ขอนแก่น – ศาลขอนแก่นไต่สวนคดี 7 นักศึกษาและนักกิจกรรมละเมิดอำนาจศาลเพราะให้กำลังใจ “ไผ่ ดาวดิน” โดยศาลสั่งให้ผู้ต้องการจดบันทึกกระบวนการแสดงตัวและให้อ่านสิ่งที่จดให้ศาลฟังทั้งหมด ขณะที่ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการศาลจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า ได้หารือกับผู้พิพากษาแล้วก่อนแจ้งข้อกล่าวหา

บรรยากาศหน้าศาลจังหวัดขอนแก่น ในคดีละเมิดอำนาจศาล เมื่อ 24 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยล่าสุดศาลจังหวัดขอนแก่นติดประกาศห้ามถ่ายภาพบริเวณศาล

เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดขอนแก่นนัดไต่สวนคดีละเมิดอำนาจศาล กรณีนักศึกษาและนักกิจกรรม 7 คนจัดกิจกรรมให้กำลังใจ นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือ กฎหมายหมิ่นเบื้องสูง และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

ผู้ถูกกล่าวหา ประกอบด้วย นายอภิวัฒน์ สุนทรารักษ์ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง นายพายุ บุญโสภณ นายอาคม ศรีบุตตะ นางสาวจุฑามาส ศรีหัตถผดุงกิจ นายภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สมาชิกกลุ่มดาวดินเช่นเดียวกับนายจตุภัทร์ นายณรงค์ฤทธิ์ อุปจันทร์ นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กลุ่มพลเมืองคนรุ่นใหม่ และนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ “จ่านิว” นักกิจกรรมกลุ่มพลเมืองโต้กลับ

เวลา 9.00 น. ผู้พิพากษาขึ้นบัลลังก์พิจารณาคดี ในห้องพิจารณาคดีนอกจากผู้ถูกกล่าวหาและทนายความแล้วยังมีผู้ร่วมมาฟังพิจารณาคดีประมาณ 30 คน ก่อนเริ่มกระบวนไต่สวนผู้พิพากษาให้ผู้ที่เข้ามาสังเกตการณ์ข้อความที่ทำการจดบันทึกกระบวนไต่สวนแสดงตัว เพราะเกรงว่าการจดบันทึกจะไม่ตรงกับกระบวนการศาล เจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูล ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้แสดงตัว ผู้พิพากษาจึงให้เข้ามานั่งจดบันทึกในที่นั่งของฝ่ายอัยการ ส่วนบุคคลอื่นที่ไม่แสดงตัวผู้พิพากษาไม่อนุญาตให้จดบันทึก และให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลคนดังกล่าวอ่านสิ่งที่จดให้ฟังเมื่อเสร็จสิ้นการถามค้านพยาน

จากนั้นจึงเริ่มกระบวนการด้วยการเบิกตัวพยานฝั่งผู้กล่าวหา คือ นายพรชัย วัชรชัยทโลสภ ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการศาลจังหวัดขอนแก่น แล้วให้ทนายความของผู้ถูกกล่าวถามค้านพยานปากดังกล่าว โดยทนายผู้ถูกกล่าวหาได้ถามถึงประเด็นเรื่อง เหตุจูงใจและวิธีการปฏิบัติในคดีอาญาอื่นๆ เหมือนกันนายจตุภัทร์หรือไม่ และคำถามเกี่ยวกับบรรทัดฐานการละเมิดอำนาจศาล เนื่องจากว่ามีทหารเข้ามานั่งรับฟังการพิจารณา มีการตรวจรถยนต์ รวมถึงการตรวจบัตรประชาชน ในคดีอาญาอื่นๆ มีการปฏิบัติแบบนี้หรือไม่  

พยานกล่าวว่าในคดีสำคัญอื่นๆ ก่อนหน้าคดีของจตุภัทร์ จะมีการประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารเพื่อมาอำนวยความสะดวกอยู่แล้ว เนื่องจากเจ้าหน้าที่ของศาลไม่เพียงพอ แต่ตนไม่ได้เป็นผู้ประสานด้วยตัวเอง จะเป็นทางผู้พิพากษาประสานไปโดยตรง ส่วนการการตรวจรถยนต์ รวมถึงการตรวจบัตรประชาชน ในคดีอื่นๆ ไม่มีการดำเนินการดังกล่าว เนื่องจากไม่มีความวุ่นวายเช่นคดีนี้ โดยก่อนหน้าเหตุการณ์หนึ่งวันได้มีการติดต่อเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ ส่วนการแจ้งข้อกล่าวหานั้นตนได้หารือกับผู้พิพากษาแล้ว แต่ไม่ได้หารือกับทหารและตำรวจ

ในส่วนของบรรทัดฐานการละเมิดอำนาจศาลที่นำมาสู่การแจ้งข้อกล่าวหา เนื่องจากกลุ่มผู้มาให้กำลังใจ “ไผ่ ดาวดิน” มีการแสดงสัญลักษณ์ตาชั่ง โดยมีรองเท้าบูทของทหาร และอีกข้างของตาชั่งเป็นถังน้ำขนาดเล็ก

หลังจากเสร็จสิ้นการถามค้าน จึงให้เจ้าหน้าที่จากศูนย์ทนายความอ่านสิ่งที่จดบันทึกต่อหน้าบัลลังก์พิจารณาคดีและขอคัดถ่ายสำเนาที่จดบันทึกเพื่อแนบไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาคดีด้วย จนถึงเวลา 12.30 น. จึงพักการพิจารณาคดี

เวลาประมาณ 13.30 น. เริ่มพิจารณาคดีอีกครั้ง ศาลได้สั่งเบิกตัวพยานฝ่ายผู้กล่าวหาอีกปากคือ พ.ต.ท.อดิศักดิ์ งามขัด ปฏิบัติหน้าที่ช่วยราชการที่สถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น ซึ่งเป็นผู้ประสานรวบรวมหลักฐานในคดี ก่อนที่พยานจะเดินไปยังที่นั่งพยาน นายพายุ ผู้ถูกกล่าวหา ได้ลุกขึ้นยืนและแถลงต่อศาลว่า วันที่ 21 มิถุนายน ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบหลายสิบนาย บุกตรวจค้นบ้านที่พักของผู้ถูกกล่าวที่บ้านดาวดิน จ.ขอนแก่น โดยการนำของพ.ท.พิทักษ์พล ชูศรี รองหัวหน้ากองยุทธการ มณฑลทหารบกที่ 23 และพ.ต.อ.จำลอง สุวลักษณ์ ผู้กำกับการ สภ.เมืองขอนแก่น

นายพายุกล่าวว่า การตรวจค้นครั้งนั้นได้มีการยึดเอกสารของกลุ่มผู้ถูกกล่าวหาที่เตรียมไว้ใช้ในการต่อสู้คดีไปด้วย ซึ่งวันเวลาดังกล่าวพยานก็เป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาทำการตรวจค้นบ้านพักด้วย นายพายุจึงอยากได้เอกสารดังกล่าวคืน

พ.ต.ท.อดิศักดิ์แถลงต่อศาลว่า ตนได้ปฏิบัติหน้าที่เข้าตรวจค้นบ้านพักของผู้ถูกกล่าวหาจริง แต่ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ผู้เข้ายึดเอกสารดังกล่าวของผู้กล่าวหาและไม่ทราบว่าเอกสารอยู่ที่ได ผู้พิพากษาจึงได้บันทึกคำแถลงลงไปในรายงานพิจารณาคดี

ผู้พิพากษาให้ทนายของผู้กล่าวถามค้านตามกระบวนการต่อไปจนถึง โดยทนายผู้ถูกล่าวหา ถามค้านถึงประเด็นที่พยานได้ติดต่อความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ถูกกล่าวหามาก่อนหรือไม่ และวันเกิดเหตุพยานมีส่วนร่วมอะไรบ้าง

โดยพยานได้ตอบคำถามว่า ตนได้ย้ายมาช่วยราชการที่ สภ.เมืองขอนแก่นในช่วงที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เข้ามาบริหารประเทศ ทหารมีอำนาจในการควบคุมตัวบุคคลและตรวจค้น ซึ่งตำรวจก็ต้องให้ความร่วมมือหากทหารขอมา พยานได้รับมอบหมายให้เฝ้าระวังกลุ่มต่างๆ โดยวาจา ไม่มีบัญชีรายชื่อเป็นลายลักษณ์อักษร โดยที่ผ่านมากลุ่มนักศึกษาเป็นกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังความเคลื่อนไหว โดยกลุ่มที่ได้รับรายงานว่ามีการเคลื่อนไหว คือ กลุ่มนักศึกษาจาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ส่วนในวันเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ศาลจังหวัดขอนแก่นได้ประสานให้ตำรวจจัดกำลังมาดูแล ตนจึงได้มายังศาล โดยอยู่ที่ห้องพักของทนายความ ไม่ได้ลงไปดูกิจกรรมของกลุ่มผู้ถูกล่าวที่บริเวณหน้าศาล แต่ตนทราบว่ามีประชาชนมาให้กำลังใจนายจตุภัทร์เป็นจำนวนมาก ประมาณไม่ได้ว่าจำนวนเท่าไหร่ และไม่รู้มาจากกลุ่มไหนบ้าง ไม่ได้รับรายงานว่ามีการก่อเหตุร้าย

หลังวันเกิดเหตุ พยานได้รับการประสานจากศาลให้ตรวจสอบรายชื่อบุคคลที่ปรากฏในวีดิโอ (กิจกรรมของกลุ่มผู้ถูกกล่าวหาซึ่งถูกใช้เป็นหลักฐานในคดี) พยานได้มอบหมายให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นผู้ตรวจสอบและทำรายงาน ซึ่งพยานกล่าวไม่รู้ว่าบุคคลในวีดีโอเป็นสมาชิกกลุ่มดาวดินหรือไม่ ทั้งยังไม่มีข้อมูลของกลุ่มดาวดินมาก่อนและไม่ทราบว่ากลุ่มดาวดินเคลื่อนไหวทำกิจกรรมในลักษณะใดมาก่อน อ่านบันทึกพยานฉบับเต็มจาก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

เวลา 17.30 น. จึงยุติการกระบวนการใต่สวนและได้กำนหนดนัดไต่สวนคดีครั้งหน้าในวันที่ 28 และ 29 กันยายน ที่จะถึงนี้ โดยมีพยานฝ่ายผู้กล่าวหาอีก 1 ปากและพยานฝ่ายผู้ถูกล่าวหาอีก 7 ปาก

คดีนี้สืบเนื่องจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา กลุ่มนักกิจกรรมและเครือข่ายนักศึกษา 4 ภาค ประมาณ 30 คน จัดกิจกรรมให้กำลังใจและเรียกร้องให้ศาลจังหวัดขอนแก่นอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว “ไผ่ ดาวดิน” จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือ กฎหมายหมิ่นเบื้องสูง และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากการเผยแพร่ข่าวพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 ของสำนักข่าวออนไลน์บีบีซีไทย


ต่อมาเมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลจังหวัดขอนแก่นแจ้งข้อกล่าวหาละเมิดอำนาจศาลต่อผู้จัดกิจกรรมจำนวน 7 คน ว่า “ทำการปราศรัย ร้องเพลง แสดงท่าทาง และนำอุปกรณ์มาเป็นสัญลักษณ์แสดงความไม่พอใจการพิจารณาของศาล บริเวณหน้าศาล”  

เมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา นักศึกษา 6 คนที่ถูกออกหมายเรียก ได้มายังศาลจังหวัดขอนแก่นตามที่ระบุในหมายเรียก ขณะที่นายสิรวิชญ์ไม่ได้รับหมายเรียกจึงไม่ได้มาศาล ศาลจังหวัดขอนแก่นได้แจ้งข้อกล่าวหานักศึกษาทั้ง 6 คนว่าละเมิดอำนาจศาล และเลื่อนนัดไต่สวนมาเป็นวันที่ 29 มิถุนายนที่ผ่านมา


image_pdfimage_print