กชกร บัวล้ำล้ำ Citizen Reporter of The Isaan Record ภาพ

อัยการ ศรีดาวงศ์ Citizen Reporter of The Isaan Record เรื่อง

เวทีถกปัญหาโรงไฟฟ้าชีวมวล จ.อำนาจเจริญเดือด ชาวบ้านร้อง กมธ. เหตุฝุ่นละอองกระทบหนัก “รังสิมันส์ โรม” ลงพื้นที่จี้ถามรัฐทำไมรัฐคฝ.กันคนร่วมเวทีฯ ส่วน จนท.รัฐมึนตอบคำถามไม่ได้ต้องพักประชุม

อำนาจเจริญ – เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2565 (วานนี้) ที่ห้องประชุมมงคลมิ่งเมือง ศาลากลางจังหวัดอำนาจเจริญ คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ลงพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ เพื่อศึกษาดูงานเกี่ยวกับกรณีกระบวนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมของโครงการโรงงานน้ำตาลและโรงงานไฟฟ้าชีวมวลภาคอีสาน จำนวน 5 กรณีจาก 6 จังหวัด และรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อุตสาหกรรมจังหวัด นักวิเคราะห์ผังเมือง คณะกรรมการประชาชนคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงงานไฟฟ้าชีวมวล (คปน.ภาคอีสาน) เข้าร่วมประชุม โดยมีกลุ่มดาวดิน กลุ่มทะลุฟ้าร่วมสังเกตการณ์ 

ภายในการประชุมมีการพูดคุยถึงประเด็นปัญหาตั้งแต่การจัดทำรายงานประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม EIA ที่มีผู้เห็นต่างถูกกีดกันออกจากกระบวนการ พูดคุยถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยมีการนำเสนอข้อเท็จจริงจากทั้งฝั่งผู้ที่ได้รับผลกระทบและฝั่งของทางผู้สนับสนุนพร้อมทั้งหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง

อิสรา แก้วดี ตัวแทนชาวบ้านน้ำปลีกที่ได้รับผลกระทบ ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า เดิมทีพื้นที่ตำบลน้ำปลีกเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ มีลำน้ำเซบายไหลผ่าน โดยมีการเข้ามากว้านซื้อที่ดินของชาวบ้านในพื้นที่ โดยที่ไม่บอกว่าจะนำทำอะไร กระทั่งกว้านซื้อจนครบจำนวนแล้วก็มีการดำเนินโครงการ โดยที่ไม่ได้รับความยินยอมของคนในพื้นที่ เมื่อมีการออกมาแสดงจุดยืนคัดค้านการตั้งโรงงานน้ำตาลและโรงงานไฟฟ้าชีวมวลในงานจัดทำประชาพิจารณ์ก็ถูกกีดกันจากเจ้าหน้าที่รัฐ และโรงงานน้ำตาลมาโดยตลอด

เจ้าหน้าที่สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 12 การจัดทำ EIA ของโรงงานน้ำตาลและโรงงานไฟฟ้าชีวมวล ชี้แจงว่า จากการจัดทำ EIA นั้นถูกจัดทำขึ้น 2 ครั้ง พร้อมทั้งอยากให้คำนึงถึงว่า นอกจากจะมีชาวบ้านกลุ่มที่คัดค้านแล้วยังมีกลุ่มที่สนับสนุนและต้องการโรงงานน้ำตาลอยู่ด้วย

รังสิมันต์ โรม โฆษก กมธ.และ ส.ส.พรรคก้าวไกล ลงพื้นที่ จ.อำนาจเจริญ

จากนั้นมะลิจิตร เอกตาแสง ตัวแทนชาวบ้าน รายงานสภาพปัญหาว่า คัดค้านมาตลอด แต่เวลาไปยื่นหนังสือคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงงานไฟฟ้าชีวมวลกันที่ไหน ก็จะมีกลุ่มจัดตั้งไปยื่นหนังสือตามหลังตลอดว่า สนับสนุนการมีโรงงานน้ำตาลและโรงงานไฟฟ้าชีวมวล ทั้งๆที่ปริมาณผลผลิตอ้อยในจังหวัดอำนาจเจริญไม่ได้มีเพียงพอที่จะป้อนโรงงาน เมื่อทำโรงงานก็มีแต่จะขาดทุน และเป็นมลพิษต่อคนในพื้นที่ ทั้งเสียงที่ดังจากโรงงาน ประกอบกับฝุ่นควันจากการเผาไหม้ และกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ที่มาจากโรงงาน ซึ่งเราที่เป็นคนในพื้นที่จริงๆ อาศัยอยู่ในพื้นที่จริงๆเป็นผู้ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายและวิถีชีวิต

ภานุพงษ์ ศรีธนาวัฒน์ หนึ่งในตัวแทน คปน.อีสาน ตั้งคำถามต่อการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐว่าหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องเคยมาให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนในพื้นที่หรือไม่ มีการนำเสนอข้อมูลอย่างครบถ้วนหรือไม่ เคยไปลงพื้นที่จริงๆ หรือไม่ ทั้งในเรื่องของเวทีรับฟังความคิดเห็น การจัดทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม EIA ที่มีการกีดกันการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนที่เห็นต่าง ผู้ได้รับผลกระทบ มีการตั้งแถวเจ้าหน้าที่ที่มีลักษณะเหมือนกับหน่วยคุมฝูงชนเป็นแนวกำแพง เพื่อกันไม่ให้พี่น้องที่ได้รับผลกระทบมีส่วนร่วม รวมไปถึงมีการใช้กำลังกับพี่น้อง อีกทั้งมีการแจกของ โดยมีบริษัทน้ำตาลมาแจกน้ำตาล แต่ต้องลงลายมือชื่อเพื่อรับ 

“ถามว่า มีความบริสุทธิ์ใจแค่ไหนในเรื่องของที่มาของรายชื่อผู้สนับสนุนโรงงานน้ำตาลและโรงงานไฟฟ้าชีวมวล”ภานุพงษ์ ตั้งคำถาม

กมธ.กฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ลงพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ ศึกษาดูงานเกี่ยวกับกรณีกระบวนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) 

ประกาศผังเมืองเอื้อนายทุน?

ภานุพงษ์ ตั้งข้อสังเกตถึงเรื่องผังเมืองว่า ก่อนที่จะมีการประกาศผังเมืองวันที่ 21 เมษายน ปี 2560 แต่เวทีการรับฟังความคิดเห็นของโรงงานเกิดเมื่อปี 59 และเดือนที่ 3 ของปี 60 ก่อนการประกาศใช้ผังเมือง แล้วตัวโรงงานรู้ได้อย่างไรว่าพื้นที่นั้นจะสามารถตั้งโรงงานน้ำตาลได้ตามกฎหมายผังเมือง แต่สุดท้ายกฎหมายผังเมืองที่ออกมาตามหลังจากการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 ก็คือสามารถตั้งได้ 

สมหญิง บัวบุตร ส.ส.อำนาจเจริญ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เห็นด้วยกับการตั้งคำถามเรื่องความเหมาะสมของพื้นที่และขอสนับสนุนคำถามที่ว่า กฎหมายผังเมืองจังหวัดอำนาจเจริญประกาศทีหลัง หลังจากที่พูดคุยกันเรื่องที่จะสร้างโรงงานน้ำตาล ดังนั้นจึงอยากจะติดตามเรื่องน้ำ เรื่องน้ำเสียว่า ส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างไร 

จากนั้นเจ้าหน้าที่สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 12 ได้ชี้แจงว่า ได้มีการจัดหน่วยงานติดตามและลงพื้นที่ให้ข้อมูลกับประชาชนในพื้นที่มาตลอด ส่วนในเรื่องของการจัดทำประชาพิจารณ์ ที่มีการจัดแนวเจ้าหน้าที่ขึ้นนั้น เป็นการจัดทำขึ้นเพื่อ ป้องกันการกระทบกระทั่งที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งคงจะเป็นการเข้าใจคลาดเคลื่อน และขอยืนยันว่ามีความบริสุทธิ์ใจในเรื่องของรายชื่ออย่างแน่นอน”

รังสิมันส์ โรม โฆษก กมธ.สิทธิฯ และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ตั้งข้อคำถามว่า มีการจัดเจ้าหน้าที่คุมฝูงชนเข้ามาได้อย่างไร ซึ่งเพิ่งมีคนยอมรับว่ามีการจัดเจ้าหน้าที่เข้ามาจริง เป็นการกีดกันและแบ่งแยกประชาชนออกเป็นสองฝั่ง ส่งผลให้การรับฟังข้อมูลของทั้งสองฝ่ายไม่ตรงกันหรือไม่?ทั้งๆที่กลุ่มที่ออกมาคัดค้าน ไม่ใช่ว่า เขาไม่ต้องการมีส่วนร่วม ตรงกันข้าม เขาต้องการที่จะมีส่วนร่วม ซึ่งถ้าเขาได้แลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างตรงไปตรงมากับทางกลุ่มผู้ที่สนับสนุนหรือเห็นด้วยกับการตั้งโรงงานน้ำตาล ย่อมส่งผลดีต่อการจัดทำ EIA มิใช่หรือ

“มีพื้นที่ตรงไหนให้ชาวบ้านกลุ่มนี้ได้นำเสนอความคิดเห็นซึ่งเป็นข้อมูลที่เขามี ในการประกอบการจัดทำข้อมูล EIA แทนที่จะกีดกันอย่างที่กระทำมาตลอด มีพื้นที่ตรงไหนบ้างที่ให้ชาวบ้านทั้งกลุ่มที่เห็นด้วยและกลุ่มที่คัดค้านได้พูดคุยกัน”ส.ส.พรรคก้าวไกล ตั้งคำถาม

สิริศักดิ์ สะดวก คณะกรรมการประชาชนคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงงานไฟฟ้าชีวมวล (คปน.ภาคอีสาน)

ชาวบ้านไม่ได้ขัดขวางการพัฒนา

ขณะที่ สิริศักดิ์ สะดวก นักสิทธิชุมชนและหนึ่งใน คปน.ภาคอีสาน กล่าวว่า การตั้งโรงงานน้ำตาลในพื้นที่ที่เป็นปัญหาเป็นพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมจริงๆ ซึ่งชาวบ้านไม่ได้ขัดขวางการพัฒนา แต่การพัฒนาควรจะมีการจัดทำในพื้นที่ที่เหมาะสม และคำนึงถึงเรื่องฐานทรัพยากร และการที่บอกว่า ประชาชนเข้าใจคลาดเคลื่อนนั้น ในการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นนั้น เราคัดค้านกันมาตลอด ทั้งครั้งที่ 1 – 2 เราควรจะมีคุยกันเสียก่อน แน่นอนว่าหน่วยงานรัฐต้องรู้ก่อนอยู่แล้วว่าจะมีโรงงาน ทำไมไม่ลงมาพูดคุยและให้พี่น้องมีส่วนร่วมจริงๆ 

“การกีดกันคือการตัดวงจร สะท้อนให้เห็นได้ชัดว่ากระบวนการนั้น ประชาชนถูกกีดกันไม่ให้มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งก็ต้องขอความเป็นธรรมว่า เขาต้องทนฟังเสียงโรงงาน ต้องทนกับมลพิษ ต้องทนเพราะอยู่ในพื้นที่ ดังนั้นเราจึงไม่ยอมรับ เพราะกระบวนการขาดการมีส่วนร่วมของผู้ที่มีส่วนร่วม”ตัวแทน คปน.ภาคอีสาน กล่าว

ภายในการประชุมเป็นไปด้วยความตึงเครียดระหว่างทั้งสองฝ่าย โดยผู้สนับสนุนชี้แจงว่า โครงการโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลนั้นมีความถูกต้อง มีการจัดการจัดการที่ได้มาตรฐานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่วนของผู้ที่คัดค้านและเป็นผู้ได้รับผลกระทบกล่าวแย้งว่า เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษที่เกิดจากโรงงานไม่ว่าจะเป็นมลพิษทางเสียง มลพิษทางอากาศที่ในฤดูเปิดหีบอ้อยก็จะมี “หิมะดำ” ซึ่งก็คือฝุ่นละอองที่เกิดจากการเผาอ้อย พร้อมทั้งยังส่งกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งมีผลต่อการดำเนินชีวิตโดยตรง ทำให้ตลอด 3 ชั่วโมง ในการประชุมเป็นการนำเสนอข้อเท็จจริงจากทั้งสองฝ่าย และยังไม่สามารถหาข้อสรุปว่าจะจบลงอย่างไร ทำให้ต้องพักการประชุมและนัดหมายการประชุมหารือกันอีกครั้ง

ยื่นข้อเสนอคัดค้านโรงงานน้ำตาล 

หลังจากการประชุม คณะกรรมการประชาชนคัดค้านโรงงานน้ำตาลโรงงานไฟฟ้าชีวมวล (คปน.ภาคอีสาน) และเครือข่ายได้อ่านแถลงการณ์ บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดอำนาจเจริญ โดยมีข้อเรียกร้อง 5 ประการคือ

1.หยุดนโยบายโรงงานน้ำตาลและโรงงานไฟฟ้าชีวมวลภาคอีสาน

2.ให้เร่งรัดดำเนินการตรวจสอบกระบวนการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่ชาวบ้านไม่ได้มีส่วนร่วม กรณีนโยบายโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล 6 กรณี 7 จังหวัดในภาคอีสาน

3.ให้ยกเลิกกระบวนการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และให้แต่ละจังหวัดมีนโยบายโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล จะต้องดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อให้มีการศึกษายุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อม หรือ SEA (Strategic Environmental Assessment) เพื่อประเมินศักยภาพพื้นที่ว่าเหมาะสมที่พัฒนาไปในทิศทางใด

4.ให้เร่งรัดรวบรวมข้อมูลในแต่ละพื้นที่เพื่อเสนอให้นายกรัฐมนตรีทบทวนนโยบายโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลภาคอีสาน

5.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่ละจังหวัดที่มีนโยบายโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลจะต้องเปิดเผยข้อมูลที่เป็นจริงสู่สาธารณะและชาวบ้านในพื้นที่ได้รับรู้ข้อมูลก่อน

image_pdfimage_print