วันนี้ผมมีเรื่องเล่า 3 เรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรมหนึ่งในสังคมไทยให้ผู้อ่านฟัง วัฒนธรรมนี้ผมเรียกว่าวัฒนธรรมที่เอาประชาชนมาเป็นไม้ประดับและ/หรือตราแสตมป์ ผมคิดว่าผู้อ่านบางท่านอาจจะเคยเห็น ได้ยิน หรือได้สัมผัสกับวัฒนธรรมแบบนี้มาแล้วในอดีต หรือกำลังเผชิญกับมันอยู่ในตอนนี้ หรือไม่เคยรู้เลยว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของมัน เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจวัฒนธรรมเอาประชาชนมาเป็นไม้ประดับและ/หรือตราแสตมป์ ผมขออธิบายผ่าน 3 เรื่องนี้ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย เรื่องแรกคือ แจกของในช่วงอุทกภัยของผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง เรื่องที่สอง การส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาและแก้ปัญหาของรัฐ และเรื่องที่สาม การเกณฑ์นักศึกษาเพื่อไปทำกิจกรรมให้กับมหาวิทยาลัย

แจกของในช่วงอุทกภัยของผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง

ตอนนี้ประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูฝนมาสักพักใหญ่แล้ว สถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นทุกปีในช่วงนี้คงจะหนีไม่พ้นเรื่องน้ำท่วม พื้นที่อีสานเองในช่วง 5 ปีล่าสุดได้รับผลกระทบน้ำท่วมอย่างหนักโดยเฉพาะ จ.อุบลราชธานี โดยเฉพาะ พ.ศ. 2563 และ พ.ศ. 2565 ภาพที่เราเห็นตอนเกิดน้ำท่วมคือ การอพยพหนีน้ำของประชาชน การตั้งค่ายในพื้นที่อพยพ การลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม มีอีกภาพหนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำและอาจจะกลายเป็นสิ่งที่เคยชินและกลายเป็นวัฒนธรรมไปแล้วเวลาการเกิดน้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่ไหนสักจังหวัดคือ การลงพื้นที่ในการตรวจสอบและแจกข้าวของให้ผู้ประสบภัยของคนที่เรียกตัวเองว่าผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง

ผมพยายามเก็บข้อมูลในพื้นที่ จ.อุบลราชธานีและจังหวัดอื่นๆ ในอีสานเวลาเกิดภัยพิบัติเวลาเกิดน้ำท่วมและมีผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้มีอำนาจลงมาตรวจเยี่ยมและแจกของนั้นพบแนวปฎิบัติที่คล้ายกัน คือ 

  1. ก่อนที่คนเหล่านั้นจะลงมาในพื้นที่ หน่วยงานราชการต่างๆ ในพื้นที่ต้องตระเตรียมกำลังพลและสถานที่ให้เพียบพร้อมเพื่อรอรับการเดินทาง 
  2. เมื่อถึงงานที่ต้องตรวจเยี่ยมและแจกของ ประชาชนผู้ประสบอุทกภัยจะถูกพาตัวมาอยู่ที่หอประชุม หรือ สถานที่ที่เจ้าหน้าที่ใช้จัดงานเพื่อนั่งรอต้อนรับผู้หลักผู้ใหญ่มอบความช่วยเหลือให้ บางครั้งรอนานหลายชั่วโมงกว่าพวกผู้มีอำนาจเหล่านั้นจะเดินทางมาถึง
  3. ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองทั้งหลาย เมื่อเดินทางมาถึงสถานที่จัดงาน พวกเขาจะถูกรายล้อมด้วยข้าราชการและนักการเมืองในพื้นที่เพื่อต้อนรับ และเชิญท่านเหล่านั้นขึ้นบนเวทีเพื่อกล่าวอะไรกับผู้ประสบภัยที่มานั่งรอเป็นเวลานาน
  4. ก่อนที่จะมีการกล่าวอะไรที่เกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ผู้มีอำนาจจะมีการกล่าวแนะนำให้รู้จักคนของตน ไม่ว่าจะเป็น ส.ส. ในพื้นที่ เจ้าหน้าที่ส่วนต่างๆ พร้อมกับรับฟังเสียงปรบมือของผู้ประสบภัยไปทีละคน
  5. การกล่าวเปิดงานเพื่อแจกของช่วยเหลือที่มาจากการนำเงินภาษีของประชาชนนั้น ใช้เวลาประมาณ 10-15 นาที ส่วนใหญ่เวลาจะเสียไปกับการกล่าวแนะนำผู้ที่เกี่ยวข้องและประวัติการทำงานของตัวเองให้ผู้ประสบภัยที่ต้องทิ้งบ้านที่ถูกน้ำท่วมเพื่อรอรับของช่วยเหลือ 
  6. เมื่อผู้หลักผู้ใหญ่กล่าวจบ ช่วงเวลาที่ผู้ประสบภัยรอคอยก็มาถึงคือ การรับของช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ที่เขาจัดวางโชว์ไว้ให้ผู้ประสบภัยได้เห็นตลอดพิธีการ และมีการถ่ายภาพสวยๆ ว่าผู้ประสบภัยได้รับของแล้วเพื่อนำไปแสดงให้สาธารณะได้เห็นว่า ผู้หลักผู้ใหญ่เหล่านั้นได้ลงมาทำงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยเรียบร้อยแล้ว

ผมคิดว่ามาถึงตรงนี้แล้ว หลายคนอาจจะคิดว่าทำไมเป็นแบบนี้ ทำไปทำไม บางคนอาจจะคิดว่าการมีผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้มีอำนาจลงมาดูแลประชาชนในพื้นที่นั้นน่าจะเป็นเรื่องดีเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้ผู้ประสบภัยที่ได้เห็นผู้มีส่วนรับผิดชอบลงมาแก้ไขปัญหาโดยตรง อย่างไรก็ตาม มีหลายคำถามที่ถูกถามขึ้นจากผู้ประสบภัยเอง คือ ทำไมไม่ลงไปแจกในพื้นที่เลยจะให้เขามานั่งเสียเวลารอทำไม ทั้งๆ ที่บ้านเขาถูกน้ำท่วม แทนที่จะเอาเจ้าหน้าที่ต่างๆ ลงไปช่วยผู้ประสบภัยต้องเกณฑ์คนเหล่านั้นมาดูแลต้อนรับทำให้เสียและเปลืองกำลังพลที่ควรใช้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยใช่เหตุ มากกว่านั้น แทนที่จะมายืนกล่าวเปิดพิธีแจกของทำไมไม่แก้ไขในระดับนโยบายการจัดการน้ำท่วมให้มีประสิทธิภาพ สิ่งเหล่านี้จะช่วยลดความเสียหายจากภัยพิบัติได้มากกว่า

ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาและแก้ปัญหาของรัฐ

ผมเคยมีประสบการณ์ไปช่วยหน่วยงานหนึ่งของรัฐในการทำแผนพัฒนาจังหวัด มีการเชิญชาวบ้านจากกลุ่มต่างๆ เข้ามาให้ความเห็น อย่างไรก็ตาม ผู้เข้าร่วมทุกคนยังไม่สามารถให้ความเห็นใดๆ หรือเริ่มกิจกรรมใดๆ ได้เนื่องจากต้องรอผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นมาเปิดงาน กำหนดการเริ่ม 9.00 น. แต่ผู้ว่าท่านนั้นมา 10.00 น. ที่สำคัญมาพูดอยู่ 10 นาที แล้วก็จากไปโดยที่ไม่ได้รับฟังความเห็นอะไรจากประชาชนเลย

เมื่อมีการดำเนินกระบวนการระดมความเห็นในการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด ผู้เข้าร่วมทุกคนต่างแสดงความเห็นอย่างเต็มที่บนกระดาษฟลิปชาร์ทหลายแผ่นถึงความต้องการอยากให้จังหวัดของตนพัฒนาไปในทิศทางใด อยากให้มีการแก้ไขปัญหาส่วนใดที่เป็นปัญหาสำคัญของจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นปัญหาน้ำท่วม ยาเสพติด ชุมชนแออัด ปัญหาการจราจร ปัญหาการส่งออกสินค้าเกษตร เป็นต้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับตรงกันข้ามคือ เมื่อแผนพัฒนาจังหวัดถูกตีพิมพ์ออกมาเป็นเล่ม ความคิดที่ประชาชนเสนอเข้าไปนั้นแทบไม่ได้ถูกนำไปบรรจุในแผนเลย มากกว่านั้น แผนพัฒนาที่เกิดขึ้นเรียกได้ว่ามีความต่างจากแผนการพัฒนาจังหวัดที่เคยถูกเขียนเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว มีแค่เพียงตัวเลข พ.ศ. ว่าจะใช้แผนนี้จากปีนี้ถึงปีไหน ส่วนเนื้อหาข้างในแทบจะไม่ต่างจากเดิมมากนั้น ทำให้หลายคนที่เห็นแผนออกมาได้ตั้งคำถามว่าจะให้พวกเขามาแสดงความเห็นทำไม ในเมื่อแผนการพัฒนาที่ออกมาแทบจะไม่มีอะไรแตกต่างไปจากเดิมเลย

นอกจากการทำแผนต่างๆ ที่รัฐต้องการมีส่วนร่วมจากประชาชนเพื่อให้เติมเต็มทางข้อกฎหมายแล้ว การจัดสร้างโครงการขนาดใหญ่ของรัฐเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องการการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อทำให้โครงการผ่านข้อกฎหมายไปได้ ในทางทฤษฎีการพัฒนาประชาธิปไตยนับว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะรัฐฟังเสียงชาวบ้าน เปิดเวทีประชาพิจารณ์ให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่อีสาน หรือ หลายแห่งในประเทศไทยที่รัฐต้องการทำโครงการพัฒนา รัฐมีการเปิดรับฟังเสียงชาวบ้านจริง แต่ชาวบ้านที่เข้าร่วมนั้นเป็นเพียงไม้ประดับ หรือตราแสตมป์ความชอบธรรมให้กับการจัดกระบวนการของรัฐว่าได้มีการรับฟังเสียงชาวบ้านในพื้นที่แล้ว 

สิ่งที่กล่าวมานี้ไม่ได้เกินความจริงเลย รัฐไทยมีการเปิดพื้นที่จริงให้ชาวบ้านแสดงความเห็น แต่ชาวบ้านที่เจ้าหน้าที่รัฐขนมานั้นเป็นประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ใกล้เคียงไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการของรัฐ มากกว่านั้น บริษัทเอกชนที่มีการรับสัมปทานโครงการจากรัฐ มีการจ่ายเงินให้ชาวบ้านบางกลุ่มยอมรับในโครงการที่จะทำขึ้น ผลที่ตามมาคือ ชาวบ้านมีการทะเลาะกันเอง กลุ่มหนึ่งหนุนหลังเอกชนและรัฐในการจัดทำโครงการเพราะตนเองได้เงินและไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งคือชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงและคัดค้านการจัดทำโครงการเหล่านั้น 

สิ่งนี้อาจจะกล่าวได้ว่าการรับฟังเสียงของชาวบ้านนั้นไม่สะท้อนความจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ มากกว่านั้นสิ่งที่เราเห็นอย่างชัดเจนคือ เมื่อมีชาวบ้านทำการประท้วงการจัดสร้างโครงการของรัฐ การจัดการของรัฐโดยเฉพาะในช่วงที่เป็นเผด็จการคือ การนำกำลังเจ้าหน้าที่ขับไล่ชาวบ้านไม่ให้ประท้วง การส่งคนไปข่มขู่ คุกคามชาวบ้านที่บ้าน นำเขาไปปรับทัศนคติ หรือแม้กระทั่งมีการอุ้มหายผู้นำชาวบ้านเพื่อสร้างความกลัว ทั้งที่การประท้วงของชาวบ้านเหล่านี้เป็นการแสดงออกที่แท้จริงที่พวกเขาต้องการให้ผู้มีอำนาจได้รับฟัง แต่ผู้มีอำนาจเลือกที่จะไม่ฟังและฟังในสิ่งที่เขาอยากฟังเท่านั้น

การเกณฑ์นักเรียนนักศึกษาเพื่อไปทำกิจกรรมให้กับสถาบันการศึกษา

วัฒนธรรมการนำประชาชนมาเป็นไม้ประดับและ/หรือ ตราแสตมป์นั้นไม่ได้มีเพียงเฉพาะการจัดงานของหน่วยงานรัฐเท่านั้น ในมหาวิทยาลัยเองที่ได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่ทางปัญญาและพื้นที่การศึกษาซึ่งอุดมไปด้วยปัญญาชนนั้นกลับเป็นพื้นที่บ่มเพาะสร้างวัฒนธรรมนี้ขึ้นมา ในแต่ละปีหลายมหาวิทยาลัยจะมีการจัดงานสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นพิธีพระราชทานปริญญาบัตร พิธีไหว้ครู พิธีรับน้อง หรือบางปีรับเป็นเจ้าภาพจัดงานแข่งขันกีฬาต่างๆ เมื่อมีพิธีก็ต้องมีคนเข้าร่วม เมื่อก่อนการนำนักศึกษาเข้าร่วมนั้นจะทำผ่านสิ่งที่เรียกว่าระบบ SOTUS ให้รุ่นพี่บังคับรุ่นน้องให้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของมหาวิทยาลัยรวมถึงกิจกรรมของคณะ ถ้าไม่เข้าร่วมก็จะไม่มีคะแนนหรือนำไปสู่การไม่ได้รุ่น ไม่ได้เป็นพวกเดียวกันกับรุ่นพี่และเป็นส่วนหนึ่งของคณะ ดังนั้น เวลาเราเห็นบางมหาวิทยาลัยจัดงานที่นั่งบนแสตนด์เชียร์และที่นั่งในหอประชุม จะเต็มไปด้วยนักศึกษาซึ่งบางคนไม่ได้เต็มใจอยากมาแต่เพราะมีเงื่อนไขบางอย่างบังคับเขาไว้ นอกจากนี้ ในบางมหาวิทยาลัย มีการรับปริญญาในฤดูหนาว นักศึกษาจะถูกนำมายืนเรียงกันนอกอาคารเพื่อร้องเพลงเชิดชูเกียรติมหาวิทยาลัยท่ามกลางอากาศหนาวในตอนเช้า เพื่อความสวยงามของขบวนแถว บางครั้งไม่อนุญาตให้ใส่เสื้อกันหนาวเพื่อที่ว่าจะได้ถ่ายรูปออกมาได้อย่างสวยงามเวลาพี่บัณฑิตเดินผ่าน

อย่างไรก็ตาม เมื่อสังคมเปิดกว้างมากขึ้น นักศึกษามีมือถือ มีอินเตอร์เน็ตสามารถบันทึกการกระทำต่างๆที่บังคับจิตใจหรือการเกณฑ์ให้ไปร่วมงานของผู้บริหารมหาวิทยาลัยหรือของคณะได้ การเกณฑ์นักศึกษาให้เข้าร่วมงานดูเหมือนจะลดลง แต่สิ่งเหล่านี้ถูกแทนที่โดยสิ่งที่เรียกว่า “จิตอาสา” การมีจิตอาสาจำนวนมากในตอนแรกจะนำมาสู่การมีโอกาสจะได้รับเงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เงินกู้ตรงนี้นักศึกษาต้องจ่ายเองทั้งต้นและดอกเมื่อเรียนจบไป หรือการได้รับสวัสดิการต่างๆ จากทางมหาวิทยาลัย เช่น การได้สิทธิอยู่หอพักภายในมหาวิทยาลัย เป็นต้น บางครั้งมีการลือกันในนักศึกษาเองว่าถ้าจิตอาสาคะแนนไม่ถึงเกณฑ์จะเรียนไม่จบ ซึ่งนั่นก็ไม่เป็นเรื่องจริง อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขตรงนี้ถูกนำมาใช้กับนักศึกษาที่มีฐานะยากจน หรือไม่รู้ในกฎระเบียบที่เปลี่ยนไปเพื่อทำให้พวกเขาต้องไปร่วมกิจกรรมของมหาวิทยาลัยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทั้งหมดนี้เป็น 3 เรื่องเล่าที่ผมพยายามสะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมที่เอาประชาชนมาเป็นไม้ประดับและ/หรือตราแสตมป์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอำนาจนิยมที่อยู่คู่กับสังคมมาอย่างยาวนาน ทั้งนี้วัฒนธรรมเหล่านี้นักวิชาการบางท่านเรียกว่า “การมีส่วนร่วมแบบจอมปลอม” หรือถ้าชาวบ้านเรียกกันง่ายๆว่า “การมีส่วนร่วมแบบตอแหล” (Fake Participation) ทั้งนี้ การมีส่วนร่วมที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้มีความหมายอะไรในตัวมันเองเลย แต่ผู้มีส่วนร่วมกลับเป็นเพียงไม้ประดับและ/หรือตราแสตมป์เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับผู้มีอำนาจในบ้านเมือง สิ่งเหล่านี้ ไม่ได้เกิดขึ้นแต่เพียงในหน่วยงานราชการของรัฐแต่ยังขยายไปสู่รั้วมหาวิทยาลัยที่เป็นสถาบันการศึกษาอีกด้วย ดังนั้น เลิกเถอะวัฒนธรรมเอาประชาชนมาเป็นไม้ประดับและ/หรือตราแสตมป์ เพื่อพัฒนาบ้านเมืองให้เป็นอารยะ เป็นประชาธิปไตย และมองประชาชนเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีศักดิ์ศรีเหมือนกับท่านเสนาบดีผู้มีอำนาจยิ่งใหญ่ทั้งหลาย 

image_pdfimage_print