“เบียร์ที่อยู่รอดได้ทุกวันนี้ คือเบียร์เถื่อน เบียร์ที่ผิดกฎหมายตามที่รัฐนิยาม ส่วนเบียร์ที่ทำแบบถูกกฎหมาย มีฉลาก 100 เปอร์เซนต์ พอเจอกำแพงภาษีเข้าไป ถ้าไม่ขายในราคาที่สูง โอกาสอยู่รอดก็ยาก“ เสียงจากแซม อิสระพงศ์ เวียงวงษ์ Brewer ชาวขอนแก่นที่ทำเบียร์ แบรนด์ Sri Brown Brew แมววิเชียรมาศ

ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา เกิด “แมววิเชียรมาศ” หรือ SIAMESE CAT คราฟต์เบียร์อีกหนึ่งแบรนด์ขึ้นมาในอีสาน ในนาม Sri Brown Brew เครื่องดื่มตัวนี้เป็นความร่วมมือการพัฒนาของแซม ผู้คิดค้นสูตรและนิก ศิรินันท์ เวียงวงษ์ ผู้คิดคอนเซปต์ จนเกิดเป็นเบียร์ที่มีฉลากที่น่ารัก ดึงดูดทาสแมวได้เป็นอย่างดี

แมววิเชียรมาศ เบียร์ที่มีความขี้เล่น

แมววิเชียรมาศ หรือ SIAMESE CAT คราฟต์เบียร์อีกหนึ่งแบรนด์ขึ้นมาในอีสาน ในนาม Sri Brown Brew 

“ช่วงแรกเป็นกระแสดีมากเลย แต่กระแสส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มแมว (หัวเราะ) อาจจะด้วยฉลากด้วย ที่ดูเป็นแมวขี้เล่น น่ารัก ซึ่งก็ตรงตามที่เราคิดคอนเซปต์ไว้ว่าให้แมววิเชียรมาศ มีนิสัยขี้เล่น ให้เป็นเบียร์ที่มีความนุ่มนวล แต่ยังคงมีความขมในสไตล์ Hazy Pale Ale อยู่

“จริงๆ แล้วเบียร์ของ Sri Brown Brew เคยออกนำมาขายช่วงที่ร้าน Sri Brown มีคอนเสิร์ต ให้ลูกค้าที่มาดูคอนได้ชิม จากนั้นเราปรับปรุงรสชาติตามฟีดแบ็ก ช่วงแรกเราต้มประมาณ 3 ถัง แต่ละถังก็พัฒนาคุณภาพมาเรื่อยๆ” แซมย้ำว่าการพัฒนาคุณภาพเบียร์คือสิ่งที่ Brewer พึงต้องกระทำอยู่เสมอ

จากเบียร์ใต้ดิน สู่บนดิน

“เคยคุยพี่เจ็ท (I Jet Do) หากโรงต้มเบียร์ที่เวียดนาม ว่างให้บอกด้วย จะลองต้มเบียร์ดูบ้าง และอยากดูกระบวนการทำด้วยว่า หากทำในปริมาณที่มากขึ้น ต้องอัพสเกลเราต้องทำยังไงบ้าง” เมื่อเวลาผ่านไปไม่นาน เจ็ท พงศธร อ่างยาน แห่ง I Jet Do ก็มาบอก “ว่าง มีสลอตให้สามารถมาต้มได้” แซมจึงตัดสินใจ เดินทางข้ามประเทศไปต้มเบียร์ที่เวียดนาม

“ตอนไปเราก็มีความรู้สึกกังวลนะ เพราะเรายังใหม่ แต่พี่เจ็ทก็คอยช่วยตลอด การทำสเกล Homebrew กับโรงงานต่างกัน ต่างกันไม่มาก เริ่มต้นด้วยการต้มสองพันลิตร ตอนที่ต้มไม่มีปัญหาหรอก มาเจอตอนขนส่งนี่แหละ ช่วงแรกจะนำมาขายส่งท้ายปีเก่า ปรากฏว่าเบียร์ไปค้างอยู่ท่าเรือ ค้างนานข้ามปีเลย เพราะทำเอกสารผิดพลาด แต่สุดท้ายก็ผ่านมาเพราะพี่เจ็ทช่วยมาได้อีก

“หากพูดถึงวัฒนธรรมการดื่มเบียร์ที่เวียดนามค่อนข้างเปิดกว้าง ซื้อ ขายกันได้ตลอด ไม่มีจำกัดเวลา เราก็ไม่เห็นจะมีใครมานอนหัวราน้ำเมาที่ข้างถนนนะ ทุกคนก็ใช้ชีวิตปกติ รับรู้ได้ถึงเสรีภาพในการดื่ม ซึ่งต่างจากประเทศเราที่มีกฎ มีเงื่อนไขมากมาย”

กำแพงภาษีอันสูงลิ่ว ที่ยากจะไปถึง

พอนำเบียร์เข้ามาในประเทศ ใช่ว่าจะง่าย แซมเจอภาษีนำเข้า และอื่นๆ เจอบวกค่าขนส่งเข้าไปอีก ทำให้เบียร์แมววิเชียรมาศของเขาราคาเพิ่มสูงขึ้นเท่าตัว

“ปัจจุบันภาษีนำเข้าสุราอยู่ที่ 60 เปอร์เซ็นต์ สมมุติ เบียร์มาจากโรงงานหลักสิบ พอเข้ามาประเทศก็กลายเป็นหลักร้อย เท่านั้นยังไม่พอยังมีภาษีตราฉลากอีก ทำให้ต้นทุนเราเพิ่มมากขึ้น

“พอเราอยู่อีสาน ค่าเดินทางขนส่งก็เพิ่มเข้ามา หรือขนส่งมาไม่หมดก็ต้องแช่ไว้ในโกดังของกรุงเทพ เสียค่าเช่าห้องแช่เพิ่ม หากจะฝากให้นายหน้าช่วยขาย ก็จะเจอบวกอีก ทำให้เห็นว่ากว่าเบียร์สักกระป๋องจะเดินทางไปหาลูกค้าต้นทุนมันสูงมาก นี่จึงเป็นสาเหตุที่คราฟต์เบียร์ราคาแพง”

การทำผิดกฎหมายคือการอยู่รอดในวงการ

“ยากมากที่จะทำกำไรได้ ได้ก็ได้น้อย ขายแพงคนก็ไม่ซื้อ ขายถูกไปก็เข้าเนื้อตัวเอง ทางรอดคือต้องสามารถต้มเบียร์ในประเทศได้ เพราะถ้าเราไปทำข้างนอกประเทศ เข้ามาก็เจอกำแพงภาษี แต่ถ้าทำในประเทศ ปรับกฎหมายใหม่ให้ไม่ต้องมีเงินลงทุนหลายล้านถึงจะต้มเบียร์ พร้อมกับให้โฆษณาได้โดยไม่โดนมาตรา 32 แบบนี้ Brewer จะได้คล่องตัวมากขึ้น”

แต่ทางออกที่แซมนำเสนอ ก็ยังไม่เกิดง่ายๆ กฎหมายต่างๆ ยังคงบีบรัด

“เบียร์ที่อยู่รอดได้ทุกวันนี้ คือเบียร์เถื่อน เบียร์ที่ผิดกฎหมายตามที่รัฐนิยาม ส่วนเบียร์ที่ทำแบบถูกกฎหมาย มีฉลาก 100 เปอร์เซนต์ พอเจอกำแพงภาษีเข้าไป ถ้าไม่ขายในราคาที่สูง โอกาสอยู่รอดก็ยาก แต่จริงๆ แล้วเขาไม่อยากทำเถื่อนหรอก เขาอยากมีฉลาก อยากทำแบบถูกกฎหมาย อยากเสียภาษีให้รัฐ เพื่อไปต่อยอดในโปรดักต์ และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายใหญ่ของประเทศนี้ได้”

พอพูดถึงเรื่องภาษีสรรพสามิตเก็บได้ ข้อมูลล่าสุดจาก ISAN Insight บอกว่า “ในปี 2566 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีมูลค่าการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตทั้งหมดรวมกัน อยู่ที่ 29,272 ล้านบาท โดยภาษีเบียร์เป็นประเภทสินค้าที่มีมูลค่าการเก็บภาษีได้มากที่สุด 15,932 ล้านบาท รองลงมา คือ ภาษีสุรา 11,266 ล้านบาท”

ข้อมูลนี้คือเท่าที่เก็บได้ ลองคิดเล่นๆ ว่าหากเบียร์ สุราใต้ดิน ได้ขึ้นมาบนดิน ต้มแบบถูกกฎหมายที่เป็นธรรม ภาษีเหล่านี้จะเข้ารัฐ แล้วนำมาพัฒนาประเทศได้มากน้อยแค่ไหน

เป็นความอยุติธรรม หากฉลากจะถูกปิดกั้นไม่ให้สร้างสรรค์

ร่างข้อบังคับฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กฎหมายที่บังคับให้ฉลากเครื่องดื่มต้องดูน่ากลัว เพราะเป็นสิ่งเสพติด ของมึนเมา ที่สร้างเสียงวิพากษ์ วิจารณ์ ปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบ แซมยังบอกว่า “พวกของหวาน น้ำตาลก็เป็นสิ่งเสพติด ทำไมไม่ไปบังคับเขาบ้าง เหมือนเป็นกฎหมายที่เลือกปฏิบัติ งานออกแบบของเครื่องดื่มแต่ละแบรนด์ ทุกคนตั้งใจทำ พอมาเจอแบบนี้ยิ่งกดทับกันเข้าไปใหญ่”

ภาพฝันในการทำเบียร์ของแซม เป็นฝันเล็กๆ ที่ต้องการทำให้เบียร์เป็นอีกตัวช่วยให้กินอาหารอร่อยขึ้น ดื่มเบียร์เพื่อผ่อนคลาย ดื่มแค่ขวดสองขวดก็แยกย้าย สร้างคัลเจอร์ใหม่ที่ไม่เมาจนหัวราน้ำ

สถานการณ์การปิดตัวของร้านคราฟต์เบียร์ในขอนแก่นตอนนี้ มีให้เห็นอยู่ในกลุ่มเซ้งธุรกิจขอนแก่นเป็นประจำ ผู้นำเข้าเบียร์รายหนึ่งบอก “จะปิดตัวอีก จะเหลือแค่หลักสิบกว่า เพราะขายไม่ได้ เป็นขาลงของเบียร์ หากสภาพเศรษฐกิจเป็นแบบนี้แล้วกฎหมายก็ยังไม่เอื้อคงต้องเก็บกระเป๋าไปทำอย่างอื่นแทน”

อ้างอิง

image_pdfimage_print