สัญลักษณ์ ‘Peace’ ขนาดใหญ่ที่ถูกชูขึ้นฟ้าสะดุดตาผู้พบเห็นแต่ไกล ถือเป็นสัญลักษณ์ของการมาถึงเกาะอีสานเขียว พื้นที่จัดงาน ‘E-SAN MUSIC FESTIVAL’ ครั้งที่ 5 ภายใต้คอนเซ็ป “อีสานเขียว รู้รักษ์ธรรมชาติ รักษ์ถิ่นเกิด สืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่น” ซึ่งจะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 28 มกราคม 2560 นี้ บนลานทุ่งหญ้ากว้างริมอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์  จังหวัดขอนแก่น

ถือเป็นหนึ่งในเทศกาลดนตรีสำหรับผู้คลั่งไคล้ในไลฟ์สไตล์วัยรุ่นยุคฮิปปี้ 1960/70s  ซึ่งหลงไหลในการแบกเป้ เดินทางท่องเที่ยว เสพดนตรีกลางแจ้ง ในแนวเพลง Reggae และ Rock n Roll  ที่ใหญ่ที่สุดในภาคอีสานเวลานี้

อีสานเรคคอร์ดถือโอกาสสัมภาษณ์ “เดียร์” ไพรจิตร ศรีม่วงอ่อน ตัวแทนทีมผู้จัดงานเพื่อบอกเล่าถึงความเป็นมาของการจัดงาน พร้อมทั้งรายละเอียดเกี่ยวกับความพร้อมของงานมาฝาก

“เดียร์” ไพรจิตร ศรีม่วงอ่อน ตัวแทนจากทีมผู้จัดงาน กำลังเล่าถึงความเป็นมาของการจัดงานนี้

แรงบันดาลที่ทำให้เกิดงานนี้คือ?

เริ่มแรกพวกเราคือกลุ่มผู้ที่รักในไลฟ์สไตล์ที่เหมือนกัน พวกเราชอบการฟังเพลง ดูหนัง แบกเป้เดินทางท่องเที่ยวคล้ายกับคนในยุคฮิปปี้ 1960/70s ไอเดียตอนแรกที่เกิดขึ้นคือ อยากทำในสิ่งที่ชอบ สนองจิตใจเท่านั้น จึงเกิดเป็นงานดนตรีขึ้น

ส่วนที่มาของการจัดงานเทศกาลนี้คือ พวกเรามีแต่ไปเที่ยวงานคอนเสิร์ตของคนอื่น  เช่นที่ ปาย, เขาใหญ่ จึงเกิดไอเดียอยากจัดงานลักษณะนี้ที่ขอนแก่น ส่วนหนึ่งพวกเราอยากทำให้คนรู้จักขอนแก่นมากขึ้นกว่าเดิมด้วย อีกอย่างคือปีนี้มีสิ่งพิเศษที่พวกเราพร้อมนำเสนอคือ สัญลักษณ์ “Peace” หรือ สันติภาพ ซึ่งเราสำรวจมาแล้ว พบว่าใหญ่ที่สุดในโลก

สมาชิกของอีสานเขียวมีกี่คน?

เรามีกันแค่กลุ่มเดียว แต่จะมีสมาชิกกระจายอยู่ในหลายพื้นที่ ประมาณ 30 คน เช่น อยู่ที่อำเภอด่านซ้าย จ.เลย อยู่โคราช หรืออยู่ภาคใต้บ้าง ส่วนมากเป็นคนที่ชอบทำอะไรแนว ๆ เดียวกัน อย่างผมก็เคยมีประสบการณ์การจัดอีเวนท์ต่าง ๆ จัดงานคอนเสิร์ตเล็ก ๆ ส่วนงานตอนแรกเราคิดว่าถือเป็นการโยนหินถามทาง ช่วงแรกยอมรับจัดเพื่อความสุข ตอบสนองหัวใจตัวเองเฉย ๆ ไม่คิดว่าจะมีมาถึงครั้งที่ 5 ครั้งนี้ถือว่าพวกเราตั้งใจ ทุ่มเทเต็มที่

แนวคิด “อีสานเขียว” คืออะไร?

“ริมแม่น้ำ ภูเขา ท้องฟ้า ทุ่งหญ้า” เราจึงจัดงานภายใต้แนวคิดอีสานเขียว หลายครั้งที่ไปตามงานต่าง ๆ คือมักจะทำแบบสไตล์แบบเทศกาลดนตรีเมืองนอก เราจึงพยายามใส่ความเป็นอีสานเข้าไปในงาน เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสถึงกลิ่นอายความวิถีชีวิตอีสาน ซึ่งกลุ่มที่มาเที่ยว ส่วนใหญ่มักจะเป็นกลุ่มวัยทำงานซึ่งชื่นชอบในไลฟ์สไตล์คล้ายพวกเรา

แนวคิด “อีสานเขียว” มีเป้าหมายคือ สร้าง, ศิลป์, สืบสาน สร้างคือสร้างกลุ่มวัยรุ่น โดยเน้นการสร้างจากภายในเพื่อให้เข้าถึงความรักในธรรมชาติ ถิ่นเกิดและรักแผ่นดินตัวเองอย่างแท้จริง สืบสานคือให้วัยรุ่นเหล่านี้รู้จักสืบสานวัฒนธรรมของท้องถิ่น

เราอยากเน้นให้ผู้ที่มางานนี้ได้สัมผัสถึงอะไรที่มากกว่าการมาเที่ยวดูดนตรี แล้วสนุกไปเฉย ๆ เพราะเรามีกิจกรรมที่ทำเพื่อสังคมอีกด้วย เช่น มีการทำงานเพื่อเด็ก ๆ ในชุมชน  เรามีการทำโรงเรียนอีสานเขียวขึ้นมา ซึ่งเป็นโรงเรียนทางเลือกสไตล์การสอนแบบวอลดอร์ฟ (Waldorf) ทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเด็ก ๆ

โดยเรามีเครือข่ายเพื่อนอาสาทั้งไทยและชาวต่างชาติที่จะมาสอน เช่น มาสอนวาดภาพ ทำสบู่ ทำผ้ามัดย้อม งานประดิษฐ์  อีกทั้งยังมีการรับบริจาคสิ่งของ เสื้อผ้า อุปกรณ์การเรียนเพื่อนำไปให้เด็ก ๆ อีกด้วย

เช่น การสร้างโรงเรียนอีสานเขียว ซึ่งมีกิจกรรมเปิดโรงเรียนช่วงต้นปี 2559 โดยเราได้ขอพื้นที่ในหมู่บ้านภูคำเบ้า อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เพื่อนสร้างเป็นโรงเรียนที่สอนเด็กเกี่ยวกับงานศิลปะ งานประดิษฐ์ต่าง ๆ  ล่าสุดเพิ่งจัดกีฬาสี ลกับชุมชน จึงได้ความสัมพันธ์กับชุมชนอีกด้วย

สิ่งของจัดแสดงล้วนเกิดจากงานฝีมือแทบทั้งสิ้นเพื่อให้เข้าคอนเซ็ป “เพื่อธรรมชาติ”

ทราบมาว่างานนี้จัดอยู่ในบริเวณอุทยานแห่งชาติน้ำพอง ทางทีมงานคิดว่าจะลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างไร?

ทุก ๆ ปี เรารณรงค์เรื่องความสะอาด แล้วก็ใครมีสิ่งของ ของดีมือสองก็ถือมาบริจาคได้ ระยะเวลาในการเตรียมงานประมาณ 2 เดือนกว่าแล้ว ตั้งแต่ปีก่อน (2559) ซึ่งการประชาสัมพันธ์งานของเรา จะไม่มีพิมพ์ไวนิลหรือแผ่นพับ เราพยายามใช้วัสดุอุปกรณ์ในการจัดงานให้อนุรักษ์ธรรมชาติมากที่สุด

แม้แต่มีผู้สนับสนุนจากเอกชน เช่น ป้ายโฆษณา เราพยายามให้ผู้สนับสนุนเราต้องทำการโฆษณาภายใต้เงื่อนไขของทีมผู้จัดงาน อย่างเช่น ป้ายโฆษณาหรือสิ่งของต้องอยู่ในธีมอนุรักษ์ธรรมชาติ เพราะเราก็ไม่ต้องการให้เสียบรรยากาศของงาน ป้ายหรือของประดับภายในงาน ล้วนเป็นงานทำมือทั้งสิ้น เช่น ปีนี้รถที่จะเข้ามาในงานได้นั้น เราให้สิทธิรถสไตล์คลาสสิค นอกนั้นก็จะขออนุญาตให้จอดภายนอกงาน อยากให้เป็นงานโชว์จริง ๆ

ส่วนหนึ่งคนที่อยากมาคือ พวกเขาเห็นภาพที่เราเผยแพร่ไปในเพจ “อีสานเขียว” หลายคำถามที่ตามมาคือ ที่ประเทศไทยมีบรรยากาศแบบนี้ด้วยหรือ ขอนแก่นมีแบบนี้ด้วยหรือ  แม้แต่คนขอนแก่นเองบางคนยังไม่เคยเห็นบรรยากาศงานเทศกาลดนตรีแบบนี้เลย

“เราอยากให้โจทย์การใช้ชีวิตของคนที่มาเที่ยวงานนี้ด้วยคือ อยู่ง่าย กินง่าย ปรับตัวอยู่กับธรรมชาติ อยู่กับแดด อยู่กับฝน ใต้ร่มไม้” เดียร์ กล่่าว

แนวเพลงส่วนใหญ่คือแนวเพลงแบบไหน?

ตั้งแต่งานครั้งที่ 1 ถึงครั้งที่ 4 ชื่องานคือ “อีสานเรกเก้” แต่ปีนี้จะเป็นอีสานมิวสิค เรามีแนวดนตรีมากขึ้น มีร็อคแอนด์โรล ฟังค์กี้ บอสซ่า เรกเก้ เป็นต้น ซึ่งมีเพื่อนนักดนตรีคาดว่ามาจาก 6 ประเทศ เช่น มาเลเซีย, อเมริกา, ญี่ปุ่น ซึ่งจะร่วมขึ้นแสดงกับนักดนตรีคนไทย

ได้ข่าวว่า ปีนี้มีวงดนตรีร่วมแสดงถึง 40 วง ทีมงานหาวงดนตรีมาจากไหน?

ไม่ได้หาเลย ส่วนใหญ่พวกเขาติดต่อขออาสามาเล่นเอง เราเลยให้พวกเขาส่งแนวเพลงมาเราฟังก่อน คล้ายกับการออดิชั่น คัดเลือก ซึ่งไม่มีค่าจ้าง แต่เราให้แค่ค่าเดินทางและให้ที่พักสำหรับนักดนตรีที่เดินทางมาไกล แต่หลายวงก็ไม่ได้เรียกร้องอะไร พวกเขาบอกมาด้วยความเต็มใจ

ในวันงานจะมีกิจกรรมอะไรบ้าง?

ในช่วงเช้า มีการสอนศิลปะให้กับเด็ก ๆ ในพื้นที่ ก่อนตะวันตกดินเรามีกลุ่มพารามอเตอร์บินโชว์ แล้วจึงมีพิธีเปิดในช่วงค่ำ ซึ่งเราจะจัดกิจกรรมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยการเล่นเพลงพระราชนิพนธ์ อีกอย่างเรามีรถบริการฟรีจาก บขส. อ.อุบลรัตน์ ถึงที่จัดงานฟรีตั้งแต่ 7:30 โมงเช้าถึงตอนเย็น

ชุมชนใกล้เคียงคิดอย่างไรกับเทศกาลดนตรีครั้งนี้

ชุมชนบอกว่าถือว่าเป็นเรื่องแปลกใหม่ของชุมชน ซึ่งไม่ค่อยคุ้นชินกับเทศกาลดนตรีในลักษณะนี้ ส่วนหนึ่งที่ชาวบ้านกังวลคือ เทศกาลแบบนี้จะมีการทะเลาะวิวาท การดื่มของมึนเมา สิ่งนี้เราให้ความสำคัญเราพยายามทำให้ชาวบ้านเชื่อถือได้ว่า จะไม่เกิดเหตุทะเลาะวิวาทเด็ดขาด แล้วหลังจากเสร็จงานนักท่องเที่ยวและพวกเราทุกคนช่วยกันเก็บขยะอีกด้วย

อีกทั้งเราเปิดให้ชุมชนเข้ามาขายสินค้า “ฟรี” เหมือนงานครั้งก่อน ชาวบ้านเอาสินค้าโอท๊อป ผลิตภัณฑ์ของชุมชนมาขาย เช่น ปลาแห้ง ปลาส้ม เป็นต้น อีกทั้งชาวบ้านที่อยู่ในชุมชนละแวกนี้สามารถเข้าร่วมงานครั้งนี้ได้ฟรีเช่นกัน

ความพร้อมของงานมากกว่า 80% หากมองไปรอบ ๆ จะพบความงามของธรรมชาติที่โอบล้อมอยู่

การขออนุญาตใช้พื้นที่จัดงานเป็นอย่างไร?

เราเริ่มจากการเข้าหานายอำเภอ หาท่านนายกฯ ที่ดูแลรับผิดชอบพื้นที่นี้ พื้นที่จัดงานอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติน้ำพอง ซึ่งแต่ผู้ดูแลคือหลัก อบต. บ้านผือ ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ถามพวกเราตรง ๆ เลยว่า ใช่งานรถคลาสสิคแบบที่ผ่านมาหรือไม่ เพราะทางเจ้าหน้าที่และชุมชนมองว่าเคยมีกลุ่มนักขับรถมอเตอร์ไซค์คลาสสิค มาจัดงานในลักษณะนี้ในพื้นที่แล้วเกิดการทะเลาะวิวาท ทิ้งเศษขยะไว้

ปัญหาการจัดงานครั้งก่อนคืออะไร?

ปัญหาในปีก่อนคือ เรื่องห้องน้ำ เพราะเราไม่สามารถสร้างห้องน้ำที่ถาวรในพื้นที่ได้ จึงเป็นลักษณะห้องน้ำชั่วคราว ซึ่งเท่าที่ทราบ คนที่มาร่วมงานปีก่อนกว่า 5,000 คน ทำให้ปริมาณการใช้ห้องน้ำไม่เพียงพอแล้วมี ห้องน้ำบางส่วนเสียหายจากการไม่ดูแลรักษาของนักท่องเที่ยว

ส่วนเรื่องขยะ ปีนี้หน้างานเรามีจะถุงขยะแจก ใครเอาอะไรมาเอากลับเท่านั้น หลังจากเสร็จงานถ้ามีขวดพลาสติก ขวดแก้ว เราก็เปิดให้ชาวบ้านเข้ามาเก็บไปขายหรือรีไซเคิลได้ รวมถึงเราเลยให้สิทธิชาวบ้านเข้ามาดูแลเรื่องที่จอดรถ เพื่อให้มีรายได้เข้าชุมชนอีกด้วย

ที่สำคัญ สังคมมักมองงานเราว่าเป็นงานรวมสิ่งเสพติด ซึ่งภาพของงานที่พวกเรานำเสนอในแต่ละปีนั้นไม่ได้ชูเรื่องเหล่านี้เลย ถ้าหากพูดถึงยาเสพติด เรามีป้ายห้ามแล้วมีการตรวจค้นสิ่งผิดกฎหมายทุกอย่างอย่างเข้มงวด

พร้อมทั้งอยากให้นักท่องเที่ยวมั่นใจถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยภายในงานตลอดทั้งคืน เรามีชุดตำรวจในพื้นที่จาก สภ.หนองเรือ ชุด อพปร. รวมถึงตำรวจท่องเที่ยว พวกเราค่อนข้างมั่นใจว่าจะไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น   

ความคาดหวังจากงานครั้งนี้คืออะไร?

เราอยากให้คนมาเที่ยวประทับใจ แล้วเกิดมิตรภาพกลับไป อีกทั้งเราหวังว่างานครั้งนี้จะทำให้พวกเราทีมผู้จัดได้เครือข่ายคนทำงานร่วมเพิ่มอีก อย่างที่บอกไม่ใช่เฉพาะแค่การมาฟังดนตรี เที่ยวสนุกอย่างเดียว แต่เรายังทำจิตอาสาด้วย

ถ้าถามถึงผู้สนับสนุนในจัดงาน เราก็พยายามให้คนสนับสนุนทั้งภาครัฐและเอกชน แต่เราพูดกับพวกเองเสมอว่า พวกเราอยากโตกันเอง ตอนนี้เราเหมือนเด็ก 5 ขวบ เราเพิ่งยืนกันได้ เราอยากโตกันเองลองดู เราคิดว่าในอนาคตอยากงานนี้เป็นงานที่โปรโมทการท่องเที่ยวของจังหวัดขอนแก่นอีกงานหนึ่ง

หากสนใจเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลดนตรีแห่งความสุขครั้งนี้ สามารถติดต่อซื้อบัตรเข้างานได้ที่บริเวณหน้างานหรือสำรองบัตรได้ที่  fan page : “อีสานเขียว”  โดยการแสดงดนตรีจะเริ่มตั้งแต่เวลา 12:00 น. วันเสาร์ที่ 28 มกราคม 2560 ต่อเนื่องข้ามคืนถึงวันอาทิตย์ที่ 29 มกราคม 2560 เวลา 09:30 น.

ส่วนการเดินทาง เพียงแค่ท่านเดินมาถึง บขส. อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น จะมีรถบัสบริการรับ- ส่ง ถึงบริเวณสถานที่จัดงาน “ฟรี” ตั้งแต่เวลา 07:30 น. ถึง 16:00 น. สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียดอื่น ๆ ของงาน สามารถติดต่อได้ที่ fanpage: “อีสานเขียว”

 

image_pdfimage_print