คนอีสานไม่ได้ถูกเหยียดเฉพาะในทางโลกเท่านั้น ในทางธรรมก็ไม่ต่างกัน ยุคหนึ่งถ้าบอกว่า เป็นเณรลาวมาจากภาคอีสาน แทบจะหาวัดสังกัดในกรุงเทพฯ ไม่ได้ ประสบการณ์ตรงจาก ธีร์ อันมัย

ธีร์ อันมัย เรื่อง

กลับไปเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว บนรถเมล์สายหนึ่ง ซึ่งแออัดเพราะเป็นช่วงเลิกงานและเลิกเรียน กลุ่มนักเรียนชาย 4-5 คน มายืนอัดแน่นอยู่ติดกับผม บทสนทนาคะนองปากของวัยรุ่นสนุกสนานทำให้ลืมรถติดไปได้บ้าง แต่บทสนทนาหนึ่งได้กระชากผมจากภวังค์ระหว่างโหนรถเมล์

“ไอ้ … แม่งเสี่ยวว่ะ”

“อือ แม่งแต่งตัวเสี่ยวมาก”

“แม่งลาวมาก 555”

ผมหันไปมองเด็กกลุ่มนั้นด้วยสีหน้าเคร่งเครียดพร้อมโพล่งออกไปว่า “ลาวแล้วไงวะ!?” ทำให้เด็กกลุ่มนั้นยิ้มค้าง หน้าเจื่อน ก่อนจะพากันถอยร่นห่างจากผมไปสร้างความความแออัดบนรถเมล์อีกฟากหนึ่ง จากนั้น รถเมล์ก็ไม่มีบทสนทนาคึกคะนองของวัยรุ่น เหลือไว้แต่ความอึงอลในความคิดคำนึงของผม

กลับไปเมื่อสามสิบกว่าปีที่แล้ว การบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนนำพาเด็กเลี้ยงควายแห่งทุ่งกุลาอย่างผมเข้าสู่ระบบการศึกษาที่สูงกว่าประถมศึกษา

เรียน 3 ปี ผมจบมัธยมต้นที่วัดโพธิ์พฤกษาราม อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ หากจะปีนป่ายให้สูงขึ้นถึงมัธยมปลายจนถึงมหาวิทยาลัยเหมือนสามเณรรุ่นพี่บางคนที่กรุยทางไปก่อนก็ต้องอาศัยผ้ากาสาวพัสตร์นี่ล่ะ ตะเกียกตะกายเข้ากรุงเทพฯเพื่อสอบเข้าเรียนมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วัดมหาธาตุฯ ท่าพระจันทร์

ที่ยากกว่าสอบเข้ามหาจุฬาฯ คือ การหาวัดสังกัดในกรุงเทพฯ

ความเป็นสามเณรที่ไม่มีเปรียญธรรม 3 ประโยคเท่ากับไม่มีใบเบิกทาง ที่หนักกว่า คือ ความเป็นสามเณรที่มาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กลายเป็นอุปสรรคใหญ่หลวง

“เณรลาวเหรอ?” พระกรุงเทพฯ ทั้งพระลูกวัด ทั้งพระเจ้าอาวาสมักจะพูดคำนี้กับเบบี้แครอตที่มาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือเสมอและคำนี้ก็เท่ากับเป็นการปฏิเสธคำร้องขอเข้าสังกัดวัด ขณะที่ตอนนั้นผลสอบออกมาแล้ว ผมสอบติดมหาจุฬาฯ แต่ติดที่ตรงยังไม่มีที่อยู่ ไม่มีวัดสังกัด

คำว่า ‘เณรลาว’ ที่มาจากปากพระกรุงเทพฯ คือ สำนึกสร้างความเป็นอื่นที่หลุดออกมาอย่างอัตโนมัติ ถามว่า ตอนนั้นผมรู้สึกอย่างไร “ก็ลาวแล้วจั่งใด๋วะ?” เพราะในวิถีชีวิตชนบทบ้านผมก็คุยกันว่า “นั่นเขมรบ้านตานบ นั่นส่วยเลี้ยงช้างบ้านกระโพ – ตากลาง นั่นลาวบ้านซึกวึก – โพนตูม” อยู่แล้ว แต่การพูดคุยนั้นเป็นการบอกว่า นี่คือใครมาจากไหน โดยไม่ได้มีนัยแห่งการแบ่งแยกและกีดกันแต่อย่างใด

กลายเป็นว่า 3 ปี ในชีวิตมัธยมปลายของผม ใบสุทธิสามเณรของผมยังสังกัดวัดโพธิ์ท่าตูม แต่ตัวผมอาศัยระเบียงกุฎิวัดมักกะสันที่หลวงพี่จากจังหวัดสุรินทร์ท่านเมตตาแบ่งให้ผมอาศัยเป็นที่นอนที่อ่านหนังสือทำการบ้าน ผ่านร้อน ฝน หนาวที่ระเบียงกุฏินั้น

ธีร์ อันมัย ขณะบวชเป็นสามเณร 

วันดีคืนดี พ่อก็ดั้นด้นไปเยี่ยมถึงที่ระเบียงกุฏิ ก็ต้องโกหกพ่อว่า นอนห้องเดียวกับหลวงพี่นี่แหละ แต่โยมพ่อมาก็ให้โยมพ่อนอนข้างใน ส่วนลูกเณรขอนอนระเบียงชั่วคราวไปก่อน สิบกว่าปีหลังจากนั้น เมื่อผมทำงานทำการแล้วพ่อจึงหลุดปากออกมาว่า “ลูกกูคือไปอยู่ทุกข์ยากลำบากแท้”

อย่าว่า แต่ทางโลกเลยที่คนลาวลุ่มน้ำโขง ชี มูล ถูกคนกรุงเทพฯ ลุ่มน้ำเจ้าพระยาดูถูกเหยียดหยามถูกกดทับและกีดกันมานานแล้ว

ในทางธรรมทางศาสนาก็ใช่ย่อย สมัยที่ผมเป็นสามเณรนั้นบทสนทนาในกลุ่มพระ-เณรนิสิตมหาจุฬาฯ ก็คือ หากคุณเป็นคนอีสานการได้เปรียญธรรม 9 ประโยคเป็นเรื่องยากมากและเป็นไปไม่ได้ที่พระจากที่มีถิ่นกำเนิดจากที่ราบสูงจะได้ขึ้นเป็นพระสังฆราช สิ่งที่เกิดขึ้นกับหลวงพ่ออาจ อาสโภหรือพระพิมลธรรม เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุฯ ท่าพระจันทร์จะถูกยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างประกอบการสนทนาเสมอ

หลายวันก่อนมีมิตรสหายหมอฟันจากขอนแก่นกัดฟันส่งคลิปเสียงสนทนาทางคลับเฮ้าส์ให้ผมฟัง 5-6 คลิป แต่ผมฟังไม่จบสักคลิป เพราะผมโกรธและเกลียดมัน ผมบอกเพื่อนว่า มันเป็นการปฏิบัติการทางข่าวสาร (Information Operation : IO) เพื่อให้เพื่อนคลายความโกรธแค้น ทั้งๆ ที่รู้ว่ามันไม่ใช่หรอก มันเป็นสันดานไทยที่ติดมาตั้งแต่อดีตกาลที่ชอบเหยียดหยามและกดข่มคนรอบข้าง

ก็ไปดูตำราเรียนของเราจนถึงลูกหลานเราสิ มีใครเป็นมิตรประเทศเราบ้าง มีแต่ศัตรูรอบตัว มีแต่เอาดีใส่ตัวเอาชั่วให้เพื่อน บทเรียนรอบประเทศนี้มีแต่ประวัติศาสตร์บาดแผล มีแต่ศัตรูผู้รุกรานและการเข่นฆ่า ไม่มีเพื่อนบ้าน พม่ายังเผากรุงศรีอยุธยา ย่าโมยังออกศึกกับลาวเวียงจันทน์ แต่แทบไม่บอกว่า พระแก้วมรกตที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามของไทยน่ะ ไทยไปเผาวัดเขาและเอามาจากลาว

ในระดับภูมิภาคก็สร้างความเป็นอื่นให้เพื่อนบ้าน กดข่มเพื่อนบ้านตามประสาเจ้าอาณานิคมรายย่อยในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ในประเทศก็เป็นเจ้าอาณานิคมภายใน ก็ประเทศนี้สร้างชาติด้วยการส่งเจ้ากรุงเทพฯไปยึดอำนาจเจ้าหัวเมืองแล้วปกครอง (ชอบรัฐประหารมาร้อยกว่าปีแล้ว) แล้วสวมทับ ครอบผู้คนในเขตแดนด้วยความเป็นไทยทำให้วัฒนธรรมดั้งเดิมกลายเป็นอื่น ไม่มีที่ทางให้กับความกลมกลืนและหลากหลาย เราจึงมีปัญหาเรื่องการเหยียดหยามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์กัน

คือในระดับรัฐ อำนาจปกครอง (ทั้งทางโลกและทางธรรม) ก็หยาบคาย ในระดับสังคมเองความเป็นไทยก็มีปัญหา ไม่เช่นนั้นการเปิดห้องคลับเฮ้าส์ที่ใช้ปัญญาอย่างบางเบาเช่นนั้นก็จะไม่เกิดขึ้น

จะว่าไปแล้ว เวลาที่มีคนตราหน้าว่า “มึงไทยมาก” นี่ ผมต้องทบทวนตัวเองให้หนักๆ เลยนะ

หมายเหตุ: ความคิดเห็นหรือมุมมองต่างๆ ที่ปรากฏบนเว็บไซต์เดอะอีสานเรคคอร์ด เป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

สำนึกขบถรสนิยมปลาแดกไม่เคยแลกกับกลิ่นข้าว (เจ้า) บูดขี้ทูดเซิงซาตินิยม

อีสานนับแสนแสน สิจะพ่ายผู้ใดหนอ?

image_pdfimage_print