บทบาทและหน้าที่ที่เปลี่ยนแปลงไปของงาน “บุญบั้งไฟตะไลล้าน” ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีที่ตำบลกุดหว้า จากประเพณีพื้นบ้านกลายเป็นงานกิจกรรมเชิงท่องเที่ยว พร้อมกับความเข้มงวดด้านความปลอดภัยเพื่อป้องกันอุบัติเหตุบั้งไฟระเบิด

จำนวนบั้งไฟเข้าร่วมจุดบั้งไฟที่งาน “บุญบั้งไฟตะไลล้าน” ต.กุดหว้า จ.กาฬสินธุ์ ในปีนี้มีมากถึง 64 บั้ง โดยเริ่มจุดตั้งแต่เวลา 8 นาฬิกาถึง 18 นาฬิกา : ภาพโดยวิศรุต แสนคำ

กาฬสินธุ์ – ควันโขมงกลางทุ่งนา บั้งไฟตะไลหมุนพุ่งต้านแรงโน้มถ่วงขึ้นสู่ท้องฟ้า พร้อมกับเสียงของผู้คนที่โห่ร้องด้วยความดีใจ เป็นภาพที่ปรากฏขึ้นในงาน “บุญบั้งไฟตะไลล้าน” ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีที่ตำบลกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ งานประเพณีท้องถิ่นดั้งเดิมที่กลายเป็นงานท่องเที่ยวขนาดใหญ่ ดึงดูดผู้คนจากทั่วทุกสารทิศ ทำให้ถนนสายหลักที่พาดผ่านกลางตำบลแห่งนี้คับคั่งด้วยรถราของนักท่องเที่ยวที่ทัศนาจรมาร่วมงาน ประเพณีบุญบั้งไฟของตำบลกุดหว้าจึงเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของประเพณีบุญบั้งไฟในอีสานที่ผันเปลี่ยนไปตามสถาพการเปลี่ยนแปลงของสังคมภาคอีสาน   

บั้งไฟและความเปลี่ยนแปลง

ประเพณีบุญบั้งไฟเป็นประเพณีหนึ่งในประเพณีฮีตสิบสอง คองสิบสี่ของชาวอีสานและในประเทศลาวบางพื้นที่ โดยเป็นประเพณีขอฝนที่นิยมจัดขึ้นในช่วงเดือนหกทางจันทรคติ ซึ่งตรงกับช่วงเริ่มเข้าฤดูฝนของทุกปีและเป็นช่วงเวลาแห่งการเริ่มทำไร่ทำนาของเกษตรกร การจุดบั้งไฟขึ้นสู่ฟ้าเป็นการบูชาพระยาแถน ที่เชื่อกันว่าเป็นผู้ควบคุมดูแลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล เนื่องจากเชื่อกันว่า พญาแถนมีความชื่นชอบไฟเป็นอย่างมาก หากหมู่บ้านใดไม่จัดงานบุญบั้งไฟเพื่อบูชาพระยาแถน จะส่งผลให้หมู่บ้านนั้นฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลจนเกิดความแห้งแล้งได้

ปัจจุบัน บุญบั้งไฟในหลายพื้นที่ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดงานแตกต่างจากที่เคยในอดีต เช่น วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบบั้งไฟก็ถูกดัดแปลงออกไปแตกต่างจากเดิม โดยปัจจุบันมีความพยายามใช้ส่วนประกอบที่จะทำให้จุดบั้งไฟขึ้นฟ้าได้สูงที่สุด ผลที่เกิดขึ้น ทำให้งานบุญบั้งไฟกลายเป็นการแข่งขันเพื่อประชันความเป็นเลิศด้านการพัฒนาบั้งไฟของแต่ละหมู่บ้านที่สามารถดิ่งขึ้นไปบนฟ้าได้สูงที่สุด ทั้งนี้ ในบางพื้นที่ยังแอบแฝงการพนันขันต่ออีกด้วย โดยมีการพนันกันว่าบั้งไฟใดจะขึ้นสูงสุด ทำให้นักพนันจากทั่วสารทิศต่างหลั่งไหลมาร่วมงาน สิ่งที่เกิดขึ้นจึงดูเหมือนว่า การจัดงานบุญบั้งไฟได้กลายเป็นงานเทศกาลรื่นเริงประจำปีมากกว่าจะเป็นงานพิธีกรรมตามประเพณีและความเชื่อดั้งเดิม

นอกจากนี้ การเข้ามาของหน่วยงานรัฐที่ดูแลจัดการด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม เองก็ทำให้งานกิจกรรมประเพณีบุญบั้งไฟกลายเป็นงานเทศกาลเพื่อการท่องเที่ยวเชิงพาณิชย์ เหมือนดังเช่นในปัจจุบัน ตำบลหลายแห่งได้พยายามพัฒนาและเปลี่ยนแปลงการจัดงานบุญบั้งไฟให้เป็นงานเทศกาลท่องเที่ยวอีกประเภทเพื่อดึงดูดเม็ดเงินเข้ามาในพื้นที่ หลายคนจึงมองว่างานบุญบั้งไฟไม่เหลือความเป็นวัฒนธรรมพื้นบ้านอีกต่อไปแล้ว เช่นเดียวกับ “งานบั้งไฟตะไลล้าน”

ที่ตำบลกุดหว้า ซึ่งเดิมทีพัฒนาจากงานบุญภายในตำบล แล้วโด่งดังกลายเป็นงานบั้งไฟที่มีชื่อเสียงในภายหลัง ทำให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเข้ามาให้ทุนสนับสนุนการจัดงาน

นายภักดี พันธุโพธิ์ ข้าราชการครูผู้เติบโตในพื้นที่ตำบลกุดหว้า มองว่า ปัจจุบัน จุดประสงค์ดั้งเดิมของงานบุญบั้งไฟยังไม่หมดไปเสียทีเดียว เพียงแต่รูปแบบการจัดงานได้เปลี่ยนแปลงไป

“ก็ยังบูชาพญาแถนเหมือนเดิมครับ เพิ่มความสนุกสนานขึ้นมาใส่หน่อย จากแต่ก่อนจัดกันเล็กๆ ในวัด ก็เริ่มออกมาจัดข้างนอก มีการแข่งขัน จนมาเป็นการท่องเที่ยวเหมือนตอนนี้” นายภักดีกล่าว ในฐานะที่เป็นหนึ่งในทีมผู้ทำบั้งไฟโดยรวบรวมทุนทรัพย์จากมิตรสหายในนามทีม “สหภาพศิษย์วัดป่า” นายภักดีมองว่า ข้อดีของการดำรงอยู่ของประเพณีบุญบั้งไฟคือ เป็นวาระโอกาสให้คนท้องถิ่นได้กลับมาพบปะกัน ทั้งยังกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนอีกด้วย

รัฐทหารใช้ม.44ตีกรอบบุญบั้งไฟ

เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2559 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 27/2559 โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 เรื่องมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากการจุดและปล่อยบั้งไฟ พลุ ตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควัน หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกัน ห้ามไม่ให้ผู้ใดจุดและปล่อยบั้งไฟ พลุ ตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควันขึ้นไปสู่อากาศ นอกจากจะได้รับอนุญาตจากผู้อำนวยเขตหรือนายอำเภอแห่งท้องที่ซึ่งรับผิดชอบในเขตพื้นที่ที่จะจุดและปล่อย ทั้งนี้ คำสั่งดังกล่าวยังห้ามชาวบ้านเล่นการพนันทุกชนิดภายในงานบุญบั้งไฟอีกด้วย

การใช้มาตรา44 ห้ามจุดบั้งไฟหากไม่ได้รับอนุญาต เป็นการเข้ามาควบคุมประเพณีบุญบั้งไฟของรัฐ โดยแต่ละพื้นที่กำหนดข้อปฏิบัติในการอนุญาตแตกต่างกันไป ทำให้มีหลายชุมชนที่ไม่ได้รับอนุญาตให้จัดงานบุญบั้งไฟ ตัวอย่างเช่น นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้ออกสั่งห้ามจัดงานบุญบั้งไฟในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีมากถึง 14 ตำบลด้วยกัน

นายนาวิน มโนขันธ์ ข้าราชการครูที่เกิดและเติบโตมาจากชุมชนแห่งนี้ มองว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่งานบุญบั้งไฟต้องเปลี่ยนไปตามกาลเวลา แต่ควรคงเหลือความเป็นประเพณีของชุมชนกุดหว้าอยู่:ภาพโดยวิศรุต แสนคำ

“เรายืนยันว่าเราจะจัด เราก็ประชุมกันในชุมชนว่า เราจะมีมาตรการด้านต่างๆ อย่างนี้ แล้วนำไปเสนอให้กับทางจังหวัดพิจารณา” นายนาวิน มโนขันธ์ ข้าราชการครูที่เติบโตจากชุมชนแห่งนี้กล่าวและบอกว่า ลักษณะการจัดงานที่เปลี่ยนไปได้แก่ มีการห้ามประกาศเวลาการพุ่งขึ้นของบั้งไฟเพื่อป้องกันไม่ให้เล่นการพนัน กำหนดพื้นที่ต่างๆ ให้ชัดเจนเพื่อความปลอดภัย รวมไปถึงห้ามนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาในบริเวณงาน

“เราทำเพื่อให้ประเพณีของเราดำเนินขึ้นต่อไป เราต้องปรับตัวให้สามารถจัดได้” นายนาวินกล่าว “คนที่ไม่เกี่ยวข้องอย่าเลยจุดแดงเข้าไปนะครับ” เสียงโฆษกประจำงานบุญบั้งไฟตะไลล้านประกาศ ห้ามผู้มาร่วมงานไม่ให้เข้าไปยังเขตที่ปักธงสีแดงอันเป็นสัญลักษณ์ว่าพื้นที่เขตจุดบั้งไฟที่มีความอันตราย และบั้งไฟอาจจะระเบิดก่อนขึ้นสู่ท้องฟ้า ดังกรณีที่เคยเกิดขึ้นบ่อยครั้งในหลายพื้นที่ การจัดงานในตำบลกุดหว้าเมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 พ.ค.ที่ผ่านมา ให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก เพื่อป้องกันไม่ให้มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นและช่วยให้ชุมชนขออนุญาตจัดงานในปีต่อๆ ไปได้ ปีนี้การจุดบั้งไฟเกิดอุบัติเหตุระเบิดเพียงครั้ง แต่ไม่มีผู้ใดได้รับอันตรายเนื่องจากไม่มีใครอยู่ในบริเวณดังกล่าวซึ่งเป็นไปตามการวางแผนงานด้านความปลอดภัยที่จัดเตรียมไว้

พื้นที่จุดบั้งไฟแห่งใหม่เลี่ยงคำสั่งรบ.ทหาร

ดร.ปิ่นวดี ศรีสุพรรณ์ ผู้ช่วยศาสตร์จารย์จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผู้ศึกษาเกี่ยวกับประเพณีบุญบั้งไฟในอีสาน บอกเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงในด้านรูปแบบการจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟว่า งานบุญบั้งไฟหลายแห่งเปลี่ยนไปเป็นการท่องเที่ยวมากขึ้น โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีชื่อเสียงด้านบั้งไฟ อย่างงานบุญบั้งไฟของจังหวัดยโสธรหรือบั้งไฟตะไลล้านที่จังหวัดกาฬสินธุ์ แต่บั้งไฟเพื่อชุมชนก็ยังพอมีอยู่ อีกทั้งยังมีการพนันที่เข้ามาในงาน ซึ่งในอดีตเองก็มีการพนันเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่แล้ว แต่ไม่ได้เป็นไปอย่างโจ่งแจ้งเหมือนทุกวันนี้ ที่ทำกันเป็นอุตสาหกรรมการพนัน บางพื้นที่มีเพียงจุดบั้งไฟเดียว ไม่มีการจัดขบวนแห่ แต่หลังรัฐบาลทหารเข้ามาจัดการทำให้การพนันบั้งไฟเริ่มหายไปบ้าง แต่ก็ไม่ได้หายไปโดยสิ้นเชิง เพียงแต่ไม่เล่นพนันโจ่งแจ้งเหมือนอย่างเคย การเข้าควบคุมของรัฐทำให้ไม่สามารถเล่นการพนันได้อย่างสะดวก ทำให้นักพนันบางคนไปจัดงานจุดบั้งไฟบริเวณชายแดนกัมพูชาเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมาย

“ฟ้าฝนก็ไม่ได้มีผลกับเขา วิทยาศาสตร์ก็เข้ามาทำให้เขาเข้าใจยิ่งขึ้นว่า ฝนตกหรือไม่ตกเพราะอะไร ไม่ใช่เรื่องความเชื่อแบบสมัยก่อน ปีไหนที่ฝนตกดีอยู่จะอธิบายยังไง เขาก็บอกว่ายังอยากจัดอยู่เพื่อความสบายใจเพราะเคยจัดทุกปี เหมือนเป็นพิธีกรรมที่ต้องทำต่อไป” ดร.ปิ่นวดีบอกและมองว่า ตั้งแต่ดั้งเดิมเท่าที่รับรู้กันมา งานบุญบั้งไฟมีเพื่อความรื่นเริงอยู่แล้ว รูปแบบของประเพณีต่างๆ ได้เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แต่นัยยะที่เป็นประเพณีรื่นเริงเพื่อเตรียมทำงานหนักในฤดูเพาะปลูกนั้นยังคงอยู่

“หน้านาใหม่ก็รื่นเริงเพื่อที่จะรับกับการทำงานหนัก นี้เป็นไอเดียสำหรับสมัยก่อน โดยหลักการของมันอาจารย์คิดว่ามันไม่เปลี่ยน” ดร.ปิ่นวดีกล่าวทิ้งท้าย

 

image_pdfimage_print