สิ้นเสียงปืนและเปลวควันจากแก๊สน้ำตากับบรรยากาศการถูกข้อครหาเพื่อนำคนไปปรับทัศนคติ เข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านภายใต้บรรยากาศการควบคุมจากรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ด้วยกฎอัยการศึกและก้าวเข้าสู่การเมืองไทยที่มีการเลือกตั้งคือรัฐบาลของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือที่เรียกว่ารัฐบาลประยุทธ์ 2 มาถึงการเลือกตั้งที่เป็นพลเรือนในปัจจุบัน หากย้อนกลับไปในช่วงนั้นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นที่แทบจะเป็นเรื่องที่มีราคาแพงที่สุดในสังคมไทย กระบวนการต่างๆ ในการจัดสรรทรัพยากรสิ่งแวดล้อมที่ดินทำกินขาดการมีส่วนร่วมของผู้คนในพื้นที่ การเรียกร้องคัดค้านเรื่องต่างๆ จึงทำได้ยาก 

ในขณะนั้น ณัฐพร อาจหาญ หรือ บี อดีตผู้ประสานงานรายการเวทีสาธารณะช่อง Thai PBS ก่อนจะกลับมาทำเรื่องสิทธิที่ดินทำกินที่ จ.กาฬสินธุ์ ก็เคยไปหนึ่งในผู้ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อต่อสู้ปกป้องในสิทธิที่ดินทำกิน จากการที่เธอเป็นลูกหลานผู้ถากถางไร่นา และเป็นแนวหน้าของขบวนการเดิน Walk for Rights ที่จัดโดยขบวนการอีสานใหม่ เริ่มเส้นทางจากชัยภูมิมุ่งหน้าสู่สุรินทร์ เป้าหมายเพื่อที่จะพูดคุยกับคนในอีสานที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐและโครงการพัฒนาของเอกชน ซึ่งคาบเกี่ยวในช่วงที่แต่ละพื้นที่ชุมชนกำลังต่อสู้เรื่องสิ่งแวดล้อม การสร้างเขื่อนที่โป่งขุ่นเพชร จ.ชัยภูมิ หรือชาวกาฬสินธุ์กับขอนแก่นต่อสู้เรื่องการขุดเจาะปิโตรเลียม รวมถึงพี่น้องที่กระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าในหลายพื้นที่ พวกเขาไม่สามารถรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องได้เนื่องจากกฎหมายอัยการศึกของคสช. และคำสั่ง คสช.3/58 ว่าห้ามมีการรวมตัวกันเกิน 5 คนขึ้นไป รวมถึงการพูดคุยทางการเมืองถือว่ากระทำผิดกฎหมาย ซึ่งจึงกลายมาเป็นขบวน Walk for Rights ที่เริ่มต้นด้วยการเดินเพียงแค่ 4 คน หลังจากนั้นก็เริ่มมีพี่น้องชาวบ้านมาเดินด้วยรวมหลายพันคน

บ่ายวันหนึ่ง หลังกลับจากการคัดค้านเวทีรับฟังความคิดเห็นการสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล อ.ปทุมรัตน์ จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งเธอเข้าไปมีส่วนในการสนับสนุนการต่อสู้ของชาวบ้านที่นั่น เราชวนเธอทบทวนถึงรายทางที่ผ่านมา และตั้งคำถามถึงชัยชนะของประชาชน

ภาพขวาจาก กลุ่มเครือข่ายประชาชนรักทุ่งกุลา

เล่าถึงการเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ‘ผู้หญิง’ กับการเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ในรัฐบาลทหาร 

ช่วงที่เราลุกขึ้นมาต่อสู้เป็นช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวกับช่วงรัฐประหารค่อนข้างเยอะ เริ่มเข้ามาในอีสานเพื่อที่จะขยับเรื่องสิ่งแวดล้อมประมาณประมาณปี 2556 เป็นช่วงรอยต่อระหว่างปี 2557 ภายใต้รัฐบาลเผด็จการ มีทหารเข้ามาควบคุม ใช้กลไกฝ่ายปกครอง เราพบว่ารูปแบบก็จะเปลี่ยนไป หน่วยงานฝ่ายความมั่นคงทางทหารมีบทบาทสำคัญในการเข้ามาจัดการปัญหาเรื่องความขัดแย้ง เรื่องทรัพยากรในชุมชนค่อนข้างเยอะ ก็จะมีรูปแบบการใช้การข่มขู่คุกคามกับชาวบ้าน รวมทั้งเราในฐานะคนที่เข้าไปสนับสนุนก็จะเป็นเป้าหมายในการที่จะทำให้หน่วยงานความมั่นคงหรือทหารเข้ามาติดตาม แล้วใช้วิธีการคุกคามทั้งทางตรงและทางอ้อม 

ทางอ้อมก็คือใช้วิธีขับรถทหารและมีอาวุธไปหน้าบ้านเรา ทำให้คนในชุมชนรู้สึกไม่ปลอดภัยเวลาที่มีทหารเข้ามาในพื้นที่ เข้าไปคุยกับพ่อแม่ เข้าไปคุยกับญาติรอบๆ บ้านเรา สร้างแรงกดดันให้กับครอบครัวเพื่อทำให้ครอบครัวเรามาหยุดการเคลื่อนไหวของเรา มันเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้เราต้องเลือกที่จะไม่อยู่ที่บ้าน เราก็ไม่อยู่ที่กาฬสินธุ์ โดยเลือกมาอยู่ที่ขอนแก่น เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เขาไปติดตาม แล้วก็มีผลกระทบกับครอบครัว 

อีกรูปแบบหนึ่งที่เจอก็คือช่วงนั้นเราต่อสู้เรื่องปิโตรเลียมที่บ้านนามูล-ดูนสาด อ.กระนวน จ.ขอนแก่น แล้วก็พบว่ามีการใช้ลักษณะการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของเราผ่านเพจหนึ่งเมื่อประมาณ 7-8 ปีที่แล้ว มีการเอาข้อมูลส่วนบุคคลไปเปิดเผย แล้วไปข่มขู่กับคนในชุมชนว่าหากมีการเข้ามาร่วมพูดคุยกับเรา ซึ่งเป็นคนที่ถูกฝ่ายความมั่นคงจับตาอยู่ ก็จะมีความเสี่ยง 

แต่การที่เป็นนักปกป้องสิทธิฯ ผู้หญิง ทำให้เราต้องมีความระวังตัวมากขึ้น เนื่องจากว่าเขาก็มีปืน เป็นทหาร แต่เราไม่รู้ว่ามันจะเกิดความรุนแรงได้มากแค่ไหนในยุคนั้น เราพยายามที่จะเดินทางไปไหนมาไหนกับหลายๆ คน แล้วไปในเวลากลางวันเพื่อลดความเสี่ยง ความอันตรายที่เราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่ด้านหนึ่งอาจจะเป็นเพราะความเป็นผู้หญิงก็ได้ เขาเลือกที่จะเข้ามาชาร์จเข้ามาถึงตัวเราน้อยกว่าผู้ชาย ด้วยความที่เป็นผู้หญิงเขาก็รู้สึกว่าการที่เป็นทหารแล้วเข้ามาถึงเนื้อถึงตัวหรือว่ามาทำร้ายผู้หญิงเลย ก็จะเป็นสิ่งที่ไม่ได้รับการยอมรับจากชุมชน แล้วก็มีแรงต้านค่อนข้างสูงเหมือนกัน ถ้าหากมีการใช้ความรุนแรงหรือว่าทำร้ายร่างกายผู้หญิง อันนี้เป็นข้อได้เปรียบ 

อีกข้อกังวลคือด้วยความที่เป็นผู้หญิง เวลาเจอทหารผู้ชาย เรารู้สึกกลัวเรื่องการคุกคามทางเพศที่เราก็ไม่รู้ว่ามันจะเกิดขึ้นได้ไหม แล้วท่าทีของเขาเองเขาก็รู้สึกพร้อมใช้ทุกวิธีการเพื่อการข่มขู่ ไม่ให้เราลุกขึ้นมาสู้ทุกเมื่อ

จุดแข็งของผู้หญิงคนอีสานในขบวนการต่อสู้ทรัพยากรในชุมชนคืออะไร

ความเป็นผู้หญิงอีสานมันมีข้อดีอยู่อย่างหนึ่ง ด้วยความที่แม่ๆ ที่เป็นนักต่อสู้ ส่วนมากจะมีความสัมพันธ์ที่ยึดโยงกับที่ดินในชุมชนอยู่สูงมาก ทำให้จุดยืนในการต่อสู้ค่อนข้างชัดเจน แล้วหลายพื้นที่กลุ่มคนที่ลุกขึ้นมาสู้หลักๆ ก็จะเป็นผู้หญิง  

เพียงแต่เราพบว่าส่วนใหญ่แล้ว หลายคนที่เป็นกำลังหลักแข็งขันในการดำเนินการต่อสู้ที่เป็นผู้หญิงจะรักษาระยะการต่อสู้ได้อย่างยาวนาน เพราะผู้หญิงอีสานมีความสัมพันธ์กับที่ดิน มีความยึดโยงกับที่ดินทำกิน เช่น หลายคนเราก็จะเห็นว่าที่ดินทำกินในอีสาน มันจะเป็นจากมรดกของผู้หญิง เป็นมูลของฝั่งแม่หญิง มันทำให้ผู้หญิงรู้สึกรักและหวงแหนที่ดินทำกินและทรัพยากรในชุมชน ผู้หญิงจะเป็นคนดูแลอาหารให้กับคนในครอบครัว การได้มาซึ่งอาหารซึ่งส่วนใหญ่พี่น้องเราในชุมชนอีสานก็จะได้มาจากแหล่งดิน น้ำ ป่า ทรัพยากรในชุมชน เป็นที่ให้อาหารสำหรับครอบครัวและชุมชน ดังนั้นการที่จะต้องสูญเสียทรัพยากร ไม่ว่าจะดิน น้ำ ป่า มันเหมือนสูญเสียอาหารของครอบครัว 

ภาพขวาจาก กลุ่มเครือข่ายประชาชนรักทุ่งกุลา

มองอย่างไรถึงบทบาทของผู้หญิงในการต่อสู้มากขึ้น

จริงๆ ผู้หญิงอีสานมีความเป็นนักสู้อยู่พอสมควร เพราะว่าเมื่อไหร่ที่เขารู้สึกว่าเกิดความไม่เป็นธรรมหรือการแย่งชิงทรัพยากรที่มันจะกระทบต่อชีวิต กระทบต่อที่อยู่อาศัยของครอบครัวของตัวเอง เขาก็พร้อมที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้ ตั้งคำถามหรือพร้อมที่จะลุกขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งในการที่จะทวงความเป็นธรรมคืน เรารู้สึกว่าผู้หญิงค่อนข้างจะกล้าหาญพอสมควรในการที่จะมาเป็นส่วนหนึ่งในขบวนการเคลื่อนไหว 

เพียงแต่ว่าเรายังพบว่าในสังคมชายเป็นใหญ่เดิมแล้ว กระทั่งสังคมในอีสานเองก็เป็นสังคมชายเป็นใหญ่ แม้ผู้หญิงจะเป็นกำลังหลักในการต่อสู้ แต่ในการเลือกผู้นำก็ยังพบว่ายังมีการเปิดช่องที่ให้ผู้ชายเป็นผู้นำในการเคลื่อนไหวมากกว่า หรือเปิดโอกาสให้ผู้ชายเป็นคนกำหนดทิศทางการเคลื่อนไหวหรือว่าอำนาจตัดสินใจ ส่วนใหญ่มักจะอยู่กับผู้ชาย ซึ่งอันนี้หลายครั้งเราพบว่ามันเป็นข้ออ่อนของขบวนการเคลื่อนไหวในอีสาน หากเปิดพื้นที่ให้กับกลุ่มเพศเดียวทำหน้าที่ตัดสินใจหรือว่าออกแบบการเคลื่อนไหว เราพบว่ามักจะทำให้กลุ่มขบวนการเคลื่อนไหวนั้นไม่มีความเข้มแข็งมากพอ 

การเมืองกับสิ่งแวดล้อมหรือสิทธิชุมชนเชื่อมโยงกันอย่างไรบ้าง

ที่ผ่านมารูปแบบการเรียกร้องที่มักจะได้ยินจากแวดวงเอ็นจีโอเสมอคือหากคนในชุมชนลุกขึ้นมาเคลื่อนไหว ต้องห้ามพูดถึงเรื่องการเมือง เพราะมักจะถูกมองว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมและการเมืองไม่เกี่ยวข้องกัน อาจส่งผลให้ผลักดันประเด็นปัญหาไม่สำเร็จและถูกกล่าวว่าเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง

เรื่องการเมืองกับเรื่องการต่อสู้เรื่องสิ่งแวดล้อมของเรื่องสิทธิมนุษยชนคนในชุมชน เป็นเรื่องเดียวกัน เพราะว่าถ้าสืบค้นขึ้นไป เราจะพบว่าปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือความไม่เป็นธรรมในการจัดการทรัพยากร ต้นทางคือนโยบายและกฎหมายซึ่งนำมาใช้ในการกำกับแล้วดึงทรัพยากรออกจากมือชุมชน ทำให้เห็นชัดว่าถ้าไม่พูดถึงเรื่องการเมือง สิทธิและการให้อำนาจการตัดสินใจในการใช้ทรัพยากรของชุมชนก็คงไม่เกิดขึ้นได้ ถ้ามีการแก้ไขตัวกฎหมายและนโยบายที่ไม่เปิดช่องให้รัฐหรือว่านายทุนเข้ามาแย่งยึดทรัพยากร มันจะเป็นประโยชน์ทำให้ชุมชน ทำให้ชาวบ้านสามารถใช้สิทธิชุมชนในการที่จะจัดการทรัพยากรของตัวเองได้ 

กฎหมายและนโยบายเป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่ามาจากฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายสภา ที่เป็นผู้ผลักดันกฎหมายและนโยบาย ฉะนั้นการที่คนในชุมชนพูดถึงการเมืองในมิติที่จะเป็นตัวแทนในการที่จะจัดสรรผลประโยชน์ ออกกฎหมายและนโยบายเพื่อจัดสรรผลประโยชน์และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากร ดังนั้นการเมืองและเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่แยกขาดกันไม่ได้ การที่ต่อสู้เฉพาะเรื่องเหล่านี้โดยไม่พูดถึงเรื่องการเมือง มันเหมือนการพูดถึงปัญหาที่ปลายเหตุ สุดท้ายมันก็ทำให้วังวนปัญหาวนกลับมาที่เดิม

ในการเคลื่อนไหวแต่ละครั้งจัดวางตัวเองอย่างไรว่าจะต้องเป็น ‘แนวหน้า’ หรือ ‘แนวร่วม’ ในขบวนการ 

การต่อสู้เรื่องสิทธิชุมชน เรื่องขับเคลื่อนปัญหาของชุมชน เจ้าของพื้นที่คือคนที่ต้องเป็นผู้พูดถึงปัญหาของตัวเอง เพียงแต่ว่าหลายครั้งเราพบว่า ในการลุกขึ้นมาต่อสู้เป็นเรื่องใหม่สำหรับชาวบ้านที่ต้องมาพูดถึงผลกระทบที่จะได้รับ แล้วมีความการท้าทายกับอำนาจรัฐ จากเดิมที่เราเป็นชาวบ้านทั่วไป เราก็จะรู้สึกว่าเรามีหน้าที่รับฟังคำสั่งจากหน่วยงานราชการ แต่เมื่อหน่วยงานราชการหรือว่านายทุนได้สร้างผลกระทบความเดือดร้อนให้กับชุมชน เราจำเป็นต้องลุกขึ้นมาพูดถึงปัญหาของเราเอง มันก็ต้องมีต้นทุนพอสมควร

หลายคนในชุมชนที่ลุกขึ้นสู้ใหม่ๆ เรามักพบว่าพี่น้องแม้จะมีความไม่พอใจ มีความเดือดร้อน รู้สึกไม่ยอมรับกับการที่นายทุนหรือหน่วยงานรัฐเข้ามาแย่งยึดทรัพยากร แต่ยังมีความกลัว ก็เลือกที่จะยังยืนรอฟังคำสั่ง แม้จะไม่พอใจเขาก็ไม่รู้ว่าต้องแสดงออกอย่างไร หรือจะมีวิธีการพูดแบบไหนที่จะทำให้ไม่โดนคุกคาม และในหลายครั้งพี่น้องรู้สึกว่าถ้าพูดออกไปแล้ว หน่วยงานรัฐก็ไม่ฟัง บริษัทเอกชนก็จะไม่ฟังอยู่ดี พี่น้องยังมีความรู้สึกไม่มั่นใจ แล้วเราอาจจะมีเวลาจำกัดในการที่จะพัฒนาศักยภาพหรือทำให้พี่น้องมีความมั่นใจเพียงพอในการที่จะพูดปัญหาของตัวเองออกไป บางครั้งก็เป็นหน้าที่ของผู้ที่ทำหน้าที่ในการสนับสนุน จากที่เราได้มีโอกาสได้พูดคุยกับพี่น้องในชุมชน เราจะรู้ว่าเขามีความไม่พอใจตรงไหน มีความเดือดร้อนตรงไหน เราเพียงแค่พูดแทนพวกเขาในบางช่วงเวลา 

ส่วนการที่เราออกมายืนข้างหน้า แล้วก็พูดกับหน่วยงานรัฐหรือบริษัทเอกชนอย่างเสมอหน้าโดยที่เราไม่ได้เกรงกลัว มันจะเป็นตัวอย่างให้พี่น้องได้เห็นว่าประชาชนทั่วไปก็สามารถทำได้ ไม่ต้องมีความกลัว ส่วนมากจะเป็นพื้นที่ใหม่ๆ หรือชุมชนที่กำลังเพิ่งลุกขึ้นมาต่อสู้ที่ยังไม่มีความพร้อม เราก็จำเป็นต้องทำให้พี่น้องได้มีความมั่นใจมากขึ้น

ภาพขวาจาก สำนักข่าวปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน

ได้เรียนรู้อะไรจากการเคลื่อนไหวในแต่ละครั้ง 

ได้เรียนรู้ในหลากหลายรูปแบบ เราได้เรียนรู้ทั้งสิ่งที่เป็นความพ่ายแพ้ การเคลื่อนไหวที่อาจจะมีทั้งความผิดหวัง บางครั้งเราก็เรียนรู้ความสำเร็จ แล้วก็ชัยชนะของการรวมตัวกันของพี่น้องประชาชนของผู้คนในอีสานเรา บทเรียนในการต่อสู้ของเราเองในการที่ขยับมาเป็นคนสนับสนุนพี่น้องชุมชน ทุกคนทราบดีว่าปัจจัยในการต่อสู้คือความเข้มแข็งหรือความพร้อมเพรียงพร้อมใจกันของคนในชุมชน แล้วก็เจตนาที่มุ่งมั่นที่ชัดเจนของคนในชุมชนจะเป็นปัจจัยชี้ขาดว่าขบวนการเคลื่อนไหวการต่อสู้ในการคัดค้านโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ หรือว่าต่อสู้เพื่อปกป้องดิน น้ำ ป่า ปัจจัยชี้ขาดนั้นอยู่ที่ชุมชน แล้วในฐานะคนที่สนับสนุนเราเองก็คือ ถ้าเราไม่สามารถทำให้ชุมชนมีความมั่นใจแล้วก็สามารถขยายความคิดได้กว้างขวางมากพอ วันหนึ่งมันจะทำให้การต่อสู้ที่แม้จะมีเคยได้รับชัยชนะ ในอนาคตอาจจะต้องพ่ายแพ้ได้เหมือนกัน หากมีการเข้ามาคุกคามครั้งใหม่ เพราะเราพบว่าตราบใดที่โครงสร้างมันยังไม่เป็นธรรม การคุกคามก็จะเกิดขึ้นเรื่อยๆ ฉะนั้นความยั่งยืนในการต่อสู้ของคนในชุมชนก็คือการสร้างความเข้มแข็งให้กับคนในชุมชนในฐานะเจ้าของปัญหา 

เราในฐานะผู้สนับสนุนที่ต้องทำให้เกิดความเข้มแข็งในชุมชน จึงเป็นโจทย์ใหญ่โจทย์สำคัญ ที่เราต้องทำให้เกิดขึ้นในกลุ่มชาวบ้านให้พี่น้องสามารถมีความเข้มแข็ง แล้วก็ขยายความคิดในการต่อสู้ปกป้องชุมชน ปกป้องทรัพยากรเพื่อให้อำนาจตัดสินใจอยู่ในชุมชน นี่คือเป็นเรื่องหลักที่เราต้องทำงานอย่างนี้อยู่ตลอดเวลา แม้ว่าการต่อสู้บางครั้ง หน่วยงานรัฐ หรือเอกชนเขาอาจจะหยุดเป็นช่วง เราพบว่ามันไม่ใช่ความสำเร็จในระยะยาว แล้วการคุกคามจะกลับเข้ามาใหม่เสมอ หากความเข้มแข็งของชุมชนมันหายไป นี่คือสิ่งที่เราพยายามจะทำงานอย่างต่อเนื่อง แล้วสื่อสารกับพี่น้องชุมชน ก็ยังเป็นความท้าทาย ความสำเร็จจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อพี่น้องมีความเข้มแข็งและพร้อมใจในการที่จะปกป้องชุมชนตัวเอง 

อีกข้อหนึ่งเรารู้สึกว่าคนทำงานด้านสิ่งแวดล้อมหรือว่าสนับสนุนนักปกป้องสิทธิด้านสิ่งแวดล้อม หรือว่านักต่อสู้ในอีสานเรา ตอนนี้ก็ยังมีข้อจำกัดเรื่องคนที่ทำงานสนับสนุนมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับประเด็นปัญหาและพื้นที่ ซึ่งมากจากการคุกคามในการแย่งยึดทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า หรือว่าการเกิดขึ้นของโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ที่มาละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน แล้วก็แย่งยึดทรัพยากรจากชาวบ้านมันเกิดขึ้นเรื่อยๆ มันเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่คนทำงานเองมีจำนวนจำกัด หลายครั้งเราพบว่าพี่น้องก็ตื่นตัว พร้อมที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้ แต่ไม่มีชุดประสบการณ์ หรือว่าไม่มีโอกาสที่จะมีคนสนับสนุนหรือมีการเปิดพื้นที่ให้เขาได้เรียนรู้ เราพบว่าพี่น้องหลายครั้งต้องสูญเสียที่ดินทำกิน ต้องสูญเสียป่า ต้องสูญเสียแม่น้ำเพียงเพราะขาดองค์ความรู้ หรือว่าขาดผู้รู้ที่จะมาสนับสนุนด้านนี้ 

คิดว่าอะไรคือแนวทางในการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิฯ จากการถูกคุกคาม

ทางออกที่เราคิดว่าจะเป็นกลไกในการที่จะปกป้องชุมชน ปกป้องนักปกป้องสิทธิชุมชนอย่างยั่งยืนจริงๆ คือกฎหมาย แล้วก็นโยบายที่เคารพสิทธิมนุษยชน เป็นเรื่องที่จำเป็นมากๆ เพราะในประเทศไทยยังไม่มีที่จะมีนโยบายที่จะคุ้มครองนักปกป้องสิทธิที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อชุมชนต่อสู้เพื่อประโยชน์สาธารณะ ฉะนั้นเราจะพบว่ามีพี่น้องชาวบ้าน คนในชุมชนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ได้รับผลกระทบโดนฟ้องร้อง โดนคดีความหรือว่าโดนข่มขู่คุกคามจากการที่ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิชุมชน แล้วก็ต้องทำให้นักปกป้องสิทธิและชาวบ้านประชาชนทุกคนมั่นใจมากขึ้นในการที่จะลุกขึ้นมาใช้สิทธิตัวเองในการปกป้องชุมชน ปกป้องทรัพยากรของเขาเอง รัฐจำเป็นที่จะต้องมีมาตรฐานก็คือมีกฎหมายที่คุ้มครองนักปกป้องสิทธิ และมีนโยบายที่สนับสนุนนักปกป้องสิทธิชุมชน เช่น การที่จะมีกฎหมายที่มันชัดเจนก็คือเมื่อมีการฟ้องร้องคดีนักปกป้องสิทธิ ที่เป็นคดีที่เป็นการพูดถึงผลประโยชน์สาธารณะ กระบวนการยุติธรรมอาจจะระบุให้ชัดว่าคดีประเภทนั้น ไม่สามารถเปิดโอกาสให้หน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนสามารถฟ้องร้องชาวบ้านได้ อย่างที่เราเรียกว่าเป็นคดีฟ้องร้องปิดปาก (Strategic Lawsuit Against Public Participation : SLAPP) อันนี้ก็จะเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้นักปกป้องสิทธิ หรือชาวบ้าน ที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ ไม่ต้องมีความหวาดกลัว ไม่ต้องเสียเงินเสียทองจากการที่ต้องมาสู้คดีแล้วก็ทำให้เขาต้องหลุดไปจากขบวนการต่อสู้ 

อีกเรื่องคือความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐก็อาจจะไม่เกิด หากทางหน่วยงานภาครัฐเข้าใจว่าการลุกขึ้นมาต่อสู้รักษาผลประโยชน์ของชุมชนเป็นเรื่องที่ทำได้ หากเข้าใจมากขึ้นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิทธิโดยชอบธรรมที่เขาสามารถทำได้ แล้วรัฐเองต้องคุ้มครองเพื่อให้เขาสามารถทำได้อย่างปลอดภัย แล้วก็จะไม่มีการคุกคามเกิดขึ้น

อยากให้เล่าถึงเหตุการณ์ที่ประทับใจที่สุดในขบวนการเคลื่อนไหว

มีเรื่องประทับใจหลายอย่าง แต่ว่าเรื่องหนึ่งที่ประทับใจมากก็คือ เรื่องยายนาง อายุ 70 กว่าปีในขณะนั้น ตอนนี้แกเสียชีวิตไปแล้ว เป็นแม่ของนักต่อสู้ในพื้นที่บ้านนามูล อ.กระนวน ที่เป็นพื้นที่ในการต่อสู้เรื่องขุดเจาะปิโตรเลียม วันหนึ่งลูกเขาเรียกเราไปว่าจะทำอย่างไรดี เขาจะมาขุดเจาะปิโตรเลียมในหมู่บ้าน ให้มาช่วย เราก็เข้าไปหาที่บ้าน ไปนั่งคุยกัน พอได้คุยกับยายนาง แกบอกว่าแกเป็นผู้หญิงตัวแทนหมู่บ้านปี 2534-2535 ตอนนั้นมันมีโครงการ คชก. ที่ภาครัฐเอาที่ดินของพี่น้องคืน แกเป็นตัวแทนของหมู่บ้านไปร่วมชุมนุม แกไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาจะพาไปทำอะไร แต่ทั้งหมู่บ้านนั้นให้แกไปเป็นตัวแทนหมู่บ้านเพื่อไปฟังเขา ไปต่อสู้ ไปคัดค้าน 

ในขณะที่แกกำลังพูดเรื่องประสบการณ์การต่อสู้ให้ฟัง ก็มีทั้งตำรวจทหารเข้ามา เพราะเป็นช่วงที่เขาจะขนอุปกรณ์ขุดเจาะปิโตรเลียมในพื้นที่พอดี หน่วยงานที่เขาใช้คือใช้ตำรวจ คฝ. 1 กองร้อยมาเปิดทางปิดไม่ให้ชาวบ้านเข้าไปขวางทาง แล้วก็ใช้ทหาร มีทั้งนอกเครื่องแบบในเครื่องแบบ แต่แม่นางแกเป็นคนที่ไม่กลัว เราเห็นความกล้าหาญของแกที่แกยืนด่าเขา ยืนด่าพวกที่มาปิดทาง บอกว่าขุดเจาะปิโตรเลียมตรงนี้มันจะทำให้ที่ดินทำกินแกเสียหาย ลูกหลานแกจะไม่ได้ใช้ประโยชน์ต่อไป 

สิ่งที่เราประทับใจที่สุดคือในขณะที่เขากำลังจะเคลื่อนของออกไป แม่นางซึ่งเดินไม่ค่อยถนัดอยู่แล้ว ไม่รู้แกเอาเรี่ยวเอาแรงมาจากไหน แกวิ่งออกไปแล้วก็ถลกผ้าถุงเปิดก้นใส่เขาเลย แล้วก็ยืนด่าเขาอยู่กลางถนน เราเลยรู้สึกว่า นี่แหล่ะคือพลังคือจิตวิญญาณนักสู้ ไม่รู้ว่าเอาเรี่ยวเอาแรงมาจากไหนแต่สิ่งที่แกทำคือความไม่ชอบธรรมอยู่ตรงหน้า ไม่ว่าพวกนั้นจะเป็นใคร แกก็จะไม่สยบยอมต่อเขา แสดงออกให้เห็นว่าไม่พอใจ จะไม่ยอมในสิ่งที่พวกนั้นทำ นั่นคือสิ่งที่เราได้เห็นจากยายนางว่าไม่จำเป็นหรอกว่าวันนั้นเราอาจจะพ่ายแพ้ แม้เขาสามารถขนอุปกรณ์เข้ามาในพื้นที่ได้ แต่สำหรับเราแล้ว วันนั้นพี่น้องประชาชนคนธรรมดาไม่กี่คน ประมาณไม่เกิน 90 คน สามารถยืนหยัดต่อกรกับหน่วยงานความมั่นคงทหาร ต่อตำรวจที่มีอาวุธครบมือ ได้เห็นว่าเราไม่ยอมและเราไม่พอใจในสิ่งที่เขาทำ เรารู้สึกว่าเป็นสิ่งที่เราประทับใจมาก และรู้สึกว่าเป็นกำลังให้เราก้าวข้ามความกลัวในหลายเรื่องเหมือนกัน

ภาพขวาจากแฟนเพจเหมืองแร่เมืองเลย

ให้พูดถึงบุคคลต้นแบบนักปกป้องสิทธิสิ่งแวดล้อม ที่เป็นแรงบันดาลใจให้จนถึงทุกวันนี้ มีใครบ้าง และเพราะอะไร 

อยากพูดถึงแม่ป็อบ (ภรณ์ทิพย์ สยมชัย) ที่ต่อสู้เรื่องเหมืองทองคำที่ จ.เลย รู้จักแม่ป็อบตั้งแต่สมัยไปทำข่าว ไปทำเวทีสาธารณะที่ จ.เลย ได้เจอแล้วก็เห็นพลังของแก จริงๆ พี่น้องที่เลยแทบจะทุกคนเป็นคนที่สื่อสารแล้วมีพลังด้วยความรู้สึกแบบอัดอั้นตันใจ เราในฐานะที่เป็นคนที่ผ่านไปเจอ เรารู้สึกสะท้อนใจและรู้สึกว่าเราได้รับความรู้สึกจากพ่อๆ แม่ๆ ที่นั่นเยอะ แล้วอีกอย่างเรารู้สึกว่าแม่ป็อบเป็นคนที่เข้าใจมิติเรื่องการเมือง แกไม่แยกว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมก็ทำเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว ในขณะที่เราชวนแม่ป็อบไปทำม็อบเรื่องค้านรัฐประหาร แกก็มองเป็นเรื่องเดียวกัน มันกระทบเราแน่นอน เพราะว่ามันรัฐประหารปุ๊บ มันก็ให้ทหารไปคุมในพื้นที่ ทำให้เราไม่สามารถที่จะต่อสู้ หรือว่าการมีคำสั่ง 3/58 มันทำให้เราคัดค้านได้ยากขึ้น เรารู้สึกว่าแม่ป็อบมีความเข้าอกเข้าใจเรื่องการเมืองและเรื่องที่แกต่อสู้ แล้วแกมองภาพเดียวกัน 

ในการต่อสู้มีผู้สูงอายุเข้าร่วมจำนวนมาก บางคนเสียชีวิตระหว่างการต่อสู้ที่ใช้เวลายาวนานเป็น 10 ปี ถ้าได้ฝากข้อความถึงผู้สูงอายุที่เข้ามาร่วมขบวนการ แต่เขายังไม่ได้เห็นความสำเร็จของการต่อสู้ อยากพูดกับเขาเหล่านั้นบ้าง 

การต่อสู้ทุกพื้นที่ส่วนมากเราจะบอกกับพี่น้องว่า การต่อสู้มันเป็นการต่อสู้ระยะยาว ไม่สามารถจบได้ภายในวันนี้พรุ่งนี้ เราไปม็อบแล้ว ไม่ได้หมายความว่าเราจะได้ชัยชนะกลับบ้าน ฉลองชัย คือเมื่อการต่อสู้เริ่มต้นขึ้น พูดกันตรงไปตรงมายังไงก็ต้องได้ต่อสู้กันระยะยาว แน่นอนในระหว่างทางอาจจะมีพ่อๆ แม่ๆ ของเราหลายคนที่ไม่ได้อยู่ต่อสู้กันจนถึงวันที่เราได้ชัยชนะจนสำเร็จ แต่ว่าสิ่งที่อยากบอกเขาคือ สิ่งที่เขาได้ทำมา ต้นทุนการต่อสู้ของพ่อแม่ที่ทำมา แม้ว่าวันนี้เราจะไม่สำเร็จ ต้องบอกว่ามันไม่เคยเสียเปล่า ไม่มีการต่อสู้ไหนที่เสียเปล่า เพราะการต่อสู้นั้นเป็นต้นทุนให้คนข้างหลังได้สู้ต่อไปอยู่เสมอ 

ไม่ว่าคุณจะเป็นคนเล็กคนน้อยในขบวนแต่ก็มีความหมายสำคัญ ไม่ใช่แค่เฉพาะแกนนำเท่านั้นที่มีความหมาย 

พี่น้องนักต่อสู้ทุกคนคือนักต่อสู้มีความสำคัญเท่ากัน ถ้าไม่มีพี่น้องไม่มีแกนนำก็ไม่สามารถทำอะไรได้แน่นอน ฉะนั้นการที่เราสูญเสียพี่น้องนักต่อสู้ที่สู้มาร่วมกัน ไม่ว่าใครก็แล้วแต่ นั่นคือการสูญเสียของขบวน อยากบอกเขาว่าการต่อสู้ของเขาไม่เคยสูญเปล่า เป็นต้นทุนให้ลูกหลาน ให้พี่น้อง ให้คนที่ยังอยู่ได้สู้ต่อไป แล้วคนสู้ก็จะพยายามสู้จนถึงวันที่เราได้ชัยชนะ แม้เราไม่รู้หรอกว่าวันไหน แต่ถ้าตราบใดที่เรายังคงสู้อยู่ เราก็ไม่แพ้

หมายเหตุ: งานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งในซีรีส์ชุด Women Rights Defenders การต่อสู้ของแม่ญิงอีสาน

image_pdfimage_print