4 เมษายน 2566 – ทางการนครหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ออกแถลงการณ์ด่วน 1 ฉบับ เพื่อแจ้งและสั่งการให้พี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำของ (โขง) ตั้งแต่ช่วงหมู่บ้านพุสร้างคำ ลงมาจนถึงปากคาน และแม่น้ำของตั้งแต่ปากคานลงมา ห้ามลงอาบน้ำ และห้ามนำปลาที่ตายอยู่ในน้ำมาประกอบอาหาร หรือนำไปขายโดยเด็ดขาด เนื่องจากได้เกิดอุบัติเหตุรถบรรทุกสารเคมีพลิกคว่ำอยู่เขตบ้านพุสร้างคำ นครหลวงพระบาง ทำให้เกิดการรั่วไหลของสารเคมีที่บรรทุกมาไหลลงสู่ลำห้วยคานและแม่น้ำน้ำของ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายของพี่น้องวประชาชน สัตว์เลี้ยง และสัตว์น้ำอื่นๆ

สำหรับอุบัติเหตุครั้งนี้เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2566 และเริ่มพบความไม่ปกติในแม่น้ำของในวันนี้จึงมีการออกแถลงการณ์แจ้งเตือนดังกล่าว ถึงแม้ที่เกิดเหตุจะอยู่ในเขตนครหลวงพระบาง แต่คาดการณ์ว่าสารเคมี กรดกำมะถัน หรือกรดซัลฟิวริค H2SO4 ประมาณ 30 ตันเหล่านี้ไหลลงสู่แม่น้ำของจะกระจายไปตามแม่น้ำของลงไปทางตอนใต้อย่างแน่น ประกอบกับช่วงนี้ปริมาณน้ำในแม่น้ำของมีปริมาณค่อนข้างน้อย การปนเปื้อนจึงรุนแรง ส่งผลกระทบกับคน สัตว์น้ำอย่างปู ปลา กุ้ง ชนิดต่างๆ ซึ่งต้องจับตามองต่อไปว่าหลังจากนี้จะมีมาตรการอะไรที่เกี่ยวกับเรื่องนี้  แต่มีการคาดการณ์ว่า จะไม่กระทบถึงแม่น้ำโขงในช่วง อ.เชียงคาน จ.เลย มากนักเนื่องจากน้ำที่ไหลลงมาจากนครหลวงพระบางจะถูกกักเก็บไว้ที่เขื่อนไซยะบูลี (ไซยะบุรี) สปป.ลาว ก่อน

ชาญณรงค์ วงศ์ลา เครือข่ายภาคประชาชนกลุ่มคนฮักแม่น้ำโขงเชียงคาน จ.เลย กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถึงจะเป็นอุบัติเหตุ แต่ผลกระทบจากสารเคมีที่มีมากถึง 30 ตันนั้น ต้องกระทบกับระบบนิเวศอย่างแน่นอน ถึงตอนนี้ทางการไทยที่เกี่ยวข้องควรที่จะลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำในแม่น้ำโขงไว้ก่อนเพื่อใช้เปรียบเทียบค่าปนเปื้อนสารเคมีและนับลวงหน้าไปประมาณ 1 สัปดาห์ น้ำที่ปนเปื้อนจากนครหลวงพระบาง จะไหลลงมาถึง อ.เชียงคาน จ.เลย ในช่วงเวลานี้ ทุกๆ เช้า- เย็นของทุกวันควรมีการเก็บตรวจตัวอย่างน้ำเพื่อเฝ้าระวัง และในอนาคตในการทำงานเฝ้าระวังควรต้องเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้าไปอยู่ในกระบวนการ หรือมีส่วนร่วมมากกว่านี้ เพื่อให้สามารถติดตาม เฝ้าระวังผลกระทบต่างๆ ที่จะส่งผลต่อแม่น้ำโขง หรือแม่น้ำอื่นๆ ในอนาคต เช่น ให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการเป็นส่วนหน้าในการเฝ้าระวัง มีเครื่องมือตรวจวัด และเก็บตัวอย่างน้ำ ในพื้นที่ รวมไปถึงการสร้างกลไกที่มีประชาชนผู้ใช้น้ำ อาศัย และอยู่กินกับแม่น้ำได้เข้าไปเป็นส่วนสำคัญในการบริหารจัดการต่างๆ ด้วย

ชาญณรงค์ วงศ์ลา

ล่าสุด 5 เมษายน 2567 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ออกประกาศ เฝ้าระวังผลกระทบจากคุณภาพน้ำในแม่น้ำโขง คาดการณ์ว่าสารเคมีจะเคลื่อนตัวกระจายลงเขื่อนไซยะบูลีวันนี้ และจะไหลลงมาถึงพื้นที่ อ.เชียงคาน จ.เลย ประมาณวันที่ 8-9 เมษายน 2567 จึงประกาศให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ติดแม่น้ำโขง จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร และจังหวัดอุบลราชธานี ติดตามสถานการณ์และความเคลื่อนไหว พร้อมสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการประเมินและตรวจวัดคุณภาพน้ำรายงานให้ทางจังหวัดแต่ละจังหวัดทราบ ให้พี่น้องประชาชนติดตามข่าวสารและเตรียมการเฝ้าระวังผลกระทบอย่างใกล้ชิด จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งจากการประเมินในเบื้องต้นของ สทนช. คาดว่าจะไม่สงผลกระทบต่อคุณภาพน้ำในแม่น้ำโขงบริเวณประเทศไทย

image_pdfimage_print