กลุ่มสมัชชาคนจนยุติการชุมนุมแล้ว เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา หลังจากปักหลักชุมนุมนานกว่า 1 เดือน เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาของสมาชิกสมัชชาคนจน บริเวณริมคลองผดุงกรุงเกษม ข้งกระทวงศึกษาธิการ พร้อมออกแถลงการณ์สมัชชาคนจน ฉบับที่ 7 “เราจะกลับมา หากปัญหาไม่ยุติ”

ก่อนหน้านี้ ตัวแทนสมัชชาคนจนได้ประชุมร่วมกับรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2566 ที่ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนคนจน รอบที่ 2 โดยมีร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนสมัชชาคนจน ร่วมเจรจา 7 กรณีปัญหาเขื่อน ซึ่งบางกรณียังไม่มีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาเข้าร่วมประชุมจึงไม่สามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้ ในวันดังกล่าวคือ ผลการประชุมกรณีโครงการก่อสร้างเขื่อนท่าแซะ จ.ชุมพร ที่มีหน่วยงานรับผิดชอบ คือ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เนื่องจากไม่มีตัวแทนของจาก สทนช. เข้าร่วมประชุมจึงไม่สามารถหาข้อยุติได้ และกรณีปัญหาโครงการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น จ.แพร่ ไม่มีตัวแทนจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เข้าร่วมประชุม จึงไม่สามารถหาข้อยุติได้เช่นกัน ทำให้กลุ่มสมัชชาคนจนยังคงปักหลักชุมนุมอย่างต่อเนื่อง

จากนั้นวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 กลุ่มสมัชชาคนจนได้ร่วมชุมนุม และมีปราศรัยรายกรณี ณ เวทีกลาง ริมคลองผดุงเกษม ข้างกระทรวงศึกษาธิการ

โดยมี ไพฑูตย์ สร้อยสด เลขาธิการสมัชชาคนจน อ่านผลการประชุมคณะกรรมการกำกับและติดตามการแก้ปัญหาของสมัชชาคนจน นัดที่ 1/2566 บนเวที โดยการประชุมดังกล่าวแม้ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานในที่ประชุม แต่ก็อยู่รับฟังได้เพียง 15 นาที เนื่องจากติดภารกิจ จึงมอบหมายให้รองประธานทำหน้าที่แทน ในทั้งหมด 4 วาระ

ผลการกำหนดวันประชุมของคณะกรรมการ 6 ชุดเพื่อรอแก้ไขปัญหา ได้แก่ 

  1. คณะกรรมการแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจน กำหนดประชุมภายในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 ยังไม่กำหนดเวลาที่แน่ชัด
  2. คณะกรรมการแก้ไขกรณีเขื่อนหัวนาและราษีไศล กำหนดประชุม วันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 นัดแรก ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังไม่กำหนดเวลาที่แน่ชัด
  3. คณะกรรมการแก้ไขกรณีปัญหาแรงงาน วันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 เวลา 10.00 น. ที่กระทรวงแรงงาน 
  4. คณะกรรมการแก้ไขกรณีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงมหาดไทย กำหนดประชุม วันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 ยังไม่กำหนดเวลาที่แน่ชัด
  5. คณะกรรมการแก้ไขกรณีเขื่อนปากมูล กำหนดประชุม วันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 ยังไม่กำหนดเวลาที่แน่ชัด
  6. คณะกรรมการกรณีพื้นที่ป่าไม้ในรูปแบบนิคมอุตสาหกร กำหนดประชุมวันที่ 20 พฤศจิกายน 2566

ส่วนวาระเร่งด่วน 4 เรื่องกรณี ได้แก่ กรณีเขื่อนโป่งขุนเพชร จ.ชัยภูมิ กรณีการซ่อมบ่อทะเลและชายฝั่ง จ.สุราษฎร์ธานี ร้อยเอก ธรรมนัส ได้ดำเนินการประสานอย่างเร่งด่วนและพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่วนกรณีโคกหนองเหล็ก จ.สุรินทร์ ร้อยเอก ธรรมนัส แจ้งว่าจะประสานและเร่งไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ และกรณีการหยุดฟันต้นยางพาราใน จ.ตรัง และพัทลุง ร้อยเอก ธรรมนัสแจ้งว่าติดตามมาตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้วและจะเร่งรัดกระทรวงทรัพย์ฯ ในภายหลัง

ส่วนการบันทึกแนวทางผ่อนผันให้พี่น้องทำกินในที่ดิน จากที่มีการเสนอให้เข้า ครม. นั้นร้อยเอก ธรรมนัส กล่าวว่าเรื่องนี้เคยเข้า ครม. ในปี 2562 ยืนยันว่าให้ใช้ ครม. เดิมได้เลยในการประสานต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรณีเขื่อนท่าแซะ เขื่อนแก่งเสือเต้น ธรรมนัส กล่าวว่าจะประสานและติดตามกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ส่วนกรณีการปรับราคาข้าว การรับซื้อข้าว ร้อยเอก ธรรมนัส แจ้งว่า มาตรการในการช่วยเหลือเบื้องต้น คือ การแทรกแซงราคา โดยให้สหกรณ์ในพื้นที่กำหนดราคาในการซื้อข้าวหอมมะลิ ตันละ 1,200 บาท และค่าจัดการตันละ 200 บาท มีค่าเก็บรอการขายในสหกรณ์ ตันละ 1,500 บาท ค่าบริหารจัดการคุณภาพข้าว (ค่าเก็บเกี่ยว) ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่

ทั้งนี้ หลังการประกาศยุติการชุมนุม สมัชชาคนจนออกแถลงการณ์ว่า หากการประชุมของคณะกรรมการทั้งหมดไม่เป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ สมัชชาคนจนจะกลับมาหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยว เพื่อทวงคืนผลการเจรจาที่ตกลงไว้กับรัฐบาล

image_pdfimage_print