วัตนา จันทศิลป์

19 พฤษภาคม 2553: 13 ปี คดีเผาศาลากลาง จ.อุบลราชธานี วัฒนา จันทศิลป์ หนึ่งในทนายความที่เข้ามาว่าความให้คนเสื้อแดง ไล่เรียงเหตุการณ์พร้อมทั้งเล่าถึงชีวิตของผู้ที่ถูกดำเนินคดี ความยากลำบากเมื่อทรัพย์สินโดนยึดไป ความยุติธรรมที่พวกเขาต้องการยังยุติธรรมอยู่หรือไม่ และชวนวิเคราะห์มุมมองการเมืองกับคดีการเมืองของไทย

ปี 2553 เหตุการณ์การสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง ที่มีผู้เสียชีวิตนับร้อย บาดเจ็บอีกนับพัน การชุมนุมในตอนนั้นไม่ได้มีแค่ในกรุงเทพฯ แต่กระจายไปในหลายจังหวัด ที่อุบลราชธานี กลุ่มคนเสื้อแดงที่อุบลฯ หลายร้อยคนมารวมตัวกันชุมนุมหน้าศาลากลางจังหวัดเพื่อแสดงออกถึงอุดมการณ์และไม่เห็นด้วยที่มีการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงในกรุงเทพฯ จึงนำไปสู่เหตุการณ์เพลิงไหม้ศาลากลาง จ.อุบลราชธานี ซึ่งยังไม่ทราบว่าใครเป็นคนเผาที่แท้จริง แม้จะมีหมายจับทั้งสิ้น 21 คน ปัจจุบันคดีนี้สิ้นสุดลงแล้ว ทุกคนที่ถูกดำเนินคดีถูกปล่อยตัวออกมา ทว่าเหตุการณ์ในครั้งนั้นสะท้อนให้เห็นถึงความยุติธรรมที่ไม่ยุติธรรมในบ้านเมืองของเราเป็นอย่างดี 

ทนายวัฒนากล่าวว่าตนมาเป็นทนายความให้คนเสื้อแดงเพราะสนใจเรื่องการเมือง การเมืองที่ประชาชนมีส่วนร่วมคือการเมืองที่น่าเชื่อถือ นั่นคือรูปแบบการเมืองที่ตนชอบ มองว่ากระบวนการของคนเสื้อแดงในวันนั้นจะผิดถูกยังไง อย่างน้อยในขณะนั้นประชาชนก็มีส่วนร่วมในบ้านเมือง ไม่ได้ปิดหูปิดตาหรือมองเป็นเรื่องของคนอื่น ประกอบกับตนมีเพื่อนอยู่ในรัฐสภาเป็นกลุ่ม ส.ส. ที่รู้จักเป็นการส่วนตัว เคยพูดคุยกัน พอเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นมาก็ไม่มีใครอยากทำ ไม่มีใครอยากจะเป็นทนายความช่วยเรื่องนี้ ตนเลยอาสาเข้าไปช่วยในตอนนั้น เป็นความต้องการส่วนตัว เพราะมีความเชื่อเรื่องการเมืองที่ประชาชนมีส่วนร่วม ถึงแม้คนอื่นจะมองว่าเป็นเรื่องอำนาจบ้านเมือง แต่ตนมองเรื่องสิทธิของคนที่มีส่วนร่วม เมื่อเกิดเรื่องขึ้นเขาก็มีสิทธิ์ที่จะต่อสู้ในเรื่องของกฎหมายและความชอบธรรม

“ทุกคนล้วนมีสิทธิ์ในกระบวนการยุติธรรม การมีส่วนร่วมในบ้านเมืองถือเป็นสิ่งสำคัญที่ประชาชนคนธรรมดาอย่างเรามีสิทธิ์ที่จะทำ การเข้ามาทำคดีนี้เป็นเรื่องที่ผมสมัครใจเข้ามาช่วยคนเสื้อแดงเอง”

ทนายวัฒนาเล่าว่า ชาวบ้านที่ถูกดำเนินคดีในตอนนั้นเป็นคนธรรมดาทั้งหมด ชาวบ้านมีความตื่นตัวทางด้านการเมืองเป็นอย่างมาก มีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มและเคลื่อนไหวทางการเมืองภาพใหญ่ในนามของคนเสื้อแดง แต่ในความเป็นเสื้อแดงก็จะมีกลุ่มเล็กๆ แยกย่อยออกมา ขึ้นอยู่กับว่าใครจะมีความสนิทชิดเชื้อ มีความคิดความเห็นต้องตรงกัน ก็ตั้งเป็นกลุ่มขึ้นมา เท่าที่จำได้ก็มีกลุ่มชักธงรบ กลุ่มอาจารย์ต้อย กลุ่มนายป๊อก กลุ่มสาวฝั่งโขง ในช่วงนั้นจะมีวิทยุชุมชน เป็นพื้นที่ให้คนมาแสดงความเห็นคิดและกล้าที่จะแสดงออกแสดงความเห็นเรื่องของการเมือง สุดท้ายการเมืองก็ไปเชื่อมโยงกับการเคลื่อนไหวที่กรุงเทพฯ

ความเป็นคนของศาลไทย

“เป็นเรื่องที่ไม่ปกติอย่างมากสำหรับตน รัฐบาลไม่มีสิทธิ์ ไม่มีความชอบธรรมใดๆ ที่จะใช้ความรุนแรงกับประชาชนไม่ว่าจะแง่มุมใด จะพิจารณาด้วยเหตุไหนก็ตาม เราเห็นว่าเขาใช้ความรุนแรง ใช้อาวุธ ใช้กองกำลังทหาร ซึ่งทหารไม่มีภารกิจอะไรแบบนี้ ภารกิจทหารคือป้องกันประเทศ ทหารถูกฝึกมาให้ฆ่าศัตรู มันไม่ควรที่จะเอาเข้ามาแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ควรเป็นเรื่องของภายในที่ไม่ต้องมีทหารเกี่ยวข้อง พอเอาทหารเข้ามาก็บานปลาย ถ้าคุณมีวิธีคิดแบบทหารเท่ากับคุณมองเห็นประชาชนเป็นศัตรูที่ต้องฆ่า อภิสิทธิ์จึงทำไม่ถูก” ทนายวัฒนากล่าว

ต่อคำถามว่าการต่อสู้ทางศาลคนเสื้อแดงโดยหลักนิติธรรมมีสิทธิเสรีในการเข้าถึงกระบวนยุติธรรมหรือไม่ ทนายวัฒนาตอบว่า ตอนนั้นมีคนถูกดำเนินคดีเป็นจำนวนมาก คดีเผาศาลากลาง 21 คน ตามจับไม่ได้ก็มีอีกมาก แต่โดยรวมคดีที่เกี่ยวข้องกับคนเสื้อแดง ถ้าตามดูจากหมายจับมีอยู่ประมาณ 500 หมายจับ ทั้งชาย-หญิง ทราบชื่อ ไม่ทราบชื่อ อีกอย่างการออกหมายโดยใช้ภาพถ่ายนั้นไม่ต้องระบุชื่อก็ออกหมายจับได้ โดยระบุว่าชาย/หญิง ไม่ทราบชื่อ มีกรณีที่มีคนไม่ได้เข้าร่วมแต่ถูกดำเนินคดีอยู่ 1 คน เพราะหน้าตาคล้ายกับคนในภาพถ่าย คือ ธนูศิลป์ ธนูทอง ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการชุมนุม ตัวของธนูศิลป์อยู่ในป่าสวนยาง ตำรวจตามไปจับ เพียงแค่ดูจากภาพ กรณีแบบนี้อันตรายมาก

“คนที่เผาจริงๆ วันนี้ก็ยังไม่รู้หรอกว่าเป็นใคร เพราะว่าหลักฐานที่มีคือรูปถ่ายที่ไม่ชัดเจนและอาจมีการผสมโรง ไม่รู้ว่าคนที่เผามีแค่นี้หรือไม่ มีบางส่วนที่ไม่ได้เข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่ได้ตกมาเป็นจำเลยและผู้ต้องหา มีคนตั้งคำถามว่ามีเจ้าหน้าที่ด้วยไหม เพราะวันนั้นมีหลายเหตุการณ์เกิดขึ้น มีกลุ่มการเมืองอื่นนอกเหนือจากที่ชาวบ้านรู้ เราก็มีสิทธิ์ตั้งคำถาม คนเผาจริงๆ เป็นใคร คนที่ 1 ลงมือ คนที่ 2 เข้าผสมโรง คนที่ 3 ไม่รู้เรื่องก็เข้าไปยุ่งกับเขา ไม่ใช่ว่ามีแค่คนเดียวแล้วไม่มีใครไปยุ่งเลย คาดว่าอาจไม่ใช่ ต้องมีคนผสมโรง ซึ่งอาจจะเป็นคนละกลุ่มที่ถูกดำเนินคดีแต่คำพิพากษาตัดสินไปแล้วว่าเป็นกลุ่มคนเหล่านี้”

ทนายวัฒนากล่าวอีกว่า ในวันนั้นถ้าพูดถึงกฎหมายที่บัญญัติไว้เป็นตัวตั้ง เราจะไม่พูดว่าเนื้อหาของกฎหมายเป็นยังไง ถ้าพูดถึงว่ามันมีกฎหมายอยู่แล้ว พอเกิดเรื่องแบบนี้ชาวบ้านสามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้มากน้อยแค่ไหน มันจะเป็นเรื่องประเด็นการประกันตัว วันนั้นไม่ได้ประกันตัว ดุลยพินิจที่จะให้ประกันตัวถูกครอบงำ พูดให้ถึงที่สุดผู้พิพากษาเองก็คือคน มีความคิด ความคิดของคนเหล่านี้ถูกผูกติดกับผลประโยชน์ ตำแหน่ง อำนาจ เป็นโซ่ตรวนที่มองไม่เห็น ผลที่ออกมาเลยกลายเป็นว่าไม่ให้ประกันตัว เพราะคนที่ตัดสินถือว่าเป็นกลุ่มคนที่มีอำนาจนำทางสังคม ฉะนั้นถ้ามีใครมาท้าทายอำนาจที่มีอยู่ คนเหล่านี้ก็จะเสียเปรียบ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการต่างๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ตำรวจ ศาล และอื่นๆ เราก็จะเห็นว่ากระบวนการดำเนินคดียังคาใจชาวบ้านอยู่ เขาคิดไว้แล้วว่าจะไม่ให้ประกัน คนเสื้อแดงในวันนั้นเลยไม่ได้ประกัน แบบนั้นจึงไม่แปลกที่จะมีการตั้งคำถามกับคำตัดสินของศาล กระทั่งถึงวันนี้ก็มีคำถามทำนองเดียวกันกับสิทธิในการประกันตัวในคดี 112

“คนที่เสียเปรียบคือชาวบ้าน เสียเปรียบทั้งเรื่องฐานะ ความรู้ และอีกสารพัด คนเหล่านี้เรามองเขาเป็นเหยื่อก็ได้ มองเป็นผู้กระทำก็ได้ แต่ความเห็นผมไม่ได้คิดเหมือนอำนาจรัฐ เรามองว่ามันเป็นเรื่องของการเมือง ในบางมุมอาจจะมีอาชญกรรมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เพราะการเผามันเป็นอาชญกรรม คนเผาคืออาชญกร แต่สาเหตุของเรื่องนี้คืออะไร คนที่โดนคดีแทบทั้งหมด เป็นคนยากคนจน มีแค่ 2 – 3 คนที่มีทรัพย์สิน ฟ้องคดีแพ่งเสร็จ เรียกค่าเสียหายจากการเผาศาลากลางกว่า 200 ล้าน มีแค่คนเดียวที่ถูกยึดทรัพย์ ส่วนคนอื่นไม่มีทรัพย์สินให้ถูกยึด” 

ทนายวัฒนาอาสาเข้ามาโดยไม่ได้คิดเรื่องค่าจ้าง เขาเล่าว่าตนมีหน้าที่ประสานทนายซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 5 คน โดยแบ่งกันทำคดีให้กับ 21 จำเลย 

“คดีก็สู้ไปตามกฎหมายที่บัญญัติเอาไว้ แต่แนวฎีกาก็ไม่ค่อยมี เพราะเป็นคดีเกิดใหม่ เผาศาลากลางจังหวัดน่าจะเป็นครั้งแรกในอุบลราชธานี ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีพูดจริงๆ เมื่อการอยากทำคดีไม่ได้เริ่มจากเงินจ้าง ไม่ได้คิดถึง ชาวบ้านไม่มีค่ารถกลับบ้าน ตนก็ออกเงินช่วยเหลือ และมีคนที่เอาเงินมาช่วยเหลือ ต้องไม่มีเงื่อนไขใดๆ กับทนายถึงจะรับไว้ได้ คดีเหล่านี้มีคนพร้อมที่จะเข้ามาช่วยเหลืออยู่แล้ว และตนเองก็มีคดีจ้างอื่นๆ ด้วย”

13 ปีผ่าน อิสระในความมืดมน

วัฒนาเล่าถึงชีวิตของจำเลยทุกคนที่ถูกปล่อยตัวออกพร้อมกับความลำบากยากไร้แสนเข็ญ หลายคนถูกยึดทรัพย์สิน คนที่ไม่มีทรัพย์ก็ออกจากคุกแบบสิ้นเนื้อประดาตัว บ้านแตกสาแหรกขาด ไม่ก็เจ็บไข้ได้ป่วย

วัฒนา ยกตัวอย่างผ่านชีวิตของอุบล แสนทวีสุข ซึ่งมีปัญหาทางจิตจากการต้องโทษคดีนี้ อีกทั้งยังเป็นโรคเบาหวาน ถูกตัดนิ้วเท้า ไร้อนาคต ความรู้สึกในการลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อที่จะมีชีวิตอยู่มันลำบากมากสำหรับเขา น้อยคนที่กลับมาตั้งหลักได้ ส่วนใหญ่มีชะตากรรมออกมาพร้อมความยากจนและทุกข์ยาก 

“น่าเห็นใจคนเหล่านี้ รัฐบาลควรให้โอกาสเยียวยาดูแล ไม่ว่าจะแง่มุมที่เป็นมนุษย์เหมือนกันหรือในฐานะที่เขาเข้าไปมีส่วนร่วมในการชุมนุมเรียกร้องความยุติธรรมแต่ถูกอำนาจบ้านเมืองเล่นงาน ไม่ได้ว่าคนเหล่านี้ดีร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่มนุษย์ก็คือมนุษย์ ในความผิดพลาดของชีวิตก็ควรที่จะให้โอกาสและเยียวถึงจะถูกต้อง”

ในวัย  62 ปี วัฒนาบอกว่า นอกจากอาชีพทนายความจะเลี้ยงครอบครัวได้แล้ว ยังต้องหล่อเลี้ยงอุดมการณ์ด้วยหลักมนุษยธรรม ตนจะขอทำหน้าที่เช่นนี้จนกว่าร่างกายจะไม่เอื้ออำนวย และเขาเห็นว่า เหตุการณ์ปี 2553 คือบทเรียนของทุกฝ่าย 

“บทเรียนจากเหตุการณ์ในครั้งนี้คือ ควรหลีกเลี่ยงความรุนแรงทั้งหมด การใช้กำลังอาวุธ การแสดงออกด้วยความรุนแรงทั้งการเผา ทำลาย ทุบ ถ้าหลีกเลี่ยงได้ก็ควรจะหลีกเลี่ยง เป็นบทเรียนที่ว่า ถ้าวันหนึ่งกฎหมายยังไม่เปลี่ยนแปลง ยังบัญญัติว่าผิดอยู่ มีอายุความให้เอาผิด คนที่เข้าไปเกี่ยวข้องก็จะพบเจอกับชะตากรรมของชีวิตที่ยากลำบาก อย่าให้มีคดีในลักษณะนี้อีก แม้ว่าเราจะหาทางแก้ไข แต่จะไม่ให้ประชาชนเข้ามาเกี่ยวข้อง เรียกร้องก็ไม่ใช่ ต้องยุ่งเกี่ยว บ้านเมืองนี้เป็นของประชาชน ทุกคนต้องมีส่วนร่วม 

“ผมไม่เห็นด้วยกับความรุนแรง ไม่ว่าจะฝ่ายใด แต่ว่าความรุนแรงจริง ๆ คนที่ทำได้ต้องมีศักยภาพมาก ชาวบ้านจะไปก่อความรุนแรงได้มันเป็นเรื่องยากมาก มีแต่คนตัวโตเท่านั้นที่ไปรังแกคนตัวเล็กๆ มีแต่อำนาจรัฐที่ไปรังแกชาวบ้าน ชาวบ้านแสดงออกเท่ากับเป็นปฏิกิริยาที่ตอบโต้ ฝ่ายผู้ที่มีอำนาจรัฐควรจะเป็นฝ่ายกำกับความรุนแรงไม่ให้มันเกิด”

ด้วยคลุกคลีกับคดีทางการเมืองมานาน คำถามต่อสถานการณ์ปัจจุบันคือ หมอความเช่นเขาเห็นทิศทางของวันพรุ่งนี้อย่างไร เขาตอบว่า ตราบใดที่แก้ปัญหาโครงสร้างทางการเมืองและเศรษฐกิจไม่ได้ ความขัดแย้งในสังคมก็จะยังคงอยู่ และอาจบานปลาย

“เราก็นึกว่าจะหมดไป แต่พอเอาเข้าจริง ในห้วง 3 – 4 ปี ที่ผ่านมา มีคดีการเมืองเกิดขึ้นมากมาย ผมมองว่าคดีการเมืองเป็นผลสืบเนื่องมาจากการแก้ปัญหาโครงสร้างการเมืองและเศษฐกิจไม่ได้ อีกทั้งยังไม่ตอบสนองต่อประชาชน ทำให้มีการรวมกลุ่มของคนที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงและกลุ่มอำนาจเดิมที่กลัวจะเสียผลประโยชน์ จึงกลายเป็นความขัดแย้งขึ้นมา คดีการเมืองเหล่านี้ก็ไม่มีทางจะหยุด คดีการเมืองไม่มีทางจะหมดไป จะมีมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับบรรยายกาศของบ้านเมือง กลุ่มผู้มีอำนาจทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง พร้อมจะผลักดันให้คนในประเทศมีชีวิตที่ดีขึ้นหรือเปล่า เพราะว่าปัญหาเศรษฐกิจเป็นปัญหาพื้นฐานที่สุดของประเทศ คนมันไม่มีอนาคต หนี้สินพะรุงพะรัง ลูกเต้าไม่รู้จะเรียนหนังสือไหม ถ้าเจ็บไข้ได้ป่วยก็ไม่รู้จะมีเงินรักษาไหม คุณภาพชีวิตถือเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าชีวิตยังต้องไปอยู่เมืองใหญ่ที่ค่าครองชีพก็สูง อยู่บ้านนอกก็ไม่มีอนาคต มันก็หยุดความขัดแย้งไม่ได้ 

“ถ้าผู้มีอำนาจไม่ปรับเปลี่ยน ยังกดขี่อยู่ประชาชนอยู่ ผมแค่อยากจะบอกว่า คุณกดขี่เขาไว้ได้ไม่ได้นาน เขาก็ต้องสู้ เขาสู้ไม่ได้เขาก็ยังสู้อยู่เลย ติดคุกติดตารางด้วยความช้ำอกช้ำใจเขาก็ยังสู้ ติดคุกไปร้องไห้ไป มนุษย์มีมุมที่ไม่นึกถึงอะไร นึกถึงแต่ต้องสู้ แม้ว่าผลจะต้องพบเจอกับชะตากรรมแบบไหนก็ตาม”

image_pdfimage_print