ลองสำรวจตัวเองว่า ทำไมคุณถึงตั้งปณิธานปีใหม่ว่า จะออกกำลังกาย จะตกหลุมรักใครซักคน จะอะไรอีกมากมาย ส่วนตอนสิ้นปี ใครบางคุณอาจจะสวดมนต์ข้ามปีที่คุณอาจเชื่อว่า มันจะทำให้ปลอดพ้นจากโรคภัย สิ่งเหล่านี้อาจเป็นเพราะว่า ปีที่ผ่านมาคุณล้มเหลวกับการใช้ชีวิตหรือเปล่า หรืออะไรกันแน่ที่กำหนดตารางเวลาของตัวคุณเอง บทความนี้จะพาคุณไปสำรวจสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกทุนนิยม

ณัฐวุฒิ รังศรีรัมย์ เรื่อง

“กูเกลียดวันจันทร์”

ประโยคข้างต้นไม่ใช่อาการที่เกิดขึ้นเฉพาะในซอกหลืบแห่งใดแห่งหนึ่ง แต่มันปรากฏให้เห็นในทุกพื้นที่บนโลกใบนี้ มันมักจะไหลออกมาจากปากของมนุษย์แทบจะทุกคนในยุคสมัยปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมันจะพรั่งพรูออกมาอย่างมากเป็นพิเศษในช่วงค่ำของวันอาทิตย์ ประหนึ่งว่า กำแพงเขื่อนได้พังทลายลง ยังผลให้น้ำมวลมหาศาลปะทุทะลุลอดออกมาท่วมถมบ้านเรือนจนพังเสียหาย

แต่ถึงอย่างนั้นก็เกิดคำถามขึ้นมาว่า เราเกลียดวันจันทร์จริงหรือ? วันจันทร์มันทำอะไรให้เรา ทำไมเราถึงเกลียดมัน? 

คำตอบที่ดูจะตรงมากที่สุด คือ “มันทำให้เราได้ทำงานไงล่ะ ได้พักผ่อนเพียงไม่กี่วัน ก็ต้องกลับไปทำงานอีกแล้ว”

“แล้วพวกเราไม่ชอบงานที่ทำอยู่กันเหรอ”

“โฮ่ อย่าให้สำรอกมันออกมาเลย… ว่ากันตรง ๆ เลยนะ ไม่มีใครรักงานที่ตนเองกำลังทำลงจริง ๆ หรอก มันน่าเบื่อมาก มันห่วยแตกจะตาย มันทำให้หมดแรง เคลียด ซึมเศร้า เงินที่ได้ก็น้อยนิด แต่งานกลับกองเท่าภูเขา”

“ถ้ามันเป็นซะขนาดนั้น ทำไมไม่ลาออกไปเสียให้สิ้นเรื่องล่ะ”

“คุณ!… ในยุคสมัยนี้ เรามีสิทธิไม่ทำงานได้ที่ไหนล่ะ แน่นอนบางคนอาจจะพล่ามออกมาอย่างนักอุดมคติเสรีนิยมว่า เรามีเสรีภาพที่จะทำงานหรือไม่ทำงานก็ได้… แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันเป็นไปไม่ได้ ระบบเศรษฐกิจการเมืองของยุคสมัยปัจจุบันมันมีกฎอยู่ข้อหนึ่งว่า… ถ้าเราไม่แปลงเวลาว่างไปกับการทำงาน — หาเงิน เราก็จะอดตาย ว่ากันอีกแบบหนึ่งก็คือ มันทำเสมือนว่าเรามีทางเลือก แต่ก็มีให้เราเลือกเพียงแค่สองทาง คือก้มหน้าทำงานต่อไปกับยอมอดตาย แต่อนิจจา! มันแย่ทั้งคู่”

ดังนั้นมันจึงไม่ใช่ความผิดของวันจันทร์ เพราะถ้าเป็นความผิดของวันจันทร์จริงๆ แล้วเราไปเปลี่ยนวันเริ่มต้นทำงานเป็นวันอังคารมันจะต่างกันอย่างไร ในเมื่องานที่ทำก็ยังคงมีรูปแบบเช่นเดิม มันก็คงจะเปลี่ยนเพียงแค่จากที่เราเกลียดวันจันทร์มาเป็นเกลียดวันอังคารแทน ด้วยเหตุนี้มันจึงเป็นความผิดบิดเบี้ยวของระบบหรือโครงสร้างที่ออกแบบให้งานมันน่าเบื่อมากกว่า ฉะนั้นสิ่งที่เราควรเกลียดและต่อต้านเปลี่ยนแปลงมันคือระบบเศรษฐกิจการเมืองของยุคสมัยปัจจุบัน นั่นคือ “ระบบทุนนิยม” เพราะระบบนี้ต่างหากที่เป็นต้นสายปลายเหตุให้เราต้องเกลียดวันจันทร์ ดังถ้อยคำที่ว่า “คุณไม่ได้เกลียดวันจันทร์ คุณเกลียดระบบทุนนิยม”

แต่ถึงคุณจะ “เกลียดวันจันทร์” อย่างไรก็ดูเหมือนว่า คุณจะโหยหาและพอใจที่จะเกลียดมันต่อไปอย่าง “ไม่รู้ตัว” ประเด็นนี้จะเห็นได้จากการตั้ง “ปณิธานในวันปีใหม่” (New Year’s Resolution) ที่พวกเราต่างก็ชอบและตั้งใจที่จะสัญญากับตนเองว่าจะทำมันให้สำเร็จให้ได้ภายในปีใหม่ที่จะถึงนี้

1. คำถาม

มนุษย์ในยุคสมัยปัจจุบัน ต่างก็ชมชอบยินดีปรีดากับ “วันปีใหม่” กันทั้งนั้น เพราะวันดังกล่าวมันทำให้เราได้กลับบ้านเกิดเมืองนอน ได้โอกาสเฉลิมฉลอง ได้เที่ยว ได้เจอเพื่อน ได้พักผ่อน หรือได้ทำอะไรต่าง ๆ มากมาย และที่สำคัญคือมันทำให้เราได้ “ปฏิวัติตัวตนของเรา — เริ่มต้นนับหนึ่งใหม่” เพราะปีเก่ามันชั่งหน้าเบื่อเหลือทน หน้าเบื่อมันไปชะทุกเรื่อง รวมถึงตัวของเราเองด้วย พูดง่าย ๆ ก็คือ “เราเกลียดตัวเอง — เกลียดตัวตนในปีเก่า” ฉะนั้น ในวันปีใหม่ เราต้องจับตัวเองใส่ตะกร้าล้างน้ำเสียให้สะอาด จะได้กลายเป็นคนใหม่ที่ดีพร้อม (พร้อมจะดี) ดังถ้อยคำที่ว่า “ปีใหม่ คุณคนใหม่” (New Year, New You) ถ้อยคำดังกล่าวจึงไม่ได้ไร้ความหมายเพียงเพราะกวีผู้มีชื่อหรือนักปรัชญานามขจรสบถพ่นมันออกมา ไม่ใช่การประดิษฐ์คำขึ้นมาใหม่ของนักภาษาศาสตร์ ไม่ใช่การเล่นคำให้สวยหรูของไลฟ์โค้ชชื่อดัง หากทว่ามันเป็นคำร่วมสมัยที่มนุษย์ในยุคสมัยปัจจุบันใช้เป็น “แฟนตาชี” (Fantasy) หรือนิยายชวนฝันในการตั้ง “ปณิธานวันปีใหม่”

แต่จนแล้วจนรอดก็ดูเหมือนว่า มนุษย์สมัยปัจจุบันจะล้มเหลวในปณิธานที่ตนเองตั้งไว้จนหาชิ้นดีไม่ได้ ปรากฏการณ์ที่ยืนยันได้ดีที่สุดคือ หากเราลองสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับการตั้งปณิธานในวันปีใหม่ ข้อมูลที่จะนำเสนอต่อหน้าเราส่วนมากไม่ใช่ข้อแนะนำว่าเราควรจะตั้งปณิธานเกี่ยวกับเรื่องอะไรบ้าง แต่สิ่งที่นำเสนอคือวิธีการใดบ้างที่จะทำให้ปณิธานที่เราตั้งไว้ประสบผลสำเร็จ หรือมีงานศึกษาชี้ว่า “ก่อน” วันที่ 9 มกราคม หรือ 9 วันหลังตั้งปณิธาน ชาวอเมริกันมีโอกาสถึง 28% ที่จะยกเลิกปณิธานวันปีใหม่ที่ตนเองเพิ่งตั้ง ส่วนในออสเตรเลียพบว่า 80% จะเลิกทำตามปณิธานภายในสามเดือน[1] หรือไม่ต้องมีหลักฐานทางสถิติอะไรมายืนยันให้หนักหัวก็ได้ เราลองสังเกตปณิธานที่ตัวเองตั้งดูก็น่าจะเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ชั้นดี นี่จึงไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ทว่ามันเกิดขึ้นให้เห็นเกลื่อนกลาดเต็มไปหมดในยุคสมัยปัจจุบัน

ทำไมการตั้งปณิธานในวันปีใหม่มันถึงล้มเหลว?

มีบางคนบอกว่า การตั้งปณิธานในวันปีใหม่เป็นกิจกรรมหนึ่งที่มนุษย์พยายามที่จะเอาชนะตนเอง — เอาชนะความอ่อนแอของตนเอง แต่เป็นเพราะมนุษย์มันอ่อนแอเหลวไหลมากเกินไป จึงล้มเหลวในสิ่งที่ตนเองตั้งปณิธานไว้[2]  

บางคนยกเอาประวัติศาสตร์การตั้งปณิธานขึ้นมากางแล้วบอกว่า เพราะการตั้งปณิธานของคนในอดีตมันเป็นการสัญญากับ “ผู้อื่น” ซึ่งเป็นสิ่งที่เหนือกว่าตัวผู้ตั้งปณิธาน ในขณะที่ปณิธานของมนุษย์ยุคสมัยปัจจุบันคือการสัญญากับ “ตัวเอง” ดังนั้น ปณิธานของมนุษย์ในอดีตจึงไม่ค่อยยับเยินล้มเหลวเหมือนปณิธานของมนุษย์ในยุคปัจจุบัน[3]

หรือบางคนยกนิทานเรื่อง “เข็นก้อนหินขึ้นภูเขา” ซึ่งถูกเล่าในวงเหล้ามาสาธยาย เรื่องมีอยู่ว่า “…ชีวิตก็เหมือนการเข็นก้อนหินขึ้นไปบนยอดเขา ถึงจุดหนึ่งหินก็ไหลลงมา แล้วเราก็นับหนึ่งใหม่อย่างนี้เรื่อยไป ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะถึงยอดเมื่อไหร่ เมื่อคิดถึงการตั้งเป้าหมายปีต่อปี ฉันพบว่าคล้ายกันอย่างน่าประหลาด ใน 1 ปี เราเข็นหินขึ้นไปได้ถึงจุดที่คิดว่าสูงพอ แล้วก็ต้องเริ่มใหม่เมื่อหินหล่นลงมาอีกครั้ง ทำอยู่อย่างนี้วนไปเป็นวัฏจักร ทั้งที่แท้จริงแล้ว เราอยู่ในจักรวาลชีวิตที่ไม่มีเส้นแบ่งชัดเจน แต่การได้นับหนึ่งใหม่เรื่อย ๆ นี้ อาจเป็นแรงขับหนึ่งที่ทำให้มนุษย์มีเหตุผลเพียงพอที่จะใช้ชีวิตอยู่ต่อ เส้นแบ่งปีใหม่อาจมีประโยชน์ในแง่นี้ — แง่ที่ทำให้เรามีเวลาหยุดพักหายใจหายคอ”[4]

นิทานดังกล่าวกำลังเปรียบ “ก้อนหิน” เสมือนปณิธานหรือเป้าหมายที่เราตั้งไว้ “การหล่นลงมาของก้อนหิน” ก็คือความล้มเหลวในปณิธานที่ต้องเริ่มต้นใหม่ เหตุที่เราล้มเหลวในการทำตามปณิธานก็เพราะเราทุกคนต่างก็พยายามเข็นก้อนหินก้อนใหญ่เกินกำลังของตน หลังจากนั้น ก็สรุปแบบพวกไลฟ์โคช์ในยุคทุนนิยมว่า “เราวางเป้าหมายทุกปี พยายามจะทำให้ทะลุเป้าไม่มีผิดพลาด แต่อย่าลืมไปว่านี่คือการใช้ชีวิต และชีวิตมีข้างทางที่งดงามให้แวะชม มากกว่าจะเข็นหินขึ้นเขาอย่างเดียว”[5]

คำถามก็คือ จริงหรือเพราะมนุษย์อ่อนแอเหลวไหล พวกเขาจึงต้องอาศัยอำนาจที่เหนือกว่าตนมาเป็นเครื่องบังคับเพื่อให้ตนสามารถทำตามปณิธานได้สำเร็จ? จริงหรือที่เราตั้งเป้าหมายไว้สูงเกินตัว จึงทำให้ปณิธานที่เราตั้งไว้ล้มเหลว? จริงหรือที่การตั้งเป้าหมายปีต่อปีคือแรงขับหนึ่งที่ทำให้มนุษย์มีเหตุผลเพียงพอที่จะใช้ชีวิตอยู่ต่อ? เส้นแบ่งปีใหม่มันมีประโยชน์ในแง่ที่ทำให้เรามีเวลาหยุดพักหายใจหายคอจริงหรือ? ไม่ใช่เพราะเรามีปณิธานแบบปีต่อปีอย่างที่ว่านี้หรือ ที่ทำให้เราไม่ได้หยุดหายใจหายคอ? และจริงหรือที่ชีวิตมีข้างทางที่งดงามให้แวะชม มากกว่าจะเข็นหินขึ้นภูเขาเพียงอย่างเดียว? คำถามเหล่านี้ เมื่อจับยัดลงกล่องเดียวกันแล้ว สามารถสรุปได้เป็น 2 คำถามใหญ่ๆ คือ 1) ทำไมการตั้งปณิธานของมนุษย์สมัยปัจจุบันถึงยับเยินล้มเหลว และ 2) จริงหรือที่เส้นแบ่งปีใหม่ซึ่งทำให้เราได้ตั้งปณิธานปีต่อปี มันทำให้เราได้หยุดพักหายใจหายคอ — ชีวิตมีข้างทางที่งดงามให้แวะชม?

การจะตอบคำถามทั้งสองนี้ได้ เราจำเป็นต้องเริ่มจากการย้อนกลับไปหาประวัติศาสตร์ของการตั้งปณิธาน

2. จิตนิยมประวัติศาสตร์

การตั้งปณิธานในวันปีใหม่ดูเหมือนจะมีอายุอานามนานโขพอสมควร[6] เราสามารถสืบย้อนไปได้ถึงช่วง 4,000 ปีก่อน กล่าวคือ ในสมัยบาบิโลน ทุกวันขึ้นปีใหม่ (เดือนมีนาคม) ชาวบาบิโลนจะ “สัญญา” กับเทพเจ้าว่าจะคืนข้าวของและจ่ายหนี้สินที่ตัวเองยืมมาทั้งหมดให้แก่เจ้าของ พวกเขาเชื่อว่าถ้าหากปฏิบัติตามสัญญาที่ให้กับทวยเทพได้ ทวยเทพก็จะเมตตาประทานพรให้แก่พวกเขา แต่ถ้าหากคนนั้นทำไม่ได้เทพก็จะเบือนหน้าหนี

ในสมัยอาณาจักรโรมัน Julius Caesar ได้เปลี่ยนวันปีใหม่มาเป็นวันที่ 1 มกราคม ชาวโรมันจะกระทำสัญญาต่อหน้าเทพที่ชื่อว่า Janus (ที่มาของชื่อเดือน January) ซึ่งเป็นเทพที่มีสองหน้า ใบหน้าทั้งสองหมายถึงการเริ่มต้นและการสิ้นสุด หรือหมายถึงการทำหน้าที่มองไปข้างหน้าและมองย้อนกลับมาข้างหลัง

ในยุคกลาง ปกครองกันด้วยระบบศักดินา ในช่วงสิ้นสุดคริสต์มาส เหล่าอัศวิน ซึ่งเป็นขุมกำลังพลให้กับลอร์ด (Lord) ก็จะถือเอา “คำสัญญาของนกยูง” (peacock vow) ไว้มั่น อันเป็นการยืนยันต่อเกียรติภูมิและกฎแห่งอัศวิน และรวมไปถึงการที่เหล่าอัศวินจะได้คิดทบทวนถึงข้อผิดพลาดในอดีตเพื่อจะได้แก้ไขพัฒนาตันเองในปีใหม่ นอกจากเหล่าอัศวินแล้ว บรรดาคริสตชนที่มีศรัทธาแรงกล้าก็จะมารวมตัวกันที่โบสถ์ในคืนวันปีใหม่ เพื่อสวดมนต์และตั้งปณิธานต้อนรับปีใหม่ที่จะมาถึง ทำนองเดียวกันกับพุทธศาสนิกชนไทยผู้มีศรัทธาอันแรงกล้าในปัจจุบัน ที่ทนหนาวนั่งหลังขดหลังแข็งตากน้ำหมอกกลางลานวัดช่วงเที่ยงคืนของวันที่ 31 ธันวาคม เพื่อสวดมนต์ข้ามคืนไปถึงวันที่ 1 มกราคม เรียกกันว่า “สวนมนต์ข้ามปี”

ยุคสมัยใหม่ ในช่วงศตวรรษที่ 19 Isidor Thorner นักสังคมวิทยามีความเห็นว่า การตั้งปณิธานในวันปีใหม่ยังคงมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับมิติทางศาสนาอยู่ เขาชี้ว่า “การควบคุมอารมณ์” ถือเป็นค่านิยมหลักของศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ ดังนั้น ผู้ที่รู้จักจัดการชีวิตอย่างเป็นระบบหรืออีกนัยหนึ่งคือผู้ที่มีเป้าหมายในชีวิต รู้จักกำจัดหลีกเลี่ยงสิ่งที่ไร้สาระทั้งหลายออกไปจากชีวิต ย่อมถือว่าเป็นคริสต์ชนที่ดี ซึ่งสอดคล้องกับชุดปณิธานปีใหม่ที่มักเกี่ยวกับการที่เราสามารถ “จัดการชีวิตตัวเอง” ได้ หลักฐานเชิงประจักษ์อย่างหนึ่งที่ Thorner ใช้ยืนยันประเด็นดังกล่าวคือ การที่เขาได้ทำการสำรวจประเทศที่มีความเห็นว่าคำสัญญาปีใหม่เป็นประเพณี เช่น ออสเตรเลีย อังกฤษ สกอตแลนด์ ไอร์แลนด์ ไปจนถึงแอฟริกาใต้ ล้วนแล้วแต่เป็นประเทศที่ได้รับอิทธิพลแบบโปรเตสแตนต์ทั้งนั้น

Thorner ได้สรุปธีมหรือสาระสำคัญจากปณิธานปีใหม่ของผู้คนในยุคสมัยใหม่ว่าสามารถแบ่งออกได้สามประเด็นหลัก ๆ คือ “1) เป็นคนที่ดีขึ้น — คนดีในที่นี้คือการรู้จัดควบคุมความรู้สึกของตัวเอง เมื่อควบคุมอารมณ์ได้ดีแล้ว ชีวิตก็ย่อมดีขึ้น 2) ดูแลสุขภาพ เช่น เลิกบุหรี่ ลดน้ำหนัก งดดื่ม และ 3) ว่าด้วยชีวิตความเป็นอยู่ เช่น เก็บเงิน ใช้เวลากับครอบครัวให้มากขึ้น”[7]

3. วัตถุนิยมประวัติศาสตร์

จะเห็นว่า การตั้งปณิธานในวันปีใหม่มีลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจนเมื่อเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ แม้ว่า Thorner จะพยายามเชื่อมโยงการตั้งปณิธานของคนยุคปัจจุบันว่าธีมหรือสาระสำคัญของปณิธานได้รับอิทธิพลมาจากค่านิยมของศาสนาก็ตาม แต่นั้นก็ต่างกับในอดีต แง่ที่คนสมัยก่อนทำสัญญาหรือตั้งปณิธานโดยมีทวยเทพ ศาสนา หรือสิ่งที่เหนือกว่าตน เข้ามารับรู้เกี่ยวข้องสัมพันธ์อย่างแยกไม่ออก ซึ่งต่างกับยุคสมัยใหม่ที่มันได้กลายมาเป็นเรื่อง “ส่วนตัว” มากกว่าจะให้คนอื่นรับรู้หรือเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งนี้หมายรวมถึงสาระสำคัญในปณิธานที่กลายมาเป็นเรื่องของ “การจัดการชีวิตส่วนตัว” มากขึ้นด้วย

แน่นอน Thorner อาจจะพูดถูกก็ได้ว่า ธีมของการตั้งปณิธานได้รับอิทธิพลมาจากค่านิยมของศาสนา แต่สิ่งที่ต้องตระหนักด้วยเช่นกันก็คือ การตั้งปณิธานในยุคสมัยใหม่มันไม่ได้ทำต่อหน้าพระเจ้า ไม่ได้ทำในโบสถ์หรือต่อหน้าสิ่งที่สูงส่งเหนือกว่าตน — มันไม่ได้ผูกติดกับทวยเทพหรือศาสนาอย่างตรงไปตรงมาเหมือนในอดีต แต่มันถูกทำในสมองของมนุษย์คนหนึ่ง แล้วอาจระบายมันออกมาผ่านการจดลงสมุดบันทึกส่วนตัวหรือโพสต์ลงเฟสบุ๊ค (แน่นอนการโพสต์ลงเฟสบุ๊คทำให้ “ผู้อื่น” รับรู้ แต่ “ผู้อื่น” ก็ไม่ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อการปฏิบัติตามปณิธานของเรา) หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ มันกลายเป็นเรื่องที่ตัวผู้ตั้งปณิธานจะบังคับตัวเองมากกว่าจะให้ “ผู้อื่น” ซึ่งเหนือกว่าตนมาบังคับหรือเกี่ยวข้อง ในแง่หนึ่ง อาจเป็นผลพวงมาจากพัฒนาการของวิถีการผลิต เมื่อความสัมพันธ์ทางสังคมของการผลิตเปลี่ยนแปลงไปหลังเข้าสู่ยุคทุนนิยม กล่าวคือ ในยุคสมัยใหม่ผู้คนในสังคมต่างก็มีความสัมพันธ์กันในแบบ “เสรีชน” หรือ “ปัจเจกชน” ที่มี “สำนึกแห่งปัจเจกชนนิยม” ถือเรื่อง “ความเป็นส่วนตัว” ว่าเป็นของสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด

นอกจากทุนนิยมจะส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงของ “ซับเจค” ในการตั้งและปฏิบัติตามปณิธานแล้ว มันยังมีผลต่อธีมหรือสาระสำคัญในปณิธานด้วย กล่าวคือ ในสมัยโบราณ ซึ่งเป็นยุคทาส — ศักดินามีลักษณะความสัมพันธ์ทางสังคมของการผลิตแบบ “ทาส” (ส่วนมากคือชาวนา เกษตรกร) กับ “นายทาส” (กษัตริย์ ขุนนาง ศาสนจักร) โดยผูกโยงกันในแบบ “อเสรีชน” ผู้คนต่างก็มี “ตำแหน่งแห่งที่ทางสังคม” ของตนเองอย่างชัดเจนและแน่นอน เช่น ถ้าคุณเป็นทาส ไพร่ ก็หมายความว่า คุณเป็นกรรมสิทธิ์เด็ดขาดของนายทาส — เจ้าศักดินา ซึ่งเป็นผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิต (หมายถึงชีวิตของทาส ไพร่ ด้วย) หน้าที่ของคุณคือทำตามสิ่งที่นายสั่งหรือทำตามหน้าที่/การงานในตำแหน่งแห่งที่ทางสังคมของตนตราบเท่าที่คุณยังคงดำรงสถานภาพทางสังคมนั้นอยู่ — จนวันคุณตาย คุณมีชีวิตอยู่ได้วันหนึ่งๆ ก็โดยที่คุณทำงานให้นาย แล้วนายก็จะให้อาหาร ให้ที่พักอาศัยแก่คุณ ในแง่นี้ คุณจึงไม่มีเวลาและสิทธิ์ที่จะไปทะเยอทะยานอยากเป็นลอร์ด หรือไม่มีเวลาและสิทธิ์ที่จะไปสะสมความมั่งคั่งได้อย่าง “เสรีชน” พูดง่ายๆ คือ ในยุคดังกล่าวมันไม่อนุญาตให้คุณเลื่อนสถานภาพทางสังคมได้เลย ไม่แม้แต่จะให้คุณคิดด้วยซ้ำ — ชีวิตที่ปราศจากอนาคต เพราะคุณตกอยู่ภายใต้สิทธิ์เด็ดขาดของนายตราบจนตลอดชีวิตนั่นเอง นอกเสียจาก “บุญอุ้มสม” เกิดปาฏิหาริย์เหมือนดั่งในนิยายรักโรแมนติกเท่านั้น ดังนั้นปณิธานในสมัยนี้จึงมีธีมหรือสาระสำคัญที่ไม่เลยพ้นไปจาก “หน้าที่” และ/หรือ “การงาน” ของซับเจค เช่น ก็เป็นหน้าที่ของคุณที่จะต้องส่งคืนสิ่งของที่หยิบยืมมาจากคนอื่น เป็นหน้าที่ของอัศวินที่จะต้องรักษาไว้ซึ่งเกียรติภูมิแห่งอัศวิน เป็นต้น ตัวอย่างอีกแบบหนึ่งก็คือ ไม่มีทาสคนไหนตั้งปณิธานว่า “ปีนี้ฉันจะซื้อบ้าน มีรถ หรือออกกำลังกาย” ซึ่งต่างกับยุคทุนนิยมที่ “ทาสในระบบค่าจ้าง — กรรมาชีพ)” (wage Slaves — proletarait) สามารถตั้งปณิธานแบบดังกล่าวได้

ในยุคทุนนิยม เนื่องจากความสัมพันธ์ทางสังคมของการผลิตได้เปลี่ยนจากแบบ “ทาส” กับ “นายทาส” มาสู่ “ลูกจ้าง” กับ “นายทุน” โดยความสัมพันธ์ฯ จะผูกโยงกันผ่านสถานภาพที่แต่ละคนเป็น “เสรีชน” หรือ “ปัจเจกชน” ที่ “เสรี” และมีความรับผิดชอบส่วนตัว ที่ต้องดิ้นรนแข่งขันกันเองในแบบ “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” ซึ่งปลดปล่อยหรืออนุญาตให้ซับเจคแต่ละคนสามารถ “ฝัน” ถึงชีวิตในอนาคตได้อย่างเต็มที่ตามที่ต้องการ ผ่าน “แฟนตาชี” (Fantasy) ที่สำคัญว่า “เราทุกคนสามารถเป็นผู้ชนะได้ เราจะได้มันทุกอย่างเหมือนกับพวก 1 เปอร์เซ็นต์” อีกนัยหนึ่ง ทุนนิยมสัญญาว่า “เราทุกคนสามารถแสวงหาความบันเทิงรื่นเริงใจได้อย่างเต็มที่ (enjoyment) กับวัตถุประเสริฐ (sublime object หรือ object a) ที่จะมาเติมเต็มความขาดพร่องของเรา” เช่น คุณเป็นชาวนาหรือกรรมกรในโรงงาน คุณก็สามารถฝันหวานได้ว่า “สักวันหนึ่งกูจะต้องรวย เป็นเจ้าคนนายคนให้ได้” หรืออีกนัยหนึ่ง ทุนนิยมมันอนุญาตให้คุณสามารถเปลี่ยนสถานภาพทางสังคมจากกรรมกรมาเป็นนายทุนได้ หรืออย่างน้อยที่สุดก็สามารถเปลี่ยนมาเป็นชนชั้นกลางได้ — ชีวิตที่มีอนาคต เพียงแค่คุณขยัน — ทำงาน ซึ่งหมายความว่า เราทุกคนสามารถเอ็นจอยได้อย่างเต็มที่ในแบบที่พวกคนรวย/ชนชั้นกลางเขาเอ็นจอยกัน — เราทุกคนไม่ว่าจะเป็นใครก็สามารถตั้งปณิธานได้ว่า ปีนี้…[8]

จะใช้จ่ายให้น้อยลง ประหยัดอดออม วางแผนทางการเงิน/มีเงินเก็บในบัญชีให้ได้มากขึ้น…

จะซื้อรถ/ซื้อบ้าน…

จะลดน้ำหนัก ออกกำลังกาย รวมไปถึงการจัดระเบียบการกินของตนเอง เพื่อให้สุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคภัยเบียดเบียน…

จะจัดสรรเวลาให้กับตนเองได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้เดินทาง ผักผ่อน ได้ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ รวมไปถึงจัดสรรเวลาให้กับครอบครัวมากขึ้น เพราะรู้สึกว่าปีที่ผ่านมาได้ละเลยเรื่องเหล่านี้ไปมาก…

จะจัดการให้ชีวิตเป็นระบบระเบียบมีแบบแผนมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาชีวิตยุ่งเหยิงไร้ระเบียบเสียเหลือเกิน ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน…

จะจำกัดช่วงเวลาเล่นโซเชียลมีเดียให้เหลือน้อยลง เพราะรู้สึกว่า ให้เวลากับมันมากจนเกินไป…

จะอ่านหนังสือให้มากกว่าปีที่แล้ว เพราะรู้สึกว่าดองหนังสือมากเกินไป…

อยากจะตกหลุมรักใครสักคนและสมหวังในความรัก…

อยากจะเปลี่ยนงานใหม่ เพราะงานที่ทำอยู่มีแต่ความซ้ำซากจำเจ ไม่มีอะไรดีขึ้น…

ฯลฯ… กันได้ทั้งนั้น

เราอาจเรียกความปรารถนาในปณิธานต่างๆ ดังกล่าวมาโดยรวมๆ ได้ว่า “ความสำเร็จในชีวิต” — สังคมทุนนิยมจึงถูก Byung-chul Han เรียกโดยภาพรวมอีกชื่อหนึ่งว่า “สังคมแห่งการประสบความสำเร็จ” อันเป็นสังคมที่อุดมไปด้วยกลิ่นหอมหวนของความใฝ่ฝันอยากจะประสบความสำเร็จ กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว ธีมหรือสาระสำคัญของปณิธานวันปีใหม่ในยุคทุนนิยมก็คือความต้องการเอ็นจอยกับ “วัตถุประเสริฐ” อันเป็นเครื่องหมายหรือมาตรวัดของความสำเร็จในชีวิตนั่นเอง

กล่าวโดยสรุปแล้ว สาระสำคัญของปณิธานวันปีใหม่ในยุคทาส — ศักดินาจึงมีลักษณะที่ผูกติดแนบแน่นอยู่กับ “หน้าที่” และ/หรือ “การงาน” ในตำแหน่งแห่งที่ทางสังคมของผู้ตั้งปณิธานอย่างแยกไม่ออก ปณิธานวันปีใหม่ในยุคดังกล่าวจึงไม่ใช่ “เป้าหมาย” หรือ “หมุดหมาย” ที่หมายถึง “ความสำเร็จในชีวิต” หรือเป็นเรื่องของ “อนาคต” อย่างที่เราเข้าใจกันในแบบปัจจุบัน หากทว่ามันคือ “ส่วนหนึ่ง” ของหน้าที่/การงานในตำแหน่งแห่งที่ของผู้ตั้งปณิธาน อีกนัยหนึ่งก็คือ แม้ว่าคุณจะไม่ได้ตั้งปณิธานเลยก็ตาม แต่โดยหน้าที่/การงานในตำแหน่งแห่งที่ทางสังคมของคุณ คุณก็ต้องทำมันจนสำเร็จหรือเกิดขึ้นได้จริงอยู่ดี—คุณก็จะต้องส่งคืนสิ่งของที่ยืมมา ซื่อสัตย์ต่อเกียรติภูมิของการเป็นอัศวินหรือซื่อสัตย์ต่อหน้าที่/การงานในตำแหน่งแห่งที่ทางสังคมของตนอยู่ดี—ไม่มีทาสคนไหนตั้งปณิธานว่าปีนี้จะต้องซื้อบ้านให้ได้ ไม่มีอัศวินคนไหนตั้งปณิธานว่าปีนี้จะต้องเป็นลอร์ดให้ได้

ถ้ายุคสมัยมันอนุญาตให้พวกเขาทำได้ ปณิธานของพวกเขาก็คงจะล้มเหลวยับเยินไม่ต่างกับปณิธานของคนยุคปัจจุบัน ทั้งนี้ก็เนื่องด้วยตำแหน่งแห่งที่ทางสังคมของซับเจคแต่ละคนมันถูกกำหนดไว้ชัดเจนและแน่นอนอยู่แล้วนั่นเอง—ยุคดังกล่าวไม่อนุญาตให้ซับเจคฝันถึงความก้าวหน้าในชีวิตอนาคต ดังนั้นปณิธานในยุคโบราณจึงมีลักษณะที่ถูกตั้งขึ้นโดยไม่เกินเลยไปจากตำแหน่งแห่งที่ของผู้ตั้งปณิธาน หรือ ปณิธานย่อมผูกติดไปกับหน้าที่/การงานของผู้ตั้งปณิธาน เมื่อผู้ตั้งปณิธานเริ่มลงมือปฏิบัติหน้าที่/การงานตามตำแหน่งแห่งที่ทางสังคมของตน ก็หมายความว่าผู้ตั้งปณิธานได้ปฏิบัติตามปณิธานที่ตั้งไว้แล้ว ซึ่งแตกต่างกับปณิธานวันปีใหม่ในยุคทุนนิยม แง่ที่ปณิธานได้กลายเป็น “วัตถุประเสริฐ” หรือ “เป้าหมาย” ซึ่งเป็น “ปลายทาง” ที่ต้องอาศัยการ “ทำงาน” ให้แล้วเสร็จก่อนเท่านั้นถึงจะสามารถเดินทางไปถึงได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ คุณต้องทำงานให้แล้วเสร็จก่อนเท่านั้น ถึงจะสามารถปฏิบัติตามปณิธานที่ตั้งไว้ได้ — จึงจะสามารถประสบความสำเร็จในชีวิตได้ ในแง่นี้ ปณิธานวันปีใหม่ของมนุษย์สมัยทุนนิยมจึงแปลกแยกออกจากหน้าที่/การงานของตำแหน่งแห่งที่ทางสังคมของซับเจค —เมื่อผู้ตั้งปณิธานทำหน้าที่/การงานของตนแล้วเสร็จก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ตั้งปณิธานจะสามารถปฏิบัติตามปณิธานที่ตนเองตั้งไว้ได้สำเร็จหรือได้ปฏิบัติตามปณิธานของตนแล้ว หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ต่อเมื่อผู้ตั้งปณิธานทำหน้าที่/การงานของตนเสร็จแล้วเท่านั้น จึงจะสามารถเริ่มลงมือปฏิบัติตามปณิธานที่ตนเองตั้งไว้ได้

จึงกล่าวได้ว่าไม่ใช่เพราะมนุษย์อ่อนแอเหลวไหลจึงเลือกเอาสิ่งที่สูงส่งเหนือกว่าตนมาเป็นสรณะ เพื่อบังคับตนให้สามารถทำตามปณิธานที่สัญญาไว้ได้ ซึ่งเป็นคำอธิบายที่มักง่ายเกินไปเมื่อยกมาอธิบายมนุษย์ในยุคโบราณที่สามารถปฏิบัติตามปณิธานที่ตนเองตั้งไว้ได้ ในทางกลับกันการที่ปณิธานของมนุษย์สมัยทุนนิยมยับเยินก็ไม่ได้เป็นเพราะพวกเขาปลีกตัวหนีห่างออกจากสิ่งที่สูงส่งเหนือกว่าตน โดยการสถาปนาตนเป็นคู่สัญญาบังคับตนเองแทนเทพเจ้า ตลอดจนไม่ได้หมายความว่า ซับเจคในยุคทุนนิยมตั้งปณิธานเกินเลยขอบเขตความสามารถในตำแหน่งแห่งที่ของตนจนทำให้ปณิธานล้มเหลวลงไม่เป็นท่า—ไม่ใช่เพราะเราเลือกก้อนหินที่ใหญ่เกินไป แต่การที่มนุษย์จะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวในการปฏิบัติตามปณิธานที่ตนตั้งเอาไว้นั้น เป็นเพราะ “ยุคสมัย” ต่างหากที่เข้ามามีผลต่อ “ซับเจค” และ “ธีมหรือสาระสำคัญ” ของปณิธาน อันส่งผลต่อความยากง่ายหรือเอื้ออำนวยให้ผู้ตั้งปณิธานสามารถทำตามปณิธานได้สำเร็จ

4. วัตถุประเสริฐ

กล่าวเฉพาะยุคสมัยใหม่ เป็นเพราะ “ยุคสมัยแห่งทุน” ต่างหากที่ทำให้มนุษย์ล้มเหลวในการปฏิบัติตามปณิธาน พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ทุนนิยมมันไม่อนุญาตให้เราเป็นผู้ชนะ — มันอนุญาตให้ผู้ชนะคือคนเพียงหยิบมือเดียว (พวก 1 เปอร์เซ็นต์) เท่านั้น ซึ่งสิ่งนี้คือความพิกลพิการที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิดของทุนนิยม กล่าวคือ ธีมหรือสาระสำคัญของปณิธานวันปีใหม่ในยุคทุนนิยมก็คือความต้องการ “วัตถุประเสริฐ” อันเป็นเครื่องหมายหรือมาตรวัดของความสำเร็จในชีวิต แต่เนื่องจาก “วัตถุประเสริฐ” คือวัตถุที่เป็นไปไม่ได้ ในแง่ที่มันไม่ปรากฏหรือไม่เคยดำรงอยู่มาก่อน เราไม่อาจจะครอบครองมันได้ และไม่มีวันจะได้มันมาจริง ๆ มันว่างเปล่า—เราต่างก็วิ่งไล่ตามความว่างเปล่า มากกว่าที่จะวิ่งไล่ตามบางสิ่งบางอย่าง พูดอีกอย่างก็คือ สิ่งที่เราตั้งปณิธานในวันปีใหม่นั้น มันไม่มีอยู่จริง มันจึงเป็นไปไม่ได้ตั้งแต่ต้นที่เราจะทำตามปณิธานได้สำเร็จ (ประเด็นนี้ได้เน้นย้ำถึงความต่างระหว่างธีมหรือสาระสำคัญของปณิธานวันปีใหม่ระหว่างยุคโบราณกับยุคสมัยใหม่ให้มีความชัดเจนมากขึ้น กล่าวคือ ในขณะที่สมัยโบราณ วัตถุที่สร้างความปรารถนาในปณิธานมันมีอยู่จริง แต่ในสมัยใหม่มันไม่มีอยู่จริงตั้งแต่ต้น) กล่าวอย่างถึงที่สุดก็คือ ในทางอุดมการณ์ทุนนิยมอนุญาตให้เรา “ประสบความสำเร็จในชีวิต” ได้ แต่ในความเป็นจริงมันไม่มี “ความสำเร็จในชีวิต” สำหรับเราตั้งแต่ต้น

การตั้งปณิธานในวันปีใหม่ก็เป็นเพียงแค่คำสัญญาล่อลวงว่าจะให้ “วัตถุประเสริฐ” ของระบบทุนนิยม หากคุณพยายามมากพอ อีกนัยหนึ่งก็คือ ทุนนิยมหลอกล่อเราให้ “ทำงานมากขึ้น” เพื่อจะได้วัตถุประเสริฐ คือ “ประสบความสำเร็จในชีวิต” โดยทุนนิยมกระทำผ่านแฟนตาซีที่ว่า “เราทุกคนสามารถเป็นผู้ชนะได้ เราจะได้มันทุกอย่าง” เพียงแค่เราขยันทำงาน — การทำตามปณิธานวันปีใหม่ของมนุษย์ยุคทุนนิยมจึงล้วนแล้วแต่ต้องอาศัยการทำงานให้หนักขึ้น นอกจากนั้น การทำตามปณิธานยังต้องไม่ใช่กระทำในเวลาที่เราทำงาน ประเด็นนี้คือสิ่งที่ยืนยันว่า ปณิธานในสมัยทุนนิยมแยกตัวออกเป็นเอกเทศจากช่วงเวลาของการทำงาน แต่ต้องอาศัยการทำงานเท่านั้นถึงจะสามารถทำตามปณิธานที่ตั้งไว้ได้ เช่น…

การที่เราจะออกกำลังกาย เราต้องเลิกงานเสียก่อน แต่อนิจจา ทำงานก็เหนื่อยมากแล้ว ขอกลับบ้านไปนอนดีกว่า…

การจะรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพก็ต้องอยู่นอกเวลางานเช่นกัน แต่ตอนนี้กำลังยุ่งอยู่กับงาน ขอทานอาหารฟาสต์ฟู้ดก่อนแล้วกัน…

ปีนี้กะว่าจะใช้จ่ายอย่างประหยัดสักหน่อย จดหมายทวงหนี้จากธนาคาร ทวงงวดรถ ค่าเช่าห้อง/บ้าน ค่าจิปาถะ ฯลฯ เงินเดือนก็ยิ่งน้อยนิด เรื่องวางแผนการเงินขอวางไว้ก่อนค่อยว่ากันนะ…

ปีนี้ว่าจะซื้อรถ ผ่อนบ้าน แต่เงินยังไม่พอ หางานทำเพิ่มดีกว่า…

ไม่มีเวลาให้ใครเลย เพราะงานกองเท่าภูเขา ขอทำงานก่อนแล้วกัน เรื่องความรัก เรื่องครอบครัว เรื่องเที่ยว เรื่องพักผ่อน เรื่องจัดการกับตารางชีวิตให้เป็นระบบระเบียบ อ่านหนังสือ หาความรู้ใหม่ ๆ เอาไว้ทีหลังดีกว่า…

การจะลดช่วงเวลาที่อยู่กับสื่อโซเชียลมีเดีย ยิ่งยากเข้าไปใหญ่ เพราะลักษณะของทุนนิยมในปัจจุบันอย่างหนึ่งคือมันทำกำไรจากการสื่อสารและความสัมพันธ์ทางสังคมของเราในโลกดิจิทัล นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมลูกตาของเราจึงต้องการจะแปะติดอยู่กับมือถือตลอดเวลา — เวลาไหนที่เราไม่ได้อยู่กับโซเชียล เหมือนกับว่าชีวิตจะม้วยมรณา มันหงุดหงิดไปหมด เมื่อเป็นเช่นนี้ การที่เราจะจำกัดเวลาของการอยู่กับสื่อโซเซียลลงได้ ก็หมายความว่า เราไม่ทำงานแล้วเท่านั้น…

อยากจะเปลี่ยนงานใหม่ เพราะงานที่ทำอยู่มันมีแต่ความซ้ำซากจำเจ ไม่มีอะไรดีขึ้นเลย… งั้นก็ลาออกเลย แต่ก็รีบหางานใหม่ซะล่ะ ไม่งั้นมีหวังอดตาย อนิจจา! งานในระบบทุนนิยมมันห่วยแตกทุกงานและหายากชิบหาย… เป็นต้น 

5. ปณิธานวันปีใหม่ คือ ความปรารถนาที่จะทำงานหนักขึ้นในปีถัดไป

จากตัวอย่างที่กล่าวมาบ่งบอกว่า สิ่งที่ทำให้ปณิธานวันปีใหม่ของเรายับเยินล้มเหลวล้วนแต่เกี่ยวข้องกับระบบทุนนิยมทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อมก็ตาม ฉะนั้น การกล่าวโทษหรือโยนความรับผิดชอบไปที่ปัจเจกบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการให้เหตุผลว่าเพราะมนุษย์อ่อนแอเหลวไหลเหลาะแหละหรือเพราะมนุษย์ตั้งเป้าหมายไว้สูงเกินความสามารถของตนเอง มากกว่าจะกล่าวโทษระบบหรือโครงสร้างสังคม จึงเป็นการบอกปัดหรือปฏิเสธการเมืองเพื่อการปลดปล่อย เป็นการกำจัดความเป็นการเมือง (depoliticize) และบริบททางประวัติศาสตร์ (de-historicize) ไปจากสภาพที่เป็นอยู่ เป็นการปลดความรับผิดชอบออกไป (de-responsibilize) จากระบบทุนนิยม แล้วลดทอนให้เหลือเพียงความผิดของปัจเจกชน — ปณิธานที่ล้มเหลวเพราะตัวคุณไม่พยายามมากพอ สิ่งที่ตามมาคือ ปัญหาเรื่องสุขภาพจิต ดังที่จิตแพทย์ชาวอเมริกัน ชื่อ Wendy Oliver-Pyatt กล่าวว่า “การตั้งปณิธาน[วันปีใหม่]อาจสร้างแรงกดดันให้คุณโดยไม่จำเป็นและ[ทำให้คุณ]ยึดมั่นในสิ่งนั้นและการไม่รักษาปณิธานเหล่านั้นอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของคุณ [เช่น] นำไปสู่ความรู้สึกผิด ความผิดหวัง และภาวะซึมเศร้า”[9] มากไปกว่านั้น คุณอาจจะกลายเป็นหนึ่งในซับเจคที่เสียชีวิต ซึ่งปรากฎในข้อมูลของ WTO ที่ออกมาเปิดเผยในปี 2016 ว่าประชากรมากกว่า 745,000 ทั่วโลกเสียชีวิตเพราะ “ทำงานหนัก” เกินไป[10]

อย่างไรก็ตามเมื่อเราล้มเหลว แฟนตาซีของทุนนิยมก็จะกลับมาเทศนาสอนธรรมะแก่เราว่า “ไม่เป็นไร ปีหน้ายังมีโอกาส คุณยังสามารถเป็นผู้ชนะได้ คุณยังจะได้ทุกอย่าง ขอเพียงแค่คุณเอาชนะตัวเองให้ได้ — ปีที่แล้วคุณอาจจะยังพยายามไม่มากพอ ปีนี้ก็พยายามให้มากขึ้นหลายเท่าตัวแล้วกัน” พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ แฟนตาซีของทุนนิยมกำลังเร้าอารมณ์เราว่า ความสำเร็จในชีวิตนั้น คือความเข้มแข็งทั้งกายและใจ ความพยายามอย่างหนัก ความทรหดอดทน กล้าเสี่ยง โฟกัสไปยังเป้าหมายของตัวเองให้มาก อย่าไปกลัวความล้มเหลว ผิดเป็นครู ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ล้มแล้วให้รีบลุกขึ้นมาเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ ปฏิวัติตนเองซะ — “ปีใหม่ คุณคนใหม่”

ด้วยเหตุนี้เส้นแบ่งปีใหม่อันเป็นช่วงเวลาเริ่มต้นในการตั้งปณิธานปีต่อปี จึงไม่ได้เป็นแรงขับหนึ่งที่ทำให้มนุษย์มีเหตุผลเพียงพอที่จะใช้ชีวิตอยู่ต่อ หรืออีกนัยหนึ่ง เส้นแบ่งปีใหม่ไม่ได้ทำให้เราได้หยุดหายใจหายคออย่างที่มีคนกล่าวอ้าง ในทางตรงข้าม การที่เราตั้งปณิธานก็เพื่อจะได้ทำงาน(หนัก)ต่อไปต่างหาก — เราตั้งปณิธานวันปีใหม่ก็เพื่อที่เราจะได้เกลียดวันจันทร์ต่อไป ดังนั้น วลีที่ว่า “ชีวิตมีข้างทางที่งดงามให้แวะชม มากกว่าจะเข็นก้อนหินขึ้นภูเขา (ทำงาน) เพียงอย่างเดียว” จึงไม่เป็นความจริง อย่างน้อยที่สุดก็ไม่เป็นความจริงสำหรับคนส่วนมากซึ่งเป็นซับเจคที่ไม่มีวันเป็นผู้ชนะในระบบทุนนิยม เพราะเมื่อใดที่คุณแวะชมข้างทาง ก็หมายความว่าคุณเลือกที่จะอดตาย! กล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว เส้นแบ่งปีใหม่ที่เรายกให้เป็นช่วงเวลาแห่งการเริ่มต้นในการตั้งปณิธานนั้น แท้จริงแล้วไม่ได้ทำให้เราได้หยุดพักผ่อนหายใจหายคอ ในทางกลับกัน มันคือช่วงเวลาแห่งการเริ่มต้นที่เราโหยหาต้องการอยากจะทำงาน(หนัก)ต่อไปโดยที่เราไม่รู้ตัวต่างหาก

6. คุณไม่ได้เกลียดวันปีใหม่ คุณเกลียดระบบทุนนิยม

จากประเด็นที่กล่าวมาข้างต้น ผมจึงเห็นด้วยและกล้าจะตะโกนดังๆ แบบ Antonio Gramsci ว่า “กูเกลียดวันปีใหม่” (I Hate New Year’s Day)

Gramsci ได้ให้เหตุผลไว้อย่างเหลมคมว่า เพราะวันดังกล่าวมัน “กลายเป็นการกำหนดวาระอย่างแข็งทื่อ ที่เปลี่ยนชีวิตและจิตวิญญาณของมนุษย์ไปสู่การคิดคำนวณทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำงบดุลให้เหมาะสม มีผลประกอบการอันโดดเด่น และจัดวางงบประมาณสำหรับการจัดการเรื่องใหม่ ๆ” พูดง่าย ๆ ก็คือ มันทำให้เราคิดแต่จะ “ทำงาน ทำงาน ทำงาน” อย่างที่ผมสรุปไว้ก่อนหน้านี้นั่นเอง Gramsci กล่าวต่อไปอีกว่า การคิดคำนวนในลักษณะดังกล่าว “…[มัน]ได้ทำให้เราสูญเสียความต่อเนื่องในชีวิตและจิตวิญญาณไป สุดท้ายแล้วคุณเองก็จะลงเอยไปที่การหมกมุ่นครุ่นคิดว่าจะมีการแตกหักระหว่างช่วงเวลาปีหนึ่งกับช่วงเวลาในอีกปีถัดไป ซึ่งมักทำให้คุณคิดว่าประวัติศาสตร์หน้าใหม่กำลังเริ่มต้นและให้พื้นที่กับคุณเพื่อตั้งปณิธานในสิ่งที่จะทำและเสียใจต่อสิ่งที่ตนไม่ได้ทำทั้งหลายทั้งปวง …เปรียบเสมือนภูเขาที่มนุษยชาติกระโดดข้าม และพบว่าทันใดนั้นตนเองได้มาอยู่บนโลกใบใหม่และชีวิตแบบใหม่แล้ว” จากนั้นเขาก็ได้สรุปว่า “…[มันจึง]เป็นดั่งกำแพง ซึ่งหยุดยั้งเราจากการพบว่าประวัติศาสตร์นั้นดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ภายใต้เส้นกำกับที่ไม่เคยเปลี่ยนและไม่เคยหยุด เช่นเดียวกับในโรงภาพยนตร์ที่เมื่อฟิล์มหมดม้วนก็จะยังคงมีแสงวาววับในระหว่างที่เปลี่ยนฟิล์ม”[11]

จากเหตุผลที่สาธยายมาทั้งหมด ข้อเสนอของ Gramsci คือ “สังคมนิยม” เพราะสังคมนิยมจะโยนแนวคิดเรื่อง “วันสำคัญ/วันที่พิเศษ” ออกไป เขาชี้ว่า “หากจะสร้างวันที่พิเศษขึ้นมาใหม่ อย่างน้อยที่สุดวันเหล่านั้นก็เป็นวันของเราเอง” — เป็นวันที่เรากำหนดขึ้นมาเอง เขากล่าวอย่างโอหังหนักแน่นแต่กลับมีเสน่ห์ว่า ไม่จำเป็นต้องมากำหนดวันพักผ่อนให้เขาหรอก เพราะ “เมื่อใดก็ตามที่[ข้าพเจ้า]รู้สึกมัวเมาไปกับความตึงเครียดของชีวิตและต้องการกระโจนเข้าสู่ความเป็นเดรัจฉานเพื่อดูดซับเอาพลังใหม่ ๆ” เขาจะกำหนดวันดังกล่าวขึ้นมาเอง “ไม่จำเป็นต้องมีการกำหนดช่วงเวลาพิเศษสำหรับจิตวิญญาณ เพราะข้าพเจ้าปรารถนาให้ทุกชั่วโมงในชีวิตของข้าพเจ้าเป็นสิ่งใหม่ที่ยังคงเชื่อมร้อยกับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว…”[12] สิ่งที่ Gramsci ต้องการบอกก็คือสิ่งที่ Karl Marx เคยกล่าวไว้นั่นเองว่า มนุษย์เป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์ของตัวเอง ทว่าการสร้างประวัติศาสตร์ของมนุษย์นั้นไม่อาจตัดขาดออกจากอิทธิพลของอดีตได้

ต่างกับ “ปีใหม่ คุณคนใหม่” เพราะวลีดังกล่าวหมายถึง การปฏิวัติตัวเองผ่านการตัดขาดจากอดีต — ตัวตนในอดีตที่มีความล้มเหลว ดังนั้น การตั้งปณิธานปีใหม่ซึ่งอยู่ภายใต้สโลแกน “ปีใหม่ คุณคนใหม่” จึงเป็นการตั้งต้นใหม่ที่จุดใหม่ ไม่ได้เริ่มต้นใหม่จากจุดเดิม — คุณไม่ได้เริ่มต้นเป็นคนใหม่จากตัวตนที่ล้มเหลว เพราะเมื่อตัวตนนั้นล้มเหลว คุณก็ตัดตัวตนนั้นออกทิ้ง แล้วปฏิวัติตัวเองเป็นคนใหม่ทันที อีกนัยหนึ่งก็คือ เราไม่เรียนรู้อะไรจากความล้มเหลวเลย เพราะเมื่อล้มเหลวเราก็ตัดมันทิ้งโดยทันที ผลสุดท้าย เราจึงล้มเหลวยับเยินแบบปีต่อปีไปเรื่อยๆ 

Gramsci กล่าวไว้อย่างถูกต้องว่า “นี่คือเหตุผลว่า ทำไมข้าพเจ้าจึงเกลียด “วันปีใหม่” ข้าพเจ้าปรารถนาให้ทุกๆ เช้าตรู่ คือ “วันปีใหม่” สำหรับตนเอง ทุกๆ วันข้าพเจ้าต้องการไตร่ตรองกับตนเอง ทั้งยังต้องการเริ่มต้นใหม่กับตนเองอยู่เสมอ”[13] “การไตร่ตรองกับตนเอง” และ “การเริ่มต้นใหม่กับตนเอง” ของ Gramsci ในที่นี้ มิใช่การตัดขาดจากอดีตและกดดันตัวเอง แต่มัน คือ การเรียนรู้จากอดีตและพร้อมที่จะปรับปรุงพัฒนาเริ่มต้นใหม่กับตนเองในทุกวัน ซึ่งเป็นข้อแตกต่างกับการปฏิวัติตัวเองเพื่อเปลี่ยนเป็น “คนใหม่” ในวันปีใหม่ของซับเจคแบบทุนที่รังแต่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต ในทางกลับกัน “การไตร่ตรองกับตนเอง” และ “การเริ่มต้นใหม่กับตนเอง” ในความหมายของ Gramsci กลับเป็นการส่งเสริมสุขภาพจิตเสียด้วยซ้ำ

กล่าวโดยสรุปแล้ว งานของ Gramsci มีคุณูปการต่อบทความชิ้นนี้ ในแง่ที่เขาได้ยืนยันถึงประเด็นที่ผมสรุปไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า วันปีใหม่หรือเส้นแบ่งปีใหม่ไม่ได้ทำให้เราได้หยุดพักหายใจหายคอเลย ในทางตรงกันข้าม มันคือภาพสะท้อนว่าเราจะต้องทำงานให้หนักขึ้นกว่าปีที่แล้ว มากไปกว่านั้น Gramsci ได้ชี้ทางออกเป็นนัยๆ สำหรับการจะทำให้ปณิธานของเราไม่ยับเยินล้มเหลวอีกต่อไปว่ามีเพียง “สังคมนิยม” เท่านั้นที่จะช่วยเราได้ กล่าวคือ สังคมนิยมจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญของปณิธาน เราไม่จำเป็นต้องตั้งปณิธานในวันปีใหม่ เพราะสังคมนิยมจะสลัดวันสำคัญที่เราไม่ได้กำหนดทิ้งไป หากจำเป็นต้องกำหนดมันขึ้นก็เป็นอิสระของเราที่จะกำหนดวันสำคัญขึ้นมาเป็นวันของตัวเราเอง ส่วนปณิธานก็ไม่ใช่สิ่งที่จะมากดดันชีวิตของเราได้อีกต่อไป กล่าวอย่างถึงที่สุดก็คือ สังคมนิยมจะทำให้เราไม่ต้องมาคอยกดดันตัวเองว่า ปีนี้จะประหยัดค่าใช้จ่าย ปีนี้จะซื้อบ้าน วันเวลานี้จะออกกำลังกาย วันเวลานี้จะทำงาน ฯลฯ

พอถึงตรงนี้ Gramsci และผมอาจเริ่มต้นใช้ถ้อยคำตะโกนผิดไป กล่าวคือ ในความเป็นจริงนั้น Gramsci และผมไม่ได้ “เกลียดวันปีใหม่” แต่ “เกลียดทุนนิยม” ต่างหาก — คุณไม่ได้เกลียดวันปีใหม่ คุณเกลียดระบบทุนนิยม

7. เชิงอรรถ

[1] วณัฐย์ พุฒนาค, “New Year’s Resolution มีมาตั้งแต่ตอนไหน และทำอย่างไรปณิธานปีใหม่จึงจะสำเร็จ?,” The Matter, 30 ธันวาคม 2560, https://thematter.co/social/too-weak-to-keep-ny-resolution/42562, (สืบค้นเมื่อ 18 ธันวาคม 2565).

[2] เรื่องเดียวกัน.

[3] วณัฐย์ พุฒนาค, “‘New Year Resolution’ ปณิธานปีใหม่ที่เคยศักดิ์สิทธิ์มาก่อน,” The Matter, 1 มกราคม 2560, https://thematter.co/social/brief-history-of-ny-resolution/15416, (สืบค้นเมื่อ 18 ธันวาคม 2565).

[4] ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย, “New Year’s Resolution ซ้ำแล้วซ้ำเล่า,” the1O1.word, 13 มกราคม 2562, https://www.the101.world/new-years-resolution-gen-why/, (สืบค้นเมื่อ 18 ธันวาคม 2565).

[5] เรื่องเดียวกัน.

[6] ในส่วนนี้ผู้เขียนสรุปสาระสำคัญจาก วณัฐย์ พุฒนาค, “New Year’s Resolution มีมาตั้งแต่ตอนไหน และทำอย่างไรปณิธานปีใหม่จึงจะสำเร็จ?,”; “‘New Year Resolution’ ปณิธานปีใหม่ที่เคยศักดิ์สิทธิ์มาก่อน.”

[7] เรื่องเดียวกัน.

[8] ปณิธานเหล่านี้ ประมวลมาจาก วิเลิศ ภูริวัชร, “Top 10 New Year’s Resolutions 2020 ปณิธานใหม่ ทำใจให้สำเร็จ,” กรุงเทพธุรกิจ, 22 ธันวาคม 2562, https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/859098, (สืบค้นเมื่อ 18 ธันวาคม 2565).

[9] Wendy Oliver-Pyatt, “Why it’s time to drop the ‘new year, new you’ BS—and learn to accept yourself,” Fast company, (29 December 2021), https://www.fastcompany.com/90706566/why-its-time-to-drop-the-new-year-new-you-bs-and-learn-to-accept-yourself, (accessed 18 December 2022).

[10] Bill Chappell, “Overwork Killed More Than 745,000 People In A Year, WHO Study Finds,” npr, (17 May 2021), https://www.npr.org/2021/05/17/997462169/thousands-of-people-are-dying-from-working-long-hours-a-new-who-study-finds, (accessed 18 December 2022).

[11] อันโตนิโอ กรัมชี่, “ข้าพเจ้าเกลียดวันขึ้นปีใหม่,” แปลโดย วัชรพล พุทธรักษา และ อรรถสิทธิ์ สิทธิดำรง, มติชนสุดสัปดาห์, (9-15 มกราคม 2558), เผยแพร่ซ้ำใน “อันโตนิโอ กรัมชี่ : ข้าพเจ้าเกลียดวันขึ้นปีใหม่,” SANOOK, (3 มกราคม 2559), https://www.sanook.com/men/11651/, (สืบค้นเมื่อ 18 ธันวาคม 2565).

[12] เรื่องเดียวกัน.

[13] เรื่องเดียวกัน.

image_pdfimage_print