ขอนแก่น – 8 กุมภาพัน 2566 คณะกรรมการประชาชนคัดค้านโรงน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล (คปน.) 7 จังหวัดภาคอีสาน ออกแถลงการณ์ยกเลิกโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้า ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจังหวัดขอนแก่น

จากกรณีการดำเนินโครงการโรงงานน้ำตาลขนาด 20,000 ตันต่อวัน และโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 32 เมกกะวัตต์ ของบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด บนพื้นที่กว่า 1,000 ไร่ ในพื้นที่ อ.เกษตรสมบูรณ์ และ อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ แม้จะมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 18-20 มกราคม 2565 และครั้งที่ 2 ในรูปแบบออนไลน์ 16-18 มิถุนายน 2565 เพื่อจัดทำรายงานประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (Environment Impact Assessment: EIA) และ รายงานประเมินผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (Environmental and Health Impact Assessment: EHIA) ของทางบริษัท เพื่อเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ทว่าประชาชนในพื้นที่กว่า 90% กลับไม่มีส่วนร่วมต่อกระบวนการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว

ต่อมาประชาชนในพื้นที่ได้รวมตัวกันในนาม “กลุ่มคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล เกษตรสมบูรณ์-หนองบัวแดง” เพื่อคัดค้านการสร้างโรงงาน เหตุจากพื้นที่ในการก่อสร้างเหล่านี้อยู่ห่างจากเขตชุมชนไม่ถึง 1 เมตร ก่อนสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะอนุมัติรายงานทั้งสอง เพื่อดำเนินโครงการโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าต่อไป

โดยประเด็นเรียกร้องในแถลงการณ์ประกอบด้วย 3 ข้อเรียกร้องได้แก่ 

  1. ยกเลิกการอนุมัติรายงาน EIA  และ EHIA ของบริษัท น้ำตาลมิตรผล  จำกัด  ในพื้นที่ อ.เกษตรสมบูรณ์  จ.ชัยภูมิ
  2. ให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) แต่ละจังหวัด เพื่อหาทางเลือกในการพัฒนาชุมชนที่เหมาะสมกับพื้นที่และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
  3. ยกเลิกโครงการโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ภาคอีสาน

“โครงการดังกล่าวสืบเนื่องมาจากโครงการสานพลังประชารัฐ เมื่อปี 2558 ซึ่งมีเป้าหมายการจัดตั้งโรงงานใน 7 จังหวัดนำร่องภาคอีสานที่เป็นเป้าหมายในการดำเนินโครงการ ได้แก่ ชัยภูมิ ขอนแก่น อุดรธานี ยโสธร อำนาจเจริญ บุรีรัมย์ และศรีสะเกษ โดยโรงงานทั้งหมดนี้พ่วงมากับโรงไฟฟ้าชีวมวล หากโครงการนำร่องสำเร็จก็จะจัดตั้งโรงงานทั้ง 28 แห่งในกลุ่มจังหวัดดังกล่าว นั่นหมายความว่าจะมีโรงงานในภาคอีสานกว่า 56 แห่งที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ ทั้งด้านระบบนิเวศ วิถีชีวิต และวัฒนธรรม ที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างมหาศาล” ภาณุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ สมาชิกกรรมการประชาชนคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลภาคอีสาน กล่าว

สิริศักดิ์ สะดวก หนึ่งในคณะกรรมการประชาชนคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลภาคอีสาน (คปน.) กล่าวเพิ่มเติมว่า “แม้รายงาน EIA และ EHIA จะผ่าน สผ. รับรองแล้ว การเรียกร้องของภาคประชาชนต่อการยกเลิกการอนุมัติโครงการที่จังหวัดชัยภูมินั้น ในภาคบริษัทผู้ดำเนินโครงการยังคงต้องดำเนินการเรื่องใบประกอบโรงงาน จากหน่วยงานรัฐเช่น กระทรวงอุตสาหกรรมหรือคณะกรรมการการกำกับกิจการพลังงาน ดังนั้นภาคประชาชนจะต้องการคัดค้านผ่านการยื่นหนังสือไปที่กระทรวงอุตสาหกรรมและคณะกรรมการการกำกับกิจการพลังงาน เพื่อแจ้งให้ทราบว่าพี่น้องประชาชนในพื้นที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในตอนต้น และพี่น้องประชาชนไม่ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารมาก่อน ในส่วนของตัวแทน คปน. ทั้ง 7 จังหวัดก็ต้องหาแนวทางในการขับเคลื่อนประเด็นดังกล่าวร่วมกันต่อไป”

image_pdfimage_print