ถ้ากลุ่มผู้มีบุญก่อเมื่อปี 2444 สำเร็จ ตามงานวิจัยของ ไพฑูรย์ มีกุศล บันทึกไว้ว่า คนที่จะครองเมืองอุบล คือ สำเร็จลุน แต่แล้วชื่อของพระเกจิอาจารย์ดังคนนี้กลับถูกทำให้หายไป แม้กระทั่งในหนังสือ “ประวัติศาสตร์อีสาน” ของ เติม วิภาคพจนกิจ ก็ไม่เอ่ยถึง เป็นความบังเอิญหรือตั้งใจ

วิทยากร โสวัตร เรื่อง

“แผนการที่พวกผีบุญได้ปรึกษาร่วมกัน คือ จะตีเมืองเขมราฐ เกษมสีมา และตระการพืชผล เมื่อได้กำลังมากแล้วจะยกเข้าตีเมืองอุบลราชธานี องค์เลืองสน หัวหน้าพวกผีบุญคนหนึ่งให้การว่า แผนการใหญ่ของพวกผีบุญที่ร่วมกันคิดในครั้งนั้นก็คือ จะตีเมืองให้ได้ทั้งหมด ทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวา แล้วจะให้ “องค์หาสารททอง” นั่งเวียงจันทน์ ให้สมเด็จลุนวัดบานเวนไซย นั่งอุบลราชธานี ให้องค์เล็กบ้านหนองซำนั่งหนองโสน (เมืองอยุธยา) ให้องค์พระบาทกับองค์ขุดนั่งธาตุพนม” (กองจดหมายเหตุแห่งชาติ ม.๒.๑๘/๗ โทรเลขที่ ๓๕  ๑๙ เมษายน ร.ศ.๑๒๑ กรมขุนสรรพสิทธิประสงค์ ทูลกรมหลวงดำรงราชานุภาพ หน้า ๑๗) และกรมขุนสรรพสิทธิประสงค์ทรงคาดว่า พวกผีบุญคงจะร่วมมือกับองค์มั่นทางฝั่งซ้ายอย่างแน่นอน เพราะองค์แก้วได้ก่อกบถและรบกับกองทหารฝรั่งเศสในระยะเวลาใกล้เคียงกับพวกผีบุญฝั่งขวา คือ ได้ยกเข้าตีเมืองสุวรรณเขตในเดือนเมษายน พ.ศ.๒๔๔๕ (ร.ศ.๑๒๑) แผนการของพวกผีบุญนี้ถ้าเป็นไปตามที่กรมขุนสรรพสิทธิประสงค์ทรงคาดไว้ ย่อมเป็นที่น่าเชื่อถือได้ว่า พวกขบถคิดที่จะรวมดินแดนทั้งสองฝากแม่น้ำโขง เพื่อที่จะตั้งราชอาณาจักรใหม่ไม่ขึ้นต่อไทยและฝรั่งเศส”

ข้อความข้างบนนี้ปรากฏอยู่ในหนังสือ การปฏิรูปการปกครองมณฑลอีสานในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ของ ไพฑูรย์ มีกุศล ซึ่งพิมพ์จากปริญญานิพนธ์หัวข้อ “การปฏิรูปการปกครองมณฑลอีสานสมัยที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์เป็นข้าหลวงใหญ่ (พ.ศ.๒๔๓๖-๒๔๕๓)” ของเขา ซึ่งเป็นงานที่ศึกษาเรื่องผีบุญอย่างเป็นระบบชิ้นแรกๆ ของไทยที่ให้รายละเอียดและน้ำหนักทางวิชาการ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่หนังสือเล่มนี้เหมือนหายไปจากสาระบบเรื่องผีบุญ เพราะเหมือนว่าเรื่องราวของผีบุญหรือขบวนการผู้มีบุญถูกสาปให้หายไป และเรื่องราวนี้ก็ถูกตอกสลักไว้แค่ในงานเรื่องประวัติศาสตร์อีสานของ เติม วิภาคพจนกิจ เท่านั้นซึ่งเป็น “เสียง” ของทาง (ราช) การ

พูดกันอย่างไม่เกรงใจ เรื่องราวของผีบุญแทบจะไม่มีใครอยากพูดถึง (โดยเฉพาะคนอุบลฯ) ราวกับว่า เป็นตราบาปที่ทุกคนอยากให้ลบเลือนไปไม่ให้มีความจดจำ

เรื่องราวของผีบุญถูกกล่าวถึงอย่างเป็นกิจลักษณะและให้ความเป็นธรรมครั้งแรกก็ในหนังสือ อุบล ๒๐๐ ปี ที่ได้ย่อยเนื้อหาจากหนังสือของไพฑูรย์ มีกุศล เล่มนี้แหละออกมาเผยแพร่ ซึ่งทำให้เราได้เห็นบทบาทของพระในเรื่องนี้ นั่นคือ บันทึกรายงานของพระญาณรักขิต (จันทร์ สิริจนฺโท) ซึ่งต่อมาจะเป็น พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ ที่ให้รายละเอียดของการก่อเกิดขบวนการกบฏครั้งนี้ โดยชี้ถึงเหตุผลเรื่องสภาพทางเศรษฐกิจ ทั้งเรื่องความแห้งแล้ง การเพาะปลูกไม่ดี ภาษี และการทำการไม่ชอบของข้าราชการ ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับงานของ เติม วิภาคพจนกิจ (และถ้าลงลึกไปกว่านั้น น่าสังเกตว่า หนังสืออุบล ๒๐๐ ปี ถูกทำขึ้นในช่วงปลายรัฐบาลเปรมและสังคมไทยมีความกระหายอยากต่อประชาธิปไตยที่นายกฯ มาจากการเลือกตั้ง) 

พอผมได้อ่านบันทึกของพระญาณรักขิตแล้วก็เกิดข้อน่าสนใจบางอย่างนะครับ คือ ทำไมท่านเขียนบันทึกแบบตรงไปตรงมาโดยไม่เอนเอียงไปทางราชสำนักกรุงเทพฯ อีกทั้งยังไปสอบสวนพระที่เป็นแกนนำขบวนการผู้มีบุญทางเมืองยโสธรและเสลภูมิเอง 

น่าจะด้วยเหตุนี้ที่ทำให้พระเหล่านั้นไม่โดนโทษถึงขั้นประหาร และต่อมาเมื่อศึกษาประวัติท่าน ทั้งจากที่ท่านเขียนเองและที่คนอื่นเขียนถึง (ไม่รวมพระฝ่ายธรรมยุติในชั้นหลังๆ) ก็จะเกิดความสงสัยตามมาอีกว่า เหตุใดท่านจึงกล้าเขียนและเทศน์แย้งพระสังฆราชในยุคนั้นและพระราโชบายของพระมหากษัตริย์ เรื่องการซื้ออาวุธและการทำสงครามว่า เป็นทุวิชชา จนตัวเองถูกถอดยศและย้ายวัดจำกัดบริเวณ (ดูจาก อัตตโนประวัติ ที่ท่านเขียน) และที่มหาสิลา วีระวงส์ เขียนอัตชีวประวัติเรื่องชีวิตผู้ข้าที่กล่าวอ้างถึงท่านว่า เคยปรึกษาท่านถึงความคับแค้นใจที่ถูกดูถูกเพราะเป็นลาวและการที่ลาวถูกกดขี่และปรารถนาอยากจะกู้ชาติกอบกู้เกียรติภูมิ ท่านก็บอกประมาณว่า ท่านก็เคยคิดแบบนั้นเหมือนกันแต่สู้เขาไม่ได้หรอก จนมหาสิลาต้องข้ามไปเวียงจันทน์เพื่อทำตามอุดมคติในเวลาต่อมา

เช่นเดียวกับพระครูวิโรจน์รัตโนบล วัดทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุบลฯ ที่อยู่ในสมัยเดียวกัน บันทึกของลูกศิษย์ที่เดินทางไปบูรณะองค์พระธาตุพนมอันเป็นหัวใจแห่งศรัทธาพุทธศาสนาของคนลาวลุ่มน้ำโขงทั้งสองฝั่งในปีเดียวกับที่มีการล้อมฆ่าผีบุญที่เมืองอุบล “น้ำเสียง” ในบันทึกที่ว่านั้นก็ไม่ได้โจมตีขบวนการผีบุญ

กระทั่งผมได้อ่านงานเขียนเรื่อง ประวัติเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก ในงานชุดเถรประวัติ ของพระธรรมราชานุวัตร (แก้ว อุทุมมาลา) อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนม อดีตเจ้าคณะจังหวัดนครพนม ระบุว่า “พระเถระสำคัญ เช่น ท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันทรเถระ) วัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ เมื่อมาพระธาตุพนมได้สืบถามหาว่า “ธาตุครูบาใหญ่เราอยู่ที่ไหน” เมื่อทราบแล้วก็ปักกลดนั่งสมาธิอยู่ตรงนั้นตลอดคืน” สำหรับผมมันคือ ‘ลายแทง’ นำไปสู่เรื่องราวของพระสำคัญรูปหนึ่ง ที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในขบวนการลุกขึ้นสู้ของประชาชนสองฝั่งโขงที่ถูกตราหน้าจากราชสำนักกรุงเทพฯ ว่า กบฏผีบุญ นั่นคือ สำเร็จลุน ซึ่งปรากฏอยู่ในข้อความในย่อหน้าแรกของบทความนี้ ซึ่งเป็นบันทึกการสอบสวนบุคคลระดับหัวหน้าในขบวนการกบฏคนหนึ่งของทางการ แต่คนกรุงเทพฯ หรือเจ้านายจากส่วนกลางคงไม่เข้าใจระดับชั้นของพระลาวที่ประชาชนลาวลุ่มน้ำโขงยกย่องหรือยกให้ (ฮดสรง) แก่พระสงฆ์/สามเณร (จัว) จึงเรียกพระรูปนี้ว่า สมเด็จลุน ทั้งที่จริง คือ สำเร็จลุน

แปลกไหมครับ ที่ชื่อๆ นี้อยู่ๆ ก็หายไปจากเรื่องราวของผีบุญ ไม่มีแม้แต่ในที่ เติม วิภาคพจนกิจ เขียนไว้ในประวัติศาสตร์อีสาน (เรื่องกบฏผีบุญ) จะมีก็แต่ในงานวิจัยของ ไพฑูรย์ มีกุศล ทั้งที่จริงแล้วจากบันทึกการสอบสวนที่ว่า ถ้ากลุ่มกบฏผีบุญทำการสำเร็จ คนที่จะได้นั่งเมืองอุบลก็คือ สำเร็จลุน นั่นย่อมแสดงถึงความเป็นบุคคลสำคัญยิ่งในขบวนการ

ถ้าพูดกันอย่างตรงไปตรงมา สำเร็จลุนนี้ คนอุบลหรือคนลาวสองฝั่งโขงรู้จักดี ทุกวันนี้ก็ยังกล่าวถึงและนับถือโดยเฉพาะคนในวงการเกจิหรือขมังเวทย์ 

เรื่องราวของสำเร็จลุนนี้เท่าที่รู้มีที่เขียนเป็นเล่มจริงๆ ก็แต่ในลาว ถ้าข้อมูลไม่ผิดเป็นงานเขียนของประมุขสงฆ์องค์ก่อนที่มรณภาพไป ซึ่งพื้นเพเป็นคนเขมราฐแต่ข้ามไปอยู่ลาวและร่วมในขบวนการปฏิวัติปลดปล่อย ส่วนในอีสานหรือในไทยเท่าที่เห็นก็มีแต่อาจารย์สวิง บุญเจิม อดีตนักบวชเปรียญธรรม ๙ ประโยค และจบปริญญาโท (M.A.) ได้ลงพื้นที่และสืบถามบุคคลไว้แล้วพิมพ์เป็นเล่มขายเองชื่อ “ประวัติและของดีหลวงปู่สำเร็จลุน” ข้อมูลค่อนข้างละเอียดและสอดคล้องกับที่มีในวิทยานิพนธ์ของ ไพฑูรย์ มีกุศล

หนังสือเล่มนี้ของอาจารย์สวิง บุญเจิม ชี้ชัดว่า สำเร็จลุนร่วมในขบวนการกู้ชาติลาว (ขบวนการผู้มีบุญ) ท่านเทียวมาประชุมกับบุคคลระดับแกนนำทุกครั้งไม่ว่า จะประชุมวางแผนกันที่ไหน โดยเฉพาะที่บ้านสะพือนั้นท่านมาบ่อยมาก และการมาของท่านในบางครั้งก็เต็มไปด้วยวิธีแบบปาฏิหาริย์ ตอนที่ผมอ่านเรื่องราวของสำเร็จลุนนั้น ผมยังไม่เคยไปบ้านสะพือ แต่พอเมื่อได้ไป ได้เห็นได้ฟังเรื่องราวภูมิศาสตร์บ้านสะพือแล้วมันสอดคล้องกับประวัติของท่านที่อ่านมา และสามารถเชื่อมต่อเหตุการณ์ต่างๆ ได้เป็นอย่างดีและให้ภาพชัดเจน

ถามว่า สำเร็จลุนสำคัญอย่างไร? 

อันดับแรกต้องรู้ไว้ว่า สำเร็จลุนนั้นเป็นลูกศิษย์ของ “ยาคูขี้หอม” หรือเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก และในประวัติของพระครูวิโรจน์รัตโนบล ในหนังสือชื่อ “ยอดนิยมที่อุบลราชธานี ดี ดี ดี ดีโลด” ของ อำพล เจน ผู้เชี่ยวชาญเรื่องพระเกจินั้น ได้สืบสัมภาษณ์ลูกศิษย์ของท่านได้ระบุว่า 

“สำเร็จลุนมีลูกศิษย์มากมายจะไล่เรียงชื่อเท่าที่รู้จักดังนี้ ๑. พระอาจารย์สีทัตถ์ สุวรรณมาโจ ผู้สร้างพระธาตุท่าอุเทนและพระพุทธบาทบัวบก ๒.เจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท) ๓. หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล (พระอาจารย์ของพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต) ๔. พระครูวิโรจน์รัตโนบล (รอด) ๕. หลวงปู่เครื่อง ธมฺมจาโร วัดเทพสิงหาร อุดรฯ ๖.หลวงปู่โทน กนฺตสีโล วัดบูรพา บ้านสะพือ ๗.เณรแก้ว ๘.เณรคำ ฯลฯ” (*เณรคำ ในที่นี่ไม่ใช่ หลวงปู่เณรคำ สมัยใหม่นี้นะครับ) เรื่องนี้ พ่อใหญ่จันทร์ ทองผุด บ้านสนามชัย ใกล้สะพานโดมน้อยลูกศิษย์ของญาท่านดีโลด (พระครูวิโรจน์รัตโนบล) ยืนยันในหนังสือเล่มดังกล่าว

ล่าสุดพบหลักฐานชิ้นสำคัญเมื่อต้นเดือนมีนาคมนี้ นั่นคือหลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดบูรพา บ้านสะพือรูปปัจจุบัน ซึ่งบวชตั้งแต่เป็นสามเณรและเป็นลูกศิษย์หลวงปู่โทน กนฺตสีโล พาคณะอาจารย์ถนอม ชาภักดี ที่จะจัดงานทำบุญแจกข้าวให้เหล่าผู้มีบุญที่ถูกทางการรัฐสยามล้อมฆ่าที่เนินโพธิ์บ้านสะพือเมื่อ 120 ปีที่แล้วเข้าไปดู “ไม้เท้าสำเร็จลุน” (แต่เขียนว่า ไม้เท้าสมเด็จลุน ซึ่งคงเขียนบอกด้วยความเข้าใจผิดเหมือนแบบเจ้านายทางกรุงเทพฯ) ที่มอบให้ไว้กับหลวงปู่โทน

น่าสนใจว่า หลวงปู่โทนน่าจะรู้ว่าสำเร็จลุนอยู่ไหนและทำอะไรบ้าง แต่สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือ เหตุใดสำเร็จลุนจึงมีลูกศิษย์คนสำคัญ (หลวงปู่โทน) อยู่ประจำบ้านสะพือและมอบไม้เท้าสำคัญไว้ให้?

หมายเหตุ: The Isaan Record ยินดีรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลายในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยความคิดเห็นที่แสดงบนเว็บไซต์ The Isaan Record ถือเป็นมุมมองของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการและเครือข่าย

image_pdfimage_print