ขอนแก่น – อดีต ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ชี้คำถาม 4 ข้อ เป็นกลยุทธ์ของนายกรัฐมนตรีเพื่อสร้างกระแสให้ประชาชนมองนักการเมืองในทางลบ ย้ำเลือกตั้งเป็นอำนาจของประชาชน พลเอกประยุทธ์ไม่ต้องแนะนำ ด้านอดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ ภูมิใจไทย ตอบไม่ได้ว่าเลือกตั้งแล้วจะได้รัฐบาลที่มีธรรมมาภิบาลหรือไม่ โดยควรปล่อยให้รัฐสภาตรวจสอบเอง

ภายหลังจากที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวใน รายการ “ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” เมื่อวันที่ 26 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยฝากประเด็นคำถามไว้ 4 ข้อ เพื่อสอบถามความเห็นจากประชาชน ผ่านศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย ทุกจังหวัด

เดอะอีสานเรคคอร์ดจึงนำคำถามดังกล่าวไปสอบถามความเห็นจากนายสมคิด เชื้อคง อดีตส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย

นายสมคิด เชื้อคง อดีตส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย (ภาพจาก : สยามรัฐออนไลน์)

1.ท่านคิดว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่

การเลือกตั้งครั้งหน้าจะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่นั้น ไม่มีใครตอบในอนาคตได้ มีเพียงพี่น้องประชาชนเท่านั้นที่จะตอบได้ คำว่าธรรมาภิบาล ถ้ามีคนถามกลับว่ารัฐบาลชุดนี้มีหรือไม่ รัฐบาลก็คงตอบคำถามนี้ไม่ได้เหมือนกัน การจะถามล่วงหน้านั้นไม่มีใครคาดเดาได้

2.หากไม่ได้จะทำอย่างไร

พลเอกประยุทธ์ถามคำถามนี้เหมือนว่าจะบอกว่านักการเมืองไม่ดี นักการเมืองมันเลว ผมจึงคิดว่าการเลือกตั้งนั้นเป็นการตัดสินใจของพี่น้องประชาชน พี่น้องประชาชนเขาคัดสรร เขาคัดเลือก ซึ่งเขาจะเลือกใครก็ได้ ถ้านักการเมืองคนนั้นไม่ดีประชาชนก็ไม่เลือกอีก ซึ่งไม่เหมือนรัฐบาลไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ต่อให้ประชาชนเกลียดก็ทำอะไรไม่ได้ ถ้ารัฐบาลที่มาจากประชาชน สมมุติรัฐบาลบริหารประเทศไม่ดี ประชาชนก็ตัดสิน ผมคิดว่าการตัดสินว่ารัฐบาลไม่มีธรรมาภิบาลนั้น ต้องตัดสินด้วยเสียงส่วนมาก ไม่ใช่ตัดสินด้วยความรู้สึกแบบนี้

3.การเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งอย่างเดียวไม่คำนึงถึงเรื่องอนาคตของประเทศและเรื่องอื่นๆ เช่น ประเทศชาติจะมียุทธศาสตร์และการปฏิรูปหรือไม่นั้น ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง

ไม่ถูกต้อง เพราะการเลือกตั้งทุกครั้งนั้นมีอนาคตอยู่แล้ว ไม่อย่างนั้นจะมีการร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญขึ้นมาเพื่ออะไร เพราะถ้ามีกฎหมายรัฐธรรมนูญก็ต้องอยากให้ประเทศชาติมีอนาคต

ผมตอบได้เลย รัฐบาลไปเกี่ยวอะไรกับยุทธศาสตร์ประเทศ โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ 20 ปี หากรัฐบาลและกลุ่มข้าราชการเป็นใหญ่ จะมาขีดเส้นทางเดินไว้ให้พี่น้องประชาชนเดินตามอีก 20 ปี ผมจึงขอถามว่ายุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศที่ว่านี้จะตอบสนองต่อพี่น้องประชาชนหรือไม่ อย่างไร ก็ไม่มีใครตอบได้

หากตอนนี้หลานผมอายุ 5 ขวบ อีก 20 ปี เขาอายุ 25 ปี รัฐบาลจะขีดอนาคตของเด็กอายุ 25 ปี โดยที่ตัวเด็กไม่ได้รู้และไม่ได้เห็น นโยบายแบบนี้เป็นไปไม่ได้ และถ้าหากยุทธศาสตร์ชาติที่รัฐบาลเขียนไว้ ประเทศอื่นเขาไปดาวอังคารกันหมด แต่ประเทศไทยยังจมปลักอยู่แบบนี้จะทำอย่างไร


ในการเลือกตั้งพลเอกประยุทธ์ ไม่ต้องมาแนะนำประชาชนว่าจะต้องเลือกคนใหม่หรือพรรคการเมืองใหม่ ผมคิดว่าสิ่งนี้พี่น้องประชาชนจะตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง เพราะการเลือกตั้งเป็นอำนาจของพี่น้องประชาชน

4.ท่านคิดว่ากลุ่มนักการเมือง ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในทุกกรณี ควรจะมีโอกาสเข้ามาสู่การเลือกตั้งอีกหรือไม่ หากเข้ามาได้อีกแล้วจะให้ใครแก้ไข และแก้ไขด้วยวิธีอะไร

ถูกต้องแล้วถ้านักการเมืองมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมไม่ควรมีโอกาสเข้าสู่การเลือกตั้งอีก ผมคิดว่าถ้านักการเมืองมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ประชาชนก็ไม่เลือกนักการเมืองคนนั้นเอง ซึ่งก็ถือว่าให้ประชาชนตัดสินใจเองว่าจะเลือกหรือไม่เลือกเอง

เดอะอีสานเรคคอร์ดสอบถามเพิ่มเติมว่าแต่ถ้าหากนักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมสามารถเข้ามาสนามการเลือกตั้งและได้เป็นผู้แทนประชาชนในอนาคตได้ จะแก้ไขอย่างไร

ถ้านักการเมืองผู้นั้นได้รับการเลือกตั้งเพราะคะแนนเสียงของพี่น้องประชาชนที่เป็นคนเลือก ก็ต้องเคารพการตัดสินใจของพี่น้องประชาชน ปัญหานี้ต้องใช้การเลือกตั้งในการแก้ไขปัญหา

คิดว่าลึกๆ แล้วพลเอกประยุทธ์ตั้งคำถาม 4 ข้อให้ประชาชนตอบ เพื่ออยากจะอยู่ในอำนาจต่อไปใช่หรือไม่ อย่างไร  


เรื่องที่คสช.อยากอยู่ในอำนาจต่อระบุชัดเจนแล้วผ่านรัฐธรรมนูญที่ให้ คสช.อยู่ต่อจนกว่าจะมีการเลือกตั้ง กฎหมายมาตรา 44 (รัฐธรรมนูญ ชั่วคราว ปี 2557 มาตรา 44) และการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หรือแม้กระทั่งการเขียนกฎหมายเรื่องการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 250 คน มาจากการคัดเลือกโดย คสช. สิ่งเหล่านี้ คือการสืบทอดอำนาจของ คสช. อยู่แล้ว

วัตถุประสงค์ของคำถาม 4 ข้อ ของนายกรัฐมนตรีเป็นกลยุทธ์ที่จะสร้างกระแสให้พี่น้องประชาชน มองนักการเมืองในทางลบ

และขั้นตอนการตอบคำถามทั้ง 4 ข้อ ประชาชนต้องกรอกเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักก่อนการตอบคำถาม ผมจึงอยากถามว่าประชาชนคนไหนจะกล้าด่าหรือพูดในสิ่งที่ไม่ดีต่อพลเอกประยุทธ์

เรื่องคำถาม 4 ข้อ นี้ถือเป็นกลยุทธ์ที่จะพูดถึงนักการเมืองในทางที่ไม่ดีเท่านั้นเอง โดยรัฐบาลยืมมือสื่อมวลชน ยืมมือพี่น้องประชาชนไปตอบคำถามให้

นายประจักษ์ แกล้วกล้าหาญ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย และอดีตส.ส.ขอนแก่น พรรคไทยรักไทย ตอบคำถามทั้ง 4 ข้อของนายกรัฐมนตรีเช่นกัน

นายประจักษ์ แกล้วกล้าหาญ อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย (ภาพจาก : www.chaoprayanews.com)

1.ท่านคิดว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่

การเลือกตั้งครั้งต่อไปจะได้รัฐบาลที่เป็นธรรมาภิบาลหรือไม่ คงตอบไม่ได้ ผมคิดว่าไม่มีใครคาดการณ์ได้ แต่รัฐบาลจึงต้องได้รับการตรวจสอบการทำงานจากรัฐสภา จากสื่อมวลชน และองค์การทางการเมืองต่างๆ โดยเฉพาะในยุคนี้ องค์กรสื่อมวลชน มีการทำงานรวดเร็วมาก คิดว่าใครที่ได้เป็นรัฐบาลก็ต้องระมัดระวังในการทำงานที่ไม่ถูกต้อง หรือไม่โปร่งใส

2.หากไม่ได้จะทำอย่างไร

ถ้าไม่ได้รัฐบาลที่ไม่มีธรรมมาภิบาล รัฐบาลชุดนั้นก็จะอยู่ไม่ได้ เพราะถ้ารัฐบาลชุดนั้นไม่มีธรรมาภิบาลอาจจะทำให้เกิดความเสียหาย ประชาชนเดือดร้อน ผมคิดว่าอย่างไรรัฐบาลชุดนั้นก็อยู่ไม่ได้ เพราะไม่มีพลังอันไหนที่จะเท่ากับพลังของประชาชน


หากจะพูดถึงการแก้ไขปัญหา หากได้รัฐบาลที่ไม่มีธรรมาภิบาลมาบริหารประเทศ ผมคิดว่าควรเริ่มต้นให้รัฐสภาในระบอบประชาธิปไตยตรวจสอบเป็นอันดับแรก และอันดับต่อมาคือเรื่องของกฎหมาย เพราะกฎหมายที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญมีการดำเนินการกับฝ่ายบริหารที่บริหารประเทศที่ไม่มีธรรมาภิบาลและทำให้ประเทศเสียหายอยู่แล้ว ผมคิดว่าในปัจจุบันประชาชนมีการพัฒนาเรื่องการรับรู้ข้อมูลข่าวสารมากขึ้นทำให้ประชาชนสามารถตรวจสอบรัฐบาลได้

3.การเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งอย่างเดียวไม่คำนึงถึงเรื่องอนาคตของประเทศและเรื่องอื่น ๆ เช่น ประเทศชาติจะมียุทธศาสตร์และการปฏิรูปหรือไม่นั้น ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง


ไม่ถูกต้อง การเลือกตั้งเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย การเลือกตั้งเป็นเรื่องที่ทั่วโลกยอมรับ ซึ่งการเมืองในระบอบประชาธิปไตยก็ต้องยอมรับเรื่องกรอบกติกาหรือกฎหมายที่มีการทำประชามติโดยประชาชนเสียงส่วนใหญ่ไปแล้ว เมื่อเสียงส่วนมากยอมรับกติกานี้ หากกฎหมายหรือกติกาของประเทศมีการพูดถึงการปฏิรูปประเทศ ทุกคนก็ต้องยอมรับ

ในระบอบประชาธิปไตย เราจะเอาแต่ความเห็นของเราฝ่ายเดียวไม่ได้ ต้องฟังเสียงข้างมาก ฉะนั้นต้องยึดกติกา

4.ท่านคิดว่ากลุ่มนักการเมือง ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในทุกกรณี ควรจะมีโอกาสเข้ามาสู่การเลือกตั้งอีกหรือไม่ หากเข้ามาได้อีกแล้วจะให้ใครแก้ไข และแก้ไขด้วยวิธีอะไร

คำว่านักการเมืองมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมนั้นเกิดจากใครเป็นคนกำหนด เพราะว่าการที่จะเป็นผู้แทนของประชาชนในการลงสมัครรับเลือกตั้งในแต่ละขั้นตอนจะมีกฎหมาย เช่น มีคุณสมบัติของผู้สมัครที่มีการตรวจสอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งหลังจากนั้นผู้สมัครที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติก็จะมีสิทธิ์ลงสมัครรับเลือกตั้ง และรณรงค์หาเสียง ถ้าหากผู้สมัครผู้นั้นได้รับการคัดเลือกจากประชาชน ก็คือว่าผู้นั้นเป็นตัวแทนของประชาชน ส่วนในเรื่องที่ว่านักการเมืองคนนั้นเป็นคนดีหรือไม่ดีนั้น ผมคิดว่าไม่มีใครตัดสินได้

นักการเมืองคนนั้นอาจไม่ดีในสายตาเรา แต่สำหรับประชาชนหลายหมื่นที่เลือกนักการเมืองคนนั้นอาจบอกว่าเขาเป็นคนดีก็ได้ เรื่องนี้จึงตัดสินไม่ได้ และจะไปดูถูกเสียงของคนที่เลือกนักการเมืองคนนั้นไม่ได้ เพราะมีประชาชนเป็นคนเลือกมา

เดอะอีสานเรคคอร์พูดคุยเพิ่มเติมว่า ถ้าหากนักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมสามารถเข้ามาสู่การเลือกตั้งและเป็นตัวแทนประชาชนในอนาคตได้ จะแก้ไขอย่างไร

หาก ส.ส. คนหนึ่งทำอะไรที่ไม่ถูกต้องหรือมีการทุจริตตามก็ต้องออกจากตำแหน่งอยู่แล้ว หรือถ้าเป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีถ้าทำอะไรที่ผิดกฎหมาย ก็จะมีกฎหมายที่สามารถดำเนินการกับบุคคลคนนั้นได้


ถ้าเป็นบทบาทของประชาชนและสื่อมวลชนที่จะแก้ไขปัญหานักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ผมคิดว่าถ้านักการเมืองเลว สื่อมวลชนคงตีแผ่เรื่องนี้ให้กับประชาชนได้รู้ได้เห็นอยู่แล้ว

คิดว่าการตั้งคำถาม 4 ข้อของนายกรัฐมนตรี มีวัตถุประสงค์หรือหวังผลทางการเมืองอย่างไร

ในส่วนตัวคิดว่าวัตถุประสงค์ของรัฐบาลและท่านนายกรัฐมนตรีในการตั้งคำถาม 4 ข้อดังกล่าวนั้น ท่านนายกรัฐมนตรีคงอยากฟังความเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการปฏิรูปการเมือง ซึ่งจะเป็นยุทธวิธีทางการเมืองหรือเรื่องอื่นๆ ผมไม่กล้าแสดงความเห็นในเรื่องนี้


image_pdfimage_print