สกลนคร – งานรำลึก “จิตร ภูมิศักดิ์” วนกลับมาอีกครั้ง ตำบลคำบ่อต้องต้อนรับผู้คนมากหน้าหลายตาที่มาร่วมงานใหญ่ประจำปีในโอกาสครบรอบการเสียชีวิตของจิตร 5 พฤษภาคม แต่ใครจะรู้ว่าการสร้างสหายปรีชาให้เป็นที่รู้จักของคนในตำบลนี้ต้องผ่านอะไรมาไม่น้อย

พิธีวางดอกไม้คารวะปราชญ์สามัญชน “จิตร ภูมิศักดิ์” บุคคลสำคัญของท้องถิ่น

อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร มีป้ายบอกทางไปยังสถานที่เสียชีวิตของจิตร ภูมิศักดิ์ ตั้งอยู่เป็นระยะบนถนนมุ่งหน้าไปยังอนุสรณ์สถานที่อยู่ ณ จุดที่จิตร ภูมิศักดิ์ นักคิดนักเขียน ศิลปิน และนักปฏิวัติคนสำคัญมาเสียชีวิต

 

“เขาตายในชายป่า เลือดแดงทาดินเข็ญ” ประโยคในบทเพลงจิตร ภูมิศักดิ์ โดยสุรชัย จันทิมาธร บอกเล่าเหตุการณ์การเสียชีวิตของสหายปรีชา ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2509 ณ บ้านหนองกุง ตำบลคำบ่อ เมื่อ 51 ปีที่แล้ว พื้นที่ที่เป็นวาระสุดท้ายของจิตรเปลี่ยนไปจากเดิม ชายป่าติดกับท้องนาถูกแทนที่ด้วยต้นยางพาราที่ถูกปลูกเรียงเป็นแถวอย่างเป็นระเบียบ ถัดออกมาเป็นจุดที่กระดูกของจิตรถูกนำมาฝังหลังจากเสียชีวิตใหม่ๆ  ปัจจุบันบริเวณดังกล่าวถูกล้อมรั้วลวดหนามให้เป็นอาณาบริเวณของอนุสรณ์สถานจิตร ภูมิศักดิ์ ที่ประกอบด้วยรูปปั้นขนาดเท่าตัวจริง กำแพงหินปูนที่มีสัญลักษณ์ดาวแดงและตัวอักษรแกะสลักจารึกชีวประวัติของเขา

ป้ายบอกทางไปยังอนุสรณ์สถานจิตร ภูมิศักดิ์ แสดงถึงการที่จิตรถูกให้ความสำคัญจากชุมชนแห่งนี้

เช้าวันที่ 5 พฤษภาคม 2560 นักดนตรีเริ่มปรับจูนเครื่องเสียงบนเวทีที่ถูกติดตั้งไว้ตั้งแต่เมื่อคืน พ่อค้าแม่ขายต่างพากันตั้งร้านจำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม หนังสือ และเสื้อผ้ารูปจิตร ภูมิศักดิ์ งานรำลึกจิตร ภูมิศักดิ์ ที่จัดขึ้นมาทุกปีตั้งแต่ ปี 2546 จนได้กลายมาเป็นงานสำคัญประจำปีของคนในบริเวณนี้ ผ่านการสนับสนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อต้อนรับการมาเยือนของคนในบริเวณนี้และผู้คนจากทั่วทุกสารทิศ

นักเรียน-นักศึกษา ที่ได้ทุนการศึกษาร่วมกันร้องเพลง “จิตรเดียวกัน”

ช่วงสายมีพิธีการวางดอกไม้คารวะรูปปั้นจิตร การร่วมขับร้องบทเพลง “จิตรเดียวกัน” และการมอบทุนการศึกษาจากมูลนิธิจิตร ภูมิศักดิ์ ให้แก่นักเรียนและนักศึกษาในท้องถิ่น ต่อด้วยกิจกรรมรื่นเริงในช่วงบ่าย ที่มีการประกวดตำส้มตำลีลา และการแสดงดนตรีจากวงดนตรีหลายวงในภาคอีสานที่ผลัดเปลี่ยนกันมาบรรเลงตลอดงาน

ตลอดระยะเวลาหลายปีหลังงานรำลึกจิตร ภูมิศักดิ์เป็นมากกว่าการรำลึกถึงการจากไป โดยได้กลายเป็นมหกรรมใหญ่ของคนในท้องถิ่นที่มีงานมโหรีตามวิถีไทบ้านอีสาน และเป็นเทศกาลท่องเที่ยวเล็กๆ ที่คนจากหลากที่เดินทางมาเยี่ยมเยือน  จนไม่เหลือคราบความเงียบสงบของตำบลคำบ่อที่สหายปรีชาถูกปลิดชีวิตเมื่อ 51 ปีก่อน

อนุสรณ์สถานและงานรำลึก  

‘ภูไทคำบ่อ งามละออผ้าไหม น้ำตกใสแม่คำดี ม้วยชีวีจิตรภูมิศักดิ์’  คือคำขวัญประจำตำบลคำบ่อในปัจจุบัน เห็นได้ว่าตำบลแห่งนี้ให้ความสำคัญกับจิตร ภูมิศักดิ์มากเพียงใดต่างจากขณะที่สหายปรีชาเพิ่งเสียชีวิตใหม่ๆ เมื่อปี 2509 ที่เขากลายเป็นเพียงผีเฝ้าทุ่งเท่านั้น แม้กระทั่งในหมู่นักศึกษาปัญญาชนจิตรก็เพิ่งเป็นที่รู้จัก หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516  จากการที่ผลงานขณะที่เขามีชีวิตอยู่ถูกนำมาตีพิมพ์เผยแพร่หลายครั้ง ทำให้จิตรกลายเป็นนักคิดนักเขียนเพื่อประชาชนขวัญใจนิสิตนักศึกษาในขณะนั้น

นางตวงพร แก้วสุข เล่าให้ฟังว่าร้านก๋วยเตี๋ยวของเธอจะคึกคักเป็นพิเศษในวันที่มีการจัดงานรำลึกจิตร ภูมิศักดิ์

“แต่ก่อนแถวนี้ไม่เจริญ ชาวบ้านก็ว่าเป็นคอมมิวสต์ เพิ่งรู้ว่าเป็นคนมีการศึกษาไม่นานมานี้” นางตวงพร สุขแก้ว แม่ค้าก๋วยเตี๋ยวในบ้านหนองกุงกล่าว นางตวงพรที่มีอายุ 13 ปีขณะจิตรวายชนเล่าย้อนถึงเหตุการณ์ในอดีตว่า เวลานั้นความรับรู้ต่อจิตรของคนในหมู่บ้าน มองว่าเขาเป็นเพียงคนผลัดถิ่นที่เข้าเสียชีวิต การรับรู้เรื่องราวของจิตรเริ่มเปลี่ยนไปในช่วงที่นางภิรมย์ ภูมิศักดิ์ พี่สาวของจิตรเข้ามาขุดกระดูกของจิตรขึ้นมาประกอบพิธีทางศาสนาอีกครั้ง เมื่อปี 2534 และได้บริจาคเงินทำนุบำรุงวัดประสิทธิ์สังวร ทำให้คนท้องถิ่นเริ่มรู้จักความเป็นมาของจิตรมากขึ้น

“ตั้งแต่นั้นมาคนก็รู้เรื่องพี่จิตรมากขึ้นลูกศิษย์ลูกหาก็กว้างขึ้นจนมีงานใหญ่โตขึ้นทุกปี จากแต่ก่อนจัดแค่ทำบุญในวัด” นางตวงพรกล่าว

ช่วงสงครามระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หรือ พคท. กับรัฐบาลไทยนั้น บ้านหนองกุงเป็นหมู่บ้านต้นแบบที่ปราศจากอิทธิพลของพคท. นายคำพน อำพล หรือกำนันแหลม แห่งตำบลคำบ่อ ผู้สังหารจิตร  เป็นหนึ่งในห้าผู้นำท้องถิ่นในภาคอีสานที่ได้รับเลือกให้ไปศึกษาดูงานที่ประเทศสหรัฐอเมริกา (ประเทศสหรัฐฯเป็นประเทศทุนนิยมที่ทำสงครามเย็นกับประเทศที่ปกครองด้วยลัทธิคอมมิวนิสต์)  เป็นเวลากว่าสองเดือนจากบทบาทที่กำนันแหลมเป็นหัวเรือในการปราบปรามคอมมิวนิสต์และมีส่วนในโครงการพัฒนาในชุมชน เช่น การตัดถนนเข้าหมู่บ้าน การจัดระเบียบหมู่บ้าน จนทำให้ปราศจากอิทธิพลของคอมมิวนิสต์ในพื้นที่ สิ่งนี้เอง ทำให้กว่าที่จิตรจะเป็นที่รู้จักของคนในพื้นที่ต้องรอให้ควันสงครามจางหาย หลังสหายพคท.เริ่มออกมามอบตัวในฐานะผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ตั้งแต่ปี 2523

จิตร ภูมิศักดิ์ เริ่มมีตัวตนในตำบลคำบ่อราวปี 2530 เริ่มจากการที่มีกลุ่มสายธารวรรณกรรมจากจังหวัดยโสธรเข้ามารื้อฟื้นตามรอยจิตร โดยการเข้าหาเจ้าอาวาสวัดประสิทธิ์สังวรที่เป็นพุทธสถานประจำหมู่บ้านหนองกุง หลังจากกลุ่มได้พูดคุยกับเจ้าอาวาสแล้วจึงทำให้ท่านสนใจเรื่องราวของจิตร จนเริ่มมีการทำบุญให้จิตรครั้งแรกในช่วงนั้น  โดยเจ้าอาวาสเป็นคนกลางพูดคุยทำความเข้าใจกับชาวบ้านเอง จนในปี 2533 จึงได้มีการขุดกระดูกของจิตรมาบรรจุในเจดีย์บรรจุอัฐิ ปีต่อมานางภิรมย์ ได้มาทอดผ้าป่าสามัคคีที่วัดประสิทธิ์สังวร อีกทั้งยังบริจาคเงินบูรณะวัดและได้ซื้อที่ดิน ณ จุดที่จิตรเสียชีวิตแล้วยกให้เป็นที่ธรณีสงฆ์ทำให้ทัศนะของคนในพื้นที่ที่มีต่อจิตรเริ่มเปลี่ยนไป

สหายสวรรค์ เล่าว่า การที่คนในชุมชนเข้าร่วมงานรำลึกจิตรเพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นว่าคนในตำบลคำบ่อเริ่มมีความเข้าใจตัวจิตรมากขึ้น

 

“ป้าภิรมย์แกทำผ้าป่ามาถวายมีคนในบ้านหนองกุงไม่ถึงห้าคนมาร่วมงาน เขากลัวจะเป็นการแก้แค้นเพราะกำนันบ้านเขาเป็นคนยิงจิตร ” นายชาย พรหมวิชัย หรือสหายสรรค์ สหายพิทักษ์ของจิตรขณะที่เข้าร่วมกับพคท. (สหายพิทักษ์คือผู้ดูแลให้ความช่วยเหลือสหายคนอื่นโดยเฉพาะคนที่มาจากเมือง) เล่าถึงบรรยากาศการจัดงานรำลึกจิตรครั้งแรกๆ ในช่วงที่ไฟสงครามสงบแต่ควันแห่งความหวาดกลัวต่อลัทธิคอมมิวนิสต์ยังไม่จางหาย

“ผมมาบอกเขาว่าไม่ได้มีการแก้แค้นกัน ช่วงนั้นก็เริ่มมาทอดผ้าป่าหลายครั้ง ผมก็มาอธิบายเกี่ยวกับจิตรให้ชาวบ้านฟังว่าก่อนมาตายที่นี้เขาเป็นใครทำอะไรมาก่อน” สหายสวรรค์กล่าว

จากการที่ชาวตำบลคำบ่อเริ่มรับรู้และเข้าใจเกี่ยวกับจิตรมากขึ้นทำให้พวกเขาเข้าร่วมงานทอดผ้าป่าในวันที่ 5 พฤษภาคมเพิ่มขึ้นทุกปี “ถ้าจิตรอยู่แกคงดีใจที่เห็นงานทุกวันนี้ แสดงว่าคนรู้จักผลงานที่พี่จิตรได้สร้างไว้” สหายสรรค์กล่าวทิ้งท้าย

เมื่องานรำลึกการจากไปของสหายปรีชาเริ่มคึกคักไปด้วยผู้คน จึงมีแนวคิดการเปลี่ยนแปลงสถานที่จัดงานจากวัดให้มาอยู่ ณ จุดที่จิตรเสียชีวิตเพื่อเป็นการสร้างการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น

ในปี 2546 ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนครได้อนุมัติงบประมาณเพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์สถานที่เสียชีวิต ทำให้ปีถัดมา มีการย้ายสถานที่จัดงานรำลึกจากที่วัดประสิทธิ์สังวรมายังสถานที่ที่จิตรถูกยิงเสียชีวิตในบริเวณเดียวกันกับสถานที่จัดงานในทุกวันนี้ พร้อมกับส่งมอบอนุสรณ์สถานแห่งนี้ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดูแลต่อไป

นายไพโรจน์ จันดา มองว่า การแสดงรื่นเริงในงานรำลึกจิตร ภูมิศักดิ์นั้น เป็นการเอาใจคนในพื้นที่ให้เข้ามามีส่วนร่วม แต่ในอนาคตอยากให้งานมีเวทีเสวนาที่พูดเกี่ยวกับจิตรแทรกในงานด้วย

นายไพโรจน์ จันดา รองนายกองค์กรบริหารส่วนตำบล หรือ อบต. คำบ่อ ผู้ที่มีส่วนผลักการสร้างอนุสรณ์สถานจิตร ภูมิศักดิ์ บอกเล่าว่า เมื่อ 51 ปีที่แล้วในวันที่ 5 พฤษภาคม ขณะที่เขากำลังเลี้ยงควายอยู่ในบริเวณนั้นได้มีเสียงกระสุนปลิดชีวิตจิตรดังขึ้น เขาจึงรีบจูงควายกลับเข้าไปในบ้านหมู่ คืนวันนั้นผู้ใหญ่บ้านประกาศห้ามลูกบ้านออกจากบ้าน ความทรงจำวัยเด็กของเขาจึงรับรู้เพียงว่ามีคอมมิวนิสต์มาเสียชีวิตในหมู่บ้านเท่านั้น แต่พอเข้าวัยหนุ่มจึงเริ่มได้อ่านหนังสือที่จิตรเขียนจึงรู้ว่าชายคนที่มาเสียชีวิตที่ชายป่าในหมู่บ้านของเขาในวันนั้นคือจิตร

“คนระดับนี้มาตายที่บ้านเราทำไมไม่เห็นมีอะไรเท่าไหร่ มันฝั่งใจเรา พอคนเริ่มมามากขึ้นเราเลยคุยกันว่าจะทำตรงนี้ให้ยิ่งใหญ่ยังไงทำให้เกิดการเรียนรู้ของคนในหมู่บ้านเพราะจิตรเป็นตนแบบของการศึกษา” นายไพโรจน์กล่าว

ในปี 2544 ขณะนายไพไรจน์ได้รับเลือกตั้งเป็นรองนายกอบต.คำบ่อ เขาจึงได้เริ่มเขียนโครงการขอสร้างอนุสรณ์สถานจิตร ภูมิศักดิ์ นำมาสู่การอนุมัติงบประมาณจำนวน 500,000 บาทเพื่อสร้างอนุสรณ์สถาน ทำให้งานรำลึกจิตร ภูมิศักดิ์ ย้ายมาจัดในสถานที่ปัจจุบัน ต่อมาจึงมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครเข้ามาร่วมจัดงาน ลักษณะการจัดงานจึงเป็นทำงานร่วมกันระหว่างชาวตำบลคำบ่อ อบต.คำบ่อ และมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร โดยมีความพยายามทไให้งานรำลึกจิตรมีกิจกรรมที่เกิดจากความร่วมมือของคนจากสามภาคส่วน “ไม่ใช่ว่ามาฟังดนตรีกินอาหารเฉยๆ อยากให้มีนักวิชาการมาพูดเรื่องจิตร แต่ชาวบ้านก็ต้องมีความรู้สึกว่ามีส่วนร่วม”

นายไพโรจน์กล่าวและอธิบายอีกว่าสิ่งที่เขาอยากเห็นในการจัดงานรำลึกจิตรในอนาคตคืออยากให้คนในตำบลมีส่วนร่วมจัดกิจกรรมเช่นเดิม แต่อยากให้มีวงวิชาการที่พูดเรื่องผลงานของจิตรอย่างจริงจังด้วย#

 

image_pdfimage_print