เทือกเขาภูแลนคา เป็นแนวเขาที่ทอดตัวเป็นแนวยาว กินพื้นที่ครอบคลุมตั้งแต่ อ.ภูเขียว แก้งคร้อ เมืองชัยภูมิ เกษตรสมบูรณ์ หนองบัวแดง และ อ.บ้านเขว้า จ.ชัยภูมิ เป็นป่าต้นน้ำสายหลักของภาคอีสาน คือ ต้นน้ำแม่น้ำชี แม่น้ำลำปะทาว และแม่น้ำน้อยใหญ่อีกจำนวนมาก มีลักษณะเป็นพื้นที่ภูเขาสูงสลับซับซ้อน บางส่วนเป็นที่ราบเชิงเขา ทุ่งหญ้า ป่าเต็งรัง ป่าดิบฝน จัดอยู่ในภูมิอากาศฝนเมืองร้อนมี 3 ฤดู คือ ฤดูร้อนจะอยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – พฤษภาคม ฤดูฝนเกิดขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายน – กันยายน และช่วงฤดูหนาวจะอยู่ระหว่างเดือนตุลาคม – มกราคมของทุกปี 

ที่ผ่านมาตลอดแนวเทือกเขาภูแลนคา ได้มีการแบ่งพื้นที่เพื่อการบริหารจัดการออกเป็นหลายส่วนด้วยกัน ทั้งภาครัฐ และภาคประชาชน ประกอบไปด้วยอุทยานแห่งชาติภูแลนคา อุทยานแห่งชาติตาดโตน เขตป่าอนุรักษ์ และป่าชุมชน

ซูเปอมาร์เก็ตขนาดใหญ่ แหล่งอาหารของชุมชน

เทศบาลตำบลธาตุทอง อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ มีเขตป่าชุมชนที่อยู่ในความรับผิดชอบประมาณ  6,325 ไร่ ประกอบด้วย ป่าภูหลง ป่าภูหยวก และป่าชุมชน หมู่ 3 หมู่ 7 ลักษณะเป็นป่าดิบภูเขา และยังเป็นหนึ่งในป่าต้นน้ำลำประทาว น้ำตกตาดโตน ก่อนไหลไปรวมกับแม่น้ำชี เป็นผืนป่าขนาดใหญ่กินพื้นที่ไปหลายอำเภอ มีความอุดมสมบูรณ์ประกอบไปด้วย พันธ์ไม้ป่านานาชนิด เช่น ไม้ตะเคียน ไม้มะค่าแต้ (มีต้นมะค่าแต้ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย) ไม้มะค่าโมง ไม้พยุง ไม้ยางนา รวมไป ถึงสมุนไพรพื้นถิ่น ฯลฯ และสัตว์ป่านานาชนิด อยู่บนเทือกเขาภูหยวกและเทือเขาภูแลนคา ป่าชุมชนที่มีมากกว่า 6 พันไร่ ชาวบ้านในพื้นที่ใช้ประโยชน์หลากหลายรูปแบบ ทั้งการเข้าไปหาอยู่หากิน การเข้าไปใช้ประโยชน์จากไม้ และประโยชน์รูปแบบอื่นๆ ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นแหล่งอาหารสำคัญสำหรับชาวบ้าน ที่ดูแลทั้งเรื่องปากท้อง และรายได้จากการหาของป่าเล็กๆ น้อยๆ 

เมื่อมีการใช้ประโยชน์ ปัญหาต่างๆ ก็ตามมา โดยเฉพาะการเข้าไปใช้ประโยชน์ที่ไม่สอดคล้องกับการอนุรักษ์และดูแลแหล่งอาหารของบางคน ซึ่งสงผลกระทบโดยรวมต่อประชาชนในพื้นที่ที่มีความพยายามที่จะบริหารจัดการผืนป่าแบบมีส่วนร่วมและยั่งยืน สาเหตุหนึ่งทำให้มีการบุกรุกหาผลประโยชน์ของนายทุน และนายพรานป่าที่เข้ามาล่าสัตว์ ทำให้เกิดภัยพิบัติ  เช่น  ไฟไหม้ป่า เมื่อประมาณ ปี 2559 จากการบุกรุก จนนำมาซึ่งการห้ามใช้พื้นที่ป่าจากหน่วยงานภาครัฐ 

ย้อนไทม์ไลน์ความเสียหายบนผืนป่ามากกว่าหมื่นไร่ 

ปี พ.ศ.2559 เกิดไฟไหม้ป่าชุมชนที่มีความรุนแรง ซึ่งสร้างความเสียให้ผืนป่า จำนวนเกือบ 3,000 ไร่ รวมถึงการเกิดมลพิษทางอากาศ มีฝุ่นละออง ควันไฟ เต็มบริเวณพื้นที่ ประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบ เช่น เกิดอากาศแสบ คัดจมูก ไม่สามารถนำน้ำฝนมาใช้ในการอุปโภค บริโภคได้

15 กุมภาพันธ์ 2563 ป่าภูหลง เทือกเขาภูแลนคา บริเวณ ต.ธาตุทอง เกิดไฟป่าขึ้นซ้ำอีกครั้งคาดว่าความรุ่นแรงเทียบเท่าเมื่อ 5 ปีก่อน หรือ เท่าปี 2559 ผืนป่าถูกไฟเผาวอด ต้นไม้น้อยใหญ่ตาย เสียหายไปมากกว่า 1,300 ไร่ 

การบุกรุกป่า ด้วยพื้นที่ป่าชุมชนของเทศบาลตำบลธาตุทอง มีความอุดมสมบูรณ์ ประกอบไปด้วยพันธุ์ไม้ป่านานาชนิด เช่น ไม้ตะเคียน ไม้มะค่าแต้ (มีต้นมะค่าแต้ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย) ไม้มะค่าโมง ไม้พยุง ไม้ยางนา รวมไป ถึงสมุนไพรพื้นถิ่น ฯลฯ และสัตว์ป่านานาชนิด ทำให้ประชาชนจากภายนอกเข้ามาหาของป่าและเกิดการทำลายทรัพยากร รวมทั้งมีนายทุนและนายพรานป่าที่เข้ามาล่าสัตว์อยู่เสมอจนทำให้เกิดผลกระทบ และความเสียหายกับป่าชุมชนเป็นบริเวณกว้าง เกือบ 500 ไร่

การห้ามใช้พื้นที่ป่าจากหน่วยงานภาครัฐ พื้นที่ป่าภูหลงเป็นส่วนหนึ่งในป่าที่ต้องอนุรักษ์ให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติและมีการห้ามประชาชนเข้ามาหาบุกรุก หรือผลประโยชน์ในพื้นที่ป่าดังกล่าว บ้านตาดรินทอง หมู่ที่ 6 และบ้านตาดภูทอง หมู่ที่ 12 ตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าภูหลง ประชาชนส่วนใหญ่ใช้เป็นพื้นที่ทำมาหากิน เพื่อการดำรงชีวิต แต่ด้วยข้อกฎหมายที่ห้ามไม่ให้ประชาชนเข้ามาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับประชาชนในพื้นที่ 

จากการช่วยเหลือจากพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ทำให้ความขัดแย้งดังกล่าวยุติลง คนในชุมชนจึงสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน รวมถึงมีการกำหนดห้วงเวลาใน การงด หรือห้ามเข้าไปหาของป่า เช่น หน่อไม้ เห็ดนานาชนิด ของคนในพื้นที่และนอกพื้นที่ ในช่วงเดือนกันยายน – ตุลาคม เพื่อเป็นการอนุรักษ์ให้ผืนป่าได้ฟื้นฟูตัวเอง โดยมีการตั้งด่านตรวจ จุดสกัด ของคณะกรรมป่าชุมชนในแต่ละหมู่บ้าน ในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นประจำทุกปี

จุดเริ่มต้นของการฟื้นฟู หลังจากเกิดไฟป่าขนาดใหญ่ เมื่อผืนป่าถูกเผาวอดไปทั้งผืน 

ไฟป่าครั้งใหญ่ ได้เผาทำลายต้นไม้น้อยใหญ่จนโล่งเตียน เหลือเพียงร่องลอยเถ้าถ่านจากการไหม้ของต้นไม้น้อยใหญ่ การฟื้นฟูจึงจำเป็นต้องเริ่มจากการฟื้นฟูดิน พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่ามหาวัน ซึ่งตั้งอยู่ติดกับจุดเกิดเหตุอย่างผืนป่าภูหลง ได้เริ่มต้นรวบรวมแรงศรัทธาจากชาวบ้านในพื้นที่ เข้าสำรวจความเสียหายและวางแผนการจัดการฟื้นฟูผืนป่า นำชาวบ้านหว่านถั่วหลากบหายสายพันธุ์ที่ได้รับการบริจาคมาเพื่อทำการปรับสภาพหน้าดิน พร้อมกับปลูกต้นไม้ และดำเนินกิจกรรมฟื้นฟูมาโดยตลอด ทั้งการปลูกป่า ดูแลพื้นที่ ทำแนวกันไฟ และสร้างเครือข่ายจิตอาสาเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่า

สราวุธิ พันสาง เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า หน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้ภูเขียว กรมป่าไม้ หรือ เต่า ผู้พิทักษ์ไพรลูกหลานชาวบ้านตาดรินทอง ที่เกิดมาพร้อมๆ กับผืนป่าภูหลงที่เต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์และหลากหลายทางด้านชีวภาพแห่งนี้ เต่า เป็นคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ที่เดินทางแสวงหาความรู้และเข้าสู่สังเวียนของการเป็นพนักงานในบริษัทขนาดใหญ่ เฉกเช่นหนุ่มสาวรุ่นราวคราวเดียวกัน เขาเดินทางไปทำงานในบริษัทรับเหมาก่อสร้างชื่อดังด้วยวุฒิการศึกษา ปสว.สาขาช่างยนต์ แต่ทำได้ไม่ถึงครึ่งปีเขาตัดสินใจหวนคืนบ้านเกิดที่ผูกพันและอิงวิถีอยู่กับผืนป่าภูแลนคาแห่งนี้ ด้วยเหตุผลเฉพาะตัวว่า “ไม่ใช่แนวทางของการใช้ชีวิต” จึงกลับมาอยู่ที่บ้านเลี้ยงวัว ทำให้ได้เข้าร่วมกิจกรรมชุมชนอยู่เสมอ คลุกคลีพื้นที่มาตลอด  

เริ่มต้นเข้ามาทำงานพิทักษ์ผืนป่าที่เป็นแหล่งอาหารของชุมชนตัวเองเมื่อปี 2548 ในการเป็นอาสาสมัครร่วมกับเพื่อนๆ ชาวบ้านในการดูแล รักษาผืนป่าบ้านเกิดของตัวเอง และพบว่า งานพิทักษ์ที่เขาเริ่มเข้ามาทำนั้นเป็นทางที่เขาต้องการและรักษ์ จึงเริ่มต้นทำงานอาสาพิทักษ์แบบเต็มตัวและสมัครเข้าสอบเป็นพนักงานพิทักษ์ป่าของกรมป่าไม้ จนได้บรรจุและทำงานในพื้นที่บ้านเกิดของตัวเองที่ผูกพันมาตั้งแต่เกิด 

เต่า เล่าว่า สภาพผืนป่าภูหลง และป่าในแนวเทือกเขาภูแลนคา ก่อนปี 2559 ที่จะเกิดไฟไหม้ป่าครั้งใหญ่ มีสภาพเป็นป่าดงดิบขนาดเล็กๆ เป็นจุดๆ เข้าไปในป่าจะไม่โดนแดดเลย มีความดิบชื้น อุดมสมบูรณ์ พอเกิดเหตุไฟป่าในช่วงปี 2559 – 2560 ต่อเนื่องมาโดยตลอด ทำให้พื้นที่ดิบเหล่านั้นเหลือเพียงเศษซากแห่งเถ้าถ่าน เท่านั้น 

“เราเคยเห็นพื้นที่ที่เป็นป่าดิบมาก่อน แต่พอมาเจอภาพป่าแบบนี้เราถึงกับช็อก”

 วางระบบน้ำบนแนวกันไฟ เชื่อมโยงให้เกิดระบบน้ำบนภูเขาเพื่อใช้ในการดับไฟป่าได้ทันท่วงที

สร้างฝายชะลอและกักเก็บน้ำจากร่องเขา เกิดเป็นสระกักเก็บน้ำขนาดใหญ่เป็นจุดๆ ตามแนวล่องเขาเพื่อเป็นแหล่งกักเก็บน้ำฝนให้มารวมกันไว้เป็นแหล่งน้ำต้นทุน โดยเกิดเป็นแหล่งน้ำต้นทุน ณ ปัจจุบัน จำนวน 4 แหล่ง และมีบ่ออยู่ 5 บ่อ ติดตั้งถัง  1,000 ลิตร พร้อมวางแนวท่อน้ำเป็นจุดๆ โดยมีระยะการกระจายน้ำครอบคลุมประมาณ 1-2 กิโลเมตร  

เมื่อก่อนมีปัญหาเรื่องการนำน้ำจากด้านล่างเข้าไปดับไฟ ด้วยระยะทางที่ไกล ทำให้ไม่ทันต่อสถานการณ์จึงมีการจัดวางถังกักเก็บน้ำกระจายออกไปเพื่อย่นระยะทางการลำเรียงน้ำขึ้นมาพร้อมๆ กับการสร้างท่อน้ำเพื่อกระจายในพื้นที่ใกล้เคียง ปัจจุบันมีกระจายอยู่ทั้งแนวป่าด้านนอกและป่าชั้นในมากกว่า 30 ถัง ทำให้มีน้ำในการจัดการกับไฟป่าเพิ่มมากขึ้น 

ขณะที่แนวป่าชั้นในหรือป่าโซนที่ยังคงมีความดิบชื้น สมบูรณ์อยู่ปัจจุบันได้มีการวางแนวส่งน้ำด้วยท่อพีอี เข้าไปและติดตั้งสปริงค์เกอร์กระจายน้ำ ซึ่งหลังจากการติดตั้งเสร็จพบว่าเป็นวิธีการที่ตอบโจทย์และมีประสิทธิภาพมาก ตอบโจทย์ปัญหาเรื่องแรงงานคนที่มีอาสมัครไม่เพียงพอตอผืนป่าที่ค่อนข้างใหญ่มาก ใช้คนน้อย มีความรวดเร็ว สามารถบล็อกโซนที่ยังเป็นป่าดิบอุดมสมบูรณ์ไว้ได้อย่างดี ซึ่งมีพื้นที่อยู่ราวๆ 821 ไร่เศษ

จัดตั้งจุดกระจายน้ำหรือสถานีเติมน้ำใส่รถดับเพลิง และอุปกรณ์ขนถ่ายน้ำ ปัจจุบันมีกระจายอยู่ประมาณ 6 สถานี โดยใช้ระบบกาลักน้ำ ถ่ายโอนน้ำจากแหล่งหรือบ่อกักเก็บต้นทุนจากที่สูงลงมายังที่ต่ำ ซึ่งมีการสร้างจุดหรือสถานีเติมน้ำเอาไว้ และจะมีทีมอาสาสมัครและเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าสลับสับเปลี่ยนกันลาดตระเวนตรวจสอบระดับน้ำอยู่ตลอด เพื่อกระจายน้ำให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ทุกบ่อกักเก็บน้ำต้นทุน 

แสวงหาความร่วมมือจากเครือข่าย ระดม อปท.รอบเทือกเขาภูแลนคาออกแบบ วางแผนการทำงานร่วมกัน 

ไพบูลย์  บุญโยธา รักษาราชการแทนปลัดเทศบาลตำบลธาตุทอง อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เนื่องจากป่าภูหลงและป่าชุมชนที่อยู่ในความรับผิดชอบของเทศบาล มีวัดป่ามหาวัน โดยพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล เป็นผู้ชักชวนชาวบ้านให้มีการลุกขึ้นมาปลูกป่า ฟื้นฟู รักษาป่าต้นน้ำมาโดยตลอด ด้วยความมุ่งหมายที่จะทำให้ป่ากลับมามีความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง แต่ด้วยการทำงานในเรื่องนี้จำเป็นจะต้องแสวงหาความร่วมมือ และแนวทางการขับเคลื่อนร่วมกันในทุกๆ ภาคส่วน โดยเฉพาะภาคการทำงานของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งมีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการจัดการและดูแลรักษาป่าในเขตรับผิดชอบ 

ที่ผ่านมาไม่ได้มีการร่วมวางแผน ร่วมกันออกแบบอย่างเป็นระบบ และร่วมกันกำหนดเป้าหมายทิศทาง แลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ทำให้การทำงานเรื่องนี้ยังไปไม่ถึงเป้าประสงค์ของการรักษาฟื้นฟูผืนป่า จึงได้มีการทำบันทึกข้อตกลงกันระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้อวงถิ่นรอบๆ ป่าภูหลง เทือกเขาภูแลนคา ในการทำงานร่วมกันรอย่างเป็นระบบ มีแบบแผนและทิศทางร่วมกัน

สสส. โดยสำนักสุขภาวะชุมชน หนุนเสริมเครื่องมือและงบประมาณบางส่วนเพื่อให้เกิดการทำงานร่วมของเครือข่าย อปท.

ศูนย์จัดการเครือข่ายเทศบาลตำบลธาตุทอง โดยการหนุนเสริมจากสำนักสุขภาวะชุมชน สำนัก3 สสส.  ได้มีการดำเนินงานพัฒนาศักยภาพกลไกพื้นที่ (4 องค์กรหลัก) โดยมีการทบทวนแต่งตั้งกลไกการบริหารจัดการพื้นที่ ซึ่งได้มีการจัดประชุมคณะทำงาน พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย 4 องค์กรหลัก ซึ่งประกอบไปด้วย

1. ท้องถิ่น เช่น เทศบาลตำบลธาตุทอง โดยมีส่วนในการพัฒนาศักยภาพบุคลากร ทีมวิชาการ ให้มีองค์ความรู้เกี่ยวกับการ บริหารจัดการระบบภูมินิเวศ ข้อกำหนดและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง สามารถให้คำแนะนำและถ่ายทอดความรู้ให้กับคนในชุมชนและร่วมออกแบบการพัฒนางานในพื้นที่ รวมถึงสร้างศักยภาพในการให้การสนับสนุนงบประมาณ และวัสดุอุปกรณ์ในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ

2. ท้องที่ เช่น คณะกรรมการหมู่บ้าน คณะกรรมการป่าชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้นำชุมชน ประกอบด้วย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครต่างๆ ให้มีความรู้ความเชียวชาญ สามารถสร้างผู้นำรุ่นใหญ่ ทั้งในระดับพื้นที่และเครือข่าย ในการปกป้อง รักษา รวมถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ โดยเฉพาะป่าชุมชน เช่น ทักษะการสื่อสารแจ้งเตือน การเผชิญเหตุ การระงับเหตุ การขอความช่วยเหลือ และรวมถึงสามารถพัฒนากระบวนการออกแบบกิจกรรมใหม่ๆ ในการพัฒนาระบบนิเวศชุมชน

3. หน่วยงานภาครัฐ เช่น โรงเรียนในพื้นที่ทั้ง 5 แห่ง พร้อมหน่วยพัฒนาและป้องกันป่าไม้ภูเขียว โดยพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้าน ธาตุ มีความรู้เรื่องการนำใช้สมุนไพรพื้นถิ่นจากในชุมชน และป่าเพื่อส่งเสริมและรักษาสุขภาพของคนในชุมชน โดยการยกระดับให้เป็นศูนย์เรียนรู้และใช้พืชสมุนไพรพื้นถิ่น โรงเรียนในพื้นที่มี 5 แห่ง จัดให้มีพัฒนาหลักสูตรเฉพาะ เช่น หลักสูตรการสร้างแกนนำเด็กและเยาวชนอาสาอนุรักษ์ป่า เพื่อรณรงค์ให้เยาวชน มีจิตสำนึกรัก ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ เรื่อง ป่าชุมชน ให้กับเด็กและเยาวชน เพื่อฝึกหัด หรือเสริมทักษะความรู้ 

การนำเสนอในด้านต่างๆ เช่น การเพาะชำกล้าไม้ การใช้ชีวิตร่วมกันในป่าชุมชน ระบบนิเวศ ในป่าชุมชน และการใช้ประโยชน์จากป่าชุมชน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก มีจำนวน 5 ศูนย์ มีกิจกรรมหนูน้อยปลูกผักสวน ครัว ปลอดสารพิษ เพื่อไว้บริโภคในโครงการอาหารกลางวันปลอดภัย กิจกรรมส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้จักพืชสมุนไพร เบื้องต้น เช่น ต้นหอม แก้อาการหวัด และกิจกรรมส่งเสริมการคัดแยกขยะ เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และวัด เป็นแนว ร่วม ศูนย์รวมจิตศรัทธา ในการทำกิจกรรม และออกแบบการพัฒนาอาสาสมัคร คนรุ่นใหม่ เครือข่ายจิตอาสา เป็นต้น

4. กลุ่มองค์กรและผู้นำชุมชน เช่น กลุ่ม อสม. สนับสนุนให้มีการเพิ่มกิจกรรมให้สมาชิกเข้ามามีส่วนร่วมในสนับสนุนการ อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ โดยเฉพาะป่าชุมชน เช่น กิจกรรมการอนุรักษ์ กิจกรรมส่งเสริม การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กิจกรรมการสร้างแกนนำเด็กและเยาวชน รวมถึงการจัดสรรงบประมาณหนุนเสริมและ สวัสดิการด้านการจัดการทรัพยากรและภูนิเวศ และนอกจากจะมีการดำเนินงานพัฒนาศักยภาพในกลุ่มประชากร

ยุทธศาสตร์ วัชรธนาคม นายกเทศมนตรีตำบลธาตุทอง กล่าวว่า เราเชิญ อปท.เครือข่ายมาทั้งหมด 3 อำเภอ คือ แก้งคร้อ เกษตรสมบูรณ์ และภูเขียว จำนวน 8 อปท. รวมกับเราฐานะแม่ข่ายเป็น 9 อปท. ในการร่วมกันรักษาผืนป่าภูแลนคา ซึ่งเป็นต้นน้ำลำปะทาว ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำชี  เมื่อก่อนเราไม่ได้ประสานกันเลยรักษาเฉพาะในเขตที่ตัวเองรับผิดชอบ 

“หากเรารู้ เราเป็นเครือข่ายกัน เราก็จะเกิดการแชร์ข้อมูลกันไม่ว่าจะเป็นเรื่องรถดับเพลิง การพัฒนาคน และถ้าเราดำเนินการเพียงคนเดียวทำให้งานเคลื่อนไปได้ช้า พอเกิดการประสานความร่วมมือกันระหว่าง อปท.รอบๆ เทือกเขาภูแลนคา โดยเฉพาะบริเวณป่าภูหลง ป่าภูทอก เป็นเขตรอยต่อระหว่างจุดที่เคยเกิดเหตุไฟป่ารุนแรง แต่ละ อปท.มีหน้าที่ร่วมกันอยู่แล้ว แต่ต่างคนต่างทำ ต่างแผนงานการดำเนินงานที่แตกต่างกัน ถ้าหากเรามีความร่วมมือและดำเนินการไปพร้อมๆ กัน ภายใต้กรอบแนวทางเดียวกันจะทำให้การขับเคลื่อนเรื่องป่าเกิดความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น 

“ขณะที่แผนงานที่ต้องทำเร่วงด่วนคือ เรื่องของการพัฒนาคนเป็นเรื่องสำคัญ อบรมจิตอาสาป้องกันไฟป่า เพื่อให้เกิดความรู้ ความชำนาญ และสามารถเผชิญเหตุได้อย่างถูกต้องปลอดภัยต่อตัวเองโดยการประสานการทำงานร่วมกับองค์กรที่มีความรู้มาสอน อย่างน้อยปีละครั้งทั้งคนใหม่ และคนเก่า เพื่อให้เกิดการเข้าใจและมีความรู้ สร้างความปลอดภัยให้ผู้ปฏิบัติงาน” 

การร่วมกันป้องกัน ฟื้นฟูและดูแลรักษาป่าของชาวบ้าน ชุมชน ท้องถิ่น ในพื้นที่รอบเทือกเขาภูแลนคา ยังคงดำเนินการมาโดยตลอด และกำลังเกิดความร่วมมือในหลากหลายภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาของพื้นที่ด้วยกลไกคนในพื้นที่เอง นี่คงเป็นเพียงเส้นทางบางส่วนของการแก้ไขปัญหาเรื่องแหล่งอาหาร ผืนป่า และทรัพยากรธรรมชาติด้วยคนในพื้นที่ หน่วยงานในพื้นที่ เพื่อปกป้องทรัพยากรของคนในพื้นที่เอง

image_pdfimage_print