กลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคมหรือ “ดาวดิน” เป็นกลุ่มนักศึกษาที่สามารถสร้างกระแสทางสังคมจนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์อย่างกว้างขวาง ทำให้มีคำถามหลายอย่างตามมา ตั้งแต่เหตุผลถึงการทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร ข้อกล่าวหาที่ว่ามีผู้อยู่เบื้องหลัง ไปถึงการยกเรื่องผลการเรียนมาโจมตี

อีสานเรคคอร์ดได้รวบรวมคำถามที่เป็นประเด็นอยู่ในสังคมขณะนี้เพื่อมาหาคำตอบอย่างตรงไปตรงมาทีละประเด็นจากสองหนุ่มสมาชิกกลุ่มดาวดิน ได้แก่ สุวิชชา พิทังกร และ ศุภชัย ภูคลองพลอย

คำถามที่มีการพูดถึงกันมากสุดหลังจากกลุ่มดาวดินออกมาทำกิจกรรมต้านรัฐประหารคงหนีไม่พ้น คำถามที่ว่า “ใครอยู่เบื้องหลังดาวดิน” กระแสที่ออกมามีทั้งมีการเชื่อมโยงกับนักการเมืองหรือกลุ่มก้อนทางการเมือง จนถึงมีคอมมิวนิสต์คอยให้การสนับสนุน มีองค์กรต่างประเทศหนุนหลังอยู่ ช่วยตอบคำถามนี้ชัดๆ อีกครั้งครับ

สุวิชชา: เอาง่ายๆ เลยนะครับนักการเมืองมีใครหรืออะไรบ้างผมยังไม่ค่อยรู้จักเลย  แล้วคิดว่าทำไมเขาต้องมาหนุนหลังพวกเรา ทำไมเขาต้องเอาเงินมาจ้างพวกเราด้วย? ส่วนมากพวกผมก็ลงไปอยู่กับชาวบ้าน มีก็ชาวบ้านนั่นแหละที่เขาสนับสนุนพวกเรา  ไปอยู่ไปกินเหมือนเป็นลูกเขา เวลาชาวบ้านเขามีงานบุญหรืออะไรเราก็ลงไปช่วย  แต่พวกเรามีงานอะไรพวกเขาก็มาช่วยเรา

ศุภชัย: ถ้าจะถามหาเบื้องหลังของเราจริงๆ ตั้งแต่ที่ดาวดินทำงานกันมาก็จะสิบสองปีแล้ว  เราก็ลงไปทำงานกับชาวบ้านในประเด็นปัญหาของแต่ละพื้นที่ การที่เราออกมาเคลื่อนไหวเรื่องการเมือง เรื่องเชิงโครงสร้างแบบนี้  ก็เป็นแรงผลักดันจากปัญหาที่เราทำว่าเชื่อมโยงกันกับเรื่องข้างบน ถ้าจะตอบชัดๆ เลยก็คงต้องบอกว่าเราทำตามเจตจํานงค์ของประชาชนที่ถูกกดขี่อยู่ตอนนี้ครับ

ในประเด็นที่ว่ามีองค์กรต่างประเทศหนุนหลัง  มีการรายงานข่าวก่อนที่คุณจะโดนจับกุมว่า  สมาชิกดาวดินได้เดินทางไปเข้าพบองค์กรต่างประเทศอย่าง UN หรือ EU พวกคุณเข้าไปพบองค์กรเหล่านั้นด้วยเหตุผลอะไร 

สุวิชชา:  คือเราเข้าไปเพื่อเป็นการรับประกันว่ายังมียูเอ็นที่คอยช่วยเหลือเราในการเรียกร้องให้ไทยทำตามสนธิสัญญาสิทธิต่างๆ ที่เคยลงนามไว้ เพื่อไม่ให้มีการละเมิดสิทธิของนักศึกษาหรือให้นักศึกษาสามารถแสดงออกได้ ซึ่งตรงนี้ทางยูเอ็นก็เป็นที่พึ่งของเราได้ เพราะเราไม่สามารถเรียกร้องให้ไทยทำตามสิทธิต่างๆ  จึงคิดว่าทางยูเอ็นจะช่วยบีบให้เขาทำตามกรอบตรงนี้ได้

ศุภชัย: คือทางยูเอ็นเองเป็นคนประสานงานมาเชิญให้เราเข้าไป  อย่างที่ว่านั่นล่ะครับมันก็เป็นหน้าที่ของเขา  ที่ยูเอ็นเราก็เข้าไปในส่วนข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ  ซึ่งเขาก็ทำในประเด็นนี้อยู่แล้ว  เขาก็ติดตามสถานการณ์ที่มันมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากทางรัฐบาล คสช. ตลอดระยะเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมาอียูหรือสถานทูตอังกฤษหรือที่อื่นก็เช่นกัน เขาก็ติดตามสถานการณ์  พวกเราก็แค่ไปเล่าภาพสถานการณ์ว่าเราโดนละเมิดสิทธิอะไรอย่างไร

แล้วทางกลุ่มดาวดินใช้เงินจากส่วนไหนในการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ลงพื้นที่ประเด็นปัญหา จัดงานกิจกรรมต่างๆ

สุวิชชา:  เงินที่เราใช้ในการทำกิจกรรมต่างๆ ก็มาจากหลายทาง หลักๆ คือพวกเราก็ทำโครงการของบประมาณจากทางมูลนิธิโกมลคีมทอง ก็เป็นเงินที่มาจาก สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) แล้วก็มีของคณะฯ (คณะนิติศาสตร์ มข.) ด้วยที่เราก็ไปขอ ซึ่งมีกลไกหนึ่งที่พวกเราสร้างขึ้นมา ก็คือชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นชมรมในสังกัดของคณะฯ แต่ถ้าเวลาที่มันไม่มีจริงๆ ก็แน่นอนครับพวกเราก็ต้องใช้เงินส่วนตัว บางทีเราก็ไปเปิดหมวกรับบริจาคตามตลาดนัดทั้งในมหาวิทยาลัยและข้างนอก ส่วนเรื่องการเดินทางถ้าเรามีเงินหน่อย เราก็นั่งรถไปหาชาวบ้าน  ถ้าไม่มีเงินก็โบกรถกันไป ถ้าใกล้ๆ ก็พากันขับมอเตอร์ไซค์ไป

ศุภชัย: จริงๆแล้วเราก็ไม่ได้คำนึกถึงหรือไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องเงินอะไรเท่าไหร่ พวกเรามีแค่ใจ ถ้าไม่มีเงินก็โบกรถไปก็ได้

มีอีกประเด็นที่มาแรงในช่วงหลังๆ คือการเอาผลการเรียนของสมาชิกในกลุ่มไปเปิดเผยกับสาธารณชน คุณคิดยังไงระหว่างเรื่องผลการเรียนกับความชอบธรรมในการออกมาต่อต้านรัฐประหาร 

ศุภชัย: เห็นทีแรกผมก็ตกใจเหมือนกัน ข้อมูลนี้จริงๆ มันเป็นข้อมูลส่วนตัว ซึ่งก็ไม่น่าจะเอามันมาเปิดเผย  ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเขาเอาข้อมูลนี้มาได้ยังไง ผมมองว่าวัฒนธรรมทางการเมืองของบ้านเรามันยังหนีไม่พ้นการสร้างความเกลียดชัง ผมถือว่ามันเป็นเฮทสปีช (Hate Speech หรือ เนื้อหาที่สร้างความเลียดชัง) เลยนะครับ ที่เอามาดิสเครดิต (discredit หรือ การทำให้เสียชื่อเสียง) กันซึ่งมันไม่สร้างสรรค์เลย ซึ่งผมก็เป็นคนหนึ่งที่โดน  เพราะเกรดน้อยแล้วผมมองว่าเรื่องเกรดหรืออะไรมันไม่สามารถวัดคุณค่าของความเป็นคนได้หรือวัดความถูกต้องหรือความดีงามอะไรได้

สุวิชชา:  ผมก็ยอมรับว่าพวกผมเป็นคนที่เรียนไม่ค่อยเก่ง ผมก็ไม่ได้น้อยใจอะไร แต่อย่างน้อยเราก็ได้ทำอะไรให้สะเทือนในสังคมบ้าง เราก็อาศัยเรียนรู้กับชาวบ้านนี่ล่ะ ถึงผมเกรดเยอะแต่ไม่ได้เอาไปใช้อะไรมันก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร ผมเรียนคณะนิติศาสตร์ ผมภูมิใจที่ผมเกรดน้อยแต่ได้ทำอะไรเพื่อบ้านเมืองเราบ้าง

อีกหนึ่งคำถามที่ว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเองก็ทุจริตคอรัปชั่นเยอะและเป็นคนอนุมัติโครงการพัฒนาต่างๆ ที่ดาวดินต่อต้านอยู่  แล้วในรัฐบาลที่ผ่านดาวดินทำอะไร

สุวิชชา: ยกตัวอย่างในรัฐบาลชุดก่อนๆ เราเองก็สู้เรื่องมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐหรือม.นอกระบบ  พวกผมก็สู้มาเรื่อยไม่ว่าจะยื่นหนังสือหานายกฯ เราออกมาทำแอคชั่นแสดงออกตลอด ไม่ใช่เราไม่ทำอะไร  เราคิดว่าคนจนต้องมีสิทธิได้เรียน

ศุภชัย: ถ้าจะถามว่าเราสู้ไหม เราก็สู้มาเรื่อยนะครับ  จริงๆ ไปหาดูได้ตามเพจดาวดินนะครับ ก็จะมีโปรไฟล์ว่าเราสู้มาทุกรัฐบาล  ไม่ว่ารัฐบาลนั้นจะมาจากการเลือกตั้งหรือไม่ อย่างเรื่องการบริหารจัดการน้ำในสมัยคุณปลอดประสพเป็นรัฐมนตรี แต่ว่าประเด็นที่มันแตกต่างกันจริงๆ ก็คือ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนี้เรายังมีสิทธิในการที่จะไปคัดค้าน  เรายังมีเสรีภาพในการแสดงออก ในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ซึ่งมันต่างจากรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งตรงนี้  คือแค่ไปชูป้ายอย่างนี้ก็โดนจับ ล่าสุดก็มีคุณรินดาที่แค่โพสต์ก็โดนจับ คือไม่ว่าจะมาจากรัฐบาลไหนถ้ามันมีความอยุติธรรม ยังมีการกดขี่อยู่ เราไม่ยอมอยู่แล้วครับผม

สุวิชชา:   รัฐบาลอื่นมันดีตรงที่ว่าเราสามารถแสดงออกได้ โดยการไปชุมนุมตามสถานที่ต่างๆ เมื่อเราไม่เห็นด้วยเราก็สามารถชูป้าย ไปไฮด์ปาร์ค(ชุมนุมสาธารณะ) เพื่อจะบอกถึงปัญหาของเราได้ แต่ในรัฐบาลนี้แค่คิดเราก็ผิดแล้ว อย่าว่าแต่เดินเลยเขาก็ว่าเราเป็นผู้ก่อการร้ายทำให้บ้านเมืองไม่สงบสุข ยุยงปลุกปั่น

อย่างที่เราเห็น การต่อสู้ของคนเดือนตุลาซึ่งปัจจุบันแบ่งออกเป็นสองฟากฝ่ายอย่างชัดเจน คิดว่ามีเหตุผลอย่างไรและการต่อสู้ของดาวดินหรือแม้แต่กลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ในเรื่องประชาธิปไตยมีความเหมือนและแตกต่างอย่างไรกับการต่อสู้ของคนเดือนตุลา

สุวิชชา: เท่าที่เห็นนะ การที่ดาวดินเคลื่อนไหวคือเราเข้าไปทำงานกับชาวบ้านมาเป็นเวลานานซึ่งพยายามให้มีชาวบ้านหรือภาคประชาชนเข้ามาร่วม ซึ่งต่างกับของคนเดือนตุลาที่เป็นภาพนักศึกษาเป็นหลัก

ศุภชัย: เท่าที่ศึกษาการต่อสู้ในยุคเดือนตุลาดูมันจะเป็นภาพที่นักศึกษานำ  ก็ธรรมดาที่พอเติบโตขึ้นมาตามยุคสมัยมันก็จะเกิดความแตกต่างทางความคิด ซึ่งเท่าที่เห็นขบวนการของคนเดือนตุลามันไม่มีความเป็นเอกภาพอยู่แล้ว มันหลากหลายสายหลากหลายแนวคิด ซึ่งเขาก็ลุกขึ้นมาสู้กับเผด็จการสมัยนั้น คือประมาณว่าล้มเผด็จการให้ได้ก่อนค่อยมาสานต่อประเด็นของตัวเอง มันเลยแยกเป็นสองฝ่ายอย่างที่เห็น ซึ่งในยุคของพวกเรานี้คือเราพยายามสร้างให้มันไม่ใช่แค่ภาพนักศึกษา เราอยากให้เห็นภาพของประชาชนที่ถูกกดขี่ รวมถึงสามัญชนคนทั่วไปด้วย เรามองว่าหลังจาก คสชออกไป คือแน่นอนมันไม่เอกภาพแน่ๆ ความแตกต่างหลากหลายเป็นสิ่งที่สวยงาม หลังจากนั้นวิธีการต่อสู้ของแต่ล่ะฝ่ายก็ขอให้มันเป็นไปตามธรรมลองคลองธรรม ไปตามกติกาที่มันมีอยู่  คือเราพยายามเอากติกาในสังคมให้มันกลับมาก่อน  อย่างหลักการ 5 ข้อของเราขอให้มันกลับมาได้ก่อน

image_pdfimage_print