เมื่อการข้ามเพศต้องกลายเป็นเรื่องที่ต้องข้ามกฎของ ชิษณ์ชาภา พานิช หรือ โรม ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการคุ้มครองและรับรองสิทธิของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร 

เป็นปีที่ 3 ของการต่อสู้และการต่อรองกับข้อบังคับปัจจุบัน โดยเจ้าของเรือนร่าง เจ้าของอัตลักษณ์ทางเพศ ที่เรียกว่า ‘ผู้หญิงข้ามเพศ’ การสู้ของโรมไม่ใช่เพียงแค่ต้องการให้คำนี้ถูกบรรจุลายลักษณ์อักษรเข้าไปในกฎระเบียบ แต่ต้องสู้เพื่อให้ลบ ความเป็นเพศ ‘ชายและหญิง’ เพื่อสามารถรองรับในทุกๆ อัตลักษณ์ทางเพศให้ได้มีตัวตนในหน้าระเบียบกฎหมาย เพราะการแต่งกายตามเพศสภาพคือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในทัศนคติการเรียกร้องของเธอ

การต่อสู้ของเธอก้าวพ้นจากการข้ามกฎเกณฑ์มาซึ่งชัยชนะ คือ การแก้ไข เนติบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2507 ข้อ 17 และข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 ข้อ 20 ข้อบังคับสำหรับบุคคลที่มีเพศสภาพหรืออัตลักษณ์ทางเพศที่ไม่ตรงกับเพศโดยกำเนิด ว่าไม่ได้มีการรับรองให้มีสิทธิแต่งกายตามเพศสภาพอย่างสุภาพได้ ส่งผลให้การแต่งกายสวมชุดครุยเนติของทนายความข้ามเพศตามอัตลักษณ์ทางเพศในศาลถือเป็นเรื่องฝ่าฝืนข้อบังคับดังและอาจมีความเสี่ยงในการถูกลงโทษความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ซึ่งผลล่าสุดจากการที่ โรม ได้ยื่นเรื่องไป เนติบัณฑิตยสภาได้ตรา “ข้อบังคับเนติบัณฑิตสภา แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2566 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 เป็นวันถัดจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ให้สามารถแต่งกายได้ตามเพศสภาพในบริเวณศาลได้

หากย้อนกลับไปการดำเนินการยื่นเรื่องของโรมก่อนหน้านั้น ทำให้ทางสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาฯ และสภาทนายความ ได้ดำเนินการแก้ไขระเบียบเกี่ยวกับการแต่งกายของนักศึกษากฎหมายและนักศึกษาวิชา ในวันที่ 4 ตุลาคม 2566 ให้มีสิทธิแต่งกายตามอัตลักษณ์ทางเพศ เฉพาะการเข้าฟังการบรรยาย สอบข้อเขียน สอบปากเปล่า อบรมหลักสูตรจริยธรรม ตลอดจนเข้ารับพระราชทานประกาศนียบัตร ได้ตามคำสั่งของคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) และได้ออกประกาศเนติบัณฑิตยสภาฯ เรื่องการแต่งกายของสมาชิกเนติบัณฑิตยสภา กำหนดให้สมาชิกเนติบัณฑิตยสภาที่มีอัตลักษณ์ทางเพศไม่ตรงกับเพศโดยกำเนิดมีสิทธิแต่งกายตามเพศสภาพหรืออัตลักษณ์ทางเพศของตนได้ พูดภาษาง่ายๆ คือยังไม่ได้แก้กฎระเบียบแต่เป็นเพียงออกประกาศให้แต่งได้ เพื่อเป็นการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศเท่านั้น

โรม กล่าวถึงเหตุผลการยื่นข้อแก้ไขข้อบังคับนี้ว่า “ข้อบังคับอยู่ในลำดับศักดิ์ที่สูงกว่าประกาศ เพราะฉะนั้นถามผู้พิพากษา ท่านก็ไม่รู้จักประกาศนี้ ถ้าอยู่ๆ เราไม่นำสืบประกาศนี้เข้าไปในห้องพิจารณา ท่านก็จะดูแค่ข้อบังคับแล้วบอกว่า เขายังไม่อนุญาตให้แต่งกายตามเพศสภาพ ส่วนเราก็ต้องหอบประกาศนี้แขวนคอเข้าไป เพื่อการันตีว่าสมาชิกเนบัณฑิตสภาให้แต่งกายตามเพศสภาพได้แล้ว แต่มันก็ยังมีช่องโหว่ ที่บางท่านอาจจะแย้งมาได้ว่าเป็นประกาศให้แค่ตัวสมาชิกเนติบัณฑิต แต่ไม่ได้บอกว่าสามารถสวมชุดครุยตามเพศสภาพว่าความได้ มันคลุมเครือ” และโรม ได้ยื่นเรื่องขอแก้ไขกฎระเบียบดังกล่าวต่อสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาในพระบรมราชูปถัมภ์ ในวันที่ 10 ตุลาคม 2566 ที่ผ่าน จนผลออกมาสำเร็จเป็นที่พอใจ 

“วันนี้ดิฉันได้ต่อสู้จนสำเร็จแล้ว ขอแสดงความยินดีกับเนติบัณฑิตไทยและทนายความผู้มีความหลากหลายทางเพศทุกท่าน ‘ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของท่านได้ถูกรับรองไปถึงระดับหนึ่งแล้ว”

The Isaan Record ได้มีโอกาสพูดคุยกับเนติบัณฑิตหญิงข้ามเพศคนนี้ ถึงเส้นทางการต่อสู้ในเรื่องกฎระเบียบและทัศนคติคนในสังคมที่มีต่อเธอ และช่วงเวลาผ่านร้อนและหนาวก่อนจะมากลายมาเป็นชัยชนะของทนายข้ามเพศทุกคนในประเทศไทยที่จะมีศักดิ์ศรีบนหน้าบัลลังก์ศาลได้อย่างสง่างาม

เคยมีคนพูดกับคุณว่า “เกิดเป็นผู้ชายทำไมถึงไม่อยากเป็นผู้ชาย” เล่าให้ฟังหน่อยว่าเกิดอะไรขึ้น

เริ่มแรกตอนเข้าเรียนมหาวิทยาลัย อยากแต่งกายเป็นผู้หญิง ตอนนั้นก็แต่งกายตามเพศสภาพเดินเข้าไปที่มหาวิทยาลัย ก็ถูก รปภ. วิ่งไล่ เขาจะมายึดบัตรประจำตัวนักศึกษา ตอนนั้นรู้สึกอายมาก เพราะว่าหน้าตึกมีคนเยอะ และไว้ทรงผมประบ่า ใครมองก็รู้ว่าเรายังไม่ใช่ผู้หญิง แล้วพอ รปภ. เห็นเรา เขาก็ตะโกนเรียก แต่เราไม่หันไป เดินเนียนๆ คิดว่าเขาจะเลิกตามแต่เขาไม่เลิกตามเขาวิ่งตามเลย แล้วเขาเรียกเสียงดังมาก เราอายมาก ขายหน้ามาก สุดท้ายก็เอาบัตรนักศึกษาให้เขา เพราะไม่มีทางเลือกและต้องไปติดต่อกับฝ่ายกิจการนักศึกษา เขาก็บอกว่าที่นี่เป็นมหาวิทยาลัยคาทอลิก เกิดเป็นผู้ชายทำไมถึงไม่อยากเป็นผู้ชาย ตอนนั้นก็คือยอมรับตรงๆ ว่ายังขี้ขลาด ไม่ตอบโต้กลับไป 

พอช่วงจะเข้ารับปริญญา จะต้องติดต่อกับองค์กรส่วนกลาง เขาก็บอกว่าไม่อนุญาต อาจารย์ก็เลยแนะนำให้เขียนหนังสือขออนุญาตจากบาทหลวง ซึ่งคนแรกบอกเราว่า “คำนำหน้าเธอเป็นอะไร ถ้าเธอเป็นนายเธอก็ไปแต่งเป็นผู้ชายสิ เธอจะมาแต่งเป็นผู้หญิงทำไม” พอเราแย้งกลับว่าแต่หลายๆ มหาวิทยาลัยเขาก็อนุญาตแล้วนะ เขาบอกว่า ก็ลาออกไปเรียนที่นั่นสิ  

พอไปยื่นรอบที่สองกับบาทหลวงอีกคน เราขออนุญาตด้วยการเขียนอ้างอิง พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พอเขาอ่านแล้วคงกลัวมหาวิทยาลัยเสียชื่อ ก็เลยเซ็นอนุญาตให้เรา แต่เป็นอนุญาตเฉพาะกรณีเรา นักศึกษาคนอื่นไม่ได้รับผลพลอยได้ เงื่อนไขคือนักศึกษาคนไหนอยากแต่งกายตามเพศสภาพก็ต้องมายื่นแบบนี้ ซึ่งเรารู้สึกว่ามันไม่เป็นธรรม 

พอเราเราจบปริญญาตรีมา ไปสมัครตั๋วทนาย ตอนที่เราไปยื่นเอกสาร เจ้าหน้าที่บอกว่าแต่งกายแบบนี้เข้าห้องสอบไม่ได้ เราก็เลยตอบว่า ดิฉันแปลงเพศแล้ว เขาตอบว่าแต่คำนำหน้าก็ยังเป็น ‘นาย’ อยู่ เขาแนะนำให้มายื่นหนังสือต่อผู้อำนวยการ แล้วก็ให้อธิบายเหตุผลความจำเป็นว่าทำไมจะต้องแต่งกายตามเพศสภาพและให้แนบใบรับรองมาด้วยว่าแปลงเพศและศัลยกรรมหน้าอกแล้ว เรารู้สึกว่าทำไมต้องให้เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวขนาดนี้ เลยยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการวินิจฉัย ว่าไม่เป็นธรรม เขามีสิทธิ์อะไรมาขอดูว่าเราแปลงเพศหรือยัง จนคณะกรรมการวินิจฉัยออกมาให้เขาแก้ ตอนแรกเขาไม่แก้ด้วยนะ เขายื่นฟ้องศาลปกครอง ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) แล้วศาลปกครองก็เรียกพี่เข้าไปเป็นผู้ร้องสอด เพราะเขาบอกว่าคำพิพากษาศาลปกครองจะมีผลต่อผู้ร้อง ก็เข้าไปช่วยคณะกรรมการ วลพ. ทำคำให้การอีกฉบับหนึ่ง  

ถัดจากนั้นเกิดอะไรขึ้น

พอยื่นไปเสร็จ ในระหว่างที่ศาลปกครองพิจารณา พอดีว่าตัวคณะกรรมการของสภาทนายเขาเปลี่ยนชุดพอดี ชุดใหม่เขาเริ่มมีทัศนคติเกี่ยวกับความเสมอภาคทางเพศ ก็เลยมาถอนฟ้องจากศาลปกครองออกไป บอกว่าจะแก้ให้ ซึ่งตอนนี้ก็แก้แค่แต่งกายตามเพศสภาพได้เฉพาะตอนสอบข้อเขียน ยังไม่ได้แก้ในส่วนของสอบสัมภาษณ์ สอบปากเปล่า อบรมจริยธรรม การเข้ารับประกาศณียบัตร ยังไม่ได้แก้เป็นลายลักษณ์อักษรเลย แค่ประกาศว่าแต่งกายตามเพศสภาพได้ ซึ่งจริงๆ มันก็ยังขัดคำสั่งคณะกรรมการ วลพ. เพราะว่าคณะกรรมการ วลพ.บอกว่าต้องแก้แล้วก็ประชาสัมพันธ์ให้ทุกคนทราบ ซึ่งทางสภาทนายความยังทำไม่ถูกต้อง 

พอสอบได้ตั๋วทนายเสร็จ ก็ไปสมัครสอบเนติบัณฑิต โดนติว่าถ้าแต่งกายแบบนี้เข้าห้องสอบ เสี่ยงต่อการถูกไล่ออกจากห้องสอบ หรือไม่ก็ถูกหักคะแนน เขาบอกว่า ถ้าจะแต่งตัวตามเพศสภาพให้ยื่นคำขออนุญาต โดยต้องเดินทางมาที่เนติบัณฑิตสภาให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เขาบอกว่าในกรณีนี้เป็นกรณีเดียวกันกับคนที่มีบาดแผลที่เท้า ไม่สามารถสวมรองเท้าได้ คนเหล่านั้นก็ต้องมายื่นหนังสือขออนุญาตที่ไม่สามารถใส่รองเท้าเหมือนกัน  

รู้สึกเจ็บมากเลยนะ ที่เอาไปเปรียบเทียบกับคนที่มีบาดแผล คือไม่ได้ป่วย ก็เลยยื่น วลพ. ไปอีกรอบ เรื่องนี้เอาเคสข้ามเพศไปเทียบกับการป่วยได้อย่างไร เพราะ ฉันเป็นคนปกติ ฉันไม่จำเป็นต้องมายื่นขออนุญาตใครในการที่ฉันจะต้องแต่งกายสุภาพตามเพศสภาพ

ความคืบหน้าหลังจากไปยื่นเรื่องต่อ วลพ. เป็นอย่างไร

วลพ. ก็วินิจฉัยออกมาให้เนติบัณฑิตสภาแก้ไข้ระเบียบ ทางเนติบัณฑิตสภายื่นคำให้การต่อคณะกรรมการสอบระเบียบของเขา แล้วก็แก้ให้ เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา ในส่วนที่เขาแก้แล้วเป็นการแก้เฉพาะส่วนของการแต่งกายตามเพศสภาพได้ในการเรียน การเข้าอบรม การสอบ การรับพระราชทานประกาศนียบัตรเท่านั้น แต่ในส่วนการสวมชุดครุยเข้าว่าความ เขาไม่ได้แก้ เราเลยติดต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน วันที่ 4 ตุลาคม เพื่อยื่นเรื่อง พอยื่นเสร็จในวันเดียวกัน เขาก็ออกมาประกาศมาแค่นั้น 

ระหว่างที่ออกมาเรียกร้องเรื่องนี้ มีผลตอบรับจากคนรอบข้างและสังคมอย่างไรบ้าง

ฟีดแบคจากคนรอบข้างไม่ค่อยเจอ เพราะว่าทุกคนเข้าใจเรา แต่ในเน็ตเคยโดนคอมเมนต์ว่า เราเป็นโรคจิตวิปริต ทำไมจะต้องไปเรียกร้อง ในเมื่อความบกพร่องมันอยู่ที่ตัวคนข้ามเพศ พวกคนข้ามเพศไม่ยอมเป็นผู้ชายเอง อันที่สองคือโดนว่า “ทำไมคนกลุ่มนี้ ชอบเป็นพวกนิยมแหกกฎแหกระเบียบจังเลย เขามีระเบียบให้ทำก็ไม่ทำตาม เดี๋ยวต่อไปก็เป็นการส่งเสริมให้คนออกมาฝ่าฝืนระเบียบกันหมด” คือเขากลับมองว่าการที่เรามีเพศสภาพแบบนี้ มันเป็นจุดเริ่มต้นหรือมันนำไปสู่ผลของการแหกกฎระเบียบ เขาไม่ได้มองว่ากฎระเบียบเหล่านี้ไม่มีความเสมอภาคตั้งแต่ต้น เราเห็นพวกคำเหล่านี้บ่อยๆ เช่น “ได้คืบจะเอาศอก เขาอนุญาตให้แต่งกายตามเพศสภาพแล้ว พอจะมาว่าความก็จะเอาอีกเหรอ” ซึ่งเรื่องแบบนี้มันเป็นสิทธิที่เราและทุกคนจะต้องได้รับตั้งแต่แรกอยู่แล้ว มันไม่ใช่ความผิดเรา คือคำพูดเหล่านี้ค่อนข้างบั่นทอนชีวิตจิตใจเรามาก 

การต่อสู้ในการแก้ไขกฎหมายและระเบียบครั้งนี้จะนำไปสู่อะไร

หลายคนในวงการกฎหมายยังไม่รู้จัก พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศรวมถึงสายงานอื่นๆ กลุ่มคนหลากหลายทางเพศยังไม่ได้เข้าถึงสิทธิที่ตัวเองพึงได้รับ แล้วไม่รู้ว่ามีกฎหมายที่ช่วยได้ เพราะฉะนั้นถ้าเรียกร้องเรื่องนี้สำเร็จ หวังว่าในอนาคตอันใกล้ จะมีกฎหมายรับรองเพศออกมา กฎหมายสมรสเท่าเทียมก็ควรจะออกมาด้วยเสียที เพราะออกมาแล้วมันจะเป็นหลักประกันได้เลยว่า ประเทศไทย ประชาชนไม่ได้มีแค่เพศสองเพศเท่านั้น แต่ยังมีเพศชายที่รักผู้ชาย ผู้หญิงที่รักผู้หญิง มันยังมีตัวตนของ Non-binary มีตัวตนของคนข้ามเพศอยู่ร่วมด้วย  

กฎหมายจะเป็นจุดเริ่มต้นของสังคมที่จะหันมายอมรับและเคารพสิทธิของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น เพราะว่ากฎหมายเป็นขื่อเป็นแปของบ้านเมือง ไม่ใช่เพียงตัวอักษรบัญญัติขึ้นมา มีสภาพบังคับ ใครก็ตามที่ไปละเมิดผู้อื่น ซึ่งคนที่เป็นเหยื่อก็มักจะเป็นกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ก็สามารถลงโทษได้ตามกฎหมาย เรามองว่าสังคมจะได้เรียนรู้ ได้มีความเคารพความเป็นมนุษย์ของกันและกันมากขึ้น ไม่กล้าเหยียดหยามศักดิ์ศรีซึ่งกันและกัน ถึงแม้ในใจเขาจะไม่ชอบก็ตาม แต่ก็จะไม่สามารถหมิ่นประมาทกันได้เหมือนเดิม เพราะมีกฎหมายคุ้มครอง และหากเมื่อกฎหมายรับรองความเท่าเทียมทางเพศแล้ว จะไปนำไปสู่การเปลี่ยนแนวคิด มุมมองของผู้คน จะได้เห็นว่ากฎหมายมันมีอิทธิพลต่อทัศนคติคนในสังคม ถ้าจะรอให้คนในสังคมเปลี่ยนทัศนคติมายอมรับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ อาจจะเป็นพันปีก็เปลี่ยนไม่ได้ แต่สิ่งที่เปลี่ยนได้ง่ายกว่านั้นคือ กฎหมาย

ขั้นตอนระหว่างที่ยื่นเรื่องมีอุปสรรคอะไรบ้าง

ช่วงที่ถูกฟ้องรู้สึกว่าหนักที่สุดแล้ว เพราะว่าเขาฟ้อง วลพ. แต่เราจะต้องเข้าไปเป็นบุคคลที่ 3 เหมือนถูกฟ้องเองต่างหาก แล้วต้องทำคำให้การเองคนเดียว คณะกรรมการ วลพ. เป็นคณะกฎหมายที่มีคนเยอะ ดังนั้นเวลาเขาร่างคำให้การ ก็มีที่ปรึกษาเยอะ แต่เราเป็นคนเดียวที่ถูกเรียกให้เข้าไป แล้วศาลสั่งให้เราร่างต่อสู้กับสภาทนายความ เป็นอะไรที่ลำบากใจมาก เพราะว่าข้อมูลเราก็ไม่ได้มีครบเหมือนกับหน่วยงานที่เขาทำงานด้านนี้โดยตรง ต้องวิ่งหาข้อมูลเอง แล้วต้องร่างคำให้การ 60-70 หน้า ร่างเสร็จพอไปยื่นไม่กี่เดือน เขาก็มาถอนฟ้อง คือเรายังไม่ได้ทันได้สู้เลย แล้วยังรวมถึงต้องเจอกับคำแง่ลบในคำฟ้องของเขาที่ทำให้เรารู้สึกว่ามันบั่นทอนจิตใจเรามาก

คำฟ้องเขียนว่าอะไร  

เขาเขียนว่า “ความเป็นทรานส์เจนเดอร์ไม่ได้ถูกรับรองโดยความเป็นธรรมชาติ เพราะว่าเพศตามธรรมชาติมีแค่ 2 เพศเท่านั้น ทรานส์เจนเดอร์ไม่สามารถตั้งครรภ์ท้องได้ อีกทั้ง “การที่จะให้ทรานส์เจนเดอร์แต่งตัวเป็นผู้หญิงในการว่าความในการสอบ มันเป็นการล่อแหลมทำให้คนอยากแหกกฎแหกระเบียบ มีกฎมีระเบียบแล้วไม่ส่งเสริมให้ทำตามกฎแล้วก็ล่อแหลมต่อการไปโกงลูกความ” 

คือเขาโยงอย่างนี้จริงๆ เขาอ้างว่าขนาดกฎระเบียบการแต่งกายยังไม่อยากปฏิบัติตาม แล้วนับประสาอะไรกับการที่จะไปรับอรรถคดีต่างๆ จากลูกความมาขึ้นศาล อีกอย่างเขาบอกว่าถ้าให้ทรานส์เจนเดอร์แต่งกายข้ามเพศ จะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของทนายความ ทำให้กระบวนการยุติธรรมบิดเบี้ยว เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ แล้วก็ทำให้เสื่อมเสียต่อเกียรติคุณและศักดิ์ศรีของอาชีพทนายความ 

ตอนที่ได้ยิน เราอึ้งและร้องไห้อยู่คนเดียว ไม่มีใครเข้าใจเราเลย แต่สุดท้ายในระหว่างช่วงต่อขณะนั้น มีการเปลี่ยนชุดของคณะกรรมการสภาทนายฯ เขาค่อยมาถอนฟ้องทีหลัง 

ความยากในการเขียนคำร่างเพื่อต่อรองกับสภาทนายความเป็นอย่างไร

คำฟ้องทนายมีหลายร้อยหน้ามาก รวมถึงกฎระเบียบต่างๆ ที่เขาแนบมา ขนาดเราเป็นนักกฎหมายยังรู้สึกว่ามันยากมากกับการที่จะต้องเขียนคำให้การในสภาพสังคมที่ไม่มีกฎหมายมารับรองความเป็นตัวตนของเรา ต้องอ้างกฎหมายระหว่างประเทศ เราต้องตีความรัฐธรรมนูญไทย ซึ่งไม่ได้มีคำว่า ‘เพศสภาพ’ ต้องไปค้นหาคำอธิบายความมุ่งหมายและเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญให้มันรวมถึงบุคคลที่เป็น LGBT ด้วย คือทำทุกอย่างเพื่อให้เรามีฐานทางกฎหมายมาคุ้มครองตัวเรา เพื่อจะต่อสู้กับสภาทนาย เพราะว่าสภาทนายเขามีแหล่งกฎหมาย เขาอ้างว่าคนมีแค่ 2 เพศ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บอกว่ามีแค่ 2 เพศ ก็ต้องสู้ทุกสิ่งทุกอย่าง อ้างอิงแบบเรียนของกระทรวงศึกษาธิการที่เขาแนบมาตามแบบเรียนอันใหม่ ที่บอกว่าความหลากหลายทางเพศมันคือสิ่งที่ปกติ WHO องค์การอนามัยโลกแก้แล้ว แล้วก็ยูเอ็นพันธสัญญาต่างๆ กติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง และอื่นๆ

ตอนหมายเรียกเข้าไปเป็นผู้ร้องสอด ศาลปกครองกลางบอกว่าถ้าคุณไม่ยื่นคำให้การมาภายในระยะเวลา 30 วัน จะถือว่ายอมรับข้อเท็จจริงทั้งหมดตามที่สภาทนายความฟ้อง  แล้วถ้าหากว่ามันไม่ใช่คนที่ไม่ได้เรียนกฎหมายเขาจะทำยังไง ค่าจ้างทนายต้องเสียเงินเท่าไหร่ ไม่อย่างนั้นถ้าเขาไม่จ้างก็แพ้การยื่นเรื่องเลยนะ ถือว่ายอมรับข้อเท็จจริงทั้งหมด มันโหดมากกระบวนการยุติธรรมของไทย จริงๆ พ.ร.บ. เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนทั้งหลายไม่ควรจะให้เขามาเสียเงินด้วยซ้ำ มันไม่ใช่การฟ้องผิดสัญญาทางแพ่ง มันไม่ใช่คดีธุรกิจ มันคือคดีคุ้มครองการละเมิดสิทธิมนุษยชน นี่คือความเจ็บปวด 

มีความยากแล้วมีความง่ายบ้างไหม

ไม่มีความง่าย แต่เราเรียนนิติศาสตร์มาแล้วเรารู้จักผู้ใหญ่เยอะ ผู้ใหญ่บางคนก็ทำงานอยู่ในกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) แล้วเขาก็ทำงานอยู่ในกรมกิจการสตรี ก็ช่วยอำนวยความสะดวกเราในเรื่องของส่งเบอร์คณะกรรมการ วลพ. ให้ ช่วยอำนวยความสะดวกในการส่งแบบฟอร์มมาให้ เราจะได้รู้ว่าเราต้องยื่นเรื่องกับใคร แต่เขาก็ไม่ได้มาช่วยเราร่างคำร้อง ถ้าลองนึกว่าแล้วหากเป็นคนอื่น สายงานอื่น เขาจะรู้เหรอว่าต้องเข้าไปเว็บไซต์ไหน ไปติดต่อเบอร์อะไร เข้าไปตรวจแบบฟอร์มคำร้องที่ไหน แล้วบางคนก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจริงๆ แล้วโทรไปแล้วไปร้องเรียนด้วยปากด้วยวาจาก็ได้  

สิ่งเหล่านี้ กรมกิจการสตรีซึ่งเป็นผู้ดูแล พ.ร.บ.ความเท่าเทียม ไม่ประชาสัมพันธ์ให้คนทั้งประเทศได้รู้ ให้เด็กมัธยม เด็กมหาวิทยาลัยทุกที่ ให้ LGBT ที่กำลังทำงานอยู่ในสถานที่ทำงานทุกที่ที่เขาโดนละเมิดสิทธิรู้ว่าเขาสามารถโทรไปร้องเรียนได้ ไม่มีขั้นตอนอะไรที่ซับซ้อน ไม่จำเป็นต้องร่างเอง อันนี้ไม่มีใครรู้  

ในระหว่างทางการเรียกร้องและการดำเนินเรื่อง มีผู้หญิงข้ามเพศมาให้กำลังใจบ้างไหม  

มีเยอะเลยค่ะ มีทั้งคนที่ยังไม่ได้สอบและกำลังสอบ หรือว่าที่เป็นทนายแล้วก็มี ก็มาให้กำลังใจ เขาบอกว่าชีวิตนักกฎหมาย นอกจากจะต้องทำงานเตรียมเอกสารทำคดีที่ปวดหัวยุ่งยากแล้ว ยังต้องมานั่งกังวลว่าเข้าศาลในห้องพิจารณา ผู้พิพากษาจะมองเขาแบบไหน หรือจะต้องกังวลกับการที่เขาแต่งกายตามเพศสภาพขนาดไหน เขาก็มาให้กำลังใจเราว่า กล้ามากที่ทำ ขอบคุณจริงๆ ที่ทำ เขาอยากจะเรียกร้อง แต่ไม่กล้าทำเพราะกลัวว่าจะกระทบต่อสายงาน 

เราเข้าใจคนทุกคนที่ต้องประสบความเดือดร้อนเหมือนกัน เรารู้ว่ามันเจ็บปวดแค่ไหน เพราะฉะนั้นเวลาทุกคนที่มาให้กำลังใจเรา เราจะไม่ได้ชมตัวเองนะ เราจะบอกเขาว่าฉันให้กำลังใจเธอเหมือนกันนะ ฉันให้กำลังใจเธอนะ สู้ไปด้วยกัน ช่วยกัน คือเราไม่ใช่ฮีโร่ เราไม่ใช่คนเก่ง แค่มีช่องทางที่พอจะทำได้ก็จะทำ  

ในชีวิตประจำวันเคยเจอการเลือกปฏิบัติทางเพศในสายงานกฎหมายบ้างไหม

เคยเป็นรูปแบบการคุกคามทางเพศ เวลาต้องไปติดต่อกับตำรวจ เขาจะกล้าพูดเล่นแซวเล่นกับเราในทางคุกคามทางเพศบ่อยมาก เรางงว่าการที่เป็นทรานส์เจนเดอร์เป็นการเปิดใบอนุญาตให้เขากล้าถามเชิงคุกคามได้อย่างไร ว่าเรามีแฟนหรือยัง สวยจังเลย ขอเบอร์ได้ไหม มันใช่หน้าที่ของคนที่พิทักษ์สันติราษฎร์หรือเปล่า ที่เคยเจอหนักๆ คือเขาบันทึกประจำวันให้เสร็จ เขาถามว่าบ้านอยู่แถวนี้หรือเปล่า เขารู้ที่อยู่เราจากบัตรประจำตัวประชาชน ว่าอยู่แถวสำนักงานนั้นพอดี เขาถามว่าเป็นสายมูไหม มาแถวนี้ก็ได้นะ เดี๋ยวจะพาไปไหว้ศิวลึงค์ ตอนแรกเราก็อึ้ง แล้วเราก็ถามกลับว่าแถวนี้มีศิวลึงค์ด้วยเหรอคะ แล้วเขาก็หัวเราะ แล้วค่อยมาเข้าใจทีหลังว่า มันหมายถึงอะไร 

อีกกรณีหนึ่งที่เจอต้องติดต่อตำรวจเหมือนกัน พอเราไปแจ้งความ เขายังทักทายเราด้วยคำว่า สวัสดีครับ พอเขาได้ยินเสียงเรา เขาบอกว่าไม่รับแจ้ง เราก็เลยถามทำไมไม่รับแจ้ง แล้วเขาจึงไปเรียกอีกคนนึงมา 

ในส่วนของเพื่อนร่วมงานที่เคยทำมา กลุ่มเพื่อนเหล่าจะชอบแซวเรา ในลักษณะของการหยอกล้อให้อาย ให้เราเป็นคนที่ดูบ้าผู้ชาย คือเขาจะมองว่ากะเทยเป็นเพศที่เข้าถึงผู้ชายได้ง่ายแล้วก็ชอบอะไรที่แผลงๆ เรื่องเพศ ชอบมีเซ็กส์ ชอบเล่นเซ็กส์ทอย ชอบเวลามีคำถามลักษณะนี้จะโยนมาให้เราตอบ หาว่าเราเชี่ยวชาญในเรื่องนี้  

แต่เรื่องเหล่านี้มันยังเกิดขึ้นในวงการข้าราชการ มีกรณีเพื่อนของเรา เป็นครู และมีเพศสภาพเหมือนกับเรา เขาถูกสั่งเวรให้ต้องนอนเฝ้าโรงเรียน ซึ่งตามประกาศกระทรวงหรือกฎกระทรวงของโรงเรียนนั้นๆ บอกว่าคนที่จะนอนเฝ้าโรงเรียนจะต้องให้เป็นเวรของอาจารย์ที่เป็น ‘ผู้ชาย’ ซึ่งเขาเป็นคนข้ามเพศเป็นผู้หญิงแล้ว มาปรึกษาเราว่าจะทำยังไง มันไม่ปลอดภัย เราก็เลยยื่นเบอร์ วลพ. ให้ เขาเหมือนทาง วลพ. โทรไปบอกกับผู้บังคับบัญชาเขา ผู้บังคับบัญชาก็เลยเปลี่ยนให้เขาไปรับงานอย่างอื่นแทน ที่ไม่ใช่การนอนเข้าเวรตอนกลางคืน อันนี้ก็คือเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ทรานส์เจนเดอร์ต้องเจอ 

ได้เรียนรู้อะไรจากการออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องนี้บ้าง 

ได้เรียนรู้ว่าสังคมไทยยังไม่ไปถึงไหน มันจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขอีกเยอะ ไม่ว่าจะเป็นทัศนคติของคนในประเทศ โครงสร้างทางสังคมที่เป็นกฎหมาย เพราะการที่เราขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับทัศนคติของคนในสังคมและขาดกฎหมายที่จะมาคุ้มครอง มันส่งผลเหมือนกับ 30-40 ปีที่กะเทยหรือกลุ่ม LGBT ยังโดนกระทำอย่างไร ทุกวันนี้ก็ยังโดนเหมือนเดิม  อยู่ที่ว่าจะเป็นข่าวหรือไม่ การถูกเลือกปฏิบัติทางเพศยังคงเกิดขึ้นในโรงเรียน ลองไปดูหรือยังว่า อาจารย์กำลังตัดผมเด็กผู้หญิงข้ามเพศอยู่หรือเปล่า เวลาเขาไปเข้าค่าย เขายังถูกจับไปนอนรวมกันกับผู้ชายอยู่หรือเปล่า   

เพราะฉะนั้นกระทรวงต่างๆ ต้องอัพเดตข้อมูลตัวเอง และประชาสัมพันธ์ว่าประชาชนที่มีเพศสภาพไม่ตรงเพศกำเนิด มีอัตลักษณ์ทางเพศหรือวิถีทางเพศต่างไปจากเพศกำเนิด พวกเขาคือคนปกติ ที่องค์การอนามัยโลกได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงเรียบร้อยแล้ว และยกระดับกฎหมายต่างๆ ให้ยอมรับความเท่าเทียมกัน ไม่ว่าเขาจะมีเพศแบบไหน

อยากฝากถึงองค์กรไหนที่ยังจำเป็นต้องใช้ยูนิฟอร์มอยู่ ตามเพศชาย-หญิง ให้เข้าใจในสิ่งที่เรากำลังเรียกร้องอยู่  

เข้าใจว่าการแต่งกายตามเพศสภาพ คือ การกำหนดอัตลักษณ์ทางเพศของคน ซึ่งอัตลักษณ์ทางเพศมันเป็นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งแต่ละคนจะมีอัตลักษณ์ที่แตกต่างกัน อัตลักษณ์ทางเพศของกะเทย ก็เป็นอัตลักษณ์ที่เท่าเทียมกับอัตลักษณ์ของชายและหญิง ในเมื่อผู้ชายและผู้หญิงทั่วไปสามารถกำหนดอัตลักษณ์ได้ และแต่งกายตามเพศตนเองได้ ผู้หญิงข้ามเพศก็มีอัตลักษณ์ที่เป็นผู้หญิงได้เหมือนกัน ก็ควรที่จะสามารถกำหนดอัตลักษณ์และสามารถแต่งกายตามอัตลักษณ์ได้เช่นกัน 

ทำไมศักดิ์ศรีของผู้ชายมีมากกว่าศักดิ์ศรีของผู้หญิง แต่พอเป็นผู้หญิงข้ามเพศไม่สามารถแต่งกายตามเพศสภาพได้ 

อย่าคิดว่าการแต่งตัวตามอัตลักษณ์ของกลุ่มคนหลากหลายทำให้ตัวตนของคุณถูกลดทอนลงไป คุณยังเป็นคุณอยู่ ผู้ชายก็ยังเป็นผู้ชาย ผู้หญิงก็ยังเป็นผู้หญิง เพราะแต่ละคนมีความแตกต่างกัน แค่แต่งกายสุภาพ เหมาะสมในสภาพเพศของแต่ละคนที่เป็นอยู่แค่นั้นเอง ทุกคนก็มีศักดิ์ศรีเท่ากัน ศักดิ์ศรีก็คือสิ่งที่เขากำลังสวมใส่อยู่ เดินออกมาเฉิดฉาย เดินออกมาทำงาน เพราะการแต่งกายตามเพศสภาพมันคือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และทุกคนควรมีเท่ากัน

ความรู้สึกหลังจากข้อบังคับถูกแก้ไขจนสำเร็จเป็นอย่างไรบ้าง

วันนี้ได้ต่อสู้จนสำเร็จแล้ว ขอยืนยันว่าอัตลักษณ์ทางเพศและวิถีทางเพศนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติและติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่กำเนิดบนพื้นฐานของความแตกต่างหลากหลาย อัตลักษณ์ทางเพศและวิถีทางเพศจึงถือเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และเป็นสิทธิในความเป็นส่วนตัวที่รัฐเสรีประชาธิปไตยพึงรับรองและให้ความคุ้มครองทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามหลักความเสมอภาค สภาทนายความและเนติบัณฑิตยสภาในฐานะองค์กรทางกฎหมายที่ใช้อำนาจปกครองของรัฐก็ย่อมพึงผูกพันเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ หลักการดังกล่าวนั้นเป็นหลักการสากลและได้ถูกรับรองอย่างชัดเจนตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ไทยในฐานะรัฐภาคีมีพันธะกรณีต้องปฏิบัติตาม เช่น กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง ค.ศ. 1966 ยิ่งไปกว่านั้น พบว่าหลายประเทศในตะวันตกและยุโรปถึงขนาดมีกฎหมายรับรองอัตลักษณ์ทางเพศอย่างเป็นกิจจลักษณ์แล้ว เช่น ประเทศเยอรมัน อิตาลี อังกฤษ สก็อตแลนด์ แคลิฟอร์เนีย รัฐนิวยอร์ก (สหรัฐอเมริกา) ออสเตรีย อาร์เจนติน่า มอลต้า สเปน ฟินแลนด์  ออสเตรเลีย เป็นต้น 

ในฐานะที่เป็นนักฎหมายและทนายความที่เป็นบุคคลข้ามเพศผู้ได้รับความเสียหายเองนั้นก็รู้สึกดีใจที่ประเทศไทยมีความก้าวหน้าในเรื่องความเสมอภาคทางเพศมากขึ้น และขอแสดงความยินดีกับเนติบัณฑิตไทยและทนายความผู้มีความหลากหลายทางเพศอีกครั้ง วิชาชีพทางกฎหมายเป็นวิชาชีพของทุกคนที่มีความรู้ความสามารถทางกฎหมาย หาได้จำกัดโดยสภาพทางเพศไม่ วันนี้ดิฉันได้ทวงคืนความยุติธรรมและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของตัวเองและบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศในองค์กรต้นทางแห่งกระบวนการยุติธรรมได้แล้ว หวังว่าองค์กรกฎหมายและยุติธรรมอื่นจะเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบของตนไปในทิศทางเดียวกันตลอดจนสุดสาย จะได้ไม่มีผู้ใดต้องถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศอีก

image_pdfimage_print