทฯ ทั้ง 6 แปลง บนภูทับฟ้า และภูซำป่าบอน และถอนใบอนุญาตประกอบโลหะกรรมและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการประกอบโลหะกรรมทั้งหมด หลังจากนั้นให้ปิดเหมืองถาวรเพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ระบบนิเวศ สุขภาวะ อนามัย และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน

ส่วนเหตุการณ์ประกาศกฎอัยการศึกที่บ้านแม่ไหม่ ฉันใช้นามแฝงเขียนบทความวิจารณ์การกระทำของทหารที่เข้ามาในพื้นที่โดยไม่รู้จักหน้าที่และบทบาทของตนเอง แต่แม่ๆ อ่านแล้วไม่เห็นด้วยที่จะเผยแพร่ออกไป เพราะกังวลว่า ทหารจะกดดันแกนนำและชาวบ้านมากยิ่งขึ้น 

การทักท้วงของแม่ๆ ทำให้ฉันย้อนกลับมามองตัวเอง ถ้าเป็นเมื่อก่อนฉันคงคิดว่า การใช้กระแสสังคมกดดัน ยิ่งคนรู้เยอะก็ยิ่งดี โดยที่ไม่ได้ประเมินให้รอบคอบว่า ผลกระทบจากการสื่อสารจะตกอยู่กับใครบ้างและอย่างไร

บทความชิ้นนั้นทำให้ฉันรู้สึกจริงๆ เป็นครั้งแรกว่า ฉันไม่ใช่ปัจเจกที่จะมีเสรีภาพในการสื่อสารทางสาธารณะเรื่องนาหนองบงอย่างไรก็ได้ เพราะฉันทำงานกับกลุ่ม ต้องถือการตัดสินใจของกลุ่มเป็นหลัก 

แกนนำขอให้พี่โกกับฉันออกจากหมู่บ้านชั่วคราวเพื่อความปลอดภัยในช่วงเวลาที่ถูกทหารบีบคั้นอย่างหนัก แต่ก่อนที่เราจะออกจากหมู่บ้านพี่โกนัดคุยกับพ่อไม้และพ่อสมัย

“ตอนนี้พี่น้องรู้สึกยังไงกันบ้าง” พี่โกถามพ่อสมัย

“พี่น้องบางส่วนก็ชอบที่ทหารเข้ามา เพราะทำมาหากินได้ รู้สึกปลอดภัย แต่ก็รอทางกลุ่มว่า เรื่องเหมืองจะเอายังไงต่อ ชาวบ้านเยอะเหมือนกันที่คิดว่าทหารมาปิดเหมืองแล้ว ไม่จำเป็นต้องสู้อีก เขายังไม่เข้าใจว่าทำไมกลุ่มต้องคัดค้านทหารด้วย” พ่อสมัยเล่าสถานการณ์ 

พ่อไม้เสนอว่า “ทางกลุ่มน่าจะจัดประชาคมหมู่บ้าน ให้ชาวบ้านลงมติไม่ยอมรับคณะกรรมการฯ ที่ทหารตั้ง”

พ่อสมัย “เอ็ด (ชื่อเล่นพ่อไม้) ต้องเข้าใจนะว่าพี่น้องส่วนใหญ่ใน 6 หมู่บ้าน ยังไม่เข้าใจ เพราะคิดว่าคณะกรรมการที่ทหารตั้งจะมาปิดเหมือง ถ้ากลุ่มออกไปค้าน พี่น้องจะคิดว่ากลุ่มค้านแบบไม่มีเหตุผล” 

สรุปการคุยกับพ่อไม้และพ่อสมัยในวันนั้น ทั้งคู่จะเดินสายไปตามคุ้มบ้านต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจกับชาวบ้านเรื่องเหตุผลที่ชาวบ้านไม่ควรยอมรับคณะกรรมการฯ ที่ทหารตั้งขึ้น

พี่โกพาฉันผ่านด่านทหารออกจากหมู่บ้านไปหาที่พักอยู่ไม่ไกลนัก เธอปรึกษาว่า “ช่วงนี้ทำอะไรได้ยาก  แกนนำก็แทบขยับตัวไม่ได้เลย ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็เริ่มทำนา พวกเราตอนว่างๆ ไปทำไร่กันมั้ยแย้ม”

ฉันคิดว่าเป็นความคิดที่ดี “เห็นด้วยนะ พี่โกเองถ้ายังอยู่ในหมู่บ้าน ทหารก็จะใช้เรื่องนี้กดดันชาวบ้านว่าถูกปลุกปั่นจากคนนอกอีก” 

เมื่อความเห็นตรงกันเธอก็พาฉันไปตลาดนัดมือสอง ฉันซื้อเสื้อยืดแขนยาวตัวละ 35 บาท และกางเกงขายาวตัวละ 50 บาทเอาไว้ใส่ทำไร่สามสี่ชุด จากนั้นก็ไปซื้อมีดพร้าคนละเล่มในตลาด รวมทั้งซื้ออาหารสดอาหารแห้งตุนเอาไว้พอสมควร

เมื่อได้พักบ้างแล้ว ซื้อของพร้อมแล้ว เราทั้งคู่ก็กลับเข้าหมู่บ้าน ทหารที่ยืนเฝ้าด่านเปิดทางให้เราเข้าหมู่บ้านตามปกติ หมู่บ้านตอนกลางวันค่อนข้างเงียบเพราะทุกคนออกไปทำไร่ทำนา 

กลับเข้าหมู่บ้านครั้งนี้เราแทบไม่ได้ใช้เวลานานๆ คุยกับแกนนำเลย นอกจากพ่อไม้ที่จะแวะเข้ามาคุยกันแทบทุกค่ำ ฉันกับแม่ไหม่และทหารจะได้เจอกันตอนเช้าและตอนเย็นเท่านั้น ตอนกลางวันพวกเราแยกย้ายกันออกไปไร่ไปนา ตาฟลุ๊คไปนอนอยู่ที่บ้านไร่ ฉันเริ่มใช้ชีวิตเหมือนแม่บ้านในหมู่บ้าน นอนสามทุ่ม ตื่นแต่เช้า ทำกับข้าวกินกันเองและทำเผื่อแม่ไหม่ด้วย ตอนกลางวันก็เตรียมอาหารไปกินที่ไร่ ช่วยพี่โกตัดกล้วยแบกลงจากเขาเอามาขายให้กับพ่อค้าคนกลางที่วิ่งรถเข้ามารับซื้อถึงในบ้าน

ตอนขายกล้วยครั้งแรก ฉันแอบขำอยู่ในใจ ‘กว่าจะได้เงินไม่กี่ร้อยบาท มันเหนื่อยขนาดนี้เลยหรือ’

วันไหนได้เจอแม่ๆ ทุกคนจะถามว่า “เหนื่อยมั้ยต๊ะ” 

“เหนื่อยจ๊ะแม่ แต่ก็สนุกดี เข้าใจแล้วว่าเมื่อก่อนเวลามีประชุมตอนค่ำ แม่จะง่วงนอน มันเหนื่อยขนาดนี้นี่เอง ถ้าเป็นต๊ะตอนนี้คงนั่งฟังประชุมไม่ไหวหรอก” ฉันตอบแม่ๆ ด้วยเสียงหัวเราะ 

แม่ๆ ก็หัวเราะแล้วพูดว่า “คนไม่เคยจับจอบจับเสียม ค่อยๆ ทำไปนะ อย่าไปหักโหม” 

ฉันรู้สึกเบิกบานที่ได้พูดคุยกับแม่ๆ เรื่องเรือกสวนไร่นา เล่าสู่กันฟัง ปรับสารทุกข์สุกดิบ ระบายความเหน็ดเหนื่อย เมื่อยล้า โดยแทบไม่ได้คุยเรื่องเหมืองทอง 

ฉันรู้สึกถึงความสุขที่ได้อยู่ในหมู่บ้านหวนคืนมาอีกครั้ง ไม่อยากจะคิดเลยว่าในฤดูกาลผลิตที่พวกเราต้องทำงานในไร่นา ทหารที่นั่งกินภาษีของพวกเรา พวกเขาทำงานเพื่อใคร?!

ปลายเดือนมิถุนายน ทหารส่งรายงานแจ้งความคืบหน้าการดำเนินงานมาถึงกลุ่มว่า หน่วยงานจากส่วนกลางได้เก็บข้อมูลผลกระทบรอบบริเวณเหมืองทองแล้ว และทหารได้ประสานงานให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 4 ชุด เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและผลกระทบจากเหมืองทอง

มาถึงต้นเดือนกรกฎาคม พ่อไม้หน้าตาเคร่งเครียดมาหาที่บ้านตอนเย็น เธอเล่าว่าทหารจะจัดประชาคมหมู่บ้าน ประชาคมเรื่องอะไรก็ไม่ได้แจ้งให้ชัดเจน พวกเราหารือกันว่า วันที่ทหารจะจัดประชาคม กลุ่มต้องไม่เข้าร่วม และไม่ยอมรับคณะกรรมการ 4 ชุดที่ทหารแต่งตั้งขึ้นมา แกนนำจะต้องสื่อสารและนัดหมายกับชาวบ้านให้ได้ก่อนจะถึงวันงาน

ช่วงนั้นพ่อไม้ พ่อสมัย และแม่ๆ จะเวียนเข้ามาที่บ้านแม่ไหม่แทบทุกเย็น เล่าความคืบหน้า พูดคุยถึงสถานการณ์ต่างๆ กับพี่โก ทหารก็ดูจะผ่อนคลายการเกาะติดตามบ้าน ส่วนฉันมักจะอยู่ในครัวทำกับข้าว หรือไม่ก็ซักผ้าที่ใส่ทำงานในไร่ 

“ต๊ะไม่ต้องทำกับข้าวแล้ว ออกมาคุยกันก่อน” พ่อไม้เรียกฉันด้วยน้ำเสียงหงุดหงิด

วันที่ 7 กรกฎาคม วันประชาคมมาถึง ชาวบ้าน 300 คน เดินทางไปยังบริเวณจัดงาน แล้วยืนอ่านแถลงการณ์ไม่ร่วมประชาคม และไม่ยอมรับคณะกรรมการ 4 ชุดที่ทหารแต่งตั้ง 

การประชาคมชาวบ้าน 6 หมู่บ้านในครั้งนั้น ทหารได้รายชื่อผู้เข้าร่วมไม่ถึง 100 คน

อีกสองวันต่อมา สิ่งที่พวกเราคาดไว้ก็เกิดขึ้น จังหวัดเลยได้ออกประกาศเรื่องผลการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำบริเวณรอบเหมืองทอง พบสารหนู และแมงกานีส ไม่เกินค่ามาตรฐาน และไม่มีสารโลหะหนักเพิ่มขึ้นจากการจัดเก็บตัวอย่างน้ำที่ผ่านมา 

วันนั้นฉันร่างหนังสือตามที่กลุ่มได้หารือกันว่า กลุ่มจะไม่ยอมรับการแต่งตั้งและผลการดำเนินงานของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเหมืองทองคำจังหวัดเลยทั้ง 4 ชุดที่แต่งตั้งโดยผู้แทนทหาร คสช.  และยืนยันข้อเรียกร้องของกลุ่มที่ได้เสนอมาแล้วหลายครั้งกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องและทหาร 

หนังสือฉบับนั้นส่งถึง  พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา รวมถึงแม่ทัพภาคที่ 2 ผบ.ทหารบกจังหวัดเลย กอรมน.เลย ผู้ว่าฯ จังหวัดเลย และคณะกรรมการสิทธิฯ แกนนำยังวางแผนอีกว่า กลุ่มจะจัดประชาคม 6 หมู่บ้าน ตอบโต้ทหารในอีก 10 วันข้างหน้า ส่วนฉันถือโอกาสในช่วง 10 วันนั้นกลับกรุงเทพฯ ไปสะสางความในใจที่คั่งค้าง 

ฉันนั่งอยู่ในห้องที่กรุงเทพฯ เปิดดูคลิปวีดีโอที่พี่โกส่งมาให้ เธออยู่ในไร่กล้วยในวันฝนพรำ มีอาหารเที่ยงเป็นแจ่วที่เหลือของแม่ไหม่กับไข่ต้มสองใบ เธอเล่าว่า มาไร่ตั้งแต่เช้าเพื่อทำขั้นบันไดให้ฉันสามารถเดินขึ้นไปบนไร่ที่ยอดภูเขา วันนี้ทำได้ 457 ขั้น พรุ่งนี้ก็น่าจะเสร็จแล้ว

“แย้มกลับมาก็จะได้เดินขึ้นไปถึงยอดซักที พี่อยากให้แย้มเห็นวิวบนนั้น มันสวยมาก มองเห็นรอบทิศทาง เห็นหมู่บ้านเล็กนิดเดียว” 

ฉันดูคลิปวีดีโอจนจบ มองดูเวลาตอนนี้ห้าทุ่ม ป่านนี้เธอคงนอนหลับไปแล้ว 

ฉันอยากจะบอกกับเธอว่า จริงด้วย ไร่กล้วยบนภูเขาสูงชันลูกนั้นฉันไม่เคยเดินถึงยอดเลย ปีนขึ้นไปได้ครึ่งทางก็ไปต่อไม่ไหวแล้ว บันได 457 ขั้นที่เธอทำไว้ให้ ฉันจะเดินไหวไหมนะ?

วันที่ฉันตัดสินใจกลับเข้าหมู่บ้านอีกครั้ง เธอมารับและพาฉันไปที่ไร่ เดินจูงมือพาฉันปีนขั้นบันไดขึ้นไปจนถึงยอดภู 

พวกเรานั่งอยู่ตรงนั้นทอดสายตามองหุบเขาที่เขียวขจีจากข้าวที่กำลังแตกใบ หมอกยังคลอเคลียทิวเขาที่วางตัวทอดยาวสลับซับซ้อน เธอบอกแผนว่าจะปลูกต้นไม้เพิ่ม ต้นสักจะปลูกไว้รอบไร่ สะตอ มะปราง มะนาว จะปลูกตรงที่ราบข้างล่าง ดาหลาจะปลูกไว้ใกล้แอ่งน้ำ…

ฉันนั่งฟังทุกถ้อยคำของเธอ ในใจสั่นไหวอยู่ลึกๆ

ใกล้วันที่กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดจะจัดประชาคมเข้ามาทุกที พวกเราวางเป้าหมายว่าจะใช้การประชาคมในครั้งนี้ปลุกตื่นชาวบ้านที่กำลังคิดว่า ทหารและคณะกรรมการฯ ที่ตั้งขึ้นจะมาช่วยชาวบ้านปิดเหมือง แต่กระแสข่าวก็แพร่กระจายออกไปอย่างรวดเร็วทำให้ทหารไหวตัวทันและกดดันให้ผู้ใหญ่บ้านหลายหมู่บ้านประกาศหอกระจายข่าวเช้าเย็นไม่ให้ชาวบ้านออกมาประชาคม อ้างว่าเหมืองปิดอยู่แล้ว และกำลังจะปิดถาวร ทหารและหน่วยงานรัฐกำลังดำเนินการอยู่ การสร้างวุ่นวายในช่วงนี้ผิดกฎหมาย และกลุ่มจะทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน

พ่อไม้ พ่อสมัย และแกนนำลำบากใจไม่น้อย และประเมินไม่ได้ว่าจะมีชาวบ้านออกมาประชาคมมากน้อยแค่ไหน แต่ทุกคนยืนยันว่า กลุ่มต้องแสดงจุดยืนให้ชัดเจนและไม่กลัวที่จะปะทะกับแรงกดดันจากทหารที่จะรุนแรงขึ้นอีกแน่นอน

18 กรกฎาคม วันจัดประชาคม 6 หมู่บ้าน แม้จะมีการสกัดกั้นชาวบ้านในทุกทางไม่ให้ออกมาประชาคม แต่ชาวบ้าน 494 คน ก็ออกมาลงเสียงและประกาศจุดยืนร่วมกันที่จะไม่ยอมรับข้อเสนอของทหารและเหมืองทอง ไม่ยอมรับคณะกรรมการทั้ง 4 ชุด ที่ทหารและข้าราชการจังหวัดเลยได้แต่งตั้งขึ้น 

หลังการประชาคมก็เป็นไปตามคาด ทหารทยอยเรียกสมาชิก อบต. และผู้ใหญ่บ้านเข้าค่ายทหาร ข่มขู่ว่า “จะปรามเป็นครั้งสุดท้าย เรื่องไม่ให้ชาวบ้านคัดค้านคณะกรรมการ 4 ชุดที่ทหารตั้งขึ้น เพราะถือเป็นการต่อต้าน คสช.”

หลังจากนั้นทยอยเรียกแกนนำทุกคนรวมถึงพี่โกปรับทัศนคติ ไม่เว้นแม้แต่แม่ไม้ที่ท้องแก่อุ้ยอ้ายเต็มที

“เรื่องหนังสือคัดค้านคณะกรรมการ 4 ชุดที่ทหารแต่งตั้ง เข้าข่ายเป็นการบิดเบือนข้อมูลและอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด เกิดผลเสียต่อภาพลักษณ์ของทหาร ถือเป็นการต่อต้าน คสช. ส่วนการทำเวทีประชาคม 6 หมู่บ้านที่ชาวบ้าน 494 คนมาลงชื่อ ถือเป็นการไม่ให้เกียรติข้าราชการ ฝ่าฝืนคำสั่งของ คสช. ซึ่งถือว่าแกนนำกลุ่มคือผู้สร้างปัญหาและพาชาวบ้านกระทำความผิด” 

“ปัญหาต้องยุติ จะมีเวทีเจรจาไกล่เกลี่ยปัญหา และดำเนินการตามความต้องการของแต่ละฝ่าย หากปัญหาใดไม่สามารถดำเนินการแก้ไขได้อย่างลงตัว ก็มีความจำเป็นต้องนำกฎอัยการศึกเข้ามาบังคับใช้ และห้ามเด็ดขาดไม่ให้คนนอกเข้าพื้นที่จนกว่าปัญหาจะยุติ”

ถ้อยคำข่มขืนใจสุดท้ายที่ทหารพูด คือ “ชาวบ้านต้องอยู่ร่วมกับเหมืองให้ได้”

image_pdfimage_print