หลากหลายนโยบายของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของประเทศไทย สร้างความประทับใจเป็นที่จดจำและรับรู้โดยทั่วถึงกันของประชาชนทุกระดับ จากการลงพื้นที่พบปะพี่น้องประชาชนเพื่อดำเนินนโยบายและแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ทำให้ ทักษิณ ชินวัตร กลายเป็นนายกรัฐมนตรีที่ถูกพูดถึงทั้งในประเทศและต่างประเทศ 

ภายหลังจากพรรคไทยรักไทยได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย นโยบายที่เคยให้สัญญาประชาคมไว้ถูกนับหนึ่ง อย่างนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค หรือที่ถูกเรียกขานกันในโครงการ “บัตรทอง” มีเป้าหมายเพื่อให้คนรากหญ้าสามารถเข้ารับบริการด้านสุขภาพได้อย่างทั่วถึง นโยบาย OTOP ที่สามารถสร้างมูลค่าให้กับสินค้าจากชุมชน โมเดลการพัฒนาสินค้าท้องถิ่นให้กลายเป็นก้าวสำคัญของระบบเศรษฐกิจ นโยบาย กองทุน SML โครงการเพื่อพลิกฟื้นหมู่บ้านให้มีพลังในการขับเคลื่อนสู่การแก้ไขปัญหาความยากจน โดยจัดสรรงบประมาณแผ่นดินให้หมู่บ้านตามขนาดใหญ่ กลาง เล็ก นโยบาย โคล้านตัว ที่สามารถแก้ไขปัญหาการว่างงานของเกษตรกรในช่วงหลังฤดูการทำการเกษตร

ภาพถ่าย ดร. ทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี พ.ศ. 2548 ภาพ: THAKSIN official

อีกหนึ่งนโยบายที่ติดหูประชาชนจนถึงทุกวันนี้คือ กองทุนหมู่บ้าน หรือ กองทุนเงิน 1 ล้านบาท สำหรับการเสริมสร้างพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนเมืองให้มีขีดความสามารถในการจัดระบบบริหารจัดการเงินกองทุนหมุนเวียนในหมู่บ้านและชุมชนเมืองกันเอง 

นโยบายกองทุนหมู่บ้านกลายเป็นหนึ่งในนโยบายสาธารณะ ที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งยังถูกปรับปรุงให้สอดคล้องกับบริบทสังคมปัจจุบันอยู่เสมอ นับเป็น โครงการ Microfinance ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ที่ทำงานโดยภาครัฐ โดยมีเป้าหมายคือ “ประชาชนคิด ประชาชนใช้ และประชาชนจัดการเงินทุนทั้งหมด” ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำอย่างแท้จริง

“วันนี้มีความสุขมากในการเข้าสู่การเมือง มีโอกาสทำงานให้กับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศอย่างแท้จริง และไม่ว่ารัฐบาล ตนเอง ข้าราชการ รวมถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทุ่มเทการทำงานในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา ทำให้เงิน 7,000 ล้านบาท ถูกโอนไปยังหมู่บ้านกว่า 7,000 แห่ง หลายคนคิดว่าเรื่องนี้เป็นความฝัน เพราะช่วงหาเสียงเลือกตั้งก็ถูกดูแคลนว่า เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ร่วมมือกันเป็นอย่างดี” 

ส่วนหนึ่งของคำกล่าวของ ทักษิณ ชินวัตร ที่กล่าวกับประชาชนในวันเปิดตัวกองทุนหมู่บ้านพร้อมโอนเงินล็อตแรกไปสู่ประชาชนอย่างเป็นทางการ ในปี พ.ศ. 2544

นายกฯ ของคนจน

จากนโยบายของรัฐบาลในสมัยของนายกทักษิณ ชินวัตร ที่กล่าวไปข้างต้น นโยบายเหล่านี้สามารถยกระดับชีวิตความเป็นอยู่และทลายความยากจนของผู้คนโดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งถูกทอดทิ้งมานานอย่างเห็นเป็นรูปธรรม กระทั่งมัดใจคนจนทำให้ 2 ภูมิภาคนี้ กลายเป็น “พื้นที่สีแดง” อันมีความหมายมาจาก “ภูมิภาคที่เต็มไปด้วยกลุ่มคนเสื้อแดง” ที่คอยสนับสนุนทักษิณ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรีที่นั่งอยู่ในใจคนจน

สำนักข่าว VOICE online  เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2557 รายงานข่าวเรื่อง สำนักข่าวเอเอฟพีลงพื้นที่อุดรธานี สัมภาษณ์ผู้สนับสนุนรัฐบาลชินวัตร คนเสื้อแดงเผย ‘ทักษิณ’ ช่วยให้มีกินมีใช้ พ้อคนกรุงดูแคลนชาวอีสานโง่ ลั่นพร้อมสู้ตุลาการภิวัตน์โค่นอำนาจประชาชน โดยระบุว่า

Aidan Jones ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าว เอเอฟพี สำนักข่าวต่างประเทศได้เดินทางมายังประเทศไทยเพื่อสัมภาษณ์ผู้สนับสนุน “รัฐบาลชินวัตร” หรือกลุ่มคนเสื้อแดง ในพื้นที่ จ.อุดรธานี โดยรายงานจากพื้นที่ บ.ดงยาง จ.อุดรธานี เสียงจากฐานเสียงของพรรคการเมืองที่เป็นพันธมิตรกับ ทักษิณ ชินวัตร อย่างพรรคเพื่อไทย ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “พวกตนจะลงคะแนนเลือกรัฐบาลที่ตระกูลชินวัตรสนับสนุนเป็นการตอบแทนที่ทักษิณช่วยให้ผู้คนในภูมิภาคที่ยากจนที่สุดนี้มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น”

สมสมัย พาพร หญิงอายุ 47 ปี ชาว จ.อุดรธานี ได้ให้สัมภาษณ์กับ Adidan ว่า 

“ก่อนยุคทักษิณ ไม่เคยมีนักการเมืองมาที่นี่ ทักษิณเข้าใจหัวอกของพวกเรา ช่วยเรา ตอนนี้พวกเราอยากช่วยเขา ครอบครัวของเราต้องหาเช้ากินค่ำ จนกระทั่งได้รับเงินกู้ดอกเบี้ยถูกจากกองทุนหมู่บ้าน จำนวน 9,000 บาท เมื่อปี พ.ศ. 2549 เราเอาเงินกู้มาขยายร้านขายของชำ ต่อเติมบ้าน และเริ่มมีเงินเหลือเก็บเป็นครั้งแรก และเรายังได้รับประโยชน์จากโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค”

ภาพ: VOICE online

อาจสามารถโมเดล

การเดินทางไปยังพื้นที่ต่างๆ และดำเนินนโยบายแก้ไขปัญหาความยากจนให้กับพี่น้องประชาชนเกือบทั่วทั้งแผ่นดินอีสาน หรือที่สื่อหลายสำนักเรียกว่า ทัวร์นกขมิ้น เป็นยุทธการสร้าง ยี่ห้อทักษิณ ขึ้นมา และหนึ่งในนั้นคือแผ่นดินเมืองร้อยเอ็ด อย่าง อ.อาจสามารถ การเดินทางมาที่นี่ของทักษิณ ทำให้พื้นที่แห่งนี้ถูกเรียกว่า อาจสามารถโมเดล เขามาทำอะไรที่นี่กันแน่ และน่าสนใจที่ อ.อาจสามารถ ถูกใช้เป็นพื้นที่ต้นแบบสำหรับการวางแผนเพื่อแก้ปัญหาความยากจนของพี่น้องประชาชนทั่วทั้งประเทศต่อไป

ทักษิณ ชินวัตร เดินทางมาพบพี่น้องประชาชนชาว อ.อาจสามารถ ภาพ: Thairath Plus

ย้อนกลับไปราว 20 ปีก่อน อ.อาจสามารถ เป็นอีกพื้นที่ ที่ทักษิณใช้เป็นฉากหลังสำหรับการทำบางสิ่งบางอย่าง หลายคนคงจำภาพนายกรัฐมนตรีที่ชื่อทักษิณ ชินวัตร ขับมอเตอร์ไซค์นำหน้าพี่น้องประชาชน ราวกับว่าเขาเป็นสมาชิกผู้ร่วมเส้นทางบนถนนลูกรังสายนั้นมานาน สิ่งที่ทักษิณกำลังทำต่อไปนี้ ถูกเรียกว่า เรียลลิตี้แก้จน เพราะมีการถ่ายทอดสด 24 ชั่วโมง ผ่านรายการ Backstage Show : The Prime Minister โดยมีการใช้กล้องถ่ายทอดสดเกือบ 40 ตัว แพร่ภาพตลอดการลงพื้นที่ 5 วัน 5 คืน ผ่านช่อง UBC 16 ของบริษัทยูไนเต็ด บรอดคาสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด มหาชน โดยฉายภาพการใช้ชีวิตอย่างติดดิน และการกินอยู่หลับนอนร่วมกับชาวบ้าน สิ่งนี้ต่างทำให้ผู้รับชมเกิดความเข้าใจและรับรู้โดยทั่วกันของประชาชนทุกระดับ ทุกพื้นที่ว่า นายกฯ ท่านนี้เข้าถึงประชาชนคนรากหญ้าอย่างแท้จริง ถึงแม้สิ่งที่เห็นจะเป็นการใช้ชีวิตที่ผ่านการบันทึกถ่ายทำก็ตาม 

มีรายงานจากสำนักข่าว MGR ONLINE เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2549 โดยมีการพาดหัวข่าวว่า ฮือฮาอาจสามารถโมเดล – “ทักษิณ” เติมเงินแก้จนใน 10 นาที โดยภายในเนื้อหาได้ระบุว่า

“วันนี้ (18 มกราคม) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาที่วัดดงเจ้าปู่มเหศักดิ์ฯ อ.อาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด เพื่อติดตามการแก้ปัญหาความยากจน โดยทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของนายอำเภอ และหน่วยงานราชการต่างๆ ที่กำลังซักถามข้อมูลของชาวบ้าน ซึ่งนายกฯ บอกว่ามาตรวจการบ้านนายอำเภอถึงวิธีการแก้ปัญหาดังกล่าว

“จากนั้น นายกฯ ได้ซักถามชาวบ้านเป็นตัวอย่าง 5 ราย ก่อนที่จะให้นายอำเภอและหน่วยราชการซักถามปัญหาชาวบ้านต่อไป โดยคอยนั่งฟังและคอยกล่าวแทรกเป็นระยะเพื่อแนะนำแนวทางการแก้ปัญหา ซึ่งส่วนใหญ่นายกฯ จะใช้วิธีเพิ่มรายได้ โดยใช้คำว่า “วิธีเติมเงิน” นอกจากนั้นนายกฯ ยังได้ชี้แนะวิธีแก้ปัญหาความยากจนแก่นายอำเภอ หน่วยงานราชการ และประชาชนที่เดินทางมา ความว่า

“นายอำเภอต้องเลิกยึดติดกับระบบราชการมากนัก แต่ให้ใช้วิธีเติมเงิน เพิ่มรายได้ เอาละจดโน้ตลงไปเลย เป็นการสั่งยาเรียบร้อย กลับบ้านได้” 

ในยุคนั้นนโยบายที่พรรคไทยรักไทยได้ดำเนินโครงการและสร้างกระแสความนิยมให้กับพรรคมากที่สุด คือนโยบาย กองทุนเงินล้าน นโยบายแก้จนที่ทำให้ทุกคนมีอยู่มีกิน โจทย์ของนโยบายนี้คือการแก้ปัญหาความยากจนแบบเร่งด่วน แนวทางส่วนใหญ่จึงเน้นแก้ปัญหาเรื่องเงิน ซึ่งทักษิณได้เล็งเห็นว่าพื้นที่ต่างจังหวัดส่วนใหญ่ยังขาดงบประมาณในการแก้ไขปัญหา และประชาชนยังขาดแคลนทุนทรัพย์เพื่อเริ่มต้นลงทุน และต่อยอดเพื่อสร้างรายได้ในพื้นที่ของตนเอง ทำให้ทักษิณนำนโยบายนี้มาใช้เป็นนโยบายหลักเพื่อแก้ปัญหา 

งบประมาณกว่า 250 ล้านบาท เป็นงบประมาณที่ทักษิณวางแผนไว้ว่าจะสามารถแก้ปัญหานี้ และคิดที่จะขยายแนวทาง อาจสามารถโมเดล ต่อไปยัง 800 อำเภอ ทั่วประเทศ โดยจะให้อำเภอละ 250 ล้านบาท รวมงบประมาณทั้งหมดจะอยู่ที่ราวๆ 200,000 ล้านบาท 

จากนั้นไม่นาน 19 กันยายน 2549 เหตุการณ์ รัฐประหาร ก็เกิดขึ้น ทำให้เรียลลิตี้แก้จนของทักษิณที่เริ่มต้นจากพื้นที่ อ.อาจสามารถ ถูกยุติลงและไม่สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมตามโมเดลที่ทักษิณวางไว้ ส่งผลต่อหลายนโยบายของพรรคไทยรักไทยจนถูกแช่แข็งไปพร้อมกันในที่สุด

ทักษิณ ชินวัตร เดินทางมาพบพี่น้องประชาชนชาว อ.อาจสามารถ ภาพ: Facebook: THAKSIN Shinawatra

การมาเยือน อ.อาจสามารถ ของทักษิณ ทำให้หลายคนมองว่าการทำแบบนี้คือเรียลลิตี้โชว์ ที่สร้างภาพการแก้จนผ่านหน้าจอทีวี แต่กลับได้คะแนนเต็มร้อยจากคนอาจสามารถและคนร้อยเอ็ด เพราะไม่เคยเห็นนายกคนไหนมาเยือนอีสาน ถึงแม้จะเป็นการสร้างภาพแต่ก็สามารถครองใจคนในพื้นที่ได้เต็มๆ และการถ่ายทอดสดของผ่านช่อง UBC 16 ในครั้งนั้น ถือเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดสำคัญ ในการขยายฐานเสียงสู่กลุ่มคนระดับชั้นกลางได้อย่างแยบยล เพราะนอกจากจะสร้างภาพหาเสียงในกลุ่มระดับคนรากหญ้าในพื้นที่ภาคอีสานแล้ว ยังขยายถึงกลุ่มคนระดับชนชั้นกลางที่เป็นสมาชิกยูบีซีกว่า 761,126 ครัวเรือน ถ้าวัดจากฐานรายได้ 30,000 บาท/ครัวเรือน

อย่างไรก็ตาม แม้การถ่ายทอดสดเรียลลิตี้ที่อาจสามารถ จะถูกบอกว่าไม่มีสคริปต์ ไม่มีการจัดเตรียมประชาชนเพื่อเข้าฉาก แต่หากมองดีๆ การลงไปใช้ชีวิตร่วมกับชาวบ้านของนายกฯ ครั้งนี้ กลับเป็นภาพที่สร้างความน่าสงสัยให้กับกลุ่มคนชนชั้นกลาง ว่าแท้จริงแล้วนี่เป็นการเตรียมสคริปต์ไว้ก่อนหน้าหรือไม่ ภาพของทักษิณขณะที่กำลังแจกแบงก์พันกว่าหลายหมื่นบาทให้กับชาวบ้านเพื่อหาเสียงอย่างชัดเจนที่สุด ก็ทำให้คนชนชั้นกลางจำนวนไม่น้อยรู้สึกไม่ดีต่อภาพที่เกิดขึ้น แต่กลับรู้สึกถึง ภาพของนักการตลาดในคราบของผู้นำประเทศ ชัดเจนยิ่งขึ้นในแบบฉบับยี่ห้อทักษิณแทน

ในวันที่พ่อใหญ่ทักษิณบินกลับประเทศไทย 

ภายหลังจากทักษิณ ชินวัตร ทวีตข้อความผ่านบัญชีทวิตเตอร์ส่วนตัวของตน ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2566 ความว่า

“ผมขออนุญาตอีกครั้ง ผมตัดสินใจแล้วว่าจะกลับบ้านไปเลี้ยงหลานภายในเดือนกรกฎาคมนี้ ก่อนวันเกิดผมครับ ขออนุญาตนะครับ เกือบ 17 ปีแล้วที่ต้องพลัดพรากจากครอบครัว ผมก็แก่แล้วครับ” 

และต่อจากนั้นไม่นาน ทักษิณได้ทวีตข้อความเพิ่มเติมว่า 

“ไม่ต้องกังวลว่าผมจะเป็นภาระพรรคเพื่อไทย ผมจะเข้าสู่กระบวนการกฎหมาย และวันที่ผมกลับยังเป็นช่วงรัฐบาลรักษาการของ พล.อ. ประยุทธ์ อยู่ ทั้งหมดคือการตัดสินใจของผมเองด้วยความรักความผูกพันกับครอบครัว แผ่นดินเกิด และเจ้านายของเรา”

ทวีตข้อความผ่านบัญชีส่วนตัวบนทวิตเตอร์ของทักษิณ ชินวัตร

ข้อความผ่านทวีตของทักษิณต่างเรียกเสียงฮือฮาให้กับประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มคนเสื้อแดงและกลุ่มคนรักทักษิณทั่วประเทศ ทุกฝ่ายต่างตั้งตารอการกลับมาของทักษิณ และเกิดคำถามขึ้นมากมายท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศ ว่าการเดินทางกลับมาของทักษิณในครั้งนี้ มีเงื่อนงำอะไรบางอย่างหรือไม่

ในที่สุด 22 สิงหาคม 2566 ทักษิณ ชินวัตร ได้เดินทางกลับมาเหยียบผืนแผ่นดินไทยอีกครั้งตามที่ประชาชนหลายกลุ่มเฝ้ารอ หลายสำนักข่าวได้ออกมานำเสนอภาพของกลุ่มคนเสื้อแดงจากภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่รวมพลเดินทางเข้ากรุง มุ่งหน้าสู่สนามบินนานาชาติดอนเมืองเพื่อต้อนรับการกลับมาของทักษิณ ชินวัตร 

22 สิงหาคม 2566 สุภัค นิยมศิลป์ อายุ 55 ปี คนเสื้อแดงจาก จ.ชัยภูมิ ได้เผยความรู้สึกแห่งความหวังและความคิดถึงที่มีต่ออดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ให้สำนักข่าว ไทยรัฐ ออนไลน์ ได้ฟังว่า

“ตัวเองรู้สึกดีใจมาก หลังจากที่รอมา 17 ปี เต็มๆ รอคอยนายกทักษิณมาอย่างทรมาน ด้วยรักและคิดถึงท่านมาก และวันนี้ก็มาถึง จะเดินทางไปรอรับนายทักษิณ ที่สนามบินดอนเมือง และจะตามไปจนถึงที่สุด

“วันนี้ได้เตรียมเสบียง เป็นข้าวเหนียวปลาร้า หมูต้ม ไก่ต้มมาพร้อม คิดว่าพี่น้องคนเสื้อแดงทั่วประเทศ จะมากันเยอะโดยเฉพาะคนเสื้อแดงจากทางภาคอีสาน ตัวเองอยากจะบอกนายทักษิณว่า วันนี้ที่รอคอยก็มาถึงแล้ว รอวันที่นายทักษิณกลับมาจริงๆ และเป็นวันที่คนเสื้อแดงรอคอย มาอย่างยาวนาน 17 ปี ดีใจมากที่ได้มารับนายทักษิณ ตามที่พวกเราคนเสื้อแดงเคยพูดไว้ แล้ววันนี้ที่รอคอยก็มาถึง”

กลุ่มคนเสื้อแดงจากพื้นที่ จ. ขอนแก่น กำลังเดินทางไปรอรับทักษิณที่สนามบินนานาชาติดอนเมือง ภาพ: The Isaan Record

มีรายงานจากสำนักข่าวหนังสือพิมพ์ แนวหน้า หัวข่าว เสื้อแดงอีสานลงขัน ยกทัพเช่ารถตู้รถบัส แห่ต้อนรับ‘ทักษิณ’ ได้สัมภาษณ์ พรรณวดี ตันติศิรินทร์ ที่ปรึกษากลุ่มสตรี 20 จังหวัดภาคอีสานและอดีตแกนนำ กลุ่ม นปช.ภาคอีสาน ให้สัมภาษณ์ถึงการเดินทางกลับมายังประเทศไทยของอดีตนายกฯ ทักษิณ กับสื่อมวลชนว่า

“22 สิงหาคม นี้ คงไม่เลื่อนอีกแล้ว เพราะหลายฝ่ายปรามาสว่าท่านทักษิณเลื่อนการเดินทางกลับไปกลับมา จนคิดว่าคงจะไม่กลับมาแน่นอน ซึ่งมันเป็นเรื่องของศักดิ์ศรีขณะเดียวกันทางกลุ่มคนเสื้อแดง ขอเป็นกำลังใจและเชียร์ให้ท่านกลับมาไทย เมื่อกลับมาแล้วเราทุกคนจะช่วยกันปกป้องให้ได้รับความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมให้มากขึ้น ขณะนี้อยู่ในช่วงการเตรียมจัดตั้งรัฐบาลโดยการนำของพรรคเพื่อไทย ซึ่งวันที่ท่านทักษิณเดินทางมากลับมาก็เป็นวันเดียวกันกับวันโหวตเลือกนายกฯ ทำให้คนเสื้อแดงอดไม่ได้ที่จะเปรียบเหมือนฟ้าได้ประทานสิ่งที่ดี สิ่งที่เป็นมงคลให้กับประเทศไทย เป็นของขวัญอันมีค่าสำหรับประเทศไทย เพราะอย่างน้อยๆ ท่านจะได้มาช่วยแนะนำ มาเป็นที่ปรึกษา หรือเป็นตัวเชื่อมการค้าระหว่างประเทศ เราเสียดายความสามารถของท่าน จึงอยากให้ท่านกลับมาช่วย”

ขณะที่ วัยกูณฐ์ หมื่นวัน คนเสื้อแดงจังหวัดขอนแก่น และหนึ่งในสมาชิกผู้ร่วมเดินทางไปยังสนามบินดอนเมืองเพื่อต้อนรับการกลับมาของทักษิณ กล่าวต่อสำนักข่าว The Isaan Record ว่า

“การรวมตัวของคนเสื้อแดงครั้งนี้เป็นการนัดรวมตัวทางแอพพลิเคชั่นไลน์ เป็นการบอกต่อจากอำเภอหนึ่งไปอำเภอหนึ่ง การเดินทางไปครั้งนี้ เพราะต้องการไปให้กำลังใจนายกฯ ที่อยู่ในดวงใจของคนไทยทั้งประเทศ โดยเฉพาะนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคและนโยบายอื่นๆ ที่ทำให้คนหายจน”

image_pdfimage_print