หลังเดินเลาะโขงจาก อ.เชียงคาน จ.เลย เข้าสู่ จ.หนองคาย ภารกิจสำรวจลำน้ำโขง ของบาส – ปรมินทร วัฒน์นครบัญชา ภารกิจยกแรกใช้เวลา 22 วัน ก่อนจะพักเนื่องจากใช้เวลาส่วนหนึ่งเพื่อสานความฝันของกลุ่มหัวใจเดียวกันเพื่อร่วมกิจกรรมรณรงค์อุดมการณ์ตามตารางเวลาที่ถูกจัดสรรไว้ ซึ่งในวันนี้หลังจากบทความนี้เผยแพร่ บาส – ปรมินทร์ น่าจะได้เริ่มภารกิจยกที่สองกิจกรรมเดินเลาะน้ำโขงต่อเนื่องจากตัวเมืองหนองคายมุ่งสู่ อ.โพนพิสัย ต่อไปตามเส้นทางที่แม่น้ำโขงไหลผ่านเพื่อไปจบที่ จ.อุบลราชธานี

บาส – ปรมินทร์ วัฒน์นครบัญชา เล่าเรียนจบคณะสัตวแพทยศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจบออกมายังไม่ได้มีโอกาสทำงานตามสาขาที่เรียนจบ แต่กลายเป็นคนชอบตั้งคำถามและสะสมความคิดต่อสังคมถึงการเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ รวมไปถึงคำถามเกี่ยวข้องกับวัฏจักรการดำรงอยู่ของมนุษย์อย่างยั่งยืน 

ภายหลังเขาบินไปเรียนต่อด้านการตลาดต่างประเทศ ทำให้บาส – ปรมินทร์ เริ่มค้นหาการดำรงอยู่ของเพื่อนมนุษย์และธรรมชาติโดยการเดินย่ำไปเรื่อยๆ ในประเทศต่างๆ ในหลายทวีปทั่วโลก ใช้การพูดคุย แลกเปลี่ยน สังเกต วิเคราะห์  แยกแยะสิ่งรอบตัวอย่างจริงจัง เก็บเป็นข้อมูลเป็นการสะสมความคิดอย่างไม่มีแบบแผน แต่มีกลไกลสร้างระบบเพื่อก่อให้เกิดชุดความคิดใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภูมิประเทศ พืช สัตว์ สิ่งของรอบตัวตลอดจนผู้คนนิสัยใจคอ ใช้พื้นที่และเวลาเดินสำรวจไม่มีการจำกัดระยะทาง และภูมิประเทศ 

The Isaan Record มีโอกาสนั่งสนทนากับ บาส – ปรมินทร์ ก่อนที่จะเริ่มเดินในระยะที่ 2 ที่ จ.หนองคาย
บาส – ปรมินทร์ วัฒน์นครบัญชา กับภารกิจยกแรกใช้เวลา 22 วัน เดินเลาะแม่น้ำโขงเพื่อสะสมความคิด

จากการเลาะเดินน้ำโขง 22 วัน ที่ผ่านมา เขาได้ชุดความคิดและประสบการณ์มาถ่ายทอดต่อคำถามที่ใครๆ ต้องถามว่า ทำไมต้องมาเลาะเดินแม่น้ำโขง เราได้รับคำตอบอย่างน่าสนใจในมุมมองของเขาว่า “หลังจากเดินในต่างประเทศได้เรียนรู้ สะสมความคิด ก่อให้เกิดชุดความคิดใหม่ว่า เราในฐานะคนไทยเราไม่รู้จักภูมิประเทศตัวเองเลย เราไม่เข้าใจชุมชนของเรา เราไม่เข้าใจว่าเขาคิดอะไร ทั้งๆ ที่เราเป็นคนไทย ความคิดไม่ใช่มันเพิ่งเกิดนะ มันสะสมมาเรื่อยๆ เลย กลายเป็นความกล้า ความเชื่อใจและลงมือทำ 

“แล้วทำไมต้องเป็นแม่น้ำโขง? ผมมองว่าแม่น้ำโขงคือกล่องมหาสมบัตินะ เสมือนนิเวศบริการ หรือธรรมชาติควบคุม เขาคือผู้ให้ ชาวบ้านสามารถจับปลาได้ มีพืชต่างๆ สร้างรายได้ มีวงจรชีวิตมีการปลูกฝ้ายริมโขงเพื่อนำไปถักทอเสื้อ มีการเดินเรือ มีชีวิตริมน้ำโขงและที่น่าทึ่ง มีความเชื่ออย่างพญานาค นอกนั้นยังก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ในการใช้เครื่องมือในการจับปลา รวมถึงมีความหลากหลายทางชีวภาพ”


“ถ้าเรารับฟังกัน สังคมย่อมไปต่อได้” บาส – ปรมินทร์ วัฒน์นครบัญชา กล่าวไว้

บาส – ปรมินทร์ ขยายความถึงชุดความคิดในการเดินเลาะริมโขง “สิ่งมหัศจรรย์ของโลกไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติ อารยธรรมต่างๆ ที่น่าสนใจ เราก็ทำมันไปเรื่อยๆ ถึงแม้ไม่ได้เรียนจบทางด้านนี้ แต่เรามีจุดเริ่มต้นจากการดูนก เป็นสิ่งง่ายๆ ทำได้ทุกวันยิ่งเราสนใจเราจะลงลึก กลายเป็นสนใจเรื่องของโครงสร้าง เช่น เราเห็นนกตัวหนึ่งเราเอ๊ะ… ทำไมมาอยู่ตรงนี้มันเกิดคำถาม แล้วมันกินอะไร จากนั้นเริ่มไปดูต้นไม้ มันออกผลฤดูไหน มีหนอนแมลงแบบไหน ก็เริ่มสนใจสรรพสิ่งรอบตัว จากระบบนิเวศมาสู่ระบบโครงสร้าง ผมให้ความสำคัญกับประสบการณ์ตรงกับสิ่งนั้นมากๆ เราสนใจระบบนิเวศ เราไปนั่งสังเกตุบางจุดนั่งเป็นชั่วโมง ได้เห็นได้สัมผัสการเปลี่ยนแปลงการเคลื่อนไหวของธรรมชาติในรูปแบบของธรรมชาติควบคุม” 

ที่ผ่านมา ทีมงาน  The Isaan Record จ.หนองคาย ร่วมเดินเกาะติดเลาะน้ำโขงของ บาส – ปรมินทร์ นักกิจกรรมดังกล่าวเพื่อค้นหาคำตอบชุดความคิดบางอย่างที่อยู่ใต้จิตสำนึกของคนคนหนึ่งพบว่า ทุกย่างก้าวตามเส้นทางริมน้ำโขงเป็นเสมือนการแลกเปลี่ยนลมหายใจ ระหว่างชาวบ้านคนริมชายโขง ธรรมชาติ แม่น้ำโขง ภูเขา ป่า สัตว์น้ำ กุ้ง หอย ปู และปลา เหล่าบรรดาระบบนิเวศวิทยา ในบางช่วงจังหวะ เราพบ บาส – ปรมินทร์ พยายามเชื่อมโยงความรู้สึกการขึ้นลงของน้ำโขงด้วยการ ลงไปนั่งนิ่งๆ แช่น้ำโขงเป็นชั่วโมง เสมือนการจับสัญญาณชีพอะไรบางอย่าง 


ลงพื้นที่สำรวจในวันที่แม่น้ำโขงเหือดแห้งเหลือแค่เม็ดทรายทุกสรรพสิ่งล้วนต้องปรับตัว

ทุกเส้นทางที่เดินผ่าน บาส – ปรมินทร์ จะแวะพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อพัฒนาชุดความคิด

ความตั้งใจและมุ่งมั่นในการเดินเลาะน้ำโขงตลอด 22 วันที่ผ่านมาของ บาส – ปรมินทร์ วัฒน์นครบัญชา เจ้าตัวปฏิเสธคำว่า “นักกิจกรรมเพื่อสังคม” แต่ขอให้ใช้คำว่า “คนที่สนใจแม่น้ำโขง” เท่านั้น กิจกรรมที่คนสนใจแม่น้ำโขง คนนี้เสมือนถูกจัดวางอย่างลงตัวในช่วงจังหวะของโครงการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าแม่น้ำโขงหลวงพระบางที่เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ต้นปี 2563 กั้นแม่น้ำโขงที่บ้านห้วยโง เมืองจอมเพ็ด แขวงหลวงพระบาง อยู่เหนือจากปากแม่น้ำอู 4 กิโลเมตร ห่างจากเขื่อนไชยะบุรี 130 กิโลเมตร ซึ่งขณะนี้มีการก่อสร้างไปแล้ว 25% และคาดว่าจะสามารถเปิดขายไฟได้ต้นปี 2573

เรื่องนี้เป็นกระแสที่ทำให้บรรดาเหล่าคนชายโขงมีการกล่าวถึงผลกระทบต่อวิถีชีวิตเป็นวงกว้าง เขื่อนทำให้แม่น้ำโขงและวิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงไปอย่างน่าใจหาย

“ผมไม่อยากสรุปปัญหาลำน้ำโขงเพียงอย่างเดียว เพราะรู้สึกว่าไม่มีใครอยู่กับปัญหา น้อยคนมากที่อยากจะรู้ปัญหา ปัญหาชีวิตตัวเองยังหนีเลย นับประสาอะไรกับปัญหาสาธารณะ แต่ในขณะเดียวกันเราต้องกล่าวถึง ผู้คนต้องไม่ซุกปัญหา เล่าเรื่องที่เขาได้รับผลกระทบจากการลดลงของปลาในแม่น้ำโขง หลายคนที่เราได้สัมผัสเขามีความกล้าที่จะพูด เขาเป็นพวกไทบ้าน หลายคนบอกว่าอย่าไปพูดเลย เปลี่ยนอะไรไม่ได้ แก้ไขไม่ได้มันเป็นเรื่องระดับประเทศ เป็นเรื่องนโยบาย แต่ถ้าคุณไม่พูดปัญหาของคุณแล้วมันจะได้รับการแก้ไข ผมเชื่อมากกับคำว่าต้องเริ่มที่ตัวเองก่อน เราควรยืนหยัดตัวเราเองก่อน การแย่งชิงทรัพยากรจากแหล่งทุนมันเป็นปัญหาที่ทำให้รู้สึกถึงความไม่เป็นธรรม การที่พบเห็นทรัพยากรสาธารณะถูกแย่งชิงจากทุนไม่กี่กลุ่ม เราต้องมีปากเสียง ในที่สุดแค่ฟังกันสังคมก็สามารถที่จะไปต่อได้”


วัด ตามเส้นทางผ่านคือสถานที่พักนอนค้างแรมโชคดีมีอาหารหลงเหลือได้รองท้อง


กระบวนการพูดคุยสอบถามแลกเปลี่ยนความรู้ชาวบ้านคือหัวใจหลักในการเดินโขง

จากการแลกเปลี่ยนมุมมองของ บาส – ปรมินทร์ คนที่สนใจแม่น้ำโขงแล้ว ยังพบอีกว่า เขามีความพิเศษด้านความคิด การกระทำ ทุกย่างก้าวของภารกิจ การเดินเลาะน้ำโขง เพื่อสะสมชุดความคิดสิ่งที่เราประจักษ์ในสายตาคือ ความอ่อนน้อมถ่อมตน และความเคารพต่อธรรมชาติตลอดเส้นทาง ให้ความสำคัญและมีความสงสัยระบบนิเวศ รวมทั้งค้นหาความรู้จากชาวบ้านหรือผู้รู้ในพื้นที่นั้น

“บนโลกใบนี้เรื่องระบบนิเวศมันมีความเฉพาะพื้นที่ มันมีการปรับสภาพ ปรับพฤติกรรมให้เข้ากับสภาพแวดล้อมอย่างชัดเจน ผมเชื่อในความพิเศษเหล่านี้ เหมือนกับคนก็แตกต่างหลากหลาย เกิดมาร้อยพ่อพันแม่รูปแบบการเลี้ยงดูแตกต่างกัน สังคมที่แตกต่างกัน ต้นทุนชีวิตที่แตกต่างกัน ธรรมชาติตามลำน้ำโขงก็เช่นกัน มีการปรับเปลี่ยนเปลี่ยนแปลง ตามสภาพแวดล้อม คนริมแม่น้ำโขงก็มีการปรับเปลี่ยนปรับตัวมันเป็นพลวัตที่น่าศึกษา”


ร่องรอยพันธุ์ไม้น้ำหลงเหลือยามหน้าแล้งแม่น้ำโขงที่รอวันกลับมาเขียวชอุ่มมีชีวิตอีกครั้ง


สภาพมุมกว้างของแม่น้ำโขงที่เหือดแห้งตามเส้นทาง จ.หนองคาย ในวันที่เขื่อนประเทศเพื่อนบ้านผุดเป็นดอกเห็ด

บาส – ปรมินทร์ เลือกที่จะเดินเลาะแม่น้ำโขงตลอด 22 วัน และจะไปต่อเรื่อยๆ ตลอดเส้นทางจังหวัดที่แม่น้ำโขงไหลผ่าน เขารู้สึกตื่นตาตื่นใจทุกครั้งที่จะเรียนรู้สิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว จากการที่เขานำตัวเองลงไปนั่งอยู่ตรงจุดนั้น และสังเกตุเม็ดทรายในบางช่วงของลำน้ำโขงที่เหือดแห้งในช่วงฤดูร้อน สิ่งเหล่านี้เรียกว่าประสบการณ์ตรงที่คนสนใจแม่น้ำโขงอยากเรียนรู้ที่อยู่ตรงหน้า โดยไม่ผ่านตำรา ไม่ผ่านคำบอกเล่าไม่ต้องผ่านกูเกิ้ล สามารถเรียนรู้เข้าใจได้อย่างลึกซึ้ง และนี่คือคำตอบที่ว่าทำไมเลือกทีจะเดินเพราะมันมีความช้าพอที่จะได้สังเกตสิ่งเหล่านี้อย่างลึกซึ้งนั่นเอง


บาส – ปรมินทร์ ในวันที่มีพ้องเพื่อนพี่น้องออกมาแสดงออก เดินเลาะแม่น้ำโขง


ในวันที่แม่น้ำโขงเหือดแห้ง ลูกพันธุ์ปลาที่พบเจอจะบันทึกเก็บเป็นข้อมูลสำคัญ ก่อนปล่อยให้มันเป็นไปตามวัฏจักร



เหนื่อยก็พักตามระยะทางถึงแม้อากาศร้อนแต่ริมชายโขงใต้ต้นไม้คือโอโซชั้นยอด

บทสนทนาส่งท้ายระหว่าง The Isaan Record จ.หนองคาย กับบาส – ปรมินทร์  วัฒน์นครบัญชา ก่อนที่จะเริ่มภารกิจระยะที่ 2 กับการเดินเลาะแม่น้ำโขงอีกหลายจังหวัดเพื่อไปสิ้นสุดที่อุบลราชธานีโดยมีระยะทางอีกหลายร้อยกิโลเมตรอยู่เบื้องหน้า เราถามเขาว่า มีความรู้สึกอย่างไรต่อคำถามที่ว่า มาเดินเพื่ออะไร? 

“ผมรู้สึกเหมือนโดนประทับตราว่าเราเหมือนพวกนักวิชาการ ไม่รู้อะไรหรอก ซึ่งเราก็รู้สึกเฉยๆ นะ เสียงสะท้อนนี้ชัดเจนพอสมควรสำหรับในพื้นที่ ก็กูมาเดินนี่ไง ไม่ได้เอาวิชาการ แค่อยากจะรู้ มีคำพูดที่อ้างอิงจากตำรา มาคุยกับเรา คิดว่าเราเชื่อตำรา หรือคำพูดที่เราได้ยินว่าพวกวิชาการมันไม่รู้หรอก ผมว่าเหมือนมีการกีดกันทางความรู้ ความรู้ทางตำราแบบหนึ่ง ความรู้ทางภูมิปัญญาอย่างหนึ่ง เราต้องพยายามมองว่าความรู้ก็คือความรู้ ต้องหาทางให้เข้ากันได้ อะไรแย้งกันก็วางไว้ก่อนแล้วมาหาทางถกกันเพื่อหาทางออกร่วมกัน”

image_pdfimage_print