แม้จะเปลี่ยนหน้ารัฐบาลมากี่ครั้ง แต่ร่องรอยความเจ็บปวดจากกระบวนแย่งยึดที่ดินนโยบายทวงคืนผืนป่าของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังคงมีผลยาวนานต่อการผลิตซ้ำความจนเรื้อรัง และความทุกข์ของครอบครัวที่ถูกยึดที่ดินทำกิน เป็นสิ่งที่ถูกนำมาศึกษาผ่านงานวิจัย “การแย่งยึดที่ดินจากนโยบายป่าไม้ในยุคทหาร คสช. กับการผลิตซ้ำความจนเรื้อรัง กรณีป่าสงวนแห่งชาติดงหมู แปลง 2” ในพื้นที่ตำบลคำป่าหลาย จ.มุกดาหาร วิจัยโดย กิติมา ขุนทองและธนพร สีสุขใส ภายใต้การสนับสนุนจาก Greenpeace Thailand Protection International (PI) และ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) 

งานวิจัยดังกล่าวใช้แนวคิดเรื่องการแย่งยึดที่ดิน ในการอธิบายให้เห็นความชอบธรรมในการเข้าแย่งยึดพื้นที่ทำกินของประชาชน ภายใต้คำว่า “ทวงคืนผืนป่า” และวาทกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมาชาติเพื่อเป็นเครื่องมือปิดล้อมแย่งยึดที่ดินรวมถึงการทำให้ชาวบ้านผู้บุกเบิกกลายเป็นผู้บุกรุกทำลายป่าของรัฐ อีกทั้งยังอธิบายถึงผลกระทบจากนโยบายดังกล่าวในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และความทุกข์ทางอารมณ์ ร่วมกับข้อเสนอแนะในการจัดการปัญหานี้ต่อหน่วยงานรัฐบาล

The Isaan Record ได้พูดคุยถึงเนื้อหาและกรณีศึกษากลุ่มตัวอย่างในงานวิจัยดังกล่าวกับ กิติมา ขุนทอง นักวิจัยโครงการ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ว่าภาพรวมผลกระทบที่เกิดจากนโยบายทวงคืนผืนป่าในช่วงรัฐบาล คสช. เป็นอย่างไร กิติมา กล่าวว่า กลุ่มตัวอย่างในงานวิจัยใน ต.คำป่าหลาย อ.เมือง จ.มุกดาหาร มีชาวบ้านได้รับผลกระทบ 300 กว่าครอบครัว 2,000 กว่าไร่ และได้มีการศึกษากลุ่มตัวอย่าง จำนวน 50 ครอบครัว ปัจจัยในการเลือก ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มคนได้รับผลกระทบมาศึกษา แต่เลือกกลุ่มคนที่อยู่ในกลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลายที่ยืนยัดสู้มาตั้งแต่ต้น เพื่อจะเอาที่ดินคืน ตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปี 2566 พวกเขาเผชิญความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในรูปแบบความยากจนแบบฉับพลัน และใช้ชีวิตอยู่กับความจนเรื้อรัง และนำไปสู่ภาวะความยากจนข้ามรุ่นในท้ายที่สุด

ช่วยอธิบายภาพรวมของวิจัย “การแย่งยึดที่ดินจากนโยบายป่าไม้ในยุคทหาร คสช. กับการผลิตซ้ำความจนเรื้อรัง กรณีป่าสงวนแห่งชาติดงหมู แปลง 2” ว่าเป็นอย่างไร

ในกลุ่มวิจัยตำบลคำป่าหลาย ในจำนวน 50 ครอบครัว แบ่งเป็นสองส่วน คือ จำนวน 41 ครอบครัว กลุ่มไม่มีเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 คือกลุ่มคนที่โดนยึดที่ดิน ถูกห้ามเข้าไปทำกินในพื้นที่ เจ้าหน้าที่เข้าไปทำลายพืชผล ทำลายข้าวของ อีกจำนวน 9 ครอบครัวที่มีเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 เป็นครอบครัวที่ไม่ได้เสียสิทธิ ยังสามารถเข้าไปทำเกษตรได้ หรือแม้จะไม่โดนทหารเข้าไปในพื้นที่ แต่พอเช็กสถานะ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมปรากฏว่าสิทธิถูกยึดไปแล้ว ถูกเพิกถอนสิทธิด้วยเหตุผลว่าอยู่ในที่ทับซ้อนเขตป่าสงวนป่าดงหมู แปลง 2 ดังนั้นกลุ่มวิจัยจึงมีอยู่ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่สูญเสียที่ดินไปเลย เพราะถูกห้าม ถูกทำลายกับกลุ่มที่ยังเข้าไปทำกินได้แต่สูญเสียสิทธิในการครอบครอง

ผลกระทบที่ตามมาจากผลกระทบของนโยบายดังกล่าวคืออะไร

ที่เห็นได้ชัดคือ ปัญหาหนี้สิน เมื่อศึกษาก็พบว่าหลังจากสูญเสียที่ดิน เกิดความยากจนแบบฉับพลัน เนื่องจากการสูญเสียแบบไม่ทันตั้งตัว ชาวบ้านกำลังทำไร่อยู่ดีๆ ก็มีทหารเข้ามาไถ่ที่ดินแล้วเอาต้นไม้มาปลูกเลย เป็นการสูญเสียแบบปัจจุบันทันด่วน เริ่มสูญเสียตั้งแต่ 2 งานจนถึง 24 ไร่ นำไปสู่การสูญเสียรายได้ในทันที 5 หมื่นถึง 6 แสนบาท ซึ่งการลดลงของรายได้มันสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของหนี้สิน เพราะชาวบ้านที่นี้เขาบริหารเงินแบบ “กินรายวันผ่อนรายปี” เงินที่เขาหา มันมีสองระบบ ส่วนหนึ่งเขารับจ้างทำมาหากินแบบรายวัน แต่เงินค่าปลูกมัน อ้อย ยางพารา เป็นเงินรายปี เวลาจ่ายดอกเบี้ย จ่ายเป็นรายปี ผ่อนรถเป็นรายปี จากที่เราสำรวจข้อมูล 50 ครอบครัว มีเพียง 3 ครอบครัวเท่านั้นที่มีเงินเก็บ ซึ่งมีไม่ถึง 3 หมื่นบาท บางกรณีมีสาม 3 พันกว่าบาท เป็นเงินหมุนไม่ใช่เงินออม พอรายได้ลดลงก็กระทบรายจ่ายในชีวิตเพิ่มขึ้น ในแต่ละบ้านมีการกู้เงินมากกว่า 1 สัญญาเงินกู้ บางบ้านมีกู้มากกว่า 5 สัญญา ทำให้หมุนเงินไม่ได้ ความเสี่ยงในชีวิตก็เพิ่มขึ้น การลดลงของรายได้นำไปสู่เรื่องของ บางคนให้ลูกออกจากโรงเรียน บางบ้านก็ฆ่าตัวตาย สมมติลงทุนไป 3 แสนบาท แล้วถูกยึดที่ดิน ผลผลิตถูกทำลายและกลายเป็นหนี้เพราะพอกลายเป็นศูนย์ก็ติดลบ เพราะไม่มีเงินใช้หนี้ ปัจจัยสำคัญอย่างที่ดินก็โดนยึด ทำให้หนี้สินของเขาเพิ่มขึ้นจากเดิม 

ยังพบอีกว่าหลายครัวเรือนมีปัญหาเรื่องการขาดชำระหนี้ จำนวนครัวเรือนที่มีหนี้เพิ่มขึ้นจำนวน 29 รายจาก 50 ราย มีหนี้ต่ำสุด 5 พันบาทจนถึง 2 ล้านบาท เป็นผลพวงมาจากการยึดที่ดินทำให้เขาต้องดิ้นรนเพื่อหาทางอุดรูรั่วของชีวิต หนี้สินเพิ่มขึ้นตั้งแต่ระดับ 14.2% ไปจนถึง 1,133% เช่น มีครัวเรือนหนึ่งมีที่ดิน 20 กว่าไร่ที่โดนยึดไป ช่วงก่อนยึดที่ดินเขามีหนี้ 320,000 บาท แต่พอหลังยึดที่ดินไปหนี้เพิ่มขึ้น 56% เป็น 2 ล้านบาท ทำให้เขาไม่มีกำลังผ่อนหนี้กับ ธ.ก.ส. ธนาคารจึงชวนให้กู้เพิ่มเพื่อชำระดอกเบี้ย ทาง ธ.ก.ส. เสนอให้ซื้อรถไถคันใหญ่ในราคาเกือบ 2 ล้านบาท เขาหวังว่าจะเอารถไถมาลงทุนทดแทนที่ดินที่จะถูกยึดไป 10 ไร่ เขาก็ต้องแบกรับความเสี่ยงเรื่องความไม่แน่นอน ความมั่นใจในกิจการรถไถว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่

ช่วยอธิบายภาพ “ปัญหาหนี้ข้ามรุ่น” ว่าเป็นอย่างไรและส่งผลต่อคนในชุมชนแบบไหน 

ปัญหาหนี้ข้ามรุ่น มีครัวเรือนที่มีความเสี่ยงจำนวน 25 ครัวเรือน ที่ไม่สามารถใช้หนี้ ชำระดอกเบี้ยได้ กรณีแรกมีความเสี่ยงจริง แต่ยังสามารถจ่ายดอกเบี้ยบางส่วนได้ แต่มีบางกรณีที่ไม่สามารถจ่ายได้เลยแม้กระทั่งดอกเบี้ย เช่น รายหนึ่งก่อนถูกยึดที่ดินทำกิน เขาเคยกู้เงินกับ ธ.ก.ส. 4 แสนบาท ช่วงปี 2558-2559 รวมถึงยืมกองทุนหมู่บ้าน ออมสิน อะไรเล็กๆ น้อย เพื่อซื้อที่ดินและลงทุนขายของ ในครอบครัวมีภาวะเปราะบางคือ แม่เป็นมะเร็งลำไส้ พ่อเป็นโรคหัวใจ พอที่ดินถูกยึด ก็ไม่สามารถที่จะผ่อนกับ ธ.ก.ส.ได้ ตั้งแต่ ปี 2559 เมื่อปี 2565 ธ.ก.ส.แจ้งว่าเงินที่กู้รวมดอกเบี้ย 4 แสนบาทเพิ่มเป็น 7 แสนบาท ปี 2566 เพิ่มเป็น 8.5 แสนบาท เขาไม่ได้จ่ายได้เลย จนกระทั่งดอกเบี้ยมันทบต้นดอก เขาจึงไปกู้เงินด่วนมาอีก 8,000 บาท ยืมญาติ 2 หมื่น บาท กู้เงินนอกระบบอีก 1.8 แสนบาท คนกลุ่มนี้จะเสี่ยงเป็นหนี้ที่เรียกว่า ‘หนี้ข้ามรุ่น’ เพราะว่าเขาไม่มีที่ดิน ไม่มีทรัพย์สินที่จะมาหารายได้เติมเข้าไปหมุนจ่าย จึงมีภาวะเสี่ยงเป็นหนี้เรื้อรัง เพราะเมื่ออายุเยอะก็เสี่ยงถ่ายโอนไปรุ่นลูก ถ่ายโอนไปพร้อมกับความไม่มีที่ดินและความจน

นอกจากนี้ยังมีกรณีครอบครัวตัวอย่างที่เปราะบางอีกหรือไม่ 

ความเปาะบางในจำนวน 50 ครัวเรือน เราพบว่ามีผู้ป่วยบางครัวเรือนเป็นผู้ป่วยเรื้อรัง มีติดเตียง มีพิการจำนวน 21 ครัวเรือน มีผู้สูงวัยและเด็กที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ จำนวน 8 ครัวเรือน พอเกิดการทวงคืนผืนป่าทำให้คนเกิดภาวะความเครียดเป็นโรคซึมเศร้าอีก จำนวน 8 ครัวเรือนที่ต้องเข้ารับการรักษา และมีครัวเรือนที่ติดสุราติดสารเสพติด จำนวน 11 ครัวเรือน และมีปัญหาความรุนแรงในครอบครัว จำนวน 5 ครัวเรือน พบว่าหลังจากเกิดการทวงคืนผืนป่าปัญหาความรุนแรงในครอบครัวกับการติดสุราและสารเสพติดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ 

เช่น กรณีแม่สมจิตร อายุ 52 ปี มีภาวะซึมเศร้า และในบ้านมีเด็กช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เป็นครอบครัวมีหนี้สินเรื้อรัง เขากู้เงิน ธ.ก.ส. มาพร้อมกับเงินที่เขาขายก๋วยเตี๋ยวกับสามีทั้งชีวิต กู้เงินมาซื้อที่ดินเพราะมีที่ดินมรดก 3 ไร่ รวมกับการเก็บหอมรอมริบมา ได้ 2.7 แสนบาท เอาเงินไปซื้อที่ดิน 11 ไร่ เวลาซื้อที่ดินเขาซื้อกับคนในชุมชน ซึ่งเป็นที่ดินมรดกอยู่แล้ว พอซื้อที่ก็ให้สามีทำงาน ให้ลูกสาวลูกเขยทำงาน แต่พอโดนยึดที่ดิน มันเกิดปัญหาคือลูกไม่มีงานทำ สามีก็ไม่สามารถมีที่ทางทำกิน แม่สมจิตรมีอาการเครียดมากจึงต้องหยุดขายอาหารตามสั่ง เพราะตอนที่ถูกยึดที่ดิน แม่สมจิตรไม่รู้ต้องยังไงให้ได้ที่ดินคืนจนล้มป่วย ลูกสาว ลูกเขย น้องสาว ตัดสินใจทิ้งลูกหลานไว้ให้แม่สมจิตร 5 คน ทุกคนบอกว่าจะเดินทางไปทำงานที่กรุงเทพฯ พอทุกคนไปกรุงเทพฯ ไม่มีใครส่งเงินกลับมาให้แม่สมจิตรเลย กลายเป็นว่าต้องรับภาระหลาน 5 คน ส่วนสามีไม่มีที่ดิน ก็ไปรับจ้างงานก่อสร้าง ซึ่งแม่สมจิตรป่วยก็ไม่สามารถขายของได้ สามีก็ไม่ที่เงินเพียงพอที่จะเลี้ยงคน 7 คนได้ แม่สมจิตรต้องออกไปช่วยงาน ในหมู่บ้านจะมีคนเรียกไปช่วยงานแล้วได้ข้าวฟรี แม่สมจิตรเล่าว่าต้องทิ้งความอับอายทุกอย่างเพื่อใช้ชีวิต ต้องแบกทั้งเรื่องหนี้สิน ทั้งความแตกสลายของครอบครัว ทั้งเรื่องภาวะพึ่งพิงในครัวเรือน 

ส่วนปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ส่วนมากในหลายๆ เคส ไม่ค่อยอยากเปิดหน้าให้ข้อมูล เพราะเกรงใจสามี ปัญหาหลักๆ ส่วนมากเกิดจากความเครียด พอหาเงินไม่ได้ สามีก็ดื่มเหล้า มีปากเสียง ทะเลาะกัน เป็นปัญหาสืบเนื่องจากความกดดันในชีวิตหลังจากสูญเสียที่ดิน 

ข้อเสนอแนะนำในงานวิจัยคืออะไร

สิ่งที่งานวิจัยเสนอ คือ รัฐต้องรื้อถอนความคิดที่มองว่า ทรัพยากรเป็นทรัพย์สินของรัฐ เพราะตอนที่รัฐยึดที่ดิน เขาคิดว่าที่ดินเป็นของเขา ที่ดินป่าดงหมู แปลง 2 หรือที่ดินที่เขาประกาศเขตป่า เขาใช้คำว่า ‘ทวงคืน’ ถ้าเราไปดูของการนิยามคำว่า ‘ทวงคืน’ แปลว่าเป็นเจ้าของ แปลว่ามีสิทธิพึงมีพึงได้ ดังนั้นพอรัฐใช้คำว่า ทวงคืนผืนป่า มันชัดเจนเลยว่ารัฐมองว่าป่าไม้เป็นทรัพย์สินของรัฐ ถ้ารัฐไม่รื้อถอนความคิดนี้ มันจะแก้ไขปัญหาอะไรไม่ได้ หากเรามองกรณีป่าดงหมู แปลง 2 รัฐประกาศเขตป่าปี 2529 มีการสำรวจครั้งแรกในปี 2504 แต่ชาวบ้านจัดตั้งหมู่บ้านอย่างเป็นทางการ ปี 2384 ก่อนหน้า2529 มีการเจรจากันที่แล้ว แต่ไม่รู้ทำไมแผนที่มันมีการทับซ้อนกับที่ดินชาวบ้าน และก็เริ่มจับกุมชาวบ้าน ซึ่งชาวบ้านไม่คิดว่าจะโดนจับ คือเขาไม่ไม่คิดและไม่เข้าใจว่าพอประกาศออกมาแล้ว ชีวิตเขาจะเป็นยังไงถึงขนาดให้เจ้าหน้าที่มาตั้งที่ทำการหน่วยย่อยในหมู่บ้านเอง 

2. ต้องยกเลิกแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ 2557 หรือนโยบายทวงคืนผืนป่า หลังจากปี 2562 แม้ไม่มีการดำเนินการทำอะไรอย่างรุนแรงต่อเหมือนช่วงก่อน แต่แผนแม่บทนี้ยังมีอยู่ มันอาจจะกลับมาถูกใช้อีกเมื่อไหร่ก็ได้ดังนั้นรัฐต้องยอมรับว่าการปฏิบัติการดังกล่าวไม่ได้วางอยู่บนหลักชอบธรรมทางกฎหมายและสิทธิมนุษยชน ซึ่งกระทบต่อการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพของประชาชน

3. รัฐต้องตั้งคณะกรรมการในการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการทวงคืนผืนป่า ซึ่งตรงนี้ อาจจะต้องแก้ไขปัญหาไปพร้อมกับการเยียวยาทั้งในระดับพื้นที่ จังหวัด ต้องตั้งกระบวนการพิสูจน์สิทธิ จะต้องเกิดจากกระบวนการที่ชาวบ้านมีส่วนร่วมด้วย และใช้เรื่องประวัติศาสตร์ชุมชน พยานบุคคล ร่องรอยการทำกิน เอกสารหรือว่าภาพถ่าย แผนที่ทางอากาศร่วมด้วย แต่การแก้ไขปัญหาของรัฐตอนนี้ภายใต้นโยบายทวงคืนผืนป่า ผลักไปให้กับทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการขัดแย้งในการแย่งยึดที่ดิน

ส่วนกรณีที่พิพาทอยู่ให้คืนสิทธิกับชาวบ้านไป และต้องตั้งกองทุนเยียวยา เพราะชาวบ้านได้รับการสูญเสียที่รุนแรง ต้องได้รับการฟื้นฟูอย่างเร่งด่วน จากระยะสั้นไประยะยาว ถ้าเราลองมองภาพว่าคนที่เจอภาวะโควิด 2 ปีครึ่ง ธุรกิจบางรายยังไม่สามารถฟื้น แต่ที่นี่เขาเผชิญมา 8 ปี ผลกระทบมันจะร้าวลงฝังลึกขนาดไหน ที่สำคัญตอนนี้พื้นที่นี้ ไม่ใช่แค่โดนเรื่องการทวงคืนผืนป่า มันคือกรณีการแย่งยึดที่ดิน ซึ่งตอนที่เขาโดนทวงคืนผืนป่ามันมีโครงการสร้างเหมืองหินเข้ามาในพื้นที่ด้วย เขาก็สู้จนกระทั่งเรื่องเหมืองหินจบไปแล้ว กลับมีโครงการใหม่ที่มาล่าสุดคือ ในปี 2566 คือโครงการพัฒนาพลังงานกังหันลม มาทับซ้อนพื้นที่ป่าที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์อยู่ และทับซ้อนกับพื้นที่กรณีพิพาทที่ดิน ซึ่งแนวคิดเรื่องกังหันลมนั้นมาภายใต้นโยบาย โมเดลเศรษฐกิจ BCG (เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว – Bio-Circular-Green Economy) ที่ผูกตัวเองกับเรื่องการลดปัญหาโลกร้อน ดังนั้น รัฐต้องยอมรับว่าการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในไทย ทำให้มันกลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาระดับโลกจะแก้ปัญหาโลกร้อนด้วยการกลไลทางเศรษฐศาสตร์ผ่านข้ออ้างเรื่องการอนุรักษ์มันเป็นไปไม่ได้ เพราะกังหันลมใช้พื้นที่สองร้อยกว่าไร่ต้องถากถางพื้นที่ป่าเพื่อติดตั้งเสา 14 ต้น ใช้พื้นที่ต้นละ 6 ไร่รวมพื้นที่ 84 ไร่ จะมีการทำถนนเชื่อมต่อระหว่างเสาแต่ละต้นกว้าง 10 เมตรโดยแบ่งเป็นพื้นที่ถนน 8 เมตรไหล่ถนนฝั่งละ 1 เมตร ในส่วนของโรงไฟฟ้าซึ่งจะมีกำลังการผลิตที่ 80 เมกกะวัตต์จะใช้พื้นที่ราว 20 ไร่ 

ความตั้งใจของเราที่ทำวิจัยนี้คืออยากให้ที่นี่เป็นกรณีศึกษาที่ให้เห็นภาพของพื้นที่อื่นๆ ในประเทศไทย จริงๆ มันมีพื้นที่อย่าง จ.ชัยภูมิ ซึ่งก็รุนแรงมาก ที่ จ.เลย ก็มีการสูญเสียการฆ่าตัวตาย แต่ว่าที่ “คำป่าหลาย” เป็นพื้นที่อยู่ใกล้เราก็เลยเอาเป็นเคสนำร่องที่จะนำเสนอให้เห็นผลกระทบมันรุนแรงแค่ไหน แล้วเราก็คิดว่าเคสนี้เราสามารถเอางานวิจัยขึ้นมาสำเร็จ จะเปิดวงคุยกับคนที่ทำงานป่าไม้ที่ดินว่าจะผลักดันได้แค่ไหน ในข้อเสนอแนะที่เสนอไป

อ้างอิง

image_pdfimage_print