ปี 2558 บริษัทสัญชาติจีน ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น ได้สิทธิ์สำรวจแร่โพแทชในจังหวัดสกลนคร โดยใช้ระยะเวลา 5 ปี ด้วยจำนวนแปลงสำรวจทั้งหมด 12 แปลง ครอบคลุมพื้นที่ 120,000 ไร่ ของ 82 หมู่บ้าน ใน อ.วานรนิวาส

การสำรวจผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนั้นถูกดำเนินไปอย่างเงียบๆ แต่หลังจากที่คนในพื้นที่สำรวจได้ทราบข่าว กระแสการต่อต้านเหมืองแร่นั้นจึงเริ่มปะทุขึ้น แม้จะมีเสียงอีกด้านว่าการเข้ามาของเหมืองจะสร้างรายได้ให้ชุมชนเป็นกอบเป็นกำก็ตาม

ต่อมาประชาชนได้ตั้งกลุ่มเพื่อขับเคลื่อนในนาม “กลุ่มรักษ์วานรนิวาส” จุดประสงค์คือยืนยันในเจตนารมณ์ว่าไม่เอาเหมืองแร่โพแทช พวกเขากังวลว่าการเข้ามาของเหมืองจะทำให้ธรรมชาติที่เคยอุดมสมบูรณ์นั้นหายไป หางเกลือผลผลิตของเหมืองและสิ่งปนเปื้อนจำนวนมากจะกระจายลงสู่พื้นที่ธรรมชาติ ส่งผลกระทบในด้านลบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำห้วยโทง แหล่งน้ำและแหล่งอาหารสำคัญของชาววานรนิวาส 

ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ผลกระทบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงในพื้นที่ของอำเภอวานรนิวาส แต่มีถึง 42 แห่ง ใน 10 จังหวัดทั่วภาคอีสาน สอดคล้องกับข้อกังวลของ กิติมา ขุนทอง อาจารย์สาขาวิชาสังคมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร หนึ่งในนักวิชาการที่ติดตามโครงการเหมืองแร่โพแทชในพื้นที่ ที่ได้กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของชาววานรนิวาส เป็นกิจกรรมที่เปิดพื้นที่สื่อสารเพื่อให้ประชาชนในจังหวัดสกลนครรวมถึงภาคอีสาน ตระหนักถึงปัญหาการเข้ามาของเหมือง เพราะส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพโดยตรง

“ที่แย่ที่สุดคือทำให้วิถีชีวิตของคนในชุมชนนั้นเปลี่ยนไปตลอดกาล เนื่องจากเหมืองโพแทชนั้นมีขนาดใหญ่มาก หากเทียบแล้วอุตสาหกรรมนี้จะส่งผลกระทบต่อระดับภูมิภาคอีสาน” 

ในโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2566 ที่ใกล้มาถึง อาจจะเป็นการเดิมพันของการกลับมาหรือจากไปของเหมืองแร่โพแทชในพื้นที่สกลนคร การตั้งคำถามถึงความเห็นต่อเหมืองแร่โพแทชถึงว่าที่ผู้แทน จึงถือว่าเป็นสิ่งที่จะนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจของประชาชน เพื่อเลือกคนเข้าไปพูดแทนพี่น้องในสภา เพราะอนาคตของเหมืองแร่โพแทชกับวันพรุ่งนี้ของประชาชนไม่น่าจะมีเส้นทางร่วมกันอย่างยั่งยืน

เพื่อไทย: ไม่ได้ปิดกั้นเหมือง แต่ควรฟังเสียงประชาชนในพื้นที่

สกุณา สาระนันท์ ผู้สมัคร ส.ส. เขต 6 เบอร์ 6 พรรคเพื่อไทย เธอเคยดำรงตำแหน่ง ส.ส. เขต 5 พรรคเพื่อไทย ปี พ.ศ. 2562 และเคยกล่าวเรื่องนี้ในสภา ถึงสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประชาชนในพื้นที่ อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร ที่กังวลผลกระทบด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อมและชุมชนจากโครงการสำรวจและทำเหมืองแร่โพแทช ครั้งนี้เธอให้ความเห็นว่า ไม่ได้ปิดกั้นโครงการเหมืองฯ แต่พื้นที่ของประชาชนนั้น ควรเอื้อประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน

“เราเป็นคนหนึ่งที่ไปเรียกร้องกับชาวบ้าน เรียกได้ว่าเราไม่เห็นด้วยกับการสร้างเหมืองตั้งแต่ก่อนที่จะมาเป็น ส.ส. พอได้เป็น ส.ส. ก็พาชาวบ้านเข้าไปหารัฐมนตรีและกระทรวงฯ จนกระทั่งได้มีการชะลอการสร้างเหมืองในพื้นที่ ด้วยความที่เราเองเป็นคนที่มีแนวคิดที่ต้องการใช้ศักยภาพในพื้นที่ให้เป็นประโยชน์สูงสุดกับคนในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความหลากหลายทางธรรมชาติ เราสามารถสร้างมูลค่าได้มากกว่าการที่จะให้ใครมาเก็บเกี่ยวทรัพยากรที่ได้ประโยชน์กับคนเพียงกลุ่มเดียว เพราะประโยชน์มันไม่ได้กระจายมาสู่ประชาชน ส่วนประเด็นต่อมาเรื่องความปลอดภัยก็น้อยและผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมมีมาก มันยิ่งรู้สึกว่ามันไม่คุ้มเลยที่จะยอมให้เกิดอุตสาหกรรมเหล่านี้ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเราปิดกั้นเรื่องแบบนี้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าหากมันอยู่ภายใต้พื้นฐานความปลอดภัยบนพื้นฐานการใช้การเทคโนโลยีอย่างเหมาะสม และเกิดประโยชน์ขึ้นกับคนในพื้นที่เราไม่ขัดข้อง

“กฏหมายของประเทศเรา เรื่องอุตสาหกรรมค่อนข้างให้ความเป็นธรรมและฟังเสียงประชาชนในพื้นที่ แต่ประเด็นคือบ้านเราไม่ปฏิบัติตามกฏระเบียบปล่อยให้ผู้ลงทุนกับข้าราชการบางส่วน ใช้ช่องนี้ในการกอบโกยประโยชน์และลิดรอนสิทธิ์ ไม่ฟังเสียงประชาชน จะไม่เกิดปัญหาถ้าให้ชาวบ้านเข้ามาอยู่ในกระบวนการด้วยตั้งแต่ต้น ซึ่งประโยชน์ไม่ได้แค่จะเกิดกับประชนชนฝั่งเดียวนะ บริษัทที่เข้ามาทำก็เกิดประโยชน์ด้วย แต่มันทำง่าย ทำในช่วงที่ประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย ก็จะมีคนใช้โอกาสนี้เข้ามาฉกฉวย ดังนั้นเราบอกไม่ได้หรอกว่าอุตสาหกรรมแบบนี้มันควรมีหรือไม่มีแต่ประเด็นสำคัญคือภาคประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วม

“นโยบายของเพื่อไทยหลักๆ ก็จะเป็นการสร้างรายได้เพื่อแก้ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ  แต่นอกจากนั้นเราก็ยังให้ความสำคัญในเรื่องสิทธิมนุษยชนด้วย ดังนั้นไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ตามเราก็เน้นว่ามันจะต้องไม่ลิดรอนสิทธิ์ประชาชน”

ก้าวไกล: หากมีรัฐบาลก้าวไกล ต้องไร้โครงการทำลายสิ่งแวดล้อม

ปิยะศักดิ์ เดชทองทิพย์  ผู้สมัคร ส.ส. เขต 6 เบอร์ 4 พรรคก้าวไกล ให้ความเห็นว่า พรรคก้าวไกลเห็นตรงกันถึงปัญหาโครงการต่างๆ ที่กระทบสิ่งแวดล้อมนั้น ควรจะถูกยกเลิก คืนที่ดินและพื้นที่ให้ประชาชนได้เป็นเจ้าของอย่างเต็มตัว เปลี่ยนที่ดินให้เป็นป่า โดยใช้นโยบายต้นไม้บำนาญ 

“ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับชีวิตการเป็นอยู่ของประชาชนเป็นอย่างมาก เพราะจะนำไปสู่ปัญหาใหญ่ด้านสิ่งแวดล้อมของชุมชน แน่นอนว่าที่ผ่านมาผมเองได้เข้ามาสังเกตการณ์และให้กำลังใจกับชาวบ้านที่กำลังประสบปัญหานี้เพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไข หากพรรคก้าวไกลเราได้โอกาสเป็นรัฐบาล นอกจากบรรดาโครงการทั้งหลายที่ส่งผลกระทบอันร้ายแรงต่อวิถีชีวิตชุมชน สิ่งแวดล้อม อันนำไปสู่ความเสียหายอย่างรุนแรงต่อสุขภาพของประชาชน ย่อมไม่มีทางให้เกิดขึ้นได้แน่นอน

“ด้วยเหตุนี้พรรคก้าวไกลจึงมีนโยบาย ที่มีแต่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวในชุมชน รวมทั้งพื้นที่ในเมือง ด้วยการเพิ่มงบท้องถิ่น ผ่านนโยบายทุกจังหวัดไทยก้าวหน้า  ต้นไม้ปลดหนี้ อุดหนุนปลูกป่าชุมชน 4,000 บาท/ไร่/ปี จำนวน 1,000 ชุมชน รัฐจ่ายหนี้ค้างให้เกษตรกร ในฐานะค่าเช่า แลกกับใช้ที่ดินของเกษตรกรปลูกไม้ยืนต้น ต้นไม้บำนาญ คนปลูกได้รับรายได้เป็นรายเดือน 1,200 บาท/ไร่/เดือน เป็นเวลา 20 ปี ต้นไม้ทุนรัฐบาล อุดหนุนงบเกษตรกรปลูกป่า 4,000 บาท/ไร่ ในช่วงเวลา 3 ปี ต้นไม้ชุมชน”

คลองไทย: พื้นที่จะเกิดประโยชน์สูงสุดได้ หากทุกฝ่ายร่วมมือกัน

สุวิทย์ มุ่งเป้า ผู้สมัคร ส.ส. เขต 6 เบอร์ 13 พรรคคลองไทย กล่าวถึงกรณีโครงการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ว่าต้องมาจากการร่วมมือกันระหว่างประชาชนในพื้นที่และหน่วยงานการปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อดูแลไม่ให้เกิดปัญหามลพิษ 

“ผมคิดว่าถ้ามีโรงงานอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวมีทั้งผลดีและผลเสีย ถ้าทุกคนร่วมมือกันเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนในพื้นที่

“รวมถึงแก้ไขปัญหามลพิษมลภาวะที่จะเกิดขึ้น ร่วมกันกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและทางจังหวัดก็มีอุตสาหกรรมจังหวัดคอยตรวจสอบและแนะนำให้ทำตามกรอบของกฎหมายอยู่ในกฎระเบียบของบ้านเมืองคิดว่าคงไม่มีปัญหาและผลประโยชน์จากเกิดขึ้นกับประชาชนในเขตชุมชนนั้นๆ ไม่มากก็น้อย”

image_pdfimage_print