ปฏิเสธไม่ได้ว่านอกจากรสชาติของกาแฟที่ครองใจสายดื่ม เอกลักษณ์ ดีไซน์ที่เป็นตัวของตัวเองของร้านนั้นๆ ก็สามารถถูกใจผู้คนได้ง่ายด้วยอย่างเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบที่นิยมกันในปัจจุบันอย่าง นิมิมอล อาร์ต วินเทจ หรือโคซี่ เรียกได้ว่านอกจากรสหวานขมและความร้อนเย็นของกาแฟ การเสพบรรยากาศก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ดึงลูกค้าหน้าเดิมให้อยู่กับร้าน และเรียกลูกค้าหน้าใหม่ให้แวะเวียนมาเยือน 

การมาของผู้คนหลายหน้า ทำให้บทสนทนาคืออีกเหตุผลที่สร้างตัวตนอันมีเอกลักษณ์ ร้านกาแฟเคล้ากลิ่นความคิดทางการเมือง ที่ลูกค้าสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ คืออีกหนึ่งบรรยากาศที่เราจะพาไปรู้จัก อย่างน้อยก็ให้มากขึ้นกว่าเดิม

The Isaan Record พูดคุยกับ เป็ด – ยุทธนา ดาวเจริญ เจ้าของธุรกิจ SongSarn Coffee & Home Roaster หรือเป็นที่รู้จักกันในนาม ‘คาเฟ่ส่งสาร’ ร้านกาแฟในซอยเล็กๆ ย่านเมืองเก่าจังหวัดอุบลราชธานีที่เต็มไปด้วยร่องรอยความรุ่งเรืองด้านการค้าขาย ก่อนพ่อค้าแม่ค้าจะย้ายไปขายของกันที่ตลาดโต้รุ้งแทน เวียนไปกับถนนริมมูล ปัจจุบันเมืองเก่าแห่งนี้เป็นแหล่งรวมคาเฟ่สายมินิมอลและสายศิลป์ที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว นอกจากที่ตั้งและโฉมหน้าของร้านแล้ว ที่นี่ยังอบอุ่นไปด้วยคอการเมืองที่มักก่อให้เกิดกิจกรรมเสวนาเคล้าเสียงบทกาแฟอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ‘คาเฟ่ส่งสาร’ ก็เป็นร้านที่ถูกเข้าใจแบบนั้นไปแล้ว

เหตุผลหรือปัจจัยใดทำให้วาง movement ของร้านกาแฟตัวเองให้เป็นร้านที่เกี่ยวกับการเมือง

ความจริงแล้วร้านส่งสารไม่ได้ขับเคลื่อนเรื่องการเมืองเป็นหลัก แต่การเมืองคือสิ่งที่ชอบ อะไรที่ร้านสื่อสารออกไปตอนนี้ก็ชอบหมด การเมือง ศิลปะ ดนตรี อย่างการเมืองเอง ไม่ได้บอกว่าตนรู้ดีหรือเก่งจนเข้าใจมัน เพียงแต่ว่าเราเอาสิ่งที่เราชอบมาอยู่ในร้าน และบังเอิญวันหนึ่งมันดันเป็นแรงดึงดูดให้ผู้คนที่ชอบเหมือนกันเข้ามา มันเริ่มจากการเข้าภาพศิลปะหรือภาพต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองเข้ามาวาง เข้ามาติดในร้านมันก็ดึงอาจารย์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีอย่างอาจารย์ธีระพล อันมัย เข้ามารู้จัก จากนั้นก็เริ่มส่งต่อกันไปเรื่อยๆ ดึงคนอื่นๆ เข้าด้วยเช่นกัน 

ตอนนี้เลยกลายเป็นว่าร้านไม่ได้ถูกขับเคลื่อนโดยตัวเราคนเดียวแล้ว แต่ถูกขับเคลื่อนจากผู้คนที่เข้ามาใหม่ๆ ด้วย ไม่ใช่อารมณ์ตกกระไดพลอยโจร เพราะรู้สึกว่าพื้นที่มันถูกขับเคลื่อนโดยผู้คนด้วยเช่นกัน เราก็ปล่อยให้มันเลยตามเลย สุดท้ายมันก็เลยมาจนถึงจุดนี้…ที่เป็นส่งสาร

กิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นภายในร้าน ไม่ว่าจะเป็นเสวนาหรือการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเมือง คิดว่าผู้คนที่เข้ามาได้อะไรไปมากน้อยแค่ไหน 

ไม่ได้คาดหวังให้สิ่งที่ทำหรือกิจกรรมใดๆ ให้มันมี effect มากขนาดนั้น แต่เราคาดหวังว่าสักคนสองคนจากที่เข้ามาร้อยคนเข้ามารับสาร และออกไปส่งต่อสารนั่นคือสำเร็จแล้ว หมายความว่าหนึ่งคนที่ต้องการเข้ามาเพื่อรับสารจากเราเข้าใจมันหรือบางคนที่เข้ามาแล้วดันบังเอิญได้รับมัน แล้วเอามันไปขยายต่อ มันก็คือการขับเคลื่อน ไม่ได้คาดหวังว่าคนที่เดินเข้ามาจะต้องเข้าใจการเมืองเลย ไม่ต้องเข้าใจศิลปะหรืออินทันที แต่เราแค่บอกว่าสารหรือข้อความที่ออกจากตรงนี้ พื้นที่ที่ใช้แสดงโน่นนี่นั่น ขับเคลื่อนหรือรณรงค์อะไรก็แล้วแต่ มีผู้คนบางส่วนก็พอแล้ว บางคนที่เข้ามาก็ถ่ายรูปเอาไปเล่า เอาไปลงโซเชียลแค่นั้นก็มองว่าขับเคลื่อนแล้วนั่นคือความสำเร็จที่ออกจากสารที่เราส่งไป 

อย่างภาพลักษณ์ที่คนทั่วไปมองว่าร้านส่งสารคือร้านที่มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง อยากถามว่ารู้สึกอย่างไร ที่คนทั่วไปมองแบบนั้น

จริงๆ มองว่าเป็นเรื่องที่ดีเลย ด้วยความตั้งใจของเราก็ตั้งใจให้มันเป็นร้านกาแฟ เพียงแต่ว่าเราเองก็ต้องการทำให้ร้านกาแฟมันเป็นร้านที่สามารถนั่งพูดคุยเรื่องอื่นๆ ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องการเมืองอย่างเดียว เรื่องชาวบ้านทั่วไปก็ได้ สารทุกข์สุกดิบก็ได้ เราเลยมองว่าปล่อยให้มันเป็นไปในทางของมัน อย่างงาน 6 ตุลา ที่ผ่านมา บอกตามตรงว่าเราแทบไม่ได้อะไรเลย แต่เราอยากให้มันเกิดขึ้นเพราะมองว่าประวัติศาสตร์มันควรได้ถูกเล่าจากความจริงที่ได้รับการพิสูจน์แล้ว แล้วแต่ละปีๆ จะมีข้อมูลที่อัปเดตเข้ามาเพิ่มเติมตลอด ซึ่งเป็นประโยชน์ของประวัติศาสตร์ วงสนทนาที่ถกจัดขึ้นในร้านของเรามันคือการย้ำเตือนว่า ความจริงมันกำลังถูกอัปเดตไปเรื่อยๆ จากผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ ตอนนี้เรามองว่าไม่ได้หาคนผิดคนถูก เรากำลังมองว่าประวัติศาสตร์ใดที่เกิดขึ้นแล้วมันส่งผลดีมันน่ายกย่อง แต่กลับกันประวัติศาสตร์ใดที่เกิดขึ้นแล้วแย่ ไม่ส่งผลดีต่อสังคม มันคือการย้ำเตือนว่าคนในสังคมอย่าให้มันเกิดขึ้นซ้ำอีก แล้วต่อไปคนรุ่นเจน X เจน Y จะเล่าประวัติศาสตร์เล่านี้ต่อไปในรูปแบบไหน

ยุทธนา ดาวเจริญ (ขวาสุด)

ปัจจุบันร้านกาแฟที่มีเรื่องของการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องมีเพิ่มมากขึ้น คิดว่านี่คือกระแสหรือว่านี่คือสิ่งที่คนรุ่นต้องการแสดงออกในสิ่งที่เข้าชอบร่วมกับธุรกิจของเขา

โอเค มันอาจจะเป็นกระแส แต่กลับมองว่าคนที่ไม่ได้ชอบการเมือง ก็คงไม่ได้ทำมันหรอก อย่างสิ่งที่เกิดขึ้นกับส่งสาร มันเป็นเหมือนร้านเราเลือกกลุ่มลูกค้าไปแล้วอย่างชัดเจน มีทั้งคนที่เดินเข้าและเดินออก มาแล้วอยากมาซ้ำ มาแล้วไม่อยากมาอีก แต่ร้านเรามีทั้งสีเหลือง สีแดง สีส้ม สีเขียวที่เป็นทหารก็มี ทั้งหมดคือลูกค้าเรา ไม่ได้หมายความว่าคนกลุ่มนี้ๆ เราจะไม่ต้อนรับเขา แต่การที่เราออกมาพูดแบบนี้ แสดงจุดยืนแบบนี้ทำให้อาจจะมองว่าเราเลือกลูกค้าเป็นกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จริงๆ ไม่ใช่เลย เดินเข้ามา มานั่งคุยกับเราได้

และมองว่าร้านกาแฟที่ขับเคลื่อนการเมืองก็มองว่าเป็นเรื่องที่ดี ดีที่พื้นที่มันถูกเปิดมากขึ้น ไม่เอากระแสมาเกี่ยวข้อง เหมือนทำให้ได้มองย้อนกลับไปในสภากาแฟสมัยก่อนที่เพื่อนเหลืองแดงนั่งอ่านหนังสือพิมพ์แล้วทะเลาะกัน และเถียงกันจบแค่ในวงนั้น เขาก็ยังเป็นเพื่อนกันอยู่ มองว่าสังคมต้องการอะไรแบบนี้ ความคิดขัดแย้งกันได้ แต่ไม่ใช่ขัดแย้งแล้วต้องฆ่ากัน 

ปัจจุบันมองการเมืองอย่างไรในฐานะประชาชนคนหนึ่ง

ในฐานะประชาชนและมุมมองของเรา คิดว่าเราก็คงอยากให้ทุกคนรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ทั้งกายและสุขภาพจิต ทุกคนอยากเห็นประเทศเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น รักษาสุขภาพ ขับเคลื่อนภายใต้กลไกที่เราแต่ละคนสามารถทำได้ มีงานที่เรารัก มีเงินที่สามารถเลี้ยงชีวิตได้ ที่สำคัญอย่าเพิ่งท้อ

มีเหตุการณ์ที่ถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่ไหม 

มีบ้าง เขาตามมาจากการจัดกิจกรรมที่ต่างๆ แต่ถ้าเป็นวันปกติที่ไม่ได้จัดกิจกรรมจะไม่มี ช่วงแรกที่เปิดร้านก็ยังไม่มี จะมีมาช่วงที่เริ่มจัดกิจกรรมเท่านั้น แต่ตอนที่ยังไม่ได้เปิดร้านก็โดนหน่วยที่เขาดูแลเรื่องความมั่นคง สันติบาลหรืออะไรสักอย่าง เพราะตอนนั้นแชร์ข่าว BBC ของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เขาก็ไปที่บ้าน ตอนนั้นไม่ได้อยู่ เขาก็ไปบอกคนแถวละแวกบ้านทั้งซอยเลยว่า “คนนี้ ชื่อนี้ อยู่แถวนี้ใช่ไหม บอกให้ลบโพสต์ในเฟสบุ๊ค” อะไรประมาณนี้ รูปแบบอื่นๆ ก็มีเหมือนอาจารย์ๆ เขาโดนกัน เวลาคณะรัฐมนตรีหรือมีใครเสด็จ ก็จะมีคนมาเฝ้าที่ร้าน มานั่งกินกาแฟที่ร้านเลย เราก็รู้ได้โดยอัตโนมัติว่าเขามาเฝ้าเรา 

image_pdfimage_print