ชุมชนรางรถไฟ ขอนแก่น โวยรัฐไม่จัดหาที่รองรับตามสัญญา หลังบ้านถูกรื้อ เปิดทาง “รถไฟรางคู่” ดำเนินการ – “บ้านมั่นคง” หนึ่งในมาตรการช่วยเหลือ ต้องวางเงินดาวน์เกือบ 4 หมื่น, นักสิทธิคนไร้บ้านคาด ผลกระทบนี้อาจเกิดคนไร้บ้านหน้าใหม่  

บรรยากาศการก่อสร้างรางรถไฟระบบทางคู่ บริเวณชุมชนเทพารักษ์ 5 หนึ่งในชุมชนริมทางรถไฟขนาดใหญ่ในเขตเมืองขอนแก่น

ขอนแก่น – ผ่านมากว่า 4 เดือน ผู้สัญจรไปมาในเขตเมืองขอนแก่น โดยเฉพาะบริเวณชุมชนริมทางรถไฟเทพารักษ์ มักคุ้นตากับภาพนายช่างและกลุ่มคนงานกำลังควบคุมเครื่องจักรหนัก – เบา เพื่อเร่งก่อสร้างและปรับปรุงรางรถไฟให้เป็นระบบทางคู่  จิระ-ขอนแก่น ตามนโยบายรัฐ เพื่อพัฒนาเมืองขอนแก่นเพื่อรองรับการเดินทาง การขนส่งสินค้าเชื่อมเศรษฐกิจการค้ากับประเทศจีน หวังกระตุ้นการลงทุนและเศรษฐกิจในภาคอีสานและภูมิภาคอาเซียน

ตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม 2559 เป็นต้นมา การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ผู้รับผิดชอบหลักในการก่อสร้างรางรถไฟ ระบบทางคู่ ได้ดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างบริเวณริมรางรถไฟ บริเวณ 20 เมตรแรก จากกึ่งกลางรางทั้งสองข้าง

ข้อมูลจากเทศบาลนครขอนแก่น ชี้ว่า มีประชาชนผู้บุกรุกที่ดินของการรถไฟ ฯ ที่อาศัยอยู่บริเวณริมทางรถไฟดังกล่าว ได้รับผลกระทบกว่า 179 ครอบครัว โดยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในชุมชนเทพารักษ์ 1 – 5 ในเขตเมืองขอนแก่น

แม้ว่าภาครัฐจะมีการให้เงินชดเชยและค่ารื้อถอนแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งการรถไฟฯ อ้างว่า ได้ใช้ราคาจากกรมบัญชีกลางในการประเมินเนื้อที่บ้านแต่ละหลัง แล้วกำหนดเป็นค่าจำนวนเงินให้ผู้อยู่อาศัย  แต่ชาวบ้านต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ค่ารื้อถอนดังกล่าวต่ำมาก เมื่อเทียบราคาก่อสร้างและต่อเติมที่อยู่อาศัยเดิม

ส่วนโครงการ บ้านมั่นคงนครขอนแก่น ที่มีเป้าหมายช่วยเหลือเรื่องที่อยู่อาศัยนั้น ชาวบ้านบางส่วนตัดสินใจไม่ร่วมโครงการ เพราะต้องวางเงินก่อนเข้าอยู่อาศัยเกือบ 4 หมื่นบาท ด้านตัวแทนบ้านมั่นคง แจง บ้านมั่นคง เกิดมาเพื่อผู้มีรายได้น้อยในเขตเมือง อ้างชวนชาวบ้านเก็บออมเพื่อบ้านมั่นคง มากว่า 10 ปีแล้ว ชี้ถ้าออมตั้งแต่ตอนนั้น คงไม่มีปัญหา

ผู้บุกรุกที่ดิน”  ตัวปัญหาในสายตารัฐ

คุมื้อนี้คิดหลายกับบ่อนอยู่อาศัย พ่อใหญ่มีบ้านเลขที่ แต่บ่มีบ้านอยู่ เข้าใจอยู่ว่ารัฐบอกซุมเฮาว่าเป็นผู้บุกรุกที่ดินของการรถไฟนายนิพนธ์ ประเสริฐจิต ผู้เฒ่าวัย 67 ปี อดีตชาวบ้านที่อาศัยในชุมชนริมทางรถไฟเทพารักษ์ 2 มากว่า 40 ปี พูดย้ำถึงสถานะของตน ในสายตาของเจ้าหน้าที่รัฐว่าคือ ผู้บุกรุกที่ดินของการรถไฟ ฯ

นางสมบูรณ์ วะรังษี กับสามี อดีตชาวบ้านชุมชนเทพารักษ์ 2 หนึ่งในครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากการรื้อถอนที่อยู่อาศัย เพื่อให้โครงการรถไฟทางคู่ ดำเนินการ

หากย้อนกลับไป ชุมชนริมทางรถไฟ ขอนแก่น หรือรู้จักกันในชื่อ ชุมชมแออัดริมทางรถไฟเริ่มก่อตั้งขึ้นช่วงปี 2503 โดย การรถไฟฯ ยอมให้แรงงานรับจ้างขนฟืนเติมเชื้อเพลิงให้รถไฟเพื่อการขนถ่ายสินค้า ณ สถานีชุมทางขอนแก่น  เข้ามาตั้งเพิงพักชั่วคราวใกล้ทางรถไฟเพื่อไม่ให้แรงงานเหล่านี้ปัญหาการเดินทางมาทำงาน

ชุมชนเทพารักษ์ 1 ถือเป็นชุมชนหนึ่งที่เกิดมาจากการตั้งเพิงพักอาศัยชั่วคราวของแรงงานรับจ้างให้กับการรถไฟฯ จากนั้นขยายเป็นชุมชนเทพารักษ์ 1-5 ตามลำดับ

ปี 2523 การพัฒนาเมืองและอุตสาหกรรมเริ่มเข้ามาในจังหวัดขอนแก่น  ทำให้เกิดการอพยพแรงงานจากภาคเกษตรกรรมในชนบท เข้ามาหางานในตัวเมืองมากขึ้น คนเหล่านี้กลายเป็นแรงงานรับจ้างราคาถูก หลายชีวิตตกอยู่สภาวะยากจน เข้าถึงไม่ที่อยู่อาศัยที่มาตรฐาน นำไปสู่การ บุกรุกที่ดินริมทางรถไฟเพื่อสร้างที่อยู่อาศัย โดยเริ่มจากการปลูกเพิงพักพิงชั่วคราว จนพัฒนาเป็นที่พักอาศัยในลักษณะถาวร จนถึงปัจจุบัน

ปัจจุบัน ชุมชนริมทางรถไฟเทพารักษ์ 1-5 มีประชากรอาศัยอยู่กว่า 700 ครอบครัว คนในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพแรงงานนอกระบบ  เช่น เร่ขายอาหาร เก็บของเก่า และลูกจ้าง แรงงานรายวัน รับจ้างเฝ้าหน้าห้องน้ำ, ทำงานเก็บขยะ, กวาดถนน, ขายพวงมาลัย, ดูแลความสะอาดในสวนรัชดานุสรณ์ในเมืองขอนแก่น รวมถึงอาชีพขายบริการทางเพศ ซึ่งมีรายได้ไม่แน่นอน ร้อยละ 90 คือ ผู้บุกรุกที่ดินของการรถไฟฯ

คันอีหลีกะอยากมีที่ดินเป็นของเจ้าของ อยากตายใส่บ้านเจ้าของ บ่อยากตายในห้องเช่านายนิพนธ์กล่าวถึงความวิตกกังวลว่าจะไม่มีที่บ้านอยู่ที่ถาวร จนสิ้นลมหายใจ โดยตนคิดว่าก่อนสิ้นใจในชาตินี้ อยากขอตายในบ้านของตัวเอง ไม่อยากตายในห้องเช่าเล็ก ๆ แคบ ๆ

ถ้ารถไฟทางคู่มา รัฐจะดูแลพี่น้องอย่างเต็มที่

สภาพห้องเช่าขนาด 24 ตารางเมตร ซึ่งเต็มไปด้วยสิ่งของเล็กใหญ่, ตู้เสื้อผ้า, เตียงนอน, กรอบรูปภาพ พระพุทธรูป ถูกจัดหลบไว้มุมหนึ่งของห้องเช่าขนาดเล็กที่ตั้งอยู่กลางเมืองขอนแก่น กลายเป็นที่อยู่อาศัยแห่งใหม่สำหรับครอบครัว นางสมบูรณ์ วะรังษี วัย 51 ปีโดยไม่ต้องเสียค่าเช่าที่แต่อย่างใด เธอเป็นหนึ่งในครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากรื้อถอนบ้านหลังเดิมบริเวณริมทางรถไฟ ซึ่งเธอและสามีของเธออาศัยบริเวณริมทางรถไฟมานานกว่า 20 ปี

เทศบาลนครขอนแก่นให้สัญญากับชาวบ้านในชุมชนริมทางรถไฟว่า จะดูแลชาวบ้านอย่างเต็มที่หลังจากโครงการรถไฟทางคู่เริ่มดำเนินการ

คันรถไฟทางคู่มา  รถไฟความเร็วสูงมา รัฐซิเบิ่งแยงประชาชนริมทางรถไฟอย่างเต็มที่  บ่ว่าซิเป็นไผ ผู้ใด๋ ซิหาที่รองรับให้บ่เกิน 5 กิโลเมตรจากตัวเมือง  ชดเชยทุกอย่างทั้งค่าถูกรื้อ ค่าเช่าบ้าน ค่าค้นย้าย สิ่งปลูกสร้าง รัฐซิชดเชยให้เบิ้ด แต่พอถึงเวลาอีหลีบ่มีไผเข้ามาช่อยเหลือเลยนางสมบูรณ์ กล่าว

ถึงแม้ว่าการรื้อถอนที่อยู่อาศัยจะมีการชดเชยราคาค่ารื้อถอนให้บ้านแต่ละหลัง แต่นางสมบูรณ์และเพื่อน ๆ ในชุมชนเดิมต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การรถไฟตีราคาค่ารื้อถอนให้ต่ำมาก

นางสมบูรณ์ กล่าวว่า ตนได้ค่ารื้อถอนประมาณ 17,000 บาท ซึ่งเมื่อเทียบกับค่าปรับปรุง ซ่อมแซม ต่อเติมที่อยู่อาศัยเดิม ซึ่งตนและสามีได้สร้างและต่อเติมทั้งหมดนั้นเกือบหนึ่งแสนกว่าบาท

นางสมบูรณ์ ยังกล่าวว่า ตนกับสามีได้ย้ายที่อยู่มาสองครั้งแล้ว หลังจากบ้านหลังเดิมถูกรื้อ เธอใช้เงินที่ได้จากการรื้อถอนบางส่วน มารับผิดชอบในการขนย้ายสิ่งของไปที่ห้องเช่าห้องใหม่ ซึ่งค่าเช่าในแต่ละเดือน รวมค่าน้ำ ค่าไฟ ตกเดือนละ 2,500 บาท

โครงการบ้านมั่นคงนครขอนแก่น ระยะแรก จำนวน 136 หลัง สร้างเสร็จตั้งแต่ปี 2550 มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือเรื่องที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย

“บ้านมั่นคง” เงินดาวน์เกือบ 4 หมื่น ก่อนเป็นเจ้าของ

เมื่อปลายปี 2556 นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น ได้กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดในเมืองขอนแก่น ภายใต้ โครงการบ้านมั่นคงนครขอนแก่นซึ่งมีเป้าหมายทำให้ชุมชนแออัดในเขตเมืองหมดสิ้นไป โดยมุ่งปรับปรุง ซ่อมแซม และสร้างที่อยู่อาศัยใหม่เพื่อคนที่มีรายได้น้อย ผู้ด้อยโอกาส โดยดำเนินการภายใต้การดูแลของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, สหกรณ์ออมทรัพย์, และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช.

ได๋ยินเทศบาลว่า ซิให้พี่น้องริมทางรถไฟ เข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคง แต่ก่อนซิเข้าอยู่ได้นั้นต้องจ่ายเงินก่อนเกือบ 40,000 บาท ละกะขั้นตอน กฎเกณฑ์หล๊ายหลาย ชาวบ้านจั๊กซิหาเงินก้อนใสมาจ่าย มันหลายโพ๊ดนางสมบูรณ์ กล่าว

การเข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงนครขอนแก่น มีหลักเกณฑ์การพิจารณาผู้เข้าร่วมโครงการ คือ เป็นผู้อยู่อาศัยในที่ดินรัฐและเอกชนอย่างไม่มั่นคง รวมถึงผู้บุกรุกที่ดินของรัฐ กลุ่มบ้านเช่าผู้มีรายได้น้อย

อย่างไรก็ตาม นายนิพนธ์ ประเสริฐจิต อดีตชาวบ้านในชุมชนริมทางรถไฟเทพารักษ์ 2 ตัดสินใจไม่เข้าร่วมโครงการและเลือกที่จะหาที่อยู่อาศัยใหม่ โดยการหาห้องเช่าในราคาถูกอยู่

พ่อใหญ่เคยไปติดต่อบ้านมั่นคง สหกรณ์เคหะอยู่ แต่รายได้ลูกบ่แน่นอน เลยเซาไปติดต่อ เพราะเห็นว่าต้องมีเงิน 40,000 บาทไปจองบ้านก่อน ซึ่งกลับมาคึดแล้วรายได้ลูกมาจากการรับจ้าง ได้เงินบ้างบ่ได้บ้าง บ่แน่นอนนายนิพนธ์ กล่าว

แพงไปหรือ?  เมื่อเทียบกับราคาบ้านขนาดนี้ในเขตเมือง

ช่วงปี 2558 กระแสการปรับปรุงระบบรางรถไฟให้เป็นระบบทางคู่เริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ เทศบาลนครขอนแก่น ร.ฟ.ท. พร้อมทั้งสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ได้ลงพื้นที่ชุมชนริมทางรถไฟเพื่อประชาสัมพันธ์โครงการบ้านมั่นคงนครขอนแก่น หวังเสนอทางเลือกให้กับชาวบ้านผู้บุกรุกที่ดินของการรถไฟฯ เข้ามาร่วมโครงการบ้านมั่นคง โดยพอช. ให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุน เพื่อปรับปรุงที่พักอาศัย สภาพแวดล้อมและให้สิทธิในการครอบครองที่ดินสำหรับชุมชนคนจน ภายใต้ชื่อ โครงการบ้านมั่นคง

นายนิติศักดิ์ นาราษฏร์ ผู้จัดการสหกรณ์เคหสถานแก่นนคร จำกัด ภายใต้ โครงการบ้านมั่นคงนครขอนแก่น กำลังเล่าถึงขั้นตอนและความเป็นมาของโครงการ ฯ

นายนิติศักดิ์ นาราษฏร์ ผู้จัดการสหกรณ์เคหสถานแก่นนครกล่าว ทุก ๆ ปี ทาง พอช. และเทศบาลนครขอนแก่น ได้ลงพื้นที่เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านรู้ถึงโอกาสและมีทางเลือกในการเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่มั่นคงกว่า ถ้าชาวบ้านคิดถึงอนาคตของตัวเองและเข้าร่วมโครงการ โดยเริ่มออมเงินวันละ 10-20 บาท ตั้งแต่แรกเริ่มของการประชาสัมพันธ์ เมื่อปี 2548 เป็นต้นมา ชาวบ้านก็จะมีบ้านเป็นของตนเอง ไม่เดิอดร้อนเหมือนปัจจุบัน

นายนิติศักด์ กล่าวเสริมว่า หลักการกว้าง ๆ ของโครงการนี้คือ เชิญชวนให้คนกลุ่มผู้มีรายได้น้อยออมเงินให้ได้ 10 % ของราคาบ้านและที่ดิน ซึ่งเหมือนกับเงินดาวน์บ้านครั้งแรก แล้วผ่อนส่งทีหลัง

ล่าสุดเมื่อกลางปี 2559 ที่ผ่านมา เทศบาลนครขอนแก่นได้ลงพื้นที่ชุมชนเทพารักษ์ก่อนการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างอีกครั้ง ผลจากการลงพื้นที่ดังกล่าว มีชาวบ้านจากชุมชนรถไฟ ฯ ประสงค์ร่วมโครงการบ้านมั่นคง จำนวน 97 ครอบครัว นับเป็นร้อยละ 50 ของจำนวนบ้านที่จะก่อสร้างในโครงการระยะที่ 2 ของสหกรณ์เคหสถานแก่นนคร จำกัด ซึ่งมีจำนวน 197 หลัง โดย โครงการระยะแรก ก่อสร้างแล้วเสร็จไปแล้ว กว่า 136 หลัง เมื่อช่วงปี 2550

คนไร้บ้านหน้าใหม่

นิพนธ์ ประเสริฐจิต อดีตชาวบ้านในชุมชนริมทางรถไฟเทพารักษ์ 2 ปัจจุบันอาศัยอยู่ห้องเช่าขนาดเล็ก บริเวณเขตเทศบาลเมือง หนึ่งในครอบครัวที่ไม่ต้องการอะไร นอกจากให้ภาครัฐลงมาดูแลถามทุกข์ สุข เหมือนที่สัญญาไว้แค่นั้น

จากผลสำรวจของ ศูนย์ประสานงานกลุ่มเพื่อนฅนไร้ที่พึ่ง ขอนแก่น รายงานว่าจำนวนคนไร้บ้านในเมืองขอนแก่น ซึ่งสำรวจล่าสุดเมื่อปี 2558 มีจำนวน 136 ราย

กลุ่มคนในชุมชนริมทางรถไฟ โดยเฉพาะกลุ่มคนระดับล่างสุดในชุมชน ซึ่งส่วนมากเป็นคนด้อยโอกาส คนยากจน และไม่ได้อยู่ในสัญญาเช่าที่ดินของการรถไฟ มีประมาณ 39 คน นายณัฐวุฒิ กรมภักดี กล่าว ณัฐวุฒิเป็นผู้ประสานงานศูนย์ประสานงานคนไร้ที่พึ่ง ขอนแก่น  มีหน้าที่จัดทำข้อมูลเกี่ยวกับคนไร้บ้าน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้านให้ดีขึ้น

นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ทั้ง 39 คนนี้ อาจเสี่ยงกลายเป็นคนไร้บ้านหน้าใหม่ในเมืองขอนแก่น เหตุผลเดียวที่ทำให้คนกลุ่มนี้อาจกลายเป็นคนไร้บ้านหน้าใหม่ คือ ไม่มีเงินไปเช่าที่อยู่อาศัยใหม่ ต้องนอนตามที่สาธารณะ

อาชีพคนกลุ่มนี้นั้นได้ค่าตอบแทนต่อวันค่อนข้างไม่แน่นอน บางคนได้วันหนึ่งไม่ถึง 200 บาท ดังนั้นไม่ต้องพูดถึงโครงการบ้านมั่นคง ของเทศบาลเลย หรือแม้แต่ห้องเช่าราคาถูกประมาณ 1,0002,000 บาทก็ถือว่าแพงสำหรับพวกเขานายณัฐวุฒิ กล่าว

ผมเชื่อว่ารัฐไม่พร้อมที่จะลงทุนกับคนเหล่านี้  ผมคิดว่ารัฐอาจจะคิดว่าลงทุนกับคนพวกนี้อาจจะไม่ได้ประโยชน์ ที่ดินในเมืองขอนแก่น เก็บไว้ให้นายทุนดีกว่า”  นายณัฐวุฒิ กล่าว

ผู้ประสานงานศูนย์ประสานงานกลุ่มเพื่อนฅนไร้ที่พึ่ง กล่าวว่า รัฐไม่ได้แก้ปัญหาให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตผู้ได้รับผลกระทบ มิหน้ำซ้ำ ยังต้องการเปลี่ยนวิถีชีวิตของพวกเขาด้วย มีการพูดกันในชุมชนริมทางรถไฟว่า รัฐจะสร้างที่รองรับให้ชาวบ้านชุมชนริมทางรถไฟ ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองกว่า 40 กิโลเมตร ทำให้ชาวบ้านเกิดความกังวลถึงการเดินทางมาทำงานในตัวเมือง ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งหารายได้หลักในแต่ละวันของพวกเขา

ถึงแม้หลายครอบครัวต้องย้ายออกจากที่อยู่อาศัยเดิมและต่างตกอยู่ในสภาวะไม่มีความั่นคงในเรื่องที่อยู่อาศัย แต่พวกเขาเหล่านั้นก็ไม่ได้ขออะไรมากมาย นอกจากให้ภาครัฐเข้ามาดูแล ถามทุกข์ สุข เหมือนอย่างที่เคยสัญญาเอาไว้

“บ่ขอหยังดอก เงินกะบ่เอา บ้านกะบ่เอา บ่ต้องสร้างให้ ขอแค่ซุมเจ้านายเพิ่น ผู้รับผิดชอบในโครงการ ลงมาดูแลเบิ่งแยงกันแหน่ หลังจากถืกรื้อบ้าน ซุมเจ้านายเพิ่นบ่มาถามทุกข์สุขหยังเลย” นายนิพนธ์ ฝากไปถึงเทศบาลนครขอนแก่น

image_pdfimage_print