กลุ่มเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา ยื่นหนังสือคัดค้านการประชุมรับฟังความคิดเห็นการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 3 โครงการโรงงานผลิตน้ำตาล บริษัทสมานฉันทร์กรับใหญ่ จำกัด (EIA) ที่จะจัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 4 เมษายน 2567 เวลา 8.00-12.00 น. ที่อาคารหอประชุมที่ว่าการอำเภอปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด 

โดยทางเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลามองว่า การจัดเวทีในครั้งนี้เป็นการจัดประชุมนอกเขตพื้นที่ของการจัดโครงการโรงงานและพื้นที่ของผู้ได้รับผลกระทบ คือตำบลโนนสวรรค์ แต่กลับไปจัดเวทีรับฟังที่ ต.บัวแดง อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด นอกจากนี้ที่ผ่านมาซึ่งมีการจัดทำเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 ก็จัดเวทีที่ ต.สระบัว ส่วนครั้งที่ 2 แม้จัดในพื้นที่ ต.โนนสวรรค์ แต่สถานที่ดังกล่าวก็เป็นพื้นที่ตั้งสำนักงานของบริษัท

โดยการจัดเวทีครั้งที่ 3 จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับจัดทำ EIA 2 ฉบับ คือ EIA โรงงานน้ำตาล และ EIA โรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ทุ่งกุลาฯ 

ปัจจุบัน โครงการการสร้างโรงงานผลิตน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล (ชานอ้อย) ของ บริษัท สมานฉันท์กรับใหญ่ จำกัด อยู่ในกระบวนการจัดตั้งโรงงาน ซึ่งอยู่ในพื้นที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมประเภทข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาฯ โดยพื้นที่ดังกล่าวได้รับการประกาศจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ข้าวหอมมะลิ (Geographical Indication – GI) ในพื้นที่ ต.โนนสวรรค์ อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นที่กังวลของประชาชนที่อาศัยและทำเกษตรกรรมในบริเวณดังกล่าวว่า หากมีการตั้งโรงงานน้ำตาล จำเป็นต้องใช้พื้นที่ในการปลูกอ้อย อาจส่งผลกระทบด้านปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาฝุ่น ปัญหาน้ำเสีย โดยทาง บริษัทสมานฉันท์กรับใหญ่ ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นมาแล้ว 2 ครั้ง ท่ามกลางการคัดค้านจากคนในพื้นที่

สำหรับบริษัท สมานฉันท์กรับใหญ่ จำกัด อ้างว่าเป็นการรวมกลุ่มของผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมน้ำตาล ได้รับรองให้ตั้งโครงงานผลิตน้ำตาลที่กำลังการผลิต 24,000 ตันอ้อยต่อวัน จากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ที่ อก 0604/323 ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 โดยมีแผนก่อสร้างโรงงานผลิตน้ำตาลจากอ้อยที่ ต.โนนสวรรค์ อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด

image_pdfimage_print