หากพูดถึงเมืองใหญ่ในภาคอีสานที่มีศักยภาพด้านเศรษฐกิจ สังคม และความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรม ขอนแก่น และนครราชสีมา คือเมืองที่อยู่หัวแถว โดยเฉพาะหากวัดจากค่า GPP (ผลรวมของมูลค่าการผลิตบริการสินค้าและบริการขั้นสุดท้าย) ซึ่งนครราชสีมาเป็นจังหวัดที่มี GPP สูงสุดในภูมิภาคถึง 335,472 ล้านบาท รองลงมาคือขอนแก่น คือ 216,367 ล้านบาท 

โดยหากพิจารณาร่วมกับ GPP per capita ซึ่งหมายถึงค่าเฉลี่ยที่แสดงมูลค่าการผลิตของจังหวัดต่างๆ เฉลี่ยต่อประชากร 1 คน ซึ่งเป็นรายได้คาดการณ์ที่ 1 คนจะทำรายได้ให้จังหวัด แต่ไม่ใช่ตัวเลขที่แสดงระดับรายได้ที่ประชาชนได้รับ จะพบว่า ทั้ง 2 จังหวัด คือ ขอนแก่น และนครราชสีมา มี GPP per capita สัมพันธ์ค่า GPP ส่วนอีก 2 จังหวัดที่มีค่า GPP per capita สัมพันธ์กับ GPP คือ กาฬสินธุ์ และมุกดาหาร แต่ก็อยู่ในระดับค่อนไปทางระดับต่ำ 

สำหรับนครราชสีมา มี GPP per capita อยู่ที่ 134,388 บาทต่อคน ขอนแก่น มี GPP per capita อยู่ที่ 126,636 บาทต่อคน อย่างไรก็ตาม การที่เมืองย่าโมและเมืองหมอแคนมีตัวเลขอยู่อันดับต้นๆ ของภาคอีสานไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจแต่อย่างใด ประเด็นคือจังหวัดที่ได้อันดับรองลงมาต่างหากที่ไม่ใช่เมืองใหญ่อย่างอุบลราชธานี หรืออุดรธานี แต่เป็นจังหวัดเล็กๆ อย่าง “จ.เลย”

ขอบคุณภาพจาก Isan insight and outlooks

เหตุผลที่จังหวัดกลางหุบเขาเล็กๆ ซึ่งมีประชากรประมาณ 600,000 คน ขึ้นแท่นอันดับ 3 จังหวัดที่มีตัวเลข GPP per capita สูงที่สุดคืออะไร Isan Insight and outlooks วิเคราะห์ว่า เป็นเพราะ 3 ปัจจัยหลัก คือ เป็นแหล่งเพาะปลูกยางพารา มีแหล่งท่องเที่ยวดึงดูดนักเดินทาง และมีชายแดนติดประเทศลาว 

ในปี 2565 ที่ผ่านมา จ.เลย ถือเป็นแหล่งเพาะปลูกยางพาราได้มากที่สุดถึง 853,798 ไร่ หรือคิดเป็น 14.5% ของการผลิตยางพาราในอีสาน ในจำนวนเหล่านั้นสามารถผลิตยางพาราได้ 194,127 ตัน ซึ่งเป็นปริมาณยางพาราสูงที่สุดอันดับ 2 ของอีสาน ส่วนซึ่งหากเปรียบเทียบสัดส่วนรายได้จากภาคการเกษตรของ จ.เลย ที่มีสัดส่วน 28% ของรายได้ทั้งหมดจะพบว่า กว่าครึ่งหนึ่งมาจากยางพารา

ถัดจากยางพารา อันดับต่อมาของสินค้าทางการเกษตรของ จ.เลย คือ กาแฟ โดยใช้พื้นที่ปลูก 2,370 ไร่ คิดเป็น 76% ของพื้นที่เพาะปลูกกาแฟในอีสาน สามารถให้ผลผลิตต่อปีกว่า 166 ตัน แม้สัดส่วนนี้จะยังไม่เทียบเท่ากับการเพาะปลูกกาแฟของภาคเหนือ แต่ จ.เลย ก็ยังเป็นพื้นที่ที่ได้เปรียบในการปลูกกาแฟซึ่งเป็นที่ต้องการสูงอย่างอาราบิก้า 

นอกจากสินค้าทางการเกษตรหลักๆ 2 อย่าง การได้เปรียบในเชิงภูมิศาสตร์ทำให้ จ.เลย ปลูกพืชหมุนเวียนไม่ว่าจะเป็นผัก พืชสวน พืชไร่ ไม้เมืองหนาว ซึ่งให้ผลผลิตหมุนเวียนได้ตลอดทั้งปี

ส่วนภาคการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติในจังหวัดเลยอย่าง ภูกระดึง อุทยานแห่งชาติภูเรือ  อำเภอเชียงคาน รวมไปถึงสถานที่อื่นๆ ในจังหวัด ข้อมูลในปี 2566 รายงานว่า นักท่องเที่ยวกว่า 2 ล้านคนเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดทำให้ภาคการท่องเที่ยวของเลยจัดอยู่ในอันดับต้นๆ ของไทยอีกด้วย 

ปัจจัยสุดท้ายในการวิเคราะห์รายได้ต่อหัวนั้นคือชายแดนที่ติดกันกับลาว โดยเฉพาะบริเวณสะพานมิตรภาพน้ำเหือง อ.ท่าลี่ จ.เลย มีการสำรวจมูลค่าการค้าชายแดนกับ สปป.ลาว พบว่าสร้างมูลค่าได้กว่า 20,000 ล้านบาทต่อปี

Isan insight and outlook ยังวิเคราะห์ด้วยว่า ปัจจัยที่ทำให้ GPP per capita ของ จ.เลย มีอัตราสูง เพราะมาจากการขายสลากกินแบ่งรัฐบาล แม้หากพิจารณาร้านขายสลากฯ ที่ลงทะเบียนในภาคอีสานนั้น จ.เลย จะอยู่ในอันดับ 5 แต่หากพูดถึงคนขายลอตเตอรี่ที่คุ้นหน้ามากสุดมักมาจาก อ.วังสะพุง จ.เลย

อ้างอิง

image_pdfimage_print