The Isaan Record ลงพื้นที่บันทึกความทรงจำของคนในชุมชนมิตรภาพ ชุมชนริมทางรถไฟที่จะถูกไล่รื้อเพื่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 2 โคราช – หนองคาย ซึ่งตอนนี้การรถไฟฯ ยังไม่มีแผนรองรับการอพยพคนกว่า 700 ครอบครัว

อติเทพ จันทร์เทศ เรื่องและภาพ

“เพราะที่นี่มันเป็นที่หากินของเรา เลยไม่ได้อยากไปไหน พูดมาแล้วมันก็เจ็บใจเนอะ อยู่มาตั้งนานก็มีความผูกพัน” 

ชูใจ วงสานนท์ แม่ค้าส้มตำในชุมชนมิตรภาพ จ.ขอนแก่น พูดด้วยน้ำเสียงเศร้าสร้อย เพราะความทรงจำ ทั้งชีวิตของเธออยู่ที่ในบ้านหลังเล็กๆ หน้าศาลาประชาคมชุมชนมิตรภาพ 

เธอยังบอกอีกว่า บางคนไม่รู้จักกันเลย แต่พอมาอยู่ด้วยกันก็รักใคร่ปรองดองกันเป็นพี่เป็นน้องกัน มีแจ่วก็จ้ำด้วยกัน มีพริกก็จ้ำด้วยกัน

ชูใจ วงสานนท์ แม่ค้าส้มตำในชุมชนมิตรภาพ จ.ขอนแก่น

ชุมชนมิตรภาพ คือ หนึ่งในชุมชนที่ต้องย้ายออกจากระยะ 40 เมตรของโครงการรถไฟความเร็วสูงระยะ 2 นครราชสีมา – หนองคาย ตามข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนเพื่อพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงภูมิภาคไทย – ลาว – จีน รวมงบประมาณ 2 ระยะ พร้อมโครงการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีมูลค่าการลงทุนประมาณ 5219,413 ล้านบาท (ข้อมูลจากเอกสารประกอบการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน การรถไฟแห่งประเทศไทย)

ชุมชนริมทางรถไฟ ขอนแก่น หรือรู้จักกันในชื่อ “ชุมชมแออัดริมทางรถไฟ” เริ่มก่อตั้งขึ้นช่วงปี 2503 โดย การรถไฟแห่งประเทศไทยอนุญาตให้แรงงานรับจ้างขนฟืนเติมเชื้อเพลิงให้รถไฟเพื่อการขนถ่ายสินค้า ณ สถานีชุมทางขอนแก่น มาตั้งเพิงพักชั่วคราวใกล้ทางรถไฟเพื่อไม่ให้แรงงานมีปัญหาในการเดินทาง

ชุมชนมิตรภาพ จึงถือเป็นชุมชนเริ่มต้น จากนั้นจึงขยายเป็นชุมชนเทพารักษ์ 1-5 ตลอดสองเส้นทางรถไฟ

ชุมชนริมทางรถไฟขอนแก่นมีประชากรอาศัยอยู่กว่า 700 ครอบครัว ส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบ  เช่น เร่ขายอาหาร เก็บของเก่า ลูกจ้าง รายวัน เก็บขยะขาย กวาดถนน ขายพวงมาลัย ดูแลความสะอาดในสวนรัชดานุสรณ์ในเมืองขอนแก่น รวมถึงอาชีพขายบริการทางเพศ ซึ่งมีรายได้ไม่แน่นอน โดยร้อยละ 90 อยู่ในเขตที่ดินของการรถไฟฯ

งานภาพชุดนี้นำเสนอชีวิตของผู้คนชุมชนมิตรภาพ หลากหลายอาชีพ ซึ่งในไม่ช้าชีวิตและจิตวิญญาณของพวกเขาจะถูกพรากไปจากชุมชนแห่งนี้ ชุมชนริมทางรถไฟขอนแก่นจึงจะเหลือเพียงตำนาน

ศรี ศรีแก้ว อสม.ชุมชนมิตรภาพ

“ตอนมาอยู่ครั้งแรก บ้านคนไม่เยอะ มีบ้านอยู่ 5-6 หลัง จากนั้นก็ย้ายมาจากซอย 5 ก็มาอยู่ตรงชุมชนมิตรภาพนี่แหละ ย้ายออกมาก็อยู่ไปเรื่อยๆ แบบนี้แหละ ไม่ได้อยากหนีไปไหนเลย”

ศรี ศรีแก้ว อสม.ชุมชนมิตรภาพ วัย 74 ปี เล่าถึงประวัติการย้ายเข้ามาอยู่ริมบึงข้างทางรถไฟ

1.แหล่งรองรับคนตกงาน 
บรรยากาศการรับประทานอาหารเที่ยงร่วมกันของเพื่อนบ้านที่อาศัยอยู่ภายในชุมชนมิตรภาพ ส่วนใหญ่เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการย้ายสถานีขนส่งจังหวัดขอนแก่นแห่งที่ 1 ออกไปนอกเมือง ทำให้แม่ค้าและคนขับรถรับจ้างต้องตกงาน 

“ประธาน (ชุมชน) มาบอกว่า ปี 2565-2566 ที่นี่จะเป็นตำนานมิตรภาพจะไม่มีบ้านคนอยู่ จะเป็นรถไฟความเร็วสูง เขาก็เลยบอกว่า แถบนี้จะเป็นตำนาน จะไม่มีบ้านสักหลัง” อารีย์ ชาญวิจิต ชาวชุมชนมิตรภาพ เล่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับชุมชนและชีวิตของคนในชุมชนมิตรภาพ

2.แหล่งพักพิงคนทำกิน 

“แต่ก่อนทำร้านลาบ-ก้อยอยู่ริมทางรถไฟ ช่วงที่สามีและลูกชายยังมีชีวิตอยู่ ตอนนี้ทั้งสองคนจากไปหมดแล้ว ตอนนี้ก็อยู่กับแม่สองคน ทำปลาส้มและสานตะกร้าพลาสติกไปขายที่ตลาดบางลำภู”ยายมูล แม่ค้าวัย 65 ปี

3.งานเลี้ยงวันเกิดในชุมชนแออัด

ปลายเดือนมกราคม 2565 ผู้ปกครองของเด็กชายในชุมชนมิตรภาพ จัดงานฉลองเล็กๆ ด้วยการเลี้ยงอาหารเพื่อนๆ มีเฟรนด์ฟราย ไก่ทอดและขนมกินเล่น ถือเป็นการเฉลิมฉลองท่ามกลางความไม่แน่นอนของชะตาชีวิตของเด็กและครอบครัว เพราะครอบครัวเพิ่งได้รับข่าวการขอเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูง 

4.มือที่มองเห็น เสียงที่ต้องฟัง 

ก่อนหน้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นคนจนเมืองที่ลงมายังชุมชนเพื่อพูดคุยหาทางช่วยเหลือคนในชุมชนมิตรภาพ และจัดวงพูดคุยหาทางออกร่วมกับคนภายในชุมชน และรวบรวมข้อเสนอส่งไปยังทางการรถไฟ และเครือข่ายสลัม 4 ภาคเพื่อหาทางช่วยเหลือ หรือจัดสรรที่อยู่อาศัยใหม่ และร่วมทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ด้วยการนำมือชุบโคลนประทับลงยังตอม่อรถไฟทางคู่

5.ค่ำคืนในชุมชนมิตรภาพ

6.ยังไม่รู้ชะตากรรม 

ตลอดช่วงเวลา 4 ปีที่ผ่านมาเดอะอีสานเรคคอร์ดมีโอกาสลงพื้นที่ชุมชนริมทางรถไฟขอนแก่น เพื่อรายงานข่าวการไล่รื้อชุมชนคนจนเมืองมาอย่างต่อเนื่อง หลายครอบครัวย้ายเข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคง (พอช.) หลายคนกลายเป็นคนไร้บ้าน และอีกหลาย 100 คนในชุมชนมิตรภาพ จ.ขอนแก่น ยังไม่ทราบชะตากรรม 

ขณะนี้ทางการรถไฟเริ่มอพยพผู้คนออกจากเขตก่อสร้าง รวมถึงโครงการอยู่ในระหว่างการจัดทำผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และเวทีรับฟังความเห็นของชาวชุมชนริมทางรถไฟเพื่อหาทางออกของปัญหาร่วมกัน

image_pdfimage_print