28 เมษายน 2566 –  ณ บึงศรีฐาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้มีการจัดกิจกรรมที่รวมเหล่าผู้ร่วมอุดมการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน ออกมาส่งเสียงถึงพรรคการเมืองให้นำปัญหาด้านสิทธิไปแก้ไขและเสนอเป็นนโยบาย เพื่อเติมเต็มสิทธิมนุษยชนอย่างเท่าเทียม บนเวทีดีเบตประชัน “วาทะผู้นำ วาระสิทธิมนุษยชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” ในกิจกรรมได้มีการจัดวงเสวนาขึ้นภายใต้หัวข้อ “เลือกตั้ง 66: หมู่เฮามาเว่าเรื่องสิทธิถึงผู้แทน” นำทัพเสวนาโดย สุธีวัน ธรรมพงศ์พันธ์ รองนายกสโมสรนักศึกษา คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น นิติกร ค้ำชู ขบวนการอีสานใหม่ ณัฐวุฒิ กรมภักดี กลุ่มเพื่อนคนไร้บ้าน จ.ขอนแก่น และดร.ชีรา ทองกระจ่าง อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชนในการส่งเสียง สื่อสาร และเสนอนโยบายเพื่อให้ผู้แทนราษฎรเข้าใจถึงประเด็นสิทธิมนุษยชน โดยภายในกิจกรรมมีพรรคการเมืองที่เข้าร่วมรับฟังทั้งสิ้น 5 พรรคการเมือง ได้แก่ พรรคไทยสร้างไทย พรรคก้าวไกล พรรคไทยภักดี พรรคเสรีรวมไทย และพรรคสามัญชน

สุธีวัน ธรรมพงศ์พันธ์ รองนายกสโมสรนักศึกษา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พูดถึงประเด็นสิทธิในการแสดงออกของนักศึกษา ที่มักจะถูกคุกคามโดยเจ้าหน้าที่ เป็นการถูกกระทำการที่ไร้ซึ่งความชอบธรรม เช่น การโดนติดตาม การโดนคดีความ และกิจกรรมการแสดงออกของนักศึกษายังคงถูกจัดว่าเป็นกิจกรรมที่ขัดต่อระเบียบของมหาวิทยาลัย จึงมักจะถูกเจ้าหน้าที่จับตามองมากกว่ากลุ่มนักศึกษาอื่น 

ส่วนข้อเสนอแนะนโยบายต่อพรรคการเมือง สุธีวัน เสนอว่า เรื่องสิทธิทางการเมืองเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน แต่การแสดงออกทางการเมืองกลับถูกคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐ แม้กระทั่งสิทธิในการเลือกตั้งยังเคยถูกคณะ คสช. ยึดอำนาจ และเพิ่มอำนาจพิเศษในการแต่งตั้ง ส.ว. เพื่อทำหน้าที่โหวตเลือกผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนพี่น้องประชาชน  นอกจากนั้น สุธีวัน ยังเสนอเรื่องกฎหมายที่ขัดขวางการใช้สิทธิในการแสดงออก และประเด็น ม.112 ที่ตัวบทของมาตรายังคงมีปัญหาอยู่ โดยถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อคุกคามคนที่เห็นต่าง มีโทษสูง สิทธิในการประกันตัวและสิทธิในการต่อสู้คดีเป็นเรื่องที่สร้างความยากลำบากต่อผู้ที่โดนคดีนี้

“กฎหมายไม่ควรถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือที่จะกลั่นแกล้ง กล่าวหา หรือใส่ร้ายซึ่งกันและกัน กฎหมายควรถูกสร้างขึ้นมาเพื่อทำให้สังคมเป็นสังคม ทำให้คนในสังคมสามาถอยู่ร่วมกันได้โดยที่ไม่ต้องผลักใครออกไป หรือทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

นิติกร ค้ำชู

นิติกร ค้ำชู ขบวนการอีสานใหม่และสมาชิกกลุ่มดาวดิน พูดถึงปัญหาที่สังคมกำลังเผชิญอยู่ คือประชาชนไม่มีอำนาจในการกำหนดชีวิตตัวเอง นโยบายหลายนโยบายถูกกำหนดขึ้นโดยรัฐ ไม่ได้มาจากการเสนอนโยบายจากประชาชน ซึ่งนโยบายส่วนใหญ่มักจะมาจากรัฐส่วนกลาง ทำให้ภาคส่วนท้องถิ่นไม่กล้าออกแบบนโยบาย ทั้งในเรื่องงบประมาณ การบริหารจัดการ และการแก้ปัญหาที่ตรงจุด 

นิติกร จึงมีข้อเสนอแนะนโยบายต่อพรรคการเมืองคือ ควรมีการทวงอำนาจให้ท้องถิ่น สามารถออกแบบนโยบายให้ตอบสนองประชาชนในพื้นที่ ทบทวนอำนาจหน้าที่ที่ยังคงทับซ้อนระหว่างส่วนกลางและท้องถิ่น ต้องมีการสร้างความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างรัฐส่วนกลางและท้องถิ่น ควรมีการปรับโครงสร้างอำนาจท้องถิ่น ทั้งโครงสร้างองค์กร งบประมาณ และทรัพยากรบุคคล เพื่อความเหมาะสมในการทำงานในฐานะผู้ให้บริการประชาชน นิติกร ยังพูดถึงประเด็น “สุราก้าวหน้า” โดยมีข้อเสนอว่า ควรลดขั้นตอนการผลิต และลดเงื่อนไขต่างๆ ลง เพื่อให้เอื้อต่อการส่งเสริมสุราที่ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นเป็นส่วนสำคัญ 

“สภาพปัญหาของวงการสุราไทยเราจะเห็นกันดีว่ามีไม่กี่จ้าวที่คลองตลาด พูดง่าย ๆ ก็คืออยู่ในสภาพผูกขาด และตัวกฎหมายก็ไม่เอื้ออำนวยให้คนตัวเล็กตัวน้อยเข้าถึงได้เลย ไม่ว่าจะเป็นด้านการผลิตต้องมีเงื่อนไขกฎหมายที่กำหนดปริมาณไว้จำนวนมหาศาล ด้านการขายและการโฆษณาก็ไม่ สามารถขาย หรือประชาสัมพันธ์สินค้าของตัวเองได้ เงื่อนไขด้านกฎหมายเต็มไปหมด แล้วแบบนี้คนตัวเล็กตัวน้อยเขาเอาช่องทางไหนในการประชาสัมพันธ์ไปถึงกลุ่มผู้บริโภคของเขา แล้วเศรษฐกิจปากท้องของเค้าจะอยู่ได้อย่างไร นี่จึงเป็นปัญหาการกระจายอำนาจทางเศรษฐกิจด้วย”

ณัฐวุฒิ กรมภักดี

ณัฐวุฒิ กรมภักดี กลุ่มเพื่อนคนไร้บ้าน จ.ขอนแก่น ได้พูดถึงประเด็นเพื่อนคนไร้บ้าน โดยยกตัวอย่างถึงประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณชุมชนริมรางรถไฟ ณัฐวุฒิ ต้องการที่จะให้กลุ่มคนไร้บ้านที่ถูกจัดว่าเป็นกลุ่มเปราะบาง ให้มีอำนาจต่อรอง เพราะคนไร้บ้านยังคงขาดสิทธิพื้นฐาน สิทธิสุขภาพ บัตรประชาชน การคุ้มครองการทำงาน และสิทธิในการไม่ถูกเลือกปฏิบัติ

ด้านข้อเสนอนโยบายที่มีต่อพรรคการเมือง ณัฐวุฒิ เสนอว่า ปัจจุบันรัฐยังทำงานที่เน้นนโยบายแบบสงเคราะห์ ไม่ใช่นโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ รัฐควรมีนโยบายรัฐสวัสดิการที่ทำให้คนทุกคนเท่ากัน มีศักดิ์ศรี มีเกียรติ มีสิทธิในฐานะเพื่อนมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน และให้อำนาจของคนในท้องถิ่นได้จัดการตัวเอง

“เราต้องร่วมกันผลักดันการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ทุกมาตรา ที่เขียนโดยประชาชนยึดโยงกับประชาชน ส.ส.ร. ต้องเลือกตั้งโดยประชาชนเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญ เหล่านี้จะทำให้พลังของคนท้องถิ่นเติบโตได้ และเวลาเรามองเรื่องนโยบายในการพัฒนา เรามักมองว่าเรื่องเศรษฐกิจทางกายภาพพื้นฐานหรือการทำอย่างไรให้นักลงทุนมาลงทุน แต่คู่ขนานกันไปก็คือเรื่องชีวิตของคน ซึ่งมีความสำคัญมาก ฉะนั้นนโยบายที่ควรเกิดขึ้นคือนโยบายรัฐสวัสดิการที่ทำให้คนมีศักดิ์มีศรีเข้าถึงสวัสดิการ คนที่อยู่ในจังหวะที่ตกหล่นพ่ายแพ้ในชีวิต เขามีระบบแบบนี้เข้าไปซัพพอร์ต มีระบบกลไกดูแลที่ทำให้เขาไม่ต้องหลุดลอยเหมือนคนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังหรือลืมไว้ข้างหน้า”

ดร.ชีรา ทองกระจาย อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และคณะทำงานด้านความหลากหลายทางเพศอีสาน (IGDN) พูดถึงประเด็นสิทธิความเท่าเทียมทางเพศ ประเด็นเพศมักไม่ถูกจัดว่าเป็นประเด็นร้อนเมื่อมีการพูดถึงนโยบายเรื่องเพศ และ ดร.ชีรา ยังตั้งคำถามต่อพรรคการเมืองในประเด็นเรื่องเพศว่าจะถูกนำมาเป็นวาระหรือไม่ นอกจากนั้นยังได้พูดถึงกลุ่มเปราะบางที่ถูกเลือกปฏิบัติทางเพศ หรือกลุ่มผู้ประกอบอาชีพ Sex Worker ที่ไม่ถูกรองรับเรื่องสวัสดิการ สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่ารัฐยังคงมองข้ามประเด็นเพศในสังคมเป็นเรื่องเล็ก และยังคงไม่มองว่าเป็นภาวะเร่งด่วน

ส่วนข้อเสนอแนะต่อพรรคการเมือง ดร.ชีรา เสนอว่า รัฐควรให้สิทธิเสรีภาพกับบุคคลที่มีความหลากหลายทั้งทางเพศ และความหลากหลายชาติพันธ์ุ ที่ยังคงเป็นปัญหาและส่งผลต่อการดำเนินชีวิตในหลายมิติ และรัฐควรมีนโยบายที่คำนึงถึงมิติเพศภาวะ เช่น การพิจารณาความเหมาะสมเรื่องการเกณฑ์ทหาร นอกจากนั้น ดร.ชีรา ยังเสนอว่า ควรมีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศเข้ามามีบทบาทในการกำหนดข้อกฎหมาย และนโยบายที่มาจากเสียงของเจ้าของปัญหา

“ควรมีเรื่องการกระจายอำนาจและการผลักให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดกฎหมาย และนโยบายต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ มันจะนำไปสู่การแก้ปัญหาได้จริงๆ เราจะต้องมีมุมมองที่มองคนทุกเพศอย่างเท่ากันอย่างจริงจัง”

image_pdfimage_print