พื้นที่อำเภอบ้านไผ่ จ.ขอนแก่นกว่า 4 พันไร่ ถูกกำหนดเป็นเขตเศรษฐกิจชีวภาพอีสานแห่งใหม่ แม้จะมีเสียงคัดค้านจากคนในพื้นที่ว่า อาจจะเป็นแหล่งสร้างมลพิษเหมือนมาบตาพุด จ.ระยอง และอาจสร้างความเสียหายให้เมืองเพียที่เป็นเมืองโบราณอย่างไม่มีวันกู้คืน 

อติเทพ จันทร์เทศ เรื่องและภาพ 

“บ้านเราเป็นเมืองโบราณมีของเก่าแก่ฝังอยู่ในดินมากมาย

ไม่อยากให้สร้างโรงงานน้ำตาลกลัวรบกวนสิ่งแวดล้อมของเมืองโบราณ”

“ทำไมต้องมาจิ้มเอาแต่ภาคอีสาน ถ้าบอกว่าภาคอีสานดีทำไมไม่เชิดชูวัฒนธรรมภาคอีสานขึ้นมา”

“ชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยกับการมีโรงงานขนาดใหญ่มาตั้งเลยรวมตัวคัดค้านแต่กลายเป็นภัยสังคม”

เป็นเสียงสะท้อนของชาวเมืองเพียต่อความกังวลผลกระทบที่อาจจะเกิดจากเขตนิคมอุตสาหกรรมบ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ซึ่งจะกินพื้นที่กว่า 4 พันไร่ มูลค่าโครงการกว่า 1.33 แสนล้านบาท 

โครงการนี้เกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีนโยบายสนับสนุนการตั้งเขตเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ให้เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) สนับสนุนภาคเอกชนต่อยอดสินค้าเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่า โดยใช้นวัตกรรมและงานวิจัยในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในแผนพัฒนาอุตสาหกรรม (2561-2570) ซึ่งอยู่ระหว่างรอกระทรวงอุตสาหกรรมเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ 

แม้คณะรัฐมนตรีจะยังไม่มีมติเห็นชอบ แต่ก็สร้างความกังวลให้กับคนในพื้นที่ โดยเกรงว่า ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นสำคัญจะถูกแทนที่ด้วยโรงงานน้ำตาลและนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่อาจจะกลายเป็น “มาบตาพุดภาคอีสาน” 

พวกเขาได้ร่วมกับกลุ่มฮักบ้านเกิดฯ เพื่อเข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 เมื่อปี 2562 แต่กลับถูกกีดกันไม่ให้เข้าร่วม 

แหล่งโบราณคดี พื้นที่ชุ่มน้ำ กำลังเปลี่ยนไป 

การถูกกีดกันถือเป็นบาดแผลในใจของคนเมืองเพีย เพราะเท่ากับว่า เป็นการผลักให้พวกเขาออกจากวงของการตัดสินใจเพื่อบ้านเกิด เมืองนอน 

บุญถิ่น เทศน้อย อายุ 77 ปี ชาวบ้านเมืองเพีย เล่าว่า ก่อนหน้านี้เคยไปประชุม 2 ครั้ง แต่โรงน้ำตาลมาแจกน้ำตาลและส่งเสริมให้ปลูกอ้อย 

บุญถิ่น เทศน้อย อายุ 77 ปี ชาวบ้านเมืองเพีย อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น 

“ตอนนั้นก็ตั้งคำถามว่า จะปลูกตรงไหนของเมืองเพีย เพราะบ้านเมืองเพียเป็นบ้านพักผ่อน เป็นบ้านดั้งเดิมบ้านเก่าแก่ จะมาตั้งโรงงานได้ยังไง อ้อยมันคัน มันระคายเคือง ไม่อยากจะพูดเลยมันคันมาก” 

ไม่เพียงแต่บุญถิ่นเท่านั้นที่ค้างคาใจกับการพัฒนาอย่างไม่ปรึกษาคนในพื้นที่ สุดารัตน์ ศิริชัย หนึ่งในชาวบ้านเมืองเพีย อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ก็ตั้งคำถามนี้เช่นกัน 

ไม่อยากให้เมืองเพียเหมือนมาบตาพุด 

การไม่ฟังเสียงประชาชนทำให้เธอออกมาคัดค้านการสร้างเขตเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) 

“ทำไมต้องมาจิ้มเอาแต่ภาคอีสาน ภาคอีสานมีอะไรดี ถ้าบอกว่า ภาคอีสานดีทำไมไม่เชิดชูวัฒนธรรมภาคอีสานขึ้นมา ทำไมจึงต้องดึงโรงงานอุตสาหกรรมเข้ามาทำให้วัฒนธรรมของภาคอีสานเสื่อมเสีย คุณมองเห็นภาคอีสานเป็นพื้นที่ทางธรรมชาติ ทำไมไม่สร้างการท่องเที่ยวในอีสาน สร้างรายได้ที่ยั่งยืนจากธรรมชาติให้คนในชุมชน”เธอตั้งคำถาม 

สาเหตุที่เธอร่วมคัดค้านนั้นมาจากประสบการณ์ตรงที่เคยทำงานที่นิคมอุสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ซึ่งจะส่งผลทั้งการจราจร เสียง ควัน ฝุ่น ซึ่งเป็นมลภาวะโดยตรง 

“ตอนนี้เริ่มมีคลังน้ำมันมาตั้งอยู่ข้างชุมชนแล้ว ถ้าเขตอุสาหกรรมมาจะส่งผลกระทบขนาดไหน ซึ่งจะทำให้แหล่งหาอยู่หากินของคนในชุมชนเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน”สุดารัตน์ มั่นใจจากประสบการณ์ตรง 

สุดารัตน์ ศิริชัย หนึ่งในชาวบ้านเมืองเพียที่ออกมาคัดค้านการสร้างเขตชีวภาพ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น  

ประสบการณ์ถูกกีดกันร่วมเวที ค.1   

เธอเป็นหนึ่งที่พยายามเข้าร่วมรับฟังความในการตั้งโรงงานน้ำตาลครั้งที่ 1 เมื่อปี 2562 แต่แล้วกลับถูกโรงงาน และเจ้าหน้าที่รัฐพยายามกีดกัน

“วันที่ไปร่วมเวที เราเข้าพื้นที่ยังไม่ได้เลย โรงงานเอารถมากั้นไม่ให้กลุ่มฮักบ้านเกิดเมืองเพียเข้าไป จากนั้นมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาหลายร้อยนาย เพียงแค่ชาวบ้านต้องการไปแสดงความกังวลและต้องการคำตอบเกี่ยวกับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม แต่เขากลับไปเกณฑ์คนนอกเขตโรงงานเกิน 10 กิโลเมตรมาฟัง ตรงกันข้ามชาวบ้านที่อยู่ใกล้พื้นที่ก่อสร้างกลับไม่ได้เข้า” สุดารัตน์ กล่าวด้วยความโมโห 

ขุดวางท่อน้ำมันกลับพบวัตถุโบราณเมืองเพีย 

เสียงทัดทานของชาวบ้านเมืองเพียเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการเริ่มลงมือวางโครงสร้างพัฒนาเขตอุตสาหกรรม โดยพบว่า ระหว่างการขุดวางท่อเดินน้ำมันของบริษัทเอกชนบริเวณหน้าทางเข้าวัดพระเจ้าใหญ่ผ่านหน้าบ้านบุญถิ่น เทศน้อย พบวัตถุโบราณจำนวนหลายชิ้น นำมาสู่การขุดค้นทางโบราณคดีที่พบซากเมืองโบราณ หม้อดินเผา และภาชนะเครื่องใช้ของชาวเมืองเพียในอดีตเป็นจำนวนมาก 

นั่นจึงทำให้เกิดการถกเถียงถึงความคุ้มค่าระหว่างการพัฒนาให้เป็นเขตอุตสาหกรรมกับแลกกับโบราณสถานและโบราณวัตถุของเมืองเพียที่จะสูญสิ้นไป 

น.ท.ศรายุทธ ศรีสารคาม นักประวัติศาสตร์ชุมชนแสดงความกังวลว่า หากมีการสร้างนิคมอุสหกรรมอีสานแห่งใหม่ที่อำเภอบ้านไผ่ขึ้น รวมถึงการสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลเมืองโบราณอาจจะสูญหายไปตลอดกาล

“บ้านเมืองเพียเป็นบ้านโบราณ หากมีการสร้างนิคมอุสาหกรรมขนาดใหญ่รอบเขตชุมชน แน่นอนว่าเป็นการรบกวนสิ่งแวดล้อม ชุมชน กังวลว่าจะส่งผลกระทบกับระบบนิเวศ แหล่งน้ำใช้ประโยชน์ ทั้งการเกษตร ประมง และคูน้ำโบราณที่ขุดขึ้นในอดีตของบรรพบุรุษ”ศรายุทธ กล่าว 

บ้านไม้โบราณเมืองเพียที่ยังหลงเหลือให้ได้เห็นอยู่จำนวนมาก 

เมืองเพียเป็นชาวดอนกระยอม 

เขายังเล่าย้อนประวัติศาสตร์เมืองเมียด้วยสำเนียงลาวร้อยเอ็ดว่า เดิมทีการตั้งถิ่นฐานของชาวบ้าน คือกลุ่มคนที่อาศัยอยู่บริเวณแก่งละว้า ตามตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า เป็นชาวดอนกระยอม (ยุคบ้านเชียง จ.อุดรธานี) ต่อมาล่มสลายและถูกอำนาจการปกครองในยุคสมัยต่างๆ ตามหลักฐานการขุดค้น   

“คนเฒ่าคนแก่เล่าให้ฟังว่า บรรพบุรุษเฮาอยู่ที่นี่มาตั้งแต่ยุคชาวดอนกระยอม ไม่ใช่ใครที่ไหนเลย”น.ท.ศรายุทธ กล่าว 

น.ท.ศรายุทธ ศรีสารคาม นักประวัติศาสตร์ชุมชนให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และความเป็นมาบ้านเมืองเพีย

เมื่อปี 2516 เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรได้มาศึกษาบริเวณบ้านเมืองเพียแล้วพบหลักฐานการขุดค้นพบพระพุทธรูปโบราณ และโบราณวัตถุมากมายบริเวณ ต่อมาได้รับการยืนยันว่า อยู่ในยุคสมัยทวารดีราวศตวรรษที่ 12 โดยมีพระพุทธรูปองค์เก่าแก่ที่ชาวบ้านให้การเคราพสักการะ “หลวงพ่อถัน” ตั้งประดิษฐานในวิหารวัดมงคลหลวงและบางชิ้นนำไปเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติขอนแก่น 

“บ้านเราถือว่า เป็นเมืองโบราณ มีของเก่าแก่ฝังอยู่ในดินมากมายขุดไปตรงบริเวณไหนแทบเจอทั้งนั้นไม่อยากให้เป็นโรงงานน้ำตาลกลัวมารบกวนสิ่งแวดล้อมของเมืองโบราณ” นักประวัติศาสตร์ชุมชน กล่าว 

ใบเสมาสมัยทราวดีราวศตวรรษที่ 12 ถูกนำมาจัดแสดงไว้ ณ หอศิลป์บ้านเมืองเพีย อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น 

บ่อเกลือสินเธาว์คู่ความรุ่งเรืองเมืองเพีย 

นอกจากประวัติศาสตร์ที่ยาวนานแล้ว เมืองเพียยังเป็นแหล่งผลิตเกลือสินเธาว์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง “ดุสิต โนนเพีย” อดีตข้าราชการครูและประธานกลุ่มฮักบ้านเกิดเมืองเพีย ในฐานะกลุ่มทำงานศึกษาประวัติศาสตร์บ้านเมืองเพียเล่าถึงความเชื่อมโยงเกี่ยวกับแหล่งทำเกลือบ่อกระถิน ซึ่งเป็นบ่อเกลือสินเธาว์ว่า บ่อเกลือตั้งอยู่บริเวณบ้านดู่ใหญ่ห่างจากบ้านเมืองเพียราว 4 กิโลเมตร มีฐานการตั้งถิ่นฐานไม่ต่ำกว่าสมัยทวารวดี ในพุทธศตวรรษที่ 12  

เกลือบ่อกระถิน แหล่งทำเกลือสินเธาว์แบบพื้นบ้านที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอ “ดินเอียด” แห้งและเริ่มต้มช่วงมกราคมถึงเมษาย

ปัจจุบันมีชาวบ้านเพียงไม่กี่คนก็ยังยึดอาชีพต้มเกลือแลกข้าว ส่วนใหญ่เป็นการต้มไว้บริโภคภายในครัวเรือนเท่านั้น 

การต้มเกลือถือเป็นอาชีพเสริม หลังเสร็จสิ้นการทำนา ไม่ได้เป็นอาชีพหลักเหมือนอดีต ดุสิตเชื่อว่า บ่อเกลือสินเธาว์แห่งนี้เชื่อมร้อยกับประวัติศาสตร์ชุมชนบ้านเมืองเพีย เนื่องจากมีการขุดค้นพบโครงกระดูกมนุษย์ ที่มีการฝังศพครั้งที่ 2 เรียกว่า พิธีกรรมการฝังศพในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ (Secondary Burial) ซึ่งไม่ไกลจากบ่อเกลือ 

“ตามตำนานเล่าว่า มีขุนนางยุคเขมรถูกส่งมาปกครองแถบนี้ ทำให้ชาวบ้านต้องต้มเกลือเพื่อส่งส่วยไปยังเขมร ชาวบ้านเรียกขุนนางว่า “เปรี๊ยะหรือพญา/พระยา) ภาษาปัจจุบันเรียกว่า พระยาเมืองแพน” ดุสิต กล่าว 

ส่วนคำว่า บ้านเมืองเพียมาจากเมืองของพระยา น่าจะมีความใกล้เคียงกว่าท้าวเพียเมืองแพน ความน่าจะเป็นของประวัติศาสตร์ตรงนี้มันไม่น่าเพิ่งจะเกิดขึ้นในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ น่าจะเป็นประวัติศาสตร์ของชุมชน ของคนที่ตั้งหลักปักฐานอยู่ที่นี่เป็นเวลานับพันๆ ปี”ดุสิต กล่าว 

ดุสิต โนนเพีย อดีตข้าราชการครูและประธานกลุ่มฮักบ้านเกิดเมืองเพีย จ.ขอนแก่น 

ท้าวเพียเมืองแพนเป็นใครมาจากไหน?

น.ท.ศรายุทธ บอกว่า ตามตำนานเล่าว่า ช่วงปี 2332 ท้าวเพียเมืองแพนมาจากประเทศลาว เป็นเชื้อสายกษัตริย์ลาว พาผู้คนจากเมืองสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด มาตั้งบ้านเรือนสร้างเมืองใหม่ในพื้นที่ของบ้านดอนกระยอม ขณะนั้นเป็นเมืองร้าง ต่อมาจึงได้รับการแต่งตั้งให้เพียเมืองแพนเป็นเจ้าเมือง 

ตามบันทึกในคู่มือประวัติศาสตร์บ้านเมืองเพียยังเขียนถึงตำนานเจ้าเมืองขอนแก่น หลังท้าวเพียเมืองแพนไปเป็นเจ้าเมืองขอนแก่นแล้วก็ไม่มีใครทราบว่าใครคือผู้สืบต้นตระกุลของเจ้าเมืองต่อจากเพียเมืองแพน กระทั่งสมัยรัชกาลที่ 5 (ปี 2448) มีกลุ่มคนอพยพมาอยู่บ้านเมืองเพีย

“ท่านคือเชื้อพระวงศ์ของเชื้อเจ้าเมืองเวียงจันทน์มาอยู่อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ดในปัจจุบัน แต่ก่อนเรียกเมืองสุวรรณภูมิ ชื่อว่าท้าวเพียเมืองแพน” น.ท.ศรายุทธ กล่าว

อนุสาวรีย์ท้าวเพียเมืองแพน 

ตามตำนานเล่าสืบต่อกันมาหลายรุ่นเกี่ยวกับแหล่งน้ำโบราณของบ้านเมืองเพียว่า คนยุคโบราณขุดคูน้ำไว้เพื่อป้องกันข้าศึกศัตรูมาโจมตี ขุดเพื่อใช้น้ำทำการเพาะปลูกและป้องกันสัตว์มีพิษเข้ามาทำร้ายคนในชุมชน 

ซึ่งพบเห็นหนองน้ำขนาดใหญ่นับพันไร่รายล้อมชุมชน อาทิ หนองสระมน หนองแวง หนองเสือตาย หนองสระบัว ซึ่งเป็นรูปสีเหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ตั้งอยู่ทิศตะวันตกของหมู่บ้าน ตามเดิมคนโบราณเรียกว่า หนองสระสิม เนื่องจากมีสิม หรือโบสถ์หลังเก่าตั้งอยู่ขอบสระ แต่ตอนนี้ถูกรื้อถอนแล้ว 

ถ้าไม่มีเขตเศรษฐกิจชีวภาพอีสานแห่งใหม่และโรงงานน้ำตาล ชาวเมืองเพียก็เชื่อว่า ประวัติศาสตร์เมืองโบราณจะยังคงอยู่เป็นมรดกตกทอดตราบชั่วรุ่นลูกหลาน ซึ่งพวกเขาก็ได้แต่ภาวนาให้เป็นเช่นนั้นจริงๆ 

image_pdfimage_print