“ทุนต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมมากกว่านี้ เลิกรับซื้ออ้อยเผา สนับสนุน ผลักดัน ไม่ให้เกิดการเผาอ้อย ไม่ใช่หวังแค่ว่าโรงงานน้ำตาลจะรวยอย่างเดียว ส่วนคนปลูกอ้อยก็ยังจนเหมือนเดิม” ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ชี้ถึงทางออกของปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่คนอีสานและคนทั้งประเทศกำลังพบเจออยู่

เป็นเวลาหลายเดือนที่ชาวอีสานตื่นขึ้นมา มักจะมองเห็นหมอกสีขาวๆ คล้ายกับว่าช่วงหน้าหนาวยังคงอยู่ ถึงแม้อากาศทุกวันนี้จะร้อนมากแล้วก็ตาม แต่หมอกสีขาวนั้นหาใช่หมอกไม่ มันคือฝุ่น PM2.5 ที่เกิดจากการเผา มากกว่าการปล่อยจากท่อไอเสียรถ

เราชวน ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมรวมทั้งติดตามปัญหาเรื่องฝุ่นและหมอกควันอย่างจริงจังมาเล่าถึงสาเหตุ ที่มาที่ไป พร้อมถึงการหาทางออกให้กับเรื่องนี้ เพราะไม่อย่างนั้นคนอีสานจะต้องมีปัญหาโรคทางเดินหายใจทั่วทั้งภูมิภาคแน่นอน

ทำไมอีสานปีนี้ถึงมีฝุ่นเยอะมากที่สุดในประเทศ

“การเกิดขึ้นของฝุ่นในอีสาน การเผาในระดับภูมิภาคอุษาคเนย์ก็มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย การเผาป่าที่อินโดนีเซีย ทำให้เกิดฝุ่น PM2.5 ขึ้น ฝุ่นนี้สามารถลอยมาไกลได้เป็นพันกิโลเมตร ลอยมาถึงภาคใต้ของไทยได้ อีสานอยู่ใกล้ชิดกับลาว กัมพูชา ก็ยากที่จะเลี่ยงได้ หากประเทศเพื่อนบ้านมีการเผาเกิดขึ้น หรือหากในไทยมีการเผา เพื่อนบ้านก็โดนด้วย เราจะเห็นในฮอตสปอต ว่ามีการเผาเต็มไปหมดทั่วภูมิภาคอาเซียน ปัจจัยหนึ่งคือการเร่งพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำโขง” ดร.ไชยณรงค์ ฉายภาพใหญ่ให้เห็นปัญหาฝุ่น PM2.5 ในระดับภูมิภาค

มุมมองเมืองขอนแก่นจากถนนมิตรภาพ หน้าประตูมอดินแดง มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ถูกปกคลุมด้วยฝุ่นควัน

“นั่นเป็นระดับภูมิภาค แต่พอมามองเรื่องภายในประเทศ ในอดีตการเผาฟางในนาข้าวจะถูกเพ่งเล็งว่าเป็นสาเหตุหลักของฝุ่น PM2.5 แต่ปัจจุบันไม่ใช่แบบนั้นแล้ว เพราะฟางเป็นอีกรายได้หนึ่งของชาวนา เขาสามารถนำฟางไปอัดแท่งขายได้ การเผาฟางข้าวหากไม่จำเป็นจริงๆ ชาวนาจะไม่ทำ” ดร.ไชยณรงค์ ยืนยันว่าข้าวไม่ใช่สาเหตุหลักของฝุ่นควัน แต่กลายเป็นอ้อยแทนไปแล้ว

อีสานแหล่งปลูกอ้อยชั้นดี จนวันนี้ถูกรมควันจากการเผาอ้อย

“ช่วงรัฐบาลประยุทธ์มีการอนุมัติสร้างโรงงานน้ำตาลเพิ่มมากขึ้น การสร้างโรงงานน้ำตาลในแต่ละพื้นที่ จะต้องมีการปลูกอ้อย 2 แสนไร่ 1 ในนั้นจะเป็นที่อีสานอีกด้วย แต่จริงๆ ตั้งแต่ปี 2530 เป็นต้นไปมา รัฐบาลก็พยายามมาปลูกอ้อยที่อีสาน เพราะค่าความหวานมันดีและได้มาตรฐานกว่าที่อื่นๆ เนื่องจากพันธุ์อ้อยกับสภาพภูมิอากาศไปด้วยกันได้ดี

“พอเป็นแบบนี้เลยตอบคำถามว่า ทำไมในเมืองใหญ่ๆ อย่างขอนแก่นจึงเจอฝุ่นหนักสุด เพราะรอบๆ พื้นที่มีการปลูกอ้อยเต็มไปหมด แถวเขื่อนอุบลรัตน์ก็มีการปลูกและเผาอ้อย ทางไป อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ก็มีการเผาเช่นกัน เผาอ้อยมาส่งขายที่โรงงานน้ำตาลในบริเวณใกล้เคียง” เขาให้คำตอบของคำถามที่ว่า ว่าทำไมขอนแก่นฝุ่นจึงเยอะ

หากโรงงานน้ำตาลมาตั้งที่อำเภอปทุมรัตต์

“อำเภอปทุมรัตต์เป็นหัวใจของทุ่งกุลา ส่วนหนึ่งเพราะเป็นกึ่งกลาง และทุ่งกุลากว้างมาก มีมากถึง 2.1 ล้านไร่ รวม 5 จังหวัดด้วยกัน ศรีสะเกษ สุรินทร์ ยโสธร ร้อยเอ็ด มหาสารคาม พื้นที่ตรงนี้จะปลูกหอมมะลิเป็นหลัก โดยเฉพาะหอมมะลิ GI ที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นข้าวหอมมะลิที่ดีที่สุดในโลก ส่งออกขายต่างประเทศมากมาย

“ชาวบ้านที่นี่เลี้ยงวัวด้วย วัวเป็นสินค้า เป็นสัตว์ที่นายฮ้อยชอบ เพราะวัวทนแล้งได้ ทำให้ปัจจุบันชาวบ้านที่นี่ยังคงเลี้ยงวัวจำนวนตั้งแต่หลักสิบถึงหลักร้อยตัว คนที่นี่จะเรียกวัวว่า วัวรีโมต หมายถึงตอนเช้าเปิดประตูออก วัวก็จะเดินออกไป ตอนเย็นจะเดินกลับมาเอง ปล่อยเลี้ยงตามทุ่งนา หากดูดีๆ เหมือนเงินล้านเดินเข้าออกเช้าเย็น

“ความพิเศษที่ทุ่งกุลาคือเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินจะเป็นแบบนี้ ช่วงฤดูทำนา เป็นของเจ้าของที่ดิน แต่พอเข้าสู่ช่วงหน้าแล้ง จะเป็นของทุกคน สามารถปล่อยวัวไปเลี้ยงได้

“ที่เล่ามาจะเห็นภาพความอุดมสมบูรณ์ของทุ่งกุลา มันมีวี่แววความแห้งแล้งที่รัฐกับสื่อพยายามสร้างหรือไม่ การที่บอกว่าทุ่งกุลาแห้งแล้ง หากเอาโรงงานน้ำตาลมาตั้ง คนที่นี่จะได้มีงานทำ มีอาชีพ พัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ ส่วนตัวผมมองว่าทรัพยากรในพื้นที่มีเพียงพอต่อความต้องการของผู้คน และการมาของโรงงานน้ำตาล ผลที่ตามมาระยะยาวจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี ทั้งสภาพภูมิอากาศจะเปลี่ยนไปเพราะเกิดจากการเผา สภาพแวดล้อมแย่ลง ย่อมส่งผลต่ออาชีพหลักของคนทุ่งกุลาอย่างการปลูกข้าวหอมมะลิกับการเลี้ยงวัวแน่นอน”

ทางออก รัฐต้องมองเห็นหัวประชาชน ทุนต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม

“ทางแก้เรื่องนี้ รัฐต้องมองเห็นปัญหามากกว่านี้ รัฐต้องกล้าออกคำสั่งและใช้กฎหมาย หยุดส่งเสริมการปลูกอ้อย เพราะอ้อยเป็นสาเหตุของฝุ่น PM2.5 ห้ามสร้างโรงงานน้ำตาลเพิ่ม ห้ามโรงงานน้ำตาลรับซื้ออ้อยเผา ถ้าทำไม่ได้ต้องหยุดอุตสาหกรรมนี้ ประชาชนได้ประโยชน์น้อยมาก

ปลูกข้าวได้น้อย ปลูกอ้อยดีกว่า เป็นวาทกรรมที่ทุนนำมาบอกชาวบ้านในบริเวณที่จะตั้งโรงงานน้ำตาล แต่จริงๆ แล้ว สิ่งที่ทุนต้องทำ คือ มีความรับผิดชอบต่อสังคมมากกว่านี้ มองต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เลิกรับซื้ออ้อยเผา สนับสนุน ผลักดันไม่ให้เกิดการเผาอ้อย ไม่ใช่หวังแค่ว่าโรงงานน้ำตาลจะรวยอย่างเดียว ส่วนคนปลูกอ้อยก็ยังจนเหมือนเดิม”

ฝุ่นควันยังเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง หากรัฐและทุนยังคงจะกอบโกยแต่ผลประโยชน์ สนใจแต่ตัวเลขเม็ดเงิน โดยการทำลายสภาพสิ่งแวดล้อม อากาศสำหรับหายใจของคนทุกคน

ฝุ่นควันยังคงเป็นปัญหาของอีสาน ของประเทศไทยและทั่วภูมิภาคอุษาคเนย์ หากเราไม่สามารถหาทางช่วยกันแก้ไข การตื่นขึ้นมาเห็นฝุ่นขาวอยู่หน้าบ้าน เจอข่าวในมือถือว่าดอยสุเทพหายไปเพราะฝุ่น จะเป็นเรื่องปกติ เห็นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เป็นความขมขื่นอันน่าเศร้าที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน

image_pdfimage_print