นักวิชาการรุมสับนโยบาย BCG เศรษฐกิจสีเขียว เป็นเครื่องฟอกขาวให้โรงงานน้ำตาล โรงไฟฟ้าชีวมวลในอีสาน แนะใช้วันเลือกตั้งทวงคืนอำนาจอธิปไตยคืนประชาชน พร้อมเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญโล๊ะ ส.ว.แต่งตั้ง ที่มีบทบาทต่อการบังคับให้รัฐบาลทุกชุดต้องทำตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ โดย BCG ก็รวมอยู่ในแผนดังกล่าว

ขอนแก่น -เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2566 ที่สถานีขนส่งแห่งเก่า (หลังกลาง) คณะกรรมการประสานงานองค์กรเอกชนภาคอีสาน (กป.อพช.อีสาน) และภาคีเครือข่ายนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากหลากหลายองค์กรภาคอีสาน จัดเวทีสาธารณะ “วิพากษ์แผนพัฒนาอีสานผ่านนโยบาย BCG และผลกระทบจากรัฐธรรมนูญ 2560” โดยมีผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการของรัฐจากหลายพื้นที่ภาคอีสาน อาทิ ชาวบ้านจาก อ.ปทุมรัตน์ จ.ร้อยเอ็ด ที่ได้รับผลกระทบจากการเตรียมก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงงานน้ำตาล เป็นต้น เข้าร่วม

กิติมา ขุนทอง อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร กล่าวว่า BCG ย่อมาจาก Bio-Circular-Green Economy Model หรือโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งเกิดในรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ทีมเศรษฐกิจ คสช.เขียนขึ้นตั้งแต่ปี 2561-2562 และต่อมาได้นำเสนอในการประชุมเอเปคและอ้างว่า จะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำความยากจน โดยจะเน้นเรื่องการผลิตไบโอดีเซลที่ใช้มันสำปะหลังในการผลิต เน้นเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมทั้งใช้ชานอ้อยมาเป็นพลังงานไฟฟ้า เน้นเรื่องการปลูกป่าเพื่อหาคาร์บอนเครดิต 

“คณะกรรมการชุดนี้มีด้วยกัน 23 คน ประกอบด้วยข้าราชการและฝ่ายทุน เช่น ฝ่ายมิตรผลและเบทาโกร คณะกรรมการอาหารและยา รวมทั้ง SCG ด้วย จึงขอตั้งคำถามว่า คณะกรรมการชุดนี้จะสร้างประโยชน์อะไรให้กับประชาชนหรือไม่ เพราะไม่มีกรรมการคนไหนที่ยึดโยงกับประชาชนเลย” นอกจากนี้เธอยังพบว่า BCG จะถูกนำมาทดแทนนโยบายอื่นๆ เช่น นโยบายทวงคืนผืนป่าที่รัฐบาลไม่สามารถดำเนินการต่อ 

ด้าน ผศ.ดร.ไชยณรงค์ เศรษเชื้อ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า BCG คือ การฟอกเขียวคือปีศาจใส่เสื้อคลุมสีเขียวจะเป็นเครื่องซักผ้าให้พวกอุตสาหกรรมต่างๆ ฟอกตัว เช่น อุตสาหกรรมน้ำตาลและนำไปสู่การส่งเสริมอุตสาหกรรมน้ำตาลในภาคอีสาน ปัจจุบันมีโรงงานน้ำตาล 20 แห่ง มีพื้นที่ปลูกอ้อย 10.5 ล้านไร่

“ถ้าทำตามนโยบายนี้จะต้องเพิ่มพื้นที่การปลูกอ้อยเป็น 16 ล้านไร่ จะมีโรงงานน้ำตาลเกิดขึ้นอีก 29  แห่งแต่ละแห่งจะปลูกอ้อย 2-4 แสนไร่ ซึ่งจะทำให้เกิดอุทกภัยและภัยแล้ง รวมทั้งเกิดฝุ่น PM.2.5 ประชาชนยังจะสูญเสียที่ดินทำกินในกลไกการตลาด ซึ่งโรงงานน้ำตาล 29  แห่งจะพ่วงการผลิตโรงงานชีวมวลจากชานอ้อยมาด้วยที่จะทำให้เกิดปัญหาโลกร้อน”

เขายังกล่าวอีกว่า ประชาชนที่มีที่ดินทับซ้อนกับป่าสงวนจะได้รับผลกระทบจากคาร์บอนเครดิต เพราะรัฐจะแย่งที่ดินไปให้เอกชนเช่าเพื่อนำไปปลูกป่า จะมีประชาชนถูกขับไล่ออกจากพื้นที่ทับซ้อนอีกเป็นจำนวนมาก ส่วนพื้นที่สาธารณะประโยชน์ก็จะถูกนำไปให้เอกชนเช่าปลูกป่าเช่นกัน 

“BCG จึงเป็นเรื่องเบียดขับคนจนและแย่งชิงที่ดินของคนจนไปให้กับนายทุน การต่อสู้ของชาวบ้านจะเปลี่ยนไปจากยุค คสช.ที่ต้องสู้กับทหาร กลับต้องเตรียมรับมือกับกลุ่มทุนต่อ” ไชยณรงค์ กล่าว  

ขณะที่อารยา สุขสม อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญได้บัญญัติสิทธิของประชาชนไว้ ถ้าจะมีการออกนโยบายอะไรออกมากระทบกับประชาชน รัฐบาลต้องเคารพสิทธิประชาชนในรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้รัฐธรรมนูญยังบัญญัติไว้ว่า ประชาชนมีสิทธิที่จะอยู่ในพื้นที่อากาศบริสุทธิ์ เมื่อมีนโยบายการปลูกอ้อยในอีสานจึงไม่ได้คำนึงถึงความเหมาะสมของพื้นที่ที่ เนื่องจากภาคอีสานเหมาะกับการปลูกข้าว มีข้าวมะลิจากทุ่งมะลิที่อร่อยที่สุด ซึ่งควรได้รับการสนับสนุน แต่รัฐบาลกลับนำนโยบายนี้เข้ามาโดยไม่ได้ถามคนพื้นที่ 

เธอกล่าวด้วยว่า นโยบายนี้ยังจะเปลี่ยนแปลงพื้นที่ทำกินของชาวบ้านและทำให้เกิดมลพิษทางน้ำ เกิดกระทบด้านฝุ่น สร้างความขัดแย้งให้เกิดในพื้นที่ เกิดการแย่งชิงและทรัพยากร ทั้งนี้นโยบาย BCG จะทำให้เกิดการค้าชายแดนและจะทำให้พื้นที่สี่จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น โคราช อุดรธานี และหนองคายเป็นระเบียงเศรษฐกิจที่ไม่ต้องทำตามกฎหมายผังเมือง นั่นหมายความว่า กฎหมายฉบับนี้จะอนุญาตให้ทำอะไรก็ได้ 

สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ประเทศในยุโรปกำลังจะยกเลิกนโยบายคาร์บอนเครดิต เพราะได้มีการพิสูจน์แล้วว่า นโยบายนี้ไม่ได้ทำภาวะโลกร้อนลดลง เพราะโรงงานต่างๆ สามารถไปซื้อพื้นที่ปลูกป่าในประเทศอื่นๆ ได้ แต่ไม่ได้ปรับแก้การผลิตการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศของตัวเอง 

นโยบาย BCG เกิดขึ้นหลังรัฐประหาร เมื่อเกิดขึ้นจึงได้เกิดการแก้ไขกฎหมายหลายส่วน โดยรัฐบาลมีแผนที่จะแก้กฎหมายผังเมืองให้สร้างหน่วยงานได้ง่ายขึ้น ซึ่งตนอยากถามว่า เป็นการตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนหรือทุน นอกจากนี้ยังจะมีการแก้ไขกฎหมายโรงงานทำให้เกิดโรงงานง่ายขึ้น อีกทั้งมีการแบ่งประเภทโรงงานที่จะทำให้ธุรกิจน้ำตาลทำงานได้ง่ายขึ้นและจะมีแก้ไขกฎหมายพันธุ์พืชพื้นเมืองเพื่อให้นิยามใหม่ ซึ่งจะทำให้ปรับปรุงพันธุ์พืชได้ง่ายขึ้น อีกหน่อยประชาชนจะต้องซื้อพันธุ์พืชจากทุนทำให้เกิดการผูกขาดพันธุ์พืชทำให้เอื้อต่อกลุ่มทุนมากกว่าประชาชน 

เขากล่าวว่า หลังการรัฐประหารกลุ่มทุนต่างๆ เหล่านี้เป็นฝ่ายเข้ามาวางแผนยุทธศาสตร์ชาติ ตอนนี้เรากำลังอยู่ในภาวะของการเลือกต้ัง เราจึงตั้งคำถามว่า ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 ที่มีปมเรื่องอำนาจ ส.ว.ที่มีบทบาทต่อการบังคับให้รัฐบาลทุกชุดต้องทำตามแผนยุทธศาสตร์ ซึ่ง BCG ก็รวมอยู่ในแผนนี้ หากรัฐบาลชุดใดไม่ดำเนินการตาม ส.ว.ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็จะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความและอาจจะส่งให้เรื่อง ป.ป.ช. เอาผิดกับรัฐบาลได้ 

ด้านจีรนุช เปรมชัยพร ตัวแทนจากเครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ กล่าวว่า BCG เป็นประดิษฐกรรมของรัฐ คสช. ซึ่งสีเขียวจึงหมายถึงประชาชนตัวเขียว เป็นสิ่งที่จะทำให้ประชาชนตาย ไม่ใช่เขียวของความรุ่งเรือง 

“ภารกิจของพวกเรา คือ การทวงคืนประชาธิปไตยที่ถูกปล้นมาแล้ว 9 ปี ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 การเลือกตั้งครั้งนี้ต้องปักธงนำประชาธิปไตยคืนมาสู่รัฐธรรมนูญ” จีรนุช กล่าว 

ภายหลังหลังเสร็จสิ้นเวทีเสวนาวิชาการ ผู้เข้าร่วมงานได้ร่วมกันระดมสมองและนำเสนอนโยบายว่าด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาอีสานมีสาระสำคัญ ดังนี้  

1.เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ให้ยกเลิก ส.ว.แต่งตั้งและยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศ

2.ส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาพื้นที่ โดยอาศัยความรู้จากชุมชน เช่น การเปิดเสรีสุราพื้นบ้าน การเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรตามแนวทาง “ผลิตน้อยได้มาก” เป็นต้น  

“การพัฒนาพื้นที่ปลูกพืชเพื่อศักยภาพทางเศรษฐกิจต้องกระจายอำนาจให้ประชาชนออกแบบได้เองตั้งแต่ระดับภูมิภาคไปจนถึงระดับจังหวัด ให้ความสำคัญกับสิทธิชุมชน กระจายอำนาจให้คนในชุมชนมีสิทธิในการบริหารจัดการ ใช้ประโยชน์และดูแลรักษาทรัพยากรในพื้นที่ ชุมชนต้องมีสิทธิตัดสินใจ ให้ความสำคัญกับการเข้าถึงสิทธิที่อยู่อาศัย-ที่ทำกิน  เพื่อให้เกิดความมั่นคงในชีวิต ทั้งนี้ต้องมีกลไกคุ้มครองผู้ที่เป็นนักต่อสู้เพื่อปกป้องทรัพยากรท้องถิ่นที่ถูกคุกคาม นิรโทษกรรม ยุติการฟ้องร้องและดำเนินคดีกับประชาชนที่ลุกขึ้นมาปกป้องทรัพยากรท้องถิ่น ผลักดันให้มีกฎหมายต่อต้านการฟ้องคดีกลั่นแกล้ง” ถ้อยคำอันเป็นข้อเสนอจากผู้เข้าร่วม

จากนั้นจึงยื่นข้อเสนอให้ตัวแทนพรรคการเมืองจากสามพรรค คือ พรรคก้าวไกล พรรคสามัญชน และพรรคเสรีรวมไทย

image_pdfimage_print