บันทึกนักข่าวกลางเมืองทอง จ.เลย “นาหนองบง 2557 ตั้งแต่ คสช.รัฐประหาร ฉันไม่ได้กลับบ้านอีกเลย” เดินทางถึงบทสุดท้ายที่ “แม้นวาด กุญชร ณ อยุธยา” ตัดสินใจออกจากหมู่บ้านนาหนองบง ทั้งที่รักและผูกพันมานาน เพื่อให้ชาวบ้านได้แสดงพลังปกป้องท้องถิ่นด้วยพลังชุมชน

แม้นวาด กุญชร ณ อยุธยา เรื่องและภาพ

ปลายเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม 2557 หน่วยงานราชการต่างๆ ในคณะกรรมการฯ ทหารแต่งตั้ง 4 ชุด เดินหน้าจัดประชุมรายงานผลการตรวจสอบว่า เหมืองทองไม่ได้สร้างผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและชาวบ้าน เพื่อคัดง้างผลการศึกษาของหลายหน่วยงานที่เคยพิสูจน์ได้ว่า มีไซยาไนด์และโลหะหนักหลายชนิดที่ปนเปื้อนอยู่ในเลือดของชาวบ้าน ในผืนดิน แหล่งน้ำและแหล่งอาหาร 

ส่วนทหารทำหน้าที่รับรองให้การศึกษานั้นชอบธรรมและบังคับให้ชาวบ้านยอมรับผลการศึกษาที่ชี้ว่า เหมืองบริสุทธิ์ ทำทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมายเพื่อจะนำไปสู่การเจรจาให้ชาวบ้านยินยอมให้เหมืองขนแร่และเปิดเหมืองทอง 

ปฏิบัติการทางทหารในการแบ่งแยกแล้วปกครอง แยกปลาออกจากน้ำ หรือแบ่งแยกคนนอก-คนใน ทำให้เพื่อนพี่น้องที่อยู่ข้างนอกแทบจะทำอะไรไม่ได้เลย ผู้นำทางการหลายคนในหลายหมู่บ้านเลือกข้างใหม่และกล้าแสดงออกอย่างชัดเจนว่า แปรพักตร์ บางหมู่บ้านถึงขั้นประกาศผ่านหอกระจายข่าวในหมู่บ้านตนเองว่า เหมืองปิดแล้ว แต่แกนนำกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดยังสร้างความวุ่นวายหวังโก่งค่าตัวในการเรียกผลประโยชน์จากเหมืองและจะพาชาวบ้านติดคุกติดตารางไปด้วย

ตอนนั้นหากแกนนำจะประชุมกันเพื่อกำหนดความเคลื่อนไหวเรื่องสำคัญๆ ต้องแอบนัดหมายและขับรถออกไปประชุมนอกพื้นที่ แต่ถึงขนาดนั้นทหารก็ยังติดตามสัญญาณโทรศัพท์ไปห้ามการประชุมของแกนนำได้ไม่ว่าจะเป็นในสวนยาง หรือในสถานที่ลึกลับที่เลือกสรรกันมาอย่างดีก็ตาม

ส่วนฉันกับพี่โกใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในไร่กล้วย ปลูกต้นไม้ ตัดหญ้า ตัดกล้วยขายได้ค่าน้ำพักน้ำแรงครั้งละพันกว่าบาท ใช้ชีวิตเรียบง่ายเกือบจะเหมือนชาวบ้านธรรมดาในหมู่บ้านที่ค้านเหมือง ปล่อยวางกับกระแสเสียงที่ลอยมาตามลมว่า เราเป็นต้นเหตุที่ดึงทหารเข้ามาในพื้นที่ เป็นฝ่ายเดียวกับทหารไปแล้วหรือเป็นคนที่สร้างความวุ่นวาย

เย็นวันหนึ่งห่าฝนสาดลงมาเหมือนฟ้ารั่ว เรารีบกลับจากไร่ พ่อไม้มาแวะที่บ้านแม่ไหม่ เสื้อผ้าของพวกเราเปียกปอนและเปรอะเปื้อนไปด้วยโคลมตม ฉันรีบเดินเข้าบ้านผลัดผ้า ปล่อยชายต่างวัยทั้งคู่นั่งทอดอารมณ์คุยกันเรื่องชีวิตประจำวันฝนฟ้านาไร่

เมื่อฉันทำงานบ้านเสร็จออกมานั่งร่วมวง พ่อไม้ก็พูดขึ้นว่า “อาจารย์ ผู้เฒ่าผู้แก่ในบ้านเริ่มคุยกันแล้วนะ เรื่องอาจารย์กับต๊ะจะทำกันอย่างไร ออกพรรษานี้ช่วยกันยกเรือนมั้ย หาที่ในบ้านก็ได้ เพราะไปยกเรือนที่ไร่ผมว่า มันเปลี่ยวเกินไป น้ำไฟก็ยังไม่ถึง อาจารย์ก็มาขอไอ้ต๊ะมันซะ มันก็เหมือนลูกหลานที่นี่ ผูกข้อผูกแขนกันให้ถูกต้อง”

“ผมก็พร้อมนะพ่อไม้ แต่ก็ต้องถามเค้าดู” พี่โกตอบแล้วโยนการตัดสินใจมาให้ฉัน แต่ฉันบ่ายเบี่ยงที่จะให้คำตอบ หันกลับเข้าบ้านไปทำกับข้าว หุงข้าว แต่ก็ยังได้ยินทั้งคู่คุยกันต่อ และมีแม่ๆ เริ่มมาสมทบ

เสียงพ่อไม้ “ยกเสาซักเก้าต้น  ไม้มีเยอะแยะ ช่วยกันทำสองสามวันก็เสร็จ”

เสียงแม่รสท้วงว่า “ไปอยู่กันที่ไร่ไม่ได้หรอก ต๊ะจะอยู่ยังไง ลำบาก น้ำไฟก็ไม่มี ถ้าอาจารย์ไม่อยู่ ต๊ะมันอยู่เดียวอันตรายเกินไป”

 เสียงแม่ไหม่ “อาจารย์อยู่กับต๊ะที่นี่ก็ดีแล้ว ดูแลกันไป ข้าวปลาไม่ลำบากหรอกอาจารย์”

เสียงพ่อไม้พูดต่อ “ไอ้ต๊ะมาอยู่นี่ก็ช่วยได้เยอะ บ้านเราต้องการคนทำงาน ผมจะทำศูนย์ข้อมูลไว้ให้มันทำงาน”

ฉันเงี่ยหูแอบฟังพ่อๆ แม่ๆ คุยกันเหมือนสาวแรกรุ่นที่พ่อแม่เห็นสมควรว่า ได้เวลาต้องออกเรือน ทั้งหมดช่วยกันวางแผนครอบครัว แหล่งอยู่เรือนนอน ฉันทำกับข้าวไป น้ำตารื้นไป ตื้นตันใจอย่างบอกไม่ถูก ทั้งๆ ที่ตอนนั้นไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ออกพรรษา คือ เดือนอะไร เสาเก้าต้นคืออะไร และไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ฉันจะอยู่ที่นี่ได้จริง หรือควรจะใช้ชีวิตคู่กับพี่โกจริงหรือเปล่า 

โกวิทย​์ บุญเจือ นักพัฒนาเอกชน ขณะลงพื้นที่หมู่บ้านนาหนองบง อ.วังสะพุง จ.เลย ซึ่งเป็นพื้นที่ทำเหมืองทองคำ  

เย็นวันนั้นพ่อๆ แม่ๆ กินข้าวเจ้ากับกับข้าวที่ฉันทำ เสร็จแล้วพวกเราก็ไปช่วยกันเก็บโฉนดที่ดินของชาวบ้านที่ทุกคนเอาออกมาช่วยเพื่อเป็นหลักทรัพย์ประกันตัวชาวบ้านที่โดนฟ้องคดีอาญา 2 คดี รวมแล้วพวกเรามีเงินจากกองทุนยุติธรรมส่วนหนึ่ง มีโฉนด และ น.ส.3.ก 70 แปลง ราคาประเมินจากกรมที่ดินมูลค่ากว่า 10 ล้านบาทและพ่อสมัยจะใช้ตำแหน่ง อบต. ในการประกันตัวช่วยด้วย 

วันที่ 25 กรกฎาคม แม่ไม้คลอดลูกสาวตั้งชื่อว่า “ฝ้ายตุ่ย” ตามที่พ่อไม้ตั้งให้ ฉันไปเยี่ยมแม่ไม้ที่กำลังอยู่ไฟหลังออกจากโรงพยาบาล เธอดูมีความสุขมาก ส่วนฉันที่เคยเลี้ยงหลานๆ มาตอนอายุ 20 กว่าๆ ก็เพิ่งได้อุ้มเด็กแรกเกิดตัวแดงๆ อีกครั้งก็ฝ้ายตุ่ยนี่เอง 

ตั้งแต่ผลการศึกษาของคณะกรรมการ 4 ชุดออกมา ทหารพยายามเชิญกลุ่มเข้าร่วมประชุมหลายครั้ง ขอเจรจาก็หลายครั้ง แต่กลุ่มแสดงจุดยืน “ไม่เจรจา ไม่เข้าร่วมทุกการประชุม” ทหารจึงเปลี่ยนยุทธวิธีหันไปใช้เครือข่ายกลุ่มผู้ใหญ่บ้าน และ ส.อบต. ที่ชาวบ้านเรียกว่า “พวกขายตัวรับใช้เหมือง” เป็นเครื่องมือ

การประชุมนัดสำคัญเกิดขึ้นในวันที่ 8 สิงหาคม 2557 คณะกรรมการ 4 ชุด และทหาร ได้เปิดเวทีเจรจาระหว่างประธานคณะกรรมการบริหารซึ่งเป็นบริษัทแม่ของเหมืองทอง กับ ผู้ใหญ่บ้าน และ ส.อบต. โดยอ้างว่า เป็นตัวแทนของชาวบ้านจาก 6 หมู่บ้าน 

ผู้บริหารใหญ่ของเหมืองถึงกับเดินทางมาเอง เขามีความมั่นใจมาก ทั้งๆ ที่ตัวแทน ส.ป.ก.กับป่าไม้ บอกว่า  ยังไม่สามารถต่ออายุใบอนุญาตให้เหมืองใช้พื้นที่ได้ แต่เขาก็ประกาศอย่างไม่อ้อมค้อมกลางห้องประชุมว่า “เราต้องการจะขนแร่ ไม่ปิดเหมือง ไม่มีการถอนประทานบัตร เพราะบริษัทเราทำเหมืองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย” 

แม้เวทีเจรจาในครั้งนั้นแกนนำกลุ่มจะบอยคอตไม่เข้าร่วมในการเจรจา แต่ชาวบ้านที่มารับฟังในวันนั้นก็ยังยืนยันคำเดิม คือ ต้องปิดเหมืองถาวร ถอนประทานบัตรทุกแปลง เหมืองต้องออกไปจากพื้นที่ ต้องถอนฟ้องแกนนำชาวบ้านทุกคดีและต้องเอาตัวผู้กระทำผิดในคืนขนแร่มาลงโทษให้ได้ เป็นอีกครั้งที่การเจรจาจึงไม่สามารถตกลงกันได้ 

แต่อีกสองวันถัดมา ทหารกลับเขียนสรุปการเจรจาเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ออกมาเป็น 3 ข้อว่า ข้อแรก ชาวบ้านจะพิจารณาในการปิดเหมืองชั่วคราว ซึ่งปัจจุบันปิดโดยพฤตินัย โดยทำข้อตกลงเป็นหลักฐานว่า ทางบริษัทจะไม่ดำเนินการใดๆ หากไม่ได้รับความยินยอมจากชาวบ้าน ข้อสอง เหมืองจะนำส่วนแบ่งจากการขายแร่ที่ขนออกไปมาเสนอต่อชาวบ้านในการฟื้นฟูเยียวยาและข้อสาม ให้ชาวบ้านเสนอการฟื้นฟูเยียวยาเป็นขั้นตอนลายลักษณ์อักษร 

ตอนท้ายของสรุปยังเขียนด้วยว่า ชาวบ้านและผู้แทนบริษัท “เห็นด้วยกับสรุปผลการเจรจา” ฉบับนี้ที่จัดทำโดยทหาร และเอกสารสรุปฉบับนี้จัดส่งถึงผู้ใหญ่บ้านและ ส.อบต. เพื่อให้เตรียมจัดการทำประชาคมชาวบ้าน 6 หมู่บ้าน ที่จะเกิดขึ้นในอีก 1 อาทิตย์ข้างหน้า ในวันนั้นทหารจะนัดให้ชาวบ้านเจรจากับเหมืองทองเป็นครั้งสุดท้าย หากไม่สามารถตกลงกันได้ ทหารจะใช้กฎอัยการศึก

การไม่เข้าร่วมการประชุมและการเจรจาหลายครั้งของกลุ่มมีเสียงสะท้อนค่อนข้างแรงมาถึงแกนนำ ฉันได้ฟังก็อดน้อยใจแทนพ่อๆ แม่ๆ ไม่ได้ ที่ชาวบ้านตั้งคำถามกับแกนว่า “ทำไมไม่เคลื่อนไหว” “ทำไมถึงทิ้งชาวบ้าน”

พ่อสมัยพูดกับพ่อไม้ว่า “ทหารรุกแบบนี้ถ้าเราไม่เคลื่อนไหวจะเสียมวลชนนะเอ็ด”

พี่โกพูดว่า “ทหารคงไม่มีทางไปแล้ว เพราะจะจิ้มไปตรงไหน ชาวบ้านที่นี่ยังไงก็ไม่เอาเหมือง มันถึงต้องทำเอกสารปลอมขึ้นมาคงคิดว่าจะจบเรื่องให้ได้”

พ่อสมัย พ่อไม้ บ๋อย และพี่โกกำลังนั่งนิ่งขบคิด ฉันอ่านทวนเอกสารสรุปจากทหารอีกครั้ง แล้วถามว่า “ถ้าทำประชาคม 3 ข้ออย่างที่ทหารสรุปมา ผลจะออกมาเป็นยังไง ชาวบ้านที่ไปลงเสียงจะเข้าใจมั้ยว่า เหมืองจะขนแร่ ปิดเหมืองแค่ชั่วคราว แล้วจะแบ่งกำไรจากแร่ที่ขนออกไปขายเอามาฟื้นฟู เท่ากับเหมืองได้ประโยชน์ฝ่ายเดียว ชาวบ้านไม่ได้อะไรเลย”

“99% ของชาวบ้านที่นี่ไม่เอาเหมืองแน่นอน ทำอย่างไรให้ชาวบ้านได้แสดงตัว” พี่โกชวนคิดต่อ

หลังจากนั้นพวกเราช่วยกันคิดวิธีการ ซ้อนแผนของทหาร โดยจะจัดประชาคมคู่ขนานไปพร้อมกับทหาร ซึ่งพวกเรามีเวลาเตรียมการ 7 วันเท่านั้น 

เมื่อหารือกันเสร็จ บ๋อย พ่อไม้ และพ่อสมัยรีบกระจายกันไปส่งข่าวกับแกนนำในคุ้มต่างๆ ฉันมีหน้าที่เรียบเรียงร่างเอกสารที่จะต้องใช้ในการประชาคม

เย็นวันต่อมา พ่อไม้ กับพ่อสมัยมาอ่านร่างเอกสาร พวกเราซักถาม ทำความเข้าใจ ช่วยกันต่อเติมแก้ไข พยายามให้เนื้อหาสมบูรณ์ ปิดช่องโหว่ให้ได้มากที่สุด และวางแผนกันต่อว่าภายในวันที่ 14 สิงหาคม 2557 เอกสารจะต้องเสร็จพร้อมกับพิมพ์ออกมาให้ได้ 100 ชุด เพื่อสื่อสารกับชาวบ้านก่อนวันประชาคม 

ในขณะที่เรานั่งคุยกัน พ่อไม้ พ่อสมัยกับพี่โก ก็ได้รับหนังสือจากทหารให้ไปรายงานตัวเป็นครั้งที่ 2 ที่อำเภอวังสะพุง ทั้งสามคนถูกห้ามไม่ให้เคลื่อนไหวคัดค้านการดำเนินงานของทหารและคณะกรรมการฯ 4 ชุด ห้ามไม่ให้จัดประชุมกับชาวบ้าน และห้ามขัดคำสั่ง คสช. 

ฉันกังวลเล็กน้อยว่า ถ้าขัดคำสั่ง ทหารจะทำอย่างไร เรียกเข้าค่าย หรืออาจถึงขั้นต้องขึ้นศาลทหาร? แต่ตอนพี่โกกับพ่อไม้กลับมาคุยกันต่อที่บ้าน ฉันไม่เห็นว่าทั้งคู่จะกังวลอะไรกับการถูกเรียกไปรายงานตัว

วันที่ 14 สิงหาคม แกนนำทยอยกันมาเป็นกลุ่มเพื่ออ่านและทำความเข้าใจเอกสารประชาคมที่บ้านบ๋อย หลังจากพิมพ์ออกมาทุกคนก็กระจายกันเอาเอกสารไปทำความเข้าใจกับแกนนำ ผู้ใหญ่บ้าน ส.อบต. ใน 6 หมู่บ้าน โดยนัดหมายว่า วันจัดประชาคมจะมีเอกสารข้อเสนอเพื่อให้ชาวบ้าน 6 หมู่บ้าน ได้ลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ 2 ชุด คือชุดที่มาจากทหาร กับชุดที่ทำโดยกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด คนจัดประชาคมจะต้องอ่านเนื้อหาเอกสารของกลุ่มให้ชาวบ้านเข้าใจอย่างละเอียด แล้วให้ชาวบ้านเลือกเองว่า จะลงมติเห็นชอบหรือไม่ในเอกสารชุดไหน และเมื่อปิดประชาคมแล้วให้ส่งผลการนับคะแนนเสียงถึงกลุ่มในทันที เพื่อป้องกันไม่ให้ทหารโกงคะแนนเสียง

เย็นวันที่ 15 สิงหาคม ดาวดินรีบเข้ามาในพื้นที่เพื่อท้วงติงเนื้อหาในเอกสารประชาคมที่ยังมีข้อผิดพลาดและมีช่องโหว่ น้องๆ ไม่ต้องการให้ชาวบ้านเข้าร่วมประชาคมเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการจัดประชาคมที่จะเกิดขึ้นในวันรุ่งขึ้น แต่ก็ไม่สามารถเข้าบ้านนาหนองบงได้

16 สิงหาคม วันจัดประชาคม 6 หมู่บ้าน มีชาวบ้าน 971 คน มาลงมติประชาคม 708 คน เห็นด้วยกับข้อเสนอในเอกสารประชาคมของกลุ่ม ส่วนเอกสารของทหารมีชาวบ้านที่ลงมติเห็นด้วย 506 คน ทหารได้แต่นั่งมองแต่ทำอะไรไม่ได้กับการจัดประชาคมซ้อนของกลุ่ม 

เย็นวันนั้น แกนนำนั่งประชุมกันหน้าบ้านแม่ไหม่ เพราะวันรุ่งขึ้นทหารกำหนดให้เป็นวันที่เหมืองทองกับชาวบ้านจะต้องนำสรุปผลการประชาคมมาเจรจากันเป็นครั้งสุดท้าย และถ้าหากตกลงกันไม่ได้ทหารประกาศไว้แล้วว่าจะนำกฎอัยการศึกมาใช้ 

พี่โกถามแกนนำว่า จะเข้าเจรจาหรือไม่เข้า? ถ้าไม่เข้าก็ต้องส่งคนของเราเข้าไปสังเกตการณ์ แต่ถ้าจะเข้า ทุกคนก็ต้องมาเตรียมกันคืนนี้”

พวกเรานั่งถกเถียงถึงข้อดีและข้อเสียของการเข้าหรือไม่เข้าเจรจา แต่ความคิดเห็นของพวกเราไม่ตรงกัน เหตุผล คือ ถ้าไม่เข้า มวลชนจะคิดอย่างไรกับกลุ่ม เพราะอย่างไรการเจรจาก็จะมีชาวบ้านเข้าร่วมอยู่แล้ว แต่ถ้าเข้า จุดยืนของเรา คือ ไม่เจรจา แต่จะล้มเวทีการเจรจาได้หรือไม่ 

พี่โกถามย้ำอีกครั้ง แต่พวกเราก็ยังสรุปไม่ได้ เธอจึงเสนอให้ใช้วิธีโหวต สรุปแล้วเสียงส่วนใหญ่จะเข้าเวทีเพื่อไปล้มเวทีจากข้างใน ฉันที่ไม่เห็นด้วยกับการเข้าเวทีจำต้องยอมรับมติเสียงข้างมาก นึกย้อนกลับไปสมัยเข้าหมู่บ้านใหม่ๆ ที่พี่โกกับพ่อไม้เคยพูด “เราทำงานกลุ่ม ตัดสินใจคนเดียวไม่ได้ การตัดสินใจออกมาจากกลุ่ม จะเกิดอะไรขึ้นก็รับผิดชอบร่วมกัน”

คืนนั้นแกนนำทั้งหมดมาเตรียมวิธีการล้มเวทีเจรจาที่บ้านแม่ไหม่ ในความคิดของฉัน ผลที่จะเกิดขึ้นในพรุ่งนี้จะส่งผลกระทบกับหลายฝ่ายไปอีกยาวนาน รวมถึงผลกระทบต่อฉันกับพี่โกด้วย

การซักซ้อมเตรียมการใช้เวลาตั้งแต่ 2 ทุ่มจนเที่ยงคืน พ่อๆ แม่ๆ ดูมั่นใจก่อนจะแยกย้ายกันกลับ

พ่อไม้ยังนั่งคุยต่ออีกสักพัก เธอบอกกับฉันว่า “เราอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ ทุกวันมีเรื่องที่ถูกกดดันจากทุกทิศทุกทาง ทุกคนก็เคยทำผิดพลาดกันมาทั้งนั้นแหละต๊ะ ไม่มีใครทำถูกทั้งหมดหรอก มีอะไรก็แก้ไขกันไป ยังไงก็ต้องสู้กันยาวอยู่แล้ว”

17 สิงหาคม วันเจรจามาถึง ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกเลย รองผู้ว่าฯ จังหวัดเลย หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง กรรมการเหมือง ผู้ใหญ่บ้านทั้ง 6 หมู่บ้าน อบต.เขาหลวง นั่งเรียงกันอยู่พร้อมหน้ากว่า 30 คน มีรองผู้ว่าฯ เป็นคนกลางในเจรจา 

พ่อสมัยลุกขึ้นถามว่า ข้อตกลงทั้งหมดที่ชาวบ้าน 6 หมู่บ้านเรียกร้องมา เหมืองและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการอย่างไร 

หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องนับสิบหน่วยงานนั่งนิ่งไม่มีคำตอบ นอกจาก ส.ป.ก. ที่ชี้แจงว่า การอนุญาตให้บริษัทเข้าใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินที่ใบอนุญาตหมดอายุ ยังเป็นคดีความที่มีการฟ้องร้องในกระบวนการพิจารณาของชั้นศาล ดังนั้น การจะให้ ส.ป.ก.นำที่ดินมอบให้ชาวบ้านทั้ง 6 หมู่บ้าน ทำเป็นป่าชุมชนอาจจะไม่สามารถทำได้

กรรมการบริษัทเหมือง พูดต่อว่า “บริษัทประกอบกิจการทำเหมืองมาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ถ้ามีข้อมูลทางวิชาการที่ศึกษายืนยันออกมาว่า การทำเหมืองก่อให้เกิดผลกระทบก็จะปิดเหมืองแน่นอน แต่การจะให้ปิดเหมืองตามข้อเรียกร้องของชาวบ้านนั้นจะทำให้บริษัทและบริษัทแม่ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้รับความเสียหาย และเป็นความเสียหายต่อประเทศที่ได้รับผลประโยชน์จากเหมืองทองคำ ซึ่งเป็นค่าภาคหลวงแร่ รวมทั้งยังเป็นความเสียหายต่อกระทรวงการคลังที่ถือหุ้นในบริษัทแม่ จำนวน 15 ล้านหุ้น เป็นหุ้น 1.98% ที่บริษัทให้เป็นผลประโยชน์แก่รัฐบาลเมื่อครั้งได้รับอนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่ตะกั่วในทะเล จังหวัดภูเก็ต เมื่อปี 2523”

ส่วนการปิดเหมือง มีคดีความอยู่ในชั้นศาล เนื่องจากชาวบ้านได้ฟ้องศาลปกครองให้ถอนประทานบัตรของบริษัทแล้ว หากศาลปกครองมีคำพิพากษาเพิกถอนประทานบัตร เหมืองก็ต้องปิดตามคำสั่งศาล แต่เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นกับชาวบ้าน 6 หมู่บ้าน ดังนั้นทางบริษัทขอความชัดเจนเรื่องระยะเวลาในการปิดเหมืองชั่วคราวก็ขอเสนอเป็นข้อตกลงว่า ให้ปิดเหมืองชั่วคราวจนกว่าศาลปกครองจะมีคำตัดสิน 

ส่วนข้อที่ว่าบริษัทจะไม่ดำเนินการใดๆ ในการประกอบกิจการเหมืองแร่ หากไม่ได้รับการยินยอมจากชาวบ้านทั้งหมดในพื้นที่ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปนั้น ไม่น่าจะเป็นไปได้ที่จะต้องให้ชาวบ้านทั้งหมดยินยอม เพราะการปิดเหมืองนั้นเป็นอำนาจและหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ การขนแร่นั้นบริษัทฯ จะขนแร่ทั้งหมดที่มีอยู่ในเหมืองทอง และจะเคลื่อนย้ายเครื่องจักรออกจากเหมือง”

ตลอดเวลาที่ตัวแทนเหมืองพูด ชาวบ้านลุกขึ้นตะโกนถามทั้งที่รู้ว่า ไม่มีคำตอบ “จะถอนประทานบัตรเมื่อไหร่” “จะฟื้นฟูยังไง เมื่อไหร่ ชาวบ้านจะตายกันอยู่แล้ว” พร้อมทั้งส่งเสียงไม่พอใจอยู่ตลอดเวลา “เหมืองทองออกไปๆๆ” แต่รัฐและทุนในห้องนั้นไม่ได้สะทกสะท้าน 

สุดท้ายรองผู้ว่าฯ ได้ลุกขึ้นมาตอบแทนเหมืองเรื่องการถอนฟ้องคดีความกับชาวบ้านทั้งหมด 7 คดีอีกว่า “กรรมการบริษัทได้เจรจาเมื่อวันที่ 8 สิงหาคมแล้วว่า จะถอนฟ้องชาวบ้านทั่วไป แต่ไม่ถอนฟ้องแกนนำ แต่ถ้าบริษัทจะเปิดเหมืองควรจะใช้วิธีการในการทำประชาคมเพื่อถามความเห็นของชาวบ้าน 6 หมู่บ้านก่อน”

แม่เบนซ์ ทนไม่ไหวก้าวออกไปแย่งไมค์มาจากรองผู้ว่าฯ แล้วพูดว่า “ไม่ต้องมาพูดอะไรกันมากมายแล้ว ออกไปเลย ออกไป ไม่ต้องเจรจาอะไรกันแล้ว…” 

ตอนนั้นชาวบ้านในห้องประชุมลุกฮือขึ้น เสียงโวยวายอลหม่าน นายทุนและข้าราชการทั้งหลายค่อยๆ ทยอยลุกขึ้นเดินหนีออกไปจากห้อง 

รองผู้ว่าฯ พูดขึ้นก่อนจะออกจากห้องว่า “เนื้อหาจากการเจรจาในครั้งนี้จะจัดทำเป็นข้อตกลงที่เป็นลายลักษณ์อักษร แล้วจะมีการนัดทุกฝ่ายให้มาทำข้อตกลงอีกครั้ง”

เย็นวันนั้นทุกคนมานั่งสรุปกันที่บ้านแม่ไหม่ ฉันทรมานใจที่เห็นสีหน้าและแววตาของความเหน็ดเหนื่อยท้อแท้ของพ่อๆ แม่ๆ 

ฉันส่งข่าวว่า ออกไปสั้นๆ ว่า “เจรจาไม่มีข้อยุติ ชาวบ้านไม่รับข้อเสนอของรัฐและเหมือง”

คืนนั้นมีคำท้วงถามกลับมาจากหลายคนในทำนองว่า “ทำไมไม่เจรจา” “ชาวบ้านจะได้แก้ปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นซักที” ฉันอ่านข้อความเหล่านั้นแล้วรู้สึกเหนื่อยและท้อแท้ไม่ต่างจากพ่อๆ แม่ๆ เลย

หลังจากนั้น 3 วัน ทหารและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้ให้อัยการจังหวัดเลยจัดเตรียมสัญญา 3 ฝ่าย นัดให้ผู้ใหญ่บ้าน 6 หมู่บ้านไปลงนามในสัญญา โดยยังไม่มีใครได้เห็นเนื้อหาในสัญญา ในวันนั้นชาวบ้านต้องไปขึ้นศาล แม่ไม้อุ้มฝ้ายตุ่ยที่เพิ่งเกิดได้ไม่ถึงเดือนนั่งแถลงข่าวที่หน้าศาลว่า “ถ้าผู้ใหญ่บ้านทั้ง 6 หมู่บ้านไปลงนามในสัญญา ที่ทหารหรือหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องลัดขั้นตอน ไม่นำสัญญามาให้ชาวบ้านได้พิจารณาและทำประชาคม กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดจะฟ้องร้องการกระทำของผู้ใหญ่บ้านทุกรายต่อศาลปกครอง และจะใช้มาตรการทางสังคมกดดัน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ดำเนินไปภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน 6 หมู่บ้านอย่างแท้จริง ไม่ใช่ผ่านระบบตัวแทนรัฐ หรืออำนาจพิเศษใดๆ ก็ตาม”

วันนั้นไม่มีผู้ใหญ่บ้านแม้แต่คนเดียวกล้าลงนามในสัญญาที่ทหารและหน่วยงานราชการจัดขึ้น

การกดดันแกนนำกลุ่มให้ยอมรับการเจรจาเพื่อทำสัญญาให้เหมืองขนแร่ยืดเยื้อต่อไปอีกนานนับเดือน พวกเขาใช้ทุกวิธีการ ไม่ว่าจะเป็นการใช้กฎอัยการศึก ยึดหอกระจายข่าวของบ้านนาหนองบงคุ้มใหญ่และคุ้มน้อย บุกรุกรื้อค้นบ้านแกนนำ ห้ามไม่ให้ชาวบ้านทำกิจกรรมโดยอ้างว่าเป็นชุมนุมการทางเมือง  และยังใช้กลไกการระงับข้อพิพาทระหว่างนักลงทุนเอกชนกับรัฐ Investor-State Dispute Settlement (ISDS) ภายใต้ความตกลงระหว่างรัฐที่เกี่ยวกับการลงทุนระหว่างประเทศ ฟ้องรัฐบาลที่เหมืองไม่สามารถขนแร่ได้เพราะชาวบ้านต่อต้านจนส่งผลกระทบต่อธุรกิจ 

ส่วนคดีความในชั้นศาลที่ฟ้องชาวบ้านตอนนี้มีถึง 9 คดี สิ่งที่ชาวบ้านทำได้คือ ยืนกรานไม่ยอมเซ็นสัญญาเพื่อลดแรงกดดันรอบทิศทางที่ทำให้เราไม่สามารถรักษาหรือกอบกู้บรรยากาศเดิมๆ ได้อีกต่อไป ฉันชวนพี่โกกลับไปทำไร่ทุกวันเหมือนเดิมอีกครั้ง

ด่านตรวจความปลอดภัยภายในหมู่บ้านนาหนองบง ซึ่งมีชาวบ้านผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาทำหน้าที่รักษา

ทุกๆ วันในไร่กล้วย ฉันครุ่นคิด มันอาจจะจริงที่ฉันหรือพี่โกอาจเป็นสาเหตุที่เพิ่มความทุกข์ยาก เพิ่มภาระหรือเพิ่มความเสี่ยงให้กับพ่อๆ แม่ๆ มันอาจจะจริงที่ฉันหรือพี่โกอาจเป็นเครื่องมือที่ใครจะหยิบไปใช้เพื่อกดดันพ่อๆ แม่ๆ ในฐานะคนนอกที่เข้ามาชี้นำ 

ฉันนึกถึงคำพูดของพี่เลิศ “คุณจะรับแรงกระแทกไม่ไหวหรอก”

ฉันครุ่นคิดไตร่ตรองถึงคำๆ นี้อย่างละเอียด ตบตีใคร่ครวญมันจนกระจัดกระจายเพื่อลดผลกระทบและแรงกดดันที่ตกอยู่กับแกนนำ ในที่สุดฉันขอร้องพี่โกให้เราออกจากหมู่บ้าน 

คำขอร้องของฉันทำให้เราทะเลาะเบาะแว้งจนเกือบแตกหักกันนานหลายเดือน จนในที่สุดฉันยื่นคำขาด “งั้นเราแยกกันไป”

ก่อนฉันกับพี่โกจะออกมาจากหมู่บ้าน ฉันบอกลากับพ่อๆ แม่ๆ ว่า “ไม่มีใครจะช่วยพ่อๆ แม่ๆ ปิดเหมืองได้ นอกจากพ่อๆ แม่ๆ เอง”

ฉันออกมาจากหมู่บ้านแล้ว พ่อไม้ส่งข่าวมาบอกว่า ชาวบ้านตัดน้ำ ตัดไฟ และปิดตายห้องน้ำที่ตั้งอยู่ที่ด่าน วอ1 วอ2 และ วอ3 และทหารได้ถอนกำลังจากด่านบ้านฟากห้วยและไม่เฝ้าด่านตรวจ วอ1 วอ2 และ วอ3 ในเวลากลางคืน

วันที่ 30 สิงหาคม 2557 ประเทศไทยมีคณะรัฐมนตรีคณะที่ 61 นายกรัฐมนตรีชื่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ชื่อ จักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ที่ลาออกจากตำแหน่งคณะกรรมการบริหารธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ที่อนุมัติปล่อยเงินกู้กว่า 4 พันล้านบาทให้กับบริษัทที่ได้สัมปทานทำเหมืองแร่ทองคำ จ.พิจิตร เป็นผู้ถือหุ้นในกลุ่มบริษัทของเหมืองก่อนจะลาออกจากตำแหน่ง 3 วัน ก่อนจะขึ้นเป็นรัฐมนตรีฯ

หลังรับตำแหน่ง 4 เดือน จักรมณฑ์ ประกาศว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดทำนโยบายที่จะให้สัมปทานเหมืองแร่ทองคำใหม่กับผู้ประกอบการเหมืองทอง 300 แปลง ใน 12 จังหวัด คาดว่าจะมีศักยภาพผลิตทองคำได้ 170 ตัน หลังจากไม่ได้ให้อาชญาบัตรและประทานบัตรแร่ทองคำมาเป็นเวลา 8 ปี 

30 กันยายน ทหารทั้งหมดยกกองกำลังออกจากหมู่บ้าน 

นาหนองบง คือ หมู่บ้านแรกในประเทศไทยและหมู่บ้านแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่รัฐบาล คสช. ใช้กองกำลังทหารเข้ายึดพื้นที่ บังคับให้สงบและใช้กฎอัยการศึกในหมู่บ้านบังคับไม่ให้ชาวบ้านคัดค้านโครงการที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน 

ในที่สุดกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดก็ถูกจังหวัดเลยบังคับให้ลงนามในข้อตกลงยินยอมให้เหมืองขนแร่ โดยแลกกับการถอนฟ้องคดีในชั้นศาลของชาวบ้านทั้งหมด 8 คดี 

คืนวันที่ 7 ธันวาคม ชาวบ้านหลายร้อยคนในหมู่บ้านพากันออกมานอนที่สี่แยกกำแพงใจเพื่อจะยืนมองดูขบวนรถบรรทุกขนแร่ออกเหมืองในรุ่งเช้าด้วยความเจ็บช้ำ 

ตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน 2556 ที่ชาวบ้านได้ก่อกำแพงขึ้นบน 4 แยกบ้านนาหนองบงคุ้มน้อยเพื่อขวางเส้นทางขึ้นเหมือง ชาวบ้านสามารถป้องกันไม่ให้เหมืองทองขนแร่ออกจากเหมืองได้เป็นเวลา 7 เดือน

…ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้งในชีวิตฉันอาจเริ่มต้นที่นาหนองบง 

6 ปีผ่านไป ตั้งแต่ คสช. รัฐประหารในปี 2557 การใช้กำลังทหารเข้าจัดการกับพื้นที่ที่มีชาวบ้านคัดค้านโครงการที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนแผ่ขยายไปทั่วแผ่นดินที่ราบสูง 

ฉันปิดกิจการสำนักพิมพ์ ทิ้งชีวิตชนชั้นกลาง ทิ้งกรุงเทพฯ เก็บเสื้อผ้าและข้าวของที่ไม่จำเป็นบริจาคให้กับองค์กรที่ทำงานกับกลุ่มคนขาดโอกาสและแต่งงานกับพี่โกเมื่อปี 2559 สร้างบ้านเล็กๆ ในอำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น ทำนาทำไร่อยู่อย่างไทบ้านธรรมดาๆ

ปี 2561 เหมืองทองอยู่ในสถานะล้มละลายตามคำสั่งของศาลล้มละลาย 

วันนี้ชาวบ้านนาหนองบงและกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดยังคงยืนหยัดต่อสู้เพื่อปกป้องชุมชน ติดตามให้มีการฟื้นฟูผลกระทบจากการทำเหมืองในพื้นที่ 

ตลอดระยะเวลาในการต่อสู้ รวมแล้วมีคดีที่รัฐและทุนฟ้องชาวบ้านทั้งหมด 21 คดี ส่วนคดีที่ชาวบ้านฟ้องรัฐและทุน 5 คดี 

การเลือกตั้งที่ผ่านมาชาวบ้านนาหนองบงเข้าร่วมเป็นสมาชิกก่อตั้งพรรคสามัญชน โดยแม่ป๊อป แม่ไม้ กับบ๋อย ลงสมัครเลือกตั้งเป็น ส.ส. 

8 ปีผ่านไป ฉันยังคิดถึงพ่อๆ แม่ๆ ที่นาหนองบงเสมอ

image_pdfimage_print