ภูมิหลังทางสังคมของอีสานมีความผูกพันกับวัวควายมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เพราะพื้นฐานทางสังคมส่วนใหญ่เป็นสังคมเกษตรกรรม วัวควายจึงมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของชาวอีสานเป็นอย่างมาก นอกจากจะเป็นเครื่องมือเพื่อใช้ในการทำเกษตรแล้ว อีกนัยหนึ่ง วัวควายถือว่าเป็นสินทรัพย์ของคนอีสาน มีวัวมีควายอยู่ในคอกก็เหมือนมีเงินก้อนไว้สำรองยามฉุกเฉิน หากไม่มีเงินก็ขายเพื่อนำเงินมาใช้หมุนเวียนในครัวเรือน และเหลือส่วนหนึ่งไว้เพื่อขยายพันธุ์ แต่สถานการณ์ดังที่เคยเป็นมานั้น กลับแตกต่างออกไปในห้วงเวลานี้

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2566 สุดารัตน์ พิทักษ์พรพัลลภ ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย พูดถึงเรื่องนี้ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า ไม่ใช่แค่ราคาของวัวควายตกต่ำเท่านั้น แต่ยังหนักถึงขั้นที่ว่า วัวควายขายไม่ออกเลยด้วยซ้ำ

“ปัญหาราคาวัวราคาควายตกต่ำอย่างมาก สืบเนื่องมาจากดิฉันได้คลุกคลีอยู่กับพี่น้องเกษตรกร ซึ่งตอนนี้พูดได้ว่าเคราะห์ซ้ำกรรมซัดค่ะ ปัญหารุมเร้ารอบด้านทุกทิศทาง สินค้าทางการเกษตรตกต่ำทุกชนิด ซ้ำร้ายวัวควายที่ถือเป็นตู้ ATM เคลื่อนที่ อยากได้เงินเมื่อไหร่ก็ขาย ไม่มีเงินเมื่อไหร่ก็ขาย แต่วันนี้ตู้ ATM มีปัญหาค่ะ เบิกเงินไม่ได้ กดเงินไม่ออก มีวัวแต่ไม่มีคนซื้อ ราคาถูกยังพอทนค่ะท่านประธาน แต่ปัจจุบันนี้ขายไม่ได้เลยถ้าเป็นเช่นนี้ต่อไปพี่น้องประชาชนเกษตรกรนายฮ้อยพี่น้องของดิฉันจะต้องตายสถานเดียวแน่ค่ะ”

สาเหตุของปัญหาราคาวัวตกต่ำ

ถัดมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 ชัชวาล แพทยาไทย ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคไทยสร้างไทย นำปัญหาเรื่องวัวควายไปพูดในสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้มีเพียงราคาวัวควายตกต่ำอันเนื่องมาจากปริมาณล้นตลาด และต้นทุนอาหารสัตว์แพงขึ้นเท่านั้น แต่ยังมีการลักลอบนำวัวจากประเทศต่างๆ เข้ามาในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมายด้วย

“ปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรที่มีราคาวัวตกต่ำติดต่อกันหลายปี เข้ามาตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรี นั่นก็คือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 6 เดือนที่แล้วครับท่านประธานครับ ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ผ่านมา 6 เดือน ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์ที่สูงขึ้น ปัญหาวัวล้นตลาด ปัญหาการส่งออกไม่ได้ และที่สำคัญที่สุดท่านประธานครับ นั่นก็คือปัญหาการลักลอบนำเข้าวัวมีชีวิตซากวัวหรือวัวกล่องที่ผิดกฎหมายจากประเทศต่างๆ เข้าสู่ประเทศไทย 

“ผ่านมา 6 เดือนท่านประธาน ผมจึงอยากจะใช้เวทีแห่งนี้หาหรือผ่านท่านประธานไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบในประเด็นปัญหาต่างๆ ดังนี้ เรื่องต้นทุนการผลิตที่สูง เรื่องวัวที่ล้นตลาดและหาตลาดส่งออกไปยังต่างประเทศไม่ได้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ ต้องดำเนินการและมีคำชี้แจงต่อพี่น้องประชาชน เรื่องการนำเข้าวัวที่มีชีวิตที่ผิดกฎหมาย ซากวัวกล่องหรือวัวเถื่อน หน่วยงานที่รับผิดชอบหลักๆ 2 หน่วยงาน นั่นก็คือ กระทรวงการคลังหรือกรมศุลกากร และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีอีกหลายคนครับที่ต้องดูแลเรื่องนี้ 

“และประเด็นสุดท้ายที่ผมอยากฝากก็คือ ข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการการทำความผิด หน่วยงานต่างๆ ต้องเร่งดำเนินการขับเคลื่อนชี้แจงต่อพี่น้องเกษตรกร ท้ายที่สุดครับท่านประธานพี่น้องประชาชนฝากมา 10,000 บาทก็อยากได้ แต่อยากให้เบิ่งงัวก่อนแหน่ 3 ปีสิตายแล้ว ขั่นบ่แก้แม่นบ่ยัง”

หลังการเลือกตั้งปี 2566 ที่ผ่านมา ปัญหาเรื่องราคาวัวควายเป็นประเด็นปัญหาที่ถูกหยิบยกมาอภิปรายในสภาอยู่บ่อยครั้ง ราคาวัวควายในตลาดเริ่มตกต่ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังจากการแพร่ระบาดของโรคลัมปี สกิน ในช่วงปี 2564 มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัส Lumpy skin disease virus เป็นโรคที่เกิดเฉพาะในโค กระบือ ไม่ติดต่อจากสัตว์สู่คน โดยเชื้อไวรัสชนิดนี้ก่อโรคตามอวัยวะที่มีเซลล์เยื่อบุมีลักษณะอาการที่สามารถสังเกตได้ คือ พบตุ่มเนื้อบนผิวหนังและเยื่อเมือกทั่วร่างกาย ซึ่งต่อมาจะตกสะเก็ดและเป็นแผลหลุม สัตว์อาจมีไข้และหายใจลำบากร่วมด้วย โดยมีพาหะนำโรค คือแมลงดูดเลือด เช่น ยุง แมลงวันดูดเลือด 

ถึงแม้ว่าโรคลัมปี สกิน จะไม่แพร่จากสัตว์สู่คน แต่ในขณะนั้นคนทั่วโลกก็กำลังเผชิญกับปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่นกัน จนมีคำเปรียบเปรยจากคนในท้องถิ่นอีสานว่า “คนสู้กับโควิด ส่วนงัวกะสู้กับลัมปี สกิน”

นอกจากปัญหาเรื่องการระบาดของโรคลัมปี สกินแล้ว ปัญหาที่เกษตรกรผู้เลี้ยงวัวควายต้องเผชิญยังคงมีอีกหลายปัญหาตามมา เช่น การนำเข้าซากวัวเถื่อนหรือวัวกล่องดังที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ได้กล่าวในสภา รวมไปถึงการเฝ้าระวังปัญหาโรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) ที่กำลังระบาดในลาว ซึ่งเป็นประเทศที่มีพรมแดนติดกับไทย

โรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน โดยมีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย สัตว์ที่เป็นโรคนี้ส่วนใหญ่เกิดจากการหายใจเอาสปอร์ของเชื้อแบคทีเรียที่ปนเปื้อนอยู่ในดินหรือหญ้าเข้าสู่ร่างกาย หรือจากการกินน้ำและอาหารที่มีเชื้อปะปนเข้าไป เมื่อเชื้อเข้าตัวสัตว์จะเพิ่มจำนวนมากขึ้น พร้อมสร้างสารพิษทำให้สัตว์ป่วยและตายในที่สุด สิ่งที่สร้างความหวาดระแวงให้กับคนมากที่สุด คือ อาการของโรค ซึ่งจะพบแผลหลุมตามนิ้วมือ แขน หรือช่องปาก และมีอาการเจ็บปวดในช่องท้อง โดยอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้หากตรวจพบโรคช้า

การเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญในปี 2567 ทำให้อุณภูมิในช่วงฤดูร้อนสูงขึ้นผิดปกติ และปริมาณน้ำฝนในฤดูฝนมีปริมาณต่ำลง ส่งผลให้พื้นที่ในการเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวควาย ลดน้อยลง ขาดแหล่งน้ำ เกิดภัยแล้ง พื้นที่ทุ่งหญ้าถูกแดดเผาแห้งตาย วัวควายขาดแหล่งน้ำและอาหาร เมื่อไม่มีแหล่งน้ำและอาหาร วัวควาย จึงซูบผอม มองเห็นโครงกระดูกได้ชัด เป็นตำหนิของนายฮ้อยหรือพวกพ่อค้า ผลที่ตามมาคือ การกดราคาวัวควายให้ตกต่ำ

สภาพพื้นที่ป่าทำเลโพนสังข์ พื้นที่เลี้ยงสัตว์ของชาวบ้านโพนเงิน – โนนจาน ที่กำลังเจอกับปัญหาภัยแล้ง

โคแสนล้าน แนวทางการแก้ไขปัญหาราคาวัวตกต่ำของรัฐบาลปี 67

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการโครงการโคแสนล้าน มอบหมายให้สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) ตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณารายละเอียดและงบประมาณ 

โคแสนล้านเป็นโครงการนำร่องของทาง สทบ. เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชน โดยจะเป็นการดำเนินการภายใต้กรอบวงเงินสินเชื่อของสถาบันการเงินที่กำหนด กรอบวงเงิน 5,000 ล้านบาท ให้สินเชื่อจากกองทุนหมู่บ้าน สำหรับให้สมาชิกกองทุนหมู่บ้านกู้ยืม เพื่อที่จะแสดงประกอบอาชีพเลี้ยงโคจำนวนหนึ่งแสนครัวเรือน ครัวเรือนละ 50,000 บาท ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับคำแนะนำจากการเลี้ยงโคจากกรมปศุสัตว์ โดยรัฐบาลจะมีการจัดหาตลาดเพื่อรองรับต่อยอดในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน 

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการแสนล้าน คือ การยกระดับการผลิตของเกษตรกรรายย่อยและเอกชน ให้สามารถเลี้ยงโคเนื้อเชิงอุตสาหกรรม ตอบสนองต่อการบริโภคทั้งในและต่างประเทศ สร้างรายได้เพิ่มให้สมาชิกฯ อย่างน้อย 120,000 บาท ในระยะเวลา 5 ปี ต่อแม่โค 1 ตัว

วิธีการกู้ยืม

  • กองทุนหมู่บ้านฯ ยื่นขอรับสนับสนุนสินเชื่อจาก ธ.ก.ส. ในฐานะนิติบุคคล
  • สมาชิกฯ ยื่นความประสงค์ขอเข้าร่วมโครงการฯ กับกองทุนหมู่บ้านฯ
  • กองทุนหมู่บ้านฯ พิจารณาคุณสมบัติของสมาชิกฯ และยื่นขอสินเชื่อโครงการฯ กับ ธ.ก.ส. ในนามกองทุนหมู่บ้านฯ

เสียงสะท้อนจากคนเลี้ยงงัว

อภัย บุญถ่าน หนึ่งในพ่อค้าวัวในแถบทุ่งกุลาร้องไห้ สะท้อนปัญหาเรื่องราคาวัวควายให้ฟังว่า ปัจจุบันในปี 2567 ราคาวัวตกต่ำลงอย่างมาก หากเปรียบเทียบกับช่วง 3-4 ปีก่อนหน้า ราคาวัวที่ซื้อขายกันอยู่ที่ตัวละประมาณ 20,000 บาท ตอนนี้กลับเหลือเพียงตัวละ 10,000 ต้นๆ  ซึ่งลดลงมาเกือบเท่าตัว ทำให้คนไม่กล้าซื้อขายวัวควายเหมือนแต่ก่อน ยิ่งช่วงการระบาดของ โควิด-19 และโรคลัมปี สกิน ที่ทั้งคนและวัวต่างประสบปัญหาในการต่อสกับโรคระบาด ราคาของการขายวัวเริ่มตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับราคาเนื้อวัวในเขียงที่มีราคาสูงขึ้น

อภัย ยังกล่าวถึงปัญหาเรื่องพื้นที่การเลี้ยงสัตว์ด้วยว่า สภาพอากาศที่ไม่เหมาะสม ทำให้วัวควาย ขาดแคลนแหล่งน้ำและอาหาร ไม่มีทำเลเลี้ยงสัตว์เหมือนแต่ก่อน ทุ่งหญ้าที่เคยเลี้ยงวัวควายก็แห้งตายไปหมด 

“บางคนที่มีทุนทรัพย์อาจปลูกหญ้าในพื้นที่สวนตัวเองไว้เลี้ยงวัวได้ แต่สำหรับเกษตรกรบางคนที่ไม่มีที่ทางหรือเงินทุนก็เลี้ยงปล่อยไปตามมีตามเกิด”

ส่วนกรณีโครงการโคแสนล้านบาท ในมุมมองของนายอภัย บุญถ่าน ถือว่าเป็นโครงการที่อาจสร้างรายได้เพิ่มให้กับตนเองได้ แต่อีกมุมหนึ่งก็มีการตั้งคำถามว่า ราคาของวัวจะเป็นไปตามที่รัฐคาดหวังได้หรือไม่

“มองในความในความเป็นจริงราคาวัวควายในตลาดยังคงตกลงอย่างต่อเนื่อง เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการอาจนำเงินที่กู้มาใช้ผิดวัตถุประสงค์ และถึงแม้ว่าจะมีคำแนะนำจากกรมปศุสัตว์ แต่ในมุมของชาวบ้านอาจจะไม่เข้าใจในสิ่งที่ทางการนั้นแนะนำ”

วัวที่ซูบผอมจากการที่ไม่มีแหล่งน้ำและอาหารที่เพียงพอ

ประสาน ธรรมิภักดิ์ เกษตรกรอีกคนซึ่งเลี้ยงวัวเพื่อขายเก็งกำไรและขยายพันธุ์ ได้กล่าวถึงผลกระทบที่ตนเองได้รับว่า เมื่อราคาวัวควายตกต่ำ ตนเองก็ต้องจำใจขายวัวในราคาที่ต่ำตามไป เพราะเพราะต้องการเงินก้อนไปจ่ายค่าเทอมให้กับลูกชายคนเล็กที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับมหาวิทยาลัย วัวจึงมีความสำคัญมากเปรียบเสมือนเงินสำรองก้อนหนึ่งที่มีไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน และจะดีมากหากราคาวัวควายนั้นกลับมามีราคาขายที่ดีดังเดิม

ส่วนโครงการโคแสนล้านนั้นตนมองว่า เป็นเหมือนการไปกู้เงินเพื่อมาลงทุน คล้ายกับกู้มาเปิดร้านขายสินค้า ทว่าตอนนี้สินค้าที่กำลังขายนั้นไม่ได้มีราคาเป็นที่น่าพอใจ จึงอยากศึกษาผลจากผู้เข้าร่วมโครงการรายอื่นไว้ก่อนเพื่อเป็นแนวทางในการเข้าร่วมโครงการ

สวนของประสาน ธรรมิภักดิ์ ที่ได้เปลี่ยนเป็นพื้นที่เลี้ยงวัว เพราะความแห้งแล้งทำให้ไม่สามารถเลี้ยงวัวตามทุ่งได้เหมือนแต่ก่อน

กล่าวโดยสรุปคือ ปัญหาราราคาวัวควายตกต่ำนั้น เกิดจากหลายเหตุผลรวมกัน และเป็นปัญหาที่สะสมมานาน ซึ่งเกษตรกรบางรายอาจถึงขั้นถอดใจกับการเลี้ยง วัวควาย ในสภาวะที่ราคาตกต่ำ ส่วนรายที่สู้ต่อนั้นก็ยังมีความหวังว่า รัฐจะมีมาตราการอื่นๆ เพื่อเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาให้พอลืมตาอ้าปาก และเกิดการซื้อขายวัวควายอย่างคล่องตัวได้ โดยยังคงหวังว่า วัวควายจะยังคงเป็นตู้ ATM ของชาวนาได้เช่นเดิม และเป็นตู้ที่ไม่มีปัญหา สามารถกดถอนเงินได้อย่างไม่ขัดข้อง

image_pdfimage_print