[การโหวตนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 1]
น่าแปลก ที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ ส.ว. บางคน ประกาศว่า การโหวตนายกจะปิดสวิชต์ตัวเอง โดยการงดออกเสียง หรือกระทั่งบางคนหนีประชุมรัฐสภา
มันออกจะดูเป็นตลกร้าย ไม่ว่าจะมองผ่านแว่น หรือมุมมองด้านใดก็ตามแต่ หากมองในแว่นของคณิตศาสตร์การเมือง จะเห็นว่าสมการนี้มีเพียง 2 ตัวเลือกเท่านั้น คือ “Yes” or “No” นั่นคือ การโหวต “เห็นชอบ” นายกรัฐมนตรีที่มาจากเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร กับ “ไม่เห็นชอบ”
การงดออกเสียง ไม่ใช่การปิดสวิชต์ตัวเอง แต่เป็นการผลักดันสถานการณ์การเมืองให้ไปสู่ทางตัน
รัฐธรรมนูญมาตรา 272 วรรคหนึ่ง ระบุว่า
ในระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการตามมาตรา 159 เว้นแต่การพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159 วรรคหนึ่ง ให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และมติที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 159 วรรคสาม ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
จะเห็นได้ว่า ต้องมีมติ “เห็นชอบ” มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ของทั้งสองสภา ดังนั้นในโจทย์ข้อนี้ จะมีเพียง 2 เซตเท่านั้น คือ เห็นชอบ (A) และอีกเซตคือ ตรงข้ามกับเห็นชอบ (A’)
จะไม่มีการแบ่งเป็น เซตเห็นชอบ เซตไม่เห็นชอบ เซตงดออกเสียง เซตไม่มาประชุม เพราะทั้งหมดจะถูกพิจารณาเพียงเสียงของการเห็นชอบเท่านั้น ในเอกภพสัมพัทธ์ (จำนวนทั้งหมด)
ดังนั้น ไม่เห็นชอบ = งดออกเสียง = ไม่มาประชุม
หากึ่งหนึ่ง
การหาจำนวนของกึ่งหนึ่ง (ครึ่งหนึ่ง) คือการนำจำนวนทั้งหมด (ส.ส. + ส.ว.) มาหารด้วย 2
จะเห็นว่า จำนวน ส.ส. 500 + จำนวน ส.ว. 250 คน เมื่อหารหากึ่งหนึ่งจะได้ 375 มากกว่ากึ่งหนึ่งคือ 376 เสียง ดังนั้นทุกจำนวนจะถูกนับเป็นจำนวนของตัวเศษ ยิ่งจำนวน ส.ส. และ ส.ว. มากเท่าไร จำนวนกึ่งหนึ่งก็มากเท่านั้น ในทางกลับกัน หากจำนวนน้อยลง กึ่งหนึ่งก็น้อยลงเท่านั้น หาก ส.ว. ลาออกจำนวน 127 คน เสียงของ 8 พรรคร่วม 312 เสียง ก็สามารถตั้งรัฐบาลภายใต้รัฐธรรมนูญปัจจุบันได้
ผลการโหวตเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พบว่า
| ส.ส. | ส.ว. | รวม |
เห็นชอบ | 311 | 13 | 324 |
ไม่เห็นชอบ | 148 | 34 | 182 |
งดออกเสียง | 40 | 159 | 199 |
ไม่มาประชุม | 1 | 43 | 44 |
รวม | 500 | 249 | 749 |
ดังนั้น หากเสียงของฝ่าย ส.ว. ที่งดออกเสียง และไม่มาประชุม ที่มีจำนวน 202 คน ลาออกจำนวน 127 คน หรือ 63% การเลือกนายกรัฐมนตรี ก็สามารถจบได้ในครั้งเดียว จำนวน ส.ว. ที่ยังคงอยู่ในตำแหน่ง มีผลต่อการคำนวณหากึ่งหนึ่งของการโหวต
สุดท้าย ทางเลือกของเหล่า ส.ว. ผู้ทรงเกียรติ มีเพียง 3 ทาง คือ
1. กล้าประกาศต่อหน้าประชาชน ว่า “เห็นชอบ” หรือ “ไม่เห็นชอบ” ต่อนายกรัฐมนตรีที่มาจากเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎร ที่ได้รับฉันทามติ มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ไม่ต้องเป็นอีแอบ แสร้งวางตัวเป็นกลางโดยการ งดออกเสียง
2. ลาออก เพราะการลาออกมีผลต่อจำนวน กึ่งหนึ่ง ของรัฐสภา
3. ยกมือสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว. ในการโหวตเลือกนายก
[การโหวตนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2]
วันที่ 21 สิงหาคม พรรคเพื่อไทยแถลงตั้งรัฐบาล ประกอบด้วย 11 พรรคการเมืองจำนวน 314 เสียง ข้อเท็จจริงกรณีก็คือ
1. เสียง ส.ว. ยังคงมีผลต่อการเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งต้องการเสียงอีกจำนวน 61 เสียง เพื่อให้ได้ 375 เสียง (กึ่งหนึ่งของรัฐสภา)
2. การตั้งรัฐบาลในครั้งแรก ที่นำโดยพรรคก้าวไกล ประกอบด้วย 8 พรรคการเมือง จำนวน 312 เสียง ซึ่งน้อยกว่าการตั้งรัฐบาลโดยเพื่อไทยเป็นแกนนำเพียง 2 เสียงเท่านั้น ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยมาก
แต่พรรคเพื่อไทยมีความมั่นใจว่า ส.ว. จะโหวตรับรองให้ ซึ่งก็เป็นที่จับตาท่าทีของ ส.ว. ต่อการโหวตในครั้งนี้ ว่าจะเป็นไปในทิศทางใด จะปิดสวิชต์ตัวเองโดยการงดออกเสียง หรือจะโหวตรับรองโดยให้เหตุผลเรื่องการเคารพเสียงของสภาผู้แทนราษฎร (ที่สวนทางกับการโหวตในครั้งแรก)
สุดท้ายแล้ว “การงดออกเสียง” ในทางคณิตศาสตร์เท่ากับ “การไม่รับรอง” แต่การงดออกเสียงในมิติทางการเมือง มันคือเกมส์ของการแย่งชิงอำนาจ การที่เราไม่มีรัฐบาลหลังการเลือกตั้งกว่า 3 เดือน สะท้อนได้ดีว่า สมการนี้ถูกวางไว้หลายชั้น และตัวแปรภายนอกมีน้ำหนักในการตัดสินชี้ขาดมากกว่าตัวแปรภายใน