ปีหนึ่งหลังจากที่ได้ไปศึกษาเรียนรู้จากชุมชนคนพื้นเมืองผู้ต่อต้านการทำเหมืองแร่ที่มลรัฐวาฮากา ประเทศเม็กซิโก สองนักกิจกรรมต้านเหมืองแร่จากบ้านนาหนองบง อ.วังสะพุง จ.เลย เล่าถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้ในช่วงเวลาสองสัปดาห์นั้นจากเพื่อนร่วมชะตากรรม ณ อีกฟากของโลก

บทความรับเชิญ โดย อันโดนี อัลเมดา, มารียา บราโว, เคลวิน เบรสลิน, ไมเคิล แอ็กเคิล, โซอี คอฟแมน, ทาเลีย แล็ตช์, แม็คเคนซี ไมเดิล, ซิรีนา แมนนา

15368907_10154672756463548_1818580835_o

เมื่อปี พ.ศ. 2558 ตัวแทนจากภาคอีสานสี่คนเดินทางไปยังมลรัฐวาฮากา ประเทศเม็กซิโก เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับการต่อสู้ของคนพื้นเมืองกับการทำเหมืองเเร่ ซึ่งบางแห่งมีประวัติการต่อสู่ยาวนานหลายศตวรรษ รูปนี้ถ่ายที่หมู่บ้านมักดาเลนา เตยติปัก ชุมชนพื้นเมืองซาโพเถ็ก (Zapotec) ที่ได้รับการข่มขู่จากการสัมปทานเหมืองเเร่ ภาพ: จอห์นมาร์ก เบลลาโด

ปลายเดือนตุลาคมปีที่เเล้ว นายสุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ อายุ 44 ปี และนางสาวภัทราพร แก่งจำปา อายุ 36 ปี พร้อมนักศึกษากลุ่มดาวดินสองคน ออกเดินทางสู่รัฐวาฮากา (Oaxaca) ประเทศเม็กซิโก เพื่อเรียนรู้เรื่องขบวนการต่อต้านเหมืองแร่ที่นั่น อันเป็นการนำเรื่องราวการต่อสู้เหมืองแร่เมืองเลยไปสู่ระดับสากล

สุรพันธ์และภัทราพร ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มประชาชนผู้ต่อต้านเหมืองแร่ซึ่งเรียกตนเองว่า “ฅนรักษ์บ้านเกิด” ได้มีโอกาสเยี่ยมยามชุมชนหลายแห่งในรัฐวาฮากา เรียนรู้เส้นทางการต่อสู้ของชุมชนคนพื้นเมืองที่ต่อสู้กับเหมืองเเร่ ซึ่งบางแห่งต้องเผชิญกับผลกระทบของการทำเหมืองมาหลายศตวรรษ ในโปรแกรมสองสัปดาห์ ทั้งสองยังได้ทำกิจกรรมเรียนรู้วัฒนธรรม เช่น ทำอาหารพื้นเมือง ร่วมเทศกาลรำลึกถึงผู้ล่วงลับ ดียาเดม้วยร์โตส เข้าอบตัวใน เตมัซกาล ซาวน่าพื้นเมือง เป็นต้น

การรณรงค์ต่อต้านเหมืองเเร่ของชาวบ้านนาหนองบงได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับต่างประเทศครั้งแรกเมื่อสี่ปีก่อน ผ่านการสนทนาวิดีโอด้วยโปรแกรมสไกป์ กับประชาชนในเขตฟลอยด์ มลรัฐเคนทักกี้ ประเทศสหรัฐอเมริกา เขตฟลอยด์อยู่ในบริเวณเทือกเขาแอปพาเลเชียที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองเเร่และกระบวนการที่ทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างการระเบิดภูเขา

ผู้ประสานงานให้ทริปนี้เกิดขึ้นคือ เครือข่ายการศึกษาเพื่อการแลกเปลี่ยนรอบโลกในระดับรากหญ้า (The Educational Network for Global and Grassroots Exchange – ENGAGE) อันเป็นองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงกำไรที่ก่อตั้งขึ้นปี พ.ศ. 2544 ด้วยความร่วมมือของชาวต่างชาติที่เคยมาศึกษาในประเทศไทย ทางเครือข่ายฯ ได้จัดการเดินทางเเลกเปลี่ยนให้กับสองนักต่อสู้เหมืองชาวนาหนองบง โดยได้รับความช่วยเหลือจากเอ็นจีโอท้องถิ่นในเม็กซิโกรายหนึ่ง จุดประสงค์ของการแลกเปลี่ยนคือการสร้างเเนวร่วมสากลต่อต้านการทำเหมือง เพื่อพิทักษ์สิทธิการเข้าถึงน้ำและที่ดิน

ด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม วาฮากาจึงเป็นพื้นที่อันอุดมสำหรับการเรียนรู้กระเเสธารการต้านโลกาภิวัฒน์ นอกจากนี้แล้วหลายพื้นที่ของมลรัฐยังปกคลุมด้วยเทือกเขาตะวันออกเฉียงใต้ของเม็กซิโก อันเป็นถิ่นกำเนิดของขบวนการซาปาติสตา

ขบวนการซาปาติสตาก่อกำเนิดในเชียปัส มลรัฐติดกับวาฮากา ขบวนการซาปาติสตาลุกฮือขึ้นมาในปี 1994 (พ.ศ. 2537) ด้วยสาเหตุปัญหาที่คล้ายคลึงกันกับของชาวบ้านนาหนองบง ดังเช่น วิกฤตทางระบบนิเวศ ที่ดินทำกินขาดประสิทธิภาพ รายได้จากภาคการเกษตรลดลง และที่สำคัญที่สุดคือ ภาวะไร้อำนาจปกครองตนเองของชนพื้นเมืองในพื้นที่ของตน

กว่าสองทศวรรษตั้งแต่ปี 1994 (พ.ศ. 2537) ที่มีการบังคับใช้ความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือหรือนาฟต้า (NAFTA) บริษัทเหมืองเเร่จากแคนาดาได้พัฒนาโครงการทำเหมืองทั่วเขตชนบทวาฮากา ข้อมูลจากสื่อ Truth-Out รายงานว่าถึงเเม้โครงการเหล่านี้จะส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมมหาศาลและทำให้คนท้องถิ่นต้องอพยพ แต่รัฐบาลเม็กซิโกก็ยินดีรับการลงทุนจากต่างชาติในโครงการต่างๆ ซึ่งนาฟต้าเปิดช่องให้

ข้อพิพาทการทำเหมืองแร่ในวาฮากาเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการเป็นไม้เบื่อไม้เมากันระหว่างโครงการพัฒนาขนาดยักษ์กับการพิทักษ์สิทธิและปัจจัยการดำรงชีวิตของคนในท้องถิ่น

สุรพันธ์คิดว่า สถานการณ์ในประเทศเม็กซิโกและประเทศไทยมีความคล้ายกันมาก เพราะทั้งสองพื้นที่ประชาชนต่อสู้เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเคารพหลักนิติรัฐเเละพิทักษ์สิทธิของประชาชน สุรพันธ์กล่าวว่าสถานการณ์ในประเทศไทยปัจจุบันยังไม่ร้ายแรงเท่าในเม็กซิโก เขาเล่าว่าชุมชนในเม็กซิโกจะหันไปพึ่งพิงระบบกฎหมายก็เป็นเรื่องลำบาก ในเมื่อเป็นการท้าทายการลงทุนปริมาณมหาศาลของเอกชน

วิถีชีวิตเกษตรกรรมของชาวบ้าน-ชาวเขาในสองพื้นที่ตกเป็นเดิมพัน ถ้าเหมืองแร่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการต่อไปเรื่อยๆ วิถีชีวิตของคนพื้นเมืองก็จะเปลี่ยน พวกเขาต้องหารายได้นอกภาคเกษตรกรรม หาแหล่งน้ำที่ไร้สารพิษเจือปนและหาทางวิธีการผลิตอื่นๆ ส่วนในชุมชนนาหนองบง แหล่งน้ำและดินมีสารเคมีโลหะหนักเจือปน ทำให้อาหารที่ทำจากสิ่งที่ชาวบ้านปลูกไม่ปลอดภัยต่อการรับประทาน

Mai and Boi in San José del Progreso, southwestern Oaxaca.

สุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ หรือ “พ่อไม้” (ขวา) และภัทราพร แก่งจำปา หรือ “พี่บ๋อย” (คนที่สองจากซ้าย) ผู้นำชุมชนนาหนองบง อ.วังสะพุง จ.เลย ในชุมชนซานโฮเซ เดล โปรเกรสโซ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของมลรัฐวากาฮา ชุมชนนี้มีผู้นำที่ถูกทำร้ายร่างกายเนื่องจากต่อต้านการดำเนินการทำเหมืองเงินของเหมืองเเร่ฟอร์ตูนา ซิลเวอร์ กูซกัตลัน ภาพ: จอห์นมาร์ก เบลลาโด

“วิธีการต่อสู้ของคนทางพุ่นกะคือกันกับของเฮา” สุรพันธ์กล่าว ทั้งสองที่ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากเอ็นจีโอ แต่สิ่งที่สุรพันธ์เห็นว่าแตกต่างอย่างชัดเจนของสองชุมชนคือบทบาทของครูอาจารย์

บรรดาครูอาจารย์ในไทยมีบทบาทในการเคลื่อนไหวหรือการต่อสู้ทางสังคมน้อย เพราะการเข้าร่วมขบวนการอาจทำลายอาชีพของพวกเขาเนื่องจากเป็นข้าราชการ แต่ครูในเม็กซิโกมีพลังการต่อสู้เพื่อสังคมสูงมาก

“แนมตาข้าเจ้าแล้ว เห็นควมเป็นนักสู้ของลาวที่มีหลายกั่วเฮา” สุรพันธ์กล่าว “ลาวเอาตัวตนของเจ้าของมาใช้ในการต่อสู้” ภัทราพรกล่าวเสริม ในวังสะพุง ชาวบ้านต่อสู้เพื่อปกป้องชุมชนของตนเอง ในวาฮากา ชาวบ้านไม่เพียงเเต่ต่อสู้เพื่อปกป้องชุมชน แต่เพื่อธำรงไว้ซึ่งมรดกวัฒนธรรมของชาวพื้นเมืองซาโพเถ็กและวิถีชีวิตแบบคนพื้นเมืองด้วย

ภัทราพรยังแสดงความภาคภูมิใจในฐานะที่เป็นสตรีผู้ต่อสู้อยู่แนวหน้า ซึ่งทั้งที่นาหนองบงและที่วาฮากาก็มีแม่ญิงผู้เข้มแข็งเป็นแนวหน้าของการต่อสู้เช่นกัน ชุมชนนาหนองบงเรียกกลุ่มผู้นำการต่อสู้นี้ว่า “สตรีเหล็ก”

เมื่อเดินทางกลับประเทศไทยแล้ว ภัทราพรและสุรพันธ์ก็พบว่าเพื่อนบ้านในชุมชนต่างก็คาดหวังว่าทั้งสองจะหอบหิ้วเอาคำตอบของปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมมาให้

แม้ว่าทั้งสองอาจไม่สามารถให้คำตอบตามความคาดหวังของผู้ร่วมต่อสู้ได้ ทั้งภัทราพรและสุรพันธ์ก็กล่าวว่าการเดินทางแลกเปลี่ยนนี้ได้ทำให้มองเห็นภาพใหญ่ของการต่อสู้จัดตั้งแบบรากหญ้า เพื่อต่อต้านการทำลายและการแสวงประโยชน์ของโครงการเหมืองแร่ขนาดใหญ่ ได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ทั้งสองยังกลับมาพร้อมมุมมองใหม่ที่ลุ่มลึกและมีการวิพากษ์วิจารณ์ตนเองกว่าเก่า มุมมองที่คิดถึงปัญหาที่เผชิญอยู่อย่างซับซ้อนยิ่งขึ้น

“ขั้นซุมเฮาเป็นคนยึดถือศีลธรรม กลุ่มของเฮากะสิสามารถชนะเหมืองได้ เเต่ขั้นสมาชิกยังใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าราคาแพง[ซึ่งใช้แร่ในการผลิต] มันกะบ่ไปนำกะสิ่งที่เฮาต่อสู้อยู่ บางเทื่อเฮาต้องเริ่มจากผู้นำของเฮา เริ่มจากให้เขาคึดให้ลึกลงกั่วเก่า” สุรพันธ์กล่าว

อันโดนี อัลเมดา มหาวิทยาลัยเท็กซัส ออสติน, มาเรีย บราโว วิทยาลัยเดวิดสัน, เควิน เบรสลิน วิทยาลัยเดวิดสัน, ไมเคิล แอ็กเคิล มหาวิทยาลัยพิวจิตซาวด์, โซอี คอฟแมน มหาวิทยาลัยมิชิเเกน แอนอาร์เบอร์, ทาเลีย แล็ตช์ มหาวิทยาลัยทูเลนแห่งลุยเซียน่า, แมคเคนซี  ไมเดิล วิทยาลัยแมคคาเลสเตอร์, ซิรีนา แมนนา มหาวิทยาลัยจอห์นสันแอนด์เวลส์ เป็นนักศึกษาที่กำลังเรียนรู้เรื่องการพัฒนาจากชุมชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย

image_pdfimage_print