ผีเป็นสิ่งที่อยู่คู่สังคมไทยมาอย่างยาวนานในทุกภูมิภาค แต่หากจะพูดถึงผีภูมิภาคที่ชื่อกระฉ่อนไปทั่วประเทศก็คงต้องนับ ‘ผีปอบ’ เข้าเป็นหนึ่งในผีอันดับต้นๆ จนเรื่องราวของมันย้ายจากคำปากต่อปากในหมู่บ้านสู่นิยาย กระทู้ตามอินเตอร์เน็ต ไปจนถึงภาพยนตร์จำนวนมาก อย่างไรก็ตามปรากฏการณ์ ‘ปอบเข้า’ จำนวนมากในยุคใหม่เริ่มถูกอธิบายอย่างมีหลักการและเหตุผลบนหลักคิดทางวิทยาศาสตร์

ปัจจุบันอาการของการถูกปอบเข้าหรือการถูกกล่าวหาว่าเป็นปอบบางส่วนสามารถอธิบายได้ด้วยการวินิจฉัยโรคทางจิตเวช ทำให้การหาจิตแพทย์ควบคู่ไปกับหมอธรรมดูจะเป็นเรื่องที่เหมาะสมในการไล่ปอบสักตัวมากกว่าเมื่อหลายสิบปีก่อน

แต่ก็น่าเสียดายที่สภาพโครงสร้างด้านจิตเวชของประเทศไทย โดยเฉพาะในภาคอีสานไม่ได้อำนวยให้เราไล่ปอบด้วยวิธีนี้ง่ายนัก เมื่อบางจังหวัดเช่นหนองบัวลำภูไม่มีแม้แต่จิตแพทย์เป็นของตัวเอง ขณะที่จิตแพทย์จังหวัดศรีสะเกษหนึ่งคนต้องดูแลผู้ป่วยจิตเวชสูงสุดถึง 34,811 คน

อาการปอบเข้าจึงอาจจะอยู่กับเราอีกนาน ตามที่ระบบสาธารณสุขของภาคอีสานจะขยับขยายได้เท่าที่มันเป็น

ผีปอบและโรคทางจิตเวช ความเป็นไปได้ที่เคยเกิดขึ้นแล้วตั้งแต่ปี 2546

จากเหตุการณ์การพบเห็นสิ่งคล้ายลิงตัวใหญ่ตาแดงที่บ้านโนนทอง จ.ขอนแก่น สู่เหตุการณ์ผีปอบเข้าที่ จ.บุรีรัมย์เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่าความเชื่อเรื่องผีปอบไม่ได้หายไปไหนท่ามกลางวันเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป

อย่างไรก็ตาม แม้ปรากฏการณ์ผีปอบเข้าจะเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ทุกวันตามความเชื่อของแต่ละชุมชนในพื้นที่อีสาน ก็ได้มีอีกหลายแนวคิดทางจิตเวชศาสตร์ที่พยายามศึกษาปรากฏการณ์นี้ในด้านของความป่วยไข้ ซึ่งอาจจะไม่ได้มุ่งแทนที่ความเชื่อดั้งเดิมของแต่ละพื้นที่ แต่ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ควรใส่ใจเพื่อให้มีการรักษากรณีที่ป่วยไข้ให้ถูกต้องตามที่ควรจะเป็น

ดังนั้นการเป็นปอบในยุคปัจจุบันจึงไม่ได้มีเพียงการถูกเข้าหรือไปคะลำที่ไหน แต่อาจจะเป็นความป่วยไข้ที่ควรได้รับการรักษาจากจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญควบคู่ไปกับการใช้บริการหมอธรรม

การประพฤติตัวผิดแผกไปจากปกติอาจจะนำไปสู่การถูกบอกว่าปอบเข้าได้ง่าย ดังที่ “รายงานผู้ป่วย การช่วยเหลือภาวะวิกฤตสุขภาพจิตชุมชน กรณีความเชื่อเรื่องผีปอบ: รายงานผู้ป่วยสองราย” เมื่อปี 2549 เคยศึกษาและบันทึกกรณีอื้อฉาวของการถูกปอบเข้าจนมีพิธีกรรมไล่ผีใหญ่โตถ่ายทอดสดในช่วงวันสุดท้ายของการประชุม Asia Pacific Economic Cooperation (APEC) ที่ จ.ขอนแก่นเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2546 พบว่า เด็กหญิงวัย 15 ปีผู้ถูกผีปอบเข้าถูกแพทย์วินิจฉัยภายหลังว่ามีอาการป่วยเป็น Trance and Possession Disorder แต่เพียงเท่านั้น

ซึ่งทำให้ผู้ป่วยรายแรกคนนี้ต้องเข้ารับการรักษาแบบเป็นกิจลักษณะ  เช่น การออกกำลังกาย การฝึกควบคุมการหายใจ (Breathing Exercises) ประเมินความรู้ความเข้าใจอาการของโรคทั้งกับผู้ป่วยเองและคนรอบข้าง จนไม่มีอาการของโรคกลับมาได้อีก

ขณะที่อีกหนึ่งรายผู้ถูกกล่าวหาเป็นปอบในครั้งนั้น แพทย์จากโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์วินิจฉัยว่า เป็นกลุ่มอาการของโรค Adjustment Disorder ที่มีสัดส่วนของอาการ anxious และ depressed mood เข้าไปผสม ไม่ได้เป็นปอบตามที่ชาวบ้านเชื่อแต่อย่างใด

ดังนั้นกรณีเก่าแก่แต่โด่งดังครั้งนี้จึงเป็นหนึ่งในตัวอย่างสำคัญของการพยายามอธิบายปรากฏการณ์ปอบเข้าและการเป็นปอบด้วยวิธีทางจิตเวชศาสตร์ ผ่านแนวคิดของซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) ที่มองว่า ความขัดแย้งหรือประสบการณ์ไม่ดีในใจของบุคคลกำลังทำงานแบบเก็บกดอยู่ในระดับจิตไร้สำนึก หรือเรียกได้ว่ามีความเจ็บป่วยทางใจและไม่ได้ใช้กลไกทางจิตในการเผชิญหน้ากับปมปัญหาอย่างถูกต้อง จึงแสดงออกมาให้ชวนเชื่อได้ว่าถูกผีปอบเข้า หรือกลายเป็นผีปอบในสายตาชาวบ้าน

จึงกล่าวได้ว่า พื้นที่อีสานเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่การป่วยไข้ทางจิตเวชสามารถตรวจพบได้ว่องไวหากมีข่าวเรื่องปอบในพื้นที่ หรืออย่างน้อยก็ทำให้แพทย์ในแต่ละพื้นที่สามารถทำงานได้ง่ายขึ้นในการหาผู้ป่วยแบบเชิงรุก อย่างไรก็ตามการรักษาผีปอบด้วยวิธีทางการแพทย์อาจจะยากกว่าที่คิด ไม่ใช่เพราะถูกหมอธรรมแย่งงานจนหมดแต่เป็นเพราะพื้นที่อีสานไม่ได้มีจำนวนโรงพยาบาลจิตเวชที่มากพอกับอัตราการเจ็บป่วยที่สูงขึ้น

แนวโน้มสถานการณ์จิตเวชอีสาน และอัตราการป่วยที่สูงขึ้นเรื่อยๆ

การสำรวจสถานการณ์ด้านจิตเวชของไทยโดย Rocket Media Lab เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2564 พบว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยจิตเวชทั้งหมด 3.99 ล้านคน โดย จ.สกลนครเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีอัตราผู้เข้ารับการรักษาโรคจิตเวชต่อประชากรสูงที่สุดจังหวัดหนึ่งของไทย ขณะที่ จ.ยโสธรเพิ่งมีจิตแพทย์เป็นของตัวเองเพียงสองคนในปี 2565 เท่านั้น

นอกจากนี้ยังค้นพบว่า จ.หนองบัวลำภูไม่มีนักจิตวิทยาเลยสักคนเดียว ขณะที่จิตแพทย์ จ.ศรีสะเกษหนึ่งคนต้องดูแลผู้ป่วยจิตเวชสูงสุดถึง 34,811 คน ทำให้ศรีสะเกษถูกรวมไปเป็นหนึ่งในหกจังหวัดที่จิตแพทย์ทำงานล้นมือมากที่สุดในปี 2564 เช่นเดียวกับนครราชสีมา อุบลราชธานี ขอนแก่น บุรีรัมย์ และสกลนคร

ทั้งหมดนี้คงพอชี้ให้เห็นแล้วว่า สถานการณ์ด้านจิตเวชของภูมิภาคไม่สู้ดีนักตั้งแต่ช่วงก่อนการระบาดของไวรัสโควิด-19 จนถึงปัจจุบัน ทำให้นักจิตวิทยาภาคอีสานมีภาระงานสูงสุดเป็นอันดับสองของประเทศ โดยนักจิตวิทยาหนึ่งคนต้องดูแลผู้ป่วยประมาณ 9,646 คน ขณะที่จิตแพทย์ภาคอีสานทำงานหนักเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ เพราะจิตแพทย์หนึ่งคนต้องดูแลผู้ป่วยประมาณ 827 คน

พื้นที่ภาคอีสานมีจำนวนสถานบริการด้านสุขภาพจิตของกรมสุขภาพจิตทั้งหมด 6 แห่ง ประกอบไปด้วยโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ จ.อุบลราชธานี โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ จ.ขอนแก่น โรงพยาบาลนครพนมราชนครินทร์ จ.นครพนม โรงพยาบาลจิตเวชเลยราชนครินทร์ จ.เลย และ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น

เมื่อนำรายชื่อสถานบริการของกรมสุขภาพจิตเหล่านี้ไปเทียบกับตารางอัตราการครองเตียง ตามปีงบประมาณ 2566 จะพบว่ามีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา

ตัวอย่างที่น่าสนใจจากตารางข้างต้น เช่น จำนวนการครองเตียงเข้าพักรักษาตัวของโรงพยาบาลจิตเวชเลยราชนครินทร์ ค่อยๆ ไต่ระดับจาก 80 กว่าเตียงสู่ 110 เตียงได้ในเวลาเพียงหนึ่งปี หรือโรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์ ที่มีตัวเลขการครองเตียงต่ำสุดอยู่ที่ 100 เตียงในเดือนมีนาคม 2566 ก็ไต่ระดับขึ้นมาสู่ 123 เตียงในเดือนกันยายน 2566 ได้อย่างรวดเร็ว

หรือหากค้นย้อนกลับไปยังรายงานประจำปี 2563 ของสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะพบว่า จากปี 2560 จนถึงปี 2563 มีอัตราผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเสมอมา โดยปี 2560 มีผู้ป่วยนอกใหม่ 612 คน ปี 2561 ลดลงเหลือ 529 คน ปี 2562 ทะยานสู่ 679 คน และปี 2563 มีทั้งสิ้น 667 คน หรือคิดได้ว่า จากผู้ป่วยนอกเฉลี่ยต่อวันจะอยู่ที่ 27 คนในปี 2560 เมื่อเข้าสู่ปี 2563 ก็ขยับเป็นผู้ป่วยนอกเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 32 คน

จึงกล่าวได้ว่า อัตราการเจ็บป่วยทางจิตที่เดินทางมาถึงมือโรงพยาบาลในภาคอีสานนั้นมีแต่จะสูงขึ้น ประหนึ่งเป็นกราฟขั้นบันไดไปเรื่อยๆ ขณะที่จำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่จำเป็นยังคงไม่สามารถผลิตมาประจำในพื้นที่ได้อย่างทั่วถึง มีไม่เพียงพอต่อความต้องการ และทำให้การตรวจสอบหาความเจ็บไข้แบบเชิงรุกในชุมชนยิ่งเป็นไปได้ยาก

ปัญหาสุขภาพจิต ระเบิดเวลาที่ยังต้องเพิ่มความใส่ใจ

ในปี 2564 กรมสุขภาพจิตได้รับงบประมาณตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีอยู่ที่ 657 ล้านบาท แต่เมื่อพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ออกมา กรมสุขภาพจิตกลับเหลืองบประมาณเพียง 602 ล้านบาท หรือถูกปรับลดงบประมาณหายไปถึง 55 ล้านบาท และกลับมาเพิ่มอีกครั้งในปี 2566 อยู่ที่ 611 ล้านบาท ซึ่งก็ยังถือว่าน้อยกว่างบประมาณที่เคยได้รับเมื่อปี 2564 อยู่มาก

เมื่อมีงบประมาณไม่มาก การที่ทีมแพทย์ นักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์ จะสำรวจความป่วยไข้ทางจิตเวชในชุมชนแบบเชิงรุกจึงเกิดขึ้นได้ยาก ทั้งด้วยงบที่จำกัดและจำนวนที่จำเขี่ย ทำให้แม้ตัวเลข “เทรนด์” การป่วยที่มีแนวโน้มไต่ระดับสูงขึ้นทุกวันก็ยังไม่น่ากลัวเท่ากับตัวเลขที่ยังไม่ค้นพบโดยกรมสุขภาพจิต

ความน่ากลัวนี้เคยถูกสะท้อนไว้ในงานศึกษาเมื่อปี 2563 ของ นพดล วาณิชฤดี และคณะ ชื่อ ‘ระยะเวลาการเข้าถึงบริการของผู้ที่มีอาการทางจิตเวชในประเทศไทย จากการสำรวจระบาดวิทยาสุขภาพจิตแห่งชาติ’ พบว่า ระยะเวลาเฉลี่ยตั้งแต่มีอาการทางจิตเวชครั้งแรกจนเข้าสู่การรักษานั้นมากถึง 10 ปี โดยระยะเวลานานที่สุดคือโรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญ เฉลี่ยอยู่ที่ 18.6 ปี และโรคกลัวชุมชน เฉลี่ยอยู่ที่ 17.8 ปี ตามลำดับ ขณะที่โรคที่ใช้ระยะเวลาสั้นที่สุดคือโรควิตกกังวลทั่วไป เฉลี่ยอยู่ที่สองปี และโรคซึมเศร้า เฉลี่ยอยู่ที่ 2.7 ปี

เมื่อมองจากตัวเลขของงานศึกษาแล้วจะทำให้เห็นได้ว่า ระยะเวลาจากสองปีถึง 20 ปีนั้นอาจจะเป็นช่วงระยะเวลาที่ทำให้ผู้ป่วยจิตเวชจำนวนมากถูกตีตราว่าปอบเข้า เป็นปอบ เล่นมนตร์มาร พลาดไปคะลำ จนนำมาสู่การกีดกันทางสังคม การทำร้ายร่างกาย การประนาม ไปจนถึงการพาสารพัดผู้มีคาถาอาคมมาขับไล่ปอบในตัว ซึ่งอาจยิ่งซ้ำให้อาการทางจิตเวชหนักข้อขึ้นก็เป็นได้

ดังนั้นทางออกของปัญหานี้จึงเหลือเพียงทางเดียว คือ การเพิ่มจำนวนบุคลากรทางการแพทย์และงบประมาณของกรมสุขภาพจิตให้เพียงพอต่อการตรวจโรคเชิงรุก เข้าไปตามหาตัวปอบในแต่ละชุมชน วินิจฉัย รักษา สร้างเสริมความเข้าใจมากขึ้น เพื่อยุติวงจรโรคทางจิตเวชที่แอบเร้นอยู่ในร่างผีปอบที่ยังกลืนกินคนจำนวนมากในพื้นที่อีสานมานานหลายสิบปี

อ้างอิง:

  1. ชาวบ้านเห็นลิงสีดำบนเสาไฟฟ้า หลังจากนั้นคนในหมู่บ้านเริ่มล้มตาย เชื่อเป็น “ผีปอบ”. 2566. ข่าวออนไลน์7HD. จาก news.ch7.com 
  2. หญิงที่ตกเป็นข่าวถูกผีปอบสิง เสียชีวิตแล้ว ชาวบ้านลือ กลัวหมอปลา มาพิสูจน์. 2566. ไทยรัฐออนไลน์. จาก thairath.co.th
  3. วัชนี หัตถพนม, กนกวรรณ กิตติวัฒนากูล, ทิพากร ปัญโญใหญ่, กาญจน์กนก สุรินทร์ชมภู และ ไพลิน ปรัชญคุปต์. 2549. รายงานผู้ป่วย การช่วยเหลือภาวะวิกฤตสุขภาพจิตชุมชน กรณีความเชื่อเรื่องผีปอบ: ผู้ป่วย 2 ราย. Journal of Mental Health of Thailand. 14 (2). น.142-149. จาก tci-thaijo.org
  4. ทรัพยากรสาธารณสุขไทย มากพอไหมในการให้บริการด้านจิตเวช? 2564. Rocket Media Lab. จาก rocketmedialab.co 
  5. อัตราการครองเตียง ปีงบประมาณ 2566: รายงานผลการปฏิบัติงานสำหรับผู้บริหารของกรมสุขภาพจิต สจ.รง.201 ปีงบประมาณ 2566. 2566. กรมสุขภาพจิต. จาก dmh.go.th 
  6. สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. 2564. รายงานประจำปี 2563. กรมสุขภาพจิต. กระทรวงสาธารณสุข. จาก necam.go.th
  7. พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564. (2563, 7 ตุลาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 137. ตอนที่ 82 ก. หน้า 1-195. จาก ratchakitcha.soc.go.th
  8. พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565. (2564, 15 กันยายน). ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 138. ตอนที่ 62 ก. หน้า 1-207. จาก bbstore.bb.go.th 
  9. พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566. (2565, 14 กันยายน). ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 139. ตอนที่ 57 ก. หน้า 1-265ผ จาก onde.go.th
  10. นพดล วาณิชฤดี, สุทธา สุปัญญา, ปทานนท์ ขวัญสนิท, นพพร ตันติรังสี และ พันธุ์นภา กิตติรัตนไพบูลย์. 2563. Journal of Mental Health of Thailand. 28 (1). น.72-85. จาก researchgate.net
image_pdfimage_print