กาลเวลาเดินทางมาถึงสิ้นสุดปีอีกครั้งหนึ่ง หลายคนมีธรรมเนียมปฏิบัติ คือ การทบทวนตนเองว่าหนึ่งปีที่ผ่านมานี้เขาเหล่านั้นได้ผ่านอะไรมาบ้าง และเป้าหมายในปีหน้าจะทำอะไรต่อไป ผมเองก็เช่นเดียวกันที่ทุกปีจะมานั่งมองอีสานว่าหนึ่งปีนั้นมีอะไรเกิดขึ้นในอีสานบ้าง บ้านเมืองของเราผ่านอะไรมาบ้าง ด้านหนึ่งเป็นการจดบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ มัดรวมเอาไว้ที่เดียวกัน อีกด้านหนึ่งเป็นร่องรอยที่จะพอทำให้คาดเดาได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นอีกบ้างบนแผ่นดินนี้ในปีถัดไป

เรื่องแรก คงหนีไม่พ้นเรื่องการเลือกตั้งใหญ่ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ที่สร้างความผิดคาดและผิดหวังให้กับพรรคเพื่อไทยที่ไม่สามารถแลนด์สไลด์ในอีสานได้ การเลือกตั้งรอบนี้ในอีสานมีเก้าอี้ ส.ส. ให้แข่งกันถึง 132 ที่นั่ง มากกว่าการเลือกตั้งใน พ.ศ.2562 ที่มีแค่ 116 ที่นั่ง พรรคเพื่อไทยที่ครองเสียงส่วนใหญ่ในอีสานมาตั้งแต่พรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชน หมายมั่นปั้นมือว่าจะแลนด์สไลด์ในอีสาน หรือได้ ส.ส. เป็นกอบเป็นกำ อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งรอบนี้พรรคเพื่อไทยได้ ส.ส. ในอีสานเพียง 73 คน น้อยกว่าการเลือกตั้งรอบที่แล้ว ที่ได้มากถึง 84 คน นอกจากนี้  ส.ส. เบอร์ใหญ่ของเพื่อไทยหลายคนพ่ายในการเลือกตั้งในอีสานครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็น คุณสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานี คุณชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ อดีต ส.ส.อุบลราชธานี คุณยุทธพงศ์ จรัสเสถียร (โจ้เรือดำน้ำ) อดีต ส.ส.มหาสารคาม เป็นต้น จากที่นั่งทั้งหมด 

ส่วนพรรคภูมิใจไทยที่ฐานที่มั่นคงทางการเมืองอยู่ที่บุรีรัมย์ได้ ส.ส. ในอีสานมาถึง 40 คน การเลือกตั้งรอบที่แล้วได้เพียง 16 คน พรรคประชาธิปไตยการเลือกตั้งรอบที่ผ่านมามีการคาดการณ์ว่าจะสูญพันธุ์ในอีสาน แต่มีการพลิกล็อคได้ ส.ส. ในอีสานถึงสองท่าน ที่อุบลราชธานีและสกลนคร สุดท้ายพรรคก้าวไกลได้ ส.ส.เขตในอีสาน 8 คน ในหัวเมืองใหญ่ เช่น ขอนแก่น โคราช และอุดรธานี เป็นต้น มากกว่านั้นเมื่อดูคะแนนปาร์ตี้ลิสต์บางจังหวัดในอีสาน คะแนนของพรรคก้าวไกลชนะทั้งจังหวัด เช่น บุรีรัมย์ ในขณะที่พรรคภูมิใจไทยได้คะแนนในระดับเขตไปทั้งหมด

เรื่องที่สอง จากการเมืองในท้องถนนสู่เกมในรัฐสภา มีคำถามสำคัญเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของเยาวชนนักศึกษาในอีสานซึ่งเกิดขึ้นจำนวนมากใน พ.ศ.2563 – พ.ศ.2564 ว่าหายไปไหน ผมได้รับทุนทำวิจัยจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในการทำวิจัย เรื่อง การเคลื่อนไหวของเยาวชนและการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วง พ.ศ.2563 – พ.ศ.2565 สิ่งที่ผมค้นพบและอาจจะช่วยตอบคำถามที่หลายคนสงสัย คือ เยาวชนบางส่วนผันตัวเองเข้ามาต่อสู้ทางการเมืองในเกมการเมืองในระบบมากขึ้น แกนนำบางท่านได้หันไปทำงานกับพรรคการเมืองในฐานะผู้ช่วยนักการเมือง เลขานักการเมือง เยาวชนบางกลุ่มมีการรวมตัวกันไปช่วยนักการเมืองที่ตนเองชอบในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง บางกลุ่มมีการจัดเวทีเชิญนักการเมืองแสดงวิสัยทัศน์หรือจัดให้มีการดีเบตนโยบายกัน 

นอกจากการเมืองในระดับชาติแล้ว เยาวชนบางกลุ่มมีการลงไปช่วยเป็นปากเป็นเสียงให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาของรัฐ หรือ ลงแข่งขันสมัครชิงตำแหน่งนายสโมสรนักศึกษาระดับคณะหรือระดับมหาวิทยาลัยเพื่อผลักดันประเด็นปัญหาของนักศึกษาที่เผชิญอยู่ อย่างไรก็ตาม นี่อาจจะเป็นเยาวชนเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ก็ทำให้เห็นการเคลื่อนไหวของเยาวชนในอีสานที่ผ่านมาไม่ได้สูญเปล่า แต่ยังก่อให้เกิดการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองของเยาวชนในรูปแบบอื่นๆ มากขึ้น

เรื่องที่สาม ปรากฏการณ์การเลือกตั้งที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า ต่างจังหวัดมีความสำคัญไม่แพ้กรุงเทพมหานคร การเลือกตั้งหลายครั้งก่อนหน้านั้นจะมีแค่เวทีหาเสียงของพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่งเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งรอบนี้หลายจังหวัดในอีสานมีเวทีดีเบตของนักการเมืองที่จัดขึ้นโดยสื่อเป็นจำนวนมาก เวทีดีเบตหลายเวทีจัดขึ้นจากความร่วมมือกันของคนในหลายกลุ่มในจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ หอการค้า ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและสื่อมวลชนสำนักต่างๆ จัดเป็นอีเวนต์ใหญ่ของจังหวัดที่จะเชิญนักการเมืองจากพรรคต่างๆ มานำเสนอนโยบายและดีเบตนโยบายให้คนที่สนได้รับฟังกัน อีกทั้งยังมีการถ่ายทอดสดทางทีวี และอินเตอร์เน็ตให้กับคนทางบ้านได้ติดตาม นโยบายที่หยิบยกขึ้นมาดีเบตกัน หนีไม่พ้นนโยบายหลักของพรรค อุดมการณ์ทางการเมืองและจุดยืนของพรรคการเมือง ที่สำคัญพื้นที่อีสาน ปัญหาต่างๆ ในอีสานไม่ว่าจะเป็นเรื่องเขื่อน เรื่องน้ำท่วม และเรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของรัฐ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในอีสานให้ผู้สมัครได้หยิบยกเสนอการแก้ไขกันอีกด้วย

เรื่องที่สี่ เมื่อพูดถึงเรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในอีสาน สิ่งที่พบ คือ ปีที่ผ่านมาผลพวงจากการออกบัตรสัมปทานเหมืองแร่โปแตส 3 แห่ง ที่ชัยภูมิ นครราชสีมา และอุดรธานี นับตั้งแต่สมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจใน พ.ศ.2557 ยังไม่ได้รับการแก้ไข การออกบัตรสัมปทานดังกล่าวเป็นการเร่งรัดขั้นตอนผ่านแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ และแผนปฏิรูปประเทศ 20 ปี รวมถึงการใช้อำนาจ คสช. เพื่อให้สัมปทานกับเอกชนโดยที่ภาคประชาชนและชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่แทบไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจที่เกิดขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ คือ ชาวบ้านด่านขุนทดไม่สามารถทำการเกษตรได้เพราะดินเค็มมากขึ้น น้ำประปากินไม่ได้เพราะเจือปนสารเคมี พื้นที่บางแห่งทรุดตัวซึ่งเป็นผลจากดินที่ถูกกัดกร่อนจากความเค็ม นอกจากนี้ ชาวบ้านที่คัดค้านการสร้างเหมืองแร่ยังถูกแจ้งความดำเนินคดีจากบริษัทที่ได้รับสัมปทาน ด้านหนึ่งอ้างสิทธิสัมปทานที่ได้จากรัฐ อีกด้านหนึ่งชาวบ้านอ้างถึงสิทธิในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ ปกป้องพื้นที่ของตัวเอง ความขัดแย้งเหล่านี้ยังคงอยู่และแต่ละฝ่ายต้องสู้กันต่อไป จนกว่าถึงศาลฎีกาต้องใช้เวลาอีกหลายปี

เรื่องที่ห้า น้ำท่วมเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ชาวบ้านในหลายจังหวัดในอีสานเผชิญกันทุกปี บางปีโชคดีท่วมน้อยสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจไม่มาก แต่บางปีโชคร้ายท่วมใหญ่สร้างทั้งความเสียหายทั้งเศรษฐกิจ ทรัพย์สินและชีวิตของผู้ประสบภัย ในปี 2566 หลายจังหวัดในอีสานถูกน้ำท่วม ไม่ว่าจะเป็น ขอนแก่น ร้อยเอ็ด ยโสธร และอุบลราชธานี เป็นต้น น้ำท่วมในรอบนี้ความเสียหายน้อยกว่าน้ำท่วมใหญ่ในอีสานใน ปี 2562 และ ปี 2565 ซึ่งทั้งสองปีมีระดับน้ำท่วมที่สูงกว่า ระยะเวลาในการท่วมที่นานกว่า อย่างไรก็ตาม น้ำท่วมรอบนี้สิ่งที่เราเห็นได้ชัดเจนคือภาพเดิมที่นายกรัฐมนตรีและผู้หลักผู้ใหญ่ลงมาเยี่ยมแจกของช่วยเหลือให้ชาวบ้านผู้ประสบภัย ภาพของชาวบ้านต้องมานั่งรอเป็นเวลานาน ฟังผู้หลักผู้ใหญ่แนะนำตัว แจกขอให้ผู้ประสบภัยและให้ความหวังกับชาวบ้านว่าปัญหาเหล่านี้จะได้รับการแก้ไข ภาพเหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ที่ผ่านมาปัญหาน้ำท่วมยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมในระดับภูมิภาค มีเพียงแค่โครงการเมกะโปรเจกต์ของรัฐที่ต้องการก่อสร้างคลองระบายน้ำระยะทาง 97 กิโลเมตร เพื่อระบายน้ำจากแม่น้ำมูลผ่านเมืองอุบลราชธานีไปลงแม่น้ำโขงได้เร็วขึ้น โครงการดังกล่าวยังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมากจากนักวิชาการและประชาชนในอุบลราชธานี เรื่องผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมและที่อยู่อาศัยของประชาชนที่คลองผันน้ำนี้จะถูกสร้างผ่าน

เรื่องที่หก การจัดงานรำลึกผู้มีบุญในอีสาน ผมเรียกงานนี้ว่า เป็นการขุด รื้อฟื้น ประวัติศาสตร์ ที่อีกด้านหนึ่งรัฐไทยกดทับไว้ เรื่องของประวัติศาสตร์ผู้มีบุญหรือผีบุญในอีสาน ได้รับการความสนใจและการพูดถึงกันมากขึ้นในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ในปี พ.ศ.2565 มีการจัดงานใหญ่ครบรอบ 121 ปีเหตุการณ์ปราบกบฏผู้มีบุญ ณ​ โนนโพธิ์ บ้านสะพือ อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี ที่มีผู้เสียชีวิตกว่า 300 ชีวิต ในช่วงวันที่ 4 – 5 เมษายน 2444 มีการจัดแสดงทางศิลปะที่บริเวณทุ่งศรีเมือง จ.อุบลราชธานี ในปีนี้ก็เช่นเดียวกันมีการจัดงานรำลึกผู้มีบุญที่บ้านสะพืออีกครั้ง มีการจัดการแสดงทางศิลปะถึงเหตุการณ์ลอบปราบผู้มีบุญ มีการทำบุญให้กับผู้มีบุญที่เสียชีวิตในเหตุการณ์สังหารโหดในครั้งนั้น มีการเปิดแบบร่างอนุเสาวรีย์ผู้มีบุญเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานในการบันทึกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่รัฐไทย ที่ไม่ได้มีแค่กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลาง รวมถึงเป็นการสืบทอดเจตนารมณ์ของ อาจารย์ถนอม ชาภักดี นักปฏิบัติการทางศิลปะผู้ที่หัวแรงใหญ่ในการนำเรื่องประวัติศาสตร์ผีบุญที่บ้านสะพือขึ้นมาชำระ ถูกถ่ายทอดออกมาในรูปงานศิลปะให้ผู้คนได้รับทราบ นอกจากนี้ ตอนนี้กำลังมีการจัดสร้างห้องสมุดผีบุญ โดย คุณวิทยากร โสวัตร (พี่เจี๊ยบ) ใกล้กับร้านหนังสือฟิลาเดลเฟีย เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับผู้มีบุญให้กับประชาชนที่สนใจ โดยจะมีการจัดกิจกรรมและพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 13 มกราคม 2567 ที่จะถึงนี้

เรื่องที่เจ็ด นักโทษการเมืองเป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่จะไม่พูดถึงไม่ได้ การรัฐประหาร พ.ศ.2549 และการรัฐประหาร พ.ศ.2557 หรือการตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่ เหตุการณ์เหล่านี้ต่างทำให้ประชาชนจำนวนมากออกมาแสดงความคิดเห็นและเคลื่อนไหวทางการเมือง จนทำให้ผู้มีอำนาจรัฐใช้กฎหมายในการเล่นงานผู้ที่มีความเห็นต่างทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กฎหมายห้ามชุมนุม กฎหมาย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และกฎหมายอาญามาตรา 112 มีแกนนำและประชาชนจำนวนมากถูกฟ้องร้องด้วยกฎหมายดังกล่าว มีคดีติดตัวจำนวนมาก บางคนถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลานาน ตอนนี้ มีนายกคนใหม่ที่มาจากพรรคเพื่อไทย พรรคที่เคยต่อสู้เคียงข้างคนเสื้อแดง พรรคที่เคยถูกรัฐประหารยึดมาก่อน เราต้องมาดูกันว่าพรรคเพื่อไทยในฐานะผู้นำรัฐบาลในตอนนี้จะให้ความสนใจและใส่ใจกับนักโทษทางการเมืองมากน้อยเพียงใด กฎหมายนิรโทษกรรมที่กำลังพูดถึงตอนนี้จะออกไปในทิศทางใดเพื่อคนทั้งหมด หรือ เพื่อคนบางกลุ่ม อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือ ไม่ควรมีใครติดคุกเพราะมีความคิดเห็นต่างทางการเมือง

เรื่องที่แปด ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดในมหาวิทยาลัยในอีสาน นอกจากเยาวชนหลายท่านที่เคยเป็นแกนนำในการจัดการชุมนุมจะหันมาเล่นการเมืองในมหาวิทยาลัยผ่านการลงรับสมัครเลือกตั้งเป็นนายกสโมสรมหาวิทยาลัย สภานักศึกษามหาวิทยาลัย หรือ ของคณะที่ตนสังกัดแล้ว สิ่งหนึ่งที่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยในอีสาน คือ แนวโน้มการเข้ารับปริญญาของบัณฑิตที่จบการศึกษาน้อยลง ด้านหนึ่งอาจจะเป็นเพราะปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ใช้เวลาในการฝึกซ้อมนาน แต่อีกด้านหนึ่งเป็นเรื่องของอุดมการณ์ทางการเมืองที่แสดงออกชัดเจนมากขึ้นในการไม่เข้ารับปริญญา มากกว่านั้นในช่วงของการฝึกซ้อมรับปริญญา มีนักกิจกรรมหลายท่านถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงโทรหา หรือติดตามเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่แสดงออกทางการเมืองในช่วงงานรับปริญญา

เรื่องที่เก้า การสร้างเขื่อนภูงอยในแม่น้ำโขง เขื่อนดังกล่าวกำลังจะถูกสร้างในบริเวณตอนใต้เมืองปากเซ เมืองหลวงของแขวงจำปาสัก ฝั่งตรงข้ามกับ อ.โขงเจียม ที่ผ่านมาประเทศลาวได้ก่อสร้างเขื่อนพลังงานหลายสิบแห่งบนแม่น้ำโขงและแม่น้ำสายย่อยภายใต้วิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศให้เป็น แบตเตอรี่แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในการส่งออกกระแสไฟฟ้าไปขายให้กับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค เขื่อนภูงอยเป็นอีกโครงการหนึ่งที่รัฐบาลลาวเปิดให้บริษัทเอกชนของไทยเข้าไปลงทุนสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม ถึงแม้การสร้างเขื่อนเกิดขึ้นที่ประเทศลาว แต่ผลกระทบที่เกิดจากการสร้างเขื่อนดังกล่าวมาถึงฝั่งไทยอย่างแน่นอน นักวิชาการ ประชาชนหลายท่านได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่าการสร้างเขื่อนที่เกิดขึ้นจะทำให้มีคนลาวอีกเป็นจำนวนมากต้องสูญเสียที่ดินและอาชีพของตนเองและอพยพมาทำงานในฝั่งไทยมากขึ้น นอกจากนี้การสร้างเขื่อนยังเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศวิทยาของสัตว์น้ำทำให้สัตว์น้ำลดลง ปลาว่ายไปวางไข่ที่ต้นน้ำได้ยากเพราะติดเขื่อน มากกว่านั้น ยังจะส่งผลต่อการจัดการน้ำท่วมใน จ.อุบลราชธานีและในภูมิภาคอีสาน ถึงแม้จะมีการสร้างคลองผันน้ำสำเร็จก็ตาม แต่ถ้าเขื่อนทางฝั่งลาวที่อยู่ต่ำกว่าไม่เปิดเขื่อนระบายน้ำ น้ำจากคลองผันน้ำที่สร้างขึ้นไม่สามารถไหลลงแม่น้ำโขงได้ เพราะแม่น้ำในแม่น้ำโขงสูงกว่าเกิดปรากฏการณ์น้ำหนุนไหลเข้าท่วมที่ดินและบ้านเรือนของชาวบ้านที่อยู่บริเวณริมน้ำและคลองผันน้ำอีกแน่นอน

เรื่องสุดท้าย การขยายตัวของคนทำข่าวในอีสาน นอกจาก The Isaan Record ที่คอยบันทึกและถ่ายทอดเรื่องเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอีสานแล้ว ปีนี้มีสำนักข่าวน้องใหม่ที่ชื่อว่า LOUDER ที่กำลังมาแรงในตอนนี้ มากกว่านั้นในภูมิภาคอื่นๆ เช่น ภาคเหนือ มีสำนักข่าวที่ชื่อว่า Lanner หรือทางภาคใต้มีสำนักข่าวที่ชื่อ Wartani คอยเสนอข่าว ทำประเด็นสำคัญๆ  ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคของตนเอง อีกทั้ง ประชาชนหลายคนได้กลายเป็นนักข่าวเสียเองผ่านการ Live การเล่นเอกซ์ (ชื่อเดิม ทวิตเตอร์) และ Tiktok ยิ่งในช่วงของการหาเสียงเลือกตั้งเราจะเห็นการเกิดขึ้นของนักข่าวพลเมืองจำนวนมาก ที่คอยรายงานการดีเบตนโยบายในเวทีต่างๆ การจับตาการลงคะแนนเสียงและการนับคะแนนเสียงเลือกตั้งหลังจากปิดหีบ

การเกิดขึ้นของสำนักข่าวในท้องถิ่นหรือในภูมิภาค และการที่ประชาชนกลายเป็นนักข่าวจำนวนมาก เป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าของวงการสื่อสารมวลชน ที่ผ่านมาสำนักข่าวส่วนใหญ่จะอยู่ในกรุงเทพฯ รายงานแต่ประเด็นปัญหาการเมืองและเศรษฐกิจในระดับชาติเป็นหลัก แต่การเกิดสำนักข่าวในภูมิภาค หรือประชาชนช่วยกันนำเสนอข่าวและความคิดเห็นต่างๆ จะยิ่งช่วยส่งเสียงให้กับคนในภูมิภาคนี้ให้ดังยิ่งขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประชาธิปไตยผ่านการช่วยเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ปัญหาสังคม ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาที่เกิดจากการพัฒนาของรัฐ และการทำงานของนักการเมืองในระดับชาติและระดับท้องถิ่นในจังหวัดต่างๆ ให้คนได้รับทราบและเก็บเป็นข้อมูลเพื่อใช้ในการเลือกตั้งในรอบต่อไป 

ทั้งหมดนี้ก็เป็น 10 เรื่องราวที่ผมอยากบันทึกไว้ว่าใน 1 ปี ที่ผ่านมาอีสานของพวกเราผ่านอะไรมาบ้าง สุดท้ายสวัสดีปีใหม่ผู้อ่านทุกท่าน ขอให้อยู่ดีมีแฮงครับ

image_pdfimage_print