บ้านโนนเรือง หมู่บ้านเล็กๆ ที่ไม่หวือหวานัก ตั้งห่างจากตัวเมืองขอนแก่น ๑๕ กิโลเมตร ทุ่งนาสีทองทอดไกล หลุมบนถนนที่ทำให้เกิดฝุ่นเวลาที่ลมพัดมา และสิ่งที่ชาวบ้านหลายคนกำลังต้องการก็คือ ถนนที่ได้รับการปรับปรุง และชาวบ้านอีกส่วนก็ต้องการที่เห็นการซ่อมแซมห้องน้ำในโรงเรียนประถมประจำหมู่บ้าน สิ่งเหล่านี้คือความกังวลใจของหมู่บ้านเล็กๆ แห่งนี้ ที่ชาวทุกคนต่างรู้จักกัน

แต่เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคมปีที่แล้ว บ้านโนนเรื่องก็กลายเป็นข่าวพาดหัว  เมื่อมีประชาชนผู้หวังดีกลุ่มหนึ่งขัดขวางแผนที่จะจัดตั้งหมู่บ้านเสื้อแดงได้สำเร็จ เพียงหนึ่งวันก่อนมีการเสนอจัดพิธีเปิดหมู่บ้าน ชาวบ้านประมาณ ๑๖๐ ลงคะแนนเสียงคัดค้านการจัดตั้งหมู่บ้านเสื้อแดงและไม่มีใครสนับสนุนทั้งนี้เพื่อเป็นการคว่ำบาตรกลุ่มคนเสื้อแดง

การเคลื่อนไหวของหมู่บ้านเสื้อแดง ได้เริ่มต้นขึ้นในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ปีที่แล้ว  มีหมู่บ้านกว่าร้อยหมู่บ้านทั่วภาคอีสานเรียกตัวเองว่าเป็นหมู่บ้านเสื้อแดงเพื่อประชาธิปไตย เพื่อแสดงให้เห็นถึงอำนาจและขนาดขององค์กรของตน แต่หมู่บ้านอย่างบ้านโนนเรือง การเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้ความสัมพันธ์ของคนในชุมชนตรึงเครียดและเกิดการแตกแยกทางการเมืองอย่างหนัก

ซึ่งการคว่ำบาตรกลุ่มคนเสื้อแดงนำไปสู่การทำประชามติในหมู่บ้านนี้ก่อให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่เป็นมิตรต่อสมาชิกในหมู่บ้านและเป็นที่มาของคำถามถึงคุณค่าของการเปลี่ยนแปลงในสังคมที่ถูกแบ่งเป็นสองข้างด้วยเหตุผลทางการเมือง คนเสื้อแดงได้กล่าวหากลุ่มที่ต่อต้านว่า มีการข่มขู่ผู้ลงคะแนนเสียง ใส่ร้ายคนเสื้อแดง และให้ข้อมูลที่ผิดๆ รวมทั้งการทำร้ายผู้ที่สนับสนุนคนเสื้อแดงที่หน่วยเลือกตั้งอีกด้วย ในทางตรงข้าม กลุ่มคนที่คัดค้านกล่าวว่า กลุ่มคนเสื้อแดงได้นำคนเสื้อแดงจากหมู่บ้านอื่นมาช่วยสนับสนุนราวกับเป็นการเคลื่อนไหวที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งได้วางแผนกันเพื่อจะมีอำนาจเหนือการปกครองท้องถิ่น

ในขณะที่ต่างฝ่ายต่างชี้ความผิดให้กันมาตั้งแต่เมื่อเดือนที่แล้ว นายสำราญ ศรีวิจารย์ ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งทำหน้าที่เป็นคนกลางมีความกังวลอย่างมากว่าการไม่ลงรอยกันทำให้ความเป็นอยู่ของคนในชุมชนสั่นคลอน  “สำหรับคนเสื้อแดง ธงสีแดงที่ปลิวไสวคือสัญลักษณ์ของความสามัคคี แต่ถ้าทุกคนไม่เป็นคนเสื้อแดง นั่นก็ไม่ใช่ความสามัคคี” นายสำราญบอกว่า สำหรับเขาแล้ว มีข้อดีหลายอย่างจากการทำให้ชุมชนสามัคคีกัน หรืออย่างน้อยที่สุด มีความสุภาพต่อกัน

“ความสามัคคีเป็นสิ่งที่สำคัญมาก สำหรับพวกเรา ถ้าเราต้องการที่จะสร้างบ้านหรือถนน พวกเราก็สามารถทำมันได้ เราสามารถทำงานด้วยกันได้ แต่ถ้าเราไม่สามัคคีกัน ชาวบ้านก็จะไม่เต็มใจที่จะช่วยกัน” เขากล่าว

แม้ว่าบ้านโนนเรื่องจะเป็นหมู่บ้านแรกในจังหวัดขอนแก่นที่ประสบความสำเร็จในการคัดค้านการตั้งหมู่บ้านเสื้อแดง แต่นายสำราญก็ไม่ใช่คนแรกที่มีความกังวลเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวนี้ เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ที่คนเสื้อแดงต่อต้านอย่างรุนแรงเนื่องจากมีการสลายการชุมนุมเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๓ และทำให้มีคนเสื้อแดงเสียชีวิตจำนวนมาก ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับหมู่บ้านเสื้อแดงว่าอาจจะเกิดผลกระทบด้านความมั่นคงได้ พลเอกประยุทธ์กล่าวว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือความสามัคคีของคนในประเทศ และผู้ใหญ่สำราญก็คิดเช่นนี้ โดยนายสำราญให้สัมภาษณ์ว่า“ผมไม่ต้องการที่จะเห็นสัญญาณของการแตกความสามัคคีเรามีเพียงธงชาติและพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินี” โดยนายสำราญเองก็มีพระบรมฉายาลักษณ์ของสมเด็จประเจ้าอยู่หัวอย่างน้อย ๑๖ รูปติดอยู่ที่ผนังบ้าน

นายสำราญผู้ที่ลงคะแนนให้พรรคเพื่อไทยกลับมาเป็นรัฐบาลเล่าเพิ่มเติมว่า ส่วนหนึ่งที่มีผู้ต่อต้านการก่อตั้งหมู่บ้านเสื้อแดงเนื่องมาจากขั้นตอนที่ไม่ดีนัก สำราญกล่าวว่า ชาวบ้านหลายคนไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับการจัดตั้งหมู่บ้านจนกระทั้งกลางเดือนธันวาคม ที่มีการประชุมซึ่งกลายเป็นการประทะคารมกันระหว่างชาวบ้าน ผู้ใหญ่สำราญจึงต้องเรียกร้องให้มีการทำประชามติภายในหมู่บ้านกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น

แม้ว่านางรัตนวรรณ สุขศาลา แกนนำการก่อตั้งหมู่บ้านเสื้อแดงในภาคอีสาน ได้บอกกับ เดอะ อีสาน เรคคอร์ด เมื่อเดือนที่แล้วว่า อย่างน้อยชาวบ้านในชุมชนร้อยละ ๗๐ ต้องให้การสนับสนุนหมู่บ้านเสื้อแดงเพื่อที่จะทำการเปิดหมู่บ้าน แต่การโต้เถียงเป็นเวลา ๑๑ ชั่วโมงในบ้านโนเรืองไม่ใช่สัญญาณที่ดีนัก

นายไพบูลย์ สมศักดิ์ดา ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สงสัยว่าคนเสื้อแดงคงคิดว่าผลการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคมที่ผ่านมาเพียงพอต่อการตั้งหมู่บ้านเสื้อแดง “ชาวบ้านประมาณร้อยละ ๗๐ เลือกพรรคเพื่อไทย เราเลือกนักการเมืองของพรรคเพื่อไทย แต่เราไม่ได้หมายความว่าเราลงคะแนนเสียงให้คนเสื้อแดง” นายไพบูลย์กล่าว

ในขณะเสียงสนับสนุนมากมายของพรรคเพื่อไทยจะมาจากการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่านโยบายประชานิยมของพรรคก็ดึงดูดชาวนาจากชนบทที่ไม่ได้เป็นเสื้อแดงด้วยเช่นเดียวกัน

แม้จะมีการโต้เถียงกันในบ้านโนนเรือง แต่หมู่บ้านใกล้เคียงอย่างบ้านวังตอได้ทำการก่อตั้งหมู่บ้านเสื้อแดงขึ้นเมื่อเดือนที่แล้ว สำหรับนายสำราญ และนายไพบูลย์ พวกเขาคิดว่านี่คือหนทางที่ทำให้ผู้ที่สนับสนุนการก่อตั้งหมู่บ้านเสื้อแดงสงบลงได้ “และนี่ก็ถือเป็นการจบเรื่องราวที่เกิดขึ้น” นายสำราญกล่าว

อย่างไรก็ตาม กลุ่มคนเสื้อแดงซึ่งอยู่ถัดเข้าไปในหมู่บ้าน เพียง ๕๐ เมตรในบ้านที่ติดธงแดงและผนังบ้านเต็มไปด้วยรูปกิจกรรมของคนเสื้อแดงติดอยู่ พวกเขาไม่คิดว่าเรื่องราวจะสิ้นสุด นางสนอง  ไชยทา เป็นผู้ที่พูดเรื่องคนเสื้อแดงในหมู่บ้านอย่างเปิดเผยกล่าวว่า การพิจารณายอมให้บ้านวังตอจัดตั้งหมู่บ้านเสื้อแดงยังไม่เพียงพอ เธอยังต้องการที่จะจัดตั้งหมู่บ้านเสื้อแดงที่บ้านโนนเรือง เพื่อที่จะได้รับการพิจารณาสนับสนุนเงินบริจาคและสิ่งของจากคนเสื้อแดง เธอต้องการจะนำเงินไปซ่อมแซมถนนและปรับปรุงห้องน้ำในโรงเรียนประจำหมู่บ้าน แต่ตอนนี้การจัดตั้งหมู่บ้านเสื้อแดงได้ถูกล้มเลิกไป หมู่บ้านของเธอจึงต้องพบกับความลำบากในการได้รับเงินทุนสนับสนุนจากคนเสื้อแดง

อย่างไรก็ตาม นางสนองยังต้องการที่จะหาแหล่งเงินทุนจากที่อื่น แม้ตอนนี้ยังต้องรอต่อไป  นางสนองกล่าวว่า “เร็วๆ นี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า นายสำราญจะเกษียณอายุไป และจะมีผู้ใหญ่บ้านคนใหม่ที่ช่วยทำให้หมู่บ้านนี้ดีขึ้นกว่าเดิม”

แม้ว่าบ้านโนนเรื่องจะไม่ได้เปลี่ยนชื่อไปเป็นหมู่บ้านเสื้อแดง แต่ตอนนี้หมู่บ้านได้เปลี่ยนไปจากเดิมแล้ว

image_pdfimage_print