ทุกการเลือกตั้งเรามักจะได้ยินกระแสข่าวการซื้อสิทธิ์ ขายเสียง กันอย่างหนาหู ยิ่งในสนามการเมืองท้องถิ่นที่มีการซื้อเสียงตั้งแต่ 500-2,000 บาท อ.ปฐวี โชติอนันต์ ชวนวิเคราะห์ความหมายของการ “รับเงิน” ในการเลือกตั้งว่า ชาวบ้านให้ความสำคัญก่อนหย่อนบัตรเลือกตั้งอย่างไร 

ปฐวี โชติอนันต์ เรื่อง 

การเลือกตั้งท้องถิ่นที่ผ่านมาทั้ง อบจ. เทศบาลและอบต.ดูเหมือนว่าเรื่องของการใช้เงินซื้อเสียงจะกลับมามีการพูดถึงอีกครั้งในสังคม โดยเฉพาะการเลือกตั้ง อบต. ที่มีนักการเมืองบางคนออกมาพูดถึงการซื้อเสียงของผู้สมัครชิงตำแหน่งนายกอบต. มีการจ่ายเงินซื้อเสียงชาวบ้านเพื่อให้เลือกตนเอง ยิ่งไปกว่านั้นการใช้เงินซื้อเสียงในการเลือกตั้งท้องถิ่นยังดูเหมือนว่าเป็นเรื่องที่สกปรกและรับไม่ได้ตามมาตรฐานทางศีลธรรมทางการเมืองที่ต้องมีการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ใสสะอาดและดูเหมือนชาวบ้านที่รับเงินซื้อเสียงนั้นจะเป็นคนที่ถูกหลอกง่าย

ในบทความนี้ผู้เขียนอยากจะชี้ให้เห็นอีกมุมหนึ่งในเรื่องของการใช้เงินซื้อเสียงนั้นควรไปไกลว่าเรื่องการซื้อเสียงผิดหรือไม่ผิด ดีหรือไม่ดี แต่ควรมองว่าการซื้อเสียงที่เกิดขึ้นมันมีลักษณะอย่างไรบ้าง นอกจากนี้เมื่อมีผู้ซื้อก็ต้องมีผู้ขาย คนที่ถูกบอกว่าขายเสียงให้กับนักการเมืองนั้น การขายเสียงที่เกิดขึ้นมันมีเงื่อนไขที่กำกับความหมายในการขายเสียงอย่างไร และอะไรที่ทำให้การซื้อขายเสียงยังคงอยู่

ลักษณะของการซื้อเสียง

จากที่ผู้เขียนได้ลงพื้นที่สำรวจการเลือกตั้งท้องถิ่นในบริเวณจังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ มหาสารคาม มุกดาหาร กาฬสินธุ์ และนครพนม ในการเลือกตั้ง อบจ. เทศบาล และอบต. ร่วมกับนักศึกษาในชั้นเรียน สิ่งที่พบคือ การซื้อเสียงนั้นสามารถที่แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบใหญ่ๆ คือ

รูปแบบที่ 1 การซื้อเสียงในลักษณะของการให้เงิน การให้เงินนี้จะเกิดขึ้นในช่วงของการเลือกตั้งในระดับ อบจ. พื้นที่ในการเลือกตั้งมีขนาดใหญ่ทั้งจังหวัด การหว่านเงินของผู้สมัครที่ต้องการใช้เงินซื้อเสียงนั้นต้องทำอย่างระมัดระวัง ต้องมั่นใจว่า เงินที่ลงไปจะนำไปสู่ฐานคะแนนเสียงของตนจริงๆ มิเช่นนั้นเงินนั้นจะสูญเปล่า จากการสำรวจพบว่ามีการจ่ายในอัตราที่แตกต่างกันไป อบจ.ไหนที่มีการแข่งขันกันรุนแรงจะมีอัตราการจ่ายเงินมากถึงคนละ 500 – 1,000 บาท ซึ่งอาจมีการจ่ายทีละหลายรอบ เช่น จ่ายตอนที่มีการจัดเวทีปราศรัย มีการให้ลงชื่อผู้ที่มาฟัง และจ่ายอีกทีใกล้ๆเลือกตั้งเพื่อรักษาฐานคะแนนไม่ให้อีกฝ่ายมาชิงไปได้

ในระดับเทศบาล ถึงแม้จะบอกว่า เป็นพื้นที่เมือง คนมีรายได้เฉลี่ยสูงกว่าในชนบท การซื้อเสียงของนักการเมืองยังคงมีอยู่ อัตราการจ่ายเงินก็ขึ้นกับความเข้มข้นในการแข่งขัน โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 500-2,000 บาท ยิ่งมีการแข่งขันกันดุเดือดเงินที่ลงไปยิ่งสูงมากขึ้น แต่ทั้งนี้เทศบาลสามารถจ่ายเงินได้มากกว่า อบจ. นั้นเพราะว่ามีพื้นที่เล็กกว่าทำให้ลงเงินไปได้มากกว่า

ในระดับ อบต. การใช้เงินซื้อเสียงในพื้นที่กลับมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าในระดับ อบจ.และเทศบาล ทั้งนี้ในเขต อบต. หนึ่งมีพื้นที่ขนาดเล็ก มีประชากรไม่ถึง 5,000 คน ตามที่กฎหมายกำหนด ส่งผลให้นักการเมืองที่จะใช้เงินในการซื้อเสียงสามารถทุ่มเงินลงไปได้ เพราะสามารถที่จะคาดคะเนคะแนนที่ตัวเองจะได้รับจากการใช้เงินในการหาเสียงได้

รูปแบบที่ 2 การซื้อเสียงไม่ได้มาในรูปแบบของการแจกเงินแต่มาในรูปของการให้คำมั่นสัญญาว่าจะช่วยเหลือ ช่วยเคลียร์เงินกู้ ให้พื้นที่ในการทำมาหากินหรือการแจกสิ่งของในช่วงที่ประชาชนในพื้นที่ประสบกับปัญหา ในรูปแบบที่สองนี้คงต้องมานั่งถกเถียงกันว่ามันเป็นการซื้อเสียงหรือไม่ เพราะไม่ได้อยู่ในช่วงที่ กกต.จัดให้มีการเลือกตั้ง แต่เป็นการทำงานในพื้นที่ของผู้สมัครในลักษณะการให้ความช่วยเหลือซึ่งกลายเป็นเรื่องของน้ำใจที่ต้องมีการตอบแทนกันเมื่อมีการเลือกตั้ง เพราะว่าเมื่อประชาชนประสบกับทุกข์ยากก็มีนักการเมืองกลุ่มเหล่านี้เข้ามาช่วยเหลือ เช่น ในช่วงน้ำท่วมก็มีการแจกถุงยังชีพ ในช่วงของโควิดระบาดก็มีการแจกยา หน้ากากอนามัย หรือช่วยประสานจัดหาเตียงให้กับผู้ป่วย

รูปแบบที่ 3 รูปแบบนี้ซับซ้อนกว่า 2 อันแรก กล่าวคือ ไม่ได้ใช้เงินหรือให้ความช่วยเหลือกับประชาชนเพื่อแลกกับคะแนนเสียงโดยตรง แต่มาในรูปแบบของนโยบายพัฒนาพื้นที่และโครงสร้างพื้นฐาน เมื่อเข้ามาดำรงตำแหน่งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สิ่งสำคัญที่นักการเมืองต้องทำคือการออกนโยบายเพื่อพัฒนาพื้นที่ นโยบายที่ออกมานั้นด้านหนึ่งเอื้อประโยชน์ให้ชาวบ้านในพื้นที่ในการทำมาหากิน แต่อีกด้านหนึ่งเอื้อประโยชน์ให้กับนักการเมืองโดยเฉพาะที่ดินที่ตนถือครองไว้มีราคาสูงขึ้นเพราะมีถนนตัดผ่าน หรือได้รับสัมปทานรับเหมาก่อสร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆ ในชุมชน การทำแบบนี้เรียกได้ว่าเป็นการครองอำนาจทางจิตใจในระดับโครงสร้างมากกว่าที่จะมีอิทธิพลในระดับปัจเจกบุคคล 

เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง จ.หนองบัวลำภู ติดวิธีการกาบัตรเลือกตั้ง อบต.

การขายเสียง

เมื่อมีผู้ซื้อเสียงก็ต้องมีผู้ที่ขายเสียง ในสังคมไทยเมื่อมีการเลือกตั้งไม่ว่าจะระดับชาติหรือระดับท้องถิ่น กกต. มักจะมีการรณรงค์ไม่ให้ประชาชนขายเสียงให้กับนักการเมืองที่ใช้เงินซื้อเสียง ผู้ที่ขายเสียงนั้นจะถูกตัดสินว่า เป็นคนไม่ดีเพราะถูกเงินซื้อได้ รวมถึงนักการเมืองที่ซื้อเสียงไปนั้นเมื่อเข้าไปก็ต้องเข้าไปกอบโกยผลประโยชน์ ฉะนั้นจะเลือกคนแบบนี้ไปทำไม นี่เป็นอีกหนึ่งวาทกรรมหรือชุดความคิดหนึ่งที่วนเวียนในสังคมไทยเมื่อมีการเลือกตั้ง แต่เมื่อเราลองกลับมามองในมุมมองหรือโลกทัศน์ของชาวบ้านที่ให้ความหมายกับการรับเงินในช่วงที่มีการเลือกตั้งนั้น เราจะเห็นว่า มีความหมายที่แตกต่างกันไป ดังต่อไปนี้

ความหมายที่ 1 ชาวบ้านรับเงินมาจริง แต่มองว่าการรับเงินนั้นไม่จำเป็นที่ต้องเลือกคนที่ให้เงินนั้นเสมอไป ถ้าผู้สมัครนั้นไม่เคยทำงานหรืออยู่ในพื้นที่ช่วยเหลือเขาเหล่านั้นเลย (อารมณ์แบบรับเงินมากา….)

ความหมายที่ 2 ชาวบ้านรับเงินจากผู้สมัครทุกคน แต่เขาก็พิจารณาว่า ผู้สมัครคนไหนจะช่วยเขาเวลาที่มีปัญหาได้มากกว่า เพราะเวลาเลือกต้องเลือกคนที่ช่วยเขาได้ ส่วนเงินก็รับเอาไว้เพื่อใช้สอยในชีวิตประจำวัน (ใครให้ก็รับ)

ความหมายที่ 3 ชาวบ้านรับเงินมาจากผู้สมัครทุกคนที่จ่ายเงิน แต่ถ้ามีญาติพี่น้องตนเองลงสมัคร จะให้ความสำคัญกับญาติพี่น้องของตนเป็นปัจจัยแรกในการเลือกมากกว่าเงิน ส่วนเงินที่รับมานั้นก็เอามาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน 

ความหมายที่ 4 ชาวบ้านรับเงินจากผู้สมัครทุกคนที่แจกเงิน แต่เขาก็พิจารณาไปไกลกว่านั้นว่า นักการเมืองคนนั้นมีสายสัมพันธ์กับนักการเมืองระดับจังหวัดหรือระดับชาติไหม เพราะถ้ามีโอกาสที่โครงการต่างๆ จะถูกส่งลงมาพัฒนาพื้นที่มันก็มีมากกว่า คุณภาพชีวิตของเขาก็จะดีขึ้นในระดับภาพรวม 

ความหมายที่ 5 ชาวบ้านรับเงินมาเพราะเขาคิดว่าเป็นค่าน้ำมันรถและต้องลางานไปเลือกตั้ง อย่าลืมว่า คนที่อยู่ในเขตชนบทบางทีเขาทำอาชีพก่อสร้างหรือเกษตรกรรับจ้างได้เงินค่าจ้างเป็นรายวัน หายกลับบ้านทีก็ขาดรายได้แถมมีรายจ่าย

ความหมายสุดท้าย ชาวบ้านรับเงินมาเพราะคิดว่ามันเป็นสิ่งที่เขาควรจะได้ เพราะที่ผ่านมาเขาแทบไม่ได้อะไรเลยจากนักการเมือง ช่วงรัฐประหารไม่มีโครงการเกิดขึ้นจากนักการเมืองท้องถิ่น พอมีการเลือกตั้งประกอบด้วยปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำเขาจึงต้องรับเงินไว้ก่อนเพื่อไว้ใช้ในครอบครัว ดังสุภาษิตไทยที่กล่าวว่า “กำขี้ดีกว่ากำตด”

ปัญหาเชิงโครงสร้าง คือ สิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใต้การซื้อ ขายเสียง 

ปรากฏการณ์การซื้อขายเสียง มันเป็นเพียงปัญหาที่อยู่บนปลายยอดภูเขาน้ำแข็ง สิ่งสำคัญที่เราต้องถามต่อคือ ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร สิ่งที่เราพบ คือ ที่ผ่านมารัฐรวมศูนย์อำนาจทำให้ท้องถิ่นอ่อนแอมาตลอดโดยเฉพาะช่วงหลังรัฐประหารปี 2557 ผู้บริหารท้องถิ่นถูกแช่แข็งด้วยมาตรา 44 ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 1/2557 ผู้บริหารท้องถิ่นไม่สามารถดำเนินนโยบายโครงการพัฒนาท้องถิ่นหรือช่วยแก้ไขปัญหาในท้องถิ่นได้ เช่น น้ำท่วมและภัยแล้ง เพราะติดขัดในเรื่องของกฎระเบียบต่างๆ ไม่นับรวมแผนพัฒนาต่างๆของส่วนภูมิภาคที่ควบคุมการทำงานของท้องถิ่นให้ต้องทำงานตามกรอบที่ถูกข้าราชการตั้งไว้อีก

การที่คณะคสช.ให้ผู้บริหารท้องถิ่นดำรงอยู่ในตำแหน่งต่อไปเมื่อครบวาระแล้วยิ่งทำให้ผู้บริหารท้องถิ่นตัดขาดกับประชาชน เพราะประชาชนไม่สามารถตรวจสอบพวกเขาได้ต่อไปเพราะไม่มีการเลือกตั้ง ยิ่งทำให้เกิดเป็นรัฐราชการในท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่นที่อยู่ในตำแหน่งนั้นเพียงแต่ทำงานประจำของตนไปและพยายามไม่ให้เกิดปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ในพื้นที่เพื่อเป็นจุดสนใจของคณะคสช. มิฉะนั้นอาจจะถูกมาตรา 44 ได้

นอกจากนี้ในบางพื้นที่ผู้บริหารท้องถิ่นถูกให้ออกจากการทำงานและคณะคสช.แต่งตั้งให้ข้าราชการเข้ามาบริหารงานแทน นี่ยิ่งทำให้การทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตัดขาดจากประชาชนเนื่องจากข้าราชการต้องฟังคำสั่งจากหน่วยงานที่พวกเขาสั่งกัด ไม่ได้ฟังเสียงจากประชาชนในพื้นที่เพราะประชาชนไม่ได้เลือกพวกเขามา ถ้าไม่มีคำสั่งลงมาจากส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาคเขาก็ไม่จำเป็นต้องทำงานเชิงรุกในการแก้ไขปัญหา 

เมื่อจัดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นภายหลังจากที่คณะคสช.ยึดอำนาจมายาวนานกว่า 7 ปี เป็นการยากที่เราจะเห็นการเสนอนโยบายใหม่ๆ จากผู้สมัคร นโยบายที่เกิดขึ้นยังคงวนเวียนในเรื่องของการเลือกคนดี คนซื่อสัตย์ หรือการรื้อ สร้างซ่อม มากกว่าที่ส่งเสริมและสร้างพื้นที่การมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่น หรือ ความพยายามเข้ามาแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น กรณีการทำเหมืองในอีสาน การรุกป่า การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ หรือปัญหาเรื่องของความรุนแรงที่รัฐใช้กับประชาชนที่เห็นต่างในท้องถิ่น เป็นต้น 

นอกจากนี้ นักการเมือหน้าใหม่ที่ลงสู่สนามท้องถิ่นมีเวลาในการทำงานพิสูจน์ตนเองน้อย นักการเมืองหน้าเก่าที่มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับผู้มีอำนาจรัฐยังคงความได้เปรียบเพราะอาจจะเอาโครงการมาลงในพื้นที่ได้ทำให้ได้รับคะแนนจากประชาชนไปก่อนหน้านั้น ส่วนผู้สมัครที่เหลือจะใช้อะไรในการทำให้ประชาชนเลือกคงมีแต่การแจกเงิน 

ตามที่กล่าวมา ปรากฏการณ์เหล่านี้เป็นผลพวงของรัฐรวมศูนย์อำนาจ การกระจายอำนาจล่าช้า และมักจะใช้การรัฐประหารเป็นทางออกทางการเมือง ประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่นและระดับชาติถูกเตะตัดขาตลอดเวลา นโยบายในการพัฒนาท้องถิ่นที่ต่อเนื่องยากจะเกิดขึ้น ผู้สมัครหน้าใหม่ที่ตั้งใจลงมาเล่นการเมืองท้องถิ่นเพื่อรับใช้พี่น้องประชาชนมีเวลาน้อยในการลงพื้นที่ มันจึงไม่แปลกที่จะมีการใช้เงินซื้อเสียง แต่ที่เปลี่ยนไปคือความหมายในการรับเงินซื้อเสียงของชาวบ้าน ไม่ใช่ว่ารับของใครมาแล้วต้องเลือกคนนั้น สำนึกในบุญคุณแต่เขาเลือกอย่างมีเหตุผลภายใต้ข้อจำกัดที่มีอยู่มากกว่า

สิ่งเหล่านี้ทำให้เรายังมีความหวังอยู่ว่า ถ้าการเมืองกลับมาสู่ระบอบประชาธิปไตยที่ตั้งมั่นอย่างยั่งยืน มีการเลือกตั้งท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง ในอนาคตมีความเป็นไปได้ที่การซื้อเสียงด้วยเงินจะค่อยๆ หมดความสำคัญไป แต่จะเป็นการซื้อใจของประชาชนให้กาคะแนนผู้สมัครที่ลงรับเลือกตั้งผ่านการแข่งขันในการทำผลงานและการแข่งขันกันเสนอนโยบายเพื่อให้ประชาชนได้เลือกคนที่ต้องการมาพัฒนาและแก้ปัญหาในพื้นที่

เอกสารประกอบการเขียน

  1. Hicken, A. (2011). Clientelism. Annual Review of Political Science, pp 289-310
  2. Tanet Charoenmuang. (2006). Thailand: A late decentralizing country. Chiang Mai: Faculty of Political Science and Public Administration, Chiang Mai University.
  3. ปฐวี โชติอนันต์.(2564). ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับท้องถิ่นและการกระจายอำนาจในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (พ.ศ.2557-2562). วารสารบริหารปกครอง. 10 (1), หน้า 22-44.
  4. ปฐวี โชติอนันต์. (2564). มองอุบลราชธานีผ่านแผนพัฒนาท้องถิ่น 4 ปี พ.ศ.2561-2564 กับ การเลือกตั้งนายก อบจ. 20 ธันวาคม 2563 (ตอนที่1-2). ธเนศวร์ เจริญเมือง (บ.ก.), 1 ทศวรรษการปกครองท้องถิ่น (พ.ศ.2553-2563) อบจ. กับการเลือกตั้ง 20 ธันวาคม 2563. เชียงใหม่: หจก.เชียงใหม่โรงพิมพ์แสงศิลป์, หน้า 38-66.
  5. ประจักษ์ ก้องกีรติ (2558). ประชาธิปไตยในยุคเปลี่ยนผ่าน : รวมบทความว่าด้วยประชาธิปไตย ความรุนแรง และความยุติธรรม. นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน.

หมายเหตุ: The Isaan Record ยินดีรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลายในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยความคิดเห็นที่แสดงบนเว็บไซต์ The Isaan Record ถือเป็นมุมมองของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการและเครือข่าย

image_pdfimage_print