เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานักเรียนโรงเรียนศรีเมืองวิทยาคาร จังหวัดอุบราชธานี ได้ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการเรียนคาบโฮมรูมที่ถูกจัดไว้ก่อนเลิกเรียนทำให้นักเรียนต้องกลับบ้านเย็นกว่าปกติ ส่งผลกระทบต่อครอบครัวที่ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรต้องพึ่งพาแรงงานจากลูกๆ หลังเลิกเรียน แม้จะอธิบายเหตุผลอย่างไรผู้บริหารก็ไม่รับฟัง โดยอ้างว่า คาบโฮมรูมเป็นประโยชน์กับนักเรียน เพราะจะทำให้เกิดความใกล้ชิดระหว่างนักเรียนกับครูประจำชั้น The Isaan Record ชวนติดตามปมปัญหานี้

“พวกเราไม่เอาคาบ 9 เพราะทำให้กลับบ้านดึก พ่อแม่เป็นห่วง พวกหนูจึงออกมาประท้วง” เป็นเสียงของการ์ตูน (นามสมมุติ) หนึ่งในผู้ไม่เห็นด้วยกับการให้เรียนเพิ่มเติมหรือคาบ 9 กล่าวด้วยน้ำเสียงเกรี้ยวกราด 

ย้อนไปเมื่อเดือนพฤษภาคม นักเรียนโรงเรียนศรีเมืองวิทยาคาร จ.อุบลราชธานี ได้ออกมาชุมนุมต่อต้านการเรียนเพิ่มเติม จากเดิมที่เรียน 8 ชั่วโมง ตั้งแต่ 08.30 ถึง 15.30 น.เป็น 9 ชั่วโมง หรือเลิกเรียนเวลา 16.30 น. 

ถือเป็นประเด็นขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในโรงเรียนอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยผู้บริหารอ้างว่า การเรียนคาบ 9 มีความสำคัญต่อการเรียนการสอน เพราะเป็นคาบโฮมรูมที่ทำให้ครูและนักเรียนได้ใกล้ชิดกัน แต่ขณะเดียวกันแนวความคิดนี้กำลังจะเปลี่ยนชีวิตของนักเรียนอย่างยากจะกู่กลับ โดยเฉพาะโรงเรียนในต่างจังหวัดที่ถูกเรียนกว่า “โรงเรียนชายขอบ” 

“นักเรียนหลายคนไม่ต้องการคาบ 9 มัน เพราะทำให้กลับบ้านค่ำ กลับไปก็ช่วยพ่อแม่ทำสวนทำนาไม่ทัน บางคนบ้านอยู่ไกล กว่าจะถึงบ้านก็มืดค่ำ นักเรียนบางส่วนเดินทางมาด้วยตัวเองพ่อแม่เป็นห่วง มีหลายเหตุผลที่เราอยากให้มีการยกเลิกคาบ 9”การ์ตูน อธิบายเหตุผลในการคัดค้าน 

“ผู้ปกครองบ่นว่า ไม่อยากให้ลูกหลานกลับค่ำ บ้างก็กลัวประสบอุบัติเหตุ บ้างก็กลัวอันตรายจากคนเมายาบ้าในช่วงค่ำ นักเรียนบางกลุ่มมีปัญหากับทางครอบครัวเพราะกลับค่ำจึงทำให้เกิดการรวมกลุ่มนักเรียนเข้าไปเจรจากับทางผู้อำนวยการโรงเรียน แต่ก็ไม่เป็นผล”

นักเรียนโรงเรียนศรีเมืองวิทยาคาร จังหวัดอุบราชธานี รวมตัวคัดค้านการเรียนคาบโฮมรูมก่อนเลิกเรียนเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 โดยระบุว่า การเรียนดังกล่าวทำให้กลับบ้านเย็นกว่าปกติทำให้ผู้ปกครองเป็นห่วง

ผอ.อ้างอยากให้ใกล้ชิดครูประจำชั้น

เธอบอกอีกว่า หลังการพูดคุย ผู้อำนวยการโรงเรียนอธิบายว่า จุดประสงค์ของการมีคาบ 9 หรือคาบโฮมรูมนั้น เพื่อให้นักเรียนได้ทำความรู้จัก พูดคุยกับเพื่อนๆ และคุณครูที่ปรึกษา หากมีเวลาเหลือจากการปรึกษาปัญหาต่างๆ อยากให้ช่วยกันอยู่เพื่อทำความสะอาดบริเวณโรงเรียน

“ถ้ามีเรื่องที่ต้องแจ้งในทุกวันจนต้องมีคาบโฮมรูมก่อนเลิกเรียนและกินเวลามากขนาดนี้ พวกเราจะมีไลน์กลุ่มไว้สื่อสารทำไม” การ์ตูน ถามด้วยความสงสัย 

เธอยังเล่าอีกว่า นักเรียนส่วนหนึ่งเคยขอเสนอให้มีการลดเวลาของกิจกรรมหน้าเสาธงลงและนำคาบโฮมรูมมาไว้ก่อนคาบเรียนคาบแรกเพื่อประหยัดเวลา แต่ก็ถูกปฏิเสธ ทางผู้อำนวยการให้เหตุผลว่า ให้เวลาก่อนเข้าเรียนเป็นเวลากับผู้อำนวยการได้พบปะพูดคุยและแจ้งเรื่องสำคัญต่างๆ ซึ่งนักเรียนส่วนหนึ่งรู้สึกว่า ใช้เวลานานเกินไป 

“จากการเจรจากับผู้อำนวยการโรงเรียนได้รับแจ้งว่า หากคาบ 9 เป็นปัญหาให้ผู้ปกครองมาเจรจาแทน เพราะพวกเรายังเป็นเยาวชน ทำให้สงสัยว่า เสียงของเด็กๆ ไม่มีค่าพอที่จะถูกรับฟังเลยหรือ ทั้งที่พวกหนูเองคือคนที่อยู่ภายใต้ระบบนี้และเป็นผู้ที่กำลังเผชิญปัญหาโดยตรง”เธอกล่าวอย่างคร่ำครวญ 

ผู้ปกครองส่วนใหญ่เป็นปู่ย่าตายาย

การ์ตูนกล่าวเสริมว่า นอกจากการเข้าไปเจรจาของกลุ่มนักเรียนแล้ว ก่อนหน้านี้มีอาจารย์หลายคนที่ไม่เห็นด้วย เพราะเป็นห่วงความปลอดภัยขณะกลับบ้านของนักเรียน ซึ่งได้เข้าไปเจรจากับทางผู้บริหาร แต่ปัญหาก็ยังคงไม่ได้รับการแก้ไข

“ผู้ปกครองของเราหลายคนที่ไม่เห็นด้วย ส่วนใหญ่ก็มีอายุเยอะ เป็นตาเป็นยายหรือปู่ย่า เพราะพ่อแม่ของนักเรียนไปทำงานไกลบ้านที่ไม่กล้าพูดไม่กล้าขัดแย้งกับผู้บริหารโรงเรียน เพราะกลัวว่า การพูดออกไปจะเป็นการทำให้มีปัญหา”การ์ตูนกล่าว

ส่วนทิวา (นามสมมุติ) นักเรียนอีกคนเล่าถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่า ผ่านมาหลายเดือน แต่ปัญหาก็ยังไม่หายไปและเพิ่มมากขึ้น เพราะผู้บริหารไม่เข้าใจว่า โรงเรียนอยู่ในชุมชนเกษตรกร ผู้ปกครองส่วนใหญ่เป็นชาวไร่ ชาวนา 

“หลังเลิกเรียนพวกเราต้องกลับไปช่วยพ่อแม่ ปู่ ย่า ตา ยาย บางคนปลูกมัน ขนปุ๋ย เลี้ยงควาย ยิ่งครอบครัวไหนที่หลานอยู่กับยายกับตาที่แก่แล้ว เรายิ่งต้องเป็นเสาหลักที่ทำงานให้กับคนในครอบครัว การมีคาบ 9 จึงเป็นการกินเวลาชีวิตและผลักภาระให้กับพวกเรา”เธออธิบายเหตุผล

นักเรียนชุมนุมเรียกร้องให้งดคาบ 9 

เมื่อการเจรจาไม่เป็นผลทำให้แกนนำนักเรียนและคณะกรรมการนักเรียนรวมตัวกันเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2566 เข้าพบผู้บริหารโรงเรียนอีกครั้งเพื่อเรียกร้องให้แก้ไขปัญหา รวมถึงนำความคิดเห็นของผู้ปกครองหลายคนเสนอเพื่อชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตามทีมข่าวได้ติดต่อไปยังผู้บริหารโรงเรียนเพื่อสอบถามถึงปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบ 

นักเรียนโรงเรียนศรีเมืองวิทยาคาร จังหวัดอุบราชธานี ต่อแถวออกจากโรงเรียนหลังเลิกเรียนคาบโฮมรูม 

มุมมองผู้ปกครองที่อยู่ห่างกับลูก

สุภานี จัทวรีย์ ผู้ปกครองของนักเรียนที่ไม่ได้อยู่กับลูก เพราะต้องไปทำงานต่างถิ่น กล่าวกับคณะกรรมการนักเรียนว่า อยากฝากข้อความถึงครูและผู้อำนวยการโรงเรียนว่า ไม่เห็นด้วยที่โรงเรียนเลิกค่ำ เพราะเป็นห่วงลูกที่ต้องกลับบ้านดึก บางคนต้องเดินทางผ่านป่า ผ่านเขา 

“อยากฝากไปถึงโรงเรียนอยากให้คำนึงถึงความปลอดภัยของเด็กๆ ด้วย ส่วนตัวอยู่ห่างลูกก็ยิ่งเป็นห่วง เสียดายที่อยู่ไกล ไม่ได้เข้าร่วมประชุม ถ้าได้ร่วมประชุมก็อยากจะพูดถึงประเด็นความปลอดภัยของลูกในที่ประชุมด้วย”

นโยบายคาบ 9 กับการนำไปใช้จริง

ขณะที่ กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ หรือครูจุ๊ย คณะทำงานด้านการศึกษาคณะก้าวหน้า กล่าวว่า ส่วนมากโรงเรียนที่เน้นวิชาการมากๆ จะเพิ่มคาบ 9 เข้าไปเสริมเป็นเวลาเรียน และยังมีคาบศูนย์ที่เพิ่มเข้ามาก่อนเวลาเข้าเรียน ซึ่งนโยบายนี้ไม่ได้บังคับ

“นโยบายนี้คงจะไม่ได้มีการแจ้งแบบเป็นชุดคำสั่งของกระทรวงศึกษาธิการที่ชัดเจน คิดว่า เป็นการตัดสินใจของทางผู้อำนวยการโรงเรียนในการใช้คาบ 9 ร่วมกับการพูดคุยแนวนโยบาย แม้จะมีกรณีการเป็นคำสั่งออกมาจริงๆ ก็ตาม แต่ก็ไม่ควรตายตัว ควรอิงกับบริบทชีวิตนักเรียนเป็นหลัก”

ครูจุ๊ยยกตัวอย่างกรณีวันแม่ของโรงเรียนวัดอนุบาลศรีธาตุ จ.อุดรธานี ที่ผู้บริหารคำนึงถึงบริบทชีวิตนักเรียนเป็นหลัก พอมีผู้บริหารที่สนใจบริบทของนักเรียนมากพอ ก็จะยึดตัวนักเรียนเป็นหลักในการตัดสินใจปรับเปลี่ยนกิจกรรม

“หากผู้บริหารมองเห็นว่าคาบ 9 เป็นประโยชน์จริงๆ ทางโรงเรียนสามารถปรับและยืดหยุ่นให้สอดคล้องกับบริบทของนักเรียนได้ไหม สามารถเจรจาเพื่อหาทางออกร่วมกัน โดยที่ไม่ให้คาบ 9 กระทบกับชีวิตของนักเรียนมากเกินไป”เธอเสนอ 

กุลธิดาได้เสนอว่า ควรมีการทำแบบสำรวจขึ้นมาเพื่อสำรวจบริบทชีวิตของนักเรียนแต่ละคนว่า มีกี่ครอบครัวบ้างที่มีปัญหาและแต่ละครอบครัวที่มีปัญหา มีปัญหาด้านใดบ้าง ทั้งภาระหน้าที่ การเดินทาง เพื่อทำความเข้าใจปัจจัยชีวิตด้านอื่นๆ ของนักเรียนมากขึ้นและนำไปปรับใช้กับคาบ 9 ในอนาคต

หมายเหตุ : ผลงานชิ้นนี้อยู่ในโครงการ Journalism that Builds Bridges (JBB) สนับสนุนโดย สถานทูตเนเธอร์แลนด์ สถานทูตฟินแลนด์ สถานทูตนิวซีแลนด์ UNDP และ UNESCO

image_pdfimage_print