ในห้วงเวลา 2 ปี ของการเคลื่อนไหวทางการเมืองและการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่กับรัฐบาลเงาของ คสช. หรือ รัฐบาลประยุทธ์ ช่วงปี 2563-2565 บ่อยครั้งเรามักได้ยินการกล่าวถึงประโยคบทกลอนของปัญญาชน หรือ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองไทยที่เคยต่อสู้กับเผด็จการทหารในอดีตจากการปราศรัยของนักศึกษาในอีสาน บางครั้งมักมีการพูดถึงเรื่องราวของนักสู้ทางการเมืองในอดีต สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ผมฉุกคิดขึ้นมาด้วยความสงสัยว่าเรื่องราวของเหล่านักสู้ทางการเมืองในอดีตนั้น มีคุณค่าในแง่ของการเป็นมรดกที่ส่งต่อความคิด อุดมการณ์ และความเชื่อต่อคนหนุ่มสาวในปัจจุบันที่ฝันอยากเห็นสังคมที่เป็นธรรม เรื่องราวการต่อสู้ของปัญญาชน นักปฏิวัติ และชาวบ้านถูกเชื่อมโยงมาถึงการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ จากเรื่องราวการต่อสู้ในอดีตที่รัฐไทยพยายามทำให้คนรุ่นใหม่หลงลืมไป บัดนี้กลุ่มเสรีมวลชนเพื่อสังคมเป็นกลุ่มอิสระซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของนิสิตภายในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันจัดทำกิจกรรมเพื่อสังคมภายใต้อุดมการณ์ “เสรีชน วิพากษ์ เพื่อสังคม” ได้ออกเดินทางผ่านเส้นทางประวัติศาสตร์ที่เป็นหมุดหมายสำคัญในการบอกเล่าเรื่องราวการต่อสู้ในอีสาน 

พื้นที่แรกที่เราได้เดินทางมาถึงคืออนุสรณ์สถานจิตร ภูมิศักดิ์ อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร โดยสถานที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ซึ่งจิตร ภูมิศักดิ์ เสียชีวิตจากการถูกล้อมยิงโดยเจ้าหน้าที่รัฐ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2509 ที่ จ.สกลนคร ขณะที่จิตรมีอายุเพียง 36 ปี ในระหว่างการเดินสำรวจสถานที่นั้น มีการเล่าเรื่องบรรยายถึงประวัติชีวิตของจิตร ภูมิศักดิ์ รวมทั้งผลงานบทเพลง บทกลอน และหนังสือที่ยังคงมีอิทธิพลในแวดวงวิชาการรวมทั้งได้รับความนิยมจากผู้อ่านจนกลายเป็นหนึ่งในหนังสือคนไทยต้องอ่านนั้นคือ โฉมหน้าศักดินาไทย 

หลังจากนั้น พวกเราได้ออกเดินทางมายังบ้านลุงโฮ อ.เมือง จ.นครพนม ในอดีตเคยเป็นบ้านพักของประธานโฮจิมินห์ อดีตประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามและเป็นผู้นำของขบวนการกอบกู้เอกราชเวียดนามจากฝรั่งเศส ในห้วงเวลาที่เวียดนามยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของเวียดนาม  ประธานโฮจิมินห์ได้มีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศและได้รับการศึกษาจากตะวันตก กระทั่งเกิดแรงผลักดันที่อยากจะนำพาชาติเวียดให้กลับมาเป็นเอกราชเพราะไม่อยากให้ประชาชนในประเทศตกอยู่ภายใต้การกดขี่ขูดรีดโดยประเทศฝรั่งเศสซึ่งเป็นประเทศเจ้าอาณานิคมที่ปกครองประเทศตน 

ดังนั้นแล้วลุงโฮจึงเริ่มแผนการกู้ชาติเวียดนามด้วยการเข้ามายังประเทศไทย เนื่องจากทราบว่ามีชาวเวียดนามอพยพเข้ามาเป็นจำนวนมาก จากประเด็นดังกล่าวทำให้พวกเราทราบว่าจุดเริ่มต้นของขบวนการกู้ชาติเวียดนามเกิดขึ้นที่ภาคอีสานของไทยเป็นที่แรก และเมื่อประธานโฮจิมินห์ ได้เข้ามาอยู่ในประเทศไทยแล้วก็เริ่มวางแผนการเคลื่อนไหวขบวนการกู้ชาติเวียดนามพร้อมกับเชิญชวนให้ชาวเวียดนามที่อยู่ในอีสานไทยกลับไปกู้ชาติร่วมกันกับขบวนการฯ โดยมีวิทยากรประจำบ้านลุงโฮเป็นผู้ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องราวชีวิตของประธานโฮจิมินห์ 

นอกจากนี้การได้ฟังบรรยายเราได้สำรวจข้าวของเครื่องใช้ที่ยังหลงเหลืออยู่ภายในบ้านและสำรวจสภาพแวดล้อมรอบบ้านลุงโฮ  ทำให้เข้าใจสภาพบริบทความเป็นอยู่ในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จนกระทั่งถึงยุคสงครามเย็น ส่งผลให้พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยจึงมีชาวญวนอพยพอยู่เป็นจำนวนมาก 

หลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรมพวกเราจึงได้ออกเดินทางต่อไปยังหมู่บ้านนาบัว  อ.เรณูนคร จ.นครพนม เพื่อเรียนรู้ความเป็นมาของชุมชนจากหมู่บ้านที่เคยมีการจับอาวุธลุกขึ้นสู้กับรัฐสู่การเป็นหมู่บ้านเพื่อ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ข้อมูลที่เราได้รับฟังจากชาวบ้านทำให้ทราบว่าชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชนเผ่าภูไทที่ อพยพมาจากเมืองเวียงอ่างคำ แขวงสะหวันนะเขต ประเทศลาว โดยมาพร้อมกับชนเผ่าไทกะเลิง และเข้ามา ตั้งชุมชนที่ อ.เรณูนคร จ.นครพนม 

การเดินสำรวจในพื้นที่หมู่บ้านพร้อมกับการเข้าไปเยี่ยมชมการรวมกลุ่มกันของชาวบ้าน ทำให้ทราบว่าในหมู่บ้านมีความพยายามในการรวมตัวกันจัดตั้งทำกลุ่มต่างๆ ในชุมชน เช่น กลุ่มทอผ้า, กลุ่มแสดงฟ้อนรำและดนตรี, กลุ่มบ้านพักโฮมสเตย์ และกลุ่มอนุรักษ์ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นซึ่งเกิดรวมตัวกันขึ้นจากอดีตสหายที่เคยเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ได้มีการเปิดให้ชมพิพิธภัณฑ์ชุมชน มีการจัดแสดงอาวุธ แผนที่ ข้าวของเครื่องใช้ในสมัยที่ชาวบ้านนาบัวเข้าป่าอยู่กับ พคท. รวมทั้งมีการเก็บหนังสือต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือการเมือง หนังสือแนวคิดมาร์กซิสต์ในอดีตซึ่งใช้เพื่อเป็นเครื่องมือของ พคท. ใช้เพื่อให้การศึกษามวลชนและเผยแพร่แนวคิดมาร์กซิสต์ให้เป็นแพร่หลาย 

ช่วงค่ำทางกลุ่มเสรีฯ ยังได้จัดกิจกรรมเปิดวงพูดคุยแลกเปลี่ยนร่วมกันกับอดีตสหายเพื่อพูดคุยถึงปัจจัยและสาเหตุที่ทำให้ต้องตัดสินใจจับอาวุธลุกขึ้นสู้กับรัฐและได้มีการเปิดโอกาสให้ทุกคนได้สอบถาม 

วันที่สอง (วันที่ 7 สิงหาคม 2565) ในช่วงเช้า ณ หมู่บ้านนาบัว อ.เรณูนคร จ.นครพนม กลุ่มเสรีฯ  ได้ร่วมทำบุญตักบาตรให้แก่สหายผู้ล่วงลับในเหตุการณ์ 7 สิงหาคม 2508 หรือวันเสียงปืนแตก คือวันที่ชาวบ้านนาบัวและ พคท. ใช้อาวุธยิงปะทะกับตำรวจในพื้นที่บ้านนาบัว แต่ก็มีการโต้แย้งจากสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ซึ่งได้ชี้ให้เห็นว่าหลักฐานจากหนังสือพิมพ์ว่า วันเสียงปืนแตกแท้จริงแล้วเป็น วันที่ 8 สิงหาคม หรือ 8-8-08 (สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, 2552) แต่ว่าทาง พคท. นับว่าวันที่ 7 สิงหาคม ถือเป็นวันใช้อาวุธต่อต้านอำนาจรัฐไทยครั้งแรกอย่างเป็นทางการ และมีการทำพิธีบายศรีสู่ขวัญโดยกลุ่มชาวบ้านนาบัวให้แก่ผู้ที่มาร่วมทำบุญตักบาตร จากการสอบถามชาวบ้านที่ได้มาร่วมกิจกรรมทำบุญช่วงเช้า ทำให้ทราบว่าการทำบุญตักบาตรเกิดขึ้นเป็นประจำทุกๆ วันที่ 7 สิงหาคม ของทุกปี

หลังจากกิจกรรมจบลง ทุกคนมาไหว้สหายเสถียรผู้ซึ่งเสียชีวิตในเหตุการณ์วันนั้น จากการที่ยิงคุ้มกันให้กับสหายคนอื่นๆ ให้สามารถถอยออกไปจากการล้อมยิงของเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรมที่ศาลาอเนกประสงค์บ้านนาบัวมีการจัดการแสดงการฟ้อนรำภูไท และการขายสินค้าจากผลิตภัณฑ์ชุมชน นอกจากนี้ทางชาวบ้านได้จัดกิจกรรมเสวนาเกี่ยวกับประเด็นเหตุการณ์วันเสียงปืนแตก ครั้งที่ 18  โดยมีผู้ร่วมเสวนาทั้งหมดคือ นายภักดี สุขรี นายก อบต.โคกหินแฮ่ อ.เรณูนคร พร้อมด้วยอดียสหาย ประกอบด้วย นายหวัง สีสุวันหรือสหายปัญญา นายชันฝา จิตมาตย์ หรือสหายสิงห์บุรี นายสมพร คงภักดี หรือสหายสมพร แกนนำสหายพื้นที่ จ.สุราษธานี รวมถึงนายพงศธรณ์ ตันเจริญ กรรมการฝ่ายสาราณียกร เป็นตัวแทนของกลุ่มเสรีมวลชนเพื่อสังคม โดยในงานมีการจัดการแสดงการฟ้อนรำภูไทจากกลุ่มการแสดง

หลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรมที่บ้านนาบัว กลุ่มเสรีฯ ออกเดินทางมายังสถานที่สุดท้ายนั้นคือ ตลาดอินโดจีน อ.เมือง จ.มุกดาหาร โดยมีจุดประสงค์เพื่อการเรียนรู้เศรษฐกิจชายแดนระหว่างชายแดนไทย-ลาวซึ่งเป็นแหล่งรวมสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้าน สินค้าส่วนใหญ่เป็นประเภท เช่น เสื้อผ้า ขนม รองเท้า และของใช้ในครัวเรือน เป็นต้น โดยส่วนใหญ่มักจะเป็นสินค้าราคาถูกรวมไปจนถึงสินค้าพื้นเมืองของ จ.มุกดาหาร จากสภาพบริบทในพื้นที่ที่ทางกลุ่มเสรีฯ ได้ร่วมกันเดินสำรวจจะพบว่าบรรยากาศยังคงไม่คึกคักเท่ากับเมื่อก่อนในช่วงที่ยังไม่มีมาตราการโควิด แม้ว่าในช่วงนี้มาตรการต่างๆ จะปลดล็อคแล้วแต่ความคึกคักก็ยังไม่กลับมา และผู้ขายเริ่มมีจำนวนที่น้อยลงอย่างมาก เป็นที่น่าตั้งข้อสังเกตุว่าหากรัฐไม่มีมาตรการในการเยียวยาผู้ประกอบการรายย่อยเหล่านี้ เป็นไปได้ว่าอาจเกิดผลกระทบที่ทำให้อนาคตตลอด อินโดจีนอาจจะต้องปิดตัวลงเพราะผู้ประกอบการหลงเหลือเป็นจำนวนน้อย พอเสร็จสิ้นกิจกรรมจึงออกเดินทางออกกลับไปยังมหาวิทยาลัยมหาสารคามโดยสวัสดิภาพ

ภายหลังจากนั้น พวกเราได้มานั่งสรุปบทเรีบน ไตร่ตรองประสบการณ์จากกิจกรรมตลอด 2 วัน 1 คืนที่ผ่านมาร่วมกันเพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนได้ทบทวนและสำรวจความเปลี่ยนแปลงของตนเองหลังจากที่ได้เข้าร่วมกิจกรรม และสร้างกระบวนการเรียนรู้ผ่านการสำรวจพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ซึ่งทุกคนได้สะท้อนสิ่งที่สัมผัสและหลายคนได้พูดแลกเปลี่ยนขึ้นมาว่าเป็นครั้งแรกที่พวกเขาได้มีโอกาสรู้จักกับเรื่องราวชีวิต และผลงานที่สะท้อนถึงการต่อสู้ของปัญญาชนอย่างจิตร ภูมิศักดิ์ และเรื่องของกลุ่มผู้กู้ชาติเวียดนามที่นำโดยชายที่มีชื่อว่า โฮจิมินห์ ต่อด้วยเรื่องราวของชาวบ้านนาบัวลุกขึ้นจับปืนสู้กับรัฐบาลเผด็จการ รวมทั้งการได้ไปสำรวจสภาพพื้นที่ตลาดอินโดจีน สุดท้ายนี้จากการเดินทางทั้งหมดที่กล่าวมานี้ผู้เขียนมุ่งหวังว่ากิจกรรมนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เกิดการสร้างแรงบันดาลใจต่อไปที่จะนำไปสู่การช่วยกันผลักดันสร้างสรรค์สังคมไทยที่เป็นธรรมและยุติธรรมต่อไป  

เอกสารอ้างอิง

  1. ศิลปะวัฒนธรรม (2563), “ชีวิตในห้วงเผด็จการของ จิตร ภูมิศักดิ์ กับผลงาน และอิทธิพลทางความคิดสู่นักศึกษา”, สืบค้นจาก silpa-mag.com สืบค้นเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2565
  2.  ปิยนันท์ จำปีพันธ์ (2565), “จาก “วันเสียงปืนแตก” สู่ภารกิจ “ดับเสียงปืนแตก” การต่อสู้ครั้งสุดท้ายของ พคท.” สืบค้นจาก silpa-mag.com สืบค้นเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2565
  3. สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. “8 สิงหา 2508 ” (8-8-08) “วันเสียงปืนแตก” (ตอนที่ 1). ประชาไทย. เผยแพร่ 8 สิงหาคม 2552. สืบคนเมื่อ 15 ตุลาคม 2565. สืบค้นโดย prachatai.com (เผยแพร่ครั้งแรกใน มติชนสุดสัปดาห์ 13-19 สิงหาคม 2547)
image_pdfimage_print