นครพนม – 7 สิงหาคม 2566 วัดโพธิ์ชัย บ้านนาสะเดา อ.ปลาปาก จ.นครพนม ทางคณะกรรมการสโมสร 7 สิงหา กลุ่มอดีตสหายจากเขตต่างๆ ทั่วประเทศ สถาบันการศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกันจัดงาน กิจกรรมรำลึก ‘7 สิงหา..นาบัว วันเสียงปืนแตก ปีที่ 19’ เพื่อระดมทุนสร้างการก่อสร้าง อนุสรณ์สถานนักรบประชาชน 7 สิงหาบ้านนาบัว ให้เป็นแหล่งเรียนรู้เชิงประวัติศาสตร์และสืบสานอุดมคติประชาธิปไตยและความเท่าเทียมที่อดีตนักรบประชาชนได้ต่อสู้กับรัฐไทยครั้งแรกในนามของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ที่ใช้อาวุธยิงปะทะกับเข้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ นับกันว่าเป็นการใช้อาวุธต่อต้านอำนาจรัฐไทยครั้งแรกอย่างเป็นทางการในฤดูฝน ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2508
การออกแบบอนุสรณ์สถานฯ ที่มาจาการออกแบบโดยกลุ่มสถาปนิกจิตอาสา ได้ถูกนำแบบมาให้แกนนำอดีตสหายในพื้นที่ที่ยังมีชีวิตอยู่ร่วมกันวิพากษ์ให้ความคิดเห็น ถือเป็นจุดเริ่มต้นระดมทุนเพื่อก่อสร้างต่อไปในอนาคต ในช่วงบ่าย สิงห์ภูพาน (รัฐศาสตร์ราษฎร) ได้มีส่วนร่วมในการเรียนรู้และสนับสนุนทางวิชาการโดยการจัดเสวนา ‘สังคมไทยกับการเปลี่ยนผ่าน จากอนุรักษ์จารีตนิยมสู่ประชาธิปไตย’ นำโดย ตัวแทนนักวิชาการ ดร.อนุชิต สิงห์สุวรรณ (ม.นครพนม) ดร.พุฑฒิจักร สิทธิ (มรภ.สกลนคร) ตัวแทนนักงานเมือง ส.ส. คำพอง เทพาคำ ตัวแทนสหาย พคท.สหายเหล็ก และตัวแทนเยาวชนคนรุ่นใหม่ ไผ่ ดาวดิน – จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา
บรรยากาศการเสวนา ‘สังคมไทยกับการเปลี่ยนผ่าน จากอนุรักษ์จารีตนิยมสู่ประชาธิปไตย
สินไซ คำวงษ์ อายุ 71 ปี ชาวบ้านนาสะเดา อ.ปลาปาก กล่าวถึงอดีตเมื่อครั้งเข้าร่วมสงครามประชาชนที่ยืดเยื้อกว่า 20 ปีว่า การเป็นคอมมิวนิสต์ไม่ได้มีปรารถนาอื่นใดยิ่งใหญ่ไปกว่าต้องการให้สังคมดีขึ้น
“เมื่อก่อนชีวิตมันโดนข่มขี่ข่มเห็งจากรัฐเถื่อน เลยต้องเข้าป่าเข้าดงชาวบ้านที่นาสะเดาเข้าป่ากันเยอะพอๆ กับที่นาบัวเลย ผมกำลังเป็นหนุ่มอายุไม่เท่าไหร่ก็เข้าร่วม พ่อแม่ผมก็เป็นสหายขนขึ้นไปรุ่นปู่รุ่นตา เมื่อก่อนอยู่ในป่าลำบากมาก ทั้งต้องคอยระวังศัตรูฝ่ายตรงข้ามและต้องเพิ่มมวลชนฝั่งเราด้วย ข้อหาคอมมิวนิสต์มันแรงถ้าถูกจับได้ก็ถึงตาย ถ้านึกถึงเมื่อก่อนว่าเราออกป่าไปทำไมมันนานจนผมก็เกือบจำไม่ได้แล้ว แต่มันคือความหวังดีหวังที่อยากให้สังคมดีขึ้น อยู่ดีกินดีไม่ฆ่ากัน ไม่กดขี่ข่มเหงกัน ทุกวันนี้ยังตามข่าวการเมืองอยู่ เห็นเด็กๆ ที่ออกมาผมก็ให้กำลังใจเห็นความหวังของพวกเขา
“เถื่อนขนาดไหนน่ะเหรอ เมื่อก่อนพวกทหารเข้ามาตั้งค่ายอยู่ในวัดนานหลายปี ยุคสฤษดิ์ทหารมันมีอำนาจเยอะมันเหี้ยมมากๆ ต้นมะม่วงกลางวัดสองต้นนี้ พวกทหารจะจับคนที่เขาสงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์มาซ้อมตรงนี้บางคนเกือบตาย หรือตายก็มี”
ต้นมะม่วงกลางวัดโพธิ์ชัยอดีตสถานที่ฝ่ายรัฐทำร้ายผู้เห็นต่าง
รักษ์ไท จันสีเมือง อายุ 75 ปี เดินทางจากรุงเทพมหานครในนามของชมรม ‘แสงดาวแห่งศรัทธา’ เพื่อขายหนังสือครึ่งราคาและของที่ระลึกพรรค พคท. เพื่อระดมทุนสร้างอนุสรณ์สถานกล่าวถึงความดีใจในการร่วมงกิจกรรมและสถานการณ์การกวาดล้างคอมมิวนิสต์เมื่อหลายสิบปีก่อน
“ผมดีใจมากเลยงานวันนี้คนให้การต้อนรับดี มีมาทุกวัยเลย ยิ่งเห็นเด็กๆ นักศึกษาเข้ามาซื้อหนังสือผมมีแรงใจมาก เพราะที่เราทำแบบนี้ผมถือคติว่าเป็นการติดอาวุธทางปัญญา มาทำให้ประวัติศาตร์ตรงนี้ที่ถูกลืมเลือนไปถูกเอาขึ้นมาศึกษาเป็นบทเรียน มีการสร้างอนุสรณ์สถานเพื่อรำลึกถึงเพื่อนเราอยู่ทั่วประเทศ อย่างที่นาบัวถูกจัดรายรอบแล้ว ย้อนไปสิบกว่าปีคืนหลังทางเข้าไปยังเส้นเล็กๆ ลำบากมากๆ วันนี้เราก็ระดมทุนหาเงินและกำลังมาสร้างอนุสรณ์สถานที่นี่
“ตั้งแต่ 6 ตุลาฯ จนวันเสียงปืนแตกนักศึกษาจากกรุงเทพฯ มาที่อีสานเยอะกระจายไปทั่ว ผมกับน้องสาวได้ร่วมต่อสู้ด้วย น้องสาวผมเข้าป่า ส่วนผมคอยเป็นสายที่คอยส่งข่าวคราว จดหมาย หรือพวกยาให้กับคนในป่าได้ใช้และติดต่อกับครอบครัว คนเคลื่อนไหวในป่ามันยังพอมีพื้นที่ในการต่อสู้หรือหลบหนีได้ แต่คนเดินสายแบบผม ผมต้องระวังมาก ถ้าถูกจับได้มีแต่ขังกับฆ่า กฏหมายคอมมิวนิสต์ในสมัยนั้นมันแรงมากแค่แจ้งจับยังไม่สอบสวนว่าเป็นจริงๆ มั้ย ก็จับยัดคุกไปเลย 1 ปี
“ผมหนีตายมาทั้ง 14 ตุลาฯ (2516) 6 ตุลาฯ (2519) และพฤษภาทมิฬ (2535) ด้วย ทหารไล่ยิง ทุกวันนี้ยังติดตาทำให้เรารู้สึกผูกพันกันการต่อสู้ภาคประชาชน ผมเลยยังขายหนังสือของที่ระลึกพวกนี้เพื่อตอกย้ำให้ลูกหลานเราได้เห็นประวัติศาสตร์ บางคนเข้าใจว่าพวกคอมมิวนิสต์มันไม่ดี จริงๆ มันไม่ใช่ เราก็หวังดีให้สังคมมันเท่าเทียมเป็นธรรมเหมือนกัน”