วันที่กลับจากทำงานนวดแผนไทยที่เกาหลีใต้ มันควรจะเป็นปีที่เธอสามารถลืมตาอ้าปากได้เสียที หลังต่อสู้กับปัญหาหนี้สินก้อนใหญ่มายาวนาน – หนี้ที่มาจากพ่อซึ่งถูกหลอกซ้ำๆ เพื่อไปขุดทองต่างแดน ทว่านอกจากครอบครัวของเธอไม่มีโอกาสได้เห็นทองแล้ว กลับมีเพียงดอกเบี้ยกองท่วมหัว

ราวปี 2547 พ่อของเธอตั้งความหวังเอาไว้ว่า การไปทำงานที่อิสราเอลจะช่วยยกฐานะครัวครัวให้มั่นคงได้ เขาตัดสินใจกู้ยืมเงิน 350,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ต่อเมื่อใกล้ถึงเวลานัดหมาย รายชื่อคนที่ได้ไปตะวันออกกลางกลับไม่ใช่ตน ผลของมันคือหนี้ และต้องไม่ลืมว่ามันคือหนี้เงินแสนของ 20 ปีที่แล้ว

เพื่อแก้ไขสถานการณ์ พ่อของเธอหาหนทางไปนอกอีกครั้ง ด้วยการกู้เงินไปทำงานอีกฟากของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน คำบอกเล่าจากใครสักคนยืนยันว่า ค่าแรงในลิเบียคือ 30,000 บาทต่อเดือน ซึ่งสูงลิบในสายตาเขา อย่างน้อยก็ ณ ขณะนั้น แต่ความจริงคือเมื่อไปถึงประเทศตอนเหนือของทวีปแอฟริกา ค่าแรงที่ได้รับจริงกลับเหลือ 13,000 บาทต่อเดือน กระนั้นก็ยังดีพอให้มีเงินส่งกลับบ้านเดือนละ 8,000 บาท ทว่าเหมือนพระเจ้าชื่นชอบหนังดราม่า เพียง 3 เดือนถัดมาเกิดการสู้รบในลิเบีย พ่อของเธอจึงหนีตายกลับมาพร้อมความสงสัยว่า ระหว่างหนี้กับสงครามไม่รู้ว่าอะไรรุนแรงกว่ากัน

เจนปรียา จำปีหอม คือลูกสาวของพ่อ – ผู้มีมรดกเป็นหนี้ที่เขาก่อโดยไม่ได้ตั้งใจ

เมื่อความพยายามของพ่อที่จะยกฐานะครอบครัวกลับให้ผลตรงข้าม การกู้หนี้เพื่อโปะหนี้แบบวนไปทำให้ดอกเบี้ยสูงท่วมคอหอยชนิดที่จับต้นชนปลายไม่ถูก ลำพังค่าแรงในประเทศไทยไม่สามารถคลี่คลายสถานการณ์ได้แน่ ปลายปี 2558 เจนปรียาซึ่งขณะนั้นเป็นครูโรงเรียนเอกชนตัดสินใจทิ้งเงินเดือน 7,000 บาท ด้วยการลาออก กำเงินติดตัวไม่กี่พันบินไปยังเกาหลีใต้ โดยหวังว่าเงินวอน (Won) จะใช้หนี้เงินบาทให้กับครอบครัวได้ ขณะที่ลูกกับสามี เธอบอกให้รออยู่ที่บ้าน

เพียง 6 เดือนในเมืองปูซาน กับการได้ทำงานหมอนวดแผนไทยแบบจับพลัดจับผลู รายได้ประจำราว 1,000,000 วอน บวกกับทิปจากแขก รวมเป็นเงินไทยราว 34,000 บาทต่อเดือน ทำให้เธอมีเงินมากพอที่จะส่งกลับบ้านเพื่อปลดพันธนาการแห่งหนี้สินของพ่อ

“ชีวิตดีขึ้นมาก ปลดหนี้ได้เกือบหมด ส่งเงินกลับบ้านแทบทุกบาททุกสตางค์ เก็บไว้ใช้แค่เดือนละ 9,000 วอน (ประมาณ 240 บาท) เพราะว่าเขา (นายจ้าง) มีข้าว มีน้ำ มีไข่ มีมาม่า มีอะไรให้เรากิน ถ้าแขกเยอะเขาก็พาไปเลี้ยงเคเอฟซี เลี้ยงพิซซ่า เขาดูแลดี แต่ทีนี้ก็ถูกส่งตัวกลับมา ไปได้แค่นั้น ได้แค่ 6 เดือน”

1 เมษายน 2559 เธอถูกส่งกลับมาบ้านเกิด เพราะ 6 เดือนในเกาหลีใต้เธออยู่ในสถานะ Overstay Visa หรือที่คุ้นกันว่าเป็น “ผีน้อย”

เจนปรียา จำปีหอม (ภาพ: อาชวิชญ์ อินทร์หา)

จุดเปลี่ยนของวังวน

ตึกแถวกึ่งเก่ากึ่งใหม่ใน อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู มีร้านนวดแผนไทยขนาด 4 เตียง นวดน้ำมันอีก 2 เตียงเปิดให้บริการ เจนปรียา จำปีหอม คือเจ้าของร้านนวดแห่งนี้ หลังเรียนนวดจาก YouTube และใช้ประสบการณ์ที่เคยไปทำงานระยะสั้นในเกาหลีใต้ รวมทั้งกลับมาเรียนเพิ่มเติมตามหลักสูตร ทำให้ปี 2561 เธอตัดสินใจมีร้านเป็นของตนเอง ทว่าไวรัสโคโรน่าที่ถูกตรวจพบในเมืองอูฮั่น ประเทศจีน เมื่อปลายปี 2562 ก่อนระบาดไปทั่วโลกกลายเป็นคลื่นยักษ์ที่แทบจะถล่มปราสาททรายเล็กๆ ของเธอให้หายวับไปกับชายหาด

จากเคยมีรายได้วันละ 1,000 บาท ไวรัสทำให้ร้านนวดถูกปิด แต่ค่าเช่าร้านยังต้องจ่าย ค่าอาหารการกินยังต้องควัก ยังไม่นับค่างวดรถยนต์ ค่าเลี้ยงดูลูก จุนเจือพ่อแม่วัยชราซึ่งมีโรคประจำตัว รวมแล้วกลายเป็นรายจ่ายมากกว่ารายรับ ลำพังเงินเดือนสามีจึงไม่เพียงพอ

3 เดือนนับจากวันปิดร้าน ทุกอย่างก็เริ่มทรุด มากกว่านั้นคือ เธอพบว่าตนเองกำลังตั้งท้องลูกอีกคน ไม่ต้องเชี่ยวชาญคณิตศาสตร์ก็พอคำนวณได้ว่า COVID-19 กำลังฉุดให้ครอบครัวกลับไปสู่วังวนเดิม แต่บางข้อความบนหน้าฟีด Facebook บอกกับเธอว่า ชีวิตยังมีความหวัง และมันน่าจะเป็นหวังที่หอมหวานไม่น้อย

“เห็นเขาไลฟ์สดไปเก็บเบอร์รีเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เรามองว่าคงไม่น่ากลัวหรอกมั้ง พอมาคุยกับแฟน ก็ตกลงไปด้วยกันทั้งคู่เลย แต่เราไม่มีเงินเก็บเลยจะทำอย่างไร จึงไปปรึกษากับอาซึ่งเขาพอมีเงินอยู่บ้าง เล่าให้เขาฟังว่าจะไปเก็บเบอร์รีที่ฟินแลนด์ แกก็บอกไปสิ

“มาคุยกับพ่อ เขาไม่อยากให้ไป เขาบอกว่าไปเมืองนอกมันลำบาก ไปเก็บผลไม้แบบนี้ก็เหมือนไปเก็บเห็ดในบ้านเรา เจอก็ได้ ไม่เจอก็ไม่ได้ เพราะมันไม่ได้ปลูกไว้ในฟาร์ม แต่มันอยู่ในป่า พ่อจะไม่สนับสนุนเลย เพราะแกเคยไปเจอความลำบากมาแล้ว ส่วนแม่ก็ไม่ว่าอะไร แล้วแต่เราเลย”

ทองคำในป่ายุโรป

วินัย ลู่วิโรจน์ อดีตรองปลัดกระทรวงแรงงาน บอกว่า เดือนกรกฎาคมเป็นช่วงเข้าสู่ฤดูร้อนของยุโรป เมื่อหิมะเริ่มละลาย ผลไม้ป่าตระกูลเบอร์รีจะมีมากในตอนเหนือของสแกนดิเนเวียและแถบซับอาร์กติก (Subarctic) นอกจากคนท้องถิ่นจะเก็บเบอร์รีเหล่านั้นมาแช่แข็งและทำแยมกินในครอบครัวแล้ว ยังมีความต้องการนำเบอร์รีไปผลิตเป็นอาหารบำรุงสายตา วิตามิน และเครื่องสำอางในระบบอุตสาหกรรม นั่นจึงทำให้มีการพัฒนาฟาร์มเบอร์รีขึ้นมา ทว่าเบอร์รีจากฟาร์มยังมีรสสู้เบอร์รีป่าไม่ได้ ความต้องการเบอร์รีป่าจึงมีอยู่ และนั่นนำมาสู่การนำเข้าแรงงานมาทำหน้าที่นี้

ช่วงแรก คนไทยถูกชักชวนไปโดยระบบญาติพี่น้องหรือคนรู้จักของผู้หญิงไทยที่มีสามีเป็นคนฟินแลนด์ การเข้าไปทำงานเพียงจ่ายค่าตั๋วเครื่องบินและค่าใช้จ่ายที่จำเป็น ก็สามารถเก็บเบอร์รีขายได้แล้ว แต่เมื่อพบว่าการเก็บเบอร์รีในแต่ละฤดูกาลสามารถทำเงินได้มาก รูปแบบการนำเข้าแรงงานจึงกลายเป็นธุรกิจของชาวไทยที่มีระบบนายหน้าหางานในประเทศไทย การจัดหาที่พัก อาหาร รถเช่า ตลอดจนปล่อยเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยสูงให้กับแรงงานไว้กู้ยืม ธุรกิจนี้เติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งบริษัทแปรรูปและส่งออกเบอร์รีก็กระโดดเข้ามาร่วมสังฆกรรม ด้วยการเช่าอาคารเก่าๆ โรงเรียน รีสอร์ท สำหรับเป็นที่พักคนงาน รวมจัดหารถเช่าเสร็จสรรพในตัว แต่บริษัทเหล่านั้นยังต้องพึ่งพิงนายหน้าคนไทยเพื่อจัดหาคนงานให้

ต้นปี 2565 หลังจากลูกคนเล็กอายุได้ 8 เดือน เจนปรียา พิจารณาแล้วว่า เบอร์รีที่ฟินแลนด์น่าจะช่วยวิกฤติการเงินของครอบครัวได้ เธอจึงเริ่มติดต่อนายหน้าเพื่อพาไปฟินแลนด์อย่างจริงจัง 

เจนปรียา ยืมเงินจากอาเพื่อจ่ายให้กับนายหน้าสำหรับเธอและสามีคนละ 20,000 บาท นายหน้าจะดำเนินการจัดเตรียมเอกสาร ทำวีซ่า จัดหาที่พัก และค่าเดินทางไป-กลับ แต่นั่นเป็นเพียงค่าใช้จ่ายเบื้องต้น เพราะเงื่อนไขสำคัญอีกประการคือ รายได้ของเธอและสามีจากการเก็บเบอร์รีจะถูกหักอีกคนละ 45,000 บาท เพื่อให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายจริงในการดำเนินการของนายหน้า

ในข้อตกลงดังกล่าว จึงเท่ากับว่าเธอเป็นหนี้ 2 ต่อ ทั้งเป็นหนี้อาและเป็นหนี้บริษัทฯ รวมคนละ 65,000 บาท ตั้งแต่ยังไม่เริ่มทำงาน กระนั้นเธอก็มั่นใจว่า กำไรจากการเก็บเบอร์รีเรือนแสนที่ได้ยินมาจากบรรดาคลิปบน YouTube, Facebook และคำยืนยันของเจ้าหน้าที่รัฐจะคุ้มค่ากับความเสี่ยง

“คาดหวังมากว่าทำงานแค่ 3 เดือน สองคนผัวเมียต้องได้เงิน 300,000 บาทกลับบ้าน หรืออย่างไม่ได้ก็น่าจะ 200,000 บาท”

หมากเหลือง หมากดำ หมากแดง

หากขีดเป็นเส้นตรง ประเทศไทยอยู่ห่างฟินแลนด์ 7,732 กิโลเมตร และหากขีดเส้นจากขั้วโลกเหนือถึงฟินแลนด์ ระยะห่างของมันคือ 2,891 กิโลเมตร ความหนาวเย็นอาจเป็นเรื่องปกติของที่นี่ แต่ไม่ใช่สำหรับคนไทยแน่

เฉพาะกรกฎาคม – กันยายน ซึ่งเป็นช่วงพีคของการเก็บเบอร์รี อุณหภูมิช่วงกลางวันอยู่ระหว่าง 12-15 องศาเซลเซียส แต่สำหรับตอนเช้าหรือหัวค่ำ ปรอทวัดอุณหภูมิอาจชี้ตัวเลขไปที่ฝั่งติดลบ

เบอร์รีที่แรงงานไทยลัดฟ้าไปเก็บมีอยู่ 3 ประเภท ออกผลผลิตไม่พร้อมกันเสียทีเดียว แม้ต้นฉบับของผลไม้ป่าจะมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษ แต่คนไทยเรียกมันตามประเภทของสีและความคุ้นชินของการระบุชื่อผลไม้แบบอีสาน

วินัย ลู่วิโรจน์ บอกอีกว่า กลางเดือนกรกฎาคมถึงสิ้นเดือน เป็นช่วงของการเก็บคลาวด์เบอร์รี (Cloudberry) ซึ่งถูกเรียกว่า “หมากเหลือง” มันเป็นผลไม้ป่าที่มีไม่มากนัก จึงเก็บด้วยมือทีละลูก คนงานต้องออกจากแคมป์ตั้งแต่ 02.00 น. และกลับเข้ามาอีกครั้งประมาณ 23.00 น. เพื่อให้ได้หมากเหลืองมาขายในราคา 8-10 ยูโรต่อกิโลกรัม ซึ่งนับว่ามีราคาสูง

ปลายเดือนกรกฎาคมถึงกลางเดือนกันยายน เป็นช่วงเก็บบลูเบอร์รี (Blueberry) แม้บลูจะแปลว่า น้ำเงิน แต่มันถูกคนอีสานเรียกว่า “หมากดำ” คนงานต้องออกจากแคมป์ตั้งแต่ 04.00 น. กลับเข้าแคมป์ราว 20.00 น. หมากดำมีราคาอยู่ที่ 1.5 – 2.4 ยูโรต่อกิโลกรัม

เดือนกันยายน เป็นช่วงของการเก็บลิงงอนเบอร์รี (Lingonberry) ผลของมันสีแดงสดจึงถูกเรียกง่ายๆ ว่า “หมากแดง” นับว่าเป็นเบอร์รีที่มีมากที่สุด คนงานจะออกจากแคมป์ตั้งแต่ 05.00 น. กลับเข้าแคมป์ราว 20.00 น. ใช้คราดเล็กๆ กวาดหมากแดงลงถังเพื่อนำมาขายในราคา 80 เซนต์ – 1.4 ยูโรต่อกิโลกรัม 

เมื่อถึงเดือนตุลาคมเข้าสู่ฤดูหนาว หิมะตก เบอร์รีที่เคยมีจะลดลง คนงานไทยที่ไปขุดทองเป็นผลไม้ป่าจะกลับสู่มาตุภูมิ

27 มิถุนายน 2565 เจนปรียา จำปีหอม พร้อมสามี ห่างจากลูก 2 คนและตายายวัยชรา ที่ จ.หนองบัวลำภู ประเทศไทย ถึงสนามบินกลางกรุงเฮลซิงกิ (Helsinki) ประเทศฟินแลนด์ ก่อนนั่งรถที่บริษัทมารับไปยังเมืองฮอลโลล่า (Hollola) ซึ่งอยู่ห่างออกไปทางทิศเหนือราว 400 กิโลเมตร แม้ที่นั่นเป็นเมืองหนาว แต่การยืนแออัดบนรถบัสคันนั้นเป็นเวลานานทำให้เธอเหงื่อซึม และมันยิ่งร้อนผ่าวมากขึ้นเมื่อรู้ว่าต้องจ่ายค่าเดินทางคนละ 100 ยูโร (ประมาณ 3,800 บาท) ให้กับบริษัท

เบื้องหน้าคืออาคารกึ่งเก่ากึ่งใหม่แห่งหนึ่งซึ่งถูกทำให้กลายเป็นที่พักคนงาน ตึก 3 ชั้นสีเหลืองดูเล็กถนัดตาเมื่อพิจารณาว่ามันต้องรองรับคนงานกว่า 500 ชีวิต ห้องสี่เหลี่ยมถูกกั้นง่ายๆ เป็นตอนยาวกว้างราว 2 เมตร ข้างในมีเตียงเล็กๆ เบียดเสียด คนงานทั้งหญิงชายต้องนอนรวมกันโดยไม่มีการแยกชั้นแยกห้อง ของใช้ไม้สอยวางบนพื้นและใต้เตียง เชือกเล็กๆ โยงจากฝั่งหนึ่งถึงอีกฝั่งเพื่อใช้เป็นราวตากผ้า ที่นี่ถูกเปลี่ยนจากห้องเรียนของเด็กๆ ชาวฟินแลนด์ มาเป็นที่พักของคนงานชาวไทย

หากคิดว่าห้องนอนเบียดเสียดแล้ว ต้องจินตนาการอีกสักเล็กน้อยว่า ทั้งตึกซึ่งมีคนงานราว 500 ชีวิต กลับมีห้องส้วมรองรับเพียง 3 ห้อง และห้องอาบน้ำอีก 6 ห้องเท่านั้นที่ใช้งานได้ เพื่อประหยัดเวลาและลดการต่อคิว บ่อยครั้งที่ผัวเมียต้องอาบน้ำด้วยกัน ปริมาณสุขาที่ไม่สัมพันธ์กับจำนวนคน ทำให้ไม่ต้องพูดถึงเรื่องความสะอาด

คิดฮอดบ้าน

เจนปรียาและสามีเริ่มงานแรกด้วยการเก็บสตรอว์เบอร์รีในไร่แห่งหนึ่ง โดยเบิกค่าแรงได้เพียง 50 ยูโร (ประมาณ 1,900 บาท) ต่อคนต่อสัปดาห์ ซึ่งแทบไม่พอใช้ในชีวิตประจำวัน 

เธอเก็บสตรอว์เบอร์รีราว 20 วัน ถัดจากนั้นย้ายแคมป์จากฮอลโลล่า (Hollola) ไปเก็บเบอร์รีป่าที่ลาห์ติ (Lahti) เป็นการเดินทางกลับมายังฟินแลนด์ตอนล่าง ทว่าห่างจากจุดเดิมถึงประมาณ 340 กิโลเมตร และนั่นยิ่งกลายเป็นงานที่ทำให้เธอถึงกับพูดไม่ออก

รถเก๋งพ่วงรถลากต้องเช่าจากบริษัท ข้างในเก๋งบรรทุกผู้โดยสารรวมคนขับ 5 ชีวิต โดยสามีของเธอเป็นคนคุมพวงมาลัย ส่วนพ่วงท้ายสำหรับใส่อุปกรณ์และเบอร์รีที่หาได้ ทุกคนจะได้เงินจากบริษัทติดตัว 70 ยูโรต่อสัปดาห์ ตารางชีวิตของแต่ละวันจะต้องออกแบบให้สัมพันธ์กับ 4 จุดสำคัญคือ แคมป์คนงาน ป่าเบอร์รี ปั๊มน้ำมัน และจุดชั่งน้ำหนัก ซึ่งทุกหมุดหมายอยู่ห่างจากกันหลายสิบกิโลเมตร และโดยไม่มีใครแนะนำชี้ทาง

ราว 04.00 น. ของทุกวัน หลังจัดการธุระส่วนตัวเสร็จแล้ว รถในคณะของเจนปรียาจะออกเดินทางไปตามป่าต่างๆ ที่คาดว่าจะมีเบอร์รี แวะเติมน้ำมันเป็นครั้งคราว กินข้าวเที่ยง กลับเข้าป่า แล้วนำเบอร์รีที่หาได้ตลอดวันไปที่จุดชั่งน้ำหนัก ที่นั่นจะมีการลงบันทึกไว้ว่าแต่ละวันคนงานเก็บได้น้ำหนักกี่มากน้อย จากนั้นในจุดเดียวกันจะให้รับอาหารมื้อค่ำ พร้อมกับเสบียงมื้อเช้า และมื้อเที่ยงของวันรุ่งขึ้นไปพร้อมกัน กิจวัตรเป็นเช่นนี้ซ้ำเดิม เพิ่มเติมคือความฝันที่ถูกบั่นทอนโดยความไม่ชอบมาพากล

“วิธีไปเก็บเบอร์รีคือ เขาจะแบ่งทีมเป็นคันรถ รถละ 5 คน นั่งไปด้วยกัน ในรถเราทุกคนเพิ่งเคยไปเก็บเบอร์รีครั้งแรก สามีเราเป็นคนขับ นายหน้าบอกแค่ว่ามีเบอร์รีทุกที่ เราไม่รู้จักเส้นทาง แต่เขาปล่อยเราออกไปเลย เหมือนปล่อยเป็ดออกหากินกลางทุ่ง ส่งข้อความไปถาม ขอให้ปักหมุดใน GPS ให้ ก็ไม่เคยได้คำตอบ แต่เขากลับเก็บเงินจากเราเป็นค่าสำรวจเส้นทางเฉยเลย

“เดาสุ่ม เหมือนไปเก็บเห็ดนั่นแหละ ตรงนั้นน่าจะมีไหมนะ ก็เดินดุ่มๆ เข้าไป ถ้าโชคดีก็ได้ ถ้าโชคไม่ดีก็ไม่ได้ เพราะมันไม่ได้อยู่ในฟาร์ม ไม่มีใครช่วยเรา ตอนนั้นแหละที่รู้สึกอยากกลับบ้านมาก คิดถึงลูก บางวันไม่อยากออกไปทำงานเลย”

ราคาน้ำมัน 2.2 ยูโร (ประมาณ 84 บาท) ต่อลิตร ระยะทางไปกลับจากแคมป์ถึงปั๊มน้ำมันมากกว่า 70 กิโลเมตร จากที่พักถึงจุดชั่งน้ำหนักเบอร์รีไปกลับมากกว่า 30 กิโลเมตร ระยะทางของแต่ละวันอาจมากกว่านี้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญคือ รถคันนี้จะพาไปเจอหมากเหลือง หมากดำ และหมากแดง เพียงพอหรือไม่

เดิมรถของเจนปรียามีสมาชิก 5 คน เงินรวมกัน 350 ยูโรอาจพอไหวสำหรับใช้เติมน้ำมัน แต่เมื่อการหาเบอร์รี่ไม่เข้าเป้า สมาชิกบนรถจึงลดเหลือ 3 คน คือเธอ สามี และน้องสะใภ้ เงิน 210 ยูโรที่รวมกันได้แต่ละสัปดาห์ถึงกับต้องเอามือก่ายหน้าผาก เพราะมันแปรค่าเป็นน้ำมันที่น้อยนิดและระยะทางที่ลดลง

1 กิโล 1.1 ยูโร

กระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า การเก็บเบอร์รีต้องทำงานท่ามกลางอากาศหนาว อาจเริ่มต้นตั้งแต่ 03.00 – 18.00 น. นอกจากต้องแข่งกับสภาพอากาศ ยังต้องแข่งกับคนเก็บเบอร์รีทีมอื่น เพื่อทำให้แต่ละวันมีปริมาณเบอร์รีมากพอที่เปลี่ยนเป็นค่าแรง ในแต่ละวันคนงานต้องเก็บเบอร์รีให้ได้อย่างน้อย 15-20 กิโลกรัม แต่หากต้องการกำไร จะต้องเก็บผลไม้ป่าให้ได้ถึงวันละ 50 กิโลกรัม แต่นั่นก็อาจยังไม่มากพอ โดยเฉพาะกรณีของเจนปรียา

ถังขนาด 3 กิโลกรัม ถูกหิ้วด้วยมือซ้าย คราดเก็บเบอร์รีถูกกวาดด้วยมือขวา จากเช้ามืดถึงค่ำคืน เบอร์รีที่เก็บมาจะถูกนำมาชั่งและจดน้ำหนัก จากนั้นบริษัทจะทำหน้าที่คำนวณเป็นค่าแรงรวมไว้ในบัญชีคนงาน ราคาของเบอร์รีอาจขึ้นลงตามผลผลิตของแต่ละปี และราคาตลาด แต่ไม่มีใครรู้ว่ายอดที่หาได้ถูกแปรค่าเป็นเงินกี่สลึง จนกว่าจะถึงวันกลับบ้านเท่านั้นจึงจะถูกคิดบัญชี

“เราพยายามหามาให้ได้มากที่สุด แบกมาทีละ 3-4 กระสอบ คิดว่าได้เยอะมากแล้วนะ แต่พอไปชั่งได้ 20-30 กิโลกรัมเท่านั้น เราไม่เข้าใจ เพราะเบอร์รี 1 กิโลกรัมเนี่ยนิดเดียวเอง เราเคยเป็นแม่ค้ามาก่อนเรารู้ว่าของ 1 กิโลกรัมนั้นหนักเบาแค่ไหน พอเป็นอย่างนี้ก็คิดในใจแล้วว่า ถูกโกงตาชั่งแน่

“ไม่เพียงเท่านั้น บริษัทซื้อเบอร์รีแค่กิโลฯ ละ 1.1 – 1.2 ยูโรเท่านั้น เราขับรถไปเจอบริษัทอื่นเขารับซื้อกิโลฯ ละ 2 ยูโร แล้วเราได้คุยกับเมียฝรั่งในฟินแลนด์เขาขายได้กิโลฯ ละ 10 ยูโรโน่นเลย แต่ของเขาคัดอย่างดี ทำสะอาด เหมือนของขายในช็อปบ้านเรา” 

กิจวัตรซ้ำๆ ทำงานหนักเกิน 15 ชั่วโมงต่อวัน จากเช้าตรู่ถึงค่ำคืน มากกว่า 70 วันของสองสามีภรรยาจากหนองบัวลำภูในแผ่นดินอื่น กลางเดือนกันยายนซึ่งครบกำหนดการทำงาน เธอควรได้รับค่าตอบแทนที่คุ้มค่ากับความลำบาก แต่ทุกอย่างกลับแตกสลายเมื่อรายการของเบอร์รีที่เธอเก็บหักลบกับบรรดารายจ่ายสารพัดที่บริษัทจดไว้ไม่ใช่อย่างที่ฝันถึง

“11 กันยายน 2565 ก่อนบินกลับบ้านในวันรุ่งขึ้น คนงานกว่า 400 – 500 คน มารวมที่แคมป์เพื่อต่อคิวรับค่าแรง พอเห็นเงินที่เหลือแล้วแต่ละคนแทบหมดอาลัยตายอยาก”

นอกจากตัวเลขที่บริษัทแจ้งจะไม่เหลือกำไรจากการขายเบอร์รีแล้ว เธอยังติดหนี้อีก 900 ยูโร ซึ่งบริษัทอ้างว่าเป็นหนี้ที่มาจากการยืมเงิน ค่าสิ่งของเครื่องใช้ ค่าขนม ค่าน้ำมัน และค่าใช้จ่ายต่างๆ ระหว่างทำงาน อย่างไรก็ตามบริษัทให้ค่าปลอบใจเธอกับสามีรวมกันเป็นเงิน 100 ยูโร เพื่อกลับบ้าน

ทวงคำสัญญา

ไม่ใช่แค่เจนปรียาที่มีปัญหา เธอบอกว่า คนงานที่ไปด้วยกันมากกว่า 100 คนก็ประสบชะตาเดียว กระทั่งกลับมาถึงแผ่นดินไทยยังต้องเรี่ยไรเงินช่วยเหลือกันเพื่อให้ทุกคนมีค่ารถกลับบ้าน ในคนนับร้อยเหล่านั้นมีน้องสะใภ้และน้องชายของน้องสะใภ้รวมอยู่ด้วย

ก่อนการเดินทาง กรมการจัดหางาน ประกาศมาตรการการเดินทางไปเก็บผลไม้ป่าฟินแลนด์ ฤดูกาลปี 2565 ว่า บริษัทผู้รับซื้อผลไม้ป่าฟินแลนด์หรือบริษัทผู้ประสานงานในประเทศไทยต้องประกันรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายให้คนงานไทย โดยวางหลักประกันทางการเงิน (Bank Guarantee) ตามจำนวนที่กรมการจัดหางานกำหนด ณ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเท่านั้น และหลังสิ้นสุดปี 2565 บริษัทรับซื้อผลไม้ป่าหรือบริษัทผู้ประสานงานในประเทศไทยต้องดำเนินการให้คนงานไทยมีรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้างงาน ในจำนวนที่ไม่ต่ำกว่า 30,240 บาท

มาตรการดังกล่าวทำให้เจนปรียาอุ่นใจได้ว่า หากแม้นไม่โชคดีได้เงินแสนก็ยังได้เงินหมื่นเป็นหลักประกัน ย้อนกลับไปวันที่อบรมก่อนเดินทาง สำนักงานจัดหางานจังหวัดหนองบัวลำภู ยังพูดยืนยันด้วยว่า หากมีปัญหาอะไรให้ไปหาตนได้เลย

“สำนักงานจัดหางานจังหวัดหนองบัวลำภูเป็นคนพูด มีอะไรกลับมาหาผม ถ้าพวกคุณไปแล้วไม่ได้เงินกลับมาหาผม ถ้าไม่ได้เงินถึง 3 หมื่นกลับมาหาผมเลย มาที่นี่เลย เขาเป็นคนพูดแบบนี้ เรามีความไว้ใจ กลับมาจากฟินแลนด์ก็รีบพากันไปหาเขา แต่ไม่คิดว่าไปถึงจะได้คำตอบแบบนี้

“เขาบอกว่าพวก คุณติดต่อไปเอง เดินทางไปเอง พวกคุณเซ็นเอกสารนี่ ดูแต่ละคนพูดภาษาอังกฤษไม่ได้สักคน ที่เขาพูดก็มีส่วนถูก (พูดภาษาอังกฤษไม่ได้สักคน) แล้วคุณคิดมาได้อย่างไรว่าพวกนี้จะเดินทางด้วยตัวเอง ติดต่อด้วยตัวเองทำวีซ่าเอง ในเมื่อรู้ทั้งรู้ว่าเขาพูดภาษาอังกฤษไม่ได้”

เจนปรียา ยืนยันว่านี่คือคำพูดของ เจ้าหน้าที่สำนักงานจัดหางานหนองบัวลำภู และตัดพ้อว่า เป็นคำพูดที่ราวกับว่าแรงงานไทยที่ถูกเอารัดเอาเปรียบเป็นฝ่ายกระทำผิดเสียเอง

ไม่พูดเปล่า เอกสารชี้แจงข้อเท็จจริงการร้องทุกข์ของเธอยังถูกตอบกลับมาเป็นลายลักษณ์อักษรจากสำนักงานจัดหางานจังหวัดหนองบัวลำภู ลงวันที่ 25 มกราคม 2566 ระบุข้อความชัดเจนว่า การเดินทางไปทำงานที่ฟินแลนด์โดยทำสัญญาจ้างผ่านการรับรองจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ กับนายจ้างดังกล่าว ซึ่งในสัญญาระบุว่าทำงานเก็บสตรอว์เบอร์รีและดูแลสวน โดยได้รับค่าจ้างชั่วโมงละ 9 ยูโร ทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน และ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์นั้น เป็นการสมัครใจไปทำงานต่างประเทศด้วยตนเอง ตามมาตรา 48 แห่ง พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2528 ซึ่งกรณีดังกล่าวไม่เข้าข่ายมาตรการการเดินทางไปเก็บผลไม้ป่าในฟินแลนด์ ฤดูกาลปี 2565 จึงไม่สามารถดำเนินการหักหลักประกันเพื่อชดเชยรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายให้แรงงานได้

หนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงถึง เจนปรียา จำปีหอม จากสำนักงานจัดหางานจังหวัดหนองบัวลำภู

ฟ้องและร้องเรียน

เมื่อการร้องทุกข์ต่อสำนักงานจัดหางานจังหวัดในบ้านเกิดไม่เป็นผล เจนปรียา และเพื่อนแรงงานไทย 53 คน ตัดสินใจเรี่ยไรเงินกันเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อดำเนินการเข้ากรุงเทพฯ เพื่อร้องเรียนไปยังกระทรวงแรงงาน ก่อนได้รับคำตอบที่พอให้หายใจคล่องขึ้นบ้าง

“เขาก็บอกว่า บริษัทต้องดูแลสิ ต้องรับผิดชอบ เอาเขาไปทำงานแล้ว ยังไงก็ต้องดูแล กระทรวงแรงงานบอกแบบนี้”

เมษายน 2566 บริษัทฯ ติดต่อกลับมาว่าจะจ่ายค่าชดเชยให้ จากคนที่เหลือเงินกลับบ้าน 100 บาท จะได้รับเงิน 10,000 บาท ส่วนคนที่ได้ 1,000 บาทขึ้นไป จะได้รับเงินชดเชย 20,000 บาท โดยแลกกับเงื่อนไขว่าต้องถอนเรื่องร้องเรียนออกจากกระทรวงแรงงาน แต่เจนปรียาและเพื่อนไม่ยอมรับกับยอดเงินดังกล่าว ด้วยการยืนยันว่าต้องได้รับ 30,000 บาท ต่อคนเป็นขั้นต่ำ ที่สุดการไกล่เกลี่ยดังกล่าวจบลงที่บริษัทยอมจ่ายให้แรงงานในจำนวนเงิน 30,000 – 40,000 บาท ลดหลั่นกันไป อย่างไรก็ตาม เพื่อนแรงงานจำนวนหนึ่งใน 53 คน กลับได้รับเพียงคนละ 20,000 บาท โดยบริษัทอ้างว่า ชื่อของพวกเขาตกหล่นจากรายการ

“เราส่งรายชื่อให้กระทรวงแรงงานไปทั้งหมด ทั้งบัตรประชาชน พาสปอร์ต แต่กลับหาว่ารายชื่อตกหล่น – ตกหล่นได้ยังไงคะ หนูเป็นคนหอบไปเองค่ะ มันจะตกหล่นได้ยังไงคะ เราถามแบบนี้ หนูก็ไม่รู้พี่ มันมีแค่นี้กระทรวงส่งมาให้แค่นี้, ตกหล่นหรือว่าตัดออกคะ เราก็เลยถามแบบนี้ หนูก็ไม่รู้พี่ กระทรวงฯ ส่งมาให้แค่นี้จริงๆ

เจนปรียาเล่าบทสนทนาที่เธอคุยกับบริษัทฯ ผ่านโทรศัพท์ แม้จะได้รับเงินค่าชดเชยเพื่อแลกกับข้อยุติการร้องเรียนต่อกระทรวงแรงงาน แต่เมื่อประเมินจากเรี่ยวแรงที่ลงไปร่วม 3 เดือน เฉลี่ยแล้วเธอมีรายได้จากการทำงานประเทศฟินแลนด์เพียงเดือนละ 10,000 บาทเท่านั้น น้อยกว่ารายได้ขั้นต่ำในประเทศไทยเสียอีก ในทางหนึ่ง ความเดือดร้อนของเธอและเพื่อนจึงถูกร้องเรียนไปยังสถานทูตฟินแลนด์ด้วย

(คุณคิดว่าค่าเสียหายที่ได้รับนั้นเพียงพอไหม – เราถาม) ไม่ค่ะ นี่คือการค้ามนุษย์

“เราไปยื่นกับสถานทูตฟินแลนด์แล้ว ทูตฟินแลนด์ก็บอกว่า ฉันขอโทษ ฉันจะตรวจสอบเรื่องนี้ให้ ขอโทษที่มันเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นในประเทศฉันๆ ไม่เคยรู้มาก่อนว่ามันเป็นแบบนี้ ตัวแทนที่เข้าไปยื่นเรื่องเขากลับมาเล่าให้ฟัง”

เบอร์รีป่า ค้ามนุษย์

เอกสารคู่มือการปราบปรามการค้ามนุษย์ฯ โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้คำนิยามเรื่อง การค้ามนุษย์ (Human Trafficking) คือการกระทำที่เกี่ยวข้องกับการเป็นธุระจัดหา การนำพา การับตัวไว้ และการบริหารจัดการบุคคลที่ได้มาซึ่งก็คือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำตัวผู้เสียหายไปก่อให้เกิดผลกำไร และ/หรือ ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในวงจรของการค้ามนุษย์ จะใช้วิธีการต่างๆ เพื่อควบคุมผู้เสียหายให้ยอมปฏิบัติตาม ไม่กล้าหลบหนี หรือป้องกันในกรณีที่ถูกเจ้าหน้าที่ตรวจพบ ซึ่งนอกเหนือจากการใช้กำลังบังคับแล้ว ยังรวมถึงการทำให้ผู้เสียหายถูกผูกมัดด้วยหนี้สินที่เกิดขึ้นโดยมิชอบ หรือการใช้กระบวนการทางกฎหมาย หรือข่มขู่ว่าจะใช้กระบวนการทางกฎหมายมาบังคับกับผู้เสียหาย

วิธีการที่ใช้ในการควบคุมผู้เสียหายทำให้ผู้เสียหายตัดสินใจที่จะไม่หลบหนี หรือทำให้ผู้เสียหายเชื่อ หรือกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อตนเอง หรือคนใกล้ชิด หากปฏิเสธการใช้บริการหรือทำงาน ผู้เสียหายอาจต้องเผชิญกับการถูกข่มเหงด้านร่างกาย เพศ และจิตใจ และอาจต้องอาศัยหรือทำงานในสถานที่ที่มีสภาพเลวร้าย

นอกจากถูกตรึงด้วยหนี้สิน ต้องทำงานหนักอย่างล้นเกิน และอยู่ในสภาพการทำงานที่เลวร้าย สิ่งที่จรัส คุ้มไข่น้ำ ส.ส. พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 คือการตั้งข้อสังเกตถึงสัญญาที่แรงงานจำนวนมากต้องลงนามก่อนไปฟินแลนด์นั้นมีถึง 3 รูปแบบ

รูปแบบแรก ระบุเงื่อนไขการทำงาน ค่าจ้าง ค่าตอบแทน สวัสดิการต่างๆ ไว้อย่างครบถ้วน รวมถึงคุ้มครองไม่ให้นายจ้างบังคับให้เซ็นสัญญาอื่น เพื่อยกเลิกสัญญาที่เป็นธรรมฉบับนี้ ทว่าสัญญานี้จะใช้เพื่อยื่นกับกรมจัดหางาน และสถานทูต เพื่อให้ได้วีซ่าทำงานเท่านั้น

รูปแบบที่สอง คือสัญญาที่แรงงานได้รับจริง สัญญาดังกล่าวมีเนื้อหาคล้ายฉบับแรก แต่ตัดเรื่องการคุ้มครองแรงงานในกรณีที่นายจ้างบังคับให้เซ็นสัญญาอื่นออกไป

และรูปแบบที่สาม จรัส คุ้มไข่น้ำ เรียกว่านี่คือ สัญญาทาส ที่ใช้บอกล้างสัญญาฉบับก่อนหน้าทุกประการ ถึงขั้นระบุไว้เลยว่า ทั้งสองฝ่ายจะต้องลงนามในสัญญาจ้างแรงงานของกรมการจัดหางาน ซึ่งเป็นสัญญาที่ทำขึ้นตามขั้นตอนของกรมการจัดหางาน สัญญาดังกล่าวไม่ตรงกับความเป็นจริง และเจตนาที่แท้จริงของทั้งสองฝ่ายแต่อย่างใด แต่ทั้งสองฝ่ายต้องยินยอมลงนามในสัญญาจ้างแรงงานของกรมการจัดหางาน เพื่อให้ผ่านตามขั้นตอนที่กรมการจัดหางานกำหนดไว้ โดยทั้งสองฝ่ายไม่มีเจตนาที่จะผูกพันตามสัญญาจ้างแรงงาน 

จรัส คุ้มไข่น้ำ ส.ส. พรรคก้าวไกล แสดงข้อมูลในสัญญาที่แรงงานเก็บเบอร์รีต้องเซ็น

จรัส ยังอธิบายด้วยว่า กระบวนการนำพาคนไปทำงานเก็บเบอร์รีที่ฟินแลนด์ ซึ่งมีทั้งการอบรมแรงงาน จัดงานสัมมนาใหญ่โต และจัดร่วมกับกรมการจัดหางานซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ หลังจากอบรมก็จะให้คนงานเซ็นสัญญา ทั้ง 3 รูปแบบ ซึ่งตนตั้งข้อสังเกตว่า เป็นไปได้อย่างไรที่กรมการจัดหางานไม่ทราบเรื่อง

พร้อมกับตั้งคำถามถึง สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในขณะนั้นว่า การไปดูงานของรัฐมนตรีและคณะในประเทศสวีเดนและฟินแลนด์เมื่อปี 2565 ซึ่งมีการไปเยี่ยมแรงงานไทยที่ทำงานในบริษัทโพลาริกา (Polarica) ไม่ทราบเลยหรือว่าบริษัทฯ ดังกล่าวถูกทางการฟินแลนด์ดำเนินคดีข้อหาค้ามนุษย์

“รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานไม่รู้จริงๆ หรือแกล้งไม่รู้ เพราะกรณีนี้เชื่อมโยงไปถึงผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงแรงงานของฟินแลนด์ ที่กลายเป็นผู้ต้องสงสัยว่าเรียกรับสินบนจากบริษัทเอกชนในการจัดโควตาแรงงานเก็บเบอรี่ป่าด้วย”

สุชาติ ชมกลิ่น ตอบคำถามหลังการอภิปรายว่า ปี 2564 มีการส่งแรงงานไปทำงานทั้งในสวีเดนและฟินแลนด์กว่า 10,000 คน ในจำนวนดังกล่าวมีแรงงานในฟินแลนด์ราว 200 คน และในสวีเดนอีกราว 300 คนที่มีปัญหา ซึ่งรัฐบาลกำลังหาทางแก้ไข พร้อมทั้งระบุว่า ปัญหาเกิดจากแรงงานเพิ่งไปทำงานครั้งแรกจึงยังไม่มีความชำนาญในการเก็บเบอร์รี แต่แรงงานที่เหลือกว่าร้อยละ 90 ยังได้ประโยชน์จากอาชีพนี้ 

สุชาติ อธิบายอีกว่า การส่งแรงงานไปทำงานทั้ง 2 ประเทศ เกิดจากการร้องขอของสถานทูต ไม่ได้เกิดจากรัฐบาลเป็นผู้กำหนด และสถานทูตเป็นผู้ออกวีซ่าเพื่ออนุญาตให้แรงงานไม่ว่าจากประเทศใดสามารถไปเก็บผลไม้ป่าแล้วขายที่นั่นได้เลย

ส่วนกรณีที่ตนไปเยี่ยมแรงงานในบริษัทโพลาริกา เพราะว่าบริษัทแห่งนี้มีคนไทยทำงานอยู่เป็นจำนวนมาก อีกทั้งเป็นบริษัทใหญ่โต มีที่ตั้งชัดเจน ตนจึงไปที่นั่น

“บริษัทอยู่ริมถนน บริษัทใหญ่โต แล้วที่เขาถูกดำเนินคดีในประเทศของเขา ก็ให้เขาต่อสู้คดี เขายังไม่ได้เป็นผู้ต้องหา

“ผมถามคนที่มาทำงานทุกปีมานับ 10 ปี เล่าให้ฟังว่า เขามาทำงานช่วงมิถุนายน – สิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงที่รอข้าวตั้งท้อง ระหว่างนั้นว่าง เขาก็มาหารายได้ เขาบอกกับผมว่า ได้เงินแสนจริงๆ เขาอาจจะขยันหรือมีวิธีของเขา มากันครอบครัวหนึ่ง 7 คนก็ได้เงินกลับไป 7-8 แสนบาท นี่คือสิ่งที่กระทรวงแรงงานสนับสนุนให้คนไปทำงาน ไม่ได้สนับสนุนให้เกิดการค้ามนุษย์ และในจำนวนแรงงานที่มีปัญหานั้น รัฐบาลได้ดำเนินการแก้ปัญหากระทั่งมีการถอนคำร้องเรียนไปหลายร้อยคนแล้ว”

ความขื่นขมของเบอร์รี

แม้จะอยู่ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 แต่ปี 2563 สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยด้วยความหน้าชื่นตาบานกับรายได้รวมเกือบ 800 ล้านบาท ที่แรงงานไทยได้รับจากการไปเก็บเบอร์รีที่ฟินแลนด์

3-13 กันยายน 2565 สุชาติ เข้าพูดคุยกับ ตูลา ฮาไตเนน (Tuula Haatainen) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการจ้างงานแห่งกระทรวงเศรษฐกิจและการจ้างงาน สาธารณรัฐฟินแลนด์ เพื่อผลักดันให้การเดินทางไปทำงานเก็บผลไม้ป่าของแรงงานไทยถูกต้องตามหลักมาตรฐานการจ้างงานสากล ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายของทั้งสองประเทศ รวมทั้งผลักดันให้นายจ้างทั้งในประเทศไทยและฟินแลนด์จัดสวัสดิการ สิทธิประโยชน์ อันพึงมีพึงได้ให้แก่แรงงานไทยที่เดินทางไปเก็บผลไม้ป่าอย่างเท่าเทียม

2 รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานทั้งฝั่งไทยและฟินแลนด์ สุชาติ ชมกลิ่น เข้าพบ ตูลา ฮาไตเนน (ภาพ: กระทรวงแรงงาน)

รัฐธรรมนูญ มีระหันนอก ประธานบริหารบริษัท เฟรนด์ เบอร์รี สวีเดน ซึ่งมีพนักงาน 1,800 คน กล่าวขณะที่รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานเดินทางไปเยี่ยมถึงยุโรปว่า แรงงานไทยที่มาทำงานเก็บผลไม้ป่าในสวีเดนมีรายได้นับแสนบาทหรือมากกว่านั้นขึ้นอยู่กับความขยันของแต่ละคน บริษัทยังดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายทั้งค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าอาหาร และให้ความคุ้มครองกรณีเกิดการเจ็บป่วย แม้บางฤดูกาลประสบปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ ก็ไม่กระทบกับรายได้ของแรงงาน เนื่องจากบริษัทจะมีการประกันรายได้ขั้นต่ำให้แรงงานทุกคน

สุชาติ ชมกลิ่น เยี่ยมแรงงานเก็บเบอร์รีชาวไทยในสวีเดน (ภาพ: กระทรวงแรงงาน)

หลายเสียงยืนยันว่าเบอร์รีคือความหวัง ขณะที่อีกไม่น้อยเห็นแย้งต่อเรื่องนี้ ผ่านหลายกรณีที่เจ็บปวด และขื่นขม

10 กันยายน 2556 คนงานไทยในแคมป์ Saarijarvi ที่ฟินแลนด์ ซึ่งอยู่ในสภาวะผ่ายผอมเพราะต้องกินอยู่อย่างอดอยาก และมีสภาพการทำงานที่เลวร้าย พวกเขาถูกตัวแทนบริษัท Ber-Ex Oy ขู่ว่าจะส่งตัวกลับบ้านพร้อมเรียกตำรวจให้ไล่คนงานออกจากแคมป์ หลังบริษัทฯ แจ้งต่อคนงานเก็บเบอร์รีว่าทำงานได้ไม่ตามเป้า ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับคนงานที่ทำงานหนักถึงวันละ 13-15 ชั่วโมง มากกว่านั้นคือพวกเขาต้องกู้หนี้ยืมสินนับแสนเพื่อบินมาทำงานไกลบ้าน คำพูดของบริษัทฯ จึงเท่ากับเอาชีวิตของพวกเขามาแขวนไว้บนเส้นด้าย

เมื่อตำรวจเดินทางมาถึง พวกเขาถูกบริษัทฯ ขอให้ไล่คนงานออกจากแคมป์แห่งนี้ ทว่าตำรวจยืนยัน “ไม่สามารถทำได้” และชี้แจงด้วยว่า ตามกฎหมายแล้ว คนงานต้องทำงานด้วยความสมัครใจเท่านั้น

การกระทบกระทั่งครั้งนั้นหนักขึ้นเรื่อยๆ หลังย้ายจาก Saarijarvi มาที่ Juva บริษัทฯ กดดันด้วยการจับแยกคนงานออกเป็น 3 กลุ่ม แล้วให้ย้ายไปอยู่คนละเมือง ส่วนแกนนำ 2 คน พร้อมลูกทีมอีก 8 คน ถูกย้ายแคมป์ไปที่เมือง Leiksa ซึ่งอยู่ห่างชายแดนรัสเซียเพียง 30 กิโลเมตร 

การต่อรองและพูดคุยกับบริษัทฯ ไม่มีท่าทีเป็นมิตร ทั้งยังถูกข่มขู่ว่า ถ้าไม่เก็บเบอร์รีจะถูกส่งกลับบ้าน คนงาน 50 คนจึงปรึกษาข้อกฎหมายกับทนายความก่อนตัดสินใจฟ้องบริษัท Ber-Ex Oy ในคดีค้ามนุษย์

28 มกราคม 2565 ศาลฎีกาของฟินแลนด์ พิพากษาจำคุกเจ้าของบริษัทเบอร์รีในฟินแลนด์ข้อหาค้ามนุษย์ และให้ชดใช้แก่เหยื่อซึ่งเป็นแรงงานไทย 26 คน ที่เดินทางไปทำงานในฟินแลนด์เมื่อปี 2559 เป็นจำนวนเงิน 200,000 ยูโร (ประมาณ 7,400,000 บาท) พร้อมกับพิพากษาจำคุก 1 ปี 10 เดือน

ศาลระบุว่า แรงงานชาวไทยกลุ่มดังกล่าวที่เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนั้นถูกบริษัทฯ เอารัดเอาเปรียบด้วยการให้แรงงานเป็นหนี้อันเกิดจากค่าใช้จ่ายสารพัดตั้งแต่ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ที่พัก ค่าเช่ารถ ค่าน้ำมัน ค่าโทรศัพท์ ค่าเช่าอุปกรณ์เก็บเบอร์รี กระทั่งผ้าปูเตียง โดยหนี้เหล่านั้นเกิดขึ้นตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มทำงานด้วยซ้ำ นอกจากนี้ยังถูกยึดหนังสือเดินทาง ยึดตั๋วเครื่องบินขากลับของแรงงานเอาไว้ ปล่อยให้แรงงานอยู่ในสถานะไม่ปลอดภัย ต้องพึ่งพิงนายจ้าง ถูกกำหนดราคาขายเบอร์รีจากบริษัท และมีสภาพการจ้างงานที่เลวร้าย ที่พักแออัด ไม่ถูกสุขอนามัย และต้องทำงานมากถึง 12-15 ชั่วโมงต่อวัน โดยไม่มีวันหยุด

4 ตุลาคม 2565 สำนักงานสอบสวนกลาง NBI หน่วยรักษาความปลอดภัยชายแดน และสำนักงานตำรวจกรุงเฮลซิงกิ จับกุมผู้ต้องหา 2 ราย ฐานค้ามนุษย์ หนึ่งในนั้นคือ จุกกา คริสโต (Jukka Kristo) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของบริษัท โพลาริกาออย (Polarica Oy) โดยบริษัทปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ส่วนอีกหนึ่งคนเป็นชาวไทยชื่อ กัลยากร พงษ์พิศ ซึ่งอยู่ในบริษัทที่ประสานงานแรงงานไทยไปเก็บผลไม้ป่าในฟินแลนด์

กรณีนี้สืบเนื่องมาจากแรงงานไทย 10 คนร้องขอความช่วยเหลือเนื่องจากไปเก็บเบอร์รีแล้วไม่ได้รับค่าตอบแทน ทั้งยังมีสภาพชีวิตที่ยากลำบาก ในช่วงเดียวกันนี้ตำรวจฟินแลนด์ได้ช่วยเหลือแรงงานไทย 46 คน ที่อยู่ระหว่างการสอบสวนในที่ปลอดภัยแล้ว

หลังการจับกุม จุกกา คริสโต และ กัลยากร พงษ์พิศ วันที่ 13 ธันวาคม 2565 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เข้าค้นบริษัทจัดหางานคนไทยไปเก็บผลไม้ที่ฟินแลนด์ ซึ่งบริษัทดังกล่าวมีที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ โดยระบุพฤติการณ์ว่า บริษัทชักชวนคนไทยไปทำงานโดยเรียกเก็บค่าเดินทางคนละ 50,000 บาท แต่เมื่อไปถึงฟินแลนด์กลับถูกยึดหนังสือเดินทาง และบังคับให้ใช้หนี้อันเกิดจากค่าใช้จ่ายต่างๆ สูงเกินจริง

31 ตุลาคม เราถามความคืบหน้ากับเจนปรียา จำปีหอม เธอเล่าว่า กระทรวงแรงงานไม่สามารถจ่ายค่าชดเชยใดๆ ตามหลักประกันชดเชยรายได้ เนื่องจากมองว่าเธอทำผิดสัญญาซึ่งระบุว่าเธอจะทำงานในสวนสตรอว์เบอร์รีแต่กลับสมัครใจไปหาผลไม้ป่าเอง ขณะที่บริษัทชดเชยให้เธอกับสามีคนละ 40,000 บาท ส่วนการร้องเรียนไปยังสถานทูตฟินแลนด์กรณีการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนและตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ เรื่องนี้กำลังอยู่ระหว่างการสอบสวน

หลังกลับจากฟินแลนด์ เพื่อนแรงงานของเธอหลายคนประสบชะตากรรมที่หนักหน่วงไม่แพ้กัน บ้างติดหนี้ล้นพ้นตัว บ้างป่วยหนัก เสี่ยงที่จะสูญเสียบ้าน ที่ดินทำกิน และหลั่งน้ำตาเมื่อถูกถามหาอนาคต

ปัจจุบันเจนปรียา จำปีหอม ในวัย 36 ปี ทุบกระปุกของตนเองเพื่อเปิดร้านนวดแผนไทยใน อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู อีกครั้ง ที่ตั้งของร้านใหม่ไม่ไกลจากร้านเดิม ระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมาเธอมีเงินใช้จากเรี่ยวแรงของ 2 มือ วันเดียวกันนี้เราถามเธอว่า รสชาติของเบอร์รีเป็นอย่างไร เธอตอบสั้นๆ ว่า “ยังจำรสเปรี้ยวอมหวานของมันได้ดี แต่ตอนนี้แทบไม่อยากจะมอง แค่ชื่อยังไม่อยากได้ยิน”

หมายเหตุ : ผลงานชิ้นนี้ได้รับการสนับสนุนจากโครงการ AspirE ภายใต้สหภาพยุโรป

image_pdfimage_print