เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีจัดบุญกุ้มข้าวน้อย พร้อมเสวนานโยบายการจัดการน้ำที่ผ่านมา-ปัจจุบัน ต่อกระบวนการแก้ปัญหาเขื่อนน้ำชี จ.ร้อยเอ็ด จ.ยโสธร

ยโสธร – 15 กุมภาพันธ์ 2566 ณ วัดบ้านบุ่งหวาย ต.สงเปือย อ.คำเขื่อนแก้ว เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีร้อยเอ็ด-ยโสธร จัดงานบุญกุ้มข้าวน้อย เพื่อเป็นการสืบสานประเพณีคติความเชื่อแบบลาวอีสานหลังจากฤดูเกี่ยวข้าว ซึ่งปกติแล้วจะเรียกว่า ‘บุญกุ้มข้าวใหญ่’ เป็นการสะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์หลังจากฤดูเก็บเกี่ยว หากแต่ ‘บุญกุ้มข้าวน้อย’ เป็นการใช้คำที่สะท้อนถึงผลผลิตที่ลดลงอันเนื่องมาจากผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ ทั้งสภาพแวดล้อม และการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐ

โดยภายในงานบุญกุ้มข้าวน้อย มีการจัดวงเสวนา ‘นโยบายการจัดการน้ำที่ผ่านมา-ปัจจุบัน ต่อกระบวนการแก้ปัญหาเขื่อนน้ำชี จ.ร้อยเอ็ด จ.ยโสธร’ พร้อมกับมีการเชิญตัวแทนจากภาคประชาชนและนักวิชาการมาร่วมพูดคุย ได้แก่

  1. นิรันดร์ คำนุ อาจารย์ภาคสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
  2. รศ. ดร. สมชัย ภัทรธนานันท์ ผู้เชี่ยวชาญประจำวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม 
  3. ทศพล บัวผัน หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำปรับปรุงบำรุงรักษาชีล่างและเซบาย 
  4. นิมิต หารพันธ์ ตัวแทนเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชี จ.ยโสธร
  5. จันทรา จันทาทอง ตัวแทนเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชี จ.ร้อยเอ็ด
  6. สิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง
  7. ผศ. จิตราภรณ์ สมยานนทนากุล อาจารย์มหาลัยมหาสารคาม ผู้ดำเนินเสวนา

จันทรา จันทาทอง ตัวแทนเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชี จ.ร้อยเอ็ด ได้ให้ความเห็นจากกรณีการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิในการเยียวยาผลกระทบจากโครงการโขง ชี มูล เดิมมาตลอด 14 ปีว่า

“ขอให้พี่น้องที่มาในวันนี้ตุ้มโฮมกันไว้ การผลักดันขับเคลื่อนเป็นงานที่ต้องใซ้เวลา ซึ่งเราก็ยอมรับตรงๆ ว่ามันนานเกินไปแล้ว ไม่ใช่ว่าเราไม่ยอมรับหรือปฏิเสธสิ่งที่เป็นสมัยใหม่ เรายอมรับในกลไกสมัยรุ่นใหม่ แต่เรายึดอุดมการณ์ หลักการที่เราเชื่อว่า สิทธิของพี่น้อง สิ่งที่พี่น้องพึงมีพึงได้ อย่างที่ดินเรามีโฉนดแท้ๆ รัฐจะปล่อยให้น้ำท่วมที่ดินพวกเรา มาบีบว่าให้ปลูกข้าวนาปรัง แทนนาปี ซึ่งเราทำแบบนั้นไม่ได้หรอกครับ ข้าวมันแข็ง สิ่งที่จะฝากบอกผ่านไปยังภาครัฐก็คือว่า อย่ามาทำพวกเรา เราก็คนเหมือนกัน เมื่อเราไม่ได้รับความเป็นธรรม มันต้องเกิดการลุกขึ้นมาสู้เพื่อสิทธิของตัวเองแบบนี้”

สิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง ได้ให้ความเห็นว่า

“ขอย้อนไปถึงเรื่องเก่าที่ทางนักการเมือง เรื่อง water grid คือโครงข่ายน้ำ ที่โยงกันเหมือนกับสายไฟ มันโยงกันไปทั่ว ซึ่งวิธีคิดในการจัดการน้ำรัฐก็จะคิดแบบนั้น โยงเชื่อมกันไปจนไม่มีที่สิ้นสุด แต่ผมถามว่า มันคุ้มค่าหรือไม่  กับการลงทุนนโยบายขนาดใหญ่เช่นนี้ เพราะแม้พี่น้องเครือข่ายลุ่มแม่น้ำชีจะต่อสู้กันมาย่างเข้าสู่ปีที่ 15 แต่โครงการ โขง ชี มูล นั้นเกิดขึ้นมากว่า 30 ปีแล้ว”

สิริศักดิ์ สะดวก (ซ้ายสุด)

เนื้อหาในการเสวนานั้นพูดถึงความเปลี่ยนแปลงที่ชวนให้คิดถึงเรื่องของระบบนิเวศน์ที่แย่ลงและการบริหารจัดการน้ำของรัฐที่มีปัญหาซึ่งส่งผลกระทบถึงประเพณีและวิถีชีวิตของชุมชน และได้พูดคุยถึงลักษณะการเคลื่อนไหวของชาวบ้านที่แม้จะมาจากกลุ่มเล็กและพื้นที่เล็กๆ แต่ส่งผลไปถึงโครงการภาคใหญ่อย่างโขงเลย ชี มูลได้ 

หลังจากเสวนาจะมีการอ่านคำประกาศร่วมกัน โดยมีเนื้อหาดังกล่าวต้องการหยุดวาทกรรมนักการเมือง รัฐ ที่ผลักดันโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล พร้อมให้มีการเร่งแก้ปัญหาเขื่อนในแม่น้ำชีให้แล้วเสร็จ โดยเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่างมีข้อเสนอต่อรัฐและการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นดังนี้

  1. รัฐต้องเร่งดำเนินการเยียวยาผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำชีตอนล่าง
  2. ดำเนินการฟื้นฟูอาชีพ ฐานทรัพยากรและวิถีชีวิตลุ่มน้ำชี ให้เร็วที่สุด
  3. ไม่เลือกพรรคการเมืองที่เดินหน้าโครงการผันน้ำ โขง เลย ชี มูล
  4. เคารพความหลากหลายขององค์ความรู้ในการจัดการน้ำขนาดเล็กที่มีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่
  5. รัฐต้องมีหน้าที่แก้ไขและหยุดโครงการผันน้ำ โขง เลย ชี มูล

ส่วนในกรณีที่ว่า หากมีการจ่ายเงินเยียวยาผลกระทบแก่ผู้ได้รับผลกระทบแล้วนั้น เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีจะดำเนินไปอย่างไรต่อไป สิริศักดิ์ ได้ให้ความเห็นว่า ยังจำเป็นที่จะต้องมีการรวมกลุ่มและขับเคลื่อนกันต่อไป เพราะว่าเขื่อนยังคงอยู่ และไม่ได้ถูกทำลายหรือยกออกจากพื้นที่ จึงต้องรวมกันเพื่อที่จะนำไปสู่การควบคุมเรื่องนี้ และนำไปสู่การเยียวยาในเรื่องนี้ให้ได้

image_pdfimage_print