6 กุมภาพันธ์ 2567 – สมาชิกกลุ่มคบเพลิง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงทางมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เรียกร้องให้ทางมหาวิทยาลัยไว้วางใจและปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง จากกรณีที่ทางมหาวิทยาลัยเรียกไปสอบถามพูดคุยเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวและทำกิจกรรมทางการเมืองของกลุ่มคบเพลิง ในช่วงพิธีพระราชทานปริญญาบัตรที่จะจัดขึ้นในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 นี้

โดยหนึ่งในสมาชิก กลุ่มคบเพลิง ที่ใช้ชื่อเฟซบุ๊กว่า พงศธร กันทวงศ์ ได้โพสต์เนื้อหา ดังนี้

ถึง ผู้บริหาร มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ข้าพเจ้า นายพงศธร กันทวงค์ และนายกิตติภพ แก้วสุวรรณ์ (ทิว คบเพลิง)

ตามที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีมอบหมายให้คณะรัฐศาสตร์ เชิญไปข้าพเจ้าทั้งสองคนไปสอบถามพูดคุย ประเด็นกลุ่มที่ทำกิจกรรมทางการเมือง “กลุ่มคบเพลิง” เนื่องในจะมีพิธีพระราชทานปริญญาบัตรที่จะเกิดขึ้นวันที่ 8 กุมภาพันธ์นี้ ข้าพเจ้าไม่ได้คิดที่จะไปจัดกิจกรรมที่แสดงออกในงานแต่อย่างใด พวกท่านวางใจได้ 

มหาวิทยาลัยฯ ที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “สถาบันอุดมศึกษา” จำเป็นอย่างยิ่งที่จะมีบทบาทในการปกป้องเสรีภาพในทางวิชาการ เสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของนักศึกษา ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม หากต้องการให้มหาวิทยาลัยฯ อุดมไปด้วยการศึกษาที่เพิ่มสติปัญญา มี critical thinking การปกป้องเสรีภาพจึงเป็นสิ่งที่ละเลยไม่ได้ จึงอยากให้พึงระลึกไว้เสมอ เพราะข้าพเจ้าเชื่อว่าพวกท่านคือปัญญาชน

ทั้งนี้ พงศธร ให้สัมภาษณ์กับทาง The Isaan Record ว่า วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 ทางมหาวิทยาลัยมีรายชื่อของสมาชิกกลุ่มคบเพลิง ประสานให้ทางคณะรัฐศาสตร์ เรียกนักศึกษาในรายชื่อไปพูดคุยกับคณบดีและอาจารย์ ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โดยทางมหาวิทยาลัยได้สอบถามว่าจะมีการจัดกิจกรรมการแสดงออกทางการเมืองในช่วงพิธีพระราชทานปริญญาบัตร วันที่ 8 กุมภาพันธ์ หรือไม่ โดยได้พูดคุยเป็นเวลา 2 ชั่วโมง พงศธรกล่าวว่า เนื้อหาพูดคุยไม่ได้มีเพียงประเด็นการเมือง แต่ยังสอบถามความคิดเห็นความเห็นว่าอยากให้ทางคณะปรับปรุงอะไรบ้าง

“แม้จะประจวบเหมาะกับช่วงข่าว พ.ร.บ. นิรโทษกรรม แต่พวกเราไม่ได้มีแพลนที่จะแอคชั่นใดๆ ในช่วงรับปริญญา เพราะปกติจะมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาติดตามเราอยู่แล้ว ปกติเราไม่สามารถทำอะไรได้ในช่วงรับปริญญาทุกๆ ปี แต่ปีนี้ไม่แน่ใจว่าจะโดนติดตามหรือไม่ และโดนมหาวิทยาลัยเรียกไปคุยก่อน ซึ่งรอบนี้มีรายชื่อเพิ่มมาอีก 3 คน  

“ซึ่งการเรียกเข้าไปพูดคุยหรือการมีตำรวจตามไปที่บ้านถือเป็นวิธีการข่มขู่คุกคามอย่างนึง ผมอาจจะรู้สึกชินแล้ว แต่สำหรับบางคนที่โดน หลายคนมีความรู้สึกกังวล

“ทางมหาวิทยาลัยควรจะปกป้องเสรีภาพการแสดงออกของนักศึกษา ผมไม่อยากให้ตื่นตระหนกตามหน่วยงานอื่นๆ มากเกินไป การที่นักศึกษามีเสรีภาพในการพูดการคิด ทำให้ความคิดมันงอกงามหลากหลายไม่ใช่คิดหรือพูดแบบเฉพาะที่รัฐอยากให้เป็น”  พงศธร กล่าว 

image_pdfimage_print