โดยดานุชัช บุญอรัญ

มหาสารคาม – ประธานศูนย์พัฒนานโยบายสาธารณะเชิงสร้างสรรค์ ต้องการให้ภาคประชาชนตื่นตัวเพื่อสะท้อนนโยบายสาธารณะจากล่างขึ้นบน ด้านประธานสภาฮักแพงเบิ่งแญงคนมหาสารคามบอกว่า ความไม่แน่ของนโยบายสาธารณะทำให้เกิดปัญหาระหว่างรัฐกับคนในพื้นที่

เวทีเสวนาโสเหล่เข้มข้นเพื่อคนมหาสารคาม ตอน นโยบายสาธารณะกับชีวิตคนมหาสารคาม

เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ที่ผ่านมา ที่วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) ศูนย์พัฒนานโยบายสาธารณะเชิงสร้างสรรค์ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง ร่วมกับ สภาฮักแพงเบิ่งแญงคนมหาสารคาม(ภาคประชาสังคม)  จัดเวทีเสวนา “โสเหล่เข้มข้น เพื่อคนมหาสารคาม ตอน นโยบายสาธารณะกับชีวิตคนมหาสารคามเพื่อหารือถึงแนวทางขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะในจังหวัดมหาสารคาม มีผู้เข้าร่วมเสวนาทั้งสิ้นกว่า 40 คน

นายวชิรวัตติ์ อาริยะสิริโชติ ประธานศูนย์พัฒนานโยบายสาธารณะเชิงสร้างสรรค์ กล่าวว่า  นโยบายสาธารณะเป็นของคู่กันกับปัญหาสาธารณะซึ่งมีพัฒนาการมาพร้อมกับสังคมตามลำดับ ในยุคแรกนโยบายสาธารณะเป็นเรื่องของการจัดสรรคุณค่าให้แก่หน่วยต่างๆ ในสังคม อำนาจตัดสินใจทั้งหมดขึ้นอยู่กับรัฐ ต่อมาเริ่มมีการถกเถียงกันในเรื่องการผูกขาดอำนาจกำหนดนโยบายของคนบางกลุ่มซึ่งส่งผลดีผลเสียต่อประชาชนส่วนใหญ่ จนกระทั่งนำมาสู่ยุคนโยบายสาธารณะแบบปรึกษาหารือซึ่งเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนแสดงความคิดเห็นเช่นในปัจจุบันนี้           

นายวชิรวัตติ์ อาริยะสิริโชติ ประธานศูนย์พัฒนานโยบายสาธารณะเชิงสร้างสรรค์ กล่าวเปิดงานเสวนา

ประธานศูนย์พัฒนานโยบายสาธารณะเชิงสร้างสรรค์กล่าวอีกว่า  ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเด็นนโยบายสาธารณะเปลี่ยนผ่านมาสู่ยุคปัจจุบัน คือบาดแผลเชิงนโยบายจากผู้ใช้อำนาจรัฐในอดีต  เช่นปัญหาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ   ตนมองว่าปัญหาเหล่านี้เหมือนกับการตัดเสื้อตัวเดียวแล้วให้คนทุกคนใส่ กล่าวคือนโยบายทั้งหมดถูกคิดจากส่วนกลางและมอบให้ส่วนราชการระดับพื้นที่นำไปใช้ปฏิบัติโดยขาดการเชื่อมโยงกับคนในพื้นที่  

ดังนั้นแนวคิดหลักของการจัดเสวนาในครั้งนี้จึงมุ่งเน้นให้เกิดการตื่นตัวของภาคประชาชนเพื่อสะท้อนนโยบายสาธารณะจากฐานรากกลับไปสู่ส่วนบน

“นโยบายสาธารณะ ไม่ใช่เรื่องของคนอื่น แต่เป็นเรื่องของคนที่ประสบปัญหา คนที่ประสบด้วยตนเองเท่านั้นจึงจะเข้าใจรากเหง้าของปัญหา  ผมหวังว่าเราจะร่วมมือกันปลุกเสียงสะท้อน สร้างกระบวนการและวิธีปฏิบัติร่วมกันเพื่อนำไปสู่ประชาสังคมที่แท้จริง” นายวชิรวัตติ์กล่าว

นายวิพัฒน์ วิจารณ์จักร ประธานสภาฮักแพงเบิ่งแญงคนมหาสารคามกล่าวว่า ปัญหาที่ผ่านมาของนโยบายสาธารณะของจังหวัดมหาสารคามมักเกิดจากความร่วมมือกันที่ไม่ตลอดรอดฝั่งระหว่างหน่วยงานรัฐกับคนในพื้นที่

นายวิพัฒน์ยกตัวอย่างกรณีสวัสดิการทางสังคม ซึ่งข้าราชการและประชาชนในพื้นที่มีปัญหาในแง่ของความเหลื่อมล้ำ เมื่อสภาฮักแพงเบิ่งแญงคนมหาสารคามได้ชักชวนประชาชนให้ร่วมกันจัดตั้งกองทุนสวัสดิการประชาชนก็ได้รับการสนับสนุนงบประมาณส่วนหนึ่งจากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ต่อมาสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินกลับมีคำสั่งให้เรียกเงินดังกล่าวคืนโดยให้เหตุผลว่าเป็นการใช้เงินผิดประเภท กรณีนี้ส่งผลให้ประชาชนเกิดความเสื่อมศรัทธาและไม่ต้องการมีส่วนร่วมกับรัฐในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ

สภาฮักแพงเบิ่งแญงคนมหาสารคาม เป็นการรวมตัวขององค์กรภาคประชาสังคมในจังหวัดมหาสารคาม ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ปี 2555 ประกอบด้วยเครือข่ายภาคประชาชน ภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ 15 เครือข่าย เพื่อต้องการเห็นชาวมหาสารคามมีจิตสำนึกรักท้องถิ่น รู้รักสามัคคี สามารถพึ่งพาตนเอง อาศัยซึ่งกันและกัน และมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนาเพื่อนำชาวมหาสารคามไปสู่สังคมสุขภาวะ

ส่วนทุนทรัพย์หลักมาจากการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ด้านกองทุนฌาปนกิจจัดตั้งเป็นบัญชีระดมจากสมาชิกสภาฮักแพงฯ      

นายวิพัฒน์กล่าวอีกว่า แม้จะไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐ แต่กองทุนสวัสดิการประชาชนซึ่งดำเนินการโดยสภาฮักแพงเบิ่งแญงคนมหาสารคามก็ยังคงมีอยู่จนถึงปัจจุบัน โดยขณะนี้มีการขยายผลไปได้มากถึง 123 ตำบล มีสมาชิกกว่า 140,000 คน และมีทุนกว่า 300 ล้านบาท    

“ผมว่านโยบายของรัฐไม่มีความแน่นอนแสดงออกถึงความไม่จริงจังต่างจากใจชาวบ้านที่ต้องการทำจริง พวกเราบริสุทธิ์ใจ แต่รัฐยังอ้างแต่ระบบระเบียบปลีกย่อย” นายวิพัฒน์กล่าวทิ้งท้าย

นายวิพัฒน์ วิจารณ์จักร ประธานสภาฮักแพงเบิ่งแญงคนมหาสารคาม (เสื้อฟ้า) และนางสุมาลี รัตนะทิพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลขามเรียง (กอดอก) ร่วมงานเสวนา

นายบวร วิเศษดี สมาชิกสภาฮักแพงเบิ่งแญง อ.บรบือกล่าวว่า ประชาชนในจังหวัดมหาสารคามประสบปัญหาการขาดกระบวนการเรียนรู้โดยรวม ประชาชนขาดการรับรู้ข้อมูลทั่วไปทำให้ไม่สามารถเรียนรู้นโยบายสาธารณะได้ สังเกตได้จากการจัดอบรม เสวนา หรือเวทีให้ความรู้ต่างๆ จะมีคนเข้าร่วมน้อยมาก คนส่วนใหญ่ที่มาร่วมก็เป็นคนหน้าเดิมที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมา ดังนั้นการหวังพึ่งกระบวนการการมีส่วนร่วมเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ จำเป็นต้องเติมเต็มในเรื่องขององค์ความรู้และสร้างต้นแบบนำร่อง เริ่มต้นไปจากจุดเล็กๆ ในชุมชน ส่งเสริมให้ประชาชนลุกขึ้นมาคิดเองแทนที่จะรอคอยแต่นโยบายรัฐ ในสภาพเช่นนี้หากไม่มีการพัฒนาคนการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะจากฐานรากของคนมหาสารคามก็คงไม่อาจเกิดขึ้นได้จริง

นางสุมาลี รัตนะทิพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลขามเรียง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคามกล่าวว่า  จากประสบการณ์ของตนซึ่งทำงานสาธารณสุขในพื้นที่ และได้มีบทบาทผลักดันนโยบายสาธารณะระดับชุมชนมองว่า การดำเนินการใดๆ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำให้ถูกต้องตามระเบียบ และข้อกฎหมาย ปัญหาของพื้นที่มหาสารคามคือประชาชนยังอ่อนแอเริ่มตั้งแต่ระดับผู้นำชุมชนซึ่งไม่มีความรู้และทำงานกันอย่างขอไปที  

“บางทีมีเงินมา ผู้ใหญ่บ้านก็คิดไม่ออก บางคนก็บริหารจัดการงบฯไม่เป็น ทำงานแบบเฉพาะให้หมดภาระตัวเอง ดิฉันเคยเป็นพี่เลี้ยงโครงการระดับพื้นที่มาหลายยุค เวลาเชิญมาประชาคมบอกได้เลยว่าไม่มีคน โครงการพัฒนาชุมชนส่วนใหญ่จึงเกิดจากการลอกการบ้านกัน เจาะจงเอาเฉพาะที่หาซื้อง่าย ราคาไม่สูง เพื่อให้แล้วเสร็จได้ตามเวลาที่รัฐกำหนดเป็นงานๆ ไป” นางสุมาลีกล่าว                

นางสุมาลีกล่าวด้วยว่า ประชาชนมองเฉพาะผลประโยชน์ส่วนตัว ยกตัวอย่างนโยบายการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุซึ่งไม่มีการแบ่งแยกระหว่างผู้มีฐานะร่ำรวยกับผู้มีฐานะยากจน ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ ตนเคยทำหนังสือขอให้แก้ไขเรื่องนี้และในพื้นที่ก็มีการหารือกันในสภาผู้สูงอายุ (ระดับตำบล-ผู้เขียน) เพื่อขอให้จ่ายเงินก้อนนี้เฉพาะผู้สูงอายุที่มีฐานะยากจน แต่ปรากฏมีผู้สูงอายุที่ไม่ได้มีฐานะยากจนออกมาพิทักษ์สิทธิของตัวเองจนต้องล้มเลิกข้อเสนอ

ทั้งนี้ การเสวนาครั้งนี้เป็นการสะท้อนปัญหาจึงไม่มีบทสรุป แต่การเสวนาครั้งที่ 2 ที่จะจัดขึ้นในเดือนสิงหาคมนี้จะเป็นเวทีระดมความคิดเห็นเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา

ดานุชัช บุญอรัญ เป็นผู้เข้าอบรมโครงการอบรมนักข่าวภาคอีสาน ประจำปี 2560 ของเดอะอีสานเรคคอร์ด

 

        

image_pdfimage_print